ปกิณณกธรรม ตอนที่ 491


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๙๑

    สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ ความหมายของภาวนา คือการอบรม คือการอบรมความรู้ที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่คือพยัญชนะ และอรรถ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ตรงกัน ก็ไม่ผิด ใช่ไหม หมายความว่า มีสภาพธรรมจริงๆ แล้วก็มีคำคือ พยัญชนะ ที่กล่าวถึงสภาพธรรมนั้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น

    ผู้ฟัง จากการฟังอาจารย์แล้วเรา ก็เข้าใจ เมื่อก่อน ที่เราเคยโกรธบ่อยๆ อย่างนี้ แล้วพอมาตอนนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่า ความโกรธก็ลดน้อยลงไป อย่างนี้เข้าใจ ธรรม หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เข้าใจธรรม คือเข้าใจว่าอะไร

    ผู้ฟัง เข้าใจ แล้วทำให้เรา

    ท่านอาจารย์ นั่นมุ่งหวังหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้มุ่งหวัง คือ ความโกรธ มันลดลงไปเอง

    ท่านอาจารย์ ทำไมมันจะไม่เกิดอีกหรือ หรือว่า

    ผู้ฟัง เกิด แต่ว่ามันจะเกิดน้อยกว่า เมื่อก่อนนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเกิดจากการฟังธรรม เข้าใจว่าเกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะมีความเข้าใจเกิดขึ้น แต่ว่าความโกรธไม่ได้ดับหมด ยังเกิดอยู่ จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่ว่าปัญญาความรู้ที่ถูกต้อง แม้จะไม่มาก ก็อาจจะทำให้อกุศลซึ่งเคยเกิดมากค่อยๆ ลดลง แต่ไม่ใช่ว่าหมดไปเลย ชอบไหม ไม่ชอบอะไร แล้วชอบความไม่โกรธหรือ แล้วก็ชอบเวลาที่โกรธน้อยลง เพราะฉะนั้น ไม่ออกจากสังสารวัฏฏ์โดยการชอบ เพราะว่าเป็นผู้ที่จะต้องติดทุกสิ่งทุกอย่าง จนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้น แล้วรู้ตามความเป็นจริง ว่าเป็นเรื่องละทั้งหมด ไม่ใช่เพียงละความไม่ชอบ ต้องละความไม่รู้ ละอกุศล โดยเฉพาะการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะเวลาที่บอกว่าไม่ชอบโกรธ ต้องเป็นเราแน่ๆ เลย ไม่ใช่เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา เมื่อมีปัจจัยก็เกิด

    ผู้ฟัง ขณะที่เราโกรธ เรามีการผิดศีลในข้อไหนด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จากคำถามนี้ ก็มาถึงคำที่ว่า เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ขอให้เรา เข้าใจคำนั้นจริงๆ แล้วจะทำให้เราสามารถที่จะพิจารณาเข้าใจ ข้อความตอนอื่นได้ เช่น พอพูดถึงศีลหมายความว่าอะไร เป็นสิ่งที่ควรงดเว้น เพราะว่าเป็นกุศล ไม่ประพฤติในสิ่งที่ไม่ดี นั่นคือ กุศลศีล แต่ถ้าคิดถึงตามความเป็นจริง ศีลเนื่องจากกายวาจา ถ้ามีแต่นามธรรม ไม่มีรูปธรรมเลย จะรู้ได้ไหมว่า จิตขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลอย่างไร ไม่มีรูปร่างกาย มีแต่สภาพนามธรรม ซึ่งไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น ขณะนั้นแม้เป็นอกุศล ก็ไม่ปรากฏให้รู้ ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา แต่เมื่อมีรูปร่างกาย เป็นทางที่จะทำให้รู้ว่าจิตขณะนั้น เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต่อไปก็จะได้ยินคำว่า อกุศลศีล กุศลศีล อพยากตศีล ทุกอย่างที่มีจริง ในเมื่อมีรูปร่างกายเป็นทางออกของจิตที่ดี หรือจิตที่ไม่ดี โดยไม่รู้ตัวเลย อย่างวันนี้ตั้งแต่เช้า มีจิตไหม ตื่นมา มีรูปไหม แล้วรูปทำอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว รูปถ้ามีอาการเคลื่อนไหวอะไร ต้องออกมาจากจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เช้ามาก็มีจิต แล้วมีรูป รูปทำอะไรบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ทำ

