ปกิณณกธรรม ตอนที่ 497


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๙๗

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ ส่วนรูปธรรมนั้นก็ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่สามารถที่จะรู้อะไรเลย เช่นกลิ่น มีเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่กลิ่นก็ไม่สามารถจะรู้อะไร รสมีเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่รสก็ไม่สามารถที่จะรู้อะไร นี่คือลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ตอนนี้ไม่ทราบว่ายังมีข้อสงสัยไหม ในเรื่องนามธรรม รูปธรรม

    รูปธรรมไม่จำเป็นต้องมองเห็น สิ่งใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้น และไม่รู้อะไร สิ่งนั้นเป็นรูปธรรม และสิ่งใดซึ่งเกิดขึ้น เป็นสภาพรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ สภาพรู้นั้นมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก แต่เราจะเรียกย่อตอนนี้ว่า นามธรรมเท่านั้น เพราะว่าเราจะต้องค่อยๆ เรียนไปตามลำดับ รูปธรรมถึงแม้ว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น ความเกี่ยวข้องของนามธรรมกับรูปธรรม คือว่า รูปมีจริง และนามธรรมเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น นามธรรมก็รู้รูปที่ปรากฏให้รู้ โดยอาศัยปัจจัย เช่น จักขุปสาท ที่ตรงกลางตา มีรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถจะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วนามธรรมก็เกิดขึ้น เห็นสิ่งนั้น นี่คือความเป็นปัจจัยของขณะจิตหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น แม้ว่านามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม แต่นามธรรมนั่นเอง เป็นสภาพที่รู้รูปธรรม ถ้าไม่มีธาตุรู้ ก็ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องโศก ไม่ต้องคิด ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ แต่เพราะเหตุว่า นามธรรมเป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต แล้วก็ยังมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม หลายๆ ชนิดซึ่งเกิดด้วย บางเจตสิกก็เป็นสภาพที่ดี บางเจตสิกก็ไม่ใช่สภาพที่ดี เพราะฉะนั้น ขณะใดเจตสิกที่ดี เกิดกับจิต ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ถ้าขณะใดเจตสิกที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับจิต ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต

    นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราย่อยชีวิตของเรา ให้ละเอียดเป็นถึง หนึ่งขณะจิต เราจะต้องศึกษาแล้วจะได้ทราบได้ว่า ไม่มีเรา ทุกอย่าง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป แต่ให้ทราบว่าแม้นามธรรมเป็นธาตุรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ แต่ก็เกี่ยวข้องกัน โดยรูปเป็นอารมณ์ หรือเป็นสิ่งซึ่งนามรู้ นี่ประการที่ ๑ ขณะนี้ ทุกคนที่เห็น กำลังเห็นรูป ที่ได้ยินคือได้ยินรูป ถ้าได้กลิ่นก็ได้กลิ่นรูป ลิ้มรสก็ลิ้มรสรูป กระทบสัมผัสก็กระทบสัมผัสรูป คิดนึกก็คิดนึกเรื่องของรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั่นเอง มีใครที่คิดว่าจะไม่รู้รูป ได้บ้างไหม เกิดมาแล้วเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นแล้วก็มีรูปปรากฏ เพราะฉะนั้น ธาตุรู้ก็คือ รู้รูป แล้วก็ยังติดข้องในรูปที่ปรากฏด้วย นี้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตแต่ละขณะของเรา ไม่พ้นจากนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะยังมีความติดข้อง ต้องการในนามธรรม ในรูปธรรมนั่นเอง อันนี้ก็คงจะไปถึงขันธ์ ๕ คราวที่แล้วที่เราเคยกล่าวถึงไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก็คงจะไม่ต้องทบทวน ถ้าใครยังไม่รู้เรื่องขันธ์ ๕ สนใจที่จะรู้ก็ค้นคว้าอ่านได้ในหนังสือซึ่งก็ไม่พ้นจากลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม หรือจิต เจตสิก รูป ขณะนี้ที่กำลังเห็น จิตอยู่ที่ไหน คุณมีรัง

