ปกิณณกธรรม ตอนที่ 576


    ตอนที่ ๕๗๖

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่เราจะปฏิบัติ เราก็ต้องทราบ มีความเห็นถูกว่า หมายความถึงอะไร เป็นความคิดของเราเอง ความเข้าใจของเราเองว่า เราต้องทำ หรือว่าเราได้ศึกษาละเอียดแล้ว มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ไม่มีตัวตน อันนี้ต้องเป็นความมั่นคงมาก มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้อย่างไร เพียงการที่ไปนั่งทำอะไรไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่พระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธวจนะทุกคำ ถ้าเราไม่เผิน พิจารณาไตร่ตรอง เราก็จะค่อยๆ เข้าใจธรรมขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นการสนทนา เช่น ถามว่าจะปฏิบัติอะไร จะตอบว่าอย่างไร เมื่อพูดถึงเรื่องปฏิบัติ แล้วไม่เข้าใจความหมายอันนี้ ซึ่งคนไทยเราคิดว่าปฏิบัตินี้คือทำ

    ผู้ฟัง อย่างบางที ถ้าเราเรียน มันก็เลยทำให้เรายุ่ง เราก็เลยไม่เข้าใจว่า เราจะปฏิบัติทางจิตอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทำไมเราจะปฏิบัติ ในเมื่อเราเรียนแล้ว เราจะปฏิบัติ ถ้าเรียนแล้วเราจะไม่ปฏิบัติ

    ผู้ฟัง เราจะเข้าใจจากจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เราจะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา กำลังปรากฏให้ศึกษาจากการฟัง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไม่ได้แสดงเลื่อนลอย มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่จะใช้คำอะไรที่จะทำให้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เช่น เห็นอย่างนี้ มีจริง แล้วเราจะมีความเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังเห็นอย่างไร นี้คือการที่จะต้องฟังพระธรรมจนกว่าจะเข้าใจถูกขึ้น เมื่อกี้นี้พูดคำว่าดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่เที่ยง ใช่ไหม ดิฉันถามว่าเมื่อไร เอาดินอย่างเดียวก็ได้ สิ่งที่แข็ง ไม่เที่ยง คำถามก็คือว่าเมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อจิตได้พบสภาวะนั้น หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เมื่อธาตุดินกำลังปรากฏ แล้วเมื่อไร ธาตุดินปรากฏ เมื่อธาตุดินเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ธาตุดินกำลังปรากฏหรือเปล่า เที่ยงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ เร็วมากเลย ที่จะรู้ว่าธาตุดินไม่เที่ยง คนอื่น ธาตุดินขณะนี้ที่กำลังปรากฏเที่ยงไหม

    ผู้ฟัง เที่ยง

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาที่อบรมถึงระดับที่จะประจักษ์การเกิดดับของธาตุดิน ธาตุดินจึงจะปรากฏความไม่เที่ยงได้ แต่ถ้าขณะนี้ไม่ทราบว่า สติมีลักษณะอย่างไร สัมปชัญญะมีลักษณะอย่างไร แล้วก็ธาตุดินปรากฏ แล้วก็ปัญญาอบรมเจริญรู้ลักษณะความต่างของธาตุดิน กับ สภาพที่กำลังรู้ธาตุดินอย่างไร ไม่มีทางที่จะประจักษ์ว่าธาตุดินไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังคนอื่นที่ประจักษ์ธาตุดินไม่เที่ยง ก็พูดตามว่าธาตุดินไม่เที่ยง แต่ไม่ใช่เป็นความรู้ของบุคคลนั้นจริงๆ ที่จะประจักษ์ว่าธาตุดินไม่เที่ยง แต่เมื่อมีผู้ที่สามารถประจักษ์ได้ แสดงหนทาง ก็ศึกษาให้เข้าใจว่า หนทางที่จะประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยงของธาตุดินคืออย่างไร ต้องมีหนทาง ไม่ใช่ขณะนี้เรากำลังกระทบธาตุดิน แล้วก็บอกว่าธาตุดินไม่เที่ยง นั่นคือพูดตาม ผู้ที่ได้ประจักษ์ความไม่เที่ยงของธาตุดิน ต้องเข้าใจว่าปัญญามีหลายระดับ ปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่มีจริงๆ ขั้นฟัง ยังไม่ใช่ขั้นที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แล้วยังไม่ใช่ถึงขั้นระดับที่จะประจักษ์ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่กำลังไม่เที่ยงในขณะนี้ ต้องอบรมเจริญเป็นขั้นๆ ไม่อย่างนั้นก็ง่ายและเร็วมาก เลย ธาตุดินไม่เที่ยงแล้ว ทุกข์อันไหนที่ไม่อยากให้เกิด