    ท่านอาจารย์ ทำมากมายเลย ใช่ไหม เมื่อมีรูปแล้ว จะมีการเคลื่อนไหว ทางกาย หรือทางวาจา ถ้าไม่มีรูป มีวาจาออกมาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ มีการเคลื่อนไหว ทางกายใดๆ ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีกายใช่ไหม แต่ตลอดตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ กายเคลื่อนไหวด้วยจิตอะไร

    ผู้ฟัง ก็ส่วนมากจะเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นอกุศลศีล ความละเอียดของธรรม เราคิดถึง อกุศลกรรม แต่เราไม่ได้คิดถึง ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ตามปกติในชีวิตประจำวันเลย แต่ถ้าทรงแสดงไว้ให้ทราบ ว่าขณะนั้น เพราะจิตเป็นอกุศล กายก็ตาม วาจาก็ตามที่เป็นไปด้วยอกุศลจิต ก็ต้องเป็น อกุศลศีล แล้วแต่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางวาจา เพราะฉะนั้น จะยิ่งละเอียด จนกระทั่งให้เรารู้ตามความเป็นจริงว่าอกุศลของเรามากแค่ไหน

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดโทสะ แสดงว่าศีลล่วงไปหลายข้อเลย

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องไปถึงนั้น เพียงแต่ว่าเอากาย วาจา ของเราเป็นเครื่องวัด ตั้งแต่เช้ามา ตื่นขึ้นมา อกุศลศีลเมื่อไร กาย วาจา เมื่อไร อกุศลศีล

    ผู้ฟัง ก็ตอนที่กล่าวคำที่ไม่

    ท่านอาจารย์ คิด ดอกกุหลาบนี่สวย กุศลศีล หรือ อกุศลศีล

    ผู้ฟัง อกุศลศีล

    ท่านอาจารย์ ทางวาจา ทำไมต้องเปล่ง ทำไมต้องพูด เป็นกุศลอย่างไร ไม่ได้เป็น กุศลอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ยังพูด เพราะฉะนั้น คนที่พูดมากๆ ก็พอที่จะทราบได้ ว่าคำพูดของเขาในวันหนึ่งๆ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล อย่างไร ถ้าคนพูดน้อยก็ยังดี หมายความว่าคิด บางคนเขาบอกว่า เขาพูดคนเดียว เขาพูดเงียบๆ คือขณะนั้น เขาคิด ไม่ใช่ว่า ไม่คิด คิด แต่ไม่มีการเปล่งวาจาออกมา

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเกิดคิด เป็นอกุศลศีลหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กายวาจา ถ้าเราจะไปถึงความละเอียดของพระธรรมต้องศึกษาโดยตลอด ยังมีศีลอีกมาก ไม่ใช่เพียงเท่านี้เลย แต่ว่าการเข้าใจของเรา ต้องเข้าใจตามลำดับ แล้วก็พิจารณาว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมีไหม ในพระไตรปิฎก อกุศลศีลมีไหม กุศลศีลมีไหม อัพยากตศีลมีไหม ถ้ามีเมื่อไร ทรงแสดงทำไม ทรงแสดงให้รู้ตัว ไม่ใช่รู้คนอื่น แต่ว่ารู้ตัวเองตามความเป็นจริง ที่จะเห็นว่ากิเลสทั้งหลายจะขัดเกลาออกไปได้ ทางไหน อย่างไร เมื่อไร จะหมดสิ้น มากมายมหาศาล ถ้าไม่รู้ก็คิดว่านิดๆ หน่อยๆ ก็มีปัญญาสามารถที่จะละได้แล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ต้องเป็นความรู้ความเข้าใจอย่างละเอียดจริงๆ เราก็พอที่จะเตือนตัวเองได้ ว่าวันหนึ่งๆ อกุศลศีลของเราแค่ไหน ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ก่อนที่จะไปถึงที่คุณขวัญ กล่าวถึงเมื่อกี้นี้ นี่ก็เป็นความละเอียดที่ต้องเข้าใจว่า เมื่อมีกาย มีวาจาก็ควรที่จะพิจารณา กายวาจา ว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล เพื่อประโยชน์ หรือไม่ใช่ประโยชน์ เกิดจากจิตอะไร ก็ต้องตรง นี่คือความตรงของธรรมซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ เมื่อมีปัจจัยก็เกิด ขณะนี้เป็นามธรรมเป็นรูปธรรม แต่ยึดถือว่าเป็นเราแต่ละคน การฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรมให้เข้าใจขึ้นๆ ก็เป็นทางเกื้อกูลที่จะรู้ว่าแท้ที่จริงไม่มีเรา แต่ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นจิต เป็นเจตสิกเป็นรูป ที่ปัญญาสามารถ ที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรมที่ต่างกัน