    ผู้ฟัง จิต คือสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ จิต คือสภาพรู้ รูปไม่รู้อะไรเลย แล้วขณะนี้ จิตกำลังรู้รูป คือ กำลังเห็น จิตที่เห็นอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่จักขุ

    ท่านอาจารย์ เกิดที่จักขุปสาทรูปแล้วดับ ไม่ใช่ไม่ดับ เพราะฉะนั้น ความเกี่ยวข้องระหว่างนามธรรมกับรูปธรรมอีก ประการ ๑ ก็คือว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิต เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม ต้องเกิดที่รูปทุกขณะ ทุกครั้งที่จิตเกิด จะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย แม้ว่านามธาตุ ไม่ใช่รูปธาตุ แต่ว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือมีทั้ง จิต เจตสิก รูป จิต เจตสิก ต้องเกิดที่รูป แต่ว่าบางภูมิ ซึ่งพ้นจากรูป ไม่มีความติดข้องในรูป สามารถที่จะมีแต่นามธรรมเกิด โดยที่ไม่มีรูปเกิด แล้วก็ไม่รู้รูปด้วย นั่นคือ อรูปพรหมภูมิ ที่กล่าวตอนนี้ก็เพื่อที่จะให้เห็น ความแยกขาดจากกันจริงๆ ของนามธรรมกับรูปธรรมว่า นามธรรมคือจิต เจตสิก สามารถที่จะเกิดได้ แม้ไม่มีรูปเป็นที่เกิด นอกจากอรูปพรหมภูมิแล้ว จิต เจตสิก ต้องเกิดที่รูป

    ขณะนี้ ที่ทุกคนเห็น ก็ให้ทราบว่ามีจิต ที่เป็นจักขุวิญญาณจิต เกิดขึ้นที่จักขุปสาทรูป เกิดตรงนั้นจริงๆ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วดับ ขณะที่กำลังได้ยินเสียง จิตก็ต้องเกิดที่รูป จะไปเกิดนอกรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่เกิดของจิตได้ยินก็คือโสตปสาทรูป เกิดที่โสตปสาทรูป แล้วก็ได้ยิน แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ๕ ทาง ๕ ทวาร เกิดที่ปสาทรูป ๕ รวมเป็นจิตประเภท ๑ มี ๑๐ ดวง เกิดที่ปสาทรูป ๕ นอกจากนั้นแล้ว จิตทุกดวง เกิดที่หทยวัตถุ ต้องมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ตั้งแต่ขณะแรกที่ปฏิสนธิเกิดขึ้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ถ้าเป็นในภูมิที่ไม่มีรูป ในอรูปพรหม จิต เจตสิกเกิด โดยที่ไม่ต้องมีรูปเป็นอารมณ์ แล้วก็ไม่ได้อาศัยรูปเกิดด้วย แต่ว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ขณะแรกที่จิตเกิด กรรมทำให้ หทยวัตถุรูปเกิดขึ้นด้วย โดย หทยวัตถุรูปนั้นเป็น ที่เกิดของจิต นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกัน อย่างหยาบๆ ที่ว่าพอที่จะเข้าใจได้ ว่านามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม แต่อาศัยกันโดย นามธรรมเกิดที่รูปธรรม และจิต เจตสิก ก็รู้รูปธรรมด้วย เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น รูปเป็นอารมณ์ประการ ๑ แล้วก็รูปเป็นที่เกิดของจิต ตั้งแต่เกิดจนตาย นี่คือที่เราเรียกว่าตัวเรา หรือชีวิตของเรา แต่แท้ที่จริงก็คือเป็นนามธรม และรูปธรรมนั่นเอง สามารถที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ได้ไหม คุณวีระ