    ผู้ฟัง ทุกข์ที่เกิดจากใจ ทุกข์เพราะเราคิด ทุกครั้งที่เราคิด เราก็ทุกข์

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกขอริยสัจ คือ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากมีทุกข์ ก็คือไม่ต้องการที่จะมีสภาพธรรมที่เกิดดับอีกต่อไป เพราะนี่คือทุกข์

    ผู้ฟัง แยบคายตรงนี้ จะแยบคายได้อย่างไร ถ้าสมมติว่าแยบคายด้วยไม่ใช่ตัวตน

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คุณชินได้ยินบอกว่า ให้ระลึกบ่อยๆ ก็จะระลึก แยบคายหรือยัง

    ผู้ฟัง แยบคาย ความหมายตรงนี้ ขอความกรุณา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ฉลาด เป็นความจริง ไม่ผิด

    ผู้ฟัง ก็แยบคายโดยไม่ใช่ตัวตน คือระลึกด้วยไม่ใช่ตัวตน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้ระลึกก็ระลึก ใครเขาบอกให้ระลึกก็ระลึก ไม่ใช่เลย การฟังพระธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยความอดทนที่จะรู้ว่ากิเลสมากแค่ไหน ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คงแสดงสั้นมากเลย ประเดี๋ยวเดียวก็จบ ละเท่านั้นเอง แต่นี่ทรงแสดงความแยบคายของแต่ละข้อว่า กว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ กว่าจะถึงอย่างนี้ได้ ต้องอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ว่าพอเห็นว่า ชาติ ชรา มรณะ เป็นทุกข์ก็ละเสียๆ ระลึกเสียๆ ไม่ใช่

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าจะแยบคาย ก็คือต้องละเอียด แต่ทีนี้มันคือปัญญา

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าพระธรรม เป็นสิ่งที่ละเอียด ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ รู้ยาก ลึกซึ้ง เกิดดับจริง แต่ต้องประจักษ์ด้วยปัญญาที่ได้อบรมแล้ว และปัญญาที่จะได้อมรมแล้วก็ต้องเป็นลำดับขั้นด้วยว่า ต้องมาจากการฟังเข้าใจก่อน

    ผู้ฟัง อย่างนั้นคือ แค่ฟังให้เข้าใจว่า คือระลึก สติจะระลึกเอง

    ท่านอาจารย์ แค่ฟัง ไม่เข้าใจ ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดเลย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นความหมายของการที่ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ คือ สติจะระลึกเอง เราไม่ต้องระลึก

    ท่านอาจารย์ แล้วจริงๆ อย่างนั้นหรือเปล่า จริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่ายังละ เรา ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเห็นความเป็นเรา ละเอียดขึ้น มากขึ้น เพิ่มขึ้น และรู้ว่าจะละตรงไหน อย่างขณะนี้เห็น เป็นของธรรมดา ไม่ผิดปกติเลย เห็นอย่างนี้ เมื่อไรก็ต้องเห็นอย่างนี้ เวลาปัญญาเกิดก็เห็นอย่างนี้ แต่เพิ่มความรู้ความเข้าใจถูกต้องขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนสภาพของธรรมที่เห็น หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ปัญญาเป็นธรรมอีกอย่างหนึ่งที่สามาถจะค่อยๆ เข้าใจจากการฟัง แล้วก็สามารถที่จะเกิดพร้อมสติสัมปชัญญะ สามารถที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม นี้คือการฟังอย่างแยบคาย

    ผู้ฟัง แต่ว่าแยบคายมันก็เป็นที่ปัญญาไม่ใช่หรือ บางครั้งมัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ปัญญาขั้นต้น คือ เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว เข้าใจถึงความเป็นอนัตตาด้วย

