ปกิณณกธรรม ตอนที่ 513


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าไปติดข้องในสติปัฏฐานที่เกิด ถ้าเราอบรมแล้ว เราก็คงจะระลึกต่อได้ ขณะนั้นเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืมว่า เป็นเรื่องรู้ แล้วละ

    ผู้ฟัง ต้องรู้ก่อนแล้วถึงจะละ ละว่าตรงนั้นเป็นแต่สภาพธรรมเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุ และผล ว่าทุกอย่างที่เป็นผล ต้องมาจากเหตุ ถ้าไม่มีเหตุที่สมควร ผลที่สมควรก็เกิดไม่ได้ มีความคิด ความเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้เหตุ รู้ผล เวลาที่ผลปรากฏ ก็คิดว่า ผลนั้นเกิดขึ้นมาเอง โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ หรือเป็นผู้ที่ไม่รู้เหตุจริงๆ ว่าเหตุนี้ จะนำไปสู่ผลอะไร ถ้าอย่างนั้น เขาก็จะไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในสิ่งที่เป็นผลก็ต้องรู้ว่า ต้องมาจากเหตุที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ขณะนี้สภาพธรรม หรือเปล่าที่กำลังปรากฏ คำสอนของพระพุทธศาสนา หลังจากที่ปรินิพพานแล้ว ก็ต้องเสื่อมลง เป็นของที่แน่นอนที่สุด เพราะว่าไม่มีการศึกษา หรือไม่มีการเข้าใจในอรรถ ในสภาพธรรม จริงๆ อาจจะศึกษาต่างแนว ต่างความคิด แล้วด้วยความที่ต้องการผลอย่างมาก ก็คิดว่าจะมีวิธีหนึ่ง วิธีใดซึ่งเป็นวิธีลัด แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่ก้าวไปด้วยความมั่นคง ด้วยเหตุผล แม้ว่าจะช้า แต่ว่าเป็นความจริง แล้วก็ต้องเป็นการศึกษาไตร่ตรอง แม้แต่คำว่า ธรรม คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู เดี๋ยวนี้ ปัญญารู้ความจริงได้ไหม แล้วเป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ โดยการประจักษ์แจ้ง ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา แล้วก็เกิดดับด้วย จะรู้ได้ไหม ถ้ารู้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะบำเพ็ญพระบารมีแล้วก็ตรัสรู้ แล้วก็ทรงแสดงพระธรรมไว้มาก ถ้ามีความรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นธรรม ซึ่งเกิดดับแล้วก็จะมีหนทางใด ที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดดับ โดยไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วก็อยู่ดีๆ วันหนึ่งจะเกิดประจักษ์การเกิดดับขึ้นมา เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม เราสามารถที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง จากความไม่รู้เลย ไม่รู้แล้วอยู่ดีๆ ก็หวังว่าจะรู้ แล้วเมื่อสิ่งใดเกิด ก็เข้าใจว่าสิ่งนั้นคือ อาจจะเข้าใจว่าเป็นนิพพาน หรือว่าเป็นการู้แจ้งอริยสัจธรรมโดย ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว นิพพานจะประจักษ์กับปัญญาขั้นโลกุตตระ ซึ่งต้องมาจากการอบรมปัญญาขั้นโลกียะ คือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้จริงๆ เสียก่อน สำหรับความเห็นผิด จะเกิดร่วมกับโลภมูลจิต หรือว่าความต้องการตลอด ใครก็ตามซึ่งผิด รู้ได้เลยเพราะ มีความต้องการผล จึงได้ทำผิด แต่ว่าถ้ามีการที่จะให้ปัญญารู้ความจริง จะไม่ใช่ไปทางผิดเลยเพราะว่า มีความเข้าใจจริงๆ ว่า ต้องเป็นเรื่องความรู้ แล้วก็สิ่งที่ปัญญารู้ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ จะยากง่ายอย่างไร ก็ต้องอบรมไปจนกว่า จะถึงเวลานั้น แต่เรื่องที่จะง่าย ต้องเป็นสำหรับผู้ที่ได้อบรมปัญญามามากแล้ว ไม่ใช่เป็นผู้ที่เป็น ปทปรมบุคคลในครั้งโน้น แล้วก็ ๒,๕๐๐ ปีมาอยู่ครั้งนี้ แล้วก็จะกลายเป็นพวกที่เป็น อุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือ วิปัญจิตัญญูบุคคล โดยเฉพาะถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ใครจะเลื่อมใส ก็เป็นเรื่องของการสะสมของบุคคลนั้น ถ้าสะสมความเห็นผิดในชาตินี้ อาจจะไม่เห็นว่าเป็นอันตราย แต่สิ่งนี้จะติดตามไปถึงชาติต่อๆ ไปด้วย ทำไมเราถึงเห็นคนที่แม้อยู่ในกาลที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรม ก็ไม่ไปเฝ้า ไม่ฟังธรรม หรือแม้ฟังก็ยังไม่เชื่อ ก็เพราะเหตุว่าเขาสะสมความเห็นผิดมา จนกระทั่งพุทธศาสนิกชนในสมัยนี้ ก็คงจะคิดว่า จะไม่มีคนอย่างนั้น แต่ไม่ใช่เพียงชื่อ ถ้าจะดูโลกยุคนี้ แม้ประเทศไทย ซึ่งบางคนบอกว่าพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก จริงหรือเปล่า เพราะว่ามีความเข้าใจถูกต้องมากหรือเปล่า หรือว่ามีความเข้าใจผิดมากกว่า แม้ว่าจะกล่าวว่าเป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นลัทธิอะไรก็ตามแต่ ในนิกายต่างๆ ก็ต้องทราบว่า เรื่องของปัญญาเป็น เรื่องของความเห็นถูก