    ผู้ฟัง กราบเรียนถาม เรื่องศีล ถ้าเกิดว่า อกุศลศีล เรามี ก็แสดงว่า เรา ถือศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมาก มักจะเอาเหตุการณ์ ทั้งวันบ้าง ครึ่งวันบ้าง กี่นาทีบ้างมา แต่ความจริงทรงแสดง หนึ่งขณะจิต นี่เป็นเหตุที่ทำไม เราถึงต้องเรียนธรรม ถ้าเราไม่เรียนธรรม เราจะไม่รู้เลย เราก็บอกว่าขณะที่ฟังธรรมเป็นกุศลแล้ว จริงๆ เป็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง บางขณะก็เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาโดยละเอียดถึงจิตหนึ่งขณะ พอศึกษาเรื่องจิตหนึ่งขณะ ตอนนั้น เราไม่ต้องไปถามใคร ว่าเราไปฟ้งธรรม เป็นกุศลหรือเปล่า เพราะเรารู้ ใช่ไหม ว่าจิตที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศลปนกันไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะเท่านั้น

    ผู้ฟัง แสดงว่า พระโสดาบันก็ต้อง ไม่มีอกุศลศีลเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันมี อกุศลจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีกายไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีวาจาไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีอกุศลศีลไหม ในเมื่อมีอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ถ้าท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้ คือมี แต่ว่าเคยได้ยินมาว่า พระโสดาบันศีล ๕ ต้องบริสุทธิ์

    ท่านอาจารย์ ก็ศีล ๕ ก็เรื่องของศีล ๕ ศีล ๕ คืออะไร จะไปปนกับอย่างอื่นได้อย่างไร ๕ นี้ไม่ได้รวมอย่างอื่น นี่ ๕ ก็คือ ๕ แต่ละข้อๆ ถ้าศึกษาธรรมก็คือว่า ให้มีความเข้าใจจริงๆ ว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ อันนี้ขั้นต้นเลย จิตของแต่ละคน จะมีคนละหนึ่งขณะ ทีละหนึ่งขณะ ไม่มีที ๒ ทีละ ๓ เลย เราอาจจะคิดว่าเราเห็นด้วย ได้ยินด้วยพร้อมกัน แต่ความจริงไม่ใช่ คนหนึ่งก็จะมีจิตหนึ่งขณะ จิตลองคิดดูถึงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ว่าน่าอัศจรรย์แค่ไหน มีจริงๆ มองก็ไม่เห็น แต่ว่าจิตทรงแสดงไว้ว่าเป็น อนันตรปัจจัย หมายความว่า เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ แล้วก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่มีระหว่างคั่น เกิดสืบต่อจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่งเร็วมาก นี่คือ อนันตรปัจจัย เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดดับสืบต่อกัน ทรงแสดงว่าการเกิดขึ้นของจิต มี ๔ ชาติ เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล ซึ่งเป็นเหตุ หรือว่าเป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกุศล และอกุศล หรือว่าเป็นกิริยาจิต คือไม่ใช่ทั้งกุศลไม่ใช่ อกุศล ไม่ใช่วิบาก ต้องทราบ นี้คือการศึกษา ถ้าเราไม่ศึกษาพระธรรมเลย ก็มีความเป็นเราเพราะเหตุว่าไม่รู้ แม้แต่สภาพของจิตที่เกิดว่า ขณะนั้นเป็นอนัตตาอย่างไร เป็นอนัตตาเพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถจะบังคับ ให้จิตชนิดไหนเกิดขึ้นได้เลย นอกจากเป็นไปตามปัจจัยของจิตนั้นๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ยิ่งศึกษาก็จะต้องยิ่งเข้าใจขึ้น ในความเป็นอนัตตาว่าบังคับไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การตรัสรู้ คือ ตรัสูรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงของธรรม แล้วก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่ว่า ทรงไปเปลี่ยนแปลง ลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็บัญญัติสิ่งอื่นขึ้นมา

