ปกิณณกธรรม ตอนที่ 570


    ตอนที่ ๕๗๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ขณะใดเมื่อไรที่กุศลเริ่มจะเกิด และขณะใดเมื่อไรที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา โดยเฉพาะคือสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เราก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เห็นกิเลสของเราว่ากว่าจะค่อยๆ คลายลงโดยปัญญาที่ค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริง ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา แต่ว่ากว่าจะเป็นอย่างนั้น แม้ในขณะนี้ที่เรากำลังพูดเรื่อง สักแต่ว่า ก็ไม่ใช่ว่าสติจะระลึกแล้วเป็นสักแต่ว่า แต่เราต้องเข้าใจความหมายว่าสักแต่ว่า คือเป็นแต่เพียงสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ข้อความในอรรถกถาที่บอกว่า ไม่ให้มีกิเลสเหมือนอย่างปัญจทวารวัชชนะ ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ก็เป็นการแสดงให้เห็นการที่ว่า เปรียบเทียบให้เห็นเท่านั้นเอง ในเมื่อจิตต่างๆ เหล่านั้นไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ควรที่จะเป็นอย่างจิตเหล่านั้น แต่ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ

    จริงๆ แล้ว ที่ว่าฟังอย่างเดียวไม่พอ เพราะเหตุว่าฟังแล้ว ต้องเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง จึงไม่พอ ต้องฟังอีกให้เข้าใจอีกจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ อย่างคำว่า ฌาน ได้แก่การเพ่งหรือเผา มี ๒ อย่าง นี้คือการฟังให้เข้าใจ ลักขณูปนิชฌาน ๑ อารัมมณูปนิชฌาน ๑

    ถ้าเป็นอารัมมณูปนิชฌาน ต้องอาศัยอารมณ์ ที่เมื่อจิตระลึกตรึกถึงบ่อยๆ มีวิตก วิจารในอารมณ์นั้น แล้วจิตสงบ แต่ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ นี้คือความหมายที่จะต้องฟัง เผาด้วยการนึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ

    แต่ลักขณูปนิชฌาน สภาพธรรมกำลังปรากฏ เผาโดยการที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพื่อที่จะไม่ให้อกุศล เกิดอีกเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างอารัมมณูปนิชฌาน เพราะฉะนั้น การฟังจึงต้องไม่พอ เพราะว่าต้องฟังอีก ฟังอีกจนกว่าจะเข้าใจ

    ผู้ฟัง ลักขณูปนิชฌาน ลักขณูปนิชฌาน หมายความว่า ขณะนี้สามารถเจริญได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องศีลว่าเราจะรักษากี่ข้อ นั่นเป็นการคิดนึก แต่การที่เรามาฟังธรรมเป็นเครื่องพิสูจน์หรือยังว่าเราเห็นประโยชน์ของการฟัง เราจึงมา ไม่ต้องไปบอกว่าพิจารณา ใคร่ครวญ แล้วการฟังมีประโยชน์อย่างไร อย่างนั้นอย่างนี้ แต่การกระทำในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องส่องว่าเรามีความเข้าใจธรรมแค่ไหน ถ้าเรามีความเข้าใจธรรม เราก็รู้ว่าขณะนี้ ธรรมกำลังปรากฏ แล้วเมื่อปัญญายังไม่สามารถที่จะรู้ ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงต้องฟังให้เข้าใจยิ่งขึ้น แล้วปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจก็จะทำกิจของเขา เป็น ปฏิปัตติ และปฏิเวธในที่สุด แต่ถ้าไม่มีการเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพียงพอ เราก็มีความคิดว่า เราจะไปทำให้เข้าใจ หรือให้อย่างไรก็แล้วแต่ แต่ต้องทราบว่าการฟัง ประโยชน์คือฟังให้เข้าใจละเอียดขึ้น ในสิ่งซึ่งได้ยินแล้ว ต้องเข้าใจประกอบกันทั้งหมดเลยว่าธรรมเป็นเรื่องละ เพราะฉะนั้น ถ้ามีแต่เพียงความคิดว่าต้องการสงบ ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ เป็นการดีในสมัยที่ไม่รู้คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นกุศลระดับที่เหนือกว่า ทานและศีล แต่ว่าเมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม การฟังแล้วเข้าใจ ในขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ศีลมี สมาธิมี ปัญญามี ถากทั้ง ๓ จนกระทั่งถึงแก่น ไม่ต้องไปนั่งคอย ไปหาศีลมาถาก ไปหาสมาธิมาถาก หรือว่าไปเอาปัญญาที่ไหนมาถาก แต่ว่าต้องฟังให้เกิดความเข้าใจจริงๆ ว่าธรรมเป็นเรื่องละ

