ปกิณณกธรรม ตอนที่ 566
ตอนที่ ๕๖๖
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ ถ้าใครจะเรียนธรรมเพื่อหวังอะไร นั่นผิดตั้งแต่ต้นเลย หวังให้สติเกิด หวังรู้แจ้งอริยสัจธรรม หวังเป็นพระโสดาบัน พอฟังไปฟังมายากนักก็เลยไปไหนไม่ทราบ นั่นก็คือไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการอบรมปัญญา ถ้าปัญญาไม่เกิดไปไหนปัญญาก็ไม่เกิด จะไปฟังอะไร จะไปอ่านอะไร ปัญญาก็ไม่เกิด แต่ว่าการที่จะต้องรู้ว่าปัญญารู้อะไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ปัญญารู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏแสนสั้นเพียง ชั่วขณะที่ปรากฏ ให้ทราบว่าทุกอย่างปรากฏสั้นมาก คือชั่วขณะที่ปรากฏ ใครที่คิดว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากมาย มีที่ดิน มีอะไรต่างๆ ปรากฏหรือเปล่า คิด-ถึง เท่านั้น จริงๆ ไม่ได้ปรากฏเลย
สิ่งใดก็ตามที่เป็นปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริง ปรากฏเมื่อเห็น ปรากฏเมื่อได้ยิน อย่างได้ยินปรากฏเมื่อได้ยินแล้วก็หมด หมดจริงๆ ดับจริงๆ ไม่กลับมาอีกเลย นี่คือการที่จะต้องค่อยๆ คล้อยตาม ด้วยความเข้าใจถูกต้องว่าสภาพธรรม ไม่ใช่ของใคร ใช้คำว่า ธรรม คือเป็นสภาพธรรม ธาตุแต่ละอย่าง แต่ละลักษณะซึ่งมีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีความกังวลว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ด้วย แต่ว่าสภาพธรรมใดมีปัจจัยเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เกิด เช่น เวลาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ได้กลิ่นที่น่าพอใจ ความติดข้องก็เกิด ก็เป็นธรรมดา จะไม่ให้มีความติดข้องได้อย่างไร ในเมื่อมีความไม่รู้ ความจริงของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น ประการสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา คือ ทรงสอนให้คนฟังเกิดปัญญา ของตัวเอง เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญา หรือถ้าปัญญาไม่เกิด ก็จะไม่รู้ความจริงใดๆ ที่กำลังปรากฏ และก็ละ ความไม่รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะศึกษาอย่างไรก็ตาม เพื่อเข้าใจถูก เพื่อเห็นถูกตามความจริงของสภาพธรรมนั้น เท่านั้นไม่ได้ไปต้องการอะไร ถ้าต้องการคือไม่ได้
วิทยากร. จริงอย่างว่า เพราะว่าความตาย ถ้าว่าโดยสภาวะแล้ว เป็นปรมัตถ โดยบัญญัติ ไม่ใช่ตายอย่างแท้จริง ขณะนี้รูปเกิดแล้วรูปดับ นามเกิดแล้วนามดับ ได้ดับนั้นคือความตายของรูป หรือของนาม ขณะที่เรานั่งอยู่ รูปก็เกิดตายเกิดตาย นับไม่ถ้วน นามก็เกิดตายเกิดตายนับไมถ้วน เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปเกิดตายเกิดตายในโลกอื่น อีก เป็นอยู่อย่างนี้ นี้คือรู้ตามความเป็นจริง ว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นแต่เพียงรูปกับนาม เกิดดับเท่านั้น เมื่อเราเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ ก็ไม่เศร้าโศก ไม่เสียใจ การที่เกิดดับ เกิดดับอย่างนี้เป็นทุกข์ ในภพภูมิ ๓๑ ภูมิ เพราะว่าไม่สามารถที่จะพ้นจากความเกิดดับได้ พระองค์ก็พิจารณาว่า ถ้ายังอยู่ใน ๓๑ ภูมิ ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงสอนให้เจริญสติปัฏฐาน เพื่อจะออกจากภพภูมิ ๓๑ ภูมินี้ ไปสู่พระนิพพาน ซึ่งไม่เกิด ไม่ดับ เป็นสุขอย่างยิ่ง แต่ว่าอยู่ที่ความสามารถของบุคคล ไม่ใช่ว่าจะไปได้ทุกคน บางคนก็หลายอสงไขย กว่าจะออกจากวัฏฏะได้ บางคนก็ไม่มีทางที่จะออกจากวัฏฏะได้เลย เพราะไม่อบรม ไม่เจริญสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ทำไมคุณบง ไม่กลัวความตายอย่างนี้ ที่อาจารย์สมพรท่านกล่าวว่ากำลังตายทุกขณะ ทำไมไม่กลัวความตายอย่างนี้
ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจอย่างที่ท่านอาจารย์สมพรกล่าวแล้วก็ จะไม่กลัวตาย เพราะว่าตายอยู่ทุกขณะอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เดี๋ยวนี้ตาย แล้วทำไมไม่กลัว ตายทุกขณะเดี๋ยวนี้ ทำไมไม่กลัว
ผู้ฟัง นึกคิดอย่างนี้ ทุกๆ วัน
ส . อาจารย์สมพรท่านก็บอกแล้ว จิตก็เกิดแล้วก็ดับ รูปก็เกิดแล้วก็ดับ คือ ขณิกมรณะ ใช่ไหม ทำไมไม่กลัวความตายอย่างนี้
