ปกิณณกธรรม ตอนที่ 521


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๒๑

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ ถ้าหมดความเห็นผิดว่ามีเรา หมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระโสดาบันบุคคล ยังมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ คิดถึงความจริงว่า ท่านเป็นผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่สงสัยในลักษณะของนิพพาน ไม่สงสัยในลักษณะของอริยสัจทั้งหมดว่า ทุกขสัจ คือ สภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ซึ่งมีโลภะ ความติดข้องเป็นเหตุ แล้วก็มีหนทางปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งนิพพานซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลส ท่านไม่มีความสงสัยเลย ท่านยังมีโทสะ แล้วคนที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะไม่มีโทสะได้อย่างไร แม้ว่าเป็นพระโสดาบัน ยังต้องอบรมเจริญปัญญา ถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคล รู้แจ้งอริยสัจธรรมอีก ก็ยังมีโทสะ แม้ว่าเป็นพระสกทาคามีบุคคลแล้ว จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมอีกขั้น ๑ เป็นพระอนาคามีบุคคล ถึงจะไม่มีโทสะ

    ผู้ฟัง ตามที่กล่าวว่า รูป และนาม จึงเป็นตัวตน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตไม่มีเจตสิก รูปก็ไม่มีอะไรในโลกนี้ ถ้ามีแต่รูปอย่างเดียว ไม่มีจิต เจตสิก ก็ไม่มีการเห็นการได้ยิน ไม่มีความเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อมีจิต เจตสิกในภูมิที่มีรูปด้วย เมื่อจิต เจตสิก รูป เกิด ก็เป็นร่างกายของเรา แล้วก็เป็นเราที่สุข ที่ทุกข์ ที่เห็น ที่ได้ยิน เพราะถือ จิต เจตสิก รูป เป็นเรา หรือของเรา

    ผู้ฟัง ตามที่พระพุทธเจ้า ได้กล่าวไว้ว่า กงล้อนี้จะหมุนได้ด้วยดุมล้อ ถ้าดุมล้อหยุดเมื่อไร กงล้อนั้นก็จะหยุดทันที ชีวิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อรูปกับนามแยกกันเมื่อไร หมายถึงว่าก็หมดสภาพไป เช่นเดียวกับกงล้อที่หยุด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมโดยเด็ดขาด แยกกัน เพราะเหตุว่า รูปทั้งหมดไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ส่วนนามธรรมก็คือจิต เจตสิก เวลานี้แม้ขณะนี้ รูปธรรมก็เป็นรูปธรรมเท่านั้น นั่นเอง นามธรรมก็เป็นจิต เจตสิก แยกกันอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อปัญญายังไม่เห็นตามความเป็นจริง ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมก็ยังรวมกันเป็นเรา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นามธรรมก็ไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม แยกกันอยู่ เช่น รูปภายนอกซึ่งไม่มีจิตใจ ไม่มีจิตเกิดด้วย เช่น ป่า ดอกไม้ ต้นไม้ ภูเขา ก็เป็นรูปซึ่งเกิดดับ

    แต่ว่ารูปที่ตัวแม้ว่าจะมีจิตเกิดที่รูปนี้ รูปก็ยังคงเป็นรูป ก็ยังคงเกิดดับ เป็นรูปอยู่นั่นเอง ซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะยับยั้ง รูปไม่ให้เกิด เมื่อมีสมุฏฐานให้รูปเกิด เพราะว่าสมุฏฐานให้รูปเกิด มีกรรมเป็นสมุฏฐาน มีจิตเป็นสมุฏฐาน มีอุตุเป็นสมุฏฐาน มีอาหารเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดขึ้นจะต้องเกิดจากสมุฏฐาน ๑ สมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน

    ส่วนจิต เจตสิก ก็เป็นธาตุที่วิจิตรมาก คือทันทีที่จิตมีปัจจัยเกิดแล้วดับ ก็เป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิต เจตสิก ขณะต่อไปเกิด ยับยั้งการเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมไม่ได้ เพราะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ปัญญาที่รู้ความจริง ก็จะค่อยๆ ดับกิเลสไป จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ดับทั้งโลภะ และโมหะด้วย ซึ่งโทสะก็ดับตั้งแต่เป็นพระอนาคามีบุคคล กิเลสอื่นดับหมดเมื่อไร ไม่มีปัจจัยที่จะให้นามธรรม คือ จิต เจตสิก เกิด ส่วนรูปธรรมก็แล้วแต่ ถ้าเป็นรูปซึ่งเกิดจากกรรมก็ไม่มีที่จะเกิดอีก รูปที่เกิดจากจิตก็ไม่มีที่จะเกิดอีกต่อไป รูปที่เกิดจากอาหารก็ไม่มีที่จะเกิดอีกต่อไป ก็ยังคงมีแต่รูปซึ่งเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เป็นไปตามสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ในเทปปัฏฐาน ปัจจัย ๒๔ ตลับที่ ๑๙ หน้า เอ ท่านอาจารย์บรรยาย ยกตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องของ โทษของผัสสะ ท่านได้บรรยายโดยยกเอาพระพุทธพจน์ ที่พระองค์ทรงตรัสอุปมาเปรียบเทียบ โทษของ ผัสสาหาร ซึ่งนำมาซึ่งเวทนา ๓ ไว้ว่า ภิกษุใดเห็นโทษภัยของผัสสาหาร เปรียบอุปมาเหมือนกับแม่โค ที่ถูกถลกหนังตั้งแต่ต้นคอ ไปจนถึงเล็บตีน อรรถกถาใช้คำนี้ แล้วก็ถูกบรรดาแมลงวันต่างๆ หรือว่าแมลงเล็กๆ รบกวนตลอดเวลา ที่ทรงอุปมาอย่างนี้ ไม่ทราบ ไม่เห็นโทษ เพราะว่ามันเกิดได้อย่างไร คือโทษเป็นอย่างไร ขอท่านอาจารย์ ช่วยอธิบายขยายความให้สักนิด

    ท่านอาจารย์ โทษของธรรมทุกอย่างคือไม่เที่ยง สั้นแสนสั้น เพียงมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน สำหรับเวทนาก็เกิดกับจิตทุกขณะ ห้ามไม่ได้ ต้องเกิดเพราะเหตุว่าเมื่อมีผัสสเจตสิก กระทบก็เป็นปัจจัยให้รู้สึก ในอารมณ์นั้น ซึ่งก็จะต้องรู้สึกไปตลอดกี่ภพกี่ชาติก็รู้สึก แล้วความรู้สึกก็แสนสั้น เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็เฉยๆ เท่านั้นเอง ตลอดไป

    ผู้ฟัง ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ ไม่เที่ยง

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าในครั้งก่อนที่พระองค์ ตรัสรู้ พวกพราหมณ์ต่างๆ พวกฤาษี เขาก็มีการพูดถึงกฏทั้ง ๓ คล้ายๆ ไตรลักษณะคือมีเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง แล้วก็ อัตตา ทีนี้พระองค์มาทรงตรัสรู้ พระองค์มาทรงประกาศ ธรรม คือ ความเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตนในภายหลัง ถ้าหากกล่าวว่าการได้เห็น อนิจจัง เห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทั้งหลาย จะน้อมไปสู่การได้เห็น ทุกขสัจ อย่างนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ต่างของพระพุทธศาสนา กับศาสนาอื่น คือ อนัตตา เพราะฉะนั้น ไม่เที่ยง คุณนันทวัฒน์ก็รู้ เกิดมานี่เที่ยงหรือเปล่า จนถึงเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ความคิดในตอนเป็นเด็ก กับตอนขณะนี้ก็ต่างกันแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ยังเป็นคุณนันทวัฒน์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องถึง ความเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง อันนี้ดิฉันก็คิดอย่างนั้นด้วยว่า มีความรู้สึกว่าสติเกิด จะรู้ลักษณะที่ต่างกันจริง ในทำนองเดียวกัน อุเบกขาเวทนาก็เป็นเหมือนกัน แต่อุเบกขาเวทนา ลักษณะจะต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความรู้ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เวลาที่เราพูดถึงเรื่องของเวทนา หรือว่าเราจะพูดถึงเรื่องของโทษของอกุศลต่างๆ เรารู้ตามที่ทรงแสดง แต่เราเห็นโทษจริงๆ หรือเปล่า อย่างโลภะอย่างนี้ เราบอกได้ว่าไม่ดีเลย เป็นโทษ แต่เราเห็นโทษอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า นี่เพียงอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้น เวทนาซึ่งละเอียดกว่าเพราะเหตุว่าเกิดกับจิตได้ทั้งที่เป็นอกุศล และกุศล ทั้งๆ ที่โลภะ เป็นอกุศล เราก็เพียงพูดตาม แล้วก็การที่จะเห็นโทษ ต้องเห็นตามลำดับ ของความรู้คือปัญญาด้วย ถ้าเราเพียงแต่ฟังมาเห็นว่าโลภะเป็นโทษ ก็เพียงเข้าใจแค่นี้เอง แต่เราก็ยังชอบโลภะ