    ผู้ฟัง ค่อยๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ที่จริงแล้วสภาพธรรมมันก็เหมือนเดิม แต่ในการที่เราจะมีความแยบคาย คือจะรู้ว่าตรงนั้นเป็นสภาพธรรม คือ ปกติเขาก็เกิดของเขาอย่างนี้อยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ โดยมาก ก็เราจะรู้ เราจะประจักษ์ เราจะละ แต่เรื่องจริงก็คือว่า เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ยากที่จะเข้าใจว่า การศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องละตั้งแต่ต้นโดยละเอียด ถ้าไม่เข้าใจคำนี้ จะมีความต้องการเข้ามาแทรกทันที แล้วจะผิดทันทีด้วย เพราะว่าขณะนั้นเป็นโลภะ โลภะ จะถูกไม่ได้

    ผู้ฟัง อย่างนี้ ชาตินี้เราไม่ต้องทำอะไรเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณชินกำลังเห็น คุณชินกำลังเห็นมีความรู้ถูกต้องในสภาพที่เห็นหรือยัง

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะสามารถเข้าใจถูกต้องได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ แต่ไม่ใช่ชาตินี้

    ท่านอาจารย์ โดยอะไร

    ผู้ฟัง โดยการฟังเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจก่อน แล้วก็จะเข้าใจขึ้น ไม่ต้องคิดเรื่องชาติ ชาติหน้าของคุณชินอาจจะเป็นเย็นนี้ก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องคิดเรื่องชาติหน้าเลย ทุกขณะที่สามารถจะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เรารู้ว่า คำสอนนี้ คือถูกต้อง แล้วเราก็กลัวว่า ถ้าชาติหน้า เราไม่รู้เกิดอะไร เราต้อง

    ท่านอาจารย์ นี่แหละ จะไปถึงประการความหดหู่แห่งจิต ไม่ค่อยจะพ้นไปเลย เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงไว้ละเอียดจริงๆ

    ผู้ฟัง เรียนถามว่า เมื่อกระทบแข็ง แล้วรู้แข็ง เรารู้ไปถึงว่าเป็นธาตุดิน เป็นการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็เลยต้องหยิบคำนี้มาถาม การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จริงๆ แล้วก็คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เป็นกุศล จะรู้ว่าจิตนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เรามานั่งสอบทาน แต่เป็นเรื่องว่าเมื่อฟังธรรมแล้ว เราเข้าใจสภาพธรรมระดับไหน ขณะนี้เป็นความเข้าใจที่เกิดจากการฟัง คือเป็นเรื่องของธรรม ที่จะต้องเข้าใจว่าเป็นธรรม เมื่อไรเป็นธรรมก็คือ มีความเห็นถูกต้อง แต่เป็นเราเมื่อไร อันนั้นก็ไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ คำว่า ความประสงค์นี้ หมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ ความจริง ความประสงค์ในชีวิตนี้คืออะไร คนที่ไม่มีความประสงค์เลย เขาก็อยู่สบายไปวันหนึ่งๆ สนุกสนานไปวันหนึ่งๆ แต่ผู้ที่มีความประสงค์ในชีวิต ก็จะต้องรู้ว่าเป็นความประสงค์ในกุศลธรรม เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะมีอกุศลธรรมเป็นที่พึ่ง หรือเป็นสรณะได้ตลอดเวลาในชีวิตของเรา ไม่ว่าเราจะมีโลภะ โทสะ โมหะ มีความประพฤติที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่ที่พึ่ง แต่ที่พึ่งจริงๆ ที่จะไม่นำความเดือดร้อนมาเลย ก็คือ กุศล เพราะฉะนั้น รวมความถึงกุศล ที่เรารู้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ในชีวิต เป็นผู้ที่รู้ความประสงค์ คนที่ไม่รู้ความประสงค์ ลองถามเขาดู เขาก็สนุกไปวันๆ ทำไมจะต้องมาศึกษาธรรม ทำไมจะต้องอบรมเจริญปัญญา คือเขาไม่รู้จุดประสงค์ในชีวิต แต่ถ้ารู้จุดประสงค์ เรารู้ว่าอกุศลมีมาก แล้วทางที่จะค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลายอกุศล ต้องมีประการใดๆ บ้าง ถ้าจะพิจารณาย้อนกลับไปถึงย่อหน้าที่ ๒ ของหน้า ๒ ข้อความข้างต้นที่ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความทุศีล เป็นชีวิตประจำวัน หรือเปล่า

