ปกิณณกธรรม ตอนที่ 541


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๑

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ผู้ฟัง ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญญาทั้งหมดเลย แต่ว่าเป็นปัญญาต่างขั้น ในพระพุทธศาสนา จะไม่มีคำสอนที่ทำให้เราไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะว่า พุทธ คือ ผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน ที่ได้รู้ความจริง เพราะฉะนั้น คำสอนของพระองค์ทั้งหมด ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้น แล้วก็ละความต้องการ หรือความหวังใดๆ ด้วย ตามลำดับขั้น

    ในขั้นที่ว่าแต่ก่อนนี้เคยหวัง ว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่มีปัญญา เมื่อฟังแล้วก็เข้าใจว่า สุดวิสัยเป็นไปไม่ได้เลย ในการที่จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่มีปัญญา หรือปัญญาไม่เกิด เราก็ละความหวัง ลมๆ แล้งๆ เลื่อนลอยโดยไม่มีเหตุผลว่า จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่มีปัญญา ทางที่จะมีปัญญา มาจากไหน ใครก็ตามที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า ปัญญาของเขามาจากฟังใคร ฟังนักปราชญ์ราชบัณฑิต หรือว่าฟังพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ในขณะที่ฟัง ว่า ธรรมที่ได้ฟัง เป็น ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงหรือว่าเป็นความคิด ความเข้าใจของคน ซึ่งเขาเข้าใจเอาเองว่าอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต้องมีการศึกษาโดยรอบคอบ โดยละเอียด แล้วก็เทียบเคียง อย่างเมื่อกี้นี้ แม้แต่ อริยสัจ ๔ เราก็ยังต้องเทียบเคียง เราไม่สามารถที่จะกล่าวไปโดยไร้หลักฐาน หรือว่าเหตุผล

    เพราะว่าสิ่งใดที่มีในพระไตรปิฎกสมบูรณ์ พร้อมทั้งเหตุผล ทั้งอรรถ และพยัญชนะ ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ทรงแสดงไว้อย่างนี้ บางคนก็อาจจะไม่สมบูรณ์ในพยัญชนะก็ได้ ดิฉันของยกตัวอย่างดิฉันเป็นต้น พูดภาษาบาลีผิด หลายคำ เพราะฉะนั้น ไม่สมบูรณ์ด้วยพยัญชนะ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ท่านมีความสามารถทั้ง ๒ อย่าง ทั้ง อรรถ ทั้งพยัญชนะของท่านจะไม่มีการที่คลาดเคลื่อนเลย แต่อย่างที่กล่าว ไว้ในพระไตรปิฎกว่า อรรถเป็นที่พึ่งได้ แต่พยัญชนะไม่เป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่พยัญชนะ อาจจะคลาดเคลื่อนหรือผิด ไป เพราะว่า ไม่ใช่ภาษาที่ดิฉันรู้จัก ภาษาบาลี แต่ถ้าสามารถที่จะทำให้คนฟัง เกิดความเข้าใจก็ได้ เพราะว่า เป็นเรื่องของการที่จะให้ เข้าถึง อรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    การศึกษาที่ถูกต้อง จริงๆ ที่สำหรับชาวพุทธเรา ที่ใช้คำว่าชาวพุทธ หมายความว่า เรามีโอกาสเกิดในประเทศที่มีการนับถือพระพุทธศาสนา แล้วเราก็รู้ว่าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ตราบใดที่เราไม่ศึกษา เราไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เห็นเพียง จะเป็นทองคำ หรือจะเป็นหยก หรือจะเป็นอะไรก็ตาม ซึ่งเอามาปั้น แล้วสมมติให้เรา ระลึกถึง แล้วเข้าใจว่านั่นคือการถึงพระพุทธเจ้า แต่ความจริง ถ้ายังไม่มีการศึกษา จะไม่เข้าใจเลย ว่า พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณของพระองค์คืออย่างไร เพราะฉะนั้น ที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าคำสอนใด เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสอนนั้นต้องสอนให้เข้าใจสภาพธรรม ที่มีจริงๆ แล้วก็มีความเห็นถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ นั้นเพิ่มขึ้น ไม่คลาดเคลื่อนด้วย แต่ถ้าเป็นคำสอนที่เพียงแต่ว่าให้เราเชื่อ ให้เราปฏิบัติ ให้เราทำ แต่ไม่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะอะไร เพราะคนฟังไม่เกิดปัญญาไม่มีความเห็นถูก ไม่เข้าใจอะไรเลย