    เวลาที่เป็นพระโสดาบันบุคคล รู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้ว่าเป็น นามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ว่าการเห็นโทษของโลภะ ไม่เหมือนของผู้ที่เป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าปัญญาต้องตามลำดับขั้น ขั้นแรก สำหรับคนที่เป็นปุถุชน อาจจะไม่เห็นโทษของการที่ยังติดข้อง ยึดถือนามรูปว่าเป็นเรา แต่ว่าการที่เรามาศึกษาเพื่อให้เห็นให้เข้าใจในเบื้องต้นว่า นามธรรมไม่ใช่เรา รูปธรรมไม่ใช่เรา สิ่งที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา เป็นเพียง นามธรรม และรูปธรรม นี่คือการที่จะค่อยๆ เห็นโทษของความไม่รู้ แต่ว่าอกุศลทั้งหลายก็ยังมี ยังไม่ก้าวไปถึงการที่จะเห็นโทษของโลภะ หรือ โทสะ แต่ว่าเริ่มที่จะเห็นโทษของโมหะ คือความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงมีการศึกษา มีการฟัง มีการอบรมเจริญความรู้ขึ้นเป็นสังขารขันธ์ จนกว่าสติจะเริ่มระลึก แล้วก็เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเป็น วิปัสสนาญาณที่ประจักษ์ โดยสภาพธรรมนั้นปรากฏอย่างนั้น แต่อย่างนั้นก็ยังไม่เห็นโทษของโลภะ โทสะ ก็แสดงให้เห็นว่า เราจะต้องจากความเป็นปุถุชน อบรมเจริญปัญญามากสักแค่ไหน จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้วก็ยังเพียงแต่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่เราจริงๆ เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นรูปธรรม แล้วก็เกิดดับ แล้วก็ลักษณะของนิพพานนั้นก็เป็นธาตุซึ่งดับกิเลส แต่กิเลสก็ยังมีอยู่ เพราะว่า ยังดับหมดเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการอบรมเจริญปัญญาต่อไป ในการอบรมเจริญปัญญาต่อไป ก็ต้องตามระดับขั้น อย่างพระโสดาบัน ท่านก็เห็นความเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมทั้งหมด เวลาที่สภาพธรรม ที่เป็นอกุศลปรากฏ ท่านเริ่มพิจารณาแล้วค่อยๆ เห็นโทษ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะละได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นการอบรมตามลำดับขั้น หรือแม้แต่เวทนาซึ่งจะเกิดกับกุศล หรือ อกุศล ท่านก็ยังเห็นความต่างกันว่า เวทนาที่เกิดกับกุศล หรือ อกุศล ก็ยังไม่ใช่ประเภทเดียวกัน หน้าที่อย่างเดียวคือ ศึกษาให้เห็นความต่างกันจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรม จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดรู้ที่เวทนาที่เกิดกับโลภะ กับเวทนาที่เกิดกับกุศล จะมีความต่างอะไรกันไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมต่างกันอยู่แล้ว แต่เป็นเราทั้งหมด

