ปกิณณกธรรม ตอนที่ 518


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๘

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติปัฏฐานเกิด คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะนั้นเป็นอินทริยสังวรศีล แล้วก็เป็นอธิศีล ไม่ต้องปล่อยให้มากจนถึงกับจะทำทุจริต แล้วถึงจะวิรัติ เพียงนิดหน่อยก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ศีลเป็นศีลวิสุทธิ ที่เกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ทั้ง ๕ องค์ จึงเป็น วิสุทธิ นี่ก็ขั้น ๑

    สำหรับจิตวิสุทธิ จิตในที่นี้ หมายความถึงสมาธิโดยตรง เพราะว่าถ้าหมายความถึงจิตทุกขณะเป็นไปไม่ได้ จิตทุกขณะเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์ แต่ว่าในพระสูตร เวลากล่าวถึง เจโตสมาธิ หรือจิต หรืออะไรพวกนี้ จะแสดงให้เห็นว่า มุ่งหมายถึงสมาธิโดยตรง เพราะฉะนั้น สมาธิก็มีทั้งมิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นมีเอกัคคตาเจตสิกเกิด เป็นกุศล แต่ว่าไม่ใช่ จิตวิสุทธิ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ได้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ และองค์อื่น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น แม้เอกัคคตาเจตสิกก็เป็นจิตวิสุทธิ เพราะเกิดร่วมกับ สัมมาทิฏฐิ ที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะถึงทิฏฐิวิสุทธิ ซึ่งเป็น นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปตามลำดับ แต่ต้องเข้าใจว่า วิสุทธิ หมายความว่าต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย แล้วอย่างนี้ไปนั่งไปทำ รู้สึกเหมือนกับว่าตัวลอย ตัวเบา แต่ว่าไม่มีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

    เพราะฉะนั้น ต่อไป ไม่ต้องไปแสวงหาสมาธิเลย เพราะเหตุว่าสมาธินั้นจะวิสุทธิเมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น เวลาที่สามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไรก็ได้ นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่าเป็น พละ ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา แต่ต้องเพราะปัญญารู้สภาพธรรมเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นพละ ได้ เพราะว่าถ้ายังไม่รู้จริงๆ ก็จะไม่สามารถรู้ทั่ว ระลึกไม่ทั่ว เป็นเรื่องที่อบรมจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องทำ เป็นเรื่องของกาลเวลาที่ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏก็จริง ต้องฟังให้เข้าใจ จนกว่าสติจะระลึกแล้วค่อยๆ รู้ แล้วจะไม่ห่วงใย เรื่องการทำ หรือการปฏิบัติเลย เพราะว่าถ้าเป็นการทำก็ผิด ไม่ใช่เป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องราวว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไรต่อไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง คุณถั่ว บอกว่าตัวลอย ตัวเบา เป็นเรื่องผิดปกติ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่มีสติสัมปชัญญะ แน่นอน ถ้าสติสัมปชัญญะ คือเดี๋ยวนี้ เป็นอย่างไร สามารถที่จะรู้ลักษณะนั้น ตามปกติจริงๆ จึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ เพราะว่าตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ เป็นเครื่องกั้น ไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ยิ่งเป็นหนทางที่ทำให้เรารู้ว่า ไม่ต้องไปหวัง หรือไม่ต้องไปทำ เป็นเรื่องของการอบรมความรู้ความเข้าใจขึ้น ก็เป็นหนทางที่ ตรงไปสู่ความรู้ ความเข้าใจ ไม่อย่างนั้นก็ส่งเสริมกันให้มี โลภะตลอด ถ้าไม่ใช่เป็นวิธที่จะละโลภะ ก็ต้องส่งเสริมให้มีโลภะ แต่โลภะก็ละยาก แอบอยู่ตรงนั้นบ้าง แอบอยู่ตรงนี้บ้างตลอดเวลา

