ปกิณณกธรรม ตอนที่ 564


    ตอนที่ ๕๖๔

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเห็นทางตา จะไม่มีอย่างอื่นเลย มีแต่จิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ ตามลำดับทีละ ๑ ขณะ แต่ว่าเป็นไปด้วยความรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น เลยไม่เห็นการเกิดดับซึ่งสืบต่อ ก็ทำให้เหมือนกับว่ามีการเห็นอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีเราเลย เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่สภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมเกิดขึ้น แล้วก็ทำหน้าที่ คือทำกิจต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาเรียนเรื่องวิถีจิตนี้ ก็คือเรียนเรื่องกิจ หน้าที่ของจิต เพราะว่าจิตทุกประเภทที่เกิด จะเกิดขึ้นทำหน้าที่เฉพาะกิจของตน แล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่า รูปภายในกับรูปละเอียด มีความหมายเดียวกัน หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ รูปหยาบ คือรูปที่พอจะรู้ได้ว่ามี แต่ในรูปหยาบทั้งหมด ๑๒ รูป ก็ยังมีเพียง ๗ รูป ซึ่งปรากฏเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นภายนอก แต่ภายใน ก็คือ ปสาทรูป ๕ ถ้าเข้าใจความหมายของภายในก็จะไม่ลืมเลยว่ารูปทั้งหมดที่เป็นภายในมี ๕ รูป คือปสาทรูป ๕ เท่านั้น

    ผู้ฟัง ตอนแรกเข้าใจว่า เข้าใจว่าขณะที่เป็นรูปารมณ์ กระทบกับจักขุปสาท ซึ่งแสดงถึงความละเอียดว่า แม้แต่ภวังคจิตยังไหว หนูก็เลยคิดในใจว่า ภวังคจิต ไม่เกี่ยวกับทางที่ผัสสะกระทบกับสี เพราะทราบว่า ภวังคจิตเป็นชาติของวิบาก แต่ทำไมถึงไหว ไหวเพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ จะใช้คำอย่างไร ก็ตามให้เข้าใจก็แล้วกันว่าภวังคจิตมีอารมณ์ของภวังค์ แล้วก็ปสาทรูปกระทบกับจักขุปสาท ซึ่งก็ต้องเหมือนกับกระทบกับภวังค์ด้วย มิฉะนั้นแล้วจะรู้อารมณ์นั้นไม่ได้ แต่จะรู้ทันทีไม่ได้

    คำว่า จลนะที่นี่ ไม่ใช่ไหว อย่างรูปไหว แต่หมายความว่าเริ่มถูกอารมณ์กระทบตั้งแต่ อตีตภวังค์ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นภวังค์ต่อไปอีก ๒ ขณะ ซึ่ง ๒ ขณะ ก็มีชื่อต่างกัน ถ้าเป็นภวังคุปปัจเฉทะ ก็หมายความว่าสิ้นสุดกระแสของภวังค์ จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้ ระหว่างกระทบกับยังไม่สิ้นสุดกระแสภวังค์ ก็ใช้คำว่า ภวังคจลนะ

    ผู้ฟัง ผัสสเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณจิต ที่จักขุปสาทรูปก็เลยเป็นปัจจัยให้เกิดจิตเห็นเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า หทยวัตถุ เป็นทวารไม่ได้เลย เป็นเพียงที่เกิดเท่านั้น อย่างขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขณะแรก มีอารมณ์ แต่ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด แต่ว่าต้องอาศัยวัตถุ คือ หทยรูป เป็นที่เกิด

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าขณะนี้ทุกคนมีหทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต แต่หทัยรูปไม่ทำให้เห็น ไม่เป็นปัจจัยที่จะกระทบสี หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ ก็มีความต่างกันของรูปที่เป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิด กับ รูปซึ่งเป็นทวาร เวลาที่เรามีชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราก็อาศัยทวาร รูปที่เป็นทวารตลอดเวลา เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง นี้ต้องอาศัยรูปซึ่งเป็นทวาร เพราะฉะนั้น ปสาทรูป ๕ จึงเป็นรูปภายในที่เกี่ยวข้องกับจิตที่จะทำให้รู้อารมณ์ ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์