    ด้วยเหตุนี้คนที่เคยเจริญ สมถภาวนามาก่อน ได้ฌาน อาจจะได้อภิญญา จักขุทิพย์ ทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แต่เมื่อฟังพระธรรมแล้ว ท่านเหล่านั้นบางคนไม่บรรลุเลย ทั้งๆ ที่จิตสงบถึงระดับนั้น เพราะว่าสะสมการละไม่พอ จะต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าการละ ละอะไร เมื่อไร ขณะไหน เพราะเหตุว่า เราติดมาในสังสารวัฏฏ์ เนิ่นนานมาก นับไม่ถ้วน แสนโกฏิกัปป์ แล้วเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ที่จะละ ก็คิดถึงปริมาณ ว่าจะละความไม่รู้ความสงสัยในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กับ ธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าเสียงที่กำลังปรากฏ กับธาตุรู้ซึ่งกำลังได้ยิน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการที่ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องเป็นเรื่องละโดยตลอด ละความเห็นผิด ละความเข้าใจผิด ละมีความเป็นเราที่ต้องการที่จะอาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเครื่องมือ เพราะว่าเครื่องมือทั้งหลายไม่มีนอกจากมรรค เป็นหนทางเดียว เป็นทางเอก คือสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสภาพธรรมปรากฏแล้วหมดเร็วมาก ถ้าสติไม่เกิดระลึกหมดแล้ว ทันที ไม่ต้องไปกังวลถึงเมื่อกี้นี้ จะเกิดดับไปมากมายสักเท่าไร

    แต่ขณะใดที่สติระลึก หมายความว่า มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏให้เข้าใจ แต่ต้องอาศัยระลึกบ่อยๆ เนืองๆ แล้วผู้นั้นก็เป็นผู้ตรงที่ว่า จะอบรมเจริญความรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แม้สมาธิจะเกิด แม้ความสงบจะเกิด ระดับขั้นของฌาน บุคคลนั้นยังต้องรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเพื่อละ ไม่ใช่เตรียมตัวคิดว่าจะเอาฌานมาเป็นบาท แล้วเวลาที่มรรคจิตเกิด ก็จะได้มีโลกุตตรฌาน คือ องค์ของฌานจิตเกิดพร้อมกับมรรคจิต ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีทาง เพราะเหตุว่าโลภะจะล่อ หรือว่าจะทำให้ติดทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เห็นโลภะ ไม่ละโลภะ ไม่มีทางที่จะถึงนิโรธสัจ เพราะเหตุว่าที่จะถึงได้ ต้องละโลภะ

    คนในครั้งโน้นที่ท่านได้ฌานมาก แต่เวลาที่บรรลุ ไม่ได้บรรลุพร้อมองค์ของฌานเลย เพราะว่าท่านละ ท่านไม่ได้ไปติดหรือไม่ได้ไปต้องการ เพราะฉะนั้น การฟังต้องฟังด้วยความแยบคาย ซึ่งไม่ใช่เราแยบคาย แต่อาศัยการสะสมของจิตสืบต่อมาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งทำให้สามารถที่จะฟังพระธรรมเข้าใจได้ว่า ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน คือ เมื่อไร แล้วก็ละอะไร ด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งจะต้องละเอียดขึ้นๆ เพราะว่าเรื่องของโลภะมากมายจริงๆ แต่ถ้าใครก็ตาม คิดว่าจะทำฌานแล้วก็เอาฌานมาเป็นบาท เวลาที่โลกุตตรจิตเกิด ก็จะได้ประกอบด้วยองค์ของฌานขั้นต่างๆ ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะแม้แต่ผู้ที่ได้ ยังต้องละ ด้วยเหตุนี้บางท่านจึงเกิดโลกุตตรจิตเกิดพร้อมองค์ของฌาน บางท่านโลกุตตรจิตไม่เกิดพร้อมองค์ของฌาน ระดับที่เป็นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิตขั้นต่างๆ เพราะเป็นเรื่องละทั้งหมด

