ปกิณณกธรรม ตอนที่ 551
ตอนที่ ๕๕๑
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าโพชฌงค์เป็นโพธิปัคขิยธรรม ๑ หมวดในโพธิปัคขิยธรรมทั้งหมด ๓๗ ประการ ก็แสดงให้เห็นว่า ธรรมทั้งหมดก่อนที่จะมีการรู้แจ้งสภาพธรรมได้ ต้องมีจุดเริ่มต้น ต้องมีการเริ่มต้น ไม่ใช่ว่าเพียงได้ยินวันนี้ แล้วทุกคนก็ทราบหัวข้อชื่อว่ามีโพชฌงค์ ๗ แล้วก็รู้จักชื่อด้วย จำชื่อได้ด้วย แต่ไม่สามารถที่จะรู้ว่า โพชฌงค์ ๗ มีลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้น การที่สภาพธรรมจะค่อยๆ เป็นการภาวนา คือ อบรมให้เจริญขึ้น ก็ต้องมีจุดเริ่มต้น คือการได้ฟังพระธรรมจากผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ต้องฟัง แต่ว่าฟังด้วยปัญญาที่สามารถที่จะเห็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้พระผู้มีพระภาค ทรงสามารถที่จะรู้ หนทางที่จะทำให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะเหตุว่า หนทางนี้เป็นหนทางที่ลึกซึ้ง และยากมาก เพราะเหตุว่าขณะนี้เองใครจะทราบว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมแต่ละอย่าง ที่ละเอียดมาก ทั้งจิต เจตสิก รูป ที่ทรงแสดงไว้ เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมด
เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงถึง ๔๕ พรรษา กว่าการที่ใครจะได้ฟัง พิจารณา เข้าใจ อบรม เจริญปัญญา จนกว่าจะถึงความเป็นโพชฌงค์ ๗ แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจในอรรถ ในลักษณะของโพชฌงค์ ๗ จนกระทั่งมีความซาบซึ้งที่ได้กล่าวกันว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าโพชฌงค์ดีนัก ข้าแต่พระสุคตโพชฌงค์ดีนัก ทุกคำที่กล่าว ต้องเป็นความจริง แล้วก็ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ด้วย มิฉะนั้นก็จะเพียงพูดตามกันมาว่าโพชฌงค์ดีนัก แต่ไม่ทราบว่าโพชฌงค์นั้นเป็นอย่างไร สภาพธรรมมีเป็นปกติ คือ เห็น ได้ยิน แล้วก็คิดนึกเรื่อง ต่างๆ ถ้าในขณะนั้นไม่มีผู้ที่กล่าวถึงโพชฌงค์ ๗ แต่กล่าวถึงเรื่องอื่น เพราะเป็นชีวิตประจำวัน พระอรหันต์ทั้งหลาย หรือพระสาวกทั้งหลาย ท่านก็มีชีวิตตามปกติ ท่านเดินบิณฑบาต แล้วก็มีเรื่องใดที่จะกราบทูลให้พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ ท่านก็กราบทูลเรื่องนั้น แต่ว่าเรื่องนั้น ถ้าไม่ใช่โพชฌงค์ ๗ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ทำให้เกิดความปิติ ความซาบซึ้ง โดยเฉพาะแม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ได้ทรงเห็นการที่พระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา เพื่อที่จะช่วยให้คนทั้งหมด ที่ได้ฟังพระธรรม ได้มีการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายเลย
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องนี้ ไม่ว่าใครพูดก็จะต้องเกิดปิติ เพราเหตุว่าแสนยาก ที่จะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ มีใครที่จะรู้ว่าขณะนี้ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ทั้งกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ ไม่ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาขณะนี้ เพราะมีนามธรรมที่กำลังเห็น สภาพนี้จึงปรากฏ แต่รู้เท่านี้ก็ออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ต้องมีความรู้มากกว่านี้
แต่คิดถึงในยุคสมัย ซึ่งไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นยุคที่ว่างจากคำสอนของพระบรมศาสดา ทุกคนก็มีชีวิตเห็น ได้ยิน ตั้งแต่เกิดจนตาย วนเวียนไป แต่ว่าไม่สามารถที่จะมีปัญญาที่จะรู้ความจริงว่า ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ยากแสนยาก ที่จะสละความเป็นเราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก ในขณะนี้ได้