    ผู้ฟัง เมื่ออบรมสติปัฏฐาน เจริญมรรค ก็หมายถึงว่า กาย วาจา เขาก็จะต้องดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ หวังหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดถึงความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ความเป็นจริง ก็คือว่า อกุศลมีแสนลึก มหาศาลมากมาย ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ถ้าเรามีสติ มีปัญญามาก เราก็คงจะดี วาจาเราก็ต้องดี อะไรเราก็ต้องดี แล้วของเก่าๆ ที่เราสะสมมาแสนเนิ่นนานนั้น อยู่ที่ไหน ไม่ต้องไปคิดถึงผลพลอยได้ใดๆ เลยทั้งสิ้น จุดมุ่งก็คือว่า เรามีความเห็นที่ถูกต้องขึ้น แล้วก็มีการรู้สภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริงที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ส่วนการที่แต่ละคน จะสะสมมามากมายมหาศาล แค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ว่า พระโสาดาบันก็มีต่างๆ กัน เพราะว่าโลภะท่านก็ยังมี โทสะท่านก็ยังมี โมหะท่านก็ยังมี ไปหวังอะไรว่าเพียงเท่านี้แล้วก็ กาย วาจา ของพวกเราทุกคนต่อไปนี้ จะดีขึ้น เป็นเรื่องของปัญญา อย่าไปคิดหวังว่า จะดีอย่างนั้น จะดีอย่างนี้ เพราะว่านั่นเป็นเรื่องหวัง ขอเพียงให้มีปัญญาเพิ่มขึ้น ให้รู้จนกระทั่งประจักษ์ แจ้งในสัจธรรม เท่านี้พอไหม หรือจะเอา ดี อย่างอื่นอีกมากมาย

    ผู้ฟัง พอ

    ท่านอาจารย์ เป็นคนดีมากแต่ไม่มีปัญญา กับเป็นคนที่มีปัญญา แต่ดีน้อยกว่าคนที่เขาไม่มีปัญญา อย่าไปหวังอะไรเลยทั้งสิ้น อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การเรียนการฟังก็เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ที่มีจริงๆ จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพื่อจุดเดียวคือ เพื่อรู้ความเป็นอนัตตา ความที่ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรม แต่ละอย่าง ถ้าไม่เรียน ต้องวิปลาสมากกว่านี้อีก แต่ขณะที่เรียนไม่วิปลาส เพราะกุศลจิตเกิด ขณะที่กุศลจิตเกิด มีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก ไม่เป็นวิปลาส น่ากลัวไหม

    โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุต มากมายมหาศาล ถ้าเราไม่ศึกษา เราจำแต่ชื่อ มี ๔ ดวง โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุต ที่ประกอบด้วย โสมนัสเวทนา ๒ อุเบกขาเวทนา ๒ เป็น อสังขาริก ๒ เป็น สสังขาริก ๒ แต่ความจริง เป็นชีวิตประจำวัน แล้วก็มีระดับที่ละเอียดมากด้วย จะหมดได้เมื่อเป็น พระโสดาบัน ดับทิฏฐิเจตสิก วิจิกิจฉาเจตสิก คราวก่อนเราพูดถึงเรื่องของโลภมูลจิต ๘ ดวง แล้วก็พูดหมดหรือยัง หรือว่าแค่ ๔ ดวง ทั้ง ๘ ดวง ย้อนต้นนิดหนึ่งได้ไหม ใครจะตอบก็ได้ โลภมูลจิต เป็นขันธ์อะไร คือถ้าไม่กลับไปหาของเก่า เดี๋ยวนานๆ ก็จะต้องมาทวน ของเก่าตั้งต้นใหม่ โลภมูลจิต เป็นขันธ์อะไร ใครที่ตอบได้ ตอบเลย วิญญาณขันธ์ โลภเจตสิกเป็นขันธ์ อะไร เป็นสังขารขันธ์ ก็เป็นเรื่องที่ว่าไม่ทิ้งของเก่า ขณะที่ฟังก็ต้องอย่าลืมของเก่าด้วย โลภมูลจิตเป็นเหตุ ใช่ไหม เป็น นเหตุ คือต้องไม่ลืม โลภมูลจิต เป็น สเหตุกะ หรือ อเหตุกะ สเหตุกะ เพราะอะไร เพราะมีโลภเหตุ คือโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต โลภเจตสิกเป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ เมื่อกี้เราพูดถึงโลภมูลจิต เป็นสเหตุกะ เพราะว่ามีโลภมูลเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วธรรมดา ของโลภมูลจิต ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็นสเหตุกะ หรือเป็น อเหตุกะ สเหตุกะ ที่ตอบว่าเป็น อเหตุกะ มีไหม ไม่มี แปลว่าทุกคนทราบว่า สเหตุกะ หมายความถึงสภาพธรรม ที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย โมหเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็น สเหตุกะ หรือ อเหตุก เป็น อะไร แน่ใจ ผัสสเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็น สเหตุกะ หรือ อเหตุกะ ผัสสเจตสิก เจตนาเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็นสเหตุกะ หรือ อเหตุกะ การศึกษาพระอภิธรรม ตายตัวใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย สภาพธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ขอให้เราเข้าใจแล้วไม่ลืม ถ้าเราพูดเรื่อง เหตุ เห-ตุ ได้แก่เจตสิก ๖ ดวง แล้วก็ธรรมอื่นนอกจากนี้ทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ จึงเป็น นเหตุ แล้วถ้าใช้คำว่า สเหตุกะ ก็หมายความว่าธรรมนั้นๆ มีเหตุ เจตสิก ๖ ประเภทนี้เกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อยก็ตาม เป็นสเหตุกะ แต่ถ้าไม่มี เหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เป็นอเหตุกะ เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เจตนาเจตสิกนั้น เป็นสเหตุกะ หรือ เป็นอเหตุกะ สเหตุกะ ทีนี้เวลาที่เป็น สเหตุกะ ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล เขาจะมีเหตุ เจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑ เหตุ หรือ ๒ เหตุ ทางฝ่ายอกุศล แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล จะมี ๒ เหตุหรือ ๓ เหตุ นี้คือความต่างกัน เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายอกุศล เราก็ต้องทราบว่า ๑ เหตุได้แก่ จิตอะไร เจตสิกอะไร เมื่อไรในเมื่อเราเรียน คำจำกัดความ ตายตัวแน่นอน แล้วเปลี่ยนไม่ได้ ทั้งพระไตรปิฎก ทั้งหมดเมื่อได้ตรัสหรือแสดงคำไหนแล้วจากการตรัสรู้ หมายความว่า ความจริงนั้นไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น อเหตุ สเหตุกะ ก็ตาม ถ้าเป็นสภาพธรรม ที่มีเหตุ ๑เหตุ เกิดร่วมด้วย ชื่อว่า เอกเหตุกะ ถ้ามี ๒ เหตุ ก็เป็น ทวิเหตุกะ ถ้ามี ๓ เหตุก็เป็น ติเหตุกะ นี่ก็เพิ่มชื่อ ภาษาบาลีเข้ามา ตามจำนวนว่า เอกะ คือ ๑ ทวิ คือ ๒ ติก็คือ ๓ เพราะฉะนั้น โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็น สเหตุกะ หรือ อเหตุกะ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็นสเหตุกะ หรือ อเหตุกะ เป็นสเหตุกะ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็นเอกเหตุกะ หรือ ทวิเหตุกะ ฟังแล้วก็คิด เปลี่ยนคำถาม โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็น สเหตุกะ หรือ อเหตุกะ เป็นอะไร สเหตุกะ เป็น เอกเหตุกะ หรือ ทวิเหตุกะ เอกเหตุกะ เพราะเหตุว่าโลภเจตสิก มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว ตัวเขาเป็นเหตุ แล้วเขามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยอีก ๑ เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึง โลภมูลจิต เป็น ทวิเหตุกะ เพราะมีทั้ง โลภะ และโมหะ ๒ เหตุ แต่ถ้ากล่าวถึงโลภเจตสิก ในโลภมูลจิต โลภเจตสิกนั้น เป็นสเหตุกะจริง แต่เป็น เอกเหตุกะ เพราะเหตุว่ามีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องตกใจว่าจะผิด