    ถ้ายังมีความติดข้องใน รูปฌาน หรือ อรูปฌาน ก็ยังต้องเกิดอีก ถ้าไปเกิดเป็นรูปพรหม ยังมีอนุสัยเต็มเพียบ ก็จะต้องกับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ถ้าไปเกิดเป็นอรูปพรหม มีอนุสัยเต็มเพียบก็ยังต้องกลับมาเกิดสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ไม่มีวันจบสิ้น เพราะฉะนั้น หนทางนี้เป็นทนทางเอก หรือเป็นหนทางเดียว จึงเห็นยากเพราะว่าเป็นเรื่องละ ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ แล้วเป็นผู้ที่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็มีปัจจัยที่จะทำให้สัมมาสติระลึก ด้วยความละ พร้อมการละ ที่ไม่ใช่ว่าด้วยความเป็นเราที่ต้องการ ที่จะให้สติเกิด หรือไปแสวงหาหนทางต่างๆ ที่จะทำให้สติเกิด ขณะนี้เห็น เกิดตามเหตุตามปัจจัย ได้ยิน เกิดตามเหตุตามปัจจัย ผู้ที่เคยได้ฌาน ชำนาญคล่องแคล่ว ฌานจิตเกิดตามเหตุตามปัจจัย ต้องละ

    ผู้ฟัง เกิด ในขณะๆ

    ท่านอาจารย์ ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง อย่างกรณี อย่างผมนึกถึงท่านพระสารีบุตร ที่ว่าขณะที่พระพุทธองค์ ทรงแสดง เวทนาปริคหสูตร แก่ ทีฆนขปริพาชก พระสารีบุตรก็เฝ้าพระพุทธองค์ ถวายงานพระพุทธองค์อยู่ แล้วขณะนั้นท่านก็จะเข้าฌานออกฌานอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ สลับกับฌานจิต โดยไม่ใช่เป็นตัวท่านที่ทำ

    ผู้ฟัง แล้วขณะนั้นท่านก็เจริญสติปัฏฐานไปด้วย อย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าไม่รู้ว่าฌานจิตไม่เที่ยง ละไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วผู้สำเร็จ อย่างนี้ก็ถือว่ามีฌานเป็นบาท

    ท่านอาจารย์ มีฌานเป็นบาท ประกอบด้วยฌานได้ แต่ว่า จะเป็นเจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตตินั้นต้องอีกนัยหนึ่ง ตามอัธยาศัย

    ผู้ฟัง แล้วถ้าท่านสำเร็จโดยที่มีฌานเป็นบาทอยู่ตลอด จนถึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ก็เป็นเจโตวิมุตติ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่าจะอาศัยนัยไหน ก็ต้องมีหลายระดับอีก ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก จิตของแต่ละคนวันนี้ ในสากลโลก ในสวรรค์ต่างกันละเอียดยิบ แล้วยังคิดถึงว่า ที่จะต่างกันชาติก่อนๆ แสนโกฏิกัปป์ สะสมมา ที่จะเป็นความต่างในแต่ละวันแค่ไหน เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่จะเกิด ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ต้องมีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แล้วต้องละด้วย ไม่ใช่ไปต้องการ หรือไปอยาก ถ้าขณะนั้นก็เป็นเครื่องเนิ่นช้า

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ หรือท่านที่เจริญจนได้เป็นอย่างนี้ ท่านก็ไม่ได้สนใจว่าท่านจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยฌานหรือเปล่า หรือว่าไม่พร้อมด้วยฌาน ท่านก็ไม่ได้ไปติดใจอะไรทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ จะเกิดในสวรรค์ ก็เป็นทุกข์ สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็มีความเข้าใจ ในรูปพรหม ในอรูปพรหม ในภพภูมิทั้งหมด เหมือนกับหลุมคูถ

    ผู้ฟัง แล้วในกรณีอย่างตัวอย่างที่คุณวีระเรียนถาม ก็หมายถึงว่า ผู้ที่เจริญฌานแล้วมีฌานเป็นบาท จะเจริญวิปัสสนาจนถึงได้มรรค ได้ผล

    ท่านอาจารย์ มีฌานเป็นบาทไม่ใช่ด้วยความตั้งใจ แต่ต้องแล้วแต่ฌานจิต จะเกิดหรือไม่เกิด เพราะว่าเป็นเรื่องละโดยตลอด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ตรงละหรือ ตรงเผา หรือ ตรงถาก ตรงอะไรก็อยู่ตรงที่สติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์

