ปกิณณกธรรม ตอนที่ 496
ตอนที่ ๔๙๖
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๑
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่มีความเข้าใจแล้ว ไม่ใช่เพียงจำ แต่เป็นความเข้าใจจริงๆ
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สมพร ตอนที่สัญญาเกิดกับจิตที่รู้ หลงลืมนั่นสัญญาจำอะไร
วิทยากร สัญญาที่เกิดกับจิตทุกดวง ก็เป็นสรรพจิตสาธารณะเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ขณะเกิด ต้องมีสัญญาด้วย ขาดเจตสิก ๗ ดวงนี้ จิตก็เกิดไม่ได้ นั่นเป็นปัจจุบัน เกิดขึ้น แต่ที่มันดับไปแล้ว เราระลึกถึงสิ่งที่มันดับไปแล้ว มันไม่ใช่ขณะเกิด มันดับไปแล้ว เป็นอดีต เป็นคนละขณะ ที่บอกว่าลืมๆ เพราะเป็นคนละขณะกัน
ผู้ฟัง พี่วีณา กล่าวว่าสัญญาที่เกิดกับจิตที่ลืม คือสัญญาที่จำได้ว่าลืม
ท่านอาจารย์ ขอตอบคุณวีระ จำอะไรก็ไม่รู้ ถูกไหม เวลาที่ลืม ที่คุณวีระถามว่าจำอะไร ขณะนั้นสัญญาจำอะไร ขณะที่ลืม สัญญาจำอะไรก็ไม่รู้ เวลานี้ใครรู้บ้างว่าสัญญาจำอะไร ทั้งๆ ที่สัญญาเกิดกับจิตทุกขณะ ทางตาก็มีสัญญาในขณะที่เห็น ทางหูก็มีสัญญาในขณะที่ได้ยิน กระทบสัมผัสนิดหนึ่งก็มีสัญญาแล้ว แล้วสัญญาจำอะไร ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ จะรู้ไหมว่าสัญญาเป็นสภาพที่จำ และขณะนั้นจำอะไร เพราะฉะนั้น ที่ถาม คือตอนลืม สัญญาจำอะไร คำตอบก็คือ จำอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งก็จริง ใช่ไหม เวลานี้ถามจริงๆ สัญญาจำอะไร จำอะไรก็ไม่รู้ เพราะมันมากมาย จำหมดเลย ทางตาก็จำ ทางหูก็จำ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จำ แล้วสัญญามีหน้าที่จำ สัญญาไม่ใช่มีหน้าที่นึกหรือตรึก หรือคิด นี้แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรม ของเจตสิกแต่อย่างต้องเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่าเจตสิกอย่างไหน ก็เป็นอย่างนั้น สัญญาไม่ใช่มีหน้าที่คิด สัญญาจำ เพราะฉะนั้น จะไปบอกสัญญาไม่ให้จำ ก็ไม่ได้ สัญญาก็จำแล้ว ทั้งๆ ที่ใครจะบอกว่า อย่าจำ สัญญามีหน้าที่จำ แต่ที่จะตรึกหรือนึกคิด ไม่ใช่สัญญาเจตสิก ก็เป็นเรื่องของสัญญาความจำ ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติไม่เปลี่ยนลักษณะ กี่หมื่นปี กี่ล้านปี สัญญาเจตสิกก็เป็นสัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ เป็นกองของสัญญา ทีนี้สภาพธรรม เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ จริง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่สภาพที่เป็น สังขารธรรม หรือสังขตธรรม เพียง ๓ คือจิต เจตสิก รูป รูปทุกประเภท ทุกชนิด ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต รูปใกล้ รูปไกล หยาบ ละเอียด ประณีตอะไร ก็แล้วแต่ ทั้งหมดก็เป็นกองรูป คือ เป็นประเภทรูป ใช้คำว่า รูปขันธ์ ความรู้สึกทั้งหมด ในอดีต ปัจจุบัน อนาคตต่อไปก็คือ เวทนาขันธ์ สัญญาความจำทั้งหมด ก็คือสภาพของสัญญาเจตสิก ส่วนจิตทุกประเภท ทุกชนิด ทุกดวงเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า จิต หรือจะใช้คำว่า วิญญาณก็ได้ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ โดยขันธ์ วิญญาณขันธ์ก็คือจิตทุกชนิด เพราะฉะนั้น ยังเหลืออีกขันธ์ ๑ ซึ่งเราได้ยินบ่อยๆ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์จะคืออะไร ไม่ตอบแต่คิดได้แล้ว เวลานี้ทุกคนรู้คำตอบแน่นอน ไม่ต้องมีใครบอกเลย ปรมัตถธรรม มี ๔ จิตทุกชนิดเป็นวิญญาณขันธ์ รูปทุกชนิดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก ๑ ประเภทใน ๕๒ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ใน ๕๒ เป็นสัญญาขันธ์ อีกขันธ์ ๑ คือสังขารขันธ์ได้แก่ ปรมัตถธรรม อะไร ไม่มีคำบอกแต่ตอบเอง ต้องตอบได้ทุกคน
