ปกิณณกธรรม ตอนที่ 482
ตอนที่ ๔๘๒
สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย
พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะเรียนก็เรียนเรื่องราว แต่ไม่ได้ศึกษาลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น จึงมีการศึกษา ๒ ขั้น การศึกษาปริยัติ คือ เรื่องราว และการศึกษาโดยเข้าถึงลักษณะแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะศึกษาในลักษณะ ที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง เวลาศึกษาสภาพที่เป็นลักษณะของนามธรรม ขณะนั้นก็จะรู้ว่า ความเป็นเราเป็นอย่างไร กับความเป็นสภาพของสภาพนั้นเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องรู้ว่า ขณะใดสติเกิด ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเราที่คิดเท่านั้นเอง
ผู้ฟัง ต้องรู้จากลักษณะของสติ
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร หลงลืมสติคืออย่างไร นี่คือจุดตั้งต้น ถึงจะไม่ใช่เรา ถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติปัฏฐานขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็คือเราคิดนึกไปต่างๆ ใส่ชื่อเรื่องราวไป
ผู้ฟัง อย่างหนู กรณีที่ว่า บางทีก็ค่อนข้างจะเข้าใจว่าตรงนี้สติปัฏฐาน แต่บางครั้ง อาจจะไม่ใช่ อาจจะใช่
ท่านอาจารย์ เป็นอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปสงสัยอะไรอีกแล้ว สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น
ผู้ฟัง ก็ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชัดเจนขึ้น
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าให้ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละอย่าง ของรูปธรรมกับนามธรรม ลักษณะของสภาพธรรม เราจะรู้ได้จากตัวหนังสือ หรือเราจะรู้ได้จากในขณะที่ธรรมนั้นกำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ คุณประทีป กำลังกระทบสัมผัสแข็ง ใช่ไหม เวลาที่ไม่ศึกษาทราบไหม ว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ เมื่อศึกษาแล้ว ทราบว่าเป็นธรรม ขั้นศึกษา แต่เวลาที่แข็งกำลังปรากฏจริงๆ เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง ตามความเป็นจริงเป็น แต่เราไม่รู้
ท่านอาจารย์ ถึงได้มีว่าเวลาที่ก่อนศึกษา คุณประทีป ก็กระทบสิ่งที่แข็ง โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่า แข็งนั้นเป็นธรรม โดยขั้นการฟัง แต่เวลากระทบจริงๆ ยังไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ศึกษาให้รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง ถ้าหากจะศึกษาจากลักษณะ ศึกษาจากเรื่องราวแล้วว่า แข็งเป็นธรรม ก็มาลองจับดูว่า แข็งก็ต้องเป็นธรรม นี้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ลอง สติเกิดก็ระลึกรู้ลักษณะนั้น ที่กำลังปรากฏ แล้วก็ค่อยๆ ศึกษาว่าเป็นธรรมอย่างที่เคยเข้าใจโดยปริยัติ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้ต้องเป็นไปในขณะที่สติเกิด
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานต้องมีปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์
ผู้ฟัง ลักษณะของรูปธรรมนามธรรม ผมก็เลยขั้นตอนอันนี้มา ผมกำลังเรียนถามตามลำดับขั้น
ท่านอาจารย์ ไม่สำคัญเลย ทุกขณะผ่านไปเร็วมาก ขณะนี้ทุกอย่างที่ดับไปแล้วไม่มีใครรู้เลย ว่าดับเลย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลว่าเลยอะไร ไม่เลยอะไร ถ้าเข้าใจคำว่า อบรม จะไม่มีปัญหาอะไรเลย สักอย่างเดียว
ผู้ฟัง แนวทางที่จะพยายามไม่ให้ยึดเป็นตัวตน หรือบุคคล ยกตัวอย่างเช่น นี่เป็นสภาพแข็ง ไม่ใช่โต๊ะ มันเป็นสภาพแข็ง แต่อย่างเสียงถ้าไม่ใช่เสียงที่ทำให้เรารู้สึกเป็นอารมณ์โกรธ หรืออารมณ์ขุ่นเคือง ถ้าเสียงธรรมดา ก็ไม่รู้สึกในสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ นี่เป็นหนทางที่จะรู้สภาพธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นหนทาง
