ปกิณณกธรรม ตอนที่ 516


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๖

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ ต้องมีปัญญารู้สภาพธรรมก่อน เพราะว่ากิเลสมีมากมายมหาศาล ถ้าไม่มีปัญญาต้องโกรธ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องทุกอย่างไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เมื่อก่อนๆ จะโกรธเลย จะโต้ตอบเลย ตอนหลังๆ มาก็ค่อยๆ หายไปบ้าง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องไม่ใช่ปัญญาทั้งหมด ถึงจะหายไป ถึงจะโกรธอีก วันนี้เป็นอย่างนั้น วันนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่เรื่องการเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ การศึกษาการฟังธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็ฟังเพื่อที่จะเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ที่ว่าเข้าใจธรรม ขณะโกรธเข้าใจอะไร สมมติว่าขณะที่เราโกรธ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้ไปเข้าใจตอนนั้น หรือตอนนี้ หมายความว่าขณะที่กำลังฟังนี้เอง ฟังด้วยดี ฟังให้เข้าใจจริงๆ ในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ผลก็คือว่าถ้าเข้าใจเดี๋ยวนี้ เวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นก็เข้าใจ ไม่ใช่ว่าตอนนี้ เราจะฟังเรื่องที่ว่าวันก่อนนั้นเราเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะไปเข้าใจตอนนั้นตอนนี้ หรือเตรียมเข้าใจตอนที่โทสะเกิด ไม่ใช่อย่างนั้น ขณะนี้เป็นธรรม มีธรรมกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจ เรื่องราวที่ฟัง เข้าใจ แต่ว่าส่วนใหญ่ ขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทำไมไปเอาความโกรธเกิดขึ้น นี่เราฟังธรรมเดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปส่วนใหญ่จะโกรธ จะโลภ จะหลง จะรัก จะชัง จะอะไร ทุกคนมีธรรมที่จะเกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ความโกรธก็เป็น ธรรม

    ท่านอาจารย์ แต่ฟังเดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจเรื่องธรรม ไม่ใช่ตอนนี้จะไปฟังเรื่องเวลาโกรธ ฟังเรื่องธรรมให้เข้าใจธรรม นี่จะเอาไปเป็นประโยชน์ใช้อย่างนั้น อย่างนี้เพื่อตัวเอง

    ผู้ฟัง ไปเป็นประโยชน์ คือว่า ขณะนี้ธรรมปรากฏอยู่ ฟังอย่าง สมมติอย่างที่อาจารย์พูด ก็มีธรรม คือได้ยินเสียง เสียงที่ได้ยิน พูดธรรม แล้วที่ว่าเข้าใจ เข้าใจอะไรตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจตามที่ได้เราได้ยินได้ฟังว่า ไม่มีเรา ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าที่ได้ยินว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ใช่เราได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นจิต เจตสิก รูป เป็นเรื่องที่เราจะต้องฟังธรรม ตัดเรื่องราวออกหมด ตัวเราเคยโกรธใครที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เราอดทนอย่างไร ก็ตัดออกไปหมด เพื่อเราจะเข้าใจธรรมที่เรากำลังจะพูดเรื่องธรรม

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังโกรธ สติเข้าไหม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้โกรธ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ไม่ได้โกรธ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงตอนที่กำลังโกรธ พูดถึงเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ผมพูดจากคำถามของ..

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้กำลังเป็นธรรม เราเผลอไปอีกแล้ว คือเราจะไปพูดเรื่องโกรธ ซึ่งไม่มีใครโกรธขณะนี้

