ปกิณณกธรรม ตอนที่ 511


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๑

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เวลานี้เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ขาดเพียงปัญญาไม่มี สัจจญาณไม่มี สติปัฏฐานจึงไม่เกิด ต่อเมื่อไรมี ใครจะห้ามไม่ให้สติปัฏฐานเกิดก็ไม่ได้ มีปัจจัยที่สติจะระลึก พร้อมกับการที่เข้าใจมาแล้ว ก็จะทำให้เห็นสภาพธรรมนั้น ตามความเป็นจริง ตามควรแก่ปัญญาที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น แม้ในครั้งนั้นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ไม่ใช่ว่าบรรลุคุณธรรม ทันทีเหมือนกันหมด บางรูป

    ในพระไตรปิฎก ใช้คำว่า ในเวลาไม่นาน ท่านผู้นั้นก็ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ ในเวลาไม่นาน อรรถกถาก็บอก ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๖๐ ปี แล้วเราจะมานั่งถามว่าทำอย่างไร ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องอบรม เพราะความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าการฟัง หรือการศึกษาปริยัติ ต้องทราบว่าเพื่อให้ถึงจุด ที่จะสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม แล้วรู้ในความเป็นธรรม แล้วเห็นตามความเป็นจริง จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง นี่เป็นจุดประสงค์ ไม่ใช่ว่า จะระลึกรูปไหน ทั่วหรือเปล่า หรืออะไรอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องคิดเลย แต่เป็นเรื่องที่ว่าสภาพธรรมมี

    อย่างที่เคยถามแล้วถามอีกว่า ขณะนี้มีปอดไหม มีฟันไหม ตอบหน่อยว่ามีหรือไม่มี มีหรือไม่มี สภาพธรรมใดไม่ปรากฏ สภาพธรรม นั้นเกิดแล้วดับแล้ว นี่คือสิ่งที่จริง จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง รู้อะไร สิ่งอื่นไม่มี ถ้านึกถึงอะไร เพียงคิด เพียงคิด แต่ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่มีลักษณะปรากฏ เป็นแต่เพียงความทรงจำที่เป็น อัตตสัญญา เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ว่า อัตตสัญญา ต่างกับอนัตตสัญญา เพราะว่า อัตตสัญญายังเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนใดยังเป็นเรา แต่อนัตตสัญญา ไม่มีเหลือ ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งเกิด แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ หนึ่งขณะเท่านั้นเอง แล้วจะมีอะไร ปอด หัวใจ ฟัน อยู่ที่ไหน ไม่มีเลย ถ้ามีเมื่อไร คือ อัตตสัญญา หรือความทรงจำเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าการศึกษาธรรม เพื่อให้เข้าถึงจุดนี้ เพื่อให้เข้าใจจริงๆ แม้ว่าเราจะเรียนมาก แต่ว่าเพื่อให้เห็น ความเป็น อนัตตา ในขณะที่สติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ในอเกหตุกจิต เช่น การเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส สัมผัส เราเห็นดีก็ได้ เห็นไม่ดีก็ได้ ทีนี้จะเห็นดีหรือไม่ดี หรือเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส สัมผัส ที่ดีหรือไม่ดี ทวิปัญจวิญญาณทั้ง ๑๐ นี่ ขอให้อธิบายว่า เห็นได้ยิน เมื่อมันไม่มีเหตุ เป็นอเหตุกะ เช่นนี้แล้ว เราได้ยินได้กลิ่นได้รู้รสได้สัมผัสที่ดี และไม่ดี ได้อย่างไร ด้วยเหตุใด