ท่านอาจารย์ หรือว่าเป็นหนทางเพียงคิดเข้าใจเรื่องราว
ผู้ฟัง อาจเป็นการพยายามคิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ทางที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ถ้าเป็นทางที่จะเริ่มอบรม ไปสู่การที่จะเข้าใจสภาพธรรม ต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ว่ามีสภาพธรรม ๒ อย่าง ไม่ว่าในโลก หรือกี่จักรวาลก็ตาม มีสภาพธรรมเพียง ๒ อย่าง เราพูดอย่างนี้ เราก็เข้าใจ แต่กว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่าในขณะนี้ก็ต้องมีสภาพธรรม ๒ อย่างด้วย คืออย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม อีกอย่างหนึ่ง เป็นรูปธรรม ฟังเข้าใจ แล้วลักษณะทั้ง ๒ อย่างนี้ก็มี กำลังเกิดปรากฏบ้าง เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ต้องรู้ว่าจะเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจเผินๆ ว่ารู้แล้ว ว่าเป็นนาม เป็นรูป เท่านี้ไม่แล้ว เพียงแต่รู้ชื่อเท่านั้น
ผู้ฟัง แต่เราก็ไม่ค่อยมีความรู้สึก ยกเว้นบางขณะเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวเราอีกต่างหาก เพราะฉะนั้น จึงเป็นสติที่เกิดระลึก ไม่ใช่เรา ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นอย่างละเอียด ว่าทำไมถึงต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงไม่ใช่เราที่กำลัง คิด คิด คิด หรือคิดว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ไม่ใช่ แต่ต้องรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สภาพที่เป็นสติที่ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง ภาพรวมของผู้ที่จะบรรลุอริยสัจธรรม หมายถึง จะต้องอบรมบารมีทั้ง ๑๐ ตามรอยพระพุทธองค์ หรือเฉพาะแค่สติปัฏฐานอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ แค่สิ่งที่กำลังปรากฏยังละไม่ได้เลย แล้วจะไปละตัวตนได้อย่างไร มีกำลังอะไรที่จะไปไม่ยึดถือ นามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ เพียงเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ แค่นี้ละไม่ได้ ปัญญาแค่นี้ละไม่ได้เลย ต้องรู้ว่าทำไมเราถึงได้มีกิเลสมากมาย กิเลสเต็มๆ อย่างนี้จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม เพียบทุกอย่าง
ผู้ฟัง สติมันระลึกรู้สภาพธรรมหรือปรมัตถธรรม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นต้น จิตมันเบื่อหน่าย มันเป็นอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ก็ระลึกอื่น มีอย่างอื่นมากมายที่จะระลึก ทำไมจะระลึกแข็ง อ่อน เท่านั้น
ผู้ฟัง ก็สภาพธรรมมันเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ตาก็เห็น หูก็ได้ยิน จมูกก็ได้กลิ่น ลิ้นก็ลิ้มรส ใจก็คิดนึก แล้วทำไมต้องไปเย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ผู้ฟัง สติมันไม่เสพคุ้นอยู่กับ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นต้น หรือการเห็น การได้ยิน มันช่างแห้งแล้ง
ท่านอาจารย์ เพราะเวลาที่ถูกบังคับให้รู้ที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง จะเบื่อ เพราะว่าถูกบังคับ
แต่ไม่ต้องมีใครบังคับเลย อิสระ จะระลึกก็ได้ ไม่ระลึกก็ได้ ดีกว่าไหม เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ เป็นปกติ ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะระลึกหรือไม่ระลึก ระลึกที่เสียง เสียงก็มีจริงที่จะระลึกได้ เหมือนกับแข็ง แข็งก็มีจริงจึงระลึกแข็งได้
ฉันใด เสียงก็มีจริง เพราะฉะนั้น ก็ระลึกที่เสียงได้ หรือว่าได้ยินก็มีจริงเมื่อเป็นของจริงก็ระลึกได้ เหมือนกับแข็งมีจริงก็ระลึกได้ เพราะฉะนั้น ได้ยินมีจริงก็ระลึกที่ได้ยินได้ เป็นอิสระ ไม่มีใครมาบอก ไม่มีใครบังคับว่าต้องระลึกที่อ่อน ที่แข็ง