    ผู้ฟัง ก็เพียงแต่บล๊อคว่างๆ ว่า อกุศลจิตไม่เกิด เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีเจตสิกเกิดเท่าไรกับกุศลจิต แล้วอารมณ์อะไรกำลังปรากฏ แล้วความรู้ค่อยๆ รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นวิถีหนึ่งก็แค่เพียง ๗ ขณะ ชวนจิต

    ท่านอาจารย์ แต่เร็วมาก เร็วมาก แล้วก็ทีละ ๗ ขณะ เวลานี้ก็นับไม่ถ้วน

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องว่า จิต ๘๙ ดวง ในกรณีที่เขาแบ่งเป็น วิญญาณธาตุ ๗ มีวิญญาณธาตุ ๕ มโนวิญญาณธาตุ ๑ มโนธาตุอีก ๑ เป็น ๗ การที่แยกอย่างนี้ แยกโดยอย่างไร เอาอะไรมาแยก ด้วยอารมณ์ หรือทวารหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทรงแสดงวิญญาณธาตุ สภาพของนามธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ ออกต่างกัน เป็น ๗ ประเภท คือวิญญาณธาตุ ๗ ให้เห็นความต่างกัน อย่างจักขุวิญญาณธาตุ เป็นธาตุชนิด ๑ ซึ่งสามารถเพียงเห็น จะทำกิจอื่นใดไม่ได้เลยทั้งสิ้น เมื่อมีปัจจัยที่จะเห็นก็เกิดขึ้นเห็น ตรงจักขุปสาทรูป มีจักขุปสาทรูปเป็นวัตถุ เป็นที่ตั้งของจิตเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ นี่คือการที่จะสามารถเห็นความต่างกันของวิญญาณธาตุว่าต่างกันเป็น ๗ อย่าง หรือ ๗ ประเภท เพราะว่าเราเรียนเรื่องนามธรรม เรียนเรื่องวิญญาณธาตุ แต่ก็ต้องรู้ความต่างของวิญญาณธาตุ ทั้ง ๗ ด้วย

    วิญญาณธาตุ แต่ละอย่าง ๕ อย่าง คือ จักขุวิญญาณธาตุ สามารถที่จะเห็นเท่านั้น โสตวิญญาณธาตุก็สามารถที่จะได้ยินเกิดที่โสตปสาทรูป ฆานวิญญาณธาตุ ก็สามารถที่จะได้กลิ่นเกิดที่ฆานปสาทรูป ชิวหาวิญญาณธาตุ ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากทันทีที่เกิดก็ลิ้มรส แล้วก็เกิดที่ปสาทรูปที่เป็นชิวหาปสาทรูปแล้วก็ดับ ส่วนกายปสาทรูป ขณะใดที่มีรูปที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวเกิด ขณะนั้นกายวิญญาณธาตุเป็นธาตุที่สามารถจะรู้เฉพาะรูปที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว แล้วก็เกิดที่กายปสาท เพราะฉะนั้น ๕ ธาตุ เขาก็จะรู้เฉพาะที่อารมณ์ของตน นี่คือความต่างของวิญญาณธาตุซึ่งแม้ว่า จะเป็นจิต เป็นนามธรรม แต่ก็ต่างกันออกไปเป็น ๗ ประเภท

    สำหรับจิต ๓ ประเภท คือปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ และเกิดที่หทยวัตถุ นี่คือ ความต่างกันให้ละเอียด ให้เห็นว่าขณะที่จิตเห็นเกิดและดับ เห็นที่จักขุปสาท แต่เวลาที่สัมปฏิจฉันนจิต เกิดสืบต่อ เกิดที่หทยรูป ซึ่งไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมเลย สภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ตามการตรัสรู้ที่จะให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรเลย นอกจากธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น สืบต่อกันโดยมีที่เกิดต่างกัน แล้วก็ต่างกันเป็นประเภทว่า ถ้าเป็นจักขุวิญญาณธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ จะรู้เฉพาะอารมณ์ของตนเท่านั้น รู้อื่นไม่ได้เลย พอถึงปัญจทวาราวัชชนจิต กับ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดสืบต่อ แต่ต่างที่แล้ว เกิดที่หทยวัตถุ แล้วก็สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์

