ปกิณณกธรรม ตอนที่ 579
ตอนที่ ๕๗๙
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ แล้วการที่เราจะมีความดียิ่งขึ้น มีหนทางเดียว เพราะว่าชาติก่อน เราจะเป็นใคร มาจากไหน ก็ไม่ทราบ แต่ว่าเราทุกคนย่อมรู้จักตัวเองดีว่าเรามีความดีหรือความไม่ดีมากน้อยแค่ไหน พอเห็นตัวเองแล้วเป็นอย่างไร เป็นผู้ตรงจริงๆ แต่ก่อนนี้ไม่เคยเห็นอกุศลเลย พอเห็นเข้าทำไมมากอย่างนี้ แล้ววันหนึ่งๆ ความดีแค่ไหน น้อยนิด กับ วันหนึ่งๆ ซึ่งผ่านไปแล้วผ่านไปอีกในสังสารวัฏฏ์ด้วยอกุศลที่เพิ่มขึ้น
แม้แต่ข้อความที่ว่า ละชั่ว น่าคิดไม่ง่ายเลย ก่อนที่จะไปถึงบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม แล้วก็ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพราะว่าความชั่วมีมากเหลือเกิน ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ถ้าผู้ที่ไม่รู้ ก็คิดว่ามีน้อย แต่ผู้ที่รู้ยิ่งเห็นมาก เหมือนกับสิ่งที่มืดดำ สกปรก แล้วปัญญาก็ค่อยๆ เห็นแสงสว่างนิดหนึ่งถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ละชั่วคือละอะไร ละ คือสละ ถ้าพูดถึงสละ จะชอบหรือไม่ชอบ สละ ลองคิดดีๆ ดูดี ฟังดี แต่ทำได้หรือเปล่า นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด เพื่อให้สละสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด แล้วสิ่งที่ไม่ดีในวันหนึ่งๆ ทั้งกายบ้าง วาจา ใจบ้าง ถ้าไม่มีสติเกิดขึ้น ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า เป็นสิ่งที่ควรละ แต่ถึงจะทรงแสดงอย่างไร ละเอียดอย่างไร ไม่มีใครละได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น
การฟังธรรมจะเป็นประโยชน์มาก คือฟังให้เข้าใจจริงๆ ในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ซึ่งแต่ละคนก็สะสมมาต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ไม่ทรงแสดงให้อนุโมทนาในความชั่ว แต่ว่าขณะใดก็ตามที่ความดีเกิดขึ้นกุศลจิตเกิดขึ้นน่าเคารพ แล้วก็น่าอนุโมทนา เพราะฉะนั้น การเคารพ การอนุโมทนา นี้เฉพาะกาลๆ คือชั่วกาลที่ความดีนั้นของโสภณธรรมนั้นเกิดขึ้น แล้วก็ต้องมีความเข้าใจถูกต้องด้วยว่า ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล แม้จะมีความดี แต่ถ้าไม่มีปัญญาก็ยังจะต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ต้องมีอวิชชาเป็นเหตุที่จะให้เกิดการกระทำกรรมซึ่งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นผู้ที่มีความดี แต่ว่าความชั่วยังไม่ได้กำจัดให้หมด เป็นสมุจเฉท แต่ว่าหนทางที่จะดับกิเลสได้มีจริงๆ เป็นหนทางที่อบรมให้เกิดขึ้นได้ ให้เจริญได้ แต่ว่าผู้นั้นต้องเป็นผู้ตรง
ผู้ฟัง บางทีเราเห็นความชั่วของคนที่เขาตาย ทำบาป ทำอะไรๆ ไว้มากมาย แต่เราไปก็ยังไหว้ศพ ยังไปเคารพศพ ให้ดอกไม้จันทน์ก็ยังไหว้อยู่ วิธีอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะถูกต้องหรือเปล่า หรือควรจะทำจิตอย่างไร ทำใจอย่างไร ในกุศลแบบนั้น
ท่านอาจารย์ กรรมของใครก็ของคนนั้น ความดีของใครก็ของคนนั้น ความชั่วของใครก็ของคนนั้น คนนั้นจะไม่มีความดีสักนิดเดียวหรือ สักนิดหนึ่งในชาติหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเห็นความไม่ดีของคนอื่น มีแว่นธรรม ธัมมาทาสะ ใช่ไหม ได้แก่ สติปัฏฐาน ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีการระลึก ก็จะมีเรื่องราวของความไม่ดีของคนอื่นยาวมาก แต่ไม่รู้เลยว่าขณะที่กำลังคิดเรื่องราวความไม่ดีของคนอื่น จิตที่คิดเป็นจิตชนิดไหน ไม่มีแว่นที่จะส่อง ต่อเมื่อใดสติเกิดระลึก เมื่อนั้นจึงจะรู้จริงๆ ว่า แท้ที่จริง ขณะนั้นคนสัตว์ไม่มีเลย ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นโลกของสภาพธรรม เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด เป็นปรมัตถธรรม แต่ถ้าไม่ศึกษาไม่มีวันที่จะเข้าใจอย่างนี้ได้ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังมา แล้วแต่จะฟังวิทยุบ้าง สนทนาธรรมบ้าง เป็นเรื่องของธรรม แต่ไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งจริงๆ ว่าเป็นธรรม จริงๆ ในขณะนี้ จนกว่าตราบใดที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็ไม่มีคนอื่น แต่มีจิตที่กำลังคิดเรื่อง เรื่องนี่เป็นเรื่องได้หลายอย่าง เรื่องสัตว์บุคคลก็ได้ เรื่องสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ได้ เรื่องราวต่างๆ วิชาการต่างๆ ก็ได้
เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ มีในขณะที่จิตคิด ขณะนั้นจะไม่กังวลถึงบุคคลอื่น แล้วก็รู้ด้วยว่าแท้ที่จริงที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป สัตว์บุคคลใดๆ ก็ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจได้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าการที่คนอื่นทำความไม่ดี แล้วเราคิดถึงความไม่ดีของเขา จิตที่คิด เป็นจิตประเภทไหน ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาด เป็นผู้ที่สติเกิด ระลึกรู้ ก็จะมีความเมตตา น่าสงสารไหม คนดีที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมก็ยังน่าสงสาร พระผู้มีพระภาคทรงมีพระมหากรุณา สำหรับสัตว์โลกทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ มีทรัพย์สมบัติมาก มีรูปสมบัติ มีวิชาความรู้ หรือว่าเกิดเป็นเทวดา หรือว่าเกิดเป็นพรหม ก็เป็นที่น่าสงสาร เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า สภาพธรรมเพียงเกิดแล้วดับ สืบต่อไปเป็นธาตุแต่ละอย่าง ทั้งหมดเป็นธาตุหมด จิตทุกชนิดเป็นธาตุแต่ละชนิด เจตสิกทุกชนิด ก็เป็นธาตุแต่ละอย่าง
เพราะฉะนั้น ก็จริงๆ ก็ไม่มีอะไร แต่ว่ามีสภาพธรรม ซึ่งหลงยึดติดว่าเป็นเรา เป็นเขา เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีทางที่ดับการเกิดดับของสภาพธรรมนั้นได้ จนกว่าปัญญาที่ได้ฟังพระธรรมจากผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ทรงป้องกันทุกคน ไม่ให้มีอกุศลจิต แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าเข้าใจพระธรรม แต่ก็ต้องเป็นชั่วขณะ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาถึงระดับขั้นที่ดับกิเลส เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น การที่เราจะมีจิตอ่อนโยน ไม่คิดถึงความไม่ดีของคนอื่น หรือว่าถ้าคิด ก็คิดด้วยความเมตตา แล้วก็คิดที่ว่าเกื้อกูลเขาอย่างไร ที่จะทำให้เขาดีขึ้น ถ้าใครที่ไม่ดี แล้วเรามีโอกาสที่จะทำให้เขาดี น่าปลาบปลื้มใจ ได้ช่วยชีวิตเขา
มีท่านผู้หนึ่งท่านก็คิดที่จะบริจาคเงินในการกุศล ท่านก็ปรึกษาว่าจะบริจาคอย่างไรดี ดิฉันก็บอกว่า ก็บริจาคทั่วไปทุกแห่งที่เป็นประโยชน์ เช่น เด็กนักเรียนไม่มีอาหาร หรือว่าคนพิการ หรือว่าคนตาบอด หรืออะไร ทำกุศลทุกอย่างได้ ท่านก็บอกว่าท่านทำมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านเห็นว่าถึงแม้ว่าเขาจะป่วยไข้ เข้าโรงพยาบาล รักษาตัว หายแล้ว แต่เขาก็ยังเหมือนเดิม คือจิตใจของเขาก็ยังเป็นอกุศล แล้วก็ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดที่ท่านเห็น ก็คือพระธรรมที่ถูกต้อง ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว ที่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน เพราะฉะนั้น ท่านก็ต้องการที่จะให้กับที่ๆ มีธรรมที่ถูกต้อง นี่ก็เป็นความคิดของท่าน ซึ่งแม้ว่าจะเสนอ หรือแนะนำ เพราะว่าบางท่าน อาจจะมีฉันทะในกุศลหลายๆ อย่าง แต่สำหรับท่านผู้นี้ท่านก็บอกว่าทำมาหมดแล้ว แต่ว่าผลก็คือว่า เขาก็เหมือนเดิม แต่ว่าถ้าให้ธรรม เขาก็อาจจะมีวันที่จะสะสมเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญญา แล้วก็สามารถที่จะมีความสุขจากการที่มีอกุศลลดน้อยลง ด้วยการกระทำของเขาซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เขาได้รับผลนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องสนใจเรื่องของคนอื่น ถ้าเขาไม่ดี ก็คือไม่ดี ใครจะไปทำอะไรได้ แต่ใจของเราที่คิดถึงความไม่ดีของเขา ไม่ควรที่จะให้เป็นอกุศล ถ้าเป็นเมตตาหรือกรุณาได้ก็เป็นประโยชน์ แล้วถ้าจะมีความเคารพในบุคคล ก็คิดว่าคนนั้นชาติก่อนเป็นใคร อาจจะทำความดีมามากก็ได้ แม้ว่าชาตินี้ชีวิต ดูเหมือนว่าไม่มีความดีเลย ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า ไม่ได้