ปกิณณกธรรม ตอนที่ 539


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๓๙

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ แม้แต่ในขณะนี้เอง ขณะนี้เป็นกุศลจิต เป็นกรรม เป็นเจตนา ซึ่งใครๆ ก็มองไม่เห็น ไม่เห็นได้ทำอะไร เพียงนั่งฟังเฉยๆ แต่เป็นกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นการกระทำการงานของจิต และเจตสิก ซึ่งทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นกุศลที่ประกอบด้วย อโลภเจตสิก อโทสเจติก และอโมหเจตสิก ในขณะที่เข้าใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลนี้ให้ผล นอกจากจะทำให้เกิดจิตที่เป็นอเหตุวิบาก คือ เห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี แต่ว่ายังทำให้ปฏิสนธิจิต ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นพื้นของจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น ความต่างกันของปฏิสนธิก็คือว่า คนที่เกิดมาในโลกนี้ ถ้าเป็นผลของกุศลอย่างอ่อนๆ สามารถทำให้ อกุศล เบียดเบียน ทำให้บ้าใบ้ พิการ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด หมายความว่าเป็นผลของกุศลกรรมที่อ่อนมาก ก็มีโอกาสที่จะทำให้กรรมอื่น ทำให้จักขุปสาทรูปไม่เกิด โสตปสาทรูปไม่เกิด เป็นคนตาบอด เป็นคนหูหนวก เป็นคนพิการตั้งแต่กำเนิด นั่นคือผลของกุศล ที่ไม่ใช่ประกอบด้วยปัญญาแน่นอน แล้วถึงแม้ว่าจะประกอบด้วย อโลภะ อโทสะก็เป็นเพียงกุศลเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง ที่ทำให้พ้นจากอบายภูมิ คือไม่ต้องไปเกิดในนรก ไม่ต้องเป็นเปรต เป็น อสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ ที่ไม่ได้ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ ปฏิสนธิจิตของคนนั้น เป็นอเหตุกวิบาก ไม่ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ

    แต่กุศลอีกประเภท ๑ ก็เป็น กุศลที่อาจจะมีกำลัง มีศรัทธา แล้วก็มีความผ่องใสของจิต แต่ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่ให้ผล ปฏิสนธิจิต คือจิตขณะแรก ที่เกิดสืบต่อจาก จุติจิตของชาติก่อน ก็เป็นจิตที่ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ แต่ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น เป็นวิบาก ด้วยเหตุนี้ ขณะนั้นจึงเป็น อพยากตเหตุ นี่ที่จะขยายออกไปว่า เหตุจริงๆ ได้แก่ เจตสิก ๖ แต่ว่าพูดถึงเหตุ ๙ ก็ได้ เพราะเหตุว่ามีทั้งกุศลเหตุ อกุศลเหตุ และอพยากตเหตุ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นชาติของจิต มี ๔ ชาติ คือกุศลชาติ อกุศล กิริยา และวิบาก เมื่อมันเพิ่มมา อพยากต อีกตัว ๑ เราจะชื่อว่า อพยากตชาติ ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ อพยากตขาติ นี้เขากล่าวถึง ๓ พวก กุศล อกุศล อพยากต ถ้าพูดเรื่องชาติ ก็ ๔ คือธรรมแล้วแต่ว่า เราจะพูดในเรื่องใด หัวข้อใด เพราะฉะนั้น สำหรับอพยากต ก็ด้วยจิตที่เป็นวิบาก และจิตที่เป็นกิริยา ทั้ง ๒ ถ้ากล่าวโดย ๓ หมวด ๓ พวก ก็คือนัยนี้ ถ้ากล่าวโดยชาติ ก็เป็นโดยนัยนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด จิตที่ปฏิสนธิเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จิตขณะแรกที่ทำกิจปฏิสนธิ จะมีเหตุเกิดร่วมด้วย ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ แสดงให้เห็นว่าความต่างกันของบุคคลในโลกนี้ ก็จะเห็นได้ ตามปฏิสนธิจิต ผู้ที่มีปฏิสนธิด้วย วิบากจิต ที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย คนนั้นก็สามารถที่จะอบรมเจริญ กุศลได้ จนกระทั่งสามารถที่จะบรรลุฌานจิต หรือว่ารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคน ถ้าเหตุยังไม่พร้อม ก็ไม่สามารถที่จะเป็นอย่างนั้นได้ อันนี้ก็เป็นการทบทวน คร่าวๆ จากที่เคยกล่าวถึงแล้ว ถึงเรื่องของอเหตุกจิต ๑๐ ดวงว่า เป็นชีวิตประจำวันให้ทราบว่า ไม่ว่าจะเห็นเมื่อไร ได้ยินเมื่อไร ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นผลของกรรมของตนเอง ที่ได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง บางคนเกิดมาไม่ค่อยฉลาดนัก แต่ว่าไม่ใช่เกิดด้วย อเหตุกกุศลวิบาก แต่อาจจะเป็น ติเหตุกะ เหมือนกัน แต่มีกำลังอ่อน อันนี้ถือว่าเป็นการใช้กรรมหรือเปล่า แล้วชาติต่อไป เขาจะดีขึ้นไหม เป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากเรามักจะพูดถึงเรื่องใช้กรรม แต่เราไม่ได้คิดถึงเรื่องกรรมซึ่งเป็นเหตุ เป็นจิต แล้วก็ผล ก็คือจิต ซึ่งเป็นวิบาก ถ้าพูดอย่างนี้ก็จะชัดเจนมาก ว่าแท้ที่จริง แล้วกรรม ได้แก่ เจตสิก ที่เป็นเจตนาเจตสิก ที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศล อกุศล ดับไปแล้วเป็นเหตุ เป็นนานักขณิกกรรม คือให้ผลต่างวาระ กรรมนั้นต้องดับก่อน แล้วก็พร้อมด้วยปัจจัยที่ทำให้ วิบากจิตเกิดเมื่อไร วิบากจิตก็กำลังเกิดในขณะนี้แหละ เป็นผลของกรรมแล้ว ไม่ต้องไปคอยเมื่อไร เมื่อนั่น เมื่อนี่ ถูกรถชน ไฟไหม้ ไม่ต้องคอยเลย ทุกขณะที่เห็นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบกาย ก็เป็นผลของกรรม ไม่ต้องพูดคำว่า ใช้ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ในกรณีที่บางคนเกิดมาไม่ค่อยฉลาด เมื่อรู้ตัวว่าไม่ค่อยฉลาดก็พยายามที่จะสร้างกุศล เป็นต้นว่า สร้างกุศล เพื่อเสริมปัญญา เป็นต้นว่า บริจาคหนังสือเพื่อให้เด็กเรียนหนังสือหรือบริจาคทานบ้าง ถ้าหากว่าเกิดในชาติถัดไป จะทำให้สติปัญญาเขาดีขึ้นบ้างหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าทุกคนจะทราบจากชีวิตของตัวเองว่า แม้แต่กุศลที่ทำก็มีหลายอย่าง กุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาก็ทำ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็ทำ แต่บางคนอาจจะทำเฉพาะกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ตลอดชีวิต ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้เข้าใจธรรมเลยก็มี แต่ว่าสำหรับคนที่ บางครั้งก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา บางครั้งก็เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา บางครั้งก็เป็นกุศลเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แล้วเราจะเลือกได้ไหมว่า จะให้กรรมไหนให้ผล ไม่มีทางเลย ถ้าเลือกได้ ทุกคนก็ต้องเลือกกรรมที่ดีที่สุด แต่ว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ที่เราเห็นชีวิตของคนในโลกนี้ต่างๆ กันไป ก็เพราะเหตุว่า กรรมที่ได้มีมาก ที่ทำมาแล้วเนิ่นนาน ก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ เพราะฉะนั้น แม้ในชาตินี้เอง ทั้งๆ ที่เป็นผู้ไม่ประมาท แต่ถ้ายังไม่เป็น พระโสดาบันบุคคล ใครจะรู้ว่ากรรมไหนจะให้ผล แล้วทุกคนก็จะต้องตาย แล้วเมื่อตายแล้ว กรรมไหนจะเป็น ชนกกรรม คือกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อไป ก็เลือกไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็เป็นที่ดู บุญ และบาปที่ได้กระทำ แล้วก็ดูผลของบุญ และบาปด้วย ที่ได้ทำมาแล้ว