    ผู้ฟัง จากการฟังธรรมของอาจารย์แล้ว อาจารย์ก็จะบอกว่าให้เจริญกุศลทุกประการ

    ท่านอาจารย์ กุศลดีงาม สภาพจติที่ดีงาม เป็นกุศล ควรเจริญ หรือไม่ควรเจริญ

    ผู้ฟัง ควรเจริญ แต่ทีนี้จากการฟังอาจารย์ แล้วก็ จะพยายามเจริญเมตตา คือใส่บาตรทุกวันอย่างนี้ อบรมจิตใจให้เป็นอุปนิสัยในการที่จะเจริญกุศล อย่างนี้ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ เจริญเมตตา ทำอย่างไร

    ผู้ฟัง เมื่อเห็นสัตว์ บุคคล เราก็ มีเมตตาช่วยเหลือ อะไรเขาอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาพระธรรม จะน่าสนใจ ตอนที่ว่า ทำให้เราเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งนั้นคืออะไรก่อน ก่อนที่จะศึกษาเรื่องราวของสิ่งนั้นมากมายเป็นเล่มๆ เป็นตำรา ต้องตั้งต้นว่าคืออะไร ถ้าคืออะไรแล้วต่อไปก็จะได้เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น แม้แต่เมตตา ก็ต้องทราบว่าคืออะไร เมื่อกี้พูดก็ถูกส่วนหนึ่ง เจริญเมตตา หมายความว่าพอเห็น ใครก็หวังดี ทำประโยชน์เกื้อกูล นี่หรือ ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์ นั่นคือเจริญเมตตาหรือ แล้วเป็นได้ไหม ก็ยังดีที่เข้าใจถูกต้อง ว่าเมตตาคือ ความเป็นมิตร มีไมตรีมีความเป็นเพื่อน พร้อมที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลกับบุคคลนั้น

    ผู้ฟัง ผมจะถามเกี่ยวกับว่า ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะไม่มีโทสะ นี่คือความเป็นจริง ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เข้าใจระดับไหนที่จะไม่มีโทสะ

    ผู้ฟัง ที่ไม่มีโทสะ คงเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าการที่มีโทสะ เหมือนกับว่า เราไม่ได้พูดความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นขณะจิต มากมายเลย ย่อลงมาๆ จนกระทั่งว่าขณะนั้น เป็นโทสะแล้วก็ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้มีกายอย่างไร เกิดขึ้นหรือปล่า แล้วก็เป็นโทสะที่มีปัจจัย ให้วาจาอะไร เกิดขึ้นหรือเปล่า ต้องแยก

    ผู้ฟัง ขณะจิตนั้นมันจะมีไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ขณะเดียว

    ผู้ฟัง ขณะที่จิตเป็นโทสะ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่จิตเป็นโทสะ มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง อ๋อ มันก็จะเป็นแค่ที่ละขณะเลย

    ท่านอาจารย์ ทีละขณะ นี้คือประโยชน์ ของการศึกษาเพื่อความถูกต้อง ชัดเจน ไม่ผสม ไม่รวมกันให้เข้าใจผิด แต่ต้องเป็นทีละหนึ่งขณะจิต

    ผู้ฟัง กราบถามท่านอาจารย์ให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า เราควรจะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แล้วสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเอง ความเข้าใจธรรมที่ ได้ทรงแสดงไว้

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาแล้วมีความเข้าใจ จะเห็นได้จริงๆ ว่า ขณะใดที่มีความเข้าใจถูก กายถูก วาจาถูก ก็ติดตาม แต่ว่าถ้าขณะที่หลงผิด เข้าใจผิดกายวาจาก็ผิด จะพูดเรื่องไหนก็พูดผิด ทำอะไรก็ต้องเป็นไปตามความเห็นผิดนั้น

    ผู้ฟัง วิธีการทั่วไปเขากำหนดว่า ๑ ต้องรักษาศีลให้มั่นคง แน่นอนเสียก่อน อย่างอื่นไม่ต้องรู้เลย เมื่อศีลครบแล้ว ถึงจะต่อไป ฟังจากท่านอาจารย์แล้ว ต้องฟังธรรมให้เข้าใจ แล้วศีลจะตามมาเอง