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีจุดเริ่มต้น คือ การฟังพระธรรมด้วยการพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ เพราะว่าประโยชน์ของการฟัง คือ เพื่อเข้าใจ ถึงแม้สิ่งที่ได้ฟังไม่มาก แต่ว่าพิจาณามาก ไตร่ตรองมาก เข้าใจมากก็จะทำให้หนักแน่น มั่นคง ในเหตุในผลของพระธรรม ไม่ทำให้มีความเห็นผิดไป บางคนอาจจะไม่ทราบว่า ถ้าขณะนี้มีผู้ที่อบรมเจริญปัญญา สามารถเป็นปัจจัยให้ โพชฌงค์เกิด รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรม ที่สามารถจะรู้ได้ ด้วยปัญญาที่อบรมแล้วเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีทางที่มีใครจะคิดได้เลย ว่าขณะนี้สภาพธรรมมีปัจจัยจึงเกิดแล้วดับ แค่นี้ก็ต้องพิจารณาแล้ว
ผู้ฟัง ผมแจกแจงคำพูดของอาจารย์ ที่แม้ใครจะพูดก็ตาม ผู้ฟังเมื่อฟังแล้วก็เกิดปิติ ทำให้หายป่วย ถ้าอย่างสามัญชนอย่างพวกเรา ถ้าหากได้ฟังโพชฌงค์แล้ว ป่วยก็ไม่หาย
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะว่าบุญไม่ถึง หรืออย่างไร บารมีไม่ถึง
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เข้าใจพระธรรมซาบซึ้งจริงๆ เพียงได้ยินชื่อได้ฟังเท่านั้นเอง แต่ไม่ทราบว่าโพชฌงค์คืออะไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ต้องอบรมเจริญอย่างไร เพราะเหตุว่าแต่ละคน แต่ละชาติก็มี อกุศลมากมายเหลือเกิน แล้วทำอย่างไร อกุศลนั้นจะดับได้ ถ้าไม่สละความเป็นเรา ไม่สละความเป็นตัวตน ยังคิดถึงคนอื่นด้วยความโกรธด้วยความพยาบาท ด้วยความชัง หรือว่า ด้วยความเห็นแก่ตัว ยังมีความเป็นเราซึ่งถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า อกุศลมากมายเหลือเกิน แต่ไม่เคยรู้ หวังว่าจะหมดกิเลส แต่ว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ว่าแม้ขณะนี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน แล้วสภาพธรรม มีปัจจัยเกิดขึ้นสั้นมาก แล้วก็ดับไป แล้วก็มีปัจจัยที่จะเกิดสืบต่อ ปิดบัง การเกิดดับของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังธรรมด้วยดี ก็ไม่สามารถที่จะรู้หนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรม ในขณะนี้ได้ ตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะอบรมปัญญาจนถึงความเป็นโพชฌงค์ได้ ซึ่งถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีโพชฌงค์ ๗ แน่นอน ไม่มีโพธิปัคขิยธรรม ไม่มีธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวัน ใครที่คิดจะเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าจะอบรมจนกระทั่งโพชฌงค์ ๗ เกิด หรือว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นจรณะ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก
เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณา จรณะตั้งแต่ข้อที่ ๑ คือ ศีลสังวร ทุกคนซึ่งเป็นชาวพุทธ ก็รู้ ว่า สำหรับคฤหัสถ์ก็ได้แก่ศีล ๕ ถ้าคนที่มีกิเลสมากก็สามารถที่จะล่วง ทุจริตกรรม ล่วงศีล ๕ ได้
แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ ก็จะรู้ได้ว่าเรื่องของกายวาจา ไม่ควรที่จะเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน เพราะเหตุว่าการที่จะเบียดเบียนคนอื่น ด้วยกาย ด้วยวาจาได้ ทุกคนมีความโกรธ แต่ว่า ยังไม่ได้กระทำ กายวาจาซึ่งเบียดเบียนคนอื่น เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ได้ล่วงศีล แต่ถ้ามีความโกรธ แล้วก็ขาดความเมตตา แล้วก็สามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมได้ ขณะนั้นก็จะถึงนิพพานได้ไหม ในเมื่อกิเลสก็มีมากแล้วก็ขณะนั้นก็ไม่รู้ตัวด้วย ว่าเป็นกิเลส ระดับที่สามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมได้