    ความฟุ้งซ่านเป็นอกุศลมากกว่ากุศล ความไม่สำรวม ความทุศีล ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ๑ ความเกียจคร้าน ๑ ถ้าเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่รู้ความประสงค์ แล้วก็เกียจคร้าน ก็ย่อมไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความทุศีลได้

    ผู้ฟัง ไม่ทราบท่านอาจารย์จะมีข้อความคิดเห็นอย่างไรที่จะทำให้การศึกษาพระสูตร ซึ่งยังไม่ใช่เป็นเรื่องของสภาพธรรมโดยตรง ซึ่งบางทีอรรถกถาก็ไม่ได้มีแก้ไขเอาไว้ จะศึกษาอย่างไร ถึงจะไม่มีการโต้แย้ง หรือว่าการที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าทราบว่า ธรรม คือปรมัตถธรรม ก็สะดวก ไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยของพระสูตร ถ้าเข้าใจโดยนัยของพระอภิธรรมแล้ว แต่ว่าเรื่องของพระสูตรเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งโดยอรรถ คือความหมายของคำทั้งหมด ท่านกล่าวว่าตื้นทั้งนั้น แต่ว่าผู้ที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ยุคนี้สมัยนี้ต้องต่างกับยุคนั้น ซึ่งท่านใช้คำว่าตื้นทั้งนั้น สำหรับยุคของท่าน แต่พอถึงยุคนี้ เราก็จะ ต้องพิจารณาเป็นตอนๆ โดยละเอียด การศึกษาธรรมจริงๆ ก่อนอื่น ถ้าได้ยินคำหนึ่งคำใด ควรที่จะได้ใคร่ครวญ พิจารณาคำนั้นให้เข้าใจถ่องแท้ว่าหมายความถึงอะไร และปรมัตถธรรมอะไรก่อน แล้วจะแตกขยายไปโดยนัยของพระสูตร หรือว่าข้อความอื่นก็จะไม่ผิดเพี้ยน เพราะเหตุว่า สามารถที่จะรู้ว่าคำนั้น หมายความถึงอะไร เป็นปรมัตถธรรมอะไร แล้วต้องสอดคล้องกับส่วนอื่นๆ ตอนอื่นๆ ด้วย เพราะว่าถ้าเราศึกษา หรือว่าอ่านพบเพียงตอนเดียว แต่พอตอนอื่น เราจะรู้สึกไม่กลมกลืน หรือว่าไม่สอดคล้อง หรือว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ชัดเจน เราก็จะต้องพิจารณาอีก จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจได้โดยตลอดว่า ควรจะเป็นอย่างนี้ หรือน่าจะเป็นอย่างนี้ หรือโดยนัยที่ทรงแสดงไว้มากน้อยแค่ไหน แต่ต้องเป็นเรื่องกว้างขวาง หมายความว่า ต้องเป็นเรื่องที่ไม่หยุดเพียงแค่สูตรเดียว พยัญชนะเดียว ก็จะต้องอ่านแล้วก็ศึกษาต่อๆ ไป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะอธิบายเหตุผลไหมว่า ความเข้าใจขั้นการฟังจะเป็นปัจจัยอย่างไรแก่ความเข้าใจขั้นระลึกศึกษา เพราะว่า หลายคนก็คงจะรู้ด้วยตนเอง เพราะว่าฟังมาแล้ว บางคนก็บอกว่า ฟังเป็นสิบๆ ปี แต่ว่าสติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ความเข้าใจขั้นการฟัง เกื้อกูล แก่ความเข้าใจขั้นที่สติปัฏฐานเกิดได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เรื่องจำนวนปีคงไม่ต้องพูด ๑๐ ปี คิดว่ามากแล้ว ใช่ไหม แต่ความจริงต้องมากกว่านั้นมาก เพราะว่าสภาพธรรมมีจริงๆ แล้วกำลังปรากฏ ข้อสำคัญก็คือให้ทราบว่า เรียนทั้งหมดเพื่อมีความเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจจุดประสงค์อันนี้ ก็รู้ว่าทั้งหมดที่เรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจอีกระดับหนึ่ง คือไม่ใช่เพียงฟังเรื่องของสภาพธรรม เช่น เห็นได้ยิน ใช้คำว่า เห็น ก็เข้าใจว่า หมายความถึงอะไร เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ใช้คำว่า ได้ยิน ก็เข้าใจว่าหมายความถึงขณะที่ปกติในชีวิตเรา ได้ยิน แต่ว่ายังไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เห็นมี ได้ยินมี แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม เวลาที่ศึกษาก็ศึกษาเรื่องราวของธรรมทั้งหมดที่มีจริงๆ แต่ก็ยังไม่ได้รู้ว่าขณะนี้เอง ชื่อทั้งหมดที่เราได้ยินได้ฟังมา จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือชื่ออีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อพยากตธรรม ก็คือ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ก็คือไม่ใช่เพียงเรื่องราวที่จะเข้าใจ แต่ต้องรู้ว่าเพื่อรู้จริงๆ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนี้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แต่ว่า ถ้าสติปัฏฐานยังไม่เคยเกิด แล้วการที่จะมีสติปัฏฐานเกิดครั้งแรกในโลกนี้