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือความต่างที่ว่า โดยอรรถบ้าง โดยพยัญชนะบ้าง พยัญชนะเหมือนกันบ้าง ต่างกันโดยอรรถบ้าง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ศาสนาคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อใคร สาวกคือผู้ฟัง ผู้ฟังคือผู้ที่ศึกษาเข้าใจคำสอน ต้องเข้าใจจริงๆ ถ้าเราเข้าใจนิดหน่อย หรือเข้าใจผิด หรือเข้าใจไม่ถูกต้อง เป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าไม่ได้ทรงแสดงอย่างนั้น แต่ผู้ที่ศึกษา ศึกษาโดยความไม่ละเอียด โดยความไม่รอบครอบ ก็เข้าใจผิดไป เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ผู้ที่เข้าใจคำสอน แต่ถ้าศึกษาเพื่อเข้าใจ เราจะไม่สนใจเรื่องอะไรหมด นอกจากเราเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า นี่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ หรือเปล่า อย่างสอน เรื่องสิ่งที่มีจริง สภาพธรรม ที่มีจริง คนอื่นจะสอนได้ไหม ถ้าคนอื่นไม่สามารถจะสอนได้แล้วเรา ไปสนใจในคำสอนเรื่องอื่น แต่ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วก็อาจจะเข้าใจผิด คือตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง แต่ว่าไม่ได้ทำให้เราเข้าใจจริงๆ เลยแม้แต่คำว่า ธรรมคำเดียว หรือว่าศาสนาคือคำสอน ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง ข้อสำคัญที่สุดคือ ไม่ให้เชื่อใคร ไม่ใช่เชื่อง่าย แต่ให้เกิดความเข้าใจซึ่งเป็นปัญญาของตัวเอง ทุกครั้งที่ฟังให้ทราบว่าเรามีความเข้าใจอะไรขึ้น จากคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ได้ยินได้ฟัง ในวันหนึ่งๆ นี่ก็จะเป็นสิ่งที่จะทำให้เรารู้ว่า เราศึกษาคำสอน เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ ก็คือปรมัตถธรรม ถ้าเราศึกษาเพียงพระวินัย หรือว่าพระสูตร เราเข้าใจผิดได้ เพราะว่าเป็นตัวเรา ที่กำลังศึกษา แต่พอเป็นพระอภิธรรมหรือ ปรมัตถธรรม ศึกษาเรื่องสภาพธรรม ซึ่งไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร เมื่อมีปัจจัยก็เกิด เกิดแล้วก็ดับ

    เพราะฉะนั้น ยิ่งฟังมากๆ ให้เข้าใจมากๆ เราก็รู้ว่า เรากำลังศึกษา คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วศึกษานี้ทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ใช่แต่ปิฎก ๑ ปิฎกใด แต่ไม่ใช่เฉพาะพระสูตรหรือพระวินัย โดยไม่ศึกษาพระอภิธรรม แต่เมื่อศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็จะเข้าใจ พระสูตร และพระวินัยด้วย เพราะว่า วิ-นัย-ยะ คือกำจัดอกุศล กำจัดกิเลส กำจัดความประพฤติต่างๆ ที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นธรรม ซึ่งสามารถจะกำจัดความประพฤติ ที่เกิดจากกิเลสต่างๆ หรือแม้แต่พระสูตร เวลาที่มีคนไปเฝ้า ไม่ใช่ไปสนทนากันเรื่องอื่น เรื่องสาวัตถีมีน้ำท่วม อะไรๆ ต่างๆ แต่ถึงแม้ว่าจะกล่าวอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของพระองค์ ก็คือเพื่อที่จะให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง ชีวิตตามปกติประจำวันเป็นธรรม แต่เพราะไม่มีคนรู้ ก็ไปติดในเรื่องราว ในบัญญัติในเหตุการณ์ต่างๆ ในความเป็นเราในความเป็นตัวตน มีตัวตนที่ศึกษาธรรม แล้วพอศึกษาธรรม ก็เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ ก็ยังไม่พ้นจากเรา แต่ถ้าศึกษาธรรม ขณะนั้นจะรู้ว่าไม่มีเรา แค่นี้ แม้วันนี้ แม้เดี๋ยวนี้ ก็เข้าใจว่าไม่มี ขณะที่กำลังฟังเป็นสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมคือ จิต เจตสิก และมีรูป อย่างไร ก็ศึกษาให้เข้าใจเพิ่มขึ้น เข้าใจมากๆ ขึ้น ก็จะทำให้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ทั้ง ๓ ปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา และฎีกา ซึ่งเป็นสิ่งที่ ควรที่จะได้ฟังมากๆ ศึกษาให้เข้าใจมากๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจขึ้น แล้วข้อความนั้นหมายความว่าอะไร ก็คือการศึกษาธรรมมีมากมายในพระไตรปิฎก ซึ่งควรที่จะได้ฟัง ได้พิจารณา