    ผู้ฟัง รูปที่เป็นทวาร ถึงจะนับว่าเป็นรูปภายใน

    ท่านอาจารย์ ใช่ มี ๕ รูปในบรรดา รูป ๒๘ รูป รูปภายในมี ๕ รูป ที่อาศัยจริงๆ อาศัยเรื่อยๆ อาศัยทั้งวัน ก็คือ ๕ รูปนี้

    ผู้ฟัง แต่ที่จริงแล้ว หทยวัตุอาศัยมากกว่าทั้ง ๕ รูป

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่ไม่มีการรู้ หทยวัตถุ ไม่ได้ช่วยให้เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ถ้าไม่มีจักขุปสาท มีหทยวัตถุ จิตก็เกิด เกิดดับ โดยที่ไม่เห็น เพราะฉะนั้น ที่จะได้เห็น ที่จะได้ยิน ที่จะได้กลิ่น ที่จะรู้รส ที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะรูป ๕ รูปนี้ จึงเป็นรูปภายใน

    ผู้ฟัง สำหรับการเกิดดับของนามรูป มีปัญหามาก เพราะว่าไม่เข้าใจว่า การเกิดดับ เพราะว่าเรารู้ว่าจิตเกิดดับรวดเร็ว ลัดนิ้วมือหนึ่งเกิดดับแสนโกฏิขณะ เพราะฉะนั้น การจะเห็นการเกิดดับของนามธรรม จะเห็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ของลักษณะใดที่เกิดแล้วดับเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปคิดถึงกี่ขณะ ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่ปรากฏเหมือนเดี๋ยวนี้ สภาพธรรมปรากฏ แล้วปัญญาสามารถที่จะประจักษ์การเกิดและการดับของสภาพธรรมหนึ่ง ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกี่ขณะ

    ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ รูปต่างๆ หรือสี ถ้าเกิดสติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพธรรมทางหู คือเสียง ก็รู้ว่าไม่มีสี ในขณะนั้น ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณที่เห็นความเกิดดับ จะเห็นต่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณทั้งหมด ทางมโนทวาร เห็นความต่างหรือยัง ระหว่างขณะนี้มโนทวารไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่อันนี้รู้ โดยการคิด

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ได้คิดอย่างนี้ แต่ประจักษ์อย่างนี้

    ผู้ฟัง เหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เหมือนอย่างที่พูดทุกอย่าง ทุกคำ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมจะเห็นได้ว่า เราอ่านมาก ความเข้าใจของเรา แค่ไหน แล้วเราก็อ่านไปอีกๆ ๆ แล้วความเข้าใจของเราแค่ไหน

    เพราะเหตุว่าการศึกษาหรือการอ่านพระไตรปิฎก เป็นการเริ่มที่จะเห็นพระคุณ คือพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ได้ศึกษาหรือว่าไม่ได้ฟังพระไตรปิฎกโดยตรง เราไม่มีทางที่จะรู้จักหรือว่า จะได้เข้าใจได้เห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าใจทุกอย่างในพระไตรปิฎก ซึ่งทรงแสดงหรือตรัสโดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องรู้กำลังสติปัญญาของเราว่าเราสามารถจะเข้าใจอะไรได้แค่ไหน เพราะว่าเรื่องจะโยงกันไปยาว ถ้าพูดแล้วเรายังไม่มีความเข้าใจในตอนต้น แล้วเราจะไปฟังคำอธิบายในเรื่องนั้นให้เข้าใจ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาทุกวิชา ก็ต้องเริ่มต้นจากขั้นต้นไปเรื่อยๆ ให้เข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วบางคนก็อาจจะมีความใจร้อน หรือว่าคิดว่าเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังแล้วแต่ว่าเพียงผ่านหู เพียงจำได้ เพียงรู้ว่าคำนั้นออกเสียงว่าอะไร แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจในอรรถ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ แล้วหรือยัง นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแต่ละคนจะรู้ว่า การที่จะศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตาม คำใดก็ตาม ที่จะช่วยทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีก่อน ถ้าเพิ่งก้าวไปถึงเรื่องโน้น เรื่องนี้ เรื่องนั้น แล้วก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าความหมายจริงๆ ของคำนั้นคืออะไร อาจจะรับฟังโดยคำพูดหรือว่า อาจจะอ่านหนังสือ ไปพบในสูตรอื่นๆ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าปัญญาของผู้ที่กำลังศึกษา กำลังฟัง ไม่ถึงระดับนั้น เพราะฉะนั้น เราก็เป็นผู้ที่รู้ตัวของเราเองว่าฟังเรื่องอะไร จะทำให้เข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อันนี้จะเป็นประโยชน์มาก