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ เมื่อไร

    ผู้ฟัง รู้ได้เมื่อสติระลึก

    ท่านอาจารย์ ทันทีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ทันที

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ทันที

    ผู้ฟัง ผมฟัง ฟังแล้วเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจ แต่จะรู้ลักษณะแท้จริงของนามธรรม ซึ่งแยกขาดจากรูปธรรม โดยธาตุรู้ปรากฏ ซึ่งไม่มีรูปธรรมเจือปนเลย

    ผู้ฟัง ขณะนั้นก็ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สติเกิดระลึก จากการที่ได้ฟังเข้าใจแล้วค่อยๆ ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เราฟัง จนกว่าลักษณะนั้นจะปรากฏ ตรงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การฟังก็เป็นระดับขั้น ๑ ของการที่จะทำให้สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ไม่ต้องรีบร้อนหรือไม่ต้องเร่งรัดว่าวันนี้ อยากจะปฏิบัติ พรุ่งนี้อยากจะปฏิบัติ อยากจะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า ต้องค่อยๆ อบรมเจริญความรู้ ความเข้าใจขึ้น แล้วก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตนซึ่งจะไปเร่งรัด แต่สามารถที่จะรู้ได้ในวันหนึ่ง เพราะว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น นามธรรมเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม เมื่อนามธรรมเป็นอย่างนั้นปัญญาก็สามารถที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของนามธรรมได้ แต่ต้องอาศัยการอบรมมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ให้เห็นอวิชชาว่ามากสักแค่ไหน ตามความเป็นจริงก่อนอื่นที่จะละอวิชชา ก็ต้องรู้ว่าอวิชชา คืออะไร ไม่รู้อะไรในขณะไหน ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้ นี่คืออวิชชา ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุที่ได้ยินในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ นี่คืออวิชชา เพราะฉะนั้น เมื่อสติเกิด ก็ค่อยๆ ระลึกศึกษา ศึกษาที่นี่ไม่ใช่ศึกษาหนังสือ หรือเรื่องราว แต่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่า เคยฟัง เข้าใจ แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมกำลังปรากฏ อย่างนี้ ตามธรรมดาอย่างนี้ แล้วไม่สามารถที่จะรู้อย่างนี้ได้ ก็จะต้องอาศัยสติซึ่งจะเกิด ทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ที่นี่สงสัยก็อาจจะเป็นเพราะว่า ไม่รู้ ได้ฟังที่ขยายความ ออกไปอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วที่สำคัญที่สุด อย่าลืมว่าจิต รูปไม่เดือดร้อนอะไรกับใครเลย เพราะฉะนั้น ทุกคนขณะนี้ มีจิต ถ้าได้รู้เรื่องของจิต เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน แล้วจะได้รู้ว่าจิตมีทั้งหมดเท่าไร แล้วก็ในวันหนึ่งๆ ที่เป็นปกติธรรมดา ถึงแม้ว่าจิตทรงแสดงไว้โดยละเอียดมากโดยกว้างขวาง ตลอดกี่จักรวาล กี่ภพ กี่ชาติ ในอดีต และอนาคตข้างหน้า แต่ถ้าแสดงโดยประเภทใหญ่ๆ ก็แสดงจำนวนเอาไว้ แต่ว่าความละเอียดแตกต่างกันก็มีมากกว่านั้น สำหรับเรื่องจิต ก็เป็นสภาพที่พอจะรู้เลาๆ ว่ามีแน่นอน แล้วก็เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ซึ่งขณะนี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่ถูกต้องทางกาย แล้วก็กำลังคิดนึก นี่คือจิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งจะต้องต่างกันไปตามเจตสิก คือ สภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต แล้วก็จิตกับเจตสิกนี้แม้ว่าจะรู้อารมณ์เดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดที่รูปเดียวกันก็จริง แต่ก็เป็นสภาพที่ต่างชนิดกัน โดยที่ว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ ที่กำลังปรากฏ เช่น ในขณะนี้ ที่กำลังเห็น ทุกคนรู้เลย เห็นมีแน่ๆ กำลังเห็นอยู่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเจตสิกเกิดกับจิต ถูกไหม แต่ว่าจิตมี ถ้ากล่าวว่าขณะนี้เห็นมีไหม เห็นมี แล้วที่เห็นก็เป็นสภาพรู้ คือเป็นจิต แต่ว่าเมื่อทรงแสดงว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดๆ ก็ตามซึ่งจะเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นโดยลำพัง โดยที่ไม่มีสภาพธรรม อื่นเกิดร่วมด้วยไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าจิตจะเป็นนามธรรม ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิก เช่น ความรู้สึก ทุกคนกำลังมี เฉยๆ ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไร สบายไหม ดีใจไหม เสียใจไหม เป็นทุกข์หรือเปล่า เจ็บตรงไหน เป็นสุขหรือเปล่า นั้นคือความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกซึ่งความจริงแล้วเจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกขณะ เพราะขณะใดที่มีการรู้อารมณ์ต้อง มีเจตสิกชนิดนี้เกิดร่วมด้วยทุกครั้งไป แต่ว่าในขณะนี้เอง ที่กำลังเห็น เห็นทุกคนรู้ว่ากำลังเห็น แสดงให้เห็นว่าสามารถที่จะเข้าใจถูก ในลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพที่เห็น โดยยังไม่รู้ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ที่กำลังปรากฏ ทางหูที่กำลังได้ยินก็เช่นเดียวกัน นัยเดียวกัน มีเจตสิกเกิดกับจิตที่กำลังได้ยินเสียง แต่เจตสิกที่เกิดกับจิตที่ได้ยินเสียงก็ไม่ปรากฏ ไม่มีใครรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก หรือแม้เวทนาเจตสิก คือความรู้สึก แต่สิ่งที่มีจริงๆ ที่ทุกคนสามารถที่จะพอเข้าใจได้ ในขั้นต้นก็คือ การได้ยินมี เพราะว่าขณะนี้กำลังได้ยินเสียง มีเสียงปรากฏกับสภาพที่ได้ยิน นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะว่าจิตตั้งแต่เกิดจนตายไม่ เคยขาดเลย แต่เจตสิกบางประเภทก็เกิดกับจิตชนิดหนึ่ง บางประเภทก็เกิดกับจิตอีกชนิดหนึ่ง บางขณะไม่มีเจตสิกชนิดนั้น บางขณะไม่มีเจตสิกชนิดนี้ แต่จิตต้องมีตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธาน ตั้งแต่เกิดจนตาย เราจึงจะต้องศึกษาเรื่องของจิตก่อน ซึ่งการที่จะศึกษาเรื่องของจิต เราจะแบ่งโดยชาติ หรือ ชา-ติ คือการเกิดขึ้นของจิต ว่าจำแนกออกเป็น ๔ ชาติ คือเป็นกุศลชาติ๑ เป็นอกุศลชาติ๑ เป็นวิบากชาติ๑ เป็นกิริยาชาติ๑ ภาษาบาลีก็คล้ายๆ ภาษาไทย คือไม่ต่างกันมากเลย พูดเรื่องชาติทุกคนก็รู้ว่าชาติ แม้ว่าจะรู้มากรู้น้อยก็ยังได้ยินคำว่า ชาติ ชาติจีน ชาติไทย แต่ว่าชาติของจิต ไม่ใช่ไทย จีน สากลทั่วไป ไม่จำกัดเลย เกิดขึ้นถ้าเป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศลซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ จะเกิดกับนก จะเกิดกับคน จะเกิดกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือจะเกิดกับเด็กเล็กหญิงชายต่างๆ อกุศลก็เป็นอกุศลซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับทันที สภาพธรรม ของจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นชาติ ๑ ชาติใดก็ชาตินั้น คือกุศล เกิดขึ้นเป็นกุศลแล้วก็ดับ อกุศล เกิดขึ้นเป็นอกุศลแล้วก็ดับ กุศลกับอกุศลเป็นเหตุ แต่อีก ๒ ชาติซึ่งไม่ชินหู หรืออาจจะเข้าใจผิด ก็คือวิบาก หรือกิริยา ซึ่งถ้าพูดตามภาษาบาลีต้องเป็น วิ-ปา-กะ ไม่ใช่วิบากในภาษาไทย หมายความถึงจิตที่เป็นผล แสดงให้เห็นว่าในชีวิตของเรา มีจิตครบทั้ง ๔ ชาติ จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่เป็นวิบาก คือผลของกุศล และอกุศลก็มี จิตที่เป็นกิริยา คือจิต ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ก็มี นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ ซึ่งเป็นขั้นต้น เริ่มต้น ซึ่งทุกคนก่อนที่จะศึกษาเรื่องของจิต ประเภทต่างๆ ต้องรู้พื้นฐานก่อนว่าโดยส่วนใหญ่ จิตจำแนกออกเป็น ๔ ชาติ

    ผู้ฟัง ดิฉันคิดว่าคนที่เรียนใหม่ๆ อยากจะขอให้เข้าใจว่า จิต เขารู้ที่ไหน ตรงนั้น คือจิตอยู่ที่นั่น รู้ที่ตาคือจิตเห็น รู้ที่หูคือจิตได้ยิน รู้ที่จมูกคือจิตได้กลิ่น รู้ที่ลิ้นคือจิตลิ้มรส รู้ที่ใจคือจิตคิดนึก กว่าจะรู้อันนี้ได้เกือบ ๖ เดือน หรือเกือบปี กว่าที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อเริ่มเรียนอย่าหลงทางเหมือนอย่างดิฉัน จิตนี้ไม่ใช่อยู่ที่หัวใจ ที่เหมือนเท่ากับกำปั้นเรา เต้นตุ๊บๆ รู้ที่ไหนจิตอยู่ที่นั่น เอาแค่นี้ก่อน อันนี้คือความหลงทางของดิฉัน อยากให้เพื่อนธรรมอย่าหลงแบบดิฉันด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่คุณสุรีย์พูด ก็ทำให้เห็นความวิจิตรต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้ เลยเรื่องของจิต อย่างที่คุณสุรีย์บอกว่า ถ้ารู้ที่ตาคือเห็น นั่นคือจิตเกิดที่ตา อย่างที่กล่าวถึงในตอนต้น จะเห็นได้ ว่าที่ร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้าเราจะกล่าวถึงเฉพาะรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน จะเห็นได้ว่านอกจาก ตาคือจักขุปสาทรูป หูคือโสตปสาทรูป จมูกคือฆานะปสาทรูป ลิ้น คือ ชิวหาปสาทรูป กาย หรือ กา-ยะ คือกายปสาทรูป จะเห็นได้ว่ารูปที่เกิดจากกรรม มีตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ศีรษะ ถ้ากระทบแข็ง ตรงนั้นมีกายปสาท ซึ่งขณะที่กำลังรู้แข็งตรงนั้น สภาพรู้นั้น คือจิต รู้ตรงนั้น ตรงที่แข็ง แต่หลังจากนั้นแล้ว คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เว้นจิต ๒ ดวงคือกุศลวิบาก อกุศลวิบากที่ รู้ลักษณะนั้นแล้ว จิตอื่นเกิดที่หทยรูป ซึ่งอยู่ปกติขณะนี้ กลางหัวใจ นี้แสดงให้เห็นว่า รวดเร็ว เพราะบางคน คิดว่าจิตต้องเดินทางจากตาไปที่กลางหัวใจ แต่ความจริงไม่ใช่เลย ถ้าคิดอะไรเลย รูปใดที่เกิดแล้ว ดับไม่ปรากฏ รูปนั้นก็มีก็เหมือนไม่มี ขณะที่กำลังเห็น ถ้าคิดถึงปอดตับหัวใจ นั่นเป็นเรื่องคิด แต่ไม่ได้ปรากฏ แต่ที่ปรากฏจริงๆ คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ความจริงย่อยออกมาที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตนก็คือว่า ไม่มีตัวเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นอกจากความทรงจำ แต่จะมีจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง แล้วก็รู้รูปอย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้าทางตาก็คือขณะนี้ ไม่ต้องนึกถึงปอด หัวใจ เท้า มือ แขนอะไร เพราะว่าไม่ปรากฏ แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ตัดออกเหลือเฉพาะโลกของเห็นจริงๆ หนึ่งขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงจะรู้ได้ว่าไม่มีตัวเรา ขณะที่ได้ยินต่างกันแล้ว ใช่ไหม ลืมร่างกายทั้งตัว มิฉะนั้น ก็จะมีอัตตสัญญา ความทรงจำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตนด้วย ต้องเพิกอิริยาบถ หรือว่ารู้ในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นร่างกายที่คงที่ ที่ทรงอยู่ แต่ว่ารูปใดปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วก็ดับ ทั้งจิตที่รู้รูปนั้นก็เกิดแล้วก็ดับ ทีละอย่าง ทีละขณะ สืบต่อจนกระทั่งเป็นความทรงจำที่มั่นคง ว่ายังมีรูปร่างกายทั้งตัวอยู่ แต่ถ้ายังปรากฏในความนึกคิด ความทรงจำว่ามีเราขณะใด ขณะนั้นก็เป็นอัตตสัญญา เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา จึงรู้ความจริงแต่ละทาง ถ้าเป็นทางตา จะมีทางอื่นปนไม่ได้ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน นอกจากนั้นแล้วจิตเกิดที่หทยวัตถุ แสดงว่าจิตดับ ทางตา แต่จิตขณะต่อไปที่ไม่ได้เห็น จะเกิดขึ้นที่หทยวัตถุ นี่แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครไปบังคับบัญชา ว่าให้จิตนี้เกิดตรงนั้น จิตนั้นเกิดตรงนี้ แต่มีที่ใด สำหรับจิตจะเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นตรงไหน จิตก็เกิดขึ้นตรงนั้น กำลังคิดนึก จิตเกิดตรงไหน คุณหมอมธุรส

    ผู้ฟัง ที่หทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ ที่หทยวัตถุ เกิดแล้วดับด้วย เพราะฉะนั้น ชั่วขณะสั้นๆ นิดหนึ่ง ทางตาเห็นหมดอย่างรวดเร็ว จิตเกิดที่หทยวัตถุแล้ว ลองคิดดู ว่าเร็วสักแค่ไหน ทันทีที่จิตเห็น ทางตาดับ จิตเกิดที่หทยวัตถุ แล้วพอจิตได้ยินเกิด ไม่ได้เกิดที่หทยวัตถุแล้ว เกิดที่โสตปสาทรูป แล้วทันทีที่จิตดับ ที่โสตปสาทรูป จิตเกิดที่หทยวัตถุอีก นี่คือ ไม่ใช่ตัวตนแน่นอน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

    ผู้ฟัง คำว่า รู้แจ้ง ในที่นี้กับคำว่า รู้ชัด แตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงลักษณะของจิต เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ซึ่งขณะนี้จิตกำลังเห็น เพราะฉะนั้น รู้แจ้งอารมณ์ คือรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่คิด หรือว่าโกรธ หรืออะไรซึ่งเป็นลักษณะของเจตสิก แต่ลักษณะของจิตแยกออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก คือเป็นสภาพที่ไม่ทำกิจ หรือไม่มีลักษณะอย่างอื่นเลย นอกจากรู้แจ้ง เฉพาะลักษณะของอารมณ์เท่านั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567