    วิทยากร. ผมขอเพิ่มเติมนิดหนึ่ง คือในพระพุทธศาสนา ไม่มีบอกว่า อะไรที่คนนิยมมาก อันนั้น เป็นสิ่งถูกต้อง อันนี้ไม่ใช่เป็นบรรทัดฐานที่จะรู้ แล้วเชื่อกันมากเหลือเกิน ตรงนั้นเขาไปกันมากเหลือเกิน แล้วสิ่งนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง ไม่มี ไม่มีพระพุทธศาสนา ไม่ได้แสดงไว้อย่างนั้น แล้วก็อีกประการ ๑ พุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า อะไรที่มันเป็นโลภะ มันง่าย มันก็ไป ก็เทกันไปอย่างนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มาก แล้วสิ่งนั้นจะถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก เป็นเครื่องตรวจสอบ การปฏิบัติผิดจะยิ่งมากกว่านี้สักแค่ไหน ทั้งๆ ที่มีพระไตรปิฎก แล้วก็มีการศึกษา ก็มีการแสดงพระไตรปิฎก ก็ยังแยกปฏิบัติออกจากปริยัติ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ปริยัติไม่ได้เกื้อกูลเลย ความจริงการศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย ไม่หนักใจ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่เดือดร้อน แต่ขณะที่เดือดร้อนเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เราทำเท่าที่จะทำได้ เต็มความสามารถของแต่ละชีวิตที่นี่ แล้วแต่ใครจะทำอะไรได้ก็แล้วแต่ ช่วยกันศึกษา ช่วยกันเผยแพร่สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้ เป็นการรักษาคำสอนไว้ แต่ว่าจะมีคนเข้าใจมากน้อยเท่าไร สนใจมากน้อยเท่าไร ต่อไปกาลข้างหน้า เป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะพระผู้มีพระภาค เองก็ทรงพยากรณ์ไว้ว่าพระพุทธศาสนา ก็จะต้องถึงความสูญสิ้นเหมือนกัน แต่ว่าเพียงขณะนี้ ยังไม่สูญ ก็ช่วยกันรักษาไว้ เท่าที่จะทำได้