ชีวิตประจำวัน ของคนที่ได้ฟังธรรม ได้ศึกษาธรรม เพื่อหนทางที่จะเดินไปสู่ทางที่จะดับกิเลส ต้องเป็นผู้มีสติที่จะเห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แต่ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ยังจะต้องเกิดอยู่ คนนั้นก็จะรู้ได้ว่า ปัญญาไม่ถึงระดับขั้นที่จะดับกิเลสได้ เพียงสติที่รู้ ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลบ้าง หรือ อกุศลบ้าง ด้วยความเป็นตัวตน ชาวพุทธที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็คงไม่คิด ว่าวันนี้จะไปฆ่าสัตว์ หรือจะทำทุจริตกรรมอะไรบ้าง ก็เป็นผู้ที่อยู่ในศีล เท่าที่ กิเลสยังไม่มีกำลังที่จะทำ ให้ล่วงศีลได้ มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหม ขั้นศีลก่อน หนทางที่จะไปสู่การที่จะอบรมเจริญธรรมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
ผู้ฟัง ปกติก็เห็นโทษของการล่วงศีล แต่ว่าขณะที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องของศีล แล้วขณะนั้นก็กำลังเพลิดเพลินด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ขณะนั้นยังจะชื่อว่ามีศีลหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ล่วงศีล เพราะว่าถ้าพูดถึงศีลต้องเป็นกุศล ด้วยเหตุนี้จึงมีการศึกษาปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป การที่จะวินิจฉัยว่าขณะนั้นเป็นอะไร เป็นศีล มีศีล หรือไม่มีศีลก็ตาม ก็จะต้องทราบว่าขณะนั้นมีจิตเป็นอะไร ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล จะกล่าวว่า มีศีล ก็ได้ แต่เป็นอกุศลศีล เพราะเหตุว่าธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แสดงเรื่องสภาพของจิต แม้แต่การที่จะใช้คำว่า ศีล ข้อความในพระไตรปิฎกก็มี แม้อกุศลศีล คือเป็นผู้ที่เป็นปกติเป็นอกุศล
ผู้ฟัง การสมาทานศีล หรือไม่สมาทานศีลก็เท่ากัน เพราะว่า หลังจากสมาทานอาจะไม่ได้มี กุศลจิตอยู่เลย
ท่านอาจารย์ โดยมากไม่ได้เข้าใจความหมายของ สมาทาน คือ คิดว่าว่าตาม เมื่อพระคุณเจ้ากล่าว ก็กล่าวตาม คือสมาทาน แต่ความจริงโดยศัพท์ สมาทาน หมายความถึง การถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ซึ่งทุกคนเวลาที่เกิดกุศลจิตขึ้น
มีคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนเป็นเด็กเขาชอบตกปลา แล้วก็เห็นปลาตอนหลังก็สงสาร ก็ตั้งใจว่าต่อจากนี้ไปจะไม่ฆ่าสัตว์อีกเลย ขณะนั้นไม่จำเป็นต้องไปกล่าวคำอะไรเลย แต่ขณะนั้นมีเจตนา มีความตั้งใจที่จะถือเอาการไม่ฆ่าสัตว์เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ หลังจากนั้นแล้ว อกุศลจิตก็เกิด มิฉะนั้นแล้วเราก็จะไม่เข้าใจธรรมเลย ถ้าไม่รู้เรื่องของปรมัตถธรรม แต่ธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ขณะที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล สภาพธรรม เกิดแล้วก็ดับไป มีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิด อกุศลจิตก็เกิด ขณะที่อกุศลจิตเกิดจะกล่าวว่ามีศีลไม่ได้ แต่ขณะนั้นไม่ล่วงศีล
ผู้ฟัง แต่ขณะที่มีความตั้งใจ ไม่ได้มีวัตถุที่จะให้ล่วงศีล ไม่ได้มีวัตถุที่จะให้ฆ่า แต่ตั้งใจไว้ว่า จะไม่ฆ่า ขณะนั้นสำเร็จเป็นกุศลขั้นศีลไหม
ท่านอาจารย์ ศีลมีหลายอย่าง เจตนาก็เป็นศีล ขณะนั้นเจตนานั้นเป็นกุศลแน่นอน เจตนาที่จะวิรัติ ไม่เบียดเบียนชีวิตของสัตว์อื่น ขณะนั้นต้องเป็นกุศลจิต แต่ว่าเป็นเพียงเจตนาศีล เพราะเหตุว่าไม่มีวัตถุ ที่จะทำให้วิรัติ แล้วเจตนานั้นก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ก็สามารถที่จะวิรัติได้เวลาที่มีเหตุการณ์เผชิญหน้า คิดถึงการสะสมได้ไหม ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องของวิบาก เพราะเหตุว่าเป็นการสะสมที่จะทำให้คนนั้นเห็นประโยชน์ แล้วก็รู้ว่าควรจะมีความตั้งมั่น ในการที่จะไม่เบียดเบียนคนอื่น