แล้วก็จะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า มีความไม่รู้มากมายมหาศาล ไม่จำเป็นต้องไปรู้ที่อ่อน ที่แข็งเท่านั้น อย่างที่ถูกบอกมาให้รู้ที่อ่อน ที่แข็ง ทุกอย่าง ขณะที่กำลังสนุกสนาน ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สติเกิดระลึกได้ ถ้าเข้าใจถูกว่าสติจะเกิดระลึกอะไรก็ได้ ก็ไม่เบื่อ ไม่มีใครไปบังคับว่าจะต้องไปรู้อ่อน รู้แข็ง
ผู้ฟัง เห็นเสร็จ ก็ปรุงแต่ง
ท่านอาจารย์ ยังไม่เสร็จ กำลังเห็นเป็นสภาพนามธรรม เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น คำว่า นามธรรมหรือว่าสภาพรู้ ที่เราได้ยิน เราเข้าใจ อย่างเพิ่งไปจบ ว่าขณะนี้พอบอกว่าเป็นสภาพรู้ ก็เป็นสภาพรู้ แต่ทั้งๆ ที่เป็นสภาพรู้ ลักษณะรู้ หรือธาตุรู้ สติระลึกที่ลักษณะนั้น ที่จะรู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง หรือเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้จริงๆ ในขณะนั้นกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องเรื่องที่ละเอียด แล้วเราก็ค่อยๆ อบรม โดยที่ว่าเราจะไม่เบื่อ เพราะเราไม่ได้ถูกบังคับให้ไปรู้อะไร เป็นอิสระ เกิดก็ได้ไม่เกิดก็ได้
เมื่อมีปัจจัย สติก็เกิด ถ้าไม่มีปัจจัย สติก็ไม่เกิด ไม่ต้องไปนั่งบังคับ ที่จะให้สติเกิด ก็ไม่เบื่อ
ค่อยๆ รู้ทีละอย่าง โน่นบ้าง นี่บ้างแล้วแต่สติ ตามธรรมดา ไม่รู้ก็ไม่รู้ ถ้าจะไปบังคับ จะอึดอัด จะเบื่อ ทุกขณะเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมทั้งหมด
เพราฉะนั้น ต้องรู้ละเอียด และรู้ทั่วหมด กว่าจะละความเป็นตัวตนได้ เป็นปกติ แล้วแต่สติ จะระลึกหรือไม่ระลึกก็ไม่ต้องไปเดือดร้อน ไม่เกิดก็ไม่เกิด ไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด เมื่อมีปัจจัยก็เกิด เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ก็ไม่ต้องไปอยากให้เกิดอีก
ผู้ฟัง ขณะนี้ต้องใช้คำว่า ทำใจ มันทำใจยาก อย่างเช่น เมื่อได้ยินเสียงเพราะๆ ไปปิดซะ หมดจบ
ท่านอาจารย์ จะเอาทำใจ หรือเข้าใจ
ผู้ฟัง มันสลับกัน บางครั้ง
ท่านอาจารย์ ไม่ ทำใจทำไม่ได้ ใจเกิดแล้วดับแล้ว ใครไปทำ ถ้าเราเข้าใจ แล้วเราไม่ใช้ คำว่า ทำใจ ใจเป็นนามธรรม ใครทำได้ ไม่ต้องทำอะไรเลยต่อไปนี้ เป็นอิสระ อยากฟังธรรมก็ฟัง ไม่อยากฟังก็ไม่ฟัง เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะฟังก็ฟัง มีปัจจัยที่ไม่ฟังก็ไม่ฟัง เป็นปกติสบายๆ ไม่เดือดร้อน
แต่เมื่อเห็นประโยชน์ เพราะปัญญาเห็นประโยชน์ คุณสุกิจจะเริ่มฟังเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งวันทั้งคืน แล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่จะไม่ฟังก็ไม่ฟัง มีปัจจัยที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ก็อ่าน มีปัจจัยที่จะดูโทรทัศน์ก็ดู มีปัจจัยจะเพลิดเพลินไปในเรื่องไหนก็เพลิดเพลินก็ไปแต่การเห็นประโยชน์ของพระธรรม ยังไม่หายไปจากใจของคุณสุกิจ เพราะลึกๆ ลงไป คุณสุกิจ ต้องทราบว่ามีประโยชน์มาก แต่ว่าไม่มีกำลังที่จะไปฝืนอัธยาศัย ที่จะให้เป็นผู้ที่ฟังมากๆ เข้าใจธรรมมากๆ รู้ธรรมมากๆ ถึงธรรมเร็วๆ เพราะฉะนั้น เราทราบตามความเป็นจริง อย่างที่เรากล่าวถึงในตอนต้น
สันโดษ ความพอใจในสิ่งที่มี หมายความว่า รู้กำลังของเรา กำลังของเราคืออย่างไร
กำลังของเราคือ ผู้ที่ได้ยินได้ฟังพระธรรม เมื่อก่อนไม่เคยได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น เป็นความเข้าใจ นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง เป็นสิ่งซึ่งใครจะถึงโดยไม่ง่ายเลย แต่ว่าสามารถจะถึงได้ โดยมีการอบรมไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น เราก็เป็นตัวของเรา คุณสุกิจก็เป็นคนเดิม เหมือนเดิม ไม่ต้องไปพยายามเบื่อดูรูปแข็ง หรืออะไรต่ออะไร ที่ต้องไปบังคับ