ผู้ฟัง เมื่อกี้คุยกันว่า มีการนำไปให้รู้ สังเกตสติทุกอริยาบถ ปัญญามันจะเกิดจากตัวนั้น หรือว่าปัญญามันจะเกิดจากการได้ฟังธรรม อยากจะทราบ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ปัญญาไม่ใช่เป็นเพียงชื่อที่เราเหมา หรือคิดเอา หรือจำได้ ว่ามีคำๆ หนึ่ง คือคำว่าปัญญา แต่จริงๆ แล้วปัญญาหมายความถึง ความเข้าใจถูก ความเห็นที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามว่าในขณะที่ฟัง เป็นปัญญาหรือเปล่า ก็ต้องแล้วแต่บุคคล คือขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่เราแล้ว ปัญญาเจตสิก ๑ ในสังขารขันธ์ ๕๐ เจตสิก เกิดขึ้นทำหน้าที่ของเขา คือเห็นถูก เข้าใจถูก แต่ขณะใดที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ ขณะนั้นจะกล่าวว่ามีปัญญาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าบางแห่งจะให้ทำสมาธิก่อน แล้วก็รู้สึกว่าจะถูกต้องตามอัธยาศัยของคนที่เขาพอใจอย่างนั้น ความจริง เขารู้หรือเปล่าว่า สมาธิมี ๒ อย่าง คือ มิจฉาสมาธิ กับสัมมาสมาธิ นี่คือประโยชน์ ของการศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ไม่มีอะไรเหลือที่จะทำให้เราเข้าใจผิด หลงผิด ทรงแสดงป้องกันไว้หมดเลย ที่จะไม่ให้เราเกิดความเห็นผิดต่างๆ อย่างพอพูดถึงสมาธิ คนจะตื่นเต้น เพราะอะไร ชอบ ไม่อยากให้จิตใจ ต้องทุรนทุราย เดือดร้อน กระสับกระส่าย วุ่นวาย คิดโน่น คิดนี่ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ดูไม่สงบ แม้แต่คำว่า สงบ ก็สงบในความหมายที่เขาพอใจ อาจจะไปอยู่ในป่า อยู่ในห้องคนเดียว ฟังเพลงเบาๆ เพราะๆ หรืออะไรก็ไม่มีใครมาหา ไม่มีใครมารบกวน เขาก็กล่าวว่าสงบ แต่พระธรรมไม่ได้แสดงให้เราเข้าใจผิดอย่างนั้น พระธรรมทรงแสดงลักษณะสภาพของจิตโดยละเอียด สภาพจิตใดเป็นกุศลก็เป็นกุศล เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล แม้แต่สมาธิไม่ได้ทรงแสดงว่ามี แต่สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิก็มี
คนที่เขาบอกให้เราทำสมาธิ เขาบอกเราหรือเปล่า ว่าอย่างไรเป็นมิจฉาสมาธิ อย่างไรเป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้าเขาไม่บอก รู้ไหมว่าทำไมเขาไม่บอก เมื่อไปหาคนไม่รู้ ทำด้วยความไม่รู้ ก็เป็นความไม่รู้ แล้วจะเป็นกุศลได้อย่างไร เพราะฉะนั้น พระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งจริงๆ ให้เราพ้นจากความไม่รู้ ความเห็นผิดต่างๆ เมื่อเราศึกษา แล้วต้องเห็นคุณค่าว่า ๔๕ พรรษาทรงแสดงพระธรรมโดยนัยหลากหลาย โดยประการต่างๆ ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ ของทุกคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ให้เกิดปัญญาให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ถ้าจะมีคนชักชวน ให้ทำสมาธิ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เชื่อง่าย ไม่ตามง่าย ก็จะต้องซัก แต่นี่ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม ถึงจะถามเขาได้ว่า มิจฉาสมาธิ ต่างกับ สัมมาสมาธิอย่างไร ถ้าตอบไม่ได้ คนนั้นก็ไม่ใช่คนที่เราควรจะไปทำ หรือว่าไปตามเพราะเหตุว่า เขาไม่รู้ เพราะฉะนั้น อย่าไปคิด ว่าทำสมาธิ แล้วก็จะเป็นทางที่จะทำให้ปัญญาเกิด ธรรมเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ แต่พระธรรมจะอุปการะ หรือเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะจริงๆ ที่ทำให้เราไม่ผิดทาง
ผู้ฟัง ผมเรียนถามนิดหนึ่ง ที่ท่านอาจารย์หรือใครต่อใครที่สอน ชอบจะพูดว่าทุกอย่างมันต้องใช้บารมี เป็นกัปๆ เป็นแสนกัป อะไรอย่างนี้
ท่านอาจารย์ อบรม ไม่ได้ใช้ ให้เกิดขึ้น สติไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด อบรมให้เกิด ภาวนาคืออบรมให้สิ่งที่ไม่เกิด เกิดขึ้น สิ่งที่มีแล้วให้เพิ่มขึ้นให้เจริญขึ้น ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็ฟังให้เข้าใจขึ้น เข้าใจขณะใด ถึงจะเป็นปัญญา ถ้าไม่เข้าใจก็จะเรียกว่าเป็นปัญาไม่ได้ จะบอกว่าเป็นปัญญาไม่ได้
ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าเกิดว่า ทุกวันนี้เรามีตำรับ ตำรา มีการระบุคำสอนไว้ในหนังสือ หรือเทป หรือทีวีที่จะศึกษาได้ง่ายกว่าสมัยพระพุทธเจ้า ซึ่งต้องเข้าประชิดตัว เพื่อที่จะฟัง ตัวนี้จะช่วยให้ย่นระยะเวลา คำว่า กัปๆ เป็นปีๆ เป็นเดือนได้ไหม
ท่านอาจารย์ คิดหรือว่าขณะนี้ จะประจักษ์ สภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับ เดี๋ยวนี้ ประจักษ์ได้ไหม