    ผู้ฟัง พูดถึงวิบาก เป็นกุศลวิบากบ้าง อกุศลวิบากบ้าง สิ่งที่ตามมาเป็นไปได้ไหมว่า สมมติว่าเกิดกุศลวาระ นี่จะเป็นต้นเหตุของโลภมูลจิต ที่จะทำให้ทำกรรมมากขึ้นอีก

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน อีก คือว่าเราเกิดมาแล้ว คงจะไม่ใช่ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ไดลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเลย คงจะไม่ใช่อย่างนั้น แต่เวลาที่เห็น เราไม่รู้เลย ว่านี่เป็นผลของกรรม ซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เป็นเพียงผลของกรรมในขณะที่เห็น แต่เมื่อเห็นดับไปแล้ว คนที่ยังมีกิเลสอยู่ ต้องเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง อย่างใด คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ นอกจากว่าคนนั้นสะสมกุศลไว้มาก หลังเห็นแล้วเป็นกุศล นี่คือการอบรมเจริญภาวนาให้เป็นกุศล แม้ว่าเพียงเห็น กุศลจิตก็เกิด เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันของเรา เราทราบได้เลย เห็นแล้วเป็นอย่างไร เห็นแล้วเมตตา เห็นแล้วเป็นเพื่อน พร้อมที่จะช่วย หรือว่าเห็นแล้วเกลียด แล้วโกรธ ซึ่งบางคนอาจจะใช้คำว่า หมั่นไส้ ไม่ได้ทำอะไรให้สักนิดหนึ่ง เพียงแค่เห็น ก็รู้สึกอย่างนั้นแล้ว ใครเล่า ถ้าไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น สภาพจิตอย่างนั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็รู้จักตัวเอง ชัดเจนขึ้นจากการศึกษาพระธรรมว่า หลังจากที่เห็นแล้วเป็นอะไร เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล

    จากชีวิตประจำวันซึ่งไม่เคยรู้เลยว่า จริงๆ แล้วเร็วยิ่งกว่านั้นอีก กว่าที่จะเห็นว่าเป็นคนหนึ่งคนใด เพียงเห็น กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดเร็วมาก ตามการสะสม ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่รู้ จะไม่ทราบว่า เป็นแล้ว ทันทีที่เห็น เร็วแสนเร็ว นั่นก็คือมีความติดข้อง คือโลภะในสิ่งที่เห็นโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าเห็นอะไร เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจพระธรรมอย่างละเอียด พอที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ก็ต้องเห็นอย่างหยาบๆ ก่อน คือเห็นว่าเรามี อกุศล หลังจากที่เห็นแล้วประเภทไหน แต่ว่าแท้ที่จริง ก่อนนั้นเป็นแล้วกับอกุศล กว่าจะเป็นกุศลขึ้นๆ หลังเห็น เร็วแสนเร็ว กุศลก็เกิดได้ แล้วจากนั้น จากเป็นกุศลก็คือ กิริยาจิตของพระอรหันต์ ก็ลองคิดดูว่าเป็นเรื่องของการภาวนา คือการอบรมปัญญาตั้งแต่ขั้นการฟังจริงๆ

    ผู้ฟัง จิตเป็นที่เกิดของบาป และบุญ บาป และบุญจะเกิดขึ้นที่ไหน

    ท่านอาจารย์ สัตว์โลก ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ เป็นที่ดูบาป และบุญ กุศลจิต และอกุศลจิต จากกุศลกรรม และ อกุศลกรรม และเป็นที่ดู ผลของบาป และบุญด้วย ดูที่ไหน เห็นคนพิการ รู้ไหมว่าเป็นผลของอะไร เห็นคนมีปัญญา รู้ไหมว่าเป็นผลของอะไร หรือว่าคนที่มีทรัพย์สมบัติมากๆ รู้ไหมว่าเป็นผลของอะไร เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย รู้ไหมว่าเป็นผลของอะไร