ผู้ฟัง ไม่กลัว เพราะว่ามันยังเห็นเหมือนเดิมอยู่ ความคิดเป็นอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เพราะว่ายังไม่ได้พลัดพรากจากอะไรทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดสืบต่อก็เหมือนเดิม มีปัจจัยที่จะทำให้ปรากฏเหมือนเดิม ก็ไม่ได้มีการสูญอะไร ไม่เหมือนกับความตาย ซึ่งไม่เหมือนเดิม พรากจากทุกสิ่งทุกอย่างหมดสิ้น ก็กลัวว่าจะพ้นจากสภาพต่างๆ เหล่านั้น แต่ขณิกมรณะถึงเกิดตายอย่างไร ก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อ เหมือนเดิม ยังไม่ใช่เป็นการพลัดพราก แล้วเวลาที่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมจริงๆ กลัวหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่กลัว
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ ไม่ ขณะที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับจริงๆ กลัวหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่กลัว
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นแต่สภาพธรรมเท่านั้น
ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้ว กลัว สูญหมดไม่มีอะไรปรากฏเลย ทั้งโลกซึ่งเคยเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นที่อยู่ เป็นเพื่อนฝูง เป็นอะไรไม่มีเลย มีแต่สภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏไม่มีสิ่งอื่นเลย ทั้งสิ้น นั่นคือสูญ ใช่ไหม ไม่มีสิ่งใดปรากฏเลย
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ แต่สภาพนั้น มันนานๆ เกิดเสียที
ท่านอาจารย์ เกิดแล้วยัง นานๆ เกิด เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ถ้าปัญญายังไม่เกิดจริงๆ จะมีแต่ความกลัว สภาพธรรมที่เกิดดับไม่ใช่สิ่งที่ไม่น่ากลัว สำหรับคนที่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ผู้นั้นรู้เลย ไม่มีทางที่จะประจักษ์การเกิดดับ ถ้าปัญญาไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมที่จะรับสิ่งนั้น ไม่มีทางเลย เพราะว่าเพียงแต่ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมเท่านั้น ยังสูญทุกอย่างที่เคยเป็นเรา แล้วประจักษ์ว่า สภาพนั้นเกิด และดับจริงๆ ถ้าปัญญาไม่สมบูรณ์จริงๆ ก็ต้องกลัวมากที่จะเผชิญกับสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น คนนั้นจะรู้ได้ว่าปัญญายังไม่ถึงระดับ ยังไม่ได้รู้ทั่วในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจนคลาย ความติดข้องในสภาพธรรม
การที่ปัญญาจะสมบูรณ์ขึ้นๆ ๆ มีทางเดียวก็คือ คลายความติดข้อง ถ้ายังคงติดข้องอยู่ตราบใด ไม่มีทางที่จะประจักษ์ได้ เพราะฉะนั้น เข้าใจความหมายของ อริยสัจ ๔ ว่าทุกข์ คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ใช่ปัญญา แล้วก็ต้องละสมุทัย คือ ความติดข้องในสภาพธรรมนั้นด้วย ถ้ายังเป็นเราที่รู้ ก็ไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับแน่นอน ต้องเป็นความอาจหาญ ร่าเริงที่จะรู้ว่า ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีเลยจริงๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรม เพียงแค่ฟัง บางคนก็คิดว่า พอจะเข้าใจได้ แต่ถ้า เผชิญจริงๆ จะรู้ได้เลย ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของโทสะ ไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวตน เพราะว่า ตัวตนไม่สามารถที่จะรู้ความจริงอย่างนั้นได้ ต้องเป็นปัญญาที่สามารถ เห็นถูกต้อง แล้วก็จะต้องอบรม โดยละคลายความติดข้องไปเรื่อยๆ เพราะว่าถ้าไม่ละคลายความติดข้อง คิดว่าต้องการรู้รูปนั้น ต้องการรู้เมื่อนั่น ขณะนั้น ขณะนี้ ก็คือไม่มีทางที่จะประจักษ์ ความจริง เพราะว่าไม่ละคลาย
พระสูตรนี้ก็ยาว แล้วก็แสดงให้เห็นถึงระดับของปัญญาขั้นต่างๆ อย่างท่านพระสารีบุตร สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ในเวลาไม่นานเลย ที่ทรงแสดงธรรม และทีฆนขปริพาชก ซึ่งเป็นหลานก็เป็นพระโสดาบัน แต่ว่าในยุคนี้สมัยนี้ การอ่านพระสูตรก็ยาก ที่จะเข้าใจได้ เพราะว่าเพียงฟังก็คงจะมีความไม่เข้าใจในหลายๆ พยัญชนะ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การศึกษาพระไตรปิฎก เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ไม่ใช่ว่าเพียงอ่าน แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ตัวอย่างก็คือ ทีฆนขสูตร แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ก็สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดง จะไม่พ้นจากการกล่าวถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจะโดยนัยของขันธ์ หรืออายตนะซึ่งมีกล่าวไว้ในที่นี้ ก็คือการรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ
การศึกษาธรรมซึ่งมีมากถึง ๓ ปิฏก พร้อมทั้งอรรถกถา ในชั่วชีวิตใครจะศึกษาได้หมด ใครจะสามารถเข้าใจได้หมด เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเข้าใจถึงหลักสำคัญว่าพระธรรมที่ทรงแสดง แสดงถึงสัจธรรม คือธรรมที่มีจริงๆ ทุกกาลสมัย ซึ่งทรงแสดงว่า ไม่ใช่ของเรา หรือว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แม้ในข้อความของ ทีฆนขสูตร ในเรื่องของรูป ในเรื่องของเวทนา ในเรื่องของสภาพธรรม ซึ่งมีจริงรูปในอดีตก็เป็นรูปจะเป็นนามธรรมไม่ได้ แต่ว่าเวลาที่เราฟังเราก็ไปคิดถึงเรื่องราว หรือว่าตัวหนังสือ ไม่ได้ระลึกว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพธรรมจริงๆ ที่มีจริงในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่าปัญญาระดับของเรา ก็ไม่ถึงขั้นพระสารีบุตร ไม่ถึงพระสาวกทั้งหลายในครั้งนั้น แต่ว่าเป็นผู้ที่เริ่มที่จะเห็นประโยชน์ ในการที่จะศึกษาธรรมให้เข้าใจว่า ธรรมจริงๆ เป็นสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ว่าอยู่ในหนังสือ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ เท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ลองคิดดู ใน ทีฆนขสูตร เข้าใจหมดไหม แต่ผู้ที่มีปัญญาสามารถเข้าใจได้ สามารถที่จะเป็นพระโสดาบันได้ สามารถที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ ทั้งๆ ที่ข้อความเดียวกัน
เพราะฉะนั้น แต่ละยุคแต่ละสมัย ก็จะเห็นได้ว่า การศึกษาพระธรรมบางคนก็ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเป็นการศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ คิดว่าเป็นเพียงเรื่องราวต่างๆ แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าศึกษา แล้วก็พิจารณาในขณะที่ฟัง ก็จะมีความค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญ ที่สุดของการศึกษาธรรมในขณะนี้ จนกว่าวันหนึ่ง เพียงฟังเท่านี้ ก็สามารถที่จะเข้าใจหมด แล้วก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของตัวหนังสือ ที่เราเพียงแต่สงสัยว่า คำนี้หมายความว่าอย่างไร คำนั้นหมายความว่าอย่างไร แต่ว่าไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเลย
เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ก็คือว่าสามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้อง ว่าธรรม ที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยน แปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แล้วก็เป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น โดยที่ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ ให้เข้าใจถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ว่าจะเรียกว่าผม ก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่ว่าจะเป็นผม เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นส่วนอื่นๆ ของกาย
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ แนะนำว่าควรจะชื้อหนังสือพระไตรปิฎก เล่มไหนมาอ่าน อะไรอย่างนี้ ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกเลย นอกจากมาอ่านที่นี่
ท่านอาจารย์ จากตัวอย่างที่อ่าน จะเห็นว่ายากไหม พระไตรปิฎก แม้พระสูตรซึ่งใครๆ คิดว่าง่าย แต่ความจริงไม่ใช่เลย ผู้มีปัญญาจึงสามารถที่จะเข้าใจพระสูตร เพราะว่าทรงแสดงไว้กับบุคคลต่างๆ ตามอัธยาศัยของบุคคลนั้นๆ เช่น ทีฆนขปริพาชก ทรงทราบว่าสะสมปัญญา ถึงระดับไหน ที่จะเพียงฟัง ข้อความนั้นๆ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับการสะสม ที่จะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นหรือไม่ อย่างคนซึ่งไม่ได้ศึกษาเลย แล้วก็บอกว่าทุกอย่างเป็นธรรม เขาก็จะไปนั่งหา ว่าทุกอย่าง อะไรบ้าง แต่ถ้าศึกษาเข้าใจจริงๆ ธรรม หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง มีปัจจัยเกิดขึ้น จึงปรากฏ เขาก็จะพิจารณาจนกระทั่ง