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าใครมาพูด

    ท่านอาจารย์ ยังไม่สมมติ เพราะว่าขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าสิ่งที่เราได้ยินเป็น สิ่งที่เราไม่พอใจ เป็นอนิฏฐารมณ์ ความโกรธ ตรงนั้น ถ้าเราสามารถมีสติระลึกได้ว่าสภาพอันนั้น โทสะนั้น ความโกรธนั้น ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏขึ้นอย่างหนึ่งอย่างนี้ ผมคิดว่าถ้ามีสติ ระลึกรู้ได้ว่านี้คือสภาพธรรม นี้เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นจุดที่จะต้องฟังด้วยดี เพราะคำถามมีว่า ถ้าเราสามารถ นี้แสดงให้เห็นแล้ว เราสามารถ ไม่ใช่การที่ฟังธรรม จนกระทั่งสติระลึก นี้ผิดไปแล้วใช่ไหม ฟังจนกระทั่ง ละคลายการที่จะต้องการสติ การที่จะประพฤติการที่จะพิจารณา แต่ว่ารู้ว่า สติเกิดเพราะความเข้าใจที่มั่นคง ที่รู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรม ที่ได้ศึกษามาอย่างละเอียด แล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วสติก็ระลึก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าถ้าเราสามารถ คือถ้าเราสามารถก็ยังเป็นเรา ที่สามารถยังมีความหวัง ยังไม่ได้ละความหวัง ถ้าละความหวังคือเมื่อฟังธรรมเข้าใจแล้ว สติจะเกิดหรือไม่เกิด ก็เป็นเรื่องของสติ ถ้าสติเกิดก็คือระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ค่อยๆ รู้ลักษณะนั้น ตรงตามที่ได้ศึกษา นี่คือการอบรมที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง กรุณาอธิบายว่า ผลของการฟังที่มั่นคง มั่นคงอย่างไร เข้าใจมั่นคงอย่างไร ถึงจะเป็นผลของการปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ โดยมากปัญหา อยู่ที่ว่าจะปฏิบัติ นี่คือปัญหาใหญ่มาก คือ จะปฏิบัติ ทำไมถึงต้องจะปฏิบัติ ทำไมไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ แล้วก็รู้ว่าขั้นเข้าใจเท่านี้ เข้าใจเรื่องราว ขณะที่ตัวจริงของสภาพธรรมกำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมเจริญปัญญา มุ่งไปที่ความเข้าใจ คือ ปัญญา ที่ใช้คำว่าเข้าใจ คือ ปัญญา ก็ไม่อยากจะใช้คำภาษาบาลี เพราะว่า อาจจะทำให้ทุกคนหวังปัญญา แสวงหาปัญญาอีก ทั้งๆ ที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วความเข้าใจแค่ไหน ในตัวจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น มุ่งมาที่ความเข้าใจขึ้น อบรมความรู้ ความเข้าใจขึ้น ลืมทิ้งคำว่า ปฏิบัติ ซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลว่าถึงเฉพาะ แล้วอย่างไร ต่อไปนี้เราจะถึงเฉพาะหรือเปล่า ถ้าตรงตัวจากภาษาบาลี ปฏิ-ปัต-ติ แปลว่า ถึงเฉพาะ แล้วเราจะปฏิบัติหรือเปล่า มีใครจะปฏิบัติบ้าง ถึงเฉพาะ จะไปเข้าห้อง หรือจะไปทำอะไร หรือจะไปเดิน ไปนั่ง ไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทุกขณะทุกอย่าง ถ้าไม่มีปัญญา อะไรจะถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม

    ขณะนี้เป็นจิต เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ตลอดชีวิตไม่ว่าอะไรปรากฏนั่นคือ จิตรู้ จิตเกิดดับสืบต่อทุกขณะไม่ขาดเลย ขณะนี้ที่กำลังมีการเห็น การได้ยิน พวกนี้ เป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ ถ้าจะถึงเฉพาะ ก็ถึงเฉพาะลักษณะรู้ เพียงเท่านี้ ที่จะต้องฟังแล้วฟังอีกให้เข้าใจว่า ถ้าเพียงการพูดไม่ยาก มีธาตุรู้ มีสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ รู้ก็คือรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏมีลักษณะอย่างนี้ รู้รูปที่กำลังปรากฏ เวลาที่เสียงปรากฏ เสียงมีลักษณะอย่างนี้ ธาตุรู้ สภาพรู้ ก็รู้ในลักษณะของเสียงนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ ทีนี้ถ้าจะถึงเฉพาะก็ต้องหมายความว่าเป็น ผู้ที่ฟังด้วยดี มีความเข้าใจถูกต้อง ไม่ละเลยที่จะพิจารณาให้เข้าใจความหมาย ของสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง แล้วการถึงเฉพาะก็ด้วยปัญญาที่ว่า ขณะนี้กำลังเห็น ค่อยๆ ถึงเฉพาะ เพราะว่าถึงเฉพาะทีเดียว คงจะยาก ที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธาตุรู้ซึ่งเป็น นามธาตุ ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยสิ้นเชิง นี่คือการที่จะแยกโลกหนึ่งขณะ เพราะว่าสภาพของจิต จะเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วจิตเป็นสภาพที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ในขณะนี้ที่กำลังเห็น สภาพเห็นเป็นธาตุรู้ซึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏโดยประการทั้งปวง ถ้าเพียงหนึ่งขณะ จะไม่มีอย่างอื่นปะปนเลย มีเพียงสภาพที่กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏเท่านั้นจริงๆ นี่คือการที่จะค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อที่จะละความที่เคยเห็น เป็นคนเป็นโลกทั้งหมดซึ่งความจริงแล้วเราก็ทราบว่าสภาพธรรม แม้จิตเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยเท่านั้น ถ้าไม่มีจักขุปสาท จิตเกิดขึ้นเห็นไม่ได้ นี่ก็เห็นความเป็นธรรมที่เป็น อนัตตา ในขณะที่ได้ยินเสียงก็จะต้องมีโสตปสาท เป็นรูป มีกรรมเป็นสมุฏฐาน แล้วก็กระทบกับเสียง สภาพที่ได้ยินเสียงจึงเกิดขึ้น ได้ยินเสียง

    ถ้าพิจารณาจิตทีละหนึ่งขณะ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะเท่านั้นจริงๆ ก็จะว่างเปล่าจากตัวตนสัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น นี้คือการเข้าใจธรรม ให้เข้าใจจริงๆ ว่าธรรมคืออย่างนี้ คือจิตซึ่งเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ รู้สภาพธรรม ที่ปรากฏทีละอย่าง เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังมีความเข้าใจ ก็มีการที่ระลึกได้ ไม่ว่าจะกำลังเห็น ตัดโลกอื่นออกหมดเลย ขณะนี้ก็มีเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตากับจิต คือสภาพที่กำลังเห็น เท่านั้นเอง ตัวทั้งตัวตั้งแต่ ศีรษะตลอดเท้า ต้องไม่มี ถ้าจะมี คือขณะนั้น จำ เท่านั้นเอง ทรงจำไว้ว่ามี แต่ความจริง ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะแล้วเห็น ขณะนั้นจะมีอย่างอื่นไม่ได้เลย นี่คือความหมายของโลก หรือโลกะ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริงว่าโลกคือสิ่งที่เกิดแล้วดับ เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ หนึ่งขณะที่เห็นดับไปแล้ว ถ้าขณะต่อไปเป็นจิตได้ยินก็มีเสียงกระทบกับโสตปสาท มีจิตที่กำลังได้ยินเสียง ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ไม่มี โลกของความนึกคิด ใดๆ ก็ไม่มี ญาติพี่น้องวงศาคณาญาติ เรื่องราวต่างๆ ก็ไม่มี นั่นคือการที่จะเข้าใจ ลักษณะสภาพของธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต เจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน แล้วก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะอย่างนั้นอย่าเดียว แล้วถ้าประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงก็คือประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปด้วย ผู้นั้นจึงจะประจักษ์จริงๆ ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ทุกประการจากการตรัสรู้