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นอย่าลืมว่าทั้งหมด เป็นเรื่องของการอบรมปัญญา ทิ้งปัญญาไม่ได้เลย ใครจะให้ไปทำอะไรทั้งหมด ถ้าปัญญาไม่เกิด หมายความว่าเป็นเรื่องของโลภะ และอวิชชา แม้แต่การศึกษาก็อาจจะมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรม อันนั้นหมายความว่าเป็นคำสอนที่ทำให้เราสามารถจะถึง ปฏิปัตติ อีกขั้น ๑ คือคำสอนของพระองค์ ในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง เพราะขั้นฟัง เป็นเพียงหนทางที่จะทำให้ รู้ว่าสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ความจริงแท้เป็นอย่างนี้ สามารถจะประจักษ์ได้ด้วย ไม่ใช่เพียงฟังแล้วก็ไม่มีใครประจักษ์ แต่ว่าเมื่อทรงแสดงแล้ว ท่านอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้ที่พิสูจน์คำสอนว่า แม้ผู้อื่น ก็สามารถที่จะรู้ความจริงอันนี้ได้ด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นคำสอนที่ไม่เป็น โมฆะ แล้วก็ธรรมใดๆ ทั้งหมด ที่ได้ยินได้ฟัง เมื่ออบรมเจริญปัญญาแล้วตรง ไม่มีผิดไปเลย เช่น ธรรมทั้งหลาย ที่ใช้คำว่า ธรรม ไม่ได้พูดถึงชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ว่ากล่าวถึงสภาพซึ่งเป็นธาตุ เพราะว่าจะใช้คำว่า ธาตุ หรือจะใช้คำว่า ธรรม ก็ความหมายเดียวกัน ซึ่งก็เป็นปรมัตถธรรม ย่อลงแล้วก็ได้แก่ นามธรรมกับรูปธรรม เราก็พิสูจน์ได้ ถ้าเราจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น จากขั้นฟังก่อน แล้วมีปัญญาระดับขั้นฟัง พอสมควร เป็นปัจจัยที่จะให้สติเกิด ซึ่งเป็นสัมมาสติ ไม่ใช่เราทำ หรือว่าไม่ใช่เราปฏิบัติ เพราะเหตุว่าในพระพุทธศาสนา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ที่เราคิดว่าเป็นเราปฏิบัติ หรือเราเห็น เราได้ยินก็คือจิต เจตสิก รูป ในขณะนี้ สภาพธรรม มี ๒ อย่าง คือนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ก็คือว่า เมื่อเข้าใจสภาพธรรม แล้ว มีปัจจัยที่ สติอีกระดับหนึ่ง หรือความรู้ หรือปัญญา อีกระดับหนึ่ง คือระดับปฏิบัติ ก็จะเกิด ตามเหตุ ตามปัจจัย เพราะว่าทรงแสดงไว้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิด ต้องมีปัจจัย ไม่ใช่เกิดตามความปรารถนา ไม่ใช่เราอยากมีปัญญา แล้วปัญญาของเรา ก็เกิด แม้แต่เสียงปรากฏ เพราะมีจิตได้ยิน เพราะมีโสตปสาท ทุกอย่างต้องมีปัจจัย เพราะฉะนั้น แม้แต่สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นระดับที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งจนถึง ความสมบูรณ์ ซึ่งเป็น วิปัสสนาญาณ ๑๖ ก็ต้องเกิดจากความรู้จริงๆ ซึ่งค่อยๆ เจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ตามสำนักปฏิบัติ เขาก็บอกว่า การปฏิบัติไป ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง อย่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีใครมาสอน ก็นั่งปฏิบัติจนกระทั่งสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกคน เอาอย่างพระพุทธเจ้า เพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า หรือจะเป็นสาวก