ไม่มีความสงสัย ในธรรม คือเห็น มีจริงๆ ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เสียงก็มีจริงๆ ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ถ้ามีความรู้ความเข้าใจ เรื่องธรรม พอสมควร ควรที่จะอ่านพระไตรปิฎก เท่าที่จะอ่านได้ แต่ ไม่ได้หมายความว่า อ่านแล้ว จะเข้าใจทั้งหมด อย่างตัวอย่าง ทีฆนขสูตร จะเห็นได้ว่ามีข้อความหลายตอน ซึ่งอ่านแล้วก็ผ่านไป ใครจำได้ ทั้งหมด ไม่มีเลย ใครจะสงสัยตรงไหน ก็ต้องมานั่งอ่านกันให้ละเอียดอีกทีว่าตรงนี้แปลว่าอะไร ตรงนี้หมายความว่าอะไร แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง เป็นการแสดง ลักษณะสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ว่าเป็นธรรม คือไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะอบรมปัญญาถึงระดับขั้นที่จะประจักษ์แจ้ง ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะกำลังฟังพระสูตรนี้ หรือว่าสูตรไหน ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่ว่ามีสภาพธรรมปรากฏเมื่อไร ที่ปัญญาจะสามารถรู้ เพราะว่าได้อบรมมาแล้ว ก็สามารถที่จะรู้ได้
ผู้ฟัง แล้วศึกษาพระไตรปิฎก ควรจะศึกษาเล่มไหน รู้สึกว่ามากมาย
ท่านอาจารย์ คือเป็นปัญหา เป็นปัญหาเหมือนกับจะเลือก แต่ความจริง เราจะเลือก หรือว่าเราไม่รู้ ถ้าเราเข้าใจว่าเราไม่รู้ เราฟังให้รู้ เราอ่านให้รู้ เราพิจารณาให้รู้ ให้เข้าใจ นั่นเป็นจุดประสงค์ ไม่ใช่เราจะมากะเกณฑ์ว่า เราจะอ่านเล่มนี้ เราจะอ่านเล่มนั้น แต่ว่าในขณะที่ฟังธรรมเดี๋ยวนี้ ในขณะที่ฟัง มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังแค่ไหน แล้วก็รู้ว่ายังไม่รู้อะไรอีก เพราะฉะนั้น เวลาอ่าน ก็คือ ให้รู้ ให้เข้าใจ สิ่งที่อ่านทั้งหมด แล้วแต่ว่า เราจะสามารถอ่านอะไรได้ แต่ข้อสำคัญคือ ถ้าไม่ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะ หรือว่าไม่รู้เรื่อง ปรมัตถธรรม มาก่อน อ่านพระอภิธรมปิฎก ไม่มีทางที่จะเข้าใจ ได้เลย ถึงแม้อ่านพระสูตรก็เข้าใจผิดได้
ผู้ฟัง เราอ่านเฉพาะอภิธรรมเล่มสีม่วงของท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ อันนั้นปรมัตถธรรมสังเขป ใช่คำว่า สังเขป เป็นเพียง
ผู้ฟัง ย่อๆ
ท่านอาจารย์ ที่จะให้เข้าใจเบื้องต้นเท่านั้นเอง ที่จะนำไปสู่การศึกษาพระไตรปิฎก ไม่ต้องกังวลว่าจะอ่านเล่มไหน จะทำอะไร ฟังให้เข้าใจ แล้วเวลาอ่านก็อ่านให้เข้าใจ ตรงไหนที่ไม่เข้าใจก็รู้ว่า จุดจริงๆ ของสูตรนั้น คืออะไร ทำไมผู้นั้นเพียงฟังแล้วสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ โดยไม่ต้องมากังวลถึงเรื่องคำต่างๆ แต่ว่าขณะนั้นต้องมีสติสัมปชัญญะ ที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นจึงรู้ว่าเป็นความจริง ตามที่ได้ตรัสทุกประการ ขณะที่ฟังก็เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏไปด้วย
ผู้ฟัง แม้แต่ว่า อ่านพระสูตรแล้ว ก็ยังไม่รู้เรื่องเลยว่า เขาว่าอย่างไร แล้วจะเข้าถึงสภาพธรรมได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นสิ่งที่เราจะรู้ว่า การศึกษาพระไตรปิฎก คือการศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ใครจะสามารถเข้าใจทั้งหมดได้ ในเมื่อทรงแสดงด้วยพระปัญญาคุณ ผู้ที่อ่าน ก็เป็นผู้ที่รู้ว่า เริ่มต้น ที่จะฟังสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เข้าใจตามลำดับ อย่างธรรมถ้าไม่เข้าใจเลย ไม่เข้าใจพระอภิธรรม ไม่เข้าใจความหมายของ อนัตตา ไม่เข้าใจความหมายว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ก็จะสงสัยในข้อความต่างๆ แต่ถ้าเริ่มเข้าใจจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย เวลาอ่านก็มีการพิจารณาเข้าใจขึ้น สิ่งใดซึ่งเป็นพยัญชนะ ซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ หรืออาจจะคิดว่าสับสน เพราะว่าพูดแล้วอย่างนี้ ก็พูดแล้วอย่างนั้น นั่นคือผู้ที่มีปัญญามาก ที่จะแสดงโดยนัยหลากหลาย ซึ่งผู้มีปัญญาน้อย เกือบจะเรียกได้ว่า ตามไม่ทัน พูดอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร แล้วพูดอีกอย่างหมายความว่าอย่างไร แต่ว่าจุดประสงค์ก็คือ ให้ผู้ที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ให้ผู้ที่มีความเห็นผิด แล้วความเห็นผิด ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเห็นผิดอื่นๆ ทั้งหมด ก็คือการเห็นผิดที่มีการยึดถือสภาพธรรม เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยง ที่เป็นสุข ที่เป็นอัตตา เพราะฉะนั้น ก็จะต้องฟังแล้วก็พิจารณาไป เพราะไม่มีใครอ่านจบพระไตรปิฎก อรรถกถา เข้าใจหมดทุกคำ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาอย่างมาก