    ท่านอาจารย์ โดยมาก หวังมากเลย ถ้าเราจะไม่สนใจคำว่า สติปัฏฐาน แต่รู้ว่าขณะนี้มีสภาพธรรมแน่นอน แล้วก็เวลาฟังเรื่องนี้ ก็เข้าใจด้วยว่ายังไม่ได้รู้ตัวจริงๆ ของนามธรรม ทั้งๆ ที่บอกว่าเห็น ขณะรู้ ไม่ใช่จักขุปสาท ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แต่ว่า รู้ว่าเห็น หรือว่า เห็นคือรู้ขณะที่กำลังเห็น ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ปัญญากว่าจะถึงระดับที่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่าขณะนี้ลักษณะที่เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ ก็ต้องฟังไปนานแล้วไม่ต้องไปคิดเรื่องเมื่อไร สติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร แต่ให้มุ่งไปที่ความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ถ้าขณะที่กำลังเห็น แล้วก็ฟังว่า ไม่ใช่มีแต่เห็น หลังจากที่เห็นแล้วคิด มีด้วยหรือเปล่า นี่คือ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะว่าเราสนใจในสิ่งที่เราคิดจากสิ่งที่มองเห็น แล้วเราก็จำว่ามีสิ่งนั้นในสิ่งที่เรากำลังมองเห็น จนกระทั่งเหมือนกับว่าเห็นสิ่งนั้นทุกครั้ง ลืมว่าแท้ที่จริงแล้ว ขณะที่เห็น ไม่ใช่เรื่องราวที่เราจำไว้ แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่สามารถกระทบจักขุปสาท แล้วเห็นได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องฟังให้เข้าใจ ถ้าฟังเข้าใจค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ต้องห่วงเรื่องการใช้คำว่า สติปัฏฐาน แต่ในขณะที่กำลังเห็น จะค่อยๆ รู้แม้ในขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วก็คิด เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยก ๒ อย่างว่าที่คิด ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ เรื่องราวทั้งหลายที่เป็นดอกไม้บ้าง เป็นคนนั้นคนนี้บ้าง ก็คือความคิดนึกหลังจากที่เห็น พอจะเห็นว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งต่างกัน

    ผู้ฟัง ถ้าสิ่งใดที่เคยเกิดกับตัวเรามา โลภะ โทสะ โมหะ กุศลขั้นการให้ทาน รักษาศีล ขณะที่เขาเกิดขึ้น เราก็ไม่แปลกใจ เพราะว่าเคยเกิดขึ้น แต่ว่าสติปัฏฐานที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย มันเป็นเรื่องของการที่จะ เหมือนกับว่าจะต้องค้นคว้าว่ามันคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไปค้นในสิ่งซึ่งไม่มีให้ค้น

    ผู้ฟัง แต่ว่าก็รู้เหตุว่าคือการฟัง

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าสติปัฏฐานมี แต่เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด จะไปค้นหาไม่ได้ เพราะไม่มีให้ค้น แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจว่า สติปัฏฐาน ก็คือเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จุดประสงค์คือเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่กำลังเห็น แม้นิดเดียวที่เพิ่งเริ่มจะเกิด ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏมี แล้วก็มีความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เรื่องราวที่คิด หลังจากที่เห็น แล้วเรื่องราวที่คิด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นดีกว่าไปคอยสติปัฏฐานไหม

