ปกิณณกธรรม ตอนที่ 494


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๙๔

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด วิตกเจตสิกไม่ได้คิดเรื่องราว ไม่ใช่ตรึกอย่างที่เราเข้าใจ แต่ว่าเกิดพร้อมสัมมาสติ พร้อมสัมมาทิฏฐิ พร้อมสัมมาวายามะ ไม่ใช่มีเราต้องไปพากเพียร แม้ขณะนี้ก็ไม่ต้องมีใครไปพากเพียร วิริยเจตสิกเกิดกับจิตกี่ดวง นี่เป็นประโยชน์ ของการที่จะศึกษาให้สอดคล้องกัน แล้วก็จะทำให้เราเห็นด้วยว่า มรรคไม่มีเจตนาเจตสิกเลยทั้ง ๘ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการจงใจว่า ต้องตั้งใจทำ เพราะว่าบางคนคิดว่า ถ้าไม่ตั้งใจ ก็เลื่อนลอยไป แต่ลักษณะของการเลื่อนลอย คือขณะที่หลงลืมสติ แต่วิตกเขาก็มี เจตนาเขาก็มี เกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว สำหรับเจตนาเจตสิก

    ผู้ฟัง ความคิด ความสรุปนั้น ไม่รู้ว่าความเข้าใจถูกหรือเปล่าที่ จิตนี้กำลังจับอยู่ว่า ความหมายคือ เราต้องเข้าใจในจิต เจตสิก แล้วหลังจากนั้นรู้ว่าหนทาง ของการเจริญมรรคคือ จิต เจตสิก

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ประโยชน์ของการฟัง ไม่ว่าจะฟังที่ไหน จะฟังเมื่อไร จะฟังอะไรก็คือให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง อย่าไปคิดเรื่องอื่นเลย จะไปอยู่หน้าไหน เล่มไหน เป็นชื่ออะไร ไม่ต้องคิด สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง ขอให้เข้าใจ พอเข้าใจแล้ว ได้ยินได้ฟังอีก ก็ไม่พ้นจากเรื่องนี้ คือไม่พ้นจากเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป สภาพธรรม ที่มีจริงๆ คือเท่านี้ เวลาที่อ่าน ก็ไม่ใช่อ่านผ่านไปเลย แต่หมายความว่ามีการไตร่ตรอง เข้าถึงสภาวะ หรือสภาพลักษณะของธรรมนั้น ไม่ใช่ผ่านไปว่า วิตกเป็นปกิณณกเจตสิก ๖ ดวงเกิดกับจิตเท่าไรบ้าง จบ ไม่ใช่อย่างนั้น นี้คือการที่จะต้องฟังก็ตาม หรืออ่านเองก็ตาม ให้พิจารณาให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง อย่างนั้น ความหมายคือ มันมองยาก คือจะเห็นยาก

    ท่านอาจารย์ ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยากแน่นอน ปรมัตถธรรม ขณะนี้ยากแน่นอน เห็นยากเพราะลึกซึ้ง

    ผู้ฟัง พูดง่ายๆ แต่ว่าจริง มันลึกมาก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง หนูขอถามอาจารย์ว่า ความหมายของอาจารย์ที่ว่าต้องระลึกเนืองๆ บ่อยๆ นั้นคือเจตสิกอันไหนที่ต้องระลึก

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นพยัญชนะ ซึ่งต้องเข้าถึงอรรถ เพราะว่าพยัญชนะใดๆ ก็ไม่สามารถที่ทำให้เราเข้าใจถึงสภาพธรรม นอกจากการไตร่ตรองถึงลักษณะว่า สติมีลักษณะอย่างไร เป็นโสภณเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดี จะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ต้องเกิดกับโสภณเจตสิกเท่านั้น เพราะฉะนั้น การที่เราจะไปรู้ลักษณะของสติ ยากไหม ขณะที่เป็นการระลึก เป็นไปในการที่จะให้ทาน พอเกิดนึกจะให้ เราจะรู้ถึงลักษณะของสภาพของสติ ที่ระลึกที่จะให้ ที่เป็นไปในทานไหม หรือว่า ขณะที่จะวิรัติทุจริต ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางวาจา ขณะนั้น เพราะสติระลึก เป็นโสภณเจตสิก ทำให้มีการระลึกที่จะวิรัติทุจริต ทางกายก็ไม่ทำสิ่งที่เป็นอกุศลกรรม ทางวาจาก็ไม่พูดคำซี่งเป็นไปด้วยอกุศลจิต ขณะนั้นก็เป็นสติเจตสิก ต้องเกิดต้องมีกับโสภณจิต