    ผู้ฟัง ทุกคนที่ตั้งใจมาปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ เพื่อเป็น สาวก หรือเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง อยากจะเป็นสาวก

    ท่านอาจารย์ ถ้าสาวกคือ ผู้ฟัง

    ผู้ฟัง เพื่อจะได้ไม่มีความเข้าใจผิด พระพุทธเจ้านั้น ท่านปฏิบัติเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ท่านอบรมเจริญปัญญา แล้วก็ในพระชาติสุดท้าย แม้ว่าจะได้ไปศึกษา เรื่องของ ฌานสมาบัติ ถึง อรูปฌาน กับ อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส ด้วยพระปัญญาที่ได้สะสมมาจึงรู้ว่านั่นไม่ใช่หนทาง เรื่องของสมถภาวนา เป็นเพียงเรื่องระงับกิเลส ด้วยจิตที่เป็นกุศลที่มั่นคงขึ้น จนกระทั่งเป็นความสงบสูงที่สุดคือ เนวสัญญานาสัญญายตน แม้ว่าอาจารย์จะขอให้ท่านอยู่ที่สำนักเพื่อสอน แต่ท่านก็สะสมมาที่จะรู้ว่านั่นไม่ใช่การดับกิเลส ยังมีกิเลส ลองคิดดู ว่าใครสามารถที่จะรู้ถึง อนุสัยกิเลส กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต เพราะว่าบางคนได้ฌานมาเป็นเวลานานถึง ๕๐, ๖๐ ปี เพราะกิเลสไม่เกิด ก็เลยเข้าใจว่าตัวเองหมดกิเลส แต่ว่าจริงๆ แล้ว ผู้ที่จะรู้ถึง อนุสัยกิเลสว่า ยังไม่ได้หมด ยังไม่ได้ดับ ไม่ใช่ทางที่จะดับกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่สะสมบารมีที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างเรานอนหลับ เรารู้ไหมว่า จิตเรามีกิเลสอย่างละเอียด ทันทีที่ตื่นก็พร้อมที่จะเกิด กิเลสก็ตื่นด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ ใครรู้ ถึงอนุสัยกิเลส แต่ต้องเป็นผู้ที่สะสมอบรมมาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่ปีหรือวัน หรือเดือน อย่างน้อยด้วย เพราะว่าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยศรัทธาก็ ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยวิริยะก็ ๑๖ อสงไขยแสนกัป หลังจากที่ได้ฟังพุทธพยากรณ์แล้ว ไม่นับก่อนนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมในขณะนี้ มีจริงๆ เป็นจริงอย่างนั้น แต่ว่ายากแสนยากที่จะรู้ได้ ทุกคนที่จะเป็นพระอริยเจ้า ต้องเป็นผู้ตรง ตรงต่อตัวเอง ตรงต่อสภาพธรรม จึงจะสามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อใคร เป็นพระมหากรุณา เป็นมรดกสำหรับชาวพุทธ ถ้าจะรับมรดกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ด้วยวัตถุ แต่รับมรดกคำสอนซึ่งได้บำเพ็ญพระบารมี แล้วก็ตรัสรู้ แล้วก็ทรงแสดง ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเลย เราไม่ใช่ผู้รับมรดก เพราะไม่ได้รู้อย่างที่ทรงแสดงไว้

    ถ้าบอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องสอดคล้องกันหมดทั้ง ๓ ปิฏก ตั้งแต่ต้นจนปลาย ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย ถ้าขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน เป็นจิตที่เห็น แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูป ทั้งหมดเป็นอนัตตา ถ้าเป็นอนัตตาแล้ว จะมีเราที่จะปฏิบัติไหม หรือว่ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ว่าขณะไหน เป็นขณะที่กุศลจิตเกิด แล้วกุศลนั้นประกอบด้วยปัญญา หรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา แล้วถ้าเป็นกุศลระดับขั้นที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง กุศลนั้นต้องเป็น อีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะต้องอบรม ไม่ใช่เพียงขั้นทานขั้นศีล เท่านั้น