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า ถ้าเกิดเป็นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมต่างกันอยู่แล้ว แต่เป็นเราทั้งหมด เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะฉะนั้น เมื่อสติปัฏฐาน เริ่มเกิด ก็ไม่ว่าสภาพธรรมใด ก็เป็นนามธรรม ศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าถึงความเป็นนามธรรม หรือธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ ให้เห็นจริงๆ ว่าไม่ใช่เราก่อน ไม่ใช่ไปเห็นตามตำราว่า โลภะเกิดกับโสมนัส หรือว่าโสมนัสเกิดกับกุศล ต่างกันอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ว่าขณะนั้นเป็นเราที่คิด เป็นเราที่พยายามไตร่ตรอง เป็นเราที่พยายามจะให้เห็นความต่างกันของโสมนัสเวทนาที่เกิดกับอกุศล และกุศล แต่นั่นไม่ใช่ ขั้นแรกไม่ใช่อย่างนั้น ขั้นแรกเพราะว่าเหตุว่า ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แม้มี แม้เป็นนามธรรมจริงๆ รูปธรรมจริงๆ แต่ความไม่รู้ปิดบังหมด จนกระทั่งไม่เห็น ว่านามธรรมแท้ๆ ต่างกับรูปธรรมอย่างไร ยังมีความสงสัยแม้ว่าจะได้ฟังแล้ว แต่เมื่อสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏ ก็จะหมดความสงสัยไม่ได้ จนกว่าสภาพธรรมนั้นจะปรากฏ แล้วปัญญายังต้องอบรมเจริญต่อไป เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณก็มีหลายขั้น

    ผู้ฟัง เป็นเพราะว่าได้ศึกษาในพุทธพจน์ ที่ตรัสว่า ให้เจริญสัมมัปปทาน ๔ คืออกุศลที่เกิดแล้วก็ระงับไม่ให้เกิดขึ้น หรืออกุศลที่ยังไม่เกิด ก็พยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก ยังมีความเป็นตัวตน มีความเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราก็รู้เลย ตัวตนลึกแค่ไหนแล้วก็โลภะ มากแค่ไหน เพื่อตัวตนนี้ แต่ว่าการศึกษาพระธรรมเพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ไม่มีตัวตน ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ถ้ามีสภาพของอกุศลธรรมเกิดขึ้น ก็เห็นด้วยความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่ตัวตน ทำไมไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ อยากจะทำอยากโน้นอยากนี้อีกต่อไป ในเมื่อรู้แล้วว่าสภาพธรรม มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ถ้ามีเหตุปัจจัยของอกุศล แล้วจะให้กุศลเกิดได้ไหม ถ้ายังมีเหตุปัจจัยของอกุศลอยู่

    ผู้ฟัง เหตุต้องสมควรกับผล

    ท่านอาจารย์ อกุศลก็ต้องเกิด แต่ว่าถ้ามีการฟังเข้าใจ ก็มีการอบรมเจริญความรู้ใน ลักษณะของอกุศลที่กำลังปรากฏ แต่ไม่อยากรู้ อยากไม่มี แล้วเป็นไปได้ไหม ต้องรู้ก่อน ไม่ใช่อยากไม่มี แต่ไม่อยากรู้

    ผู้ฟัง ถ้าผมใช้คำว่า สร้างเหตุด้วยการอบรมเจริญปัญญา ตลอดทุกลมหายใจเข้าออก

    ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ไหม เอาอย่างนี้ดีกว่า โลกของความจริง กับ โลกของความฝัน เรามีปัญญา ระดับขั้นที่ว่า สามารถที่จะเกิดทุกลมหายใจหรือเปล่า ในเมื่ออกุศลในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา แม้แต่วันนี้ ตั้งแต่เช้า มีเหตุปัจจัยของอกุศล เพิ่มขึ้นอีกเท่าไร แล้วเราก็จะให้มีกุศลทุกลมหายใจเข้าออก เป็นความฝันหรือว่าเป็นความจริง