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบเรื่องชาติของจิต เพราะเหตุว่าจิตเห็น เราใช้ภาษาไทยง่ายๆ จิตเห็นคือจักขุวิญญาณ เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรม แสดงให้เห็นว่า เมื่อกรรมใดได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยที่จะให้ผลเกิดขึ้น ทั้งนั้น แล้วผลที่เกิดขึ้น จะมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ประเภท ๑ ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ประเภท ๑ แสดงให้เห็นว่าเมื่อกรรมกระทำแล้ว ผลต้องเกิด โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็น อเหตุกจิต เพราะเหตุว่าเพียงแค่จักขุปสาทรูป เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แล้วก็กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทันทีโดยความรวดเร็วของวิถีจิต จากภวังค์ก็เป็นปัญจทวาราวัชชนะ หรือจักขุทวาราวัชชนะดับไป จักขุวิญญาณจิตเกิด เห็นนิดเดียวแล้วดับ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมีอย่างอื่นเลย เป็นผลอันเนื่องมาจากกรรมซึ่งทำให้ต้องเห็น เพราะว่ามีจักขุปสาทรูป กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นผลสั้นๆ นิดเดียวเท่านั้นเอง แต่ว่าหลังจากนั้นแล้ว ถึงจะมีความยินดีพอใจ ติดข้องที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าเป็นฝ่ายกุศลซึ่งเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นความรวดเร็วว่า จิตที่เป็นวิบาก เป็นผล อย่างไรทุกคนก็มีตา ต้องเห็นอยู่แล้ว แต่พระอรหันต์ เห็นแล้วเป็นกิริยา ปุถุชนเห็นแล้วส่วนใหญ่เป็นอกุศล ผู้ที่อบรมเจริญกุศล เห็นแล้วน้อยครั้งที่จะเป็นกุศล แต่กุศลก็เกิดได้ จนกว่าจะถึงกาลซึ่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วก็ดับกิเลสไป จนหลังเห็นแล้วเป็นกิริยา

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้ว่า เรื่องของการเห็น เป็นผลของกรรม แสดงให้เห็นว่าการที่เราจะพูดง่ายๆ ว่าเราเกิดมาเป็นผลของกรรม ถ้าไม่เจาะจงแสดงขณะจิต เราจะไม่ รู้เลยว่าเมื่อไรบ้าง ขณะไหนบ้าง ในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นผลของกรรม และขณะไหนซึ่งไม่ใช่ผลของกรรมแต่เหตุ เป็นเหตุใหม่ที่จะให้เกิดผลข้างหน้า เพราะฉะนั้น ต้องมีความชัดเจนว่า ขณะปฏิสนธิ เป็นผลของกรรม แล้วผลขอกรรม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่จำเป็นต้องมีเหตุเจตสิก เพราะเหตุว่า สำหรับโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ โดยชาติเป็นอกุศล เท่านั้น เมื่อไรที่โลภะเกิดต้องเป็นอกุศล เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้าได้ เมื่อไรที่โทสะเกิดต้อง เป็นเหตุ เมื่อไรที่โมหะเกิด ต้องเป็นเหตุเป็นอกุศลเหตุ เพราะฉะนั้น เจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ๓ ดวงนี้ จะไม่เกิดกับ วิบากจิต จะไม่เกิดกับกิริยาจิต จะไม่เกิดกับกุศลจิต จะเกิดกับจิตประเภทเดียวคือ อกุศลจิตซึ่ง เห็นเหตุ

    เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลกรรมทำสำเร็จลงแล้ว ทำให้อกุศลวิบากจิต คือ อุเบกขาสันตีรณปฏิสนธิ ทำกิจปฏิสนธิ มีเจตสิกประกอบโดยที่ไม่ต้องมีเหตุเจตสิกเลย เพราะว่าถ้าเป็นฝ่ายดี ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จำแนกละเอียด ตั้งแต่เป็นมนุษย์ ซึ่งพิการตั้งแต่กำเนิด ผลของกุศลอ่อนๆ ไม่จำเป็นต้องมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีอโลภะ ไม่มีอโทสะ ไม่มีอโมหะ หรือปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นคนปัญญาอ่อนบ้าใบ้พิการตั้งแต่กำเนิด แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่บ้าใบ้พิการตั้งแต่กำเนิด เป็นผู้ที่เป็นผลของกุศล ที่ไม่ใช่กุศลอย่างอ่อนก็มีเหตุเกิดร่วมด้วยคือ ผู้นั้นจะมี อโลภเจตสิก กับอโทสเจตสิกเกิด ร่วมด้วยเป็นผู้ที่มีพื้นฐานของจิต ซึ่งสามารถที่จะสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น หรือว่าอาจจะสะสม ทานุปนิสัย มีอุปนิสัยในการให้ง่ายๆ อย่างสังเกตดู พี่น้องกันก็ได้ หรือเพื่อนฝูง ถ้ามีคนที่ควรจะได้รับการสงเคราะห์ เขาเป็นคนไว ที่จะช่วยเหลือทันที เพราะเหตุว่าเขาสะสมทานุปนิสัยที่จะเป็นผู้ที่สละวัตถุเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้ง่าย เพราะฉะนั้น พื้นฐานของจิตของเขา ก็จะมี อโลภะ อโทสะ ซึ่งเป็นเหตุเจตสิก เกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ แต่ว่าถ้าเขาไม่ได้สะสมปัญญามา เขาจะไม่สนใจในเรื่องของปัญญาเลย ไม่ฟังพระธรรม ไม่เห็นประโยชน์ แล้วก็ถึงฟังก็อาจจะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจก็ต้องนานมาก ใช้เวลาพิจารณานานทีเดียว กว่าจะค่อยๆ สะสมปัญญาขึ้น แต่บางคนผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แล้วแต่ระดับขั้น เวลาที่ให้ผล เมื่อเขาจุติจิต เกิดแล้วดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตของเขาประกอบด้วยเหตุ ๓ คือทั้ง อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหะ คือปัญญา เจตสิกด้วย เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นการจำแนกผลของกรรมว่า ถ้ากรรมได้กระทำแล้ว แล้วก็เป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว ไม่ต้องมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือแม้แต่เมื่อปฏิสนธิแล้ว ภวังคจิตแล้ว กรรมก็ยังให้ผล เพียงแค่เห็น ไม่ต้องมีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย ได้ยินไม่ต้องมีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสรวม ๑๐ จิตนี้เรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เป็นผลของกรรมซึ่งเพียงเห็น แต่ว่าความติดข้องพอใจในรูปมากมายมหาศาล เพียงเห็น โลภะติดข้องทันที ที่เราทุกคนชอบสิ่งสวยๆ ก็เพราะเหตุว่ามีรูปที่เป็น อิฎฐารมณ์ โดยลักษณะของรูปนั้นเอง ปรากฏกับจิตซึ่งติดข้องในรูปนั้น เพราะฉะนั้น โดยมากในชีวิตของเรา ถ้าพิจารณาจริงๆ ต้องการแค่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แค่ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเท่านั้น นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการสะสม อุปนิสัย ซึ่งเมื่อมีกิเลสก็เป็นเหตุ ให้เกิดกรรม กรรมก็เป็นเหตุให้เกิดวิบาก และเมื่อยังมีกิเลสอยู่ เมื่อวิบากเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจก็ตาม กิเลสก็เกิดสืบต่อ แต่ต้องทราบขณะจิต ที่ต่างกันว่า ขณะไหน เป็นอเหตุก ขณะไหน เป็น สเหตุก เพื่อไม่ใช่เรา ทั้งหมดนี้คือไม่ใช่เรา

    วิทยากร.เป็นความจริง อเหตุกจิต จิตไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะว่า พระองค์ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ แต่อเหตุกจิต ก็ต้องมีเหตุ เรียกว่า อุบัติเหตุ เหตุที่จะให้เกิดการเห็น การได้ยิน ต้องมีเหตุเหมือนกัน แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ มันคนละเหตุ คนละอย่าง เหตุ ๖ นั้นมุ่งถึง มูลเหตุ เหตุที่เป็นมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ แต่ อเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ก็มีเหตุที่ให้เกิดขึ้นเรียกว่า อุบัติเหตุ มี ๔ อย่างเป็นคนละความหมาย เพราะฉะนั้น คำว่า ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่ผิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องละเอียด เหตุปัจจัย ได้แก่ เหตุเจตสิก ๖