จะถูก คือ ธรรม เป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นเหตุ ๑ เปลี่ยนจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย ถามว่าโลภเจตสิกในโลภมูลจิตมีเหตุ เกิดร่วมด้วยกี่เหตุ นี่คือแปล ก็ต้องตอบว่า มีเหตุเดียว คือมีโมหเจตสิก เกิดร่วมด้วย แต่ถ้าถามถึงโลภมูลจิต มีกี่เหตุเกิดร่วมด้วย ก็ต้อง ๒ เหตุคือทั้งโลภเจตสิก และโมหเจตสิก คือถ้ายกโมหเจตสิกในโลภมูลจิต เขามีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เขาเป็น สเหตุกะ แล้วถ้าถามว่า โมหเจตสิก ในโลภมูลจิต มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่เหตุ ก็ต้องตอบว่ามีเหตุเดียวคือ มีโลภเจตสิกเกิดกับโมหเจตสิก ที่เป็นเหตุ เจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยหลายดวงแต่ไม่ใช่เหตุ เพราะฉะนั้น เราจะกล่าวเฉพาะเหตุจริงๆ ถ้าพูดถึงเหตุ เพราะฉะนั้น ธรรมที่เข้าใจ เราต้องเรียนให้เข้าใจจริงๆ ไม่ว่าคำถามจะเป็นในแนวไหนก็ตาม ถ้าความเข้าใจของเรามั่นคง เราไม่เปลี่ยน คือความจริง เป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อโมหเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต เขาก็ต้องมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย แน่นอน แล้วจะให้เขาเป็น อเหตุกะ ได้อย่างไร ในเมื่อมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ต้องเป็น สเหตุกะ แล้วจะให้มีเหตุ เกิดร่วมด้วยมากกว่า ๑ เหตุได้อย่างไร ในเมื่อเขามีเพียงโลภเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมกับเขา ตัวเขาเป็นเหตุด้วย เพราะฉะนั้น ต้องละเอียด ก็ต้องแยก ถ้ากล่าวถึงโลภมูลจิต ทุกคนตอบสบายๆ เป็น สเหตุกะ เป็น ทวิเหตุกะ แต่ยังไม่พอสำหรับความเข้าใจ ต้องยกขึ้นมาให้เห็นว่า ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ แล้ว ถามถึง เจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตด้วย ถึงจะแสดงจริงๆ ว่า เข้าใจครบถ้วนหรือเปล่า ถ้ากล่าวถึงผัสสเจตสิก ที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็นสเหตุกะ หรือ อเหตุกะ สเหตุกะ เป็น เอกเหตุกะ หรือ ทวิเหตุกะ ทวิเหตุกะ เพราะว่า ผัสสเจตสิกมีทั้งโลภเจตสิก และโมหเจตสิก เกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ จึงเป็น ทวิเหตุกะ เราก็ไล่เรียงของเรากลับไปบ้าน ได้อีกตั้งหลายเจตสิก เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทริย แล้วก็อกุศลทั้งหลาย อุทธัจจเจตสิกเป็นสภาพที่ไม่สงบ จึงเป็นอกุศล แล้วก็มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย อุทธัจจเจตสิกเป็นเหตุ หรือ นเหตุ อุทธัจจเจตสิกเป็นเหตุ หรือ นเหตุ เป็น นเหตุ เป็นเอกเหตุ หรือว่า ทวิเหตุ หรือ สเหตุกะ เราคิดเรื่องอื่นเราคิดได้ แต่คิดเรื่องอื่นไม่ได้ทำให้เราเกิดสติปัญญาอะไรเลย นอกจากเกิดความติดข้อง แต่ถ้าเราจะคิดเรื่องสภาพธรรมที่เกิดกับเรา ที่มีจริงๆ แล้วก็จะได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทำไมเราต้องเรียนละเอียด แม้แต่อภิธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดมาก เมื่อกล่าวถึงจิตก็จะมีเจตสิก ก็แสดงโดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะให้ จนกว่าเราจะรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา ปัญญาต้องอยู่ที่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ยิ่งเห็น ว่าความละเอียดมีมากเท่าไร กระจัดกระจายไปกว้างขวางละเอียดที่สุดแค่ไหน ก็ยิ่งจะหาความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตนไม่ได้ แม้แต่ว่าโลภมูลจิตที่เกิดก็จะต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ โลภมูลจิต จะมีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียวได้ไหม คือมีโลภเหตุอย่างเดียวได้ไหม ไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง อกุศลสาธารณเจตสิก คือเจตสิกที่เป็นฝ่ายไม่ดี ที่ต้องเกิดกับ อกุศลจิตทุกประเภท มี ๔ แล้วก็มีโมหเจตสิก เป็นหัวหน้า จึงชื่อว่า โมจตุกะ ได้แก่ โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตัปปเจตสิก อุทธัจจเจตสิก ไม่มีใครชอบเลย อหิริกะ อโนตัปปะ โมหะ อุทธัจจะ ยับยั้งได้ไหม ต้องเกิด ตราบใดที่มีเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงความเป็นอนัตตา ว่าเราจะไม่ชอบ อกุศลได้อย่างไร ทำไมจะไม่ชอบอกุศล หรือจะชอบกุศล เพราะว่าเป็น สภาพธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อมีปัจจัยก็เกิด แต่ว่าข้อให้รู้ให้เข้าใจให้ถูกต้อง ตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตนเพราะอย่างไร ก็นี่เป็นการทวนของเก่า ตั้งแต่ขันธ์ เหตุ แล้วก็สภาพธรรม ขอถามคุณวีระว่า จิตที่ไม่มีมูลมีไหม

    ผู้ฟัง จิตที่ไม่มีมูล มีผล

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง เช่น วิญญาณจิต ทั้ง

    ท่านอาจารย์ เรียกอีกชื่อ หนึ่งได้ไหม จิตที่ไม่มีมูล

    ผู้ฟัง จิตที่ไม่มีมูล ก็เป็น อเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นความหลากหลาย ว่าเราจะเรียกว่ามูลก็ได้ เรียกว่าเหตุ ก็ได้ แต่ทีนี้จริงๆ แล้วมูล ก็คือ เหตุนั่นเอง เหตุ ๖ ก็เป็นมูล ๖ คือกุศลมูล มี ๓ หรือโสภณก็ได้ แล้วก็อกุศลมูล ๓ แต่ที่เราแยกเจาะจงไปเป็นแต่ละมูลก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า แม้อกุศลจิต ก็เป็น สเหตุกะ คือต้องมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยจริง แต่ก็มีหลายอย่าง เพราะฉะนั้น ในอกุศลจิต ๑๒ ประเภท ที่เป็นโลภมูล มีโลภะเป็นเหตุ เป็นมูลเกิดร่วมด้วย ก็อย่างหนึ่ง ที่มีโทสะเป็นมูล เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยก็อีกอย่างหนึ่ง แล้วก็ที่ไม่มีโลภะ โทสะ แต่มีโมหะเป็นมูลก็อีกอย่างหนึ่ง แต่รวมแล้ว ทั้งหมดพวกนี้ก็เป็น สเหตุกจิต คือจิตที่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย แต่พอแยกเป็นอกุศล ก็ใช้คำว่า มูล เพราะฉะนั้น มูลกับเหตุก็เหมือนกัน ได้แก่เจตสิก ๖

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเป็นมหากุศลจิตญาณสัมปยุต ดวงที่ ๑ ซึ่งมีโสมนัสเกิด ร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ต้องมีทั้ง อโลภะ อโทสะ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมาแยกเป็นมูลแบบอกุศล หมายความว่ามูลก็ได้แก่เจตสิกซึ่งเป็น เหตุ เหตุ ๖ นี้ จะไปเจอที่อื่นก็เป็นเหตุปัจจัย เหตุ อะไรทั้งนั้น แต่พอถึงอกุศล จำแนกมูลให้เห็นชัดๆ ว่าที่เป็นโลภมูล มีเท่าไรโทสมูล มีเท่าไร โมหมูล มีเท่าไร แต่ทั้งหมด คือ สเหตุกจิต พอถึงฝ่ายกุศลก็เป็น สเหตุกจิต แต่มีเหตุฝ่ายดี ซึ่งเหตุฝ่ายดี ก็ต้องเกิดแล้ว ไม่แยกออกเป็น ๑, ๒, ๓, หรือ ๑, ๒, แต่ในขณะที่กุศลจิตเกิด หรือโสภณจิตเกิดต้อง มีอย่างน้อย ๒ มูล หรือ ๒ เหตุ คือทั้ง อโลภะ และอโทสะ ถึงจะเป็นกุศลได้ จะเรียกแยกเป็นมูลๆ อย่างนั้นก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ผมก็เรียก เต็มชื่อว่า โสมนัสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ดวงที่ ๑ อสังขาริก

    ท่านอาจารย์ ทีนี้คำถามที่ ๒

    ผู้ฟัง ถามว่าในขณะที่จิตดวงนี้เกิดขึ้น จิตดวงนี้ สามารถรู้เท่าที่ปัญญาในจิตดวงนี้รู้

    ท่านอาจารย์ คุณวีระมีความสงสัย ในสภาพของปัญญาเจตสิก กับจิต

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าตามที่ทรงแสดงไว้ และลักษณะแท้ๆ ของจิต เป็น มนินทรีย คือเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างปัญญา ไม่ใช่เป็นจำอย่างสัญญา ไม่ใช่รู้สึกสุขทุกข์เฉยๆ อย่างเวทนา แต่ว่าสภาพธรรมอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้น คือสภาพของจิต ไม่ใช่ลักษณะหนึ่ง ลักษณะใด ของเจตสิกทั้ง ๕๒ เลย เจตสิกทั้ง ๕๒ ก็มีลักษณะเฉพาะของตน คือแต่ละ ๑ แต่ละ ๑

    เพราะฉะนั้น จิต จึงไม่ใช่ เจตสิก จิตมีลักษณะที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ทุกอย่าง หมายความว่ารู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่ว่าปัญญาเป็นสภาพที่มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสภาพนั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ปรากฏ ลืมแล้วว่าปรากฏกับจิต ขณะนั้นต้องเป็นจิตที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ต่างๆ แต่ว่าเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็ทำหน้าที่ของเจตสิก แต่ละอย่าง เช่น โลภะก็มีความติดข้อง หรือว่าถ้าเป็นเสียงที่ไม่พอใจ โทสะก็เกิดแล้ว กลัว หรือว่าตกใจเกิดพร้อมจิต ลักษณะของจิตเหมือนไม่ ปรากฏ มีแต่สภาพลักษณะของความพยาบาทบ้าง ความเมตตาบ้าง หรืออะไรต่างๆ บ้าง ซึ่งเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต แต่แท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมอื่นทั้งหมด ที่เป็นเจตสิกจะเกิดได้ ก็เพราะเหตุว่ามีจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้ง รู้แจ้งอย่างเดียวไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด ไม่ต้องทำอะไร นั่นคือลักษณะของจิต เพราะฉะนั้น เวลาที่ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา แล้วปัญญาก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ปัญญามีความรู้เพิ่มขึ้น แต่ว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่ปัญญารู้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567