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องที่เหลวไหล

    ผู้ฟัง สำหรับตัวดิฉันเอง เวลาที่สติเกิด ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐาน เกิดระลึกถึงสิ่งที่เป็นธรรม ดิฉันจะยกมือไหว้ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ซึ่งก็คิดว่าไม่ถูกเหมือนกัน คิดว่ามันต้องมีอุปกรณ์ แต่ถ้าเผื่อว่าเวลาที่มัน สติเกิด ยกมือไหว้ รู้สึกมันเป็นบุญที่เป็นต่อ ท่านอาจารย์ว่า มันก็ไม่ควรทำอย่างนี้อีก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่วิจิตรมากจริงๆ แม้แต่ใครจะยกมือตอนไหน บางคนก็ยกมือตอนฟังพระธรรมจบก็ยกมือ ก็แล้วแต่คน แต่ให้ทราบว่าขณะนั้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่สามารถจะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน ถึงแม้ว่าเราจะเรียนว่าจิตทั้งหมด มี ๘๙ ชนิด โดยพิเศษ ๑๒๑ ประเภท แต่ว่าเราเรียนเรื่องราว แต่เรายังไม่สามารถที่จะแยกได้จริงๆ หรือว่ารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า จิตชนิดนี้เกิด และจิตชนิดนั้นเกิดต่อ เมื่อจิตชนิดก่อนดับไป เพราะฉะนั้น การเรียนก็มีประโยชน์ ที่จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ว่าไม่มีใครสร้าง แล้วแต่ปัจจัย เช่น อนันตรปัจจัย จิต เจตสิกทั้งหมด เป็นอนันตรปัจจัย เวลาที่จิต เจตสิกดับลงไปพร้อมกัน ก็เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก ขณะต่อไปเกิด ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้เลย ใครจะไม่อยากเกิด ก็ช่วยไม่ได้ ใครคิดว่าตายแล้วไม่ต้องเกิดก็ช่วยไม่ได้อีก เพราะเหตุว่า จิต เจตสิก เป็นนามธาตุ เป็นธาตุซึ่งเป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตรปัจจัยที่ เมื่อดับแล้วก็ทำให้จิต เจตสิกต่อไปเกิด แล้วก็เป็นโดยสมนันตรปัจจัยตามลำดับด้วย ตามที่ผู้ที่ตรัสรู้ สามารถที่จะทรงแสดงให้เห็นได้ว่า เมื่อจิตขณะนี้ ประเภทนี้ ดับแล้ว เป็นอนันตรปัจจัย และเมื่อทำให้จิตขณะต่อไปเกิด ต้องโดย สมนันตรปัจจัย ด้วยว่าไม่ก้าวก่าย ไม่สลับ แล้วก็ต้องเป็นไปตามการสืบต่อด้วยดี ที่เป็นปัจจัยด้วยดีที่ให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าการเรียนทั้งหมดเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ยิ่งเข้าใจก็ยิ่งรู้ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะทำ แต่ว่าสามารถที่จะศึกษา พิจารณาจนเข้าใจได้

    ผู้ฟัง โสมนัสเวทนาที่เกิดกับกุศล และเกิดกับอกุศลที่แตกต่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เหนื่อย หรือต้องการ แล้วก็ไม่ได้ หรืออยากจะได้ แล้วก็ความรู้สึกไม่สบายเกิดขึ้น ขณะนั้นจะเป็นโลภะไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเวทนากำกับจิตทุกดวง เวลาที่ศึกษาเรื่องจิต จิตเป็นสภาพที่รู้ยาก เห็นยาก เพราะเหตุว่าจิตเป็นเพียงแต่ธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งที่ปรากฏ คือ อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใดเท่านั้น จิตไม่ทำอะไรเลย จิตไม่ได้รู้สึก จิตไม่ได้จำ อะไรทั้งหมด เป็นเรื่องของเจตสิกอื่นๆ ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงยากที่จะรู้ว่าเป็นจิตชนิดใด เพราะเป็นสภาพที่เพียงเกิดขึ้น เป็นธาตุรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะได้ยิน จิตรู้เสียง ถ้าจะจำ ชอบหรือไม่ชอบ นั่นไม่ใช่จิตแล้ว ต้องเป็นเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกขาดจากกันโดยปรมัตถธรรมว่ามี ๔ คือ จิตเป็นปรมัตถธรรม ๑ แยกจากเจตสิกซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ๑ แยกจากรูปซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ๑ แล้วก็นิพพานซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ๑ รวมแล้ว ๔ อย่างจะรวมกันไม่ได้ จิตจะรวมกับเจตสิกเป็นอย่างเดียวไม่ได้ จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก

    การที่เราศึกษาเรื่องจิต จะแสดงไว้ด้วย ว่าจิตแต่ละขณะมีเวทนาเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย เช่น อุเบกขา หรือ อทุกขมสุขเวทนา แปลตรงๆ คือ ไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นสภาพที่ไม่ใช่โทมนัส ไม่ใช่โสมนัส จะเกิดกับจิตประเภทไหน บางคนเขาจะบอกว่าเขาไม่มีโลภะ วันนี้เขาไม่ได้ต้องการอะไร นั่นหมายความว่า เขาไม่รู้ว่าลักษณะของจิต ซึ่งเป็นโลภมูลจิต ที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ความรู้สึก อทุกขมสุข มีอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งไม่รู้เลยว่า นั่นเป็นจิตประเภทที่เป็นอกุศล ซึ่งมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น การศึกษาจะทำให้เรารู้จักสภาพธรรม ซึ่งเราเคยยึดถือว่าเป็นเราได้ถูกต้อง โดยที่ว่าแสดงตามความเป็นจริงได้ว่า จะกล่าวว่าไม่มีโลภะ เพราะเหตุว่า ไม่ต้องการอะไร ไม่ได้ เพราะเหตุว่าลืมตาขึ้นมาขณะนั้น ถ้าเวทนาไม่ใช่โทมนัสแล้วก็รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