    ผู้ฟัง เมื่อเกิดบาป และบุญขึ้น ตัวที่จะมาช่วยไม่ให้เกิดบาป คือ สติปัฏฐาน ๔

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้ว ช่วยไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับ ก็มีเหตุที่จะให้เกิดสะสมไป แล้วแต่เหตุดี หรือเหตุไม่ดี เหตุดีก็เป็นกุศล เหตุไม่ดีก็เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์ ได้กรุณาอธิบาย เหตุ ๙ แล้วก็มี เจตสิก ๖ แล้ว ๓ ประการหลังก็ ได้แก่ อพยากตเหตุ ใช่ไหม โสภณเหตุ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไปตามลำดับ เราจะไม่งงเลย คือเราเริ่มตั้งแต่เหตุ ๖ แล้วเราเข้าใจคำว่า เหตุ กับ นเหตุ อเหตุกะ กับ สเหตุกะ แล้วเพื่อที่จะให้เราเข้าใจด้วยว่า บางครั้ง จะไม่ได้กล่าวถึงเพียงเหตุ ๖ แต่จะกล่าวถึง เหตุ ๙ แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจของเรา ต้องมั่นคง แล้วธรรมต้องสอดคล้องกัน เพราะว่าถึงแม้ว่าจะกล่าวโดยเหตุ ๙ ก็ได้แก่เหตุ ๖ นั่นเอง จะเกินเจตสิก ๖ ดวงนี้ไม่ได้ แต่ว่าโดยนัยที่แสดงโดยกุศลธรรม อกุศลธรรม อพยากตธรรม เพราะฉะนั้น แสดงว่าขณะใดที่เป็น อกุศลเหตุเป็นอพยากตะ แต่เวลาใดที่เป็นกุศลธรรมก็เป็นพวกกุศลทั้งหมด แล้วเวลาที่เป็น อพยากตะ ก็หมายความถึงเหตุที่เกิดกับวิบากจิต กิริยาจิต อย่างนี้เราก็รู้ว่าเหตุ ๖ นั้นเองแต่กระจายไปตามจิตต่างๆ แล้วก็รวบรวมจิต โดยประเภทอีกนัยหนึ่งแล้วก็ไม่ใช่แต่เฉพาะจิตเท่านั้นเวลาที่กล่าวถึง กุศลธรรม อกุศลธรรม อพยากตธรรม ต้องรวมปรมัตถธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นกุศล ก็ได้แก่จิต เจตสิกเท่านั้น เพราะเหตุว่า รูป และนิพพานเป็นกุศลไม่ได้ ธรรมที่เป็นอกุศล ก็ได้แก่ จิต และเจตสิกเท่านั้น เพราะว่ารูปกับนิพพานเป็นอกุศลไม่ได้ แต่ว่าธรรมที่เป็นอพยากต รูปทั้งหมด นิพพาน และจิต เจตสิก ที่เป็นวิบากกับกิริยา คือเราต้องเข้าใจ ธรรมกว้างขวางขึ้น จากตอนต้นที่มีพื้น ที่มั่นคงก่อน เพียงเห็นขณะนั้นยังจะเป็น โลภะ โทสะ โมหะ หรือว่ามีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย นี้คือชีวิตประจำวัน ให้ทราบว่าผลของกรรมนี้เมื่อไร จะได้ไม่ปะปนกับเหตุคือตัวกรรมซึ่งจะเกิดภายหลัง จากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว แต่ว่าเวลาที่เพียงเห็น เพียงได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นจิตของใครอยู่ที่ไหนก็ตาม จะเป็นของรูปพรหม หรือว่าของเทวดา หรือว่ามนุษย์ หรือว่าคนที่เกิดในนรกหรือว่าสัตว์ทุกชนิด จิตเห็นเหมือนกันหมด ต่อไปก็จะทราบว่าโดยเป็นชาติวิบาก คือเป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมอะไร แล้วต่อไปก็จะทราบว่า มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวงซึ่งน้อยมาก ขณะนี้อาจจะจำเพียงจำนวนเท่านั้นก็ได้ว่า มีเจตสิกเกิด ร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงไม่เกิน ๗ ทั้งๆ ที่เจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ แล้วก็เจตสิก ๗ ดวงที่เกิด กับวิบกากจิต ๑๐ ดวงนี้ ก็จะทราบได้ว่าไม่ใช่อกุศลเจตสิกแน่นอน เพราะเหตุว่ากุศลจิต และ อกุศลจิต ยังเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นเจตสิกประเภทที่เกิดได้กับจิตทุกประเภท อันนี้ก็คอยๆ ไปตามลำดับ เป็นผลของกรรม ขณะใดก็ตาม ใครจะเห็นอะไร เมื่อไร