    ผู้ฟัง แต่ว่าตอนที่ระลึก เรื่องมันผ่านไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ เราคิดถึง จิตหนึ่งขณะ คุณชินต้องเอาเรื่องราวออกหมด แล้วก็ศึกษาจิตทีละ ๑ ขณะว่าขณะนั้น เป็นจิตประเภทไหน แล้วมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย และเจตสิกแต่ละเจตสิก เขาก็ทำหน้าที่เฉพาะของเจตสิกนั้นๆ เช่น สติเจตสิก เป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฟังรู้ว่าเป็นธรรม ทั้งหมดขณะนี้เป็น ธรรม ทางตาที่เห็นเป็นธรรม ที่คิดนึกว่าเป็นคนนั้นคนนี้ก็เป็นธรรม ที่คิด เพราะฉะนั้น กว่าที่จะระลึกทั่ว รู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็เพราะรู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริง ถ้าสติไม่ระลึกที่ลักษณะที่เป็นปรมัตถต่างๆ เราก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมแต่ละอย่าง แต่เมื่อสติระลึกแล้ว สติทำหน้าที่ เพียงแค่ ระลึก หน้าที่อื่นเป็นของเจตสิกอื่น แม้แต่ปัญญาเจตสิกก็ไม่ใช่ สติเจตสิก เจตนาเจตสิกก็ไม่ใช่ สติเจตสิก

    ผู้ฟัง การระลึกก็คือ ช่วงระลึก มันก็รวดเร็ว บางครั้งก็ไม่สามารถ ระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่า ตามความเป็นจริง สภาพธรรมเกิดดับเร็วแค่ไหน เกินกว่าที่เราจะไปจับ เอาไว้ไม่ให้ดับ เมื่อเกิดแล้วก็ทำหน้าที่ หรือมีลักษณะนั้นๆ ปรากฏ แล้วก็ดับ อย่างเสียง ที่เคยถามว่าเสียงในป่า มีไหม ไม่ว่าจะเสียงในบ้าน เสียงนอกบ้าน เสียงที่ถนน เสียงบนสวรรค์ เสียงในนรก หรือเสียงในป่า เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เสียงเกิด เสียงก็เกิด แต่เกิดแล้วดับ เร็วแค่ไหน ลองคิดดู รูปทุกรูปมีอายุเท่ากับ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้าเป็นสภาวะรูป คือ รูปที่มีลักษณะจริงๆ ๑๗ ขณะระหว่างเห็นกับได้ยินเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ลองคิดถึงความรวดเร็วของรูป ที่เกิด อย่างเสียงในป่า หรือเสียงนอกถนน หรือเสียงในนี้ก็ตามแต่ ดับแล้วทันทีที่เกิด เหมือนดับไปเลย เกิดแล้วก็ดับไปเลย เร็วมาก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดเป็นอย่างนี้ ต้องอาศัยสติ คือ การระลึกเมื่อเข้าใจธรรมแล้ว จึงมีปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด แต่ไม่ใช่ไปอยากให้มีสติ หรืออยากจะรู้ ต้องรู้ หรือเข้าใจ ความเป็นอนัตตาจริงๆ การศึกษาธรรมต้อง ควบคู่กันไป หรือพร้อมกับการละ แม้แต่สติที่ระลึกก็ระลึกพร้อมการละด้วยไม่ใช่ด้วยคามต้องการหรือด้วยความจงใจ ขณะนั้นจะไม่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมได้เลย แต่เมื่อมีการเข้าใจธรรมมากขึ้น ฟังธรรมมากขึ้น รู้ว่าเป็นธรรม ก็มีปัจจัยที่จะให้มีการระลึกรู้ ลักษณะของธรรมที่เป็นอย่างนั้น ในขณะนี้กำลังเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็มีลักษณะที่ปรากฏเป็นธรรมต่างๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