ผู้ฟัง คงไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ วันหนึ่งได้ไหม
ผู้ฟัง คิดว่าน่าจะได้
ท่านอาจารย์ เมื่อไร
ผู้ฟัง นั่นสิ
ท่านอาจารย์ เมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น อย่างเดียว คือคำตอบ เมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น ถึงระดับที่จะประจักษ์ได้ ไม่ใช่ไม่มีปัญาเลย แล้วคอยวัน คอยเดือน คอยปี ว่าเมื่อไร อย่างนั้นไม่ใช่เหตุผล แล้วเป็นปัญญาของใคร คนนั้นก็รู้ อย่างวันนี้เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้น นี่คือปัญญา เมื่อวันก่อนไม่เคยรู้ ใช่ไหม ก็แสดงให้เห็นว่าวันนี้ต่างกับวันก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าฟังต่อไปอีก มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก ก็คือปัญญาเพิ่มขึ้น จนกว่าจะถึงระดับที่ประจักษ์ได้ ไม่ต้องไปไหน อยู่ที่นี่แหละ เพราะว่าสภาพธรรมกำลังเกิดดับอยู่ ถ้าเป็นปัญญาถึงระดับขั้น ที่จะประจักษ์ก็ประจักษ์ ไม่มีอะไรปกปิดได้เลย แต่ถ้าเป็นอวิชชา ไม่มีทาง สภาพธรรม กำลังเผชิญหน้าก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่รู้เลยว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูปต่างๆ
ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นเองได้ไหม โดยที่ไม่ต้องเรียน แล้วก็ปัญญาจะเกิดขึ้นจากการทำสมาธิ เหมือนอย่างที่เมื่อกี้นี้มีผู้ถามมาได้ไหม
ท่านอาจารย์ ปัญญารู้อะไร คุณหมอมธุรส
ผู้ฟัง ในหลักธรรมก็ต้องรู้สภาพธรรม ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรเป็นสภาพธรรม
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วก็มีแค่นามกับรูป
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ แล้วอยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นมาได้ไหม ปัญญาจะประจักษ์การเกิดดับได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้ มีอยู่ทางเดียว ก็คือต้องศึกษา โดยการฟังหรือว่าเรียนเท่านั้น
ท่านอาจารย์ นี้ก็คือคำตอบ
ผู้ฟัง แล้วก็ ข้อที่ ๒ ก็คือ ปัญญาจะเกิดจากการทำสมาธิได้ไหม เพราะว่าได้ยินอยู่ทั่วๆ ไปแม้กระทั่งเมื่อกี้นี้ก็มีผู้ที่ถาม
ท่านอาจารย์ คือไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียด แม้แต่คำว่า วิสุทธิมรรค แบ่งออกเป็นนิเทศ ๓ นิเทศ คือศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ แล้วก็เคยมีคนที่เพียงได้ยินชื่อ วิสุทธิมรรคก็สรรเสริญเลย หนังสือเล่มนี้ดีมาก เหมือนกับผู้พูดเข้าใจทั้งหมด ใน วิสุทธิมรรค ซึ่งถ้าเข้าใจวิสุทธิมรรคหมด หมายความว่าเข้าใจพระไตรปิฎก หรืออรรถกถา หรือ นามธรรมรูปธรรม ปรมัตถธรรมหมดเลย ด้วยความคิดว่าเป็นสิ่งที่ง่าย เพราะฉะนั้น ต้องเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่ศีลนิเทศก็แสดงเรื่องของกุศลศีล หรือศีลที่ทำให้ถึงความบริสุทธิ์ สมาธินิเทศก็แสดงเรื่องของสัมมาสมาธิทั้งนั้น ไม่ได้แสดงเรื่องของ มิจฉาสมาธิ ปัญญานิเทศก็แสดงเรื่องของขันธ์ เรื่องของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าเราศึกษาเผินๆ พอบอกว่าสมาธิ เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เราจะไม่รู้เลย เราตามไปเลย นั่งทำสมาธิ เพราะว่า บรรทัดนี้บอกว่าอย่างนี้ แต่ ลืมว่าในพระไตรปิฎกนั้นมีทั้งกุศลศีล อกุศลศีล มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้น เราต้องรู้เลย ที่กล่าวอย่างนี้ไม่ได้มุ่งหมายว่า มิจฉาสมาธิ ทำให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ตั้งแต่เบื้องต้นโดยละเอียด แล้วก็สมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ใน ๗ ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง มีทั้งขณิกสมาธิชั่วขณะ หรือสมาธิที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องของการที่จะศึกษาโดยละเอียด โดยที่ว่าเราไม่ได้รีบร้อน จะไปประจักษ์การเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น นั่นคือโลภะ อยู่ดีๆ มีอะไร ปัญญาแค่ไหน ระดับไหนแล้วจะไปประจักษ์การเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม เขาบอกเราก็วิ่งตามไป แต่ไปไหน ไม่รู้ เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้ หนทางเดียวได้แสดงไว้แล้ว คือ มหาสติปัฏฐาน ในพระอภิธรรมจะมีข้อความที่บอกว่า ไมใช่ผัสสะปัฏฐาน ไมใช่เจตนาปัฏฐาน ไมใช่สมาธิปัฏฐาน ไมใช่สัญญาปัฏฐาน แต่เป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ลักษณะของสติเจตสิกซึ่งมีหลายระดับ ทั้งหมดเป็นเรื่องของความรู้ ไม่ใช่เป็นเรื่อง ไม่รู้ ไม่รู้ แล้วก็ไปนั่งทำ ทำ แล้วก็คิดว่าประจักษ์การเกิดดับ