    ผู้ฟัง เราไม่พึงเสพ เรากล่าวว่าไม่พึงเสพ ไม่พึงเจริญ ไม่พึงทำมากๆ เหมือนกับว่า ไม่ให้เกิดความสุข จากการเห็น จากการได้ยิน ตรงนี้เป็นความเข้าใจถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้า ห้ามใครได้ไหม

    ผู้ฟัง ห้ามไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงโดยตลอดว่าความจริงคืออย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องแล้วแต่ว่าใครสะสมมา ที่จะไม่ยินดีในความสุขของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทราบไหมใคร

    ผู้ฟัง พระอนาคามี

    ท่านอาจารย์ พระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น พระธรรมไม่ใช่ให้ทำ พออ่านแล้วก็คิดอยากจะทำ ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งทำไม่ได้ เป็นเรื่องการที่จะต้องรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมที่จะต้องมีการอบรมเจริญปัญญาตามลำดับ ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของใครที่พยายามจะทำ ด้วยความเป็นตัวตน ไม่มีคำสอนที่แสดงให้ทำด้วยความเป็นตัวตน แต่เวลาที่อ่านต้องอ่านว่า ธรรมอย่างไร เป็นอย่างไร ก็ทรงแสดงอย่างนั้น จึงได้ทรงแสดงความสุขที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ ความสุขที่เกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ความสุขที่เกิดจากความสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็ทรงแสดงหนทางด้วยว่าหนทางอย่างไรที่จะทำให้ได้รับความสุขอย่างนั้น ไม่ใช่ว่ากล่าวไว้แล้วไม่แสดงหนทาง แต่มีหนทาง แต่หนทางนั้นก็บังคับกันไม่ได้

    เพียงแต่จะให้ฟังพระธรรม ก็ยังบังคับกันไม่ได้ บอกก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่าผู้นั้นมีศรัทธา เห็นประโยชน์ แล้วก็ฟัง หรือว่ารำคาญมาก พอพูดถึงธรรมก็ไม่ยอมฟังเลย นั่นก็เป็นเรื่องซึ่งเห็นได้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำ แต่เป็นเรื่องต้องเข้าใจ

    ธรรมทั้งหมดที่กำลังมีในขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าใครคิดจะทำ มีความไม่รู้ในลักษณะของธรรมว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่คิดจะทำแสดงว่าไม่มีความเข้าใจถูก จะทำ จะอ่านพระสูตร หรือว่าพระไตรปิฎกทั้งหมด ด้วยความเข้าใจผิด คิดว่าสามารถที่จะทำได้

    ผู้ฟัง การที่ว่าจะทำ กับ ความเข้าใจ เข้าใจเรื่องสภาพตามที่ปรากฏ หมายถึงว่าไม่ใช่ว่าจะเข้าใจ หรือว่าจะทำให้เข้าใจ ด้วยความที่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ต่างกันมาก ขณะนี้ถ้าฟัง เข้าใจว่าเป็นธรรมทั้งหมด แค่นี้จะทำอะไรได้ นอกจากเข้าใจตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่มีจริง เห็นเป็นสิ่งที่มีจริง แต่จะทำอะไรให้ไม่เห็น ได้ไหม

    ผู้ฟัง ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจธรรมทุกขณะโดยที่ว่าไม่สามารถที่จะมีช่องว่างด้วยความเข้าใจผิดที่จะทำ ขณะนั้นก็ต้องเป็นความไม่เข้าใจธรรม จึงทำ แต่ถ้าเป็นความเข้าใจธรรม ก็ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มี จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    การละคลายอกุศลทั้งหมด เป็นเรื่องของปัญญา แต่ไม่ใช่เรื่องของเรา ซึ่งเป็นตัวตนที่สามารถจะไปบันดาลได้ มิฉะนั้นแล้วทุกคนหมดกิเลสวันนี้ได้ เห็นอกุศล ทำให้หมดกิเลส เป็นไปไม่ได้นอกจาก เริ่มเข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่ตัวตนเสียก่อน