    ผู้ฟัง อย่างนั้น ความหมายคือ เราต้องศึกษา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องศึกษาให้เข้าใจ แล้วไม่ต้องไปสนใจเรื่องสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าการศึกษา ที่จะเป็นความสมบูรณ์มี ๓ ขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติ ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องสภาพธรรม อะไรปฏิบัติ นอกจากตัวตนกับโลภะ กับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด แต่ถ้าเข้าใจแล้ว รู้ว่าไม่มีเรา ปัญญา คือ ความเห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ว่าขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นต้องเป็น มหากุศลญาณสัมปยุต ที่รู้ว่าสติ นั้น เป็นสติปัฏฐาน ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ยังไม่พอเลย อวิขชา ความไม่รู้ ลักษณะของสภาพธรรมเนิ่นนานมามาก ไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้ากี่พระองค์ ที่ได้ปรินิพพานไปแล้ว แต่คนที่ไม่เข้าใจ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ แล้วก็เริ่มศึกษาให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าหมดหนทาง มีหนทาง แต่เป็นหนทางที่ต้องไปพร้อมกับการละ แล้วก็ค่อยๆ อบรมไป จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง บางครั้งมันก็กลัวว่า ชีวิตนี้มันไม่พอ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นความลึกของ ความเป็นเรา ทั้งหมดถ้าเกิดขึ้นเป็นอกุศล ยิ่งอยากได้อย่างนั้น ยิ่งกลัวอย่างนี้ ก็ยิ่งส่องไปถึง ความเป็นตัวตน ว่าเพราะตัวนี้ ที่รักมาก ไม่อยากจะให้เกิดในอบาย ไม่อยากจะให้เป็นทุกข์อย่างนั้น ไม่อยากจะให้มีอวิชชาอย่างนี้ ยิ่งเห็นความเป็นตัวตน แล้วก็ไม่สามารถจะหมดไปได้เพียงด้วยความกลัว แต่ต้องเป็นปัญญาที่ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ชาตินี้จะเข้าใจมากน้อยเท่าไรก็ยังดีกว่าไม่เข้าใจเลย แล้วจะไปเร่งรัดอะไรถ้าไม่ มีเหตุปัจจัยพอที่จะให้รู้สภาพธรรม ก็ยังรู้ไม่ได้

    ผู้ฟัง ความหมายของอาจารย์คือ อะไรจะเกิดมันต้องเกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วจริงหรือเปล่า ทุกอย่างต้องจริง ไม่มีเรา ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรเลย เพราะฉะนั้น ยิ่งสติปัฏฐานเกิดยิ่งรู้ ความเป็น อนัตตาของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อย่างนี้ ความหมายคือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เราเดี๋ยวนี้ สร้างอนาคต

    ท่านอาจารย์ ไม่เลย ไม่มีเราเลย เพียงจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติเป็นอย่างนี้ เราก็กำลังสร้างกุศลอยู่ ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ จิตทีละหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง เจตสิกของเราเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนะ จิตหนึ่งขณะ เกิด เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเราสร้าง ขณะต่อไปเกิด เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเราสร้าง

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องทำอะไร เป็นความคิด ใช่ไหม เกิดขึ้นเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูก เกิดเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่รู้ ว่ามันเห็นถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ คือไม่รู้ จะบอกว่ารู้ไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็คือ อาจจะเป็นไปได้ว่า เดี๋ยวนี้ ชินคิดว่าไม่ต้องทำอะไร คือแบบ เละตุ้มเป๊ะก็ได้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความคิด แต่ไม่ใช่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วอะไรคือ ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจสภาพธรรมที่รู้ว่า ขณะนี้ ไม่เข้าใจ ยังไม่เข้าใจ จึงต้องศึกษาเพื่อให้เข้าใจขึ้น นี้คือความเห็นที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ทำอะไรก็คือเรียนให้ ทำอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เรารู้เลย วันหนึ่งๆ ขณะไหนบ้างที่เราเข้าใจธรรม ขณะที่ฟังแล้วพิจารณา แต่ว่าขณะอื่นไม่ใช่ขณะที่เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น เราก็จะรู้ได้ว่า เมื่อจะเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น เหตุปัจจัยคืออะไร ที่จะทำให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วพร้อมกันที่เรา ละความไม่รู้ ก็คือละตัณหา หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานจึง ไม่ใช่อกุศลจิต แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีพืชเชื้อของอกุศล ที่จะเกิดอีก

    ผู้ฟัง วันๆ หนึ่ง อกุศลจิตก็เกิดมากมาย แต่กุศลจิต หนูพิจารณาระลึกอยู่ ไม่เห็นเกิดเลย เกิดแต่อกุศลจิตตลอด

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ส่วนน้อยมาก

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้ตรง น้อยก็น้อย แต่กุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้ และอกุศล ก็จะเป็นกุศลไม่ได้ ต้องเป็นคนที่ตรง เข้าใจตรง คือเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง เข้าใจเรื่อง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เข้าใจเรื่องก็ยังดีกว่า ไม่เข้าใจเลย