    เพราะว่าโดยมากมักจะถามถึงเรื่องราว คนนั้นเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น ยาวมาก เป็นผลของกรรมอะไร แต่ความจริง ต้องตัดสั้น จนกระทั่งเหลือขณะจิตหนึ่ง ขณะจิตหนึ่งว่าเมื่อไร ที่เป็นวิบาก คือผลของกรรมจริงๆ ซึ่งตอนนี้เราก็ทราบได้ว่า ทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๑๐ ดวงนี้ เป็นผลของกรรมซึ่งไม่มีเหตุ เกิดร่วมด้วย ตอนนี้ก็ไม่มีข้อสงสัย แล้วก็คงจำไปได้นานมากเลย คงจะไม่ลืมอีก ขณะนี้มีผลของกรรมไหม ผลของกรรมอะไร บอกไม่ได้ ถ้าบอกไม่ได้ก็คือบอกไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราสามารถจะบอกได้ เพราะเหตุว่ากรรมก็มีมาก แต่แน่นอนที่สุด คือเป็นวิบากจิตซึ่งไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และก็ไม่ใช่กิริยจิตด้วย เพราะเหตุว่าจิตมี ๔ ชาติ ชา-ติ คือการเกิด เกิดขึ้นขณะหนึ่ง ต้องเป็นอย่างหนึ่ง คือจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล จะเป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยาไม่ได้ ถ้าเกิดขึ้นเป็นวิบาก คือเป็นผล ก็เป็นวิบาก จะเป็นกุศล อกุศลไม่ได้ เป็นกิริยาไม่ได้ ตอนนี้ทุกคนก็คงจะทราบชีวิตประจำวัน อเหตุกจิต

    ผู้ฟัง คำว่า ปัณฑระ หมายถึงอะไร เพราะว่ามีกล่าวไว้ว่า วิบากจิตนี้ เป็นปัณฑระ นี้หมายถึงอะไร

    วิทยากร. คำว่า ปัณฑระ แปลว่าผ่องใส เพราะคำว่า ปัณฑระ พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายว่า ได้แก่จิต ๒ ประเภท ประเภท ๑ คือ ภวังคจิต เพราะว่าผ่องใส ภวังค์ของใครก็แล้วแต่ กิเลส เข้าไม่ได้ ท่านบอกว่าผ่องใส อีกอัน ๑ ปัณฑระมีความหมายว่ากิเลสเข้าไม่ได้คือ เป็นกุศลจิต กุศลจิตก็กิเลสเข้าไม่ได้ ก็เป็น ปัณฑระแต่ที่กล่าวโดยมาก กล่าวถึงภวังคจิต ปัณฑระ

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎก ก็กล่าวถึงว่า ปัณฑระ หมายความถึงภวังคจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏแผ้วพานเลยทั้งสิ้น นอนหลับสนิท ไม่มีใครรู้เลย เป็นใครอยู่ที่ไหน ชื่ออะไร ก็ไม่ทราบหมด เพราะฉะนั้น ถ้าจะจำกัดความ ความหมาย คำว่า ผ่องใส ที่นี่ ก็เป็นภวังคจิตแน่นอน คือไม่ใช่ว่าหมดกิเลส เพียงแต่ว่าในขณะนั้น ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้เจือปนไปด้วยสิ่งใดก็ตาม จะมาปรากฏเลยไม่มี นั่นความหมายหนึ่ง แล้วในอรรถกถา คือ ในอรรถสาลินี ก็กล่าวถึงกุศลจิตด้วย ที่เป็นปัณฑระ เราก็เอาแค่ความหมายจริงๆ เท่านั้น เมื่อขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นก็ผ่องใส เพราะเหตุว่า มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราอย่าไปคิดเกินไปว่า เราอย่าเอาจิตนั้นจิตนี้ มารวมด้วย ท่านคงไม่คิดว่าพวกเราจะมานั่งถามกันอย่างนี้ เพราะว่าในครั้งนั้น ท่านเข้าใจ พูดคำอะไรท่านก็เข้าใจ แต่ของเราพอพูดอะไรก็สงสัย เพราะฉะนั้น ก็จะต้องพยายามเข้าใจให้ตรง เพราะเหตุว่าแม้แต่ภวังคจิตก็ไม่มี อนุสัยกิเลส สำหรับพระอรหันต์ ภวังค์ธรรมดาก็ยังเป็นปัณฑระ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น อย่างภวังคจิตของพระอรหันต์ หรือกิริยาจิตก็ไม่มีกิเลสใดๆ เหลืออยู่แล้ว