    ผู้ฟัง มีผู้ถามจากรายการที่ท่านอาจารย์ออกอากาศ ทางวิทยุก็ดี จะมีเน้นอยู่เสมอว่า ท่านอาจารย์ จะเน้นเรื่องปัจจุบัน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็คงจะได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรม คือสภาพธรรม ที่มีจริงๆ แต่ว่าไม่ทราบว่าขณะไหนเป็น ปัจจุบัน ถ้าไม่ได้ศึกษา เพราะเหตุว่าเราอาจจะคิดถึง คำพูดเท่านั้นว่าปัจจุบัน แต่ปัจจุบันเฉยๆ โดยที่ว่าไม่มีปรมัตถธรรม ก็ไม่ใช่ความเข้าใจที่ชัดเจน แต่ถ้าเรารู้เรื่องของจิต เจตสิก รูป แล้วทราบว่าจิต เจตสิก เป็นสภาพธรรม ที่เกิดแล้วก็อายุสั้นมาก คือมีอายุ ๓ อนุขณะเท่านั้นเอง คือ ขณะที่เกิด คือ อุปาทขณะ ขณะที่ตั้งอยู่ ยังไม่ดับ คือ ฐีติขณะ และขณะที่ดับ คือ ภังคขณะ นี้คืออายุที่แสนสั้นของปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาธรรมก็ต้องทราบว่า ขณะนี้เองต้องมีนามธรรม ถ้าไม่มีนามธรรม จะไม่มีอะไรปรากฏ ถ้ามีแต่เพียงรูปธรรมอย่างเดียวเท่านั้น จะไม่มีการรู้ว่ามีโลกนี้ หรือมีคน หรือมีเรา หรือมีอะไรเลย แต่เพราะเหตุว่า มีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วก็มีอายุที่สั้นมาก คือเพียงเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ปรากฏแล้วก็ดับ นี่คือความหมายของ ปัจจุบัน

    เพราะฉะนั้น ต้องชัดเจน พระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ได้ทรงแสดงอย่างเลื่อนลอย แต่ว่าทรงแสดงว่าแม้แต่คำว่า ปัจจุบัน ก็ต้องหมายความถึงสภาพธรรม ที่ มีจริง ถ้าเป็นนามธรรมก็คือจิต เจตสิก ซึ่งมีอายุที่สั้นมาก ถ้าเป็นรูป ธรรมก็มีอายุที่ยาวกว่า จิต เจตสิก คือ มีอายุเท่ากับจิตเจตสิกเกิดดับถึง ๑๗ ขณะ แต่อย่างนั้นก็เร็วมาก เรื่องราวของรูปที่มีการศึกษาทางวิชาการต่างๆ เป็นเรื่องราวเท่านั้นเอง เพราะว่าสภาพของรูปก็ดับไปหมดแล้วอย่างเร็ว เพราะว่าระหว่างการเห็นกับการได้ยิน เกินกว่า ๑๗ ขณะจิต รูปใดที่เกิดรูปนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่ปรากฏ เฉพาะรูปใดที่กำลังปรากฏเท่านั้น ที่จะให้ความจริง ที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าลักษณะของรูปธรรมนั้น ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น เฉพาะรูปที่ปรากฏ ไม่ได้มีอัตตสัญญาที่จะไปทรงจำไว้ ว่ามีเราทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีฟัน มีปอด มีหัวใจ นั้นเป็นเรื่องนึกทั้งหมด แต่เว่าเวลาที่จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ จะมีการรู้สิ่งที่ปรากฏเพียงหนึ่งอย่าง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเองที่กำลังเป็นปัจจุบัน ซึ่งสามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ ว่าสภาพนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ปัจจุบันสันตติ อาจารย์กรุณาอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญอาจารย์ ให้ความหมายของคำว่า ปัจจุบันสันตติ

    วิทยากร. ปัจจุบันมีหลายอย่างจริง แต่คำว่า ปัจจุบันสันตติ เราก็แยกศัพท์ว่า ปัจจุบัน ศัพท์ ๑ สันตติ ศัพท์ ๑ สันตติ ก็คือ หมายความว่า การสืบต่อ เมื่อปัจจุบันธรรมนั้น กำลังเกิดขึ้น แล้วก็สืบต่อ สืบต่อจากที่เกิดขึ้น ยังเป็นไปอยู่ เรียกว่าปัจจุบันสันตติ

    ผู้ฟัง เมื่อกี้นี้ ท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านบอกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ขณะซึ่งตั้งอยู่นั้น เป็นปัจจุบัน คำถามของดิฉันคือ สันตติ มันอยู่จังหวะไหน

    วิทยากร. ปัจจุบัน เราต้องแยกอย่างนี้ ปัจจุบันขณะที่อาจารย์พูด ปัจจุบันขณะ มี ๓ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทีนี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแล้ว ต่อจากนั้นยังสืบต่อยังปรากฏอยู่ เรียกว่า สันตติ

    ผู้ฟัง หมายความว่ายังไม่ดับไป ใช่ไหม หรืออย่างไร

    วิทยากร. คือมันดับ แต่ว่ามันปรากฏสืบต่อ เหมือนอย่างว่า อารมณ์เกิดขึ้นทางตาแล้ว ดับทางตาแล้ว แล้วมันขึ้นทางใจได้

    ผู้ฟัง หมายความว่า เขาดับแล้ว

    วิทยากร. สืบต่อ ดับแล้ว ขณะต้องดับแน่นอน แล้วก็สืบต่อ

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่าง สมมติว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปารมณ์ ในขณะที่เขาดับไปแล้ว ทางใจต่อ การต่อทางใจที่รู้รูปารมณ์ ระยะหรือขณะนั้น เรียกว่า ปัจจุบันสันตติ ใช่ไหม

    วิทยากร. ใช่ รู้อารมณ์อย่างเดียวกัน

    ผู้ฟัง แต่เราไม่เอาขณะมาเกี่ยวแล้ว

    วิทยากร. ไม่เอาขณะ มาทำ

    ถ. สมมติว่า ขณะที่เรารับประทานอาหาร รสปรากฏ สติระลึกรู้รส ขณะนั้นไม่ได้นึก หรือว่าไม่ได้รู้ว่า รสเป็นรูป เราจำเป็นจะต้องทบทวนหรือคิดนึกอีกหรือเปล่าว่า รสเป็นรูป เพราะปกติมันไม่ได้นึกว่าเป็นรูป นึกว่าเป็นรสเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นรูป เพราะว่าความประสงค์ของผมจริงๆ ที่ถามตรงนี้ก็เพื่อจะให้รู้ว่า สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ระลึกรู้รูปอย่างหนึ่ง นามธรรมอย่างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ จะระลึกรู้ที่เป็นรูปธรรม แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าเป็นรูป รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏ คือ รส อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง นึกถึงชื่อว่าเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ โดยมากคำถามมักจะถามไป เข้าจุดที่ว่าคล้ายๆ กับว่าจะทำอะไร หรือว่าจะทำอย่างไร จะต้องทำอย่างนี้ไหม จะต้องนึกไหม แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่า ปัญญาเป็นสภาพที่มีความเห็นถูก รู้ถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่มีกฏเกณฑ์ว่าจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น ทุกคนจะข้ามความเข้าใจถูก การศึกษาธรรมเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่จริงๆ ในขณะนี้ให้ถูกต้อง ขั้นการฟัง ทุกคนรู้ว่า รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย รูปเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่านามธรรม มีด้วย ไม่ใช่มีแต่รูป เพราะฉะนั้น นามธรรม ทั้งๆ ที่ได้ฟังหรือว่าอ่านจากตำรับตำรา จากพระไตรปิฎก ก็ทราบว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ซึ่งได้แก่ นามธรรม ๒ อย่าง คือ จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน นี้เป็นความเข้าใจซึ่งทุกคนไม่ปฏิเสธ มีความเข้าใจระดับนี้ แต่ทุกคนลืมขั้นหนึ่ง คือว่าที่เข้าใจ ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ว่าไปทำอะไรให้เข้าใจ แต่หมายความว่าการศึกษาการฟังทั้งหมด อาจจะเป็นชาติก่อนๆ นั้นด้วย แล้วก็ชาตินี้ด้วย แล้วก็จะสืบต่อไปถึงชาติต่อไปด้วย เพราะใครจะรู้ว่าชาติหน้าจะมาถึงเมื่อไร อาจจะเป็นเย็นนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้