    ผู้ฟัง เข้าใจเรื่องก็ทำอะไรกิเลสไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จากการเข้าใจเรื่องจึงรู้ว่า เฉพาะการเข้าใจเรื่อง ทำอะไรกิเลสไม่ได้ นี้คือความเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง อาจารย์อย่างนี้เราเข้าใจ ถ้าสมมติว่า คนนี้มีอาชีพ ฆ่าไก่ ก็ให้เข้ารู้ เรียนธรรม

    ท่านอาจารย์ อาชีพอะไรไม่สำคัญ ไม่เกี่ยวข้อง จิต เจตสิก รูป แต่ละหนึ่งขณะให้เข้าใจขึ้น คนไหนที่ไม่ฟังก็คือไม่เข้าใจ เขาจะทำอาชีพอะไร ไม่ฆ่าไก่ เขาก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปเกี่ยวกับฆ่าไก่ ไม่ฆ่าไก่

    ผู้ฟัง ฆ่าไก่นั้นคือปาณาติบาต ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ ทั้งนั้นแหละ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะศึกษาสภาพธรรม ถ้าศึกษาสภาพธรรม เขาจะเป็นใครแล้วแต่ แต่ว่าขณะใดที่ฟังเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นปัญญา

    ผู้ฟัง อย่างนี้ไม่สำคัญ หรือ

    ท่านอาจารย์ แล้วฆ่านกล่ะ

    ผู้ฟัง ก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ฆ่ามดล่ะ ฆ่าช้างล่ะ

    ผู้ฟัง ใช่ก็คือฆ่า

    ท่านอาจารย์ ก็ต่อไปสิ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จบ

    ผู้ฟัง นี่คือ เขามิจฉาอาชีพ ไง

    ท่านอาจารย์ ก็เรากำลังเรียนเรื่องเจตสิกว่า อกุศลเจตสิกมีเท่าไร โสภณเจตสิกมีเท่าไร เรียนให้เข้าใจตรงนี้ ถ้าเรารู้จักตัวเราเอง จะรู้ได้เลยว่า ดีขึ้นแค่ไหน มากแค่ไหนแล้ว ตั้งแต่ฟังพระธรรมมา หรือว่าเพียงแต่จำตัวเลขได้ จำจำนวนได้เท่านั้นเอง แต่ยังไม่ได้ดีขึ้นเลย เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงพอที่ว่า ถึงด้วยการที่ว่าพระองค์ เป็นผู้ชี้ทาง เป็นที่พึ่ง ที่จะทำให้เราประพฤติปฏิบัติดีขึ้น แต่ถ้าไม่มีการศึกษาธรรม ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงประโยชน์ ใหญ่หลวงกับชีวิตของแต่ละบุคคลอย่างไร เพราะฉะนั้น การที่จะมีพระธรรมเป็นสรณะได้ ก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่ใช่เพียงแต่ผ่านไป ฟัง แต่ว่าต้องมีความสนใจจริงๆ ที่จะเข้าใจธรรมที่ได้ทรงแสดง ให้ถูกต้อง ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยความตั้งใจในการสดับ เพราะว่าถ้าจะกล่าวถึงพระวิหารเชตวันในอดีต ผู้ที่ไปฟังธรรมทั้งหมด ก็คงจะไม่คุยกัน ยุกยิก หรือว่าสนทนาเรื่องอื่นกัน แต่ทุกคนตั้งใจสดับจริงๆ เพราะว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ง่ายต่อการที่จะเข้าใจ ต้องอบรมตั้งแต่ขั้นฟัง เข้าใจ จนกว่าสติจะระลึก แล้วก็เห็นจริงรู้จริง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น การมีพระธรรมเป็นสรณะ อย่าลืมว่า การเคารพในธรรมคือ การตั้งใจฟัง สำคัญที่สุด ตั้งใจที่จะเข้าใจธรรม ที่ได้ยินได้ฟัง