    ไม่ทราบว่าผู้ที่ฟังมีความกล้าที่จะตัดสินว่าสิ่งใดถูก ก็คือถูก สิ่งใดผิดก็คือผิด หรือเปล่า เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรง ปัญญาก็เกิดไม่ได้ แม้แต่ปัญญาที่จะพิจารณาว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิดก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ว่าเราไม่ได้พูดถึงชื่อบุคคล หรือชื่อสำนัก แต่เราพูดถึงความเห็น ซึ่งมี ๒ อย่างคือ ความห็นถูก กับความเห็นผิด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะอยู่ที่บ้าน จะอยู่ที่วัด จะอยู่ที่ไหน ความเห็นผิดก็เป็นความเห็นผิด ความเห็นถูกก็เป็นความเห็นถูก แล้วการศึกษาพระธรรมจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองจริงๆ เพราะว่ามีสิ่งที่ผิดเห็นชัดๆ ว่าผิดใครก็รู้ว่าสิ่งนั้นผิด กับมีสิ่งซึ่งดูเหมือนว่าถูก แต่ความจริงผิด เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาอย่างละเอียด แม้แต่ข้อความมีกล่าวไว้ ใน มหาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็มีข้อความเรื่อง อิริยาปถบรรพ แล้วก็สัมปชัญญบรรพ ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่าถ้าไม่มีคำอธิบาย หรือว่าไม่มีการศึกษาต่อโดยละเอียด ก็จะทำให้เกิดความคิด ความเข้าใจง่ายๆ ว่าก่อนนี้เราก็เห็นว่าเป็นว่าเป็นตัวเรา แต่ว่าลักษณะที่ว่าเป็นตัวเรา คือ รูป เพราะฉะนั้น ที่นั่งก็คือรูปที่นั่ง บางคนก็ใกล้เคียงมากว่า เป็นรูปที่นั่ง แต่ข้อความในพระไตรปิฎก และอรรถกถา จะมีคำอธิบายในทุกบรรพ ที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรื่อง ธาตุ ๔ ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มี มหาภูตรูป ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จะมีอิริยาบถได้ไหม จะมีสัมปชัญญะได้ไหม เพราะฉะนั้น อะไรเป็นของจริง สิ่งที่มีจริงๆ ก็คือว่า ปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะแตะสัมผัส ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ลักษณะที่มีจริงๆ ซึ่งทุกคนปฏิเสธไม่ได้ คือแข็ง แล้วก็ไม่มีการรู้ว่าแข็ง เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการฟัง การศึกษา เพื่อที่จะรู้รูป ที่กาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ระลึกที่อื่น แต่ว่าระลึกที่กาย ถ้าเป็นเรื่องของกาย ก็จะไม่พ้นจากธาตุ ๔ ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน หรือว่าลมหายใจ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีชื่อเข้าไปติด อย่างลมหายใจก็ไม่พ้นจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนกัน อิริยาปถบรรพ ก็ดี ธาตุววัฏฐานะ ก็ดี ก็เป็นเรื่องของธาตุทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จริงๆ ว่าจุดประสงค์ คือให้รู้สภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน จะได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าสภาพนั้นเกิดแล้วก็ดับ แต่รูปนั่งไม่มีลักษณะที่จะให้รู้ ในอาการเกิดดับเลย เพียงแต่เป็นความพอใจที่จะเพิ่มความรู้ขึ้นนิดหน่อย จากการคิดว่าที่นั่งอยู่ นับเป็นรูป แต่ไม่ได้มีคำอธิบายมากมายกว่านั้น เลยว่ารูปอะไร รูปอะไร เป็นรูปก็ต้องมีลักษณะให้รู้ เป็นนามก็ต้องมีลักษณะให้รู้ แต่ถ้าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง โดยการที่สติระลึก อิริยาบถไม่มี เหมือนกับทางตา เห็น มี สิ่งที่ปรากฏทางตามี คน สัตว์ วัตถุ สิ่งต่างๆ ไม่มี ทำไมเราเข้าใจอย่างนี้ได้ แล้วเวลาที่ มีการระลึก ที่กาย ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ที่กายก็เหมือนกับสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทางตา คือ ทางตา ปรากฏขณะนี้มีจริงฉันใด ทางกายที่กระทบสัมผัส ลักษณะปรมัตถธรรม ก็มีจริงๆ ปรากฏฉันนั้น คือ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ส่วนที่เห็นว่าเป็นคนเดินมา นั่ง นอน ยืน เดิน หรือแม้แต่ความคิดนึกซึ่งกำลังคิดว่าตัวเอง กำลังนั่งอยู่ ก็เป็นความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญาทั้งหมด เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็จะทำให้เข้าใจ ความหมายของ อัตตสัญญา กับ อนัตตสัญญา มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะอธิบาย ความหมายของ อัตตสัญญา และอนัตตสัญญาได้ แต่นี่เพราะเหตุว่ามีความทรงจำว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคืออัตตสัญญา แต่ว่าเวลาที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เริ่มที่จะเข้าใจในความเป็น อนัตตาสัญญา ไม่อย่างนั้น ปัญญาก็ไม่เจริญ เพราะว่าไม่รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อาจหาญ ร่าเริง ที่จะรู้ว่าสิ่งใดถูก คือถูก สิ่งใดผิดคือผิด เพราะว่าจริงๆ แล้วก็ไม่มีสตัว์ ไม่มีบุคคล แต่มีความเห็นถูก กับความเห็นผิด ซึ่งเป็นเจตสิกฝ่ายกุศล และฝ่ายโสภณ ฝ่ายอกุศล แต่ถ้าทุกอย่างเหมือนกันหมด ทุกอย่างดีหมด ทุกอย่างถูกหมด ก็เป็นอันว่าไม่มีทางที่จะพบความถูกต้อง ได้ เพราะว่าจะถูกหมดไม่ได้ สภาพธรรมมี ๒ อย่าง ความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก เพราะฉะนั้น จะให้ความเห็นผิด มาเป็นความเห็นถูก ไม่ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของเสียง สิ่งที่ปรากฏทางหู คือ ดัง แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา คือสว่าง ลักษณะปรมัตถมันอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง ใช่ สัททะ ก็คือเสียง คือดัง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช้คำว่า สัทธ มีการได้ยินหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ต้องดัง ถึงจะได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องใช้คำอะไรเลย ปรมัตถธรรม ก็เป็นสภาพที่มีจริงๆ แล้วก็ปรากฏแต่ละทางได้