    เพราะฉะนั้น จุดสำคัญก็คือว่าไม่ใช่เรื่องทำ แต่อย่าข้ามความเข้าใจว่าการอบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องว่าจะต้องย้ำไหม แต่ว่าผู้นั้นจะต้องฟังด้วยดี ที่จะรู้ว่าขณะที่มีสติ คือสภาพที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าแต่ก่อนนี้ แม้ปรมัตถธรรม มี ก็ไม่เคยรู้ ว่าเป็นปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรม มีตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ไม่เคยรู้ แต่เมื่อฟังแล้วก็เข้าใจว่า ทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม ฟังแล้วอย่าลืม เก็บทรงจำไว้อย่างดี ด้วยความมั่นคงว่าทุกขณะเป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด จนกว่ามีปัจจัยที่สติจะเกิดระลึก ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ผู้นั้นก็มีความเข้าใจว่า นี่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แม้ว่าขณะนั้นยังไม่เข้าใจในสภาพที่ไม่ใช่เรา หรือว่าไม่ใช่ตัวตน หรือว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ก็เริ่มที่สติจะระลึก ที่ลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ความสำคัญก็คือว่า ผู้นั้น เป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้ว่าขณะนั้น สามารถที่จะรู้ความต่างกัน ของรูปธรรมกับนามธรรม หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเพียง แต่ก่อนนี้ก็เคยรู้แข็ง พอเรียนไปก็มาบอกกันว่า แข็งเป็นรูป แล้วสภาพที่รู้ เป็นนาม ก็เพียงแต่พูด แต่ว่า การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เพียงเท่านั้น แต่เป็นการเริ่มที่จะรู้ลักษณะจริงๆ เพื่อที่ว่า เมื่อใดที่เริ่มรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมมากขึ้น เมื่อนั้นไม่ต้องไปนั่งนึกว่าไม่ใช่เรา หรือว่าไม่ใช่ตัวตน หรือว่าจะทำอย่างไร แต่ว่าความที่ค่อยๆ รู้ขึ้นก็จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้น แต่ว่าทีละเล็ก ทีละน้อยจริงๆ นี้เป็นเหตุที่บางคน คอยไม่ได้ ไม่มีความอดทน ไม่ใช่ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง เสียแล้ว พยายามหาทางอื่น บางคนก็บอกว่า สติไม่เกิด เพราะฉะนั้น ก็ทำสมาธิ นี่เป็นการที่ไม่ตรง ไม่ใช่สัจจญาณ ซึ่งจะต้องมี สำหรับอริยสัจ ๔ ถ้าไม่มีสัจจญาณ ก็ไม่มีกิจจญาณ คือสติก็จะไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่จะหันไปสู่อย่างอื่น

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ต้องทราบจริงๆ ว่าเป็นทนทางที่ไกล แต่ว่าเป็นเรื่องจริง เป็นความรู้จริง ถ้าไม่เป็น อย่างนี้ก็ไม่ต้องมีการที่บำเพ็ญบารมี สี่อสงไขยแสนกัป หรือว่า สองอสงไขยแสนกัป หรือว่า หนึ่งแสนกัปก็ตามแต่ จะเห็นได้ว่า ทำไมถึงต้องนาน อย่างนั้น บางคนก็บอกว่า ก็ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว รู้แล้ว แต่ว่าไม่รู้ว่ารูปธรรมนามธรรมเกิด ดับ ก็เพียงขั้นเข้าใจ แล้วจะไปประจักษ์การเกิดดับของ นามธรรม และรูปธรรมอย่างไร แต่ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ เพราะว่าเป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น ขณะที่สติกำลังระลึก แล้วจะไปทำอย่างอื่น ถามตัวเองได้เลย ละอะไรได้หรือเปล่า ละอะไรหรือยัง ถ้าไม่ใช่เรื่องละแล้ว ไม่ใช่หนทางเลย เพราะเหตุว่ากำลังต้องการจะเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น สมาธิหรือว่าอะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ เป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมว่าที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงพระธรรม ฝืนอัธยาศัย ของสัตว์โลกตรงที่ ละโลภะ หรือความต้องการ ในเมื่อสัตว์โลกต้องการอยู่เสมอ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567