ผู้ฟัง เรียนท่านอาจารย์ จากการที่มีการศึกษามาก่อนทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่ อยากจะขอคำแนะนำว่า เหมือนกับเราเรียน ก. ไก่ มีอาจารย์แนะนำว่า ให้เขียน ก. ไก่ อย่างนี้ อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า พระธรรมเล่มไหน พระอภิธรรม พระสูตร หรือว่าอะไร
ท่านอาจารย์ นี้เป็นมูลเหตุที่ทำให้มีหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป เพราะว่าเท่าที่ได้ผ่านการศึกษามา ในสมัยที่ดิฉันเรียน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของตัวเลข จิตมีเท่าไร เจตสิกมีเท่าไร แล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการสอดคล้องกัน ที่ว่าในเหตุในผลที่จะพิจารณา ซึ่งต้องเป็นไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น ในแม้ในยุคนี้สมัยนี้ ก็มีหลายคน ที่ตั้งต้น เรียนเรื่องจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ แต่พอถามท่านผู้นั้น ว่าขณะนี้มีธรรมไหม ท่านคิดนาน แล้วท่านก็ตอบว่าคงจะไม่มี หมายความว่าเข้าใจหรือเปล่าในสิ่งที่เรียน เรียนเรื่องจิตตอบได้ ว่าจิตมีเท่าไร แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ ว่าขณะนี้เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าเราศึกษาเฉพาะเล่มสีม่วงของอาจารย์ให้ลึกซึ้ง อ่านไปบ่อยๆ พิจารณาตามสภาพธรรม ที่มีจริงอย่างนี้จะพอไหม
ท่านอาจารย์ ขอโทษ ต้องการพออะไร จะพอแค่ไหน พออะไร
ผู้ฟัง พอที่เป็นพื้นฐาน
ท่านอาจารย์ ดี ต้องการดีแค่ไหน พอไหม เป็นคนมีปัญญารู้บ้างพอไหม หรือว่ารู้เท่าไรก็ไม่พอ ดีเท่าไรก็ไม่พอ จนกว่าจะหมดกิเลส เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นบรรทัดฐานว่าต้องเล่มนี้ หรือเล่มนั้นหรืออะไร แต่อ่านอะไรฟังอะไร ขอให้เข้าใจ ในสิ่งที่กำลังฟัง อันนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง เราคิดถึงเรื่องอื่น แล้วเราก็เลยไม่เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟังว่า มีความหมายแค่ไหน มากน้อยแค่ไหน ลึกแค่ไหน เพราะเหตุว่าเพียงคำเดียว คือธรรม หรือธาตุ หรือ ธา-ตุ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่าง ทุกสิ่งเป็นธรรม ต้องสอดคล้องกับการที่สติปัฏฐานจะเกิด จะระลึกลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ เพราะเข้าใจจากการฟังว่าเป็นธรรม แต่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นธรรม สิ่งนั้นยังคงเหมือนเดิม เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่ว่าถ้ามีการรู้การเข้าใจว่า การที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ก็ไม่ใช่รู้อื่นเกินไปกว่านี้ คือ รู้ธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรมจริงๆ แม้แต่คำว่าธรรมจริงๆ ต้องเข้าถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพที่ปรากฏ ทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง ทางจมูกอย่างหนึ่ง ทางลิ้นอย่างหนึ่ง ทางกายอย่างหนึ่ง ทางใจอย่างหนึ่ง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณาโดยที่ว่าไม่ไปจำกัด ว่าจะต้องเล่มนี้ พระไตรปิฎกควรอ่าน ไม่ใช่เฉพาะหนังสือเล่มเดียว
ผู้ฟัง ปริญญากิจ ในทุกขสัจ คือ การกำหนดรู้ กับปริญญา ๓ จะเป็นอันเดียวกันไหม ญาตปริญญาที่อาจารย์สมพรพูดถึง
ท่านอาจารย์ ตัว ก. ไก่ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้กับ หนังสือเล่มโน้น กับหนังสือเล่มอื่นๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่ในขณะที่กำลังฟัง ใครจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่มีจริงๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะพยัญชนะอะไรก็ตาม แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่สามารถจะเข้าใจ และมีความมั่นคงคือสัจจญาณ ที่รู้ว่าปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรม คือในขณะนี้เอง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 541
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 542
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 543
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 544
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 545
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 546
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 547
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 548
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 549
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 550
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 551
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 552
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 553
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 554
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 555
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 556
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 557
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 558
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 559
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 560
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 561
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 562
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 563
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 564
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 565
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 566
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 567
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 568
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 569
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 570
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 571
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 572
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 573
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 574
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 575
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 576
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 577
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 578
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 579
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 580
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 581
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 582
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 583
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 584
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 585
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 586
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 587
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 588
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 589
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 590
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 591
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 592
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 593
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 594
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 595
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 596
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 597
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 598
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 599
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 600