    ผู้ฟัง ขออนุญาตสรุปตรงนี้ว่า พระพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้ ไม่ใช่ปฏิบัติถึงได้ตรัสรู้ ท่านเจริญปัญญา ท่านศึกษามาสารพัดอย่างแล้ว จนกระทั่งท่านตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โปรดจำไว้ให้มั่น ไม่ใช่ปฏิบัติถึงได้ตรัสรู้

    ท่านอาจารย์ คำ ปฏิบัติ เป็นภาษาบาลี ปฏิ-ปัตติ ซึ่งท่านอาจารย์สมพร และผู้ที่รู้ภาษาบาลีทุกท่าน ท่านก็ให้ความหมายตรงกัน หมายความว่า ถึงเฉพาะ เห็นเฉพาะ รู้เฉพาะ ซึ่งขณะนี้สภาพธรรมเป็นจิต เจตสิก รูป เราเรียนเรื่องชื่อมามาก แต่ว่าขณะใดที่สติปัฏฐาน เริ่มที่จะเกิดระลึก ลักษณะจริงๆ เพราะว่าสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม ต้องมีลักษณะ สิ่งที่มีจริงต้องมีลักษณะ คือ ลักษณะของรูปเป็น รูป ลักษณะของนามเป็นนาม

    ขณะใดที่สติปัฏฐาน พร้อมทั้งองค์อื่น คือ สัมมาวายามะ หรือสัมมาสังกัปปะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เกิดร่วมกันแล้ว ระลึกลักษณะนั้น สภาพของมรรค เจตสิกถึงเฉพาะ คือ ความหมายในภาษาบาลี ไม่ใช่ในภาษาไทย ว่าทำ อย่างที่เราคิดว่าเราจะทำ แต่หมายความว่า เป็นขณะที่มีสภาพธรรม ที่กำลังถึงเฉพาะ ลักษณะที่เป็นปรมัตถทีละอย่าง แล้วก็อบรม จนกว่าจะรู้แจ้งประจักษ์ความจริงนั้นก็เป็นปฏิเวธ ต้องไม่ปนกันเลย ๒ ภาษา แล้วต้องเข้าใจความหมายจริงๆ เพราะว่าถ้าใครจะถามเรื่องปฏิบัติ เราก็บอกได้ว่า ปฏิบัติ หมายความถึง ถึงเฉพาะ เห็นเฉพาะ รู้เฉพาะ สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้จริงๆ ทีละลักษณะ แต่ไม่ใช่ หมายความถึงทำอย่างที่เราไปนั่งทำ

    วิทยากร การปฏิบัติรู้ได้ยาก ที่เราเห็น เดินหนอ ยืนหนอ นั่งหนอ เราเห็น นั่นเป็นการปฏิบัติ ถ้าเรายังเข้าใจอย่างนั้น เป็นการสำคัญผิด เช่น พระปัญจวัคคีย์กำลังนั่งอยู่ ท่านก็ปฏิบัติ นั่งฟังธรรมของพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมด้วยสติ และปัญญา โดยที่ว่าปัญญาจะค่อยๆ เห็นตามความเป็นจริง แต่ว่าต้องรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ไม่ใช่เพียงการรู้ชื่อ เพราะว่าบางคนก็ถาม บอกว่าอย่างเวลาที่จิตเป็นอกุศลเกิดขึ้น เขาก็สามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น มีใครบ้างที่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น คนที่เรียนก็บอกได้ว่า ลักษณะที่โกรธเป็นนามธรรมโดยชื่อ แต่ถ้าเขาจะบอกว่า แล้วรู้ลักษณะที่ต่างกันของโลภะ กับโทสะไหม ความจริงสภาพธรรม ต่างกันอยู่แล้ว โลภะก็อย่าง ๑ โทสะก็อย่าง ๑ แม้ว่าสติปัฏฐาน ไม่เกิด แม้ว่าสติปัฏฐาน ไม่เกิดสภาพ ๒ อย่างนี้ก็ต่างกัน