    ผู้ที่เข้าใจจริงๆ สติระลึกจริงๆ ฟังอีกเข้าใจอีกจริงๆ ก็จะไม่ทำอย่างอื่นเลย นอกจากเวลาที่สติเกิดก็จะรู้ว่าขณะนั้นมีสภาพธรรม ซึ่งเราศึกษาบอกว่าเป็นปรมัตถธรรม ขณะใดที่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แล้วก็สติระลึกที่ลักษณะนั้น แล้วเริ่มเข้าใจในสภาพนั้นจริงๆ ขณะนั้นถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งสติ และมรรคมีองค์อื่น ที่เกิดร่วมกันกำลังปฏิบัติกิจ ของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เราไปพยายามอยู่ ๒ อาทิตย์ แล้วพยายามจะไปพิจารณา แต่เป็นเรื่องการฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจ แล้วเมื่อไรสติเกิดผู้นั้นก็จะละความเป็นเราปฏิบัติ เพราะรู้ตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึก แล้วขณะนั้นกำลังมีปรมัตถธรรม ซึ่งได้ศึกษามาตลอด เราอาจจะไม่ได้ศึกษาเฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนๆ ก็เคยฟังมาแล้วเรื่องของปรมัตถธรรม เคยศึกษามาแล้ว เพราะฉะนั้น ชาตินี้จึงเกิดความสนใจที่จะฟังอีก แล้วก็เห็นประโยชน์ว่า เป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วเป็นสิ่งที่สามารถจะรู้ได้ เข้าใจได้ แล้วถ้ารู้ได้ เข้าใจได้จริงๆ ไม่ต้องพูดเรื่องความอดทนที่จะโกรธ หรืออะไรๆ เพราะเหตุว่าก็แล้วแต่ว่านามธรรมใดจะเกิดขึ้น จะอดทน หรือไม่อดทน ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย ก็เป็นผู้ที่มีปกติจริงๆ ที่จะเจริญภาวนา คือ อบรมความรู้ ความเข้าใจธรรม ไม่ต้องไปกังวลเรื่องปฏิบัติ ไม่ต้องคิดเรื่องจะทำอย่างไร หรือว่าจะวางใจอย่างไร เพราะว่าเป็นเรื่องที่ละโดยตลอด โดยการฟัง เข้าใจขึ้น แล้วพอสติเกิดก็ละความที่เป็นเราจะพยายามหรือว่าจะให้สติระลึกตรงนั้น ตรงนี้ แล้วก็เห็นตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน แต่ว่าผู้นั้นเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่าเมื่อสติระลึกแล้ว ความเข้าใจแค่ไหน เพราะว่าเพียงเข้าใจลักษณะของแข็ง ยังไม่สามารถเป็นพระอริยบุคคล ปัญญายังไม่สมบูรณ์พอที่จะรู้จริงๆ ว่าสภาพธรรม ที่ปรากฏต้องปรากฏกับธาตุรู้ ทีละหนึ่งอย่าง

    ผู้ฟัง ถ้าเรากระทบแข็ง มันถึงอะไร แล้วเฉพาะอะไร เอาให้เข้าใจเลยว่าถึงเฉพาะคืออะไร โดยตัวอย่าง กระทบแข็ง

    ท่านอาจารย์ แข็งมีจริง ทุกคนรู้แล้ว แต่ปัญญาของใคร จะรู้ว่าลักษณะของแข็งไม่ใช่สภาพที่รู้แข็ง ขณะนั้นมีสภาพรู้ด้วย ไม่ใช่ไม่มีสภาพรู้ พอบอกเรื่องแข็งทุกคนของธรรมดา แล้วจะรู้อะไรให้มากกว่านั้น แต่รู้มากกว่านั้นก็คือว่า ชั่วขณะที่แข็งปรากฏ ต้องไม่มีอย่างอื่น แล้วขณะนั้นก็มีสภาพที่กำลังรู้ ซึ่งไม่ใช่เรา เวลาที่สติเกิด สติเกิดสั้นมาก นิดเดียว แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องหวั่นไหว เพียงแต่ให้ทราบว่าขณะใดสติเกิด แล้วก็ขณะใดหลงลืมสติ แล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เพียงชั่วที่ขณะสติระลึกที่แข็งนิดเดียว ปัญญายังไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพราะเหตุว่ายังไม่ทั่ว ยังมีสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา ที่คิดนึก ที่สารพัดทุกอย่างในชีวิต แล้วก็จริงๆ แล้ว ก็เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเกิดปรากฏ แล้วหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย

    ความทรงจำทั้งหมดที่ว่าเป็นเรา ยังเป็นอัตตสัญญา เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของแต่ละอัน ซึ่งเมื่อดับแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย แสดงให้เห็นว่าปัญญาของเราต้อง อดทนมากๆ เลย เหมือนอย่างในสมัยที่พระผู้มีพระภาค ตอนที่เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นสุเมธดาบส แล้วก็ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวเมืองนั้น ก็เกิดความดีใจมากทีเดียวที่มีพระโพธิสัตว์ ที่ปรารถนา ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้รับคำพยากรณ์ว่า หลังจากนี้ไป อีกเท่าไร สี่อสงไขยแสนกัปจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวเมืองในครั้งนั้น ดีใจว่า ถ้าเขาไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในครั้งนั้นคือในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร เขาก็ยังมีหวังที่จะได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยของพระสมณโคดม สี่อสงไขยแสนกัป นี้แสดงให้เห็นว่าคนในสมัยนั้นต้องได้ฟังพระธรรมจากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเห็นความยากของการที่ปัญญาจะต้องประจักษ์จริงๆ ในสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่าง โดยที่ไม่มีอย่างอื่นเลย

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการอบรมธรรมดาที่ว่า ในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ว่ามีความเข้าใจสภาพธรรม เพิ่มขึ้น ถ้าเรามาศึกษาธรรม แล้วเราไม่ได้มุ่งหวังอะไร นอกจากเพื่อเข้าใจธรรมขึ้น ก็เป็นผู้ที่ปลอดภัย ไม่ใช่ว่า เราจะไปเร่งรัดตัวเราว่าเมื่อไรสติจะเกิด เมื่อไรสติจะเกิดไม่ใช่เรื่องเราหวัง แต่ว่าเป็นเรื่องซึ่งเมื่อสติจะเกิด เมื่อไร สติก็เกิด สติเกิด แล้วสติก็ดับ แล้วสติก็เกิดอีก อาจจะนานมากก็ไม่เป็นไร แล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัย ก็เป็นผู้ที่ไม่มีภาระหนักอึ้งด้วยความต้องการ ซึ่งปัญญาไม่ไช่เกิดเพราะความต้องการ แต่เกิดเพราะว่าได้ฟังพระธรรมแล้วก็พิจารณา แล้วก็เป็นผู้ที่อดทนที่จะรู้ว่า เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยง่าย จริงๆ แล้วเดือดร้อนเพราะความอยากให้สติเกิด หรือเดือดร้อนเพราะอกุศลที่เกิด เป็นสภาพที่เดือดร้อน ถ้าอกุศลจิตที่เกิด รู้ตามความเป็นจริงว่า ที่กำลังเดือดร้อนนั้นเป็นอกุศล เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องมีความเดือดร้อนใจ อกุศลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอะไร ขณะใดที่เกิด อกุศลนั้นต่างหากที่ เป็นลักษณะที่เดือดร้อน นี่เป็นความรู้ที่ถูกต้อง แต่ถ้าอกุศลจิตเกิดแล้วไม่อยากให้ อกุศลเกิด นั่นคือเดือดร้อนด้วยความไม่รู้ด้วยความเข้าใจผิด