    ผู้ฟัง ทีนี้จะเรียน ถามว่า สัททะ คือ เสียงทางวาจา เสียงปรบมือ เสียงฟ้าร้อง นี้มันเป็นที่มาที่ไปต่างกัน อย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่คิดถึงฟ้าร้อง ไม่คิดถึง ปรบมือ เสียงก็คือสิ่งที่ปรากฏทางหู

    ผู้ฟัง ใช่คือมันดังเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกับจิต สิ่งที่ปรากฏทางตา มันชัดเจน คือสี มันคือสี มันคือ อุปาทยรูป

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่ใช้คำพวกนี้ทั้งหมด สภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่หรือเปล่า ขณะนี้ ของธรรมดาๆ ที่เราจะต้องรู้ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง แล้วทำไมต้องเป็นเสียงทางวาจา เสียงปรบมือ เสียงฟ้าร้อง

    ท่านอาจารย์ นั่นเราคิดไม่ใช่หรือ

    ผู้ฟัง แต่เข้าใจว่า ที่กำเนิดก็คงจะต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต่างก็ต่าง ที่เวลาปรากฏก็คือ ปรากฏทางหู ไม่ว่าเสียงอะไรทั้งนั้นก็ปรากฏทางหู

    ผู้ฟัง เราไม่จำเป็นต้องค้นไปถึงว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่เลย นั่นคิดหมดเลย

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สี ชัดเจน อันนี้ชัดเจน แต่ว่าเสียงนี้มัน

    ท่านอาจารย์ เสียงก็ปรากฏทางหู ก็ชัดเจนเหมือนกัน

    ผู้ฟัง หมายความว่าทั้ง จะเป็นวาจา จะเป็นฟ้าร้อง จะเป็นปรบมือ ก็สัทธรูป เหมือนกันหมด