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดถึงเรื่องโน้น เรื่องนี้ การคิดถึงตนเองจะทำให้เรารู้ว่า มีกิเลสมากมายแค่ไหน เพราะว่าบางคนอาจจะคิดว่าเขามีปัญญามากแล้ว เขาเรียน เขาฟังมากมาย อ่านพระไตรปิฎกแล้ว แต่ว่าจริงๆ แล้วทรงเตือนแม้แต่คำพูดว่าคำพูดอย่างไร ควรจะเป็นคำพูดที่แสดงว่า คนนั้นไม่มีกิเลส เพราะเหตุว่าถ้าเป็นคำพูดที่ยังพูดถึงคนอื่นด้วยการที่ขาดความเมตตา เราเองก็จะทราบว่า เราพูดขณะนั้นด้วยจิตอะไร กิเลสเกิดแล้วปรากฏแล้ว ทำให้รู้สึกแล้วว่ายังมีกิเลสมาก

    เพราะฉะนั้น ทั้งกายทั้งวาจา เป็นเครื่องที่จะส่องถึงสภาพของจิต ถ้ามีแต่จิต ไม่มีร่างกายเลย ไม่มีรูปเลย ใครจะรู้ว่าจิตใครเป็นอะไร เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลก็ไม่ทราบ แต่เพราะมีกาย กับมีวาจา กายใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นเป็นไปกับวาจา ผู้ที่มีปัญญาก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้น เป็นไปด้วยกุศลจิต หรือด้วยอกุศลจิต

    การเดินไปดื่มน้ำ เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต อกุศลจิต ถ้าไม่มีการเดินไปดื่มน้ำ จะรู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิตเกิดแล้ว แต่พอมีการกระทำทางกาย แม้เพียงอย่างนี้ คนนั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่านั่นเป็นอกุศลศีลทางกาย คำพูดใดๆ ซึ่งเป็นการชมกันก็ดี หรือว่าเป็นการยกย่องกันก็ดี ขณะนั้น ด้วยกุศลจิตหรือด้วย อกุศลจิต หมายความว่าต้องพิจารณาจิตที่มีความอ่อนน้อม เคารพในคุณความดี ไม่ใช้ให้พูดเพื่อที่จะให้เขาเกิดรักเราหรืออะไรๆ ก็แล้วแต่ อาจจะได้ลาภ ผล หรืออะไรก็แล้วแต่ แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูด ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับสภาพของจิต แล้วจริงๆ แล้ว ก็ถ้าเป็นคุณความดี เรามีความอ่อนน้อม นอบน้อมในคุณความดี ไม่ว่าของใคร

    เพราะฉะนั้น การที่จะมีกุศลจิตที่จะอ่อนน้อมในบุคคลใดก็ตาม ก็คือเฉพาะกาลๆ คือเฉพาะขณะที่เป็นกุศลจิตเท่านั้น ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร อาจจะเป็นครูบาอาจารย์ มีความรู้ทางธรรม เราได้ฟังธรรมเขามานานก็ตาม แต่ว่าเราก็ยกย่อง นอบน้อมเคารพเฉพาะสิ่งที่เป็นกุศล ถ้าเขาเกิดโกรธขึ้นมาซึ่งเขาก็ต้องโกรธ ถ้าเขาไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่ใช่พระอนาคามี เราจะยกย่องขณะที่ความโกรธเกิดขึ้นไหม แม้ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม

    เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง แล้วก็เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการที่จะให้เกิดปัญญาจริงๆ ฟังธรรม อย่าตามตัวหนังสือไป โดยที่ไม่รู้ว่ามุ่งหมายอะไร เพื่ออะไรในการฟัง หรือเพื่อใคร แม้ว่าจะตรัสมาแล้วต้อง ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่ว่าพระธรรมก็ยังเหมือนกับตรัสกับทุกคน ที่ฟัง ที่ศึกษา ด้วยความเคารพ ด้วยความเข้าใจว่าทรงแสดงเพื่อเรา กับเราโดยตรง แม้แต่ในเรื่อง อรณวิภังคสูตร นี่ก็ตาม ก็เป็นการแสดงให้ระลึกถึงกาย วาจาของเราซึ่งละเอียดมาก อาจจะคิดว่ามีปัญญามากมาย แต่ขณะใดอกุศลจิตเกิด ก็แสดงว่ายังมีอกุศลจิตที่จะต้องละ