    สำหรับการถึงพระสงฆ์ สาวกเป็นสรณะ การระลึกถึงคุณความดีของผู้ที่ กว่าจะได้เป็น อริยสาวก จากเราๆ ธรรมดานี้ ท่านเหล่านั้นท่านก็เคยผ่านชีวิตในสังสารวัฏฏ์มามาก อาศัยการได้ฟัง พระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก่อนๆ หลายพระองค์ แล้วก็อบรมด้วย จิรกาลภาวนา คือการอบรมด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ที่ปัญญาจะต้องค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีพระอริยสงฆ์สาวกที่สืบทอดมา พระธรรมก็สูญ เพราะว่าพระผู้มีพระภาค ก็ทรงปรินิพพาน ไม่ใช่ว่าจะมีอายุยืนยาวถึงแสนโกฏิกัปป์ หรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าอาศัยบรรดาผู้ที่ได้สะสมบุญ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยสาวก ที่สืบทอดพระศาสานามา เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เราเห็น พระคุณของพระรัตนตรัย แล้วก็ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งจริงๆ ได้

    การที่เราจะพยายาม เข้าใจธรรมก็คือ เป็นการเคารพในธรรม และก็เป็นการที่ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะจริงๆ เพราะฉะนั้น วันนี้เรื่องที่เราจะกล่าวถึงก็คือ นามธรรมกับรูปธรรม แล้วสำหรับนามธรรมก็คือ สิ่งแรกที่จะกล่าวถึง คือจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ต่อไปจะทราบว่าจิต สามารถที่จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่เกิดมาจนตาย จิต เกิดดับ นับไม่ถ้วนเลย ไม่ต้องถึงจนตาย แม้เพียงชั่วขณะเดี๋ยวนี้ เห็น ได้ยิน คิด แล้วก็ สารพัดอย่าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจิตทั้งหมด ไม่ได้ขาดจิตเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย ตายแล้วก็ไม่ขาดอีก เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรม ซึ่งเป็นปัจจัย เวลาที่จิตนั้นดับไป จิตที่ดับเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น นี่เป็นคุณสมบัติ หรือว่าเป็นพลัง หรือเป็นปัจจัยหนึ่ง ของจิตทุกดวง เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉะนั้น ทุกคน ขณะที่นั่งอยู่ที่นี่ก็ ตายมาแล้ว แล้วก็เกิดมาแล้ว แล้วก็ต้องตายแน่ๆ ไม่มีใครสักคนหนึ่งซึ่งจะไม่ตาย ช้าหรือเร็ว แต่ไม่ได้ไปไหนนอกสังสารวัฏฏ์เลย เพราะเหตุว่าทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิด ทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตอื่นเกิด นี่คือการเกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมซึ่งเป็นจิต ไม่ได้ออกไปไหน ไม่ต้องห่วงใย ใครก็ตามที่สิ้นชีวิตแล้ว ให้ทราบว่าคนนั้นเกิดทันที แต่ว่าคนละมิติ

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเสียงนั้นอยู่เฉยๆ เสียงจะเกิดที่ไหนก็แล้วแต่ แล้วไม่มีสภาพไปรู้ ก็หาข้อแตกต่างไม่ได้ อันนี้จำได้

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจ และพิสูจน์ด้วย เริ่มพิสูจน์ ที่ตัวคุณวีระ มีปอดไหม

    ผู้ฟัง ปอดอยู่ข้างใน

    ท่านอาจารย์ ปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปอดไม่ปรากฏกับผม ตอนนี้ เพียงแต่รู้สึกว่ามี มีอาการขยับเข้า ขยับออกเวลาหายใจ ท่านอาจารย์บอกว่าดูปอด