    เวลาที่มีความรู้สึกว่าสภาพนั้น ลักษณะนั้นเป็นโลภะ ลักษณะนั้นเป็นโทสะ ขอให้พิจารณาจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นการใส่ชื่อ หรือว่านึกถึงชื่อ เพราะเหตุว่าถ้ารู้ลักษณะที่เป็นโลภะ โทสะ จะพ้นจากการรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วก็เพียงแต่ใส่ชื่อ แต่ใส่ชื่อนี่ก็อย่างละเอียดอีกเหมือนกัน บางคนใส่ชื่อก็นึกยาว เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หรือว่าเป็น นามธรรม นี่ก็เป็นชื่อยาวๆ แต่ว่าเวลาที่ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ ในสภาพที่เป็นนามธรรม เราจะไม่สนใจ ในลักษณะซึ่งเรารู้อยู่แล้ว ว่าเป็น โลภะ แล้วเรารู้อยู่แล้ว ว่าเป็นโทสะ ถึงไม่ได้ศึกษาก็รู้ว่าเป็นโลภะ โทสะ แต่เป็นเรา

    สติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปนั่ง งง ว่านี่เป็นชื่ออะไร ลักษณะอย่างไร แต่ว่าเป็นการที่ค่อยๆ รู้ความหมายที่ต่างกันของสภาพธรรม ๒ อย่าง คือ นามธรรม ต่างกับรูปธรรม แล้วก็สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปมัวนั่งคิดว่า นี่เป็น นามธรรมที่เป็นอกุศล นั่นเป็นนามธรรมที่เป็นโลภะ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว แล้วก็กำลังเป็นสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคิด

    การอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่คนนั้นจะต้องเป็นคนที่ตรงว่า กว่าจะค่อยๆ รู้ กว่าจะค่อยๆ ละ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราไปติด ในสิ่งที่เราอยากจะได้ เพราะว่าเขาบอกว่า ทำแล้วจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ปัญญาไม่มี แล้วไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไรอย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าเวลาปัญญาเกิดขึ้น แล้วจะรู้ไหม เป็นคำถามที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะของปัญญา แต่ถ้ารู้ลักษณะของปัญญา เวลาที่สติเกิด กับเวลาที่หลงลืมสติ ก็ต่างกัน แม้แต่ขั้นนั้นยังรู้ ว่าขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดสติเกิด แล้วทำไมเวลาที่ปัญญาเพิ่มขึ้นจะไม่รู้

    ที่สติปัฏฐานไม่เกิด ตอนนี้มีมีปัญหาแล้ว ทำอย่างไรสติปัฏฐาน จะเกิด มาแล้วเห็นไหม ความอยากหรือโลภะ เขาจะทำให้ทำทุกอย่าง แล้วก็อยากจะได้คำตอบด้วยเพื่อจะไปทำ แต่ลืมคิดว่าเป็นเรื่องรู้ เป็นเรื่องเข้าใจ เพราะฉะนั้น เวลาใดก็ตามที่ฟังแล้วเกิดความเข้าใจขึ้น หรือว่าตรึกตรองสภาพธรรม ที่ได้ยินได้ฟังแล้ว เข้าใจขึ้น นั่นแหละคือเหตุที่จะให้เกิดสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไปถามว่าทำอย่างไร หรือจะไปเร่งรัดอย่างไร ที่จะให้สติปัฏฐานเกิด

    ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็เป็นช่วงขณะซึ่งสั้นมาก แล้วก็คิดว่ามันคงจะไม่ใช่เป็น วิปัสสนาญาณ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ถ้าสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนาญาณจะทำอย่างไร วันละหลายๆ ครั้งมากมายไปหมด

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ว่า น้ำแข็ง หมายความว่า มันมีธาตุดินนมากกว่า หรืออย่างไร เพราะอย่างน้ำที่อยู่ในแก้ว เราก็ไม่เรียกน้ำแข็ง