    ท่านอาจารย์ เป็นเสียง

    ผู้ฟัง เป็นเสียงคือดัง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยให้มีการระลึก ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ นั่นคือสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติขั้นคิด เรื่องราวของธรรมที่ได้เรียนขั้นปริยัติ แต่ว่ามีสภาพธรรม ที่มีลักษณะปรากฏ ที่สติกำลังระลึก ตรงลักษณะนั้น ถึงเฉพาะลักษณะ แต่ละลักษณะทีละลักษณะ ทีละอย่าง แต่ความรู้ในขณะนั้นก็ยังไม่พอที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะเหตุว่า เพิ่งจะเริ่มที่สติจะระลึก ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าผู้นั้น รู้ความต่างกันของขณะที่มีสติ กับขณะที่หลงลืมสติ นี่เป็นขั้นต้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปทำอะไรเลย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ เข้าใจธรรมขึ้น มีเหตุปัจจัยที่สติจะระลึก ลักษณะที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วก็รู้ความต่างกันของสภาพที่เป็นนามธรรม กับรูปธรรม ไม่ใช่โดยรวดเร็ว ค่อยๆ รู้ไปทีละเล็ก ทีละน้อย เมื่อใดที่ถึงพร้อมที่วิปัสสนาญาณจะเกิด สภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรม โดยความเป็นอนัตตา ขณะนี้แม้ว่าสภาพธรรมจะมี ก็ยังเป็นคนนั้น คนนี้ เป็นโลกทั้งโลกรวมกัน แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง ไม่รวมกันเลย จิตเป็นสภาพรู้แล้วก็กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ให้รู้ ทีละอย่าง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็จะไม่มีตัวตน ไม่มีโลกกว้างใหญ่ หรือว่าไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ตามที่เราได้ศึกษามาว่า จิตของแต่ละคน ก็เกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะ เมื่อจิตเกิดขึ้น ทำกิจ อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเห็นกิจของจิตดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิดขึ้น สืบต่อตั้งแต่เกิด จนกว่าจะตาย แล้วเมื่อตายแล้วก็มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดอีก ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น คำพูดทั้งหมด เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่จริง เป็นสิ่งซึ่งฟังแล้วเข้าใจ แล้วเป็นสิ่งซึ่งปัญญาสามารถจะอบรม ถึงขั้นประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความจริงว่า เวลาที่สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง มีจิตที่เป็นธาตุรู้ ที่กำลังรู้ สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ทีละหนึ่งอย่าง เพราะฉะนั้น โลกจะรวมกันอย่างนี้ไม่ได้ จะปรากฏเหมือนเดิมไม่ได้ จะไม่มีความสงสัยในความต่างกันของ ปัญจทวารที่ปรากฏในขณะนี้ ทางตาบ้าง เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางกาย เดี๋ยวทางใจ สืบต่อจนไม่ปรากฏ ช่องว่าง หรือลักษณะซึ่งขาดตอน ของแต่ละทาง เพราะว่าขณะนี้ทุกคนก็ทราบ ถ้าไม่มีตา จักขุปสาท อย่างไรก็เห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่กำลังเห็นต้องมี จักขุปสาท มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วมีจิตด้วย คนตายไม่มีจิต รูปที่มีอยู่ในขณะนั้น หรือขณะไหนก็ตาม รูปไม่มีสภาพรู้ เพราะฉะนั้น แม้ว่ารูปที่ตัวจะมี แต่รูปก็ไม่ใช่สภาพรู้อะไรเลยทั้งสิ้น รูปเพียงแข็ง รูปเพียงเย็น รูปเพียงตึงไหว แต่ว่าธาตุรู้หรือสภาพรู้ ที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น ก็จะรู้จริงๆ ว่าธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น เป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างที่เรียน เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ ปรากฏได้ แต่ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ

    ผู้ฟัง ขณะที่ปัญญา ประจักษ์แจ้งจริงๆ ก็ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามปกตินี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตามปกติ แต่ว่าไม่เหมือนปกติเพราะเหตุว่า ตามปกติ เกิดดับสืบต่อเร็ว จนกระทั่งไม่รู้ว่า ทางไหนเป็นทางไหน แต่ละทาง ต่อกันเลย ทำให้รวมกันเป็นโลกกว้างใหญ่ หรือว่าเป็นตัวตน เป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ถามว่าระลึก ตรงลักษณะ หมายความว่า เห็นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ เป็นธาตุ หรือ ธา-ตุ ซึ่งไม่มีใครบังคับ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วเป็นธาตุที่กำลังเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ขณะที่คิดนึก เรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จะเห็นความละเอียดว่า เห็น เป็นขณะหนึ่งดับไปก่อน แล้วจิตก็จะคิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา เช่นเดียวกับทางหู ขณะนี้ทุกคนก็ได้ยินเสียง สภาพของธาตุรู้ เป็นธาตุที่ได้ยินเฉพาะเสียง จะได้ยินอย่างอื่นไม่ได้ จะเห็นไม่ได้ จะคิดนึกไม่ได้

    การที่กล่าวว่า สติจะระลึกตรงลักษณะ หมายความว่าสภาพธรรม แต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะของตน แต่ละอย่างจริงๆ ถ้าพระผู้มีพระภาค ไม่ทรงตรัสรู้ ไม่มีใครสามารถที่จะแสดงสัจธรรม ความจริง ที่มีจริงๆ ชีวิตประจำวันว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ตัวตน แต่อาศัยสภาพที่เป็นปัจจัย เกิดแล้วก็ดับ ในขณะนี้เอง ในที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่เห็น แน่นอน สำหรับคนที่มีตา จักขุปสาท แต่หูหนวก เขาก็จะมี แต่เห็น แต่ไม่มีได้ยิน หรือคนที่หูไม่หนวกแต่ตาบอด เขาก็จะมีแต่ได้ยิน ไม่มีเห็น แต่ขณะนี้ทุกคนทั้งเห็นด้วย ได้ยินด้วยแสดงให้เห็นจิตเกิดดับสืบต่อเร็ว จนกระทั่งไม่ปรากฏเลย ว่าเห็นดับแล้ว จิตได้ยินจึงเกิดได้ หรือว่าจิตได้ยิน ชั่วขณะที่ได้ยินจริงๆ ไม่มีสีสันวัณณะรวมอยู่ในเสียงเลย เสียงเป็นสภาพธรรม ที่ปรากฏกับจิตที่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น การระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม ก็คือว่า สภาพธรรมใดเป็นอย่างไร อาศัยความเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง เพราะว่าจริงๆ แล้ว ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คือ จิต เจตสิก รูป เกิด จึงมีสัตว์ บุคคล หรือมีสิ่งที่มีชีวิต ถ้ามีแต่เพียงรูปเท่านั้น ไม่มีจิต เจตสิกเกิด ก็เป็นวัตถุต่างๆ เป็นต้นไม้ เป็นอะไรก็ได้ ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ แต่ถ้าเป็นคนสัตว์เมื่อไร เมื่อนั้นก็จะต้องมีจิต เจตสิก เกิดพร้อมกับรูปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ เราก็จะเป็นคน ตั้งแต่เกิดจนตาย เชื่อมั่นว่า คนนั้นเกิด คนนั้นตาย แต่ถ้าศึกษาแล้วก็รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เพราะจิต เจตสิก รูป เกิด จึงเป็นคนนั้น คนนี้โดยสมมติขึ้นว่าเป็นอะไร แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าไม่มี จิต เจตสิก รูปใดๆ เลย ก็ไม่มีคน ไม่มีสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีจริงๆ ๒ อย่างไม่ว่าจะในกี่จักรวาลก็ตาม ก็จะต่างกันเป็นเพียง ๒ เท่านั้น คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นรูปธรรม ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น คิดไม่ได้ ดีใจ เสียใจไม่ได้ ไม่รู้อะไร ไม่เห็นอะไรเลย นั่นอย่างหนึ่ง แต่สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็น ธาตุซึ่งต่างกับรูปธาตุ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ ซึ่งก็มี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก ซึ่งต้องเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน รู้สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างเดียวกัน นี่คือรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ตรงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง

    ผู้ฟัง สมมติว่าทางตาถ้าหลับตาก็ไม่เห็น ใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567