    ผู้ฟัง เวลาดิฉันไปฟังเทศน์ พระท่านสอนว่า ให้เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน อย่างนี้จิตทำงานหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้น ที่จะไม่ทำหน้าที่ ไม่มีเลย ทำงานทุกขณะ จิตที่ไม่มีกิจ หน้าที่ไม่มีเลย อันนี้ก็ต้องแน่นอนมั่นคงว่า จิตทุกขณะเกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่งกิจใด ใน ๑๔ กิจ หน้าที่ของจิตทั้งหมด มี ๑๔ กิจ แล้วไม่ใช่ว่าจิต ๑ ทำ ๑๔ กิจ จิต ๑ ทำกิจ ๑ ใน ๑๔ กิจ เห็นนี้ก็เป็นกิจ ๑ ได้ยินก็เป็นกิจ ๑ ได้กลิ่นก็เป็นกิจ ๑

    ผู้ฟัง ดิฉันก็ยังคิดว่า การที่จิตเห็นแล้ว หรือว่ามีคนเขามาด่าเรา เป็นเสียง เราก็รู้ว่าเสียงเป็นรูป ได้ยิน เราก็ได้ยิน แต่ก็สักแต่ว่าได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ได้ยินก็จะต้องมีเวทนาเกิดร่วมด้วยแล้ว

    ผู้ฟัง เวทนานั้นคือ

    ท่านอาจารย์ อุเบกขาเวทนาเกิดกับจิตได้ยิน ไม่ต้องไปทำเฉยอีก เพราะเหตุว่า จิตได้ยินมี อุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ไปเปลี่ยนแปลงให้เวทนาอื่นเกิดกับจิตได้ยินก็ไม่ได้ ทุกครั้งที่จิตได้ยินเกิด ต้องมีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง บางคนเขาเกิดโทสะ

    ท่านอาจารย์ นั่นที่หลังแล้ว

    ผู้ฟัง ผมได้ยินมาเหมือนกันแล้วก็มีคนสอน มีหนังสือเขียนเหมือนกันว่า เป็นอุบายอย่างหนึ่ง ที่จะ ไม่ให้คนมีอุปาทาน คือมีการเสริมต่อปรุงแต่งต่อไป ให้เกิดโลภ โกรธ หลง อะไรอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นแล้วก็ให้รีบผ่านไปเสีย ได้กลิ่นแล้วก็ให้รีบผ่านไปเสีย ได้ยินเสียงเขาด่า ก็ให้รีบผ่านไปเสีย อย่างนี้จะถือว่าเป็นอุบาย แบบตื้นๆ ในการสอนธรรม สอนให้คนรู้จักดี รู้จักชั่ว พอจะรับได้ไหม ซึ่งอาจจะผิดจากหลักของอภิธรรมก็ได้ แต่ผมก็คิดว่ามันไม่ก็เสียหายนัก ก็คิดว่าอย่างนั้น แต่ทีนี้ ถ้าเผื่อจะเอาปรมัตถเข้ามาจับ ทุกอันๆ บางทีภูมิปัญญาอย่างเรา รับไม่ได้ ท่านก็คงจะแก้ ให้เราไม่ขวย ไม่เขิน จนเกินไป ถ้าเขาด่า ก็บอกว่าได้ยิน เฉยๆ นะ ได้กลิ่นก็บอก ไม่อร่อยนะ อะไรอย่างนี้ จะพอรับได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าหมดคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว คำสอนที่เป็นสุภาษิตทั้งหลาย ก็ใช้ได้ แต่ทีนี้ ถ้ายังมีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ มีคำสอนที่ละเอียดลึกซึ้ง สามารถที่จะทำให้เราอบรมปัญญาเพิ่มขึ้น มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่ศึกษาให้เข้าใจ เราก็ไม่สามารถที่จะละความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตน เราก็จะชื่นชมยินดี กับคำภาษิตต่างๆ ที่ฟังดู ใช้ได้ แต่ว่าสามารถที่จะดับกิเลสได้ เป็นสมุจเฉท หรือเปล่า ซึ่งหนทางที่จะดับกิเลสไกลมาก เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการอบรมปัญญา ที่จะรู้สภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567