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเรายกย่องคนเพื่อเป็นการอุทาหรณ์ประกอบ เพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น โดยเจตนาบริสุทธิ์ จะเป็นธรรมไหม ควรยกย่องไหม

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงษ์ลองเปรียบเทียบ ถ้าคุณเด่นพงษ์ พูดถึงความดีว่าทำอย่างนี้ดี โดยที่ไม่ต้องมีชื่อ เพราะคนที่เรายกย่องเขาเป็นใคร ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคลก็ยังมีอกุศล แล้วจะยกย่องตอนที่เป็นอกุศลหรือเปล่า ถ้าเรารวมไปเลย ยกย่องบุคคล แต่ถ้าเราพูดถึงธรรม เรายกย่องถูกไหม คือยกย่อง คือเคารพนับถือในขณะที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะสอนเด็กให้รู้ว่าอะไรคือความดี แล้วให้เขากระทำสิ่งที่ดี แทนที่จะยกบุคคลขึ้นมาก็ได้ นอกจากว่าบุคคลนั้น เป็นผู้ที่มีความดีมากๆ ทุกคนเห็น แต่แม้กระนั้น เราก็ต้องบอกให้รู้ว่า เมื่อบุคคลนั้น ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังต้องมีอกุศลอยู่

    ผู้ฟัง คุณเด่นพงษ์เข้าใจว่าการอบรมสติปัฏฐาน กับการเจริญเมตตา ขัดกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่ขัดกัน

    ผู้ฟัง ไม่ขัดกัน เพราะว่าเป็นไปตามปกติ

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เริ่มต้นที่คุณเด่นพงษ์คิดว่า ฟังธรรมแล้วก็จะปฏิบัติอย่างไรถูก ใช่ไหม จริงๆ แล้ว ถ้าเราทราบความหมายของคำว่า ธรรม ก็ทราบว่าเป็นสภาพที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น การที่จะมีความเห็นถูก ก็คือเห็นถูกว่า สิ่งที่กำลังมีจริงในขณะนี้ทั้งหมด เป็นธรรมแต่ละอย่าง โดยไม่คิดว่าเราจะทำอย่างไร ถ้าขณะใดที่คิดว่าเราจะทำอย่างไร ก็คือว่าเรายังคงมีเรา ยังไม่ได้มีการเข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา ก็มีการพยายามที่จะหยุดบ้าง จะปล่อยบ้าง จะอะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดนั้นก็คือไม่สามารถที่จะทำให้เห็นว่าเป็นธรรม เพราะว่าเป็นเราที่กำลังพยายาม

    แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าธรรม เป็นธรรมจริงๆ จริงๆ นี่แน่นอนที่สุดว่าจะเป็นอื่นไปไม่ได้ แต่ทีนี้ความเข้าใจของเราที่จะ เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา มีแค่ไหน จากการฟัง ฟังเรื่องราวแต่ก็ยังเป็นเรา เพราะฉะนั้น จะเห็นความลึกซึ้งเหนียวแน่นของการที่ยึดถือสภาพธรรม ด้วยความไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีปัจจัยเกิดสั้นมาก ระหว่างที่คุณเด่นพงษ์คิดว่าจะทำอย่างไร แท้ที่จริงขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้น สอดคล้องกับที่คุณสุรีย์ถามตอนเช้าที่ว่า รู้ทั่ว ไม่ใช่ไปให้หยุดไม่เป็นลูกเจี๊ยบ หรือว่าไม่ใช่ให้เห็นเป็นหน้าต่าง อย่างนั้นไม่ใช่รู้ทั่ว

    รู้ทั่ว คือ ปกติเป็นอย่างไร เป็นธรรมทั้งหมด ทั้งหมดเลย กุศลก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม คิดอย่างนี้ก็เป็นธรรม คิดอย่างอื่นก็เป็นธรรม ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ความเข้าใจของเราต้องมั่นคง ตั้งแต่ขั้นการฟังว่า เมื่อทุกอย่างเป็นธรรม แล้วเมื่อไรจะมีความรู้ ความเห็นถูก เพราะว่าไม่ใช่เรื่องการทำ แต่เป็นเรื่องการสะสมความเข้าใจในลักษณะของธรรมเพิ่มขึ้น จนกว่าจะประจักษ์ความจริงว่า ธรรมจริงๆ ตรงตามที่แสดงจากการตรัสรู้ทุกอย่าง แม้แต่สภาพธรรมที่ว่าเกิดแล้วดับ ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น แต่ไม่ใช่เป็นจริงด้วยการไปทำขึ้นมารู้ หรือพยายามทำ นั่นไม่ใช่ปัญญา