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เราพูดถึง ปรมัตถธรรม เราต้องเข้าใจว่า เราหมายความถึงโดยลักษณะ หรือโดยคำที่เราใช้กันอยู่ ดิน คุณบงก็เข้าใจ ใช่ไหม ว่าไม่ได้หมายความถึง พื้นดิน หรือดินที่เราเอาไปปลูกต้นไม้ แต่หมายความถึงสภาพธรรม ที่อ่อนหรือแข็ง เพราะฉะนั้น เข้าใจลักษณะของธาตุดิน คือสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง พอถึงธาตุไฟ คุณบงก็เข้าใจได้ ลักษณะที่ร้อนหรือเย็น ก็เป็นธาตุไฟ ลักษณะของธาตุลม ก็เข้าใจได้ ตึงหรือว่าไหว ขณะที่เคลื่อนไหว เป็น ลักษณะของธาตุลม ส่วนธาตุน้ำคุณบงจะหมายความมว่า คุณบงจะรับประทานน้ำ หรือคุณบงจะสัมผัสน้ำแข็ง หรือว่า คุณบงจะรู้ธาตุน้ำ ซึ่งไม่สามารถจะกระทบกับกายปสาทได้ อันนี้ต้องเข้าใจความต่างกัน

    ผู้ฟัง โดยธรรมชาติ พูดกัน เรียนๆ น้ำแข็ง พอเรามาศึกษาธรรม พอเราจะพิจารณาไป น้ำมันก็แข็งไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เวลาพิจารณาไม่มีชื่อ เวลาคุณบงจับถ้วยแก้วน้ำ กับเวลาที่น้ำอยู่ในปากกลืนเข้าไป

    ผู้ฟัง ถ้าท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้ แสดงว่าเวลาที่บงมาพิจารณา บงมาพิจารณาเป็นคำ แต่ถ้าเผื่อที่ท่านอาจารย์กล่าวมา ต้องพิจารณา ถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นอย่างนั้นเลย ตอนนี้บงก็ยังสงสัยอยู่ว่า ที่ว่าน้ำมันแข็ง ในตู้เย็น มันจะเป็นเพราะว่าธาตุดินมากกว่าได้ไหมอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ธาตุทั้ง ๔ ต้องมีแล้วแต่อะไรจะปรากฏ โดยมากคนจะคิดถึงเรื่อง หาเวลา หรือว่าให้เวลา สำหรับสติปัฏฐาน หรือ ธรรมที่จะระลึก แต่แทนที่จะคิดอย่างนั้น ถ้าเรารู้ว่าขณะนี้ เรามีความรู้ ความเข้าใจสภาพธรรม แค่ไหน พอหรือยังแล้วเราค่อยๆ เพิ่มเติม เข้าใจสภาพธรรม มากขึ้นโดยการฟัง โดยการไตร่ตรองพิจารณาถึงเหตุผล นี่เป็นสังขารขันธ์ ที่เขาจะทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น จากการรู้แจ้ง อริยสัจธรรมในพระไตรปิฎก เราจะเห็นได้ว่าแต่ละท่านรู้แจ้ง ในสถานที่ต่างๆ กัน บนปราสาท ๗ ชั้นก็มี ในห้องครัวก็ได้ทุกแห่ง เมื่อถึงพร้อมด้วยเหตุ ผลก็ต้องเกิด เมื่อมีปัญญา ข้อสำคัญที่สุดคือปัญญา

    แทนที่จะห่วงกังวลถึงเรื่องการให้เวลาว่างๆ หรืออะไร อย่างนี้ ด้วยความหวังที่จะให้สติเกิด ก็เปลี่ยนมาเป็นไม่สนใจที่จะไปคอยอย่างนั้น ที่จะให้สติเกิด เพราะว่าถ้ามีปัจจัย แม้ขณะนี้สติก็เกิดได้ เพราะฉะนั้น ที่ขาดจริงๆ คือขาดปัจจัย คือขาดการสะสมปัญญา ถ้าเราสะสมปัญญาไปเรื่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ไม่ต้องห่วงเลย ปัญญา เขาทำหน้าที่ของเขา เมื่อมีปัจจัย

    ผู้ฟัง บางทีผมมานั่งฟังอาจารย์ พูด หรือฟังวิทยุ อ่านหนังสือ อะไรอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นการใส่ปัจจัยเข้าไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ด้วยความหวัง

    ผู้ฟัง ก็หวังว่า เหมือนเราทำกับข้าว เราต้องมีเครื่องปรุงให้ครบ แล้วถึงจะมาปรุง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567