ผู้ฟัง หนูมีความรู้สึกว่า คำว่า อินทริยสังวรจริงๆ ต้องละเอียดถึงขนาดเป็นขั้นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เราจะไม่มีทางที่ว่าจะสำรวมอินทรีย์ได้เลย แต่ทีนี้ก็สงสัยว่าคนที่เขาไม่รู้จักเรื่องสติปัฏฐาน เขาจะสามารถมีอินทริยสังวรได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ชีวิตตามความเป็นจริงไม่ใช่ชีวิตในฝัน หรือว่าในหนังสือ ชาวพุทธทั้งหลายก็เห็นคุณของศีลพยายามที่จะวิรัติ ไม่ให้ล่วงศีลได้ แต่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราแต่ละคนทุกวัน เป็นเพียงแค่ศีลเท่านั้น หรือว่าจะมีการอบรมให้ยิ่งขึ้น เพราะเรารู้ว่ามีกิเลสมากเหลือเกิน กิเลสที่มาจากทางตาก็มาก ทางหูก็มาก ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายครบ ตาก็ต้องการสิ่งที่น่าเพลิดเพลิน แต่บางคนก็เป็นไปในทางที่น่ารังเกียจ หนักหนาสาหัสน่ารังเกียจ หรือว่าทางหูก็เช่นเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความรู้สึกว่า กิเลสมีมาก แล้วถ้าปล่อยชีวิตในวันหนึ่งๆ ให้หนักหนาไปด้วยของอกุศลทั้งหลาย อกุศลก็ต้องพอกพูนเพิ่มขึ้น
ผู้ที่เห็นประโยชน์ ก็รู้ว่าแม้แต่การดู เราชอบสิ่งที่สวยๆ แต่มีศีลก็ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ว่าถ้ามีอินทริยสังวรด้วย ก็รู้ว่าสิ่งใดที่ดูแล้ว กิเลสไม่กำเริบมากที่น่ารังเกียจ เราก็จะเว้นสิ่งนั้น ชีวิตของคนนั้นก็จะเป็นชีวิตที่ดีงามเพิ่มขึ้น นอกจากจะเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ ได้ ก็ยังมีการเห็นประโยชน์ของอินทริยสังวร ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างทางหู เรื่องที่พูดมีมาก เรื่องที่เป็นประโยชน์ จริงๆ คนที่เห็นคุณประโยชน์ ก็จะละเว้นการพูดหรือการฟังเรื่องอื่นซึ่งไร้ประโยชน์ แต่ว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจมากขึ้นดีขึ้น แล้วก็เห็นว่า อกุศลเป็นโทษ เพราะฉะนั้น คนที่เคยสนใจเรื่องของคนอื่น หรือว่าชอบที่จะให้อกุศล ทางหู เป็นไปมากๆ ภายหลังก็จะเห็นโทษได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ถ้ามีการสังวรอินทรีย์ทางหู ได้ยินได้ฟังธรรม แล้วก็สนทนาธรรมต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์กว่าการที่จะปล่อยให้ชีวิตวันหนึ่งๆ เป็นไปในเรื่องของอกุศล
เพราะฉะนั้น ทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย ผู้ที่เข้าใจธรรม แล้วก็รู้ว่ากิเลสมากมายเหลือเกิน ก็จะเพิ่มการเป็นกุศลยิ่งขึ้น โดยเว้นสิ่งซึ่งจะเป็นโทษเป็นภัย
สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐานเลย แต่ก็ยังสามารถที่จะพิจารณาตัวเองได้ ว่าเรื่องใดสิ่งใด ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จะทำให้กิเลสเกิดมาก นี่เป็นระดับ ๑ แต่ถ้าคนนั้นไม่มีโอกาสฟังพระธรรม ก็จะยิ่งรู้ว่า อินทริยสังวรก็มีหลายขั้น จนถึงขั้นที่สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง แต่บางคนที่เขาไม่ได้มีการสะสมที่ว่าจะมี อินทริยสังวรโดยขั้นแบบง่ายๆ ตามที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าบางครั้ง อาจจะเป็นการฝืนความรู้สึกของเขา เหมือนกับเขาเป็นการไม่เป็นปกติของเขา
ท่านอาจารย์ แต่ละคนเมื่อเจริญสติปัฏฐาน แล้วจะทราบได้ว่า อกุศลทั้งหลายยังเต็มเพียบ เพียงแต่ว่าจะเกิดเมื่อไร มากหรือน้อย เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ตรง อุชุปฏิปันโน คือตรงต่อสภาพธรรม ที่เมื่อสภาพธรรมใดเกิดแล้ว เพราะมีปัจจัย แสดงให้เห็นถึงการสะสมของแต่ละบุคคล ตามความเป็นจริง ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสไม่ได้ เพียงแต่อาจจะเบาบ้างบางครั้ง บางขณะ แต่ว่ายังมีเชื้อที่จะทำให้กิเลส ทุกระดับเกิด