    ที่สำคญที่สุดคือ ความเข้าใจผิด โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุต น่ากลัวเป็นอันตรายมาก เวลาแสดงเรื่องของจิต ๘๙ จะเริ่มต้นด้วยโลภมูลจิต แล้วก็ดวงแรก ขณะแรกที่กล่าวถึงดวงที่ ๑ คือ ทิฏฐิคตสัมปยุต เกิดร่วมกับความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดมีตั้งแต่อย่างใหญ่จน กระทั่งถึงอย่างเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ้าเกิดโกรธแล้วเดือดร้อน ไม่อยากให้โกรธ นั่นเพราะโลภะ ที่ไม่เข้าใจ แต่ถ้าโกรธแล้วเห็นว่า ลักษณะนั้น ความขุ่นเคืองนั้น เป็นสภาพธรรมที่เดือดร้อน ขณะนั้นเห็นถูก เวลาที่คนโกรธ ทุกคนไม่สบายใจ แต่ว่าใครรู้บ้าง ลักษณะที่ไม่สบายใจนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นของธรรมดาที่ต้องเกิด เพราะว่าประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เวลาที่เห็นสิ่งที่พอใจทุกคนก็ชอบ เพลิน สนุกสนาน อร่อย แต่ว่าเวลาที่ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ใครบ้างที่จะไม่ขุ่นใจ ไม่ขุ่นเคือง ไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อย นิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้องว่าเป็นของธรรมดา ทุกคนต้องมีทั้งโลภะ มีทั้งโทสะ เพราะว่าไม่มีใครไปบังคับไม่ให้โลภะเกิด ไม่ให้โทสะเกิด เมื่อมีเหตุปัจจัย โลภะก็เกิด โทสะก็เกิด เพราะฉะนั้น ก็ไม่เดือดร้อน แล้วในขณะนั้น ก็ยังสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องด้วยว่า ไม่ต้องไปอยากให้ไม่มีโทสะ ถ้าอยากให้ไม่มีโทสะนั้นผิดแล้ว ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง อาจารย์ พูดกับดิฉันเสมอว่าขณะที่เข้าใจ จะเบา ก็มาสังเกตตัวเองว่าในขณะซึ่งเราเข้าใจ ใช่ มันเบา แต่ทีนี้ นิสัยที่ตะเกียกตะกายอยากจะรู้ ทำให้เราไม่เบา หนัก รู้สึกเหมือนเรานี้ทำงานหนักจังเลย

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังต่อไปอีกให้เข้าใจด้วยดี

    ผู้ฟัง อันนี้ อย่างเหมือนที่อาจารย์ ว่าไหม คือยังมีตัวตนอยู่ ยังเป็นเรา เรายังไม่

    ท่านอาจารย์ ถึงเป็นตัวตน แต่ปัญญาเพิ่มได้ ความรู้ความเข้าใจเพิ่มได้ เราอย่าไป คิดว่าเมื่อมีตัวตนแล้ว ความรู้ ความเข้าใจจะเพิ่มไม่ได้ ยังมีตัวตน ตราบที่ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แต่ความรู้เจริญขึ้นได้ บางคนคิดว่าเขาทำสมาธิแล้ว เขาสบาย หรือสงบ แต่ขณะนั้นเขาไม่รู้ว่าเป็น มิจฉา หรือว่า สัมมาสมาธิ

    เพราะเหตุว่า ถ้าขณะใดก็ตามที่ทำสมาธิด้วยความต้องการ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เรื่องของปัญญา กับเรื่องของโลภะ ตรงกันข้ามกันจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องละ ถ้าเป็นเรื่องของโลภะ เป็นเรื่องติดข้อง ต้องการ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ของคนยุคนี้ สมัยนี้ ซึ่งไม่ได้ศึกษาพระธรรม ใช้คำว่า ไม่ได้ศึกษาพระธรรมจริงๆ เพราะว่าเขาจะมีแต่ความต้องการ อย่างแม้แต่ ว่าต้องการจะออกจากบ้านไปธุดงค์ อย่างคุยกับท่านหนึ่ง ท่านก็ไม่ได้มีปัญญาว่า ท่านต้องการปัญญาหรืออะไร แต่ท่านต้องการเพียงออกจากบ้านไปธุดงค์ ปัญญาไม่พูดถึงเลย เพราะฉะนั้น ยุคนี้สมัยนี้ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งสิ้น จะไม่พูดถึงปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุดงค์ เรื่องการปฏิบัติ หรือเรื่องอะไรทั้งหมด จะไม่พูดเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าศึกษาแล้วเราจะทราบจริงๆ ถึงความละเดียดของสภาพธรรม ว่าถ้าเป็นเรื่องของวิสุทธิมรรค หรือเรื่องของฝ่ายกุศล แล้วต้องเป็นเรื่องของฝ่ายกุศลที่จะทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเราชอบสมาธิ เราก็นั่งสมาธิ แล้วเราก็บอกว่า นั่งแล้วก็สบายดี จิตใจสงบ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567