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟังเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งอรรถ สภาพของปรมัตถธรรมเป็นจริงอย่างนั้น แต่เราไม่คุ้นหู แล้วเราก็ไม่คุ้นกับสภาพธรรมนั้นด้วย เราคุ้นกับความจำว่ามีคน จำหลายอย่างว่ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยู่ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    เราก็จะรู้ว่าการที่จะละความเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล นี่ไม่ใช่ละเมื่ออื่น แต่เมื่อเห็นแล้วไม่เคยรู้ ก็ค่อยๆ รู้ว่าสภาพจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏแม้ว่าวันนี้อาจจะไม่มาก แต่ได้ยินได้ฟังอีก ได้ยินได้ฟังอีกบ่อยๆ แล้วก็ตรึกพิจารณา จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจว่าแท้ที่จริง ก็คือเพียงสิ่งที่ปรากฏ ก็จะเป็นหนทางที่จะทำให้เข้าใจขึ้น และขณะที่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ใครจะบอกว่าไม่ใช่สติปัฏฐานก็ไม่ได้ ใครจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ทรงบัญญัติใช้คำว่า สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง พระอริยบุคคลที่อยู่ในชาตินั้น ท่านยังไม่ได้ฟังธรรม แม้ท่านจะอบรมปัญญามาสมบูรณ์ เคยเจริญสติปัฏฐานมาสมบูรณ์แล้ว แต่ว่าเมื่อยังไม่ได้ฟังธรรม สติปัฏฐานก็ไม่เกิด แต่ว่าสำหรับของพวกเราก็ฟังทุกวันๆ

    ท่านอาจารย์ ก็มีพวกเราซึ่งห่วงตัวเรา มันก็เป็นเครื่องกั้นอันหนึ่ง ทั้งๆ ที่ทราบ รู้จริงๆ ว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ อย่างนี้เป็นเครื่องกั้น ก็ไม่สนใจ ๓ ตัวนี้เลยว่าจะให้ห่างๆ แต่ก็พยายาม ที่จะให้อยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็เป็นเราว่าเมื่อไรจะเกิด ที่จริงลืมเสียเลย แล้วก็เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง ก็คงจะอดลืมไม่ได้ เพราะว่าทุกวันนี้เราติดในกาม ติดในสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วเราก็รู้ว่ามีสิ่งที่ประณีต มีสิ่งที่ดีกว่า สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น ก็คือ กุศลธรรม แล้วกุศลธรรมที่ออกจากวัฏฏะ เพราะฉะนั้น โลภะ ก็คงจะมีบ้าง ที่จะติดในข้อปฏิบัติ ติดในความรู้ ติดในปัญญา ติดในกุศล

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นเครื่องกั้น ก็ละ ถ้าไม่รู้ก็ติดต่อไป เพราะฉะนั้น เรื่องการละ งานใหญ่มาก ไม่ใช่

    งานเล็กๆ น้อยๆ วัน เดือน ปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี จะสำเร็จได้ แต่ผู้นั้นจะรู้ได้จริงๆ ว่าแม้กำลังเห็น มี ความรู้อะไรสักนิดสักหน่อยในเรื่องหรือในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไหม ถ้าไม่มีเลย ก็เหมือนเดิม ฟัง ๒๐ ปีก็เหมือนเดิม ๓๐ ปีก็เหมือนเดิม ๕๐ ปีก็เหมือนเดิม ๕๐ ชาติก็เหมือนเดิม แต่ถ้ารู้ว่าฟังแล้วก็ฟังอีก แล้วจริงๆ ก็คือแค่นี้แหละ ก็ค่อยๆ ไม่สนใจอย่างอื่น แต่ค่อยรู้ว่าจริงๆ แล้วพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งซึ่งทุกคนกำลังไม่รู้ แล้วก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรม ซึ่งกำลังเกิดดับด้วย เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ต้องถามคนอื่น ไม่ต้องสอบ ไม่ต้องบอกให้เขารู้ว่าเรามีปัญญามาก หรือว่าเรามีปัญญาน้อย เพราะเหตุว่าขณะที่กำลังเห็น เริ่มรู้บ้างหรือยัง ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ความรู้จะเพิ่มขึ้นช้ามาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    9 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