    แต่พอถึงจิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นจิตที่เหลือทั้งหมด ก็เป็นมโนวิญญาณธาตุ สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ ต้องเข้าใจความหมายว่า รู้อารมณ์ได้ทางใจ เพราะว่ามโนวิญญาณธาตุบางดวงไม่ได้รู้อารมณ์อื่น นอกจากเฉพาะทางใจเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็มโนวิญญาณธาตุ คือ วิญญาณธาตุที่สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทางใจ ถ้าเป็นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่หทยวัตถุ แต่ถ้าในภูมิอื่นแม้โลภมูลจิต จะเกิดกับอรูปพรหม ก็เป็นธาตุชนิด ซึ่งไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ใช่มโนธาตุ ๓ แต่เป็นมโนวิญญาณธาตุ

    ผู้ฟัง มโนวิญญาณธาตุ กับมโนธาตุ

    ท่านอาจารย์ ต่างกัน คือ มโนธาตุ ได้แก่จิต ๓ ดวง คือปัญจทวาราวัชชนจิต กับ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดที่หทยวัตถุ จิต ๓ ดวงนี้ต้องเกิดที่หทยวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นในรูปพรหมภูมิ ก็ต้องเกิดที่หทยวัตถุ แต่สำหรับมโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทางใจ ถ้าเกิดที่อรูปพรหม เช่น โลภมูลจิตติดข้องในภพภูมิ ในอรูปพรหม ขณะนั้นไม่มีรูปเป็นที่เกิดเลย ไม่มีหทยวัตถุเป็นที่เกิดด้วย เพราะเหตุว่าเป็นอรูป เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตที่เกิดกับรูป มีรูปเป็นที่อาศัยเกิด มีรูปเป็นวัตถุก็มี ที่ไม่มีรูปเป็นวัตถุก็มี ถ้ามีรูปที่เป็นวัตถุ จิตอื่นนอกจากจิต ๑๐ ดวง ต้องเกิดที่หทยวัตถุเท่านั้น

    ผู้ฟัง อย่างนั้น มโนวิญญาณธาตุ กับ มโนธาตุ เกิดที่ทหยวัตถุทั้งคู่ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ยกเว้นจิต ๑๐ ดวงจิตอื่นทั้งหมดต้องเกิดที่หทยวัตถุ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในภูมิที่เป็นอรูป แม้โลภมูลจิต ก็ไม่ต้องเกิดที่หทยวัตถุ เพราะว่าไม่มีรูป

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต่างกันตรงที่ทวาร แต่ที่ต่างก็คือการรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงเรื่องใด ต้องทราบว่าจุดประสงค์ที่แสดง อย่างนี้ คือ อย่างไรจุดประสงค์ที่แสดงวิญญาณธาตุ ๗ ก็คือให้เห็นความต่างของวิญญาณธาตุคือจิต ว่าจิตมีประเภทต่างๆ ก็จริง แต่สามารถที่จะต่างกันเป็นวิญญาณธาตุ ๗ อย่าง

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่า มโนธาตุ จะกล่าวว่าเขาก็ไม่ได้รู้อารมณ์ทั้ง ๖ ด้วย แค่ ๕

    ท่านอาจารย์ เฉพาะ ๕ แล้วไปเกิดที่หทยวัตถุด้วย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็น มโนวิญญาณธาตุรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖

    ท่านอาจารย์ หรือรู้อารมณ์ทางใจ เพราะบางดวงไม่ได้รู้อารมณ์ทั้ง ๖ อย่างโลกุตตรจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว ไม่ใช่รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ ถ้านัยของสติปัฏฐาน ต้องรู้ว่าปัญญาที่จะละ ความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งนี้สิ่งนั้น เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนังได้ ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะ สภาวลักษณะของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่รู้ชื่อ

    ผู้ฟัง สภาวลักษณะของผม

    ท่านอาจารย์ คืออะไร

    ผู้ฟัง ขณะนั้น สมมติว่า ถ้าเราไปจับผม ก็อาจจะรู้สึกแข็งๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีจริง สามารถจะรู้ได้ ๖ ทาง มี ๖ ทางเท่านั้น ที่สามารถจะรู้สภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้ความจริงก็รู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละทาง ใน ๖ ทาง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น คำว่า กายมีอยู่ก็หมายความว่า แล้วแต่สภาพธรรมนั้นๆ จะปรากฏทางทวารไหนอย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรม สภาวธรรม อภิธรรม คือ ธรรมก็รู้ว่าขณะนั้น ลักษณะนั้น เป็นรูป หรือเป็นนาม