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็คือความ เข้าใจถูกซึ่งค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้นเรื่อยๆ แล้วไม่ต้องคิดถึงผล เหมือนอย่างกับการจับด้ามมีด จับไปไม่ต้องไปคิดว่า เมื่อไรด้ามมีดจะสึก เพราะว่าจับไปแล้วคิดไปว่าเมื่อไรด้ามมีดจะสึก ก็ไม่ทำให้ด้ามมีดสึกได้ แต่จะสึกก็ต่อเมื่อจับ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะไม่มีการไปทำอะไร เพราะว่ารู้ความจริงว่าไม่มีใครทำ สภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย เลิกคิดที่จะทำ

    ผู้ฟัง ผมกราบเรียนถาม เพื่อให้เห็นวิธีทางที่ถูกต้อง วิธีทางที่ถูกต้อง ถ้าเผื่อฟังไปๆ ๆ แล้วมันก็ฟังไป มันก็ฟังไป แล้วมันก็หงุดหงิดไป เพราะมันไม่รู้สักที ก็เลยอยากจะหาวิธีว่าฟังอย่างไร วิเคราะห์อย่างไร ฟังอย่างไร มันถึงจะเห็นหน้าต่างไม่เป็นหน้าต่าง เห็นลูกเจี๊ยบให้เป็นลูกเจี๊ยบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ฟัง เข้าใจ ฟังเพื่อเข้าใจเท่านั้น ไม่ต้องไปคิดเรื่องจะปฏิบัติหรือ จะไปเห็นหน้าต่าง ไม่เป็นหน้าต่าง นั้นเรื่องคิด แต่ความจริง ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ต้องฟังให้เข้าใจว่าเป็นธรรมซึ่งไม่มีใครทำได้ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่กำลังเห็นก็เกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ สิ่งใดที่จะปรากฏได้ หมายความว่า สิ่งนั้นต้องเกิด แต่เมื่อไม่เห็นความเกิด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ว่า แท้ที่จริง ทุกอย่างที่ปรากฏเพราะเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ สืบต่ออย่างเร็วมาก ไม่ต้องทำอะไรเลย ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้ามีความเห็นถูกสะสมไปก็เห็นถูก ขึ้นทุกที ไม่มีการจะไปทำอะไรเลย แต่ถ้ายังคิดจะทำอยู่ก็ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ ยังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเห็นลูกเจี๊ยบ กรณีเมื่อกี้ที่อาจารย์ถามว่า ผมมองในลักษณะของมีเมตตาจิตกับไก่ หรือว่ามองเพื่อจะให้เห็นว่าเป็นสีเฉยๆ อันมองเป็นเมตตา น่าจะดีกว่า ถ้าอย่างนั้น ลักษณะสามัญชน ปุถุชนอย่างผม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดคือการคิดล่วงหน้า การคิด เกิดแล้วดับ แล้วคิดเรื่องข้างหน้า ซึ่งเรื่องข้างหน้าจะเป็นลูกเจี๊ยบหรือไม่ใช่ลูกเจี๊ยบ ก็ไม่มีใครสามรถที่จะบอกได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามซึ่งสภาพธรรมยังไม่ปรากฏ จะมีจิตที่คิดแล้วก็ดับ เรื่องอะไรทั้งหมดที่กำลังถูกคิด ขณะนั้นเพราะจิตคิดเรื่องนั้นแล้วก็ดับ เวลานี้คุณเด่นพงษ์เปลี่ยนจากเรื่องลูกเจี๊ยบไปเป็นเรื่องอื่น ขณะนั้นก็เพราะจิตคิดเรื่องอื่นเกิด เพราะฉะนั้น เราบอกไม่ได้เลยว่าจะคิดอะไร แต่ว่าไม่ต้องห่วงถึงสิ่งซึ่งยังไม่เกิด ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องลูกเจี๊ยบข้างหน้า ก็จะไปสงสารอย่างไร เมื่อไรอย่างไร ก็คือขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจสภาพธรรมขณะนี้ได้ จริงๆ จะตอบปัญหาทุกปัญหา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    6 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