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อกี้นี้ไม่รู้สึกอย่างนั้น ตอนที่ไม่ได้ถาม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อย่าลืม ถ้าเราจะเข้าใจสภาพธรรม ที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต้องถึงขณะจิต สิ่งที่เราเคยจำไว้ทั้งหมด บ้านทั้งหลัง ตัวทั้งตัว ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นอัตตสัญญา ความทรงจำว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่าจริงๆ แล้วเมื่อจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วก็รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทีละ หนึ่งอย่าง จะมีอย่างอื่นไม่ได้เลย ถ้ายังไม่ถึงขณะนี้ ยังรวมเป็นตัวเรา ยังรวมเป็นโลก ยังรวมเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขึ้นเป็นอัตตา หรือเป็นสักกายทิฏฐิ คือมีความเห็นว่าสิ่งนั้น รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อมีเราก็ต้องมีการเห็น มีคนนั้น มีคนนี้ เพราะเหตุว่ามีเรา แต่เราไม่มี มีจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ หมดเลยขณะนี้ ต้องถึงขณะนี้ การพิจารณาธรรม เริ่มเข้าใจธรรม ที่กำลังมีในขณะนี้ แม้ว่ายังไม่ประจักษ์แต่เริ่ม เข้าใจความจริง ว่าขณะนี้ เห็นดับ แล้วก็มีได้ยินเกิดขึ้น ขณะเดียว อย่างอื่นไม่มีเลย แข็งอ่อนเย็นร้อน ปอดหัวใจไม่มี รูปธรรมเป็นสภาพซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น โดยสมุฏฐานอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ สมุฏฐาน คือ มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ก็ได้ประเภท๑ มีจิตเป็นสมุฏฐานอีกประเภท๑ มีอุตุ คือความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐานอีกประเภท๑ มีอาหารเป็นสมุฏฐานอีกประเภท๑ เรายังไม่ต้องนึกถึงตัวเรา แต่นึกถึงความจริงว่ารูป ที่จะเกิดได้ต้องมีสมุฏฐานด้วย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น รูปนี้ทั้งหมด ย้อนมาที่กายอีก ไม่ใช่ของเรา อันนี้ต้องไม่ลืม นามธรรม รูปธรรมไม่เป็นของใคร จำไว้ในใจเพื่อว่าจะถึงวันหนึ่ง ที่จะรู้ว่านามเป็นนามธรรมเท่านั้น เกิดขึ้นแล้วดับไป รูปก็เป็นรูปธรรมเท่านั้น เกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าเราไม่เข้าใจตอนนี้เราก็หลงอีก ลืมอีก แต่เราจะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า นามธรรมบอกแล้วไง เป็นนามธรรมก็ต้องเป็นนามธรรม จะเป็นใครไม่ได้ จะเป็นของใครไม่ได้ทั้งสิ้น บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะเหตุว่านามธรรมเป็นนามธรรมเท่านั้น ต้องเป็นนามธรรมอย่างเดียว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สำหรับรูปธรรมก็เช่นเดียวกัน จะเกิดที่ตัว จะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ในน้ำบนบก อย่างไรก็ตามแต่ รูปธรรมเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น เคยจำได้ว่า นี่ คือเราตั้งแต่ศีรษะ จรดเท้า เดี๋ยวนี้เป็นรูปเหมือนรูปอื่นๆ เป็นรูปเท่านั้น ซึ่งเกิดจากสมุฏฐาน ๑ สมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน แต่ว่าที่กาย ของเรามีรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานด้วย มีรูปซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานด้วย มีรูปซึ่งเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานด้วย มีรูปซึ่งเกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานด้วย นี่คือความละเอียดที่เราจะรู้ว่า รูปเป็นรูปก็จริง แต่รูปมีสมุฏฐาน คือธรรมที่ก่อตั้ง ให้รูปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น รูปยังคงเป็นรูป คือ ถึงจะอยู่ตรงนี้ ก็เป็นรูปนั่นเอง จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี่คือการเริ่มที่จะละ การยึดถือว่าเป็นเรา โดยเข้าใจสภาพจริงๆ ของสิ่งที่มี เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความว่างเปล่า ก็ไม่มีการที่จะยึดถือว่าเป็นตึกรามบ้านช่อง หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เช่น ดิน ก้อนอิฐ ก้อนกรวด อะไรก็ตามแต่ สร้างขึ้นปรากฏ ก็เป็นตึกรามบ้านช่องขึ้นมาก็มี ความสำคัญว่าเป็นตึกรามบ้านช่อง แต่พอย่อยออกไป สิ่งนั้นมาจากอะไร สิ่งนี้เกิดจากอะไร เพราะฉะนั้น ที่ตัวนี้ก็เหมือนกัน จำไว้ตั้งแต่เด็กจนโตว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นเรา แต่ความจริงเป็นรูปแต่ละกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานต่างกัน แล้วก็ทยอยกันเกิดทยอยกันดับตลอดเวลา เพราะฉะนั้น แล้วแต่สมุฏฐาน ถ้าที่โต๊ะ ที่อื่น ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล จะไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม ไม่มีรูปที่เกิดจากจิต ไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร แต่รูปเป็นรูป รูปจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารูปจะเกิดจากสมุฏฐานอะไร รูปก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น ก็อย่าลืม ว่าเราศึกษาเรื่องสภาพธรรม ที่มีจริงๆ แล้วไม่ใช่ของใคร ถ้าศึกษาเรื่องรูป จะอยู่ตรงไหนก็เป็นรูปนั่นเอง อยู่ตรงนี้ก็เป็นรูป อยู่ตรงโน้นก็เป็นรูป รูปก็คือรูป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567