แต่ให้ทราบว่าอะไรทุกอย่าง ในขณะนี้ที่เกิด เพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น แต่เรายังไม่สามารถที่จะเข้าใจถึงปัจจัยของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะว่าความเข้าใจธรรมของเราจากการฟังก็ยังน้อย จากการที่สติระลึกก็ยังน้อย
เมื่ออบรมถึงกาละที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งความเป็นตัวตนหนาแน่น ไม่สามารถที่จะหมดไปได้ด้วยความอยาก เพราะความอยาก หรือเพราะความเบื่อ ต้องเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องอบรม เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ถ้าไม่ใช่ปัญญาไม่มีทางเลย ก็ไปนั่งหลอกตัวเองว่าบรรลุ
ผู้ฟัง ใช่ ผมก็คิดว่า ก็ยังได้ประโยชน์บ้าง ไม่ถึงกับไม่มีประโยชน์เลย จึงอนุโลมว่า ใช้ไปก่อน
ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมว่า การที่เราเป็นคนดี กับการที่เรามีปัญญา รู้ความไม่ดีที่กำลังมีในขณะนั้น อย่างไหนจะดีกว่ากัน
ผู้ฟัง แต่ว่าเรายังไปไม่ถึงนั้น อย่างเช่น การรักษาศีล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ใน ๒ อย่าง การที่เราอยู่ในระดับนี้ เราอยากจะเป็นคนดีขึ้น กับอยู่ในระดับนี้แล้วเราอยากจะเข้าใจธรรม แม้ธรรมขณะนั้นไม่ดี เราจะเอาอย่างไหน ตอนนี้เป็นตอนที่เราจะต้องพิจารณา
เพราะอย่างไรก็ตาม ถึงคุณสุกิจ จะดี ละชั่ว ประพฤติดี กระทำจิตให้สงบ จนกระทั่งสามารถจะที่เกิดเป็นอรูปพรหม ก็ยังกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ยังออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ แต่ตรงกันข้าม ขณะนี้เรารู้ว่าหนทางที่จะรู้สภาพธรรม เป็นหนทางที่ยาวมาก ไกลมาก เริ่มเดินตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปกังวลถึงว่าเราต้องไปดีขั้นนั้นก่อน แล้วไปเป็นอรูปพรหมเสียก่อน
ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว ขณะนี้ผมยังไม่ได้คิดไปถึงขั้นโน้น
ท่านอาจารย์ เริ่ม แต่มีขณะนี้ จะมีต่อไปอีกๆ ๆ
ผู้ฟัง ผมเคยเปรียบเทียบมาก่อน ว่าผมเป็นลาโง่
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นลา ก็คงไม่ปัญญา แต่นี่เราสามารถที่จะฟังพระธรรมได้ ขณะที่ลาฟังพระธรรมไม่ได้เลย นี่คือความต่าง ค่อยๆ อบรม ใจเย็นๆ ธรรมดาๆ และต้องไม่ลืมว่าโลภะเป็นเครื่องเนิ่นช้า
ผู้ฟัง บางครั้งผมจึงยอม อย่างไรก็ได้อาจารย์จะได้ต่อยอดให้ผม ตรงมาเลย ตรงๆ ผมคิดอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เข้าใจธรรมดีกว่า ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอื่นเลย แล้วปัญญาจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย
ผู้ฟัง จากการที่ได้ฟัง สรุปแล้ว ปริยัติเป็นขั้นแรกที่เราจะต้องฟังให้เข้าใจ ใช่ไหม เมื่อเราฟังธรรมปริยัติเข้าใจแล้ว ความเข้าใจอันนั้นที่เราได้เรียนมา เรานำมาดูตัวเราว่า สภาพธรรมอะไรปรากฏเกิดขึ้นให้เรารู้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เราต้องทราบจุดประสงค์ว่า เราเรียนทำไม พระธรรมทั้งหมดกว้างขวางมากเลย ๓ ปิฏก เราเรียนทำไม ถ้าจุดประสงค์ของเราเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ การเรียนของเราไม่เป็นโมฆะ แต่ถ้าเราเรียนโดยที่คิดว่า เราจะไปรู้มากๆ แต่เราไม่รู้เลยว่า ธรรมอยู่ที่ไหน ขณะนี้เป็นธรรมหรือเปล่า ปัญญารู้ธรรมอะไร ปัญญาไปรู้ชื่อต่างๆ ไปจำชื่อต่างๆ หรือว่าปัญญาเริ่มที่จะเข้าใจถูกในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะมีปัจจัยทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจธรรมขึ้น ไม่ใช่เข้าใจเรื่องราว
ผู้ฟัง แต่ในขณะแรกที่เรามาศึกษาเล่าเรียนธรรม เราต้องเข้าใจก่อน เข้าใจแล้วเราก็มาดู