ผู้ฟัง เรื่องอื่นมีอีกมากมายนัก แต่พระธรรมนี้เป็นทางตรง มีอยู่ทางเดียว ทางตรงที่เราจะละกิเลส กิเลสมีรอบตัวเราอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันมากมายอยู่แล้ว เวลาของเรานี่น้อยนิดเดียว เพราะฉะนั้น ขอให้เริ่มต้นเลย
ท่านอาจารย์ เดือนหนึ่งก็ผ่านไป แล้วก็การศึกษาพระธรรม ไม่ทราบว่าระหว่างเดือนหนึ่งที่ผ่านไป มีใครที่จะ จำได้ แล้วก็ระลึกรู้ว่า ธรรม ไม่ได้อยู่ที่อื่น นี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การศึกษาพระธรรมอย่าคิดว่า ธรรม อยู่ในหนังสือ อยู่ในตำรา แล้วก็เป็นแต่เพียงเรื่องราวของธรรม แต่ต้องจำไม่ลืมเลย จริงๆ ว่าธรรม คือขณะนี้ เดือนหนึ่งผ่านไปเราอาจจะไม่ได้ระลึกเลยว่า แท้ที่จริง แล้วที่เราศึกษาธรรม ไม่ใช่ศึกษาเรื่องราวในหนังสือ แต่ว่าศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏ และตลอดเดือนหนึ่งที่ผ่านมาทุกวัน ทุกนาทีแม้ในขณะนี้ ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เราได้ยินได้ฟังมา ก็เพื่อที่จะเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะเข้าใจได้โดยง่ายเลย ทั้งๆ ที่เราได้ยินได้ฟังมาว่า ธรรม มีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น โดยประเภทใหญ่ๆ ที่ต่างกัน คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง และสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าแม้ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็สามารถที่จะฟังให้เข้าใจขึ้น ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้น ในขณะนี้ เห็นในขณะนี้จะมีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าขณะนี้ จะมีสภาพธรรม อะไรปรากฏ ทางตาคือเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ทางใจกำลังคิดนึก เป็นสภาพธรรม ที่ล้วนแต่ต้องเกิดขึ้น คือธรรมแม้ว่าจะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แล้วก็ดูว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สุดว่า เมื่อสิ่งใดปรากฏ สิ่งนั้นต้องเกิดขึ้น แต่ขณะนี้จริงๆ เราเคยรู้ความเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้หรือเปล่า อย่างทางตาสิ่งที่กำลังปรากฏต้องเกิดขึ้น ทางหูเสียงที่กำลังได้ยินต้องเกิดขึ้น แม้จิตที่ได้ยินก็ต้องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่ามีสภาพธรรม ที่กำลังเกิด แล้วสิ่งใดที่เกิดขึ้นก็ตาม สิ่งนั้นไม่มั่นคงไม่ยั่งยืน สิ่งนั้นอาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วต้องดับ ที่จะไม่ดับไม่มีเลย แต่เราก็ไม่สามารถที่จะรู้การเกิดขึ้น และดับไปของธรรม เพียงฟังเรื่องราวของธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่าต้องมีปัญญาหลายระดับขั้นจริงๆ ซึ่งจะข้ามขั้นไม่ได้ ไม่มีใครสามารถจะไปประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ของสภาพธรรมในขณะนี้ ถ้าปัญญาไม่ได้อบรม ตั้งแต่ขั้นฟังเข้าใจเรื่องของธรรมที่กำลังมี ซึ่งในคราวก่อน เราก็ได้พูดเรื่องของสภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้น และดับไปมีลักษณะที่ต่างกันไปเป็น ๒ ประเภท คือ นามธรรมกับรูปธรรม แล้วไม่ว่าเราจะได้ยินได้ฟังเรื่องราวธรรมในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นใน พระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรมก็ตาม ก็เป็นเรื่องของจิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม รูปเป็นรูปธรรม และนิพพานเป็นนามธรรม ซึ่งเราก็จะต้องค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมเหล่านั้น กำลังมีอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงบำเพ็ญพระบารมี ที่จะตรัสรู้ และทรงแสดง ไม่มีสัตว์โลกใด ที่สามารถจะเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งแท้ที่จริงก็กำลังเกิดดับอยู่ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ ว่าอวิชชามากมาย สักแค่ไหน ทีนี้ต่อไป ถ้ามีคนถามว่า อวิชชาคืออะไร ซึ่งโดยศัพท์ทุกคนที่เรียนมาก็ทราบ อวิชชา หมายความถึงความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะรู้จักอวิชชาว่า ไม่รู้ ความจริงว่าเป็นสภาพธรรม ที่กำลังเกิด และดับ อวิชชาไม่ได้อยู่ในหนังสือ ขณะนี้กำลังเห็น กำลังเกิดดับ ไม่รู้ในความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ
เมื่อสภาพธรรม เป็นสิ่งที่รู้อยาก ต้องอาศัยความตั้งใจจริงๆ ในการฟังเพื่อประโยชน์ คือการเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งแม้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรม แต่ก็ต้องฟังแล้วฟังอีกบ่อยๆ จนกว่า จะรู้สภาพที่แท้จริงของ นามธรรม และรูปธรรม จึงมีความเห็นถูกต้องในพระธรรมที่ทรงแสดง ตอนนี้ขอให้ทุกคนลืมเรื่องอื่นหมด และก็สนใจว่ามีลักษณะของนามธรรมจริงๆ มีลักษณะของรูปธรรมจริงๆ ไม่ต้องคิดถึงตัวตนเลย คือไม่ต้องคิดถึงว่าเรากำลังนั่งอยู่ที่ไหน ในห้องไหน แล้วก็เห็นอะไร แต่ให้ทราบว่าขณะนี้ มีนามธรรม และรูปธรรม แล้วสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะเหตุว่านามธรรมเป็นธาตุรู้ นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมเลยทั้งสิ้น ไม่มีรูปธรรม ใดๆ เจือปนอยู่ในลักษณะของธาตุรู้
ถ้าพูดถึงคำว่า ธาตุ ทุกคนจะรู้ได้เลยว่า เป็นสิ่งที่มีทรงไว้ซึ่งสภาพลักษณะของสิ่งนั้น ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีธาตุซึ่งเป็น รูป ที่เราเคยรู้จัก แต่ธาตุซึ่งเป็นนามก็มี แล้วเราไม่เคยรู้จักเลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ให้ทราบความจริงว่า นามธาตุ มี รูปธาตุจึงได้ปรากฏ เพราะเหตุว่าถ้ามีแต่เพียงรูปธรรม มีเสียงแต่ไม่มีการได้ยิน เสียงนั้นก็ไม่ปรากฏ มีสีสันวัณณะ มีรส มีกลิ่น แต่ว่าถ้าไม่มีสภาพธรรม ที่รู้กลิ่น รู้รส หรือว่ารู้ว่าสีสันวัณณะกำลังปรากฏทางตา สีสันวัณณะก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี ก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น ให้ค่อยๆ พิจารณาตามไปเพื่อที่จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า นามธาตุนั้นมี แล้วก็เป็นสภาพรู้ และเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ และรู้เพียงทีละหนึ่งอย่างที่ปรากฏ เมื่อมีสภาพรู้ซึ่งเป็นจิต และเจตสิกก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้จะเห็นได้ว่าจิต เป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกจิตรู้ไม่เว้นอะไรเลย สามารถที่จะรู้ได้ แล้วแต่ว่าบุคคลนั้น มีจิตประเภทใด ถ้าไม่มีจิตที่สามารถที่จะรู้นิพพาน นิพพานก็ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าจิตนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ทุกคนก็มีจิตธรรมดาๆ ระดับต่ำสุดคือระดับที่เห็น สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ได้ยินเสียงที่กำลังได้ยินในขณะนี้ บางขณะก็ได้กลิ่น บางขณะก็ลิ้มรส บางขณะก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส บางขณะก็คิดนึก นี่เป็นสิ่งสามัญประจำไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ก็รู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เท่านั้น ไม่สามารถที่จะรู้สิ่งที่ประณีตมากกว่านี้ ได้ เพราะฉะนั้น ต้องมีการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเพื่อให้รู้ว่าธาตุรู้เป็นธาตุรู้ เมื่อเป็นธาตุรู้ก็คือว่า ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้น และก็ดับไปทีละหนึ่งขณะ นี่เป็นเรื่องของนามธรรม ส่วนรูปธรรมนั้นก็ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่สามารถที่จะรู้อะไรเลย
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 481
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 482
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 483
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 484
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 485
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 486
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 487
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 488
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 489
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 490
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 491
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 492
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 493
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 494
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 495
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 496
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 497
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 498
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 499
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 500
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 501
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 502
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 503
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 504
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 505
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 506
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 507
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 508
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 509
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 510
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 511
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 512
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 513
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 514
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 515
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 516
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 517
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 518
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 519
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 520
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 521
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 522
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 523
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 524
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 525
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 526
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 527
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 528
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 529
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 530
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 531
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 532
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 533
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 534
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 535
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 536
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 537
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 538
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 539
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 540