    ผู้ฟัง ในเวทนา ในจิต ในธรรมก็ทำนองนี้เหมือนกันหมด

    ท่านอาจารย์ บางคนก็บอกว่า ไม่มีคำว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เขาบอกว่าไม่มีคำนี้เลยในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ถูกต้อง บางคนเข้าใจอย่างนี้ แต่ถ้าถามเขาว่า ถ้าสภาพธรรมใดๆ ไม่ปรากฏแล้วปัญญาจะรู้อะไร แต่ความจริงที่จะต้องรู้ก็คือว่า สภาพธรรมปรากฏจริงสั้นมาก เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ก่อนจะดับ นั่นคือสภาพธรรมปรากฏที่ปัญญาจะต้องรู้โดยสติระลึกบ่อยๆ

    ผู้ฟัง โดยมากมักจะพูดว่า เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ที่นี้ก็ไม่อธิบายสักทีว่า รู้อะไร เห็นอะไร ตามความเป็นจริง จิตตั้งมั่นรู้ รู้ล่ะว่าปัญญา

    ท่านอาจารย์ นั่นก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้ตั้งมั่น ไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้ตั้งมั่นจะตั้งมั่นที่ไหนได้

    ผู้ฟัง จะต้องมีสิ่งที่ให้จิตตั้งมั่น แล้วก็ให้จิตรู้ตามความเป็นจริง พูดง่ายๆ ว่าจะไปคิดเอาก็ไม่ได้ จะต้องมีสิ่งนั้นปรากฏให้จิตตั้งมั่นแล้วก็ให้รู้ตามความเป็นจริงด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าถามว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏหรือเปล่า จะตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ถามท่านอาจารย์สุจินต์ ที่ท่านแสดงว่า พิจารณากาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการละวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม เพราะฉะนั้น การละวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ในที่นี้ก็คือสิ่งที่เป็นอสุภะ แต่ว่าเห็นว่าเป็นสุภะ การที่จะเห็นว่าเป็น อสุภะในที่นี้ เป็นสมถะ หรือวิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็น อสุภะ หมายความว่า รู้ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรม ถ้าเป็นเพียงแข็ง งามไหม แค่แข็ง งามหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่หมายถึงพิจารณาว่า ไม่สวย ไม่งาม หรือว่าปฏิกูลอะไร

    ท่านอาจารย์ ความจริงการที่เราติดข้องในสิ่งที่มีจริงๆ โดยลักษณะของทิฏฐิ ที่ว่าเป็นความเห็นผิด โดยลักษณะที่เที่ยง ซึ่งความจริงไม่เที่ยง โดยลักษณะที่ไม่ใช่ว่าตัวตน ว่าเป็นตัวตน ในลักษณะที่ไม่งาม ว่างาม แต่ก็ต้องทราบว่า ต้องตามลำดับ แล้วก็ต้องเกี่ยวข้องกัน ถ้าจะไม่งามจริงๆ หมายความว่า ขณะนั้นประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ถึงแม้ว่าจะประจักษ์แล้ว ก็ยังเห็นว่างามอีก ก็จะต้องประจักษ์อีก จนกว่าจะแม้สภาพที่เคยงาม ก็เป็นแต่เพียงไม่งาม

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะละความเห็นว่าเป็นสุภะได้ โดยเห็นเป็นอสุภะจริงๆ ก็คือพระอนาคามีบุคคล สำหรับพระโสดาบันแม้ว่าสภาพธรรมนั้น เพียงแข็ง หรือว่าเพียงแต่สี สิ่งที่ปรากฏเกิดดับ ไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงเป็นอสุภะก็จริง แต่การสะสมความติดข้องในความงามมากมายมหาศาล ในสิ่งที่ปรากฏทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่เคยกล่าวถึงในชีวิตของเรา มีนามธรรม มีรูปธรรม แล้วรูป เราต้องการรูปงามๆ ทั้งนั้นเลย แม้ว่าเป็นเพียงรูป แต่ก็ต้องการรูปงามๆ อย่างในห้องนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ที่โต๊ะมีแจกัน ต้องการรูปงามๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    8 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