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มาดู
ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่เรามาจ้องคอยดู เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเราจะได้รู้ขณะนั้น
ท่านอาจารย์ เคยได้ยินใช่ไหม คำว่า ดู
ผู้ฟัง เคยค่ะ
ท่านอาจารย์ เป็นเราดู หรือว่าเป็นสติที่ระลึก
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นเอง
ท่านอาจารย์ ถูก ทุกอย่างเกิดขึ้นเองทั้งหมด แต่เรารู้จรดกระดูกแล้วหรือยัง ทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วเราไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ต้องรู้ถึงอย่างนั้น เราต้องไม่ลืมเลยว่าสภาพธรรมทั้งหมด เกิดเพราะเหตุปัจจัย หนทางของเราจะได้ตรงขึ้น แต่ถ้าเราดู มันไม่มีทางเลย เป็นเราที่กำลังดู
ผู้ฟัง ถ้าใช้คำว่า เราดู เหมือนกับเรามาคอยมาจ้องดู ถูกไหม
ท่านอาจารย์ เป็นเราดู ไม่ใช่สติระลึก เป็นเรา
ผู้ฟัง แม้แต่ว่าเป็นเรามันก็ยังบาง เราก็ไม่รู้ว่าเป็นเรา
ท่านอาจารย์ คิดนึก อะไรบาง
ผู้ฟัง ความเป็นเราบาง
ท่านอาจารย์ คิดนึกว่าบาง
ผู้ฟัง คิดนึกว่าบาง แต่จริงๆ มันไม่บาง มันหนา
ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัญญาไม่เกิด ไม่มีทางที่จะเอาอะไรออกไปได้เลย ไม่มีทางเลย หนทางนี้จึงลุ่มลึกอริยสัจ ๔ แม้แต่มรรคสัจ ต้องไม่ลืมข้อความในพระไตรปิฏก เห็นยากเพราะลุ่มลึก และลุ่มลึกจึงเห็นยาก
ผู้ฟัง ท่านผู้ฟังถามเมื่อสักครู่นี้ว่า ศึกษาปริยัติมาแล้ว มานั่งพิจารณาดู ความจริงไม่ใช่ ท่านอาจารย์บอกไว้เลยว่า จะต้องเป็นสติเกิด ในขณะที่ธรรมนั้นปรากฏ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ลืมว่า พระพุทธศาสนา เป็นเรื่อง ละ คำนี้ทิ้งไม่ได้เลย จะเป็นทางที่จะกันเราออกจากความเห็นผิด หนทางผิดทั้งหมด พอเริ่มต้องการเมื่อไร ผิด เมื่อจะเอาเมื่อไร ผิด เริ่มจะดูเมื่อไร ผิด
เพราะฉะนั้น ต้องทราบเลย ว่าพระพุทธศาสนา เป็นเรื่อง รู้แล้วละ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่รู้ไม่มีทางละเลย เราอาจจะไปคิดว่าละ แต่ความจริงถ้าไม่รู้ไม่มีทาง อย่างที่เราจะไป ดู ดู ดู เราคิดว่าเรารู้ แต่ไม่ใช่ทางละ
ผู้ฟัง สติที่มันเกิดในขั้นธรรมดาอย่างนี้ เราสามารถที่จะทราบได้โดยการที่ว่า ถ้าขณะที่เราฟังธรรมเข้าใจ ขณะที่เราให้ทาน สติเกิด เพราะมันเป็นโสภณ วิชาการที่เราพูดกัน แต่ลักษณะสติจริงๆ ที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ตรงจุดนี้เรายังไม่เห็น ถ้าหากว่าเรายังไม่เห็นสติตัวนี้ มันจึงไม่ใช่ สติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน จะไม่รู้สภาพธรรมว่าเป็นสภาพธรรม ต้องเป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ที่ว่า สติปัฏฐาน เป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติก็มรรคมีองค์ ๕ จะมีสัมมาทิฏฐิด้วย หมายความว่า ถ้าไม่มีปัญญาใครก็จะอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา หรือว่าสติปัฏฐานไม่ได้เลย ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปพยายามทำอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วบอกว่านี่เป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ความเห็นถูกในอะไร ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีลักษณะที่ต่างกัน อย่างหนึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้ อีกอย่างหนึ่งไม่ใช่สภาพธรรมรู้ นี่เห็นถูกไหม เห็นถูก