    ผู้ฟัง ชินขอถามว่า อย่างนั้น ศีลไม่ใช่เจตนาที่เว้น

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ว่าจิตมีกี่ประเภท ไม่ต้องเอาตัวเข้ามาเลย แต่กำลังศึกษาให้เข้าใจ แล้วภายหลังก็จะรู้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราเรียนเรื่องจิตวันนี้ แล้วเราจะรู้ลักษณะของจิตวันนี้ กระจ่างชัดว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ซึ่งจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก มีใครที่จะแยกจิตเห็น กับจิตได้ยินได้ ในขณะที่กำลังเห็น และได้ยิน แล้วมีใครที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต เรารู้ชื่อ แม้แต่คำว่าโลภะ ความติดข้อง ถ้าขณะนั้น ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะสภาพติดข้อง ก็ไม่ใช่รู้ลักษณะของโลภะ แต่รู้ชื่อเรื่องโลภะ ว่าเรามีความติดข้องในทุกอย่าง

    การศึกษาต้องตามลำดับจริงๆ แล้วก็เป็นความเข้าใจของเราจริงๆ ว่า เรากำลังอยู่ระดับไหน และเรากำลังจะค่อยๆ เข้าใจ ก้าวไปสู่ความเข้าใจ หรือความเห็นที่ถูกต้องขึ้น แต่ถ้าเอาตัวเรา เอาเรื่องราวของเราเข้ามา เราจะสับสนแล้วเราจะงง ว่าทำไมเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเรียนเรื่องจิต จิตที่เป็นกุศล เป็นอกุศลไม่ได้ แน่นอน จิตที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นเป็นอกุศลแล้วก็ดับ แล้วก็ไม่ใช่วิบากด้วย ไม่ใช่จิตที่เป็นผล สำหรับจิตที่เป็นผลก็ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่กิริยา ถ้าเราศึกษาให้ค่อยๆ เข้าใจอย่างนี้ขึ้น เราจะมาคิดถึงเรื่องตัวเราไหม ว่าเป็นอย่างนี้ หรือเป็น อย่างไร หรืออะไร แต่ว่าเราจะพิจารณา มนสิการไตร่ตรองที่จะให้เข้าใจธาตุ ซึ่งเป็นจิตบ้าง เป็นเจตสิกบ้าง เป็นรูปบ้างทั้งหมด เป็นธาตุทั้งหมด แล้วเราก็มีความเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว ใช้คำว่าธรรม หรือธาตุ แต่ ทำไมใช้คำว่า ธาตุ ถ้าคนนั้นสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า เวลาที่เราพูดว่าธาตุ ไม่เห็นว่าเป็นของใคร อย่างธาตุไฟที่ร้อนเป็นของใคร แต่พอมาเป็นตัวเราร้อน นี้ยุ่งแล้ว ใช่ไหม ขณะนั้นจะมีอะไรเกิดร่วมด้วยเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลอย่างไร ยุ่ง แต่ว่าถ้าเราศึกษาธรรมจริงๆ ให้เข้าใจขึ้น จะหมดปัญหา เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด แล้วก็มีปัจจัยพอมี่สติจะระลึก ลักษณะของสภาพธรรมปัญญาของเราจะค่อยๆ รู้ขึ้น แต่เราจะรู้ได้เลยว่า การเกิดขึ้นของปัญญาตามลำดับ คือรู้อะไรก่อน ไม่ใช่ไปรู้อย่างที่เราฟังมา หรือเราเข้าใจมา จะต้องเข้าใจให้ถูกตั้งแต่คำต้น คือขณะนี้เป็นธรรม แค่นี้ พร้อมที่สติจะระลึกลักษณะของธรรมหนึ่งธรรมใด ที่กำลังปรากฏ หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ว่าการศึกษาธรรม คือศึกษาเรื่องของสภาพธรรม ที่กำลังเป็นอย่างนี้แหละ คือเป็นกุศลจิต เป็นอกุศลจิต เป็นวิบากจิต เป็นกิริยาจิต โดยที่ว่าแต่ก่อนนี้ ก็เป็นกุศลจิต เป็นอกุศลจิต เป็นวิบากจิต เป็นกิริยาจิต แต่ไม่รู้ ไม่รู้เลย จนกว่าเมื่อได้ศึกษาแล้วความเข้าใจคือขั้นเข้าใจจากการฟัง แต่ว่าไม่ใช่ขณะนี้จะไปรู้ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ต้องรู้เลย ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมทุกขณะ เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    23 มี.ค. 2567