    ชื่อต่างๆ ในพระไตรปิฎก ดูเหมือนว่ายาก หรือว่าดูเหมือนไม่สำคัญ เหมือนกับไม่รู้ก็ได้ ความจริงไม่ใช่เลย ทุกอย่างที่แสดงไว้ เพื่อประโยชน์ คือเพื่อให้เราสามารถที่จะรู้สภาพธรรม ที่เป็นจริงในขณะนั้น แล้วเห็นความไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องเริ่มจากการที่จะรู้ว่าจิตมีประเภทต่างๆ อะไรบ้าง แล้วก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะกล่าวไม่ได้เลย ว่าวันนี้ไม่มีโลภะ แต่จะกล่าวตรงกันข้ามว่าวันนี้โลภะมากมาย โทสมูลจิต หรือว่าโทมนัสเวทนาน้อยกว่า บางคนก็จะพูดถึงคนหนึ่ง คนใดโดยส่วนรวม เขาเป็นคนดี เขา เป็นคนดี แต่ถ้าพูดโดยขณะจิต ต้องเป็นผู้ตรงว่าขณะจิตไหนดี ขณะจิตไหนไม่ดี ปรมัตถธรรม คือสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ซึ่งละเอียดมาก อย่างที่คุณสุรีย์ถามเรื่องของโสมนัสเวทนาที่เกิดกับอกุศลจิต คือโลภมูลจิต จะไม่เกิดกับโทสมูลจิตเลย โสมนัสเวทนาจะเกิดกับโทสมูลจิตไม่ได้ จะเกิดได้กับโลภมูลจิตที่เป็นอกุศล หรือกุศลที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส คือ กุศลระดับกามาวจร ก็มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย หรือว่ากุศลที่เป็นมหคตก็มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย หรือกุศลที่เป็นโลกุตตระก็มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าโสมนัสเวทนาจะรู้ไม่ได้ว่าเป็น กุศล หรือเป็นอกุศล เพราะเหตุว่ามีเจตสิกที่เป็นอกุศลเกิดร่วมด้วย โสมนัสเวทนานั้นต้องเป็นอกุศล เพียงแต่ว่าผู้นั้นไม่สามารถที่จะเห็นความเป็นโทษ หรือความเป็นอกุศลของโสมนัส เช่น โลภมูลจิต ถ้าเกิดร่วมกับอุเบกขาก็เท่านั้นเอง ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าถึงกับมีโสมนัสเวทนาเกิดแทนอุเบกขาเวทนา ก็จะเห็นได้เลยว่าเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงแต่ติดข้องด้วยความเป็นอุเบกขา อย่างรับประทานอาหารเมื่อกี้นี้ อร่อยไหม ขณะที่รู้สึกอร่อย หรือชอบ เพราะบางคนคงจะชอบทุเรียน พอเห็นทุเรียน หรือรับประทานรสทุเรียน ดีใจโสมนัส แต่ลักษณะของความรู้สึกโสมนัส ไม่ใช่ลักษณะของปิติเจตสิก มีความใกล้เคียงกันมาก ที่เราใช้คำว่า รู้สึกปิติบ้าง หรือว่ารู้สึกโสมนัสบ้าง แต่ปิติเป็นสภาพที่ตื่นเต้น คือ ถ้าเกิดกับอกุศลที่เราใช้คำว่า ดีใจ เวลาที่ดีใจเราตื่นเต้นไหม นั่นคือลักษณะของปิติ แต่โสมนัสเป็นความรู้สึกที่ดีไม่ใช่เสียเป็นโสมนัส ไม่ใช่โทมนัสไม่ใช่ทุมนัส แต่เป็นสุมนัส เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพที่มีความรู้สึกสบาย หรือดี แต่ถ้าเป็นลักษณะอาการของปิติเราก็ จะรู้สึกตื่นเต้น อย่างถ้าสมมติว่าใครมีลูก แล้วก็สอบได้เกียรตินิยม เขาจะรู้สึกตื่นเต้นขณะนั้นก็เป็นปิติ แล้วเวทนาที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นโสมนัส แต่ก็ต้องแยกกัน แต่ในขณะที่ดีใจลูกสอบได้ จะเป็นกุศลได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็พอจะเริ่มเข้าใจได้ ว่าส่วนใหญ่ โสมนัสของเราเป็นไปในกุศล หรือเป็นไปในอกุศล แต่ว่าถ้าเป็นไปในกุศลก็มี ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็รู้สึกว่า เป็นสิ่งที่หายากในชีวิตที่จะมีโอกาสได้เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ขณะนั้นก็จะมีความรู้สึกดีใจ หรือว่าโสมนัสก็ได้ แต่ว่าเวลาที่เป็นโสมนัสทางฝ่ายกุศล จะไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะแยกได้ ว่าถ้าเป็นเรื่องอื่น เป็นโสมนัสที่เป็นอกุศล ส่วนใหญ่ในชีวิตที่จะสังเกตได้ ลองถามว่าวันนี้ดีใจอะไรบ้าง เรื่องที่ตามมาก็เป็นอกุศลส่วนใหญ่ มีไหม ที่จะเป็นโสมนัสที่เป็นกุศล ก็คงจะน้อยกว่า นี่ก็แสดงให้เห็นว่าในขณะที่โสมนัสเวทนาเกิด ไม่ถึงกับจะต้องหัวเราะใหญ่ เพียงแต่ต่างจากอุเบกขาเวทนาเท่านั้น ก็เป็นลักษณะของโสมนัส เพราะฉะนั้น โสมนัสเวทนาเกิดกับพระอรหันต์ด้วย ไม่ใช่ไม่เกิดแต่พระอรหันต์ไม่มีที่จะหัวเราะเสียงดังๆ ตัวโยกน้ำตาไหล แต่ว่าพียงแต่มีความเบิกบานโสมนัสเกิดขึ้นใน ขณะนั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567