เวลาที่เข้าใจถูก ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เราเคยจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอเลยทุกครั้งที่เห็น แต่เราลืมคิดว่า แท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ใช้คำว่า ปรากฏทางตา ลักษณะที่กำลังปรากฏมีจริงๆ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเราไม่เคยรู้ เพราะเราคิดว่าเป็นคน เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ตลอดเวลา กว่าเราจะลอก ความที่เราเคยยึดถือ ว่ามีคนจริงๆ โต๊ะ,เก้าอี้จริงๆ มีทุกอย่างในห้องนี้จริงๆ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะที่เห็น ถ้าไม่เห็นไม่ปรากฏเลย สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นคน เป็นสัตว์อย่างที่เราเข้าใจ เป็นแต่เพียงสิ่งที่สามารถปรากฏในขณะนี้ สำหรับคนที่มีจักขุปสาท นี่คือความเข้าใจ ซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เดี๋ยวนี้ ที่จะให้เข้าใจอย่างนี้ ถ้าค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ จะใช้คำอะไรก็ได้หมด แต่ค่อยๆ รู้ว่าความจริงคืออย่างนี้ เป็นแต่เพียงธรรมชนิดหนึ่ง นี่คือ ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อก็ได้ เพราะเหตุว่า ขณะนั้นสติระลึกลักษณะที่สภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วกำลังเริ่มที่จะเข้าใจถูก ตรงตามที่ศึกษา ทีละล็กทีละน้อย จนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้
ซึ่งเมื่อเป็นความจริง สภาพธรรมในขณะนี้แม้ทางตา ที่กำลังปรากฏก็เกิดดับ แต่ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ที่อบรมแล้ว สมบูรณ์แล้วถึงจะประจักษ์ได้
คนที่อบรมเจริญปัญญา เป็นคนตรง ไม่ใช่เป็นคนคด ไม่ใช่เป็นคนที่อยากได้ จนกระทั่งคิดว่าได้แล้วหรือถูกแล้ว แต่เป็นผู้ที่รู้จริงๆ ขณะนี้ทั้งๆ ที่ฟังอย่างนี้ ความเข้าใจกระเถิบขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง มีเพิ่มขึ้นมาอีกหรือเปล่า หรือน้อยมากจนกระทั่งเกือบจะไม่รู้เลย เหมือนจับด้ามมีด ถ้าอย่างนั้นก็จะไม่มีพระสูตรนี้ ถ้าไม่เป็นไปในลักษณะนี้
เพราะฉะนั้น มิใช่ว่าพอระลึกก็รู้ปั๊บทันทีเลย เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เราอีกเลยต่อไป เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถึงเข้าใจความหมายว่าอบรม เข้าใจความหมายของ จิรการกาลภาวนา เป็นกัปๆ
เพราะว่าเป็นของจริง ต้องมีการค่อยๆ รู้ ค่อยๆ คลายความไม่รู้
เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่บอกว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ทางตาไม่รู้เลย ไม่เคยเลย แล้วไม่มีการรู้ว่าจะคลาย ความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อย่างไร เพราะเหตุว่าจะต้องรู้ในลักษณะที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ
และความรู้อย่างนี้ จะต้องค่อยๆ สะสมไป ขณะนี้ถ้าผ่านไป หลงลืมสติเท่าไร แล้วกว่าจะสะสมนิดหนึ่ง ทีละนิดหนึ่ง ที่เป็นญาณสัมปยุตต แล้วก็เป็นสติปัฏฐาน ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่ไม่น่าเบื่อ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ถ้าเราคิดว่าเราจะถึงแล้วไม่ถึง เบื่อ ถ้าเราคิดว่ามีเพียงแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อ่อน แข็ง เท่านั้นเราก็เบื่อ เพราะอย่างอื่นก็มี เพราะเหตุว่าเราไปกั้นไว้
ผู้ฟัง สติที่เกิดกับทานกับศีล ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐาน หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องห่วงเลย คำใด ที่เรียนมาแล้วทั้งหมดว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ประจักษ์แจ่มแจ้งหรือยัง ถ้ายังประจักษ์แจ่มแจ้งก็ศึกษาต่อไป
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 481
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 482
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 483
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 484
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 485
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 486
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 487
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 488
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 489
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 490
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 491
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 492
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 493
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 494
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 495
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 496
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 497
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 498
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 499
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 500
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 501
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 502
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 503
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 504
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 505
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 506
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 507
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 508
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 509
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 510
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 511
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 512
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 513
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 514
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 515
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 516
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 517
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 518
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 519
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 520
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 521
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 522
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 523
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 524
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 525
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 526
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 527
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 528
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 529
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 530
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 531
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 532
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 533
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 534
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 535
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 536
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 537
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 538
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 539
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 540