ผู้ฟัง คนที่มีการสะสมที่ว่าจะดูหนัง ดูละคร จริงๆ แล้ว ถ้าสมมติเขาดูหนัง ดูละคร แต่ว่า หรือว่าอยู่ในที่ ที่เป็นที่เงียบสงบ หรือว่าปลีกออกไป จริงๆ มันอยู่ที่ใจ ไม่ใช่หรือ
ท่านอาจารย์ ดูหนัง ดูละคร หนังก็มีหลายประเภท ละครก็มีหลายประเภท คนดูในที่นั้นจะรู้ได้เลย คนที่กำลังดูหนังประเภทไหน กิเลสระดับไหน และคนที่ดูหนัง ดูละครตามปกติธรรมดา ก็เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นจะอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ ต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ถึงไม่ดูหนัง ดูละครกิเลสก็เต็ม จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว จะรู้ว่าตัวเองมีกิเลสมากมาย ผมอยากจะทราบว่าสังเกตได้จากอะไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นทั้ง ๒ อย่าง
ท่านอาจารย์ โดยฟัง หรือว่าโดยสติระลึก
ผู้ฟัง โดยสำนึก
ท่านอาจารย์ โดยสติระลึก หรือโดยฟัง เข้าใจ นี่ก็เห็นแล้ว ใช่ไหม ว่ากิเลสมากแค่ไหน
ผู้ฟัง ตอนนี้ยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ข้อยุติ คือถ้าเผื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ก็แสดงว่ายังเต็มไปด้วยกิเลสรอบตัว
ผู้ฟัง หมายความว่ายิ่งเรียนไป ยิ่งรู้ว่าตัวไม่รู้ คล้ายๆ อย่างนั้น เปรียบเทียบคล้ายๆ อย่างนั้นจะเข้าใจกว่า
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพียงแค่ขณะที่กำลังเห็น เรายังไม่ทราบเลยว่าขณะนั้น เป็นอกุศลระดับไหน อาสวะ เห็นไหม คิดว่าไม่มี แต่ความจริง เกิดแล้วเร็วมากทีเดียว
บางคนก็จะถามว่าพระผู้มีพระภาค ทรงบรรทมหรือเปล่า ก็คงจะเป็นเวลาประมาณนี้ หลังจากที่ได้กระทำ ภัตตกิจแล้ว แล้วก็มีพวกที่ไปเฝ้ากราบทูลถามธรรม ถ้าพระองค์มีพระพุทธประสงค์ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์ครู่หนึ่ง โดยพระปรัศว์เบื้องขวา บางคนก็จะถามว่าพระผู้มีพระภาค ทรงบรรทมหรือเปล่าแม้แต่ในเวลากลางวัน ถ้าทรงพระประสงค์ หมายความว่าพระองค์ทรงทราบดี ว่าขณะนั้นสมควรที่จะกระทำอย่างไร นี่ก็ตอนหนึ่ง อีกตอนหนึ่งคือพระผู้มีพระภาค ทรงแบ่งปัจฉิมยาม ออกเป็น ๓ ส่วน ทรงให้ส่วน ๑ ล่วงไปด้วยการจงกรม ชีวิตของแต่ละคน ก็อาจจะกระทำสิ่งที่มีประโยชน์ ได้เพราะเหตุว่า ตอนกลางวันก็คงจะนั่งมาก ถ้าตอนกลางคืนก็คงจะเดินบ้าง
แต่สำหรับพระผู้มีพระภาค ตั้งแต่เช้า จนกระทั่งถึงเกือบทั้งวันทั้งคืน ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ซึ่งยากแสนยากที่ใครจะกระทำได้ ตั้งแต่เช้า คิดถึงตอนที่ยังไม่สว่าง แบ่งปัจฉิมยามออกเป็น ๓ ส่วน ทรงให้ส่วน ๑ ล่วงไปด้วยการเดินจงกรม เพื่อจะทรงปลดเปลื้องความบอบซ้ำแห่งพระวรกาย ซึ่งถูกการนั่ง จำเดิมแต่ปุเรภัตบีบคั้น ตั้งแต่ก่อนที่จะเสวยภัตตาหาร คือปุเรภัต แต่ว่า หลังจากเสวยแล้วก็เป็น ปัจฉาภัต ในส่วนที่ ๒ พระองค์เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา คนเราถ้าจะนอนก็ต้องมีเวลา เพราะฉะนั้น เวลาของแต่ละคนที่นอน ก็จะต้องต่างกัน บางคนอาจจะนอนกลางวันมาก บางคนก็อาจจะนอนกลางคืนมาก แต่ผู้ที่มีชีวิตที่เป็นประโยชน์มาก การนอนจะน้อยมาก คือในส่วนที่ ๒ พระองค์เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จ สีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ในส่วนที่ ๓ พระองค์เสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง ตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 541
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 542
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 543
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 544
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 545
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 546
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 547
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 548
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 549
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 550
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 551
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 552
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 553
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 554
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 555
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 556
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 557
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 558
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 559
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 560
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 561
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 562
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 563
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 564
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 565
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 566
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 567
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 568
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 569
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 570
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 571
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 572
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 573
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 574
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 575
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 576
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 577
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 578
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 579
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 580
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 581
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 582
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 583
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 584
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 585
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 586
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 587
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 588
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 589
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 590
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 591
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 592
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 593
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 594
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 595
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 596
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 597
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 598
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 599
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 600