ปกิณณกธรรม ตอนที่ 520


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๒๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ รู้จริงๆ ว่าขณะนี้ธาตุรู้มีแน่ๆ แม้ว่ายังไม่ปรากฏชัด แต่ว่ามีความเข้าใจจากการฟัง ตั้งแต่ เริ่มต้นทีเดียว ว่าเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นธาตุ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเป็นนามธาตุก็เป็นสภาพที่มีปัจจัยเกิดขึ้นเห็น เกิดขึ้นได้ยิน เกิดขึ้นรู้ เกิดขึ้นทำกิจการงาน ซึ่งเป็นลักษณะอาการของสภาพรู้ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเข้าใจจริงๆ อย่างนี้ค่อยๆ พิจารณา สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง การประพฤติปฏิบัติ การอบรมเจริญปัญญา ของเราก็จะสอดคล้องหมดทั้ง ๓ ปิฎก จะไม่มีการที่จะศึกษาอย่างหนึ่ง ปฏิบัติอย่างหนึ่ง หรือว่าเพียงแต่ท่อง จำ แต่ไม่รู้เรื่อง ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าการตั้งจิตไว้ชอบ ในการฟังพระธรรมเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้ถูกต้องจริงๆ แล้วก็จะไม่มีการคัดค้านกันเลย ขณะนี้เป็นธรรมขึ้นอยู่กับระดับของความรู้ ความเข้าใจ จากการฟัง การศึกษา การพิจารณา การเป็นพหูสูตร คือ ฟังมาก พิจารณามาก สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนี้ได้แค่ไหน ไม่ต้องมีใครมาสอบอารมณ์ เพราะว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่ รู้ด้วยตัวเอง ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ทำไมถึงยากนัก ยากหนาที่จะประจักษ์ความจริง เพราะเหตุว่าเพียงแต่ฟังเท่านั้น แล้วพิจารณาแค่ไหน แล้วก็มีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แล้วก็มีความที่จะคิดเป็นอย่างอื่น ไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม หรือไม่

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจะเห็นได้ว่า ธรรม มีอยู่ทุกขณะกำลังปรากฏ แล้วเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง ก็ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นปีๆ แต่จริงๆ แล้วย้อนไปถึงอดีต ไม่รู้ว่ากี่ชาติ ก็อาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว อย่างนี้ จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็มีความเข้าใจถูกขึ้น ว่าการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องทำ หรือว่าไม่ใช่เรื่องใครไปทำ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วก็ค่อยๆ อบรมไป ค่อยๆ พิจารณาไป เพราะเหตุว่า เมื่อปัญญาเกิด ความรู้ละความไม่รู้ แล้วก็ละสมุทัยซึ่ง เป็นความต้องการซึ่งแสนยากที่จะละได้

    เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องก็จะมารวมกันหมด ไม่ว่าเป็นเรื่องของพระเครื่อง หรือว่าพระปลุกเสก ไม่ปลุกเสก หรืออะไรก็ตามแต่ จะทำให้เราสามารถเข้าใจได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ และทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ควาามจริง เป็นอย่างไร อย่างความเห็นผิด ทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด แม้แต่เพียงขณะที่เรากำลังพูดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือกำลังฟังธรรม มีความเข้าใจผิด มีความเห็นผิด แม้เล็กน้อยบ้างไหม เป็นสิ่งซึ่งเราจะพิสูจน์ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับปัญญาที่สามารถจะเห็นสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญาไม่เห็นตรง ตรงไม่ได้เพราะว่า ไม่ใช่ปัญญา ก็เห็นผิดไป คลาดเคลื่อนไป แล้วก็ แม้แต่การศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คิดว่า เพียงท่อง หรือเพียงจำ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว จะไม่เข้าใจพระธรรมเลย

    ผู้ฟัง ขออนุญาตเสริมนิดหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสสรรเสริญว่า สัพพรสัง สัพพราโส ชินาติ สัพพราติ ธัมมราติ ชินาติ ความยินดีในธรรม เลิศกว่าความยินดีทั้งปวง ฉะนั้น การที่ได้ฟังธรรมตลอดเวลา ตลอดทุกลมหายใจเข้าออก ผมคิดว่าเป็นมงคลอันสูงสุด ไม่ทราบท่านอาจารย์เห็นด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปกติ เป็นปกติของคุณนันทวัฒน์

    ผู้ฟัง แต่ว่าในเทป ท่านอาจารย์บรรยายไว้ว่า ชีวิตของเราทุกๆ คน มีแขกเข้ามาตลอดเวลา แขกทางตา แขกทางหู แขกทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้กระทั่งแขกในตัวเรือน คือทางใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นเอาเขาใจเรื่องแขก ในเมื่อฟังแล้วก็เข้าใจจริงๆ แขกไปที่บ้าน ถูกไหม มีเจ้าของบ้าน บ้านอยู่ที่ไหน ที่ว่าจะมีแขก

    ผู้ฟัง ก็อยู่ในขันธ์ นี้

    ท่านอาจารย์ ขันธ์ไหน

    ผู้ฟัง ขันธ์ทั้ง ๕ นี้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วย เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต แต่เวลาที่มีตา มีประตูเข้าของแขก สี กระทบ ทำให้จิต สามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหูก็เหมือนกัน ก็เหมือนประตู หรือทางของแขกอีกคนหนึ่ง คือ เสียง ที่จิตจะรู้ในลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ ก็คงจะไมต้องท่องอะไรมากมาย แต่ว่าพิจารณาแล้วก็มีความเข้าใจขึ้น แล้วก็เวลานี้ในขณะนี้ ที่กำลังเห็น ต้องท่องอะไรยาวๆ ไหม ถ้าคุณนันทวัฒน์ท่องหมายความว่ามีศรัทธา ที่จะท่อง แต่ว่าอยากให้มีความเข้าใจลึกๆ ในสิ่งที่กล่าวถึงแต่ละอย่าง แต่ละคำด้วย เพราะเหตุว่าบางที ถ้าเราท่องอะไรแล้วเราขาดการพิจารณา เพราะว่าเรามุ่งที่จะท่อง อย่างเวลาที่เราจะท่องอะไรสัก ๑๐ บรรทัด เรามุ่งไปเลยที่จะให้จบ ๑๐ บรรทัด แต่เราลืมพิจารณาแต่ละคำ เพราะฉะนั้น คิดว่าถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่เรา ท่อง หรือเราพูดลึกลงไปอีกๆ ให้ละเอียดขึ้นอีก ให้ชัดขึ้นอีก ก็จะทำให้เราไม่ลืม ความเข้าใจอันนั้น ไม่ใช่เพียงไม่ให้ลืมคำที่จะพูด หรือที่จะท่อง

    ผู้ฟัง ผมอยากกราบเรียนถามท่านว่า ผมได้ฟังแล้วก็ในเทปไม่เข้าใจ เพราะว่าเทป นี้เกื้อกูลมากเวลาไม่ได้สนทนาใกล้ชิด ได้เห็นหน้าเห็นตาอย่างนี้ก็จะใช้เทปเป็นสื่อ

    ข้อความใน สังยุตตนิกาย สัททาทวรรคที่ ๗ จิตสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๘๐ และข้อ ๑๘๑ มีข้อความที่น่าสนใจอยู่ว่า เทวดาทูลถามว่า โลก อันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ จิต

    ซึ่งแม้แต่จะฟังเรื่องจิต ที่ท่านอาจารย์บรรยายในเทป เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ มีธาตุรู้คือนามธรรมซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ รู้แจ้งอารมณ์ กำลังอาศัยจักขุปสาทรูปซึ่งเป็นรูปพิเศษ รับกระทบเฉพาะสี ทำทัสนกิจเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีกเท่าไร ก็ยังไม่ ที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพที่เห็น ไม่ได้จริงๆ แม้ฟังไปกี่พันรอบ ก็ยังเหมือนเดิม คือมีเราเห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นคุณนันทวัฒน์ ที่ฟัง การฟังธรรมต้องละเอียดมาก ละเอียดที่ว่าแม้แต่คำที่เราใช้ บางทีเราอาจจะคิดว่าใช้คำไหนก็ได้ แต่ว่า เวลาที่เราใช้คำที่ไม่ถูก หมายความว่าขณะนั้น เรายังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ในขณะที่ฟังด้วย คือเรื่องที่มีในการบรรยายก็เป็นเรื่องหลากหลาย แล้วก็ฟังได้หลายอย่าง ในพระสูตรก็มี พระวินัยก็มี พระอภิธรรมก็มี แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าศึกษาธรรมเรื่อง ของพระอภิธรรมแล้ว ควรที่จะได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็น จิต หรือว่าเจตสิกหรือรูป แล้วจะทำให้เรามีความเข้าใจละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น แล้วจะไม่ใช่คำที่สับสน เคยใช้คำว่า จิตสั่ง ไหม

    ผู้ฟัง ในเทป จิตปรมัตถตลับที่ ๒ ท่านอาจารย์บรรยายไว้ว่า จิตไม่ได้สั่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณนันทวัฒน์คิดอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องตามท่าน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ อย่างนั้นไม่ได้เลย อย่างนั้นไม่ได้เลย ต้องเป็นความรู้ของตัวเอง คนที่ฟังทุกคนพิจารณา แล้วจะได้เห็นว่าถูกหรือผิดอย่างไร อย่าเพียงตาม ถ้าตามแล้ว ไม่ใช่ปัญญาของเรา เป็นแต่เพียงการเชื่อคนอื่น เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า อาจจะเคยพูดคำว่า จิตสั่ง แล้วได้ยินคำว่า จิตสั่ง แต่ว่าในความเข้าใจของคุณนันทวัฒน์เอง จิตสั่งได้ไหม นี่คือการสอบทานการฟังเกือบ ๒๔ ชั่วโมง จิตสั่งได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้ามีตัวตน ก็สั่งได้ แต่ ถ้าไม่มีตัวตน จิตไม่สั่ง

    ท่านอาจารย์ มีตัวตนได้หรือ

    ผู้ฟัง ธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตสั่งได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จิตสั่งไม่ได้เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะจิตเป็นสภาพธรรม ที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ขณะเดียวแล้วหมดไป

    ท่านอาจารย์ แล้วทำหน้าที่อะไร ลักษณะของจิต ต่างกับเจตสิกอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตมีลักษณะอย่างเดียว คือรู้อารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้อารมณ์ ในเมื่อเจตสิกอื่นๆ ทั้งหมด ๕๒ เจตสิกก็เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่ไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธาน จะเปลี่ยนลักษณะของจิตให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย จะใช้คำว่าสั่ง จะใช้คำว่าอะไรไม่ได้ทั้งนั้น จิตสั่งได้อย่างไรในเมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้น เป็นลักษณะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น แค่นั้นเองแล้วก็ดับ ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรจิตที่รู้รูป สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่าเป็นรูปาวจรจิต เป็นอรูปาวจรจิต เป็นโลกุตตรจิต จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารม์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จิตไม่ใช่เจตสิก

    ถ้าได้ยินคำอื่น อย่างนามธรรม ๕๓ หรือใครจะใช้คำอะไรก็ตามแต่ แต่เราก็สามารถที่จะมีความรู้ความเข้าใจได้ว่า เขาหมายความถึงอะไร เพราะเหตุว่าเจตสิกมี ๕๒ ลักษณะ ๕๒ ประเภท เป็นสภาพรู้ แต่จิตก็เป็นนามธรรม เหมือนกันแต่ว่าต่างกับเจตสิกเพราะเหตุว่าเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ เวทนเจตสิกเกิดขึ้น เป็นสภาพที่รู้สึก ขณะที่มีความรู้สึกโสมนัสก็เป็นลักษณะของเวทนาเจตสิก โทมนัสก็เป็นลักษณะของเวทนาเจตสิก อุเบกขาก็เป็น ลักษณะของเวทนาเจตสิก แต่จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้ง อารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งเวทนา

    นั้นๆ เกิดร่วมด้วย นี่คือการแยกลักษณะของนามธรรมออกจากกัน

    แล้วเวลาที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือความรู้ความเข้าใจถูก ตั้งแต่ขั้นของการฟัง จนกระทั่งเวลาที่สติเกิดระลึกจริงๆ ที่ลักษณะของสภาพธรรมตรงทุกอย่าง จะไม่มีการที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเลย นี่แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ตั้งแต่ขั้นของการฟัง เพราะฉะนั้น การฟังซึ่งเป็นปริยัติก็จะต้องสอดคล้องกับปัญญาระดับที่สูงขึ้นเพราะเหตุว่าเวลาที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้รู้ผิดจากนี้เลย ว่าจิตต้องเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์เพราะว่าไม่ใช่เจตสิกประเภทหนึ่ง ประเภทใดทั้งสิ้น ก็ต้องเข้าใจอย่างนี้ เวลาฟังต้องพิจารณาด้วย

    ผู้ฟัง คุณนันทวัฒน์ ใช้วิธีฟังวันละ ๒๔ ชั่วโมง เพื่อ คงจะด้ามมีดสึกเร็วๆ อย่างนี้ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คุณนันทวัฒน์คงจะเห็นประโยชน์ ของการฟัง แต่ว่าการฟังเท่านั้นไม่พอ ต้องมีการพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ให้เข้าใจละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น การฟังไม่ใช่นับจำนวนชั่วโมง หรือว่าไม่ไช่นับจำนวนปี ไม่ใช่นับจำนวนเรื่อง แม้เรื่องเดียวที่ฟังมีความเข้าใจแค่ไหน เพียงแค่ ๓, ๔ ประโยค ถ้าอย่างเป็นปัญญาของท่านพระสารีบุตร ท่านสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ ๓, ๔ ประโยคต้องมาจากการฟังเท่าไร ในประวัติของท่าน ท่านฟังเท่าไร

    ผู้ฟัง เป็นกัปๆ

    ท่านอาจารย์ กัปๆ เท่านั้น หรือเท่าไร ท่องแล้ว

    วิทยากร. หนึ่งอสงไขยแสนกัป พระสารีบุตร

    ท่านอาจารย์ หนึ่งอสงไขยแสนกัป ลองคิดถึงปี วัน เดือนแล้วลองคิดถึงกัป ก็ไม่ต้อง ไปคิด แต่ว่าเรากำลังอบรม ความรู้ ความเข้าใจ โดยความไม่ประมาท ไม่ใช่ว่าใครบอกให้ทำอย่างไร เราก็ทำ แต่ปัญญาคืออะไร ปัญญาที่รู้ เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ พอที่สติปัฏฐานจะเกิด แล้วระลึก ซึ่งจะไม่บ่อย

    ผู้ฟัง ผู้ที่ยังมีความยึดมั่น ในสิ่งเก่าๆ ที่ตัวเคยศึกษา เคยปฏิบัติ เคยทำมา แล้วก็ไม่ยอมละสิ่งนั้นโดยที่เข้าใจว่า จะเอามาต่อกับที่อาจารย์สอนอยู่นี้ มันจะป็นเครื่องกั้นไม่ให้เข้าใจธรรม มันจะเป็นอย่างนั้น ได้แค่ไหน

    ท่านอาจารย์ จะเห็น ความละเอียด ความเหนียวแน่นของตัวตน ต้องการ ต้องการ เอามารวมกันก็คือต้องการ ไม่ได้เป็นเรื่องของการเข้าใจที่จะละความเห็นผิด หรือความรู้ผิด หรือความไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ประโยชน์อยู่ที่ตั้งจิตไว้ชอบ จริงๆ

    ผู้ฟัง ผิดก็ต้องทิ้งไปเลย

    ท่านอาจารย์ เพื่อเข้าใจ เพื่อเข้าใจ ถ้าผิดก็คือไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด

    ผู้ฟัง ผมขอถามต่อ มาจาก ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร ที่ว่าไม่ควรปฏิบัติสุดโต่ง ๒ อย่าง คือกามสุขัลลิกานุโยค กับ อัตตกิลมถานุโยค คือการทำตนให้ลำบาก ถ้าเช่นนั้นผู้ที่ทำสมาธิ อย่างที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วๆ ไป พวกนี้ก็ถือว่าอยู่ในขอบข่ายของ อัตตกิลมถานุโยคได้ไหม

    วิทยากร. คือกระทำตนให้ลำบากทุกอย่าง เราก็อนุโลมว่าเป็น อัตตกิลมถานุโยค เพราะว่ามีอัตตา ตัวตนเข้าไปกระทำ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องคล้อยตาม ถึงว่า ครั้งแรกพระองค์ตรัส มุ่งถึงลัทธิภายนอก ว่าพวกที่กระทำตนให้ลำบาก คือออกบวชแล้วก็แยกตน ทำตนให้มีทุกข์ก่อน แล้วจะได้เห็นทุกขสัจจะ แต่ว่าเราศึกษาในพระพุทธศาสนา ของเราบางครั้ง เราก็เห็นพวกเรา ประพฤติปฏิบัติ คล้ายๆ ลัทธิภายนอกต้องทำตนให้ลำบากเหมือนกัน เราก็จัดว่า นี่ก็ไม่ถูกต้องเพราะว่า มีอัตตาเข้าไปกระทำตัวตนให้เป็นทุกข์ก่อน แล้วจึงเห็นทุกข์ นี่ก็ไม่สมควร เราก็มนสิการอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ คงเคยทราบ เรื่องที่ว่า ละอภิชฌา และโทมนัส สติปัฏฐาน เวลาที่เราพูดถึงการปฏิบัติลำบาก เป็นทุกข์ อย่างการทรมานตัวเองต่างๆ เป็นโทสะ ส่วนการที่เวลาเราเพลิดเพลินไป หรือว่าต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่า เรื่องของความเพลิดเพลินต่างๆ ก็เป็นเรื่องของการติดข้อง เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงความติดข้อง เพียงเล็กน้อย ก็ต้องจัดว่าเป็นฝ่ายของโลภะ หรือว่าการที่ทำให้ตัวเองเกิดทุกข์โทมนัสต่างๆ ก็ต้องเป็นเรื่องของฝ่ายโทสะ

    แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐานจริงๆ ละอภิชฌา และโทมนัส หมายความว่าขณะนี้สภาพธรรม กำลังปรากฏ ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครทำได้ อาจจะมีความคิดว่า เราทำให้เกิดขึ้น แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป อะไรๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ทั้งนั้น แม้แต่สภาพของจิตที่เราคิดว่าเราทำให้เป็นอย่างนั้น แต่ความจริง เราไม่มี ถ้าไม่มีเจตสิก จิตก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดตามเหตุตามปัจจัย จริงๆ ถ้าขณะใดเป็นทุกข์ หรือโทมนัส เพราะเหตุว่ามีความต้องการที่จะให้เป็นทุกข์ โทมนัส ก็ต้องเป็น เพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อความไม่รู้มี ก็เข้าใจผิด มีการประพฤติปฏิบัติต่างๆ แต่ถ้าเป็นความถูกต้องก็คือว่า มีความเข้าใจถูกว่าสภาพธรรมทุกอย่าง ทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงไม่มีความติดข้อง ละ อภิชชา ที่จะไปต้องการทำอย่างหนึ่ง อย่างใด ไม่ว่าจะทำให้เป็นทุกข์ หรือว่าทำให้เป็นสุขอย่างหนึ่ง อย่างใดก็แล้วแต่ เพราะรู้ควาามจริงว่าทำไม่ได้ สภาพธรรมขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงว่าเป็นธรรม จึงเป็นอย่างนั้น เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น นี่คือละอภิชฌา ถ้าขณะนี้ คนที่อาจจะมีอกุศลจิตเกิด ไม่ดีเลย แล้วก็เกิดไม่ชอบ อกุศลจิตนั้น ขณะนั้นก็ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า อกุศลจิตนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงละทั้งอภิชฌา ต้องการสิ่งอื่น ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ ที่จะให้รู้ความจริง ละโทมนัสคือไม่มีโทมนัสในสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ต้องการที่จะไปหาอย่างอื่น เพราะว่าสติปัฏฐาน สามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องคิดเลย ว่าผ่านไปแล้วกี่ขณะสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยที่ว่าสติระลึก ไม่มีความต้องการอารมณ์อื่น แล้วก็ไม่มีโทมนัส คือ ไม่ต้องการอารมณ์ที่ปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็มาจากจุดนี้ แล้วก็แล้วแตว่าจะขยายไปเป็นโทมนัสโดยการประพฤติปฏิบัติอย่างไร หรือว่าจะเป็นอภิชชา ความติดข้องต้องการ โสมนัสโดยการประพฤติปฏิบัติอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้เท่าทันกุศล อกุศล เกิดความรู้เท่าทัน รู้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่รู้เท่าทัน ไม่ต้องทัน หมายความว่าขณะนี้ มีสภาพธรรม อะไร ไม่ต้องคิด ว่าผ่านไปแล้วกี่ขณะ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ต้องไปคิดว่า ไม่ทันแล้ว

    ผู้ฟัง ในกรณีที่โทสะ เกิดขึ้นเป็น อกุศล ขณะนั้น รู้ เท่าทันว่ากำลังโกรธ ขณะนั้นมีสภาพ อกุศลเกิด จะสงบระงับอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าหาอุบาย ถ้าหาอุบายแล้วจะไม่ใช่สติปัฏฐานเลย มีความเป็นเรา คำถามบางทีจะแสดงถึงความเป็นเราที่ลึกมาก ถ้ายังคงต้องการอุบายอยู่ ขณะนั้นหมายความว่า ยังมีความเป็นเราอยู่แน่นอน แต่ว่า ธรรม คือ การรู้ความจริง ขณะนี้คุณนันทวัฒน์เห็นไหม แล้วจะต้องไปนึกถึงผัสสะ อะไร หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ผัสสะ กระทบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ ก็กำลังเห็น ทำไมต้องไปคิดถึงผัสสะกระทบ

    ผู้ฟัง มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ ขณะที่เห็น ไม่มีอะไรเลย นอกจากสภาพที่เห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ อย่างอื่นไม่มีเลย การศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นสภาพธรรม ๒ อย่าง สภาพรู้มีแน่นอน ขณะที่กำลังเห็น เราฟังอย่างนี้ แต่กว่าเราจะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่าลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สีสันวัณณะ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏนั้น เป็นอย่างไร ที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นในขณะที่เห็น จนกว่าจะรู้ว่าลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปนึกเรื่องผัสสะ แล้วก็ไม่ใช่ว่าทำอย่างไร แต่เป็นการเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจก่อน ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเข้าใจความหมายของคำว่า ธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ที่กำลังรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใด

    โทสะ ถ้ายังมีเหตุปัจจัย คือมีเชื้อที่จะเกิด ก็ต้องเกิด ที่จะไม่ให้เกิดเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะมีปัญญาถึงระดับขั้นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น ที่จะหาอุบายนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ จากที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ก็ไม่ใช่หนทางที่จะไม่ให้มีโทสะ เพราะว่าคำถามแสดงว่าไม่ชอบโทสะ ไม่อยากมีโทสะ ทำอย่างไร พยายามที่ว่า ถ้ามีวิธี ก็จะได้ทำ แต่ตามความเป็นจริง ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล ยังมีเชื้อของโทสะ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องทีโทสะ คนที่ไม่มีโทสะไม่มี เพราะว่า ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ต่อเมื่อใดเป็นพระอนาคามีบุคคล จึงไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าหาหนทางจริงๆ ซึ่งไม่ใช่อุบาย หรือภาษาบาลี อาจจะใช้คำว่า อุปายะ คือ ความฉลาดที่จะรู้ความจริงว่า สิ่งที่เกิด ที่เป็นโทสะจะหมดสิ้นไปได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ฉลาด ที่จะรู้ว่าถ้าจะหมดก็ต้องเป็นพระอนาคามี

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ต้องรวมถึง โลภะ

    ท่านอาจารย์ โลภะ ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ โมหะก็ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง อันนั้น ต้องรวมทั้ง โลภะ โทสะ โมหะ

    ท่านอาจารย์ การดับกิเลส ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ถ้ายังคงมีเรา ไม่มีทางเลยซึ่งกิเลสจะหมด เพราะว่ากิเลสมากมายมหาศาล แม้ว่าจะเป็น อกุศลเจตสิกเพียง ๑๔ ประเภท แต่ว่าเกิดดับสะสมสืบต่อมาในสังสารวัฏฏ์ มากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสได้จริงๆ กิเลสที่ดับก่อนก็คือ มิจฉาทิฏฐิ หรือสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ายังมีเรา ถ้าหมดความเห็นผิดว่ามีเรา หมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระโสดาบันบุคคล ยังมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ คิดถึงความจริง ท่านเป็นผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่สงสัยในลักษณะของนิพพาน ไม่สงสัยในลักษณะของอริยสัจทั้งหมด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567