ปกิณณกธรรม ตอนที่ 498


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๙๘

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รู้แจ้งอารมณ์ คือรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่คิด หรือว่าโกรธ หรืออะไร ซึ่งเป็นลักษณะของเจตสิก แต่ลักษณะของจิตแยกออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก คือเป็นสภาพที่ไม่ทำกิจ หรือไม่มีลักษณะอย่างอื่นเลย นอกจากรู้แจ้งเฉพาะลักษณะของอารมณ์เท่านั้น เมื่อจิตเกิด ลักษณะของจิตเป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ ขณะนั้นถ้ารู้ลักษณะของจิต จิตรู้อารมณ์อะไร ถ้าขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของอารมณ์ ก็จะรู้ลักษณะของจิต เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้แจ้ง

    วิทยากร ขอฝากสำหรับผู้ที่ถามผมหลายๆ คน คำว่า รู้ชัดกับรู้แจ้ง ให้ฟังให้ดี

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องคำ จะใช้คำว่าชัดก็เป็นบัญญัติ จะใช้คำว่าแจ้งก็เป็นบัญญัติ แต่เราไม่ลืมว่าเรื่องของบัญญัติ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะต้องไปติด ถ้าใช้คำหลายๆ คำ แล้วก็จะต้องไปพยายามคิดว่า ๒ คำนี้ ต่างกันอย่างไร อาจจะใช้คำอื่นอีกก็ได้ แต่ลักษณะของจิต เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ แจ้งในอารมณ์ ไม่ใช่แจ้งด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ เมื่อจิตเกิดแล้วต้องมีอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ต้องไปเจาะจง ต้องเป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เมื่อจิตเกิดต้องมีอารมณ์ ที่จิตกำลังรู้ แต่ว่าเวลาที่พูดถึงสี เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งคนมักจะชอบจะถามกันเสียจริง ว่าอะไรเกิดก่อน ไม่ทราบว่าทำไม ถึงจะไปรู้ตอนเกิดก่อนหรืออย่างไร ในเมื่อขณะนี้สภาพนั้นกำลังปรากฏ ก็ศึกษาให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม รูปธรรมก่อน

    ผู้ฟัง ก็พยายามจะทำความเข้าใจว่า ถ้าเรารู้เกิด เราจะได้รู้ดับได้

    ท่านอาจารย์ ก่อนนั้นก็ต้องเข้าใจว่า ขณะที่เสียงยังไม่กระทบกับโสตปสาทรูป จิตเกิดหรือเปล่า ทุกคนคิดเอง แล้วก็จะเป็นความเข้าใจของตัวเอง

    ผู้ฟัง จิต จิตมีตั้งหลายดวง จะถามถึงจิตดวงไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ถามดวงไหน เพียงแต่ตั้งคำถามลอยๆ ว่าขณะที่เสียงยังไม่เกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาทรูป จิตเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ ต้องเกิด จะไม่เกิดได้อย่างไร เพียงแต่ว่าจิตได้ยินยังไม่เกิด แต่จิตอื่นต้องมี ต้องเกิดดับสืบต่อ ตั้งแต่เกิดจนตาย จะขาดจิตไม่ได้เลย เพื่อที่จะให้ความเข้าใจ เข้าใจจริงๆ ว่าจิตเป็นสภาพรู้ ว่าจิตขณะหนึ่ง เกิดแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ ขณะต่อไปเกิดสืบต่อ แล้วจิตทุกดวงไม่ขาดเลยสักดวงเดียว ต้องรู้อารมณ์ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้น เรายังไม่กล่าวถึงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นก็ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แล้วสิ่งที่ถูกรู้นั้นคืออารมณ์ คือถ้าเข้าใจธรรมโดยชัดเจน ตั้งแต่ต้นเป็นลำดับ จะทำให้ไม่สงสัย แล้วก็มีความมั่นคงด้วย แล้วก็การศึกษาก็ค่อยๆ ก้าวไปตามลำดับ แต่ว่าต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง ว่าจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แล้วก็จิตก็เกิดดับสืบต่อ ตั้งแต่ปฏิสนธิ จนกระทั่งถึงขณะสุดท้าย ของชาตินี้คือจุติจิต ดับ หลังจากนั้นจิตเกิดอีกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อย่างไร หลังจากจุติแล้ว

    ท่านอาจารย์ ที่เราเรียกว่าตาย คือจุติจิตเกิดแล้วดับ ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะกลับมาเป็นคนนี้ไม่ได้อีกเลย ตาย ตายจริงๆ แต่ว่าหลังจากที่จุติจิตดับแล้ว จิตเกิดอีกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ โดยอะไร ทำไมเกิดได้

    ผู้ฟัง โดยกรรม

    ท่านอาจารย์ อนัตรปัจจัย เมื่อกี้นี้เรากล่าวถึง คือเราได้ยินคำอะไร ขอให้เราเข้าใจคำนั้นชัดเจน จิต และ เจตสิกเป็นอนันตรปัจจัย คือทันทีที่ดับ สามารถเป็นสภาพธรรม ที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ขอถามคุณชวาลา ว่าหลังจากที่จุติจิตดับไปแล้ว จิตเกิดโดยอะไร เมื่อกี้เคยได้ยินมาแล้ว ตั้งแต่เช้า จนถึงเดี๋ยวนี้ ได้ยินคำว่า อนันตรปัจจัย หมายความถึง จิต และเจตสิกเป็นสภาพที่อัศจรรย์ เป็นนามธรรม หรือเป็นนามธาตุที่ประหลาด อัศจรรย์วิจิตรจริงๆ ทั้งๆ ที่เรามองไม่เห็นเลย สามารถที่จะกระทำสิ่งต่างๆ วิจิตรได้ พร้อมกันนั้นก็คือว่าจิตเอง ทันทีที่เกิด อย่างรวดเร็ว แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตทุกดวง เป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่ดับก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิด เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าเวลาที่จุติจิต เกิดแล้วดับ จะมีจิต เกิดต่อไปไหม ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ต้องมีจิตอื่นเกิด แต่ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ จุติจิตก็เป็นอนันตรปัจจัย ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ

    ผู้ฟัง อะไรเป็นปัจจัยให้จิตอยู่ได้

    ท่านอาจารย์ ชีวิตตินทริยเจตสิก ก็ต่อไปก็จะต้องมีสภาพธรรม ซึ่งจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าอะไรทำให้จิตเกิด และจิตเกิดแล้ว อะไรทำให้ดำรงอยู่

    ผู้ฟัง ตอนฟัง เข้ามา ผมเข้าใจ ผมเชื่อว่าจิต เกิดดับ แต่ผมอยากทราบว่าในห้องนี้มีใครเคย รู้ไหมว่าตอนไหนดับ ตอนไหนเกิด

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงเอาคนอื่นเล่า

    ผู้ฟัง ในห้องนี้

    ท่านอาจารย์ ทำไม ต้องเอาคนอื่น ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเอาคนอื่น

    ผู้ฟัง ผมเพียงแต่รู้โดยที่ว่า ผมฟัง ผู้พูด หรือผู้ที่อยู่ในห้องนี้หลายๆ คนพูดว่าจิตดับ ผมเชื่อ แต่ตัวผมเองยังไม่เคยรู้เลยว่ามันเป็น อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คนอื่น รู้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสนใจในคนอื่น การศึกษาทั้งหมดจริงๆ แล้ว ทุกคนอยู่ในโลกของตัวเอง จริงๆ ไม่มีคนอื่น นอกจากคิด จิตเกิดขึ้นคิดถึงสิ่งที่ปรากฏ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนต่างๆ แต่แท้ที่จริง แล้วเป็นชั่วขณะจิตหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ สืบต่อกันไป ทำให้มีความคิดต่างๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ผมพูดว่าผมรู้ว่าจิตผม เกิดดับ ผมพูดเกินไปไหม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจตามที่ได้ศึกษา ซึ่งทุกคนก็ยอมรับว่าศึกษาจากผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงตรัสรู้สิ่งซึ่งยาก ที่จะรู้ได้ แต่จะรู้ได้ เมื่ออบรมเจริญปัญญา ถึงวาระที่จะประจักษ์ แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ เพราะเหตุว่าเป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่จริง ก็ต้องพิสูจน์ได้

    ผู้ฟัง ดิฉันยังจะแยก จิตกับเจตสิกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ พิสูจน์เลย ฟังมาแล้ว ขณะนี้ มีอะไรบ้าง เดี๋ยวนี้ ตอบได้ไหม มีอะไรบ้างเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ของอาจารย์ หมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ คือ เรื่องจิรง ธรรมเป็นเรื่องจริงเลย อะไรที่เป็นจริง เราค่อยๆ คิดพิจารณาว่า ถ้าถามว่าขณะนี้ มีอะไรบ้าง จะได้มาถึงปรมัตถธรรม ๓ อย่าง คือจิต เจตสิก รูป แต่ยังไม่ต้องไปคิดเรื่องจิต เจตสิก รูป เพียงแต่ว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้ มีอะไรบ้าง มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ มีอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง

    ผู้ฟัง มีคนใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทำไมว่ามีคน

    ผู้ฟัง มีตัวรู้ว่ามีคน

    ท่านอาจารย์ เพราะเห็นหรืออย่างไร ที่ว่ามีคน เพราะเห็น หรืออะไร อย่างอยู่เฉยๆ เราอยู่แล้วเราบอกว่ามีคน เพราะอะไร ที่ว่ามีคน เพราะอะไรจึงว่ามีคน

    ผู้ฟัง ก็คงจะเพราะ เห็น

    ท่านอาจารย์ เห็น เพราะฉะนั้น เห็นมีจริง เห็น เป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป ที่ว่ายังไม่ค่อยทราบความต่างกันของจิตกับเจตสิก รูป เห็น เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ในความรู้สึกของดิฉัน เห็นก็จะต้องเป็น ตัวรู้หนึ่ง แล้วก็เป็นรูปหนึ่ง ถึงได้เห็น

    ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องแยก เป็นแต่ละชนิดเดียว คือ ถ้าเป็นนามธรรม ก็เป็นนามธรรม ถ้าเป็นรูปธรรมก็เป็นรูปธรรม ถ้าเป็นจิตก็คือจิตไม่ใช่เจตสิก ถ้าเป็นเจตสิกก็เป็นเจตสิกไม่ใช่จิต ต้องตรงแล้วก็ชัด เพราะฉะนั้น ขณะนี้บอกว่าเห็นคน จริงๆ แล้วมีเห็นแน่นอน แล้วเห็น ไม่ใช่สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย เพราะเวลาที่เราใช้คำว่า เห็น คำว่ารู้ที่นี่ ไม่ได้หมายความว่าปัญญา รู้สิ่งที่มีด้วยความถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น แต่หมายความว่าเป็นสภาพหรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว จะต้องรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น เสียง ถ้าไม่มีจิตได้ยิน ถึงแม้ว่าจะมีเสียงในป่า ก็ไม่มีสภาพที่รู้เสียงนั้น แต่เสียงนั้นก็มี จะกล่าวว่าเสียงนั้นไม่มีไม่ได้ แต่ขณะใดที่เสียงปรากฏ นี่ต่างกันแล้ว ใช่ไหม เสียงมีขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ไม่ปรากฏได้ เพราะเหตุว่าไม่มีสภาพที่ไปรู้เสียงนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เราใช้คำว่ารู้ ต้องมีสิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่ถูกรู้ คู่กันไป จะมีแต่สภาพรู้อย่างเดียวไม่ได้ สภาพที่รู้ เป็น นามธรรม เพราะสามารถที่จะได้ยินเสียง สภาพรู้ คือ ได้ยินเสียง มีลักษณะของเสียง รู้ในลักษณะอาการของเสียง รู้ในสภาพของเสียง เสียงต่างกัน ไหม

    ผู้ฟัง เสียงต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เสียงต่างกัน สภาพที่รู้เสียงที่ต่างกัน จึงกล่าวว่าเสียงต่างกัน ถ้าไม่มีสภาพรู้ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่าเสียงต่างกันได้ เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการที่สามารถจะรู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเล็ก เสียงแหลม เสียงทุ้ม เสียงระฆัง เสียงเครื่องดนตรีนานาชนิด จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่เป็นอารมณ์ ที่กำลังถูกรู้ได้ นี่คือลักษณะของจิต จิตไม่มีหน้าที่อื่นเลยทั้งสิ้น นอกจากเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกรู้ ที่กำลังปรากฏ พอจะเข้าใจไหม ลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง พอสรุปได้ว่า จิตคือตัวรู้

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าใช้คำว่า สภาพธรรม หมายความว่าสิ่งที่มีภาวะลักษณะของตน คือภาวะที่ต้องรู้ ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นขณะไหน ที่ใดทั้งสิ้น ให้ทราบว่า ธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น และจากการที่พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้ เป็นการรู้แจ้งสภาพธรรมจริงๆ ว่าจิตไม่ใช่เจตสิก จิตเป็นสภาพธรรม หรือเป็นธาตุชนิด ๑ ซึ่งเป็นธาตุที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา คือ จิตเห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นจิต รูปเห็น ไม่ได้เลย ทางหู จิตได้ยินเสียง จิตสามารถที่จะรู้เสียง ไม่มีใครมองเห็นเสียงเลย แต่จิตสามารถได้ยินเสียง นี่คือลักษณะของสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ ขณะที่กลิ่นปรากฏ จิตสามารถที่จะได้กลิ่น ทั้งๆ ที่กลิ่นไม่มีรูปร่างเลย รส ไม่ว่าจะอยู่ในข้าว หรือจะอยู่ในอาหารชนิดหนึ่งชนิดใดก็ตาม จิตเป็นสภาพที่สามารถจะลิ้มรส รู้รสที่กำลังปรากฏ ทางกายที่กระทบสัมผัส จิตก็สามารถที่จะรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง หรือเย็น หรือร้อน หรือตึง หรือไหว เพราะฉะนั้น จิตสามารถที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นอกจากนั้นจิตยังคิดนึกด้วย เป็นสภาพที่รู้ทางใจ เพราะเหตุว่าขณะที่คิด ไม่เห็นไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ทุกคนไม่ขาดจิต เพราะฉะนั้น ก็มีจิตนานาชนิด หลายประเภทตั้งแต่เกิดจนตาย มากมายในอดีต แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว แม้ชาตินี้ และต่อไปชาติหน้าก็จะต้องมี ธาตุรู้ เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็รู้ อย่างเดี๋ยวนี้เอง ไม่ต่างกันเลย เพราะฉะนั้น ประมวลแล้ว ลักษณะของจิตทั้งหมด แม้ว่าจะมากมายอย่างไรก็ตาม ก็ทรงจัดเป็นประเภทได้ ๘๙ ประเภท หรือ ว่าที่ภาษาไทยเรา โบราณ เราก็มีโต๊ะ ๑ ตัว เก้าอี้ ๑ ตัว ขนม ๒ ชิ้น เพราะฉะนั้น จิตใช้คำว่าดวง ทั้งๆ ที่ไม่มีรูปร่างเลย แต่เรียกให้รู้ว่าหมายความถึงประเภทของจิต พอจะเข้าใจลักษณะของจิต เพราะฉะนั้น เวลาที่ต้นไม้เกิด อะไรเกิด รูป เวลาที่คนเกิด อะไรเกิด

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ จิต เจตสิก รูป เวลาที่นกเกิด อะไรเกิด

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ เวลาภูเขาไฟระเบิด อะไรเกิด

    ผู้ฟัง รูป

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พายุเกิด อะไรเกิด

    ผู้ฟัง รูป

    ท่านอาจารย์ เวลาที่น้ำไหล อะไรเกิด

    ผู้ฟัง รูป

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ยากเลย จิต เจตสิก รูป ในชีวิตของเราตลอด

    ผู้ฟัง ยังไม่ชัด เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ยังเหลือเจตสิกอีก ใช่ไหม ถ้าเข้าใจจิตแล้ว จะเข้าใจเจตสิกได้ ในเมื่อรู้ว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏเท่านั้น เดี๋ยวนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง มีความรู้สึกอะไรบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง รู้สึก

    ท่านอาจารย์ รู้สึกอะไร รู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้สึกเป็นคนใหม่

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่รู้สึกว่าเป็นคนใหม่ รู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็รู้สึกแปลกๆ หน่อย ไม่เหมือนปกติ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าแปลกๆ รู้สึกอย่างไรที่ว่าแปลกๆ

    ผู้ฟัง อาจจะตื่นเต้นนิดหน่อย

    ท่านอาจารย์ ตื่นเต้นๆ นี่แบบดีใจ หรือว่าไม่สบายใจ ของจริงๆ ที่มีในวันนี้ อย่างหนึ่ง ที่มีแน่นอน คือความรู้สึก แล้วพอถามว่ามีความรู้สึกอะไรก็บอกว่า ความรู้สึกแปลกๆ

    ผู้ฟัง ตื่นเต้น อาจจะตื่นเต้น

    ท่านอาจารย์ ตื่นเต้น แล้วที่ตื่นเต้น ตื่นเต้นสบายใจ หรือไม่สบายใจ เวลาตื่นเต้น

    ผู้ฟัง น่าจะไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ชอบ เพราะฉะนั้น มีความรู้สึกที่ไม่สบายใจ แล้วก็ต่างกับความรู้สึกที่สบายใจ ความรู้สึกที่สบายใจ มีจริงๆ ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกที่ไม่สบายใจ มีจริงๆ ไหม ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ มีจริงๆ ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นี่ คือเจตสิก เกิดกับจิต เกิดในจิต ไม่แยกจากจิตเลย เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต นี้คือลักษณะของเจตสิก

    ผู้ฟัง มันก็คล้ายๆ เวทนา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลีเป็นเวทนาเจตสิก แต่ภาษาไทยไม่ใช่สงสารมากๆ แต่หมายความว่าเป็น ความรู้สึก ซึ่งมี ๕ อย่าง ความรู้สึกดีใจเป็นสุขใจ อย่างหนึ่ง ภาษาบาลีใช้คำว่า โสมนัสเวทนา ฝ่ายตรงกันข้ามคือ ทุกข์ใจโทมนัสเวทนา มีบ่อยไหม

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่ปัจจัย

    ท่านอาจารย์ บ่อยไหม

    ผู้ฟัง ก็ จะว่าบ่อย ก็ไม่บ่อย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นคนที่ดี โชคดี แล้วก็มีทุกข์กายไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไร ทุกข์กาย

    ผู้ฟัง อาจจะโรคภัยไข้เจ็บ

    ท่านอาจารย์ ปวดเจ็บเมื่อยคัน ทุกอย่าง สุขกายมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี เพราะฉะนั้น ได้ ๔ เวทนาแล้ว เหลืออีกอย่างหนึ่ง คือ อทุกขมสุขเวทนา ได้แก่ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เราใช้คำว่า อุเบกขาหรือ เฉยๆ เพราะฉะนั้น เวทนาทั้งหมดในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว หรือข้างหน้า หรืแม้ในชาตินี้ก็จะมีเพียง ๕ อย่าง แล้วแต่ระดับว่าจะมากน้อยต่างกัน เพราะฉะนั้น เวทนา ความรู้สึกเป็นเจตสิกเป็น ๑ ใน ๕๒ ชนิด ก็ไม่ยากอีก คือ เรื่องจริงในชีวิตประจำวันทั้งหมด แต่ว่าเราเริ่มเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรม ประเภทไหน ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เพราะเหตุว่าบังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น นี้เป็นประโยชน์ ของการที่ได้มีผู้ถาม ก็ทำให้ได้ทบทวน ด้วยตัวของตัวเอง แล้วทุกคนก็ได้ทราบว่าจิต เจตสิก รูป ไม่ใช่อยู่ที่อื่นเลย ล้อมรอบก็มี ที่ตัวก็มี ที่คนอื่น หรือที่ไหนก็มี ทั้งหมดก็คือสภาพธรรม ซึ่งมีจริงๆ นานแสนนานมาแล้วก็ เป็นอย่างนี้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปตลอด

    ผู้ฟัง ผมก็ยังสงสัยตรงนี้ว่า ที่ท่านอาจารย์บอกว่า จิตเป็น สภาพรู้เสียง เสียงที่เป็น มีลักษณะ สูงๆ ต่ำๆ จิตรู้ ครั้งเดียวแล้วรู้ทั้งสูง ทั้งต่ำเลยไหม

    ท่านอาจารย์ ตลอดชีวิตไม่เคยขาดจิตเลย เราอาจจะคิดว่า ทุกอย่างวันนี้ เรารู้อะไรหมดเลย นั่นคือไม่ใช่เรา แต่จิตสามารถที่จะรู้ เพราะฉะนั้น เป็นจิตต่างหากที่รู้ ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา แต่มีจิตที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงก๊อกแก๊ก หรือเสียงเครื่องปรับอากาศ หรืออะไรก็ตามแต่ทุกอย่าง เคยเป็นเราได้ยินหมด แต่ถ้าเป็นปกติธรรมดา จิตเกิดขึ้นทำกิจนั้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ยังสงสัยที่ท่านอาจารย์บอกว่า แม้ขณะนี้ก็ตามเสียงสูงๆ ต่ำๆ จิตเกิด ขึ้นขณะหนึ่ง รู้ทั้งสูงทั้งต่ำเลยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง แล้วก็บอกว่ามีเสียงสูง

    ผู้ฟัง เสียงต่ำเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีเสียงต่ำ เพราะฉะนั้น จะเป็นจิตกี่ขณะ

    ผู้ฟัง ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็ต้องหลายขณะ แม้กระทั่งขยับตัวสูงขึ้นนิดหนึ่งก็อีกขณะหนึ่ง อีกนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่คิดว่าเรารู้นั่นคือจิตรู้

    ผู้ฟัง ความละเอียดของจิตนี้ ก็รู้ยาก

    ท่านอาจารย์ ก็มีอยู่ตลอดเวลา กำลังมีอยู่ด้วย

    ผู้ฟัง ให้เราได้ศึกษาตลอดเวลา ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ พิสูจน์ ธรรมที่ได้ฟัง แล้วถึงจะเห็นพระปัญญาคุณว่าพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงพระธรรมคือสัจธรรม

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งเวทนาความรู้สึกที่ท่านอาจารย์บอก

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่มี นั่นคือจิตรู้ ไม่ใช่เรารู้

    ผู้ฟัง แล้วเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้ ก็จิตรู้ทั้งหมด จิตไม่เคยขาดไปเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าใครมีบ้าง

    ท่านอาจารย์ มีอะไร

    ผู้ฟัง มี เวทนามีความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ ต้องมี มีตลอดเวลา เวทนาก็ต้องเกิดกับจิต ทุกขณะจิต

    ผู้ฟัง แล้วเกิดอยู่ตลอดเวลา แล้วเรารู้หรือยัง

    ท่านอาจารย์ มีเจตสิก ๗ ประเภท หรือ ๗ ดวงที่ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ นี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นปัจจัย ที่จิต ไม่ใช่สภาพธรรม ที่เกิดขึ้นได้เอง ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัย สิ่งที่เกื้อกูลอุปถัมภ์ ให้สภาพธรรม อีกอย่าง ๑ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตจะเกิดโดยปราศจากเจตสิกไม่ได้ แล้วเจตสิกจะเกิดโดยปราศจากจิตไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วที่ท่านอาจารย์บอกว่า จิตเป็นธรรมชาติ แล้วเขาเกิดของเขาเอง แล้วไม่ใช่เรา แต่ทำไมทุกวันนี้ผมรู้จักเรา แล้วทำอย่างไรถึงจะทำให้มันไม่ให้คิด เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่าเป็นธรรมชาติ เพราะขณะนี้ผมยังคิดว่าเป็นเราอยู่ เป็นตัวผม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ ผมรู้จักเรา ขณะนี้ผมรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ขณะนี้ยังเป็นตัวผม ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นเลย

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีผม

    ท่านอาจารย์ ก็ใช่

    ผู้ฟัง ถ้าอาจารย์ยังพูดอย่างนี้อยู่ เหมือนผมวิ่งโดยรถ ๒ คัน วิ่ง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนสิ ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นเลย เมื่อกี้ตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีเรา

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น อะไรแน่ที่มี จิต หรือเรา มี

    ผู้ฟัง พร้อมๆ กัน

    ท่านอาจารย์ พร้อมไม่ได้ จิตเป็นสภาพรู้ อย่างกำลังเห็น เปลี่ยนลักษณะของจิตเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เปลี่ยนให้เป็นจิตได้ยินไม่ได้ เปลี่ยนให้เป็นจิตคิดไม่ได้ แต่เห็นมี กำลังเห็น นี่เป็นจิต ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราไม่รู้ว่าเป็นจิต จึงมีความเห็นว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง อ๋อ เพราะความไม่รู้ หรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เมื่อได้ฟังธรรมไปแล้วเข้าใจ เสร็จแล้วก็มาอบรมเจริญด้วยการพิจารณา ศึกษาสังเกตลักษณะสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฟัง เข้าใจ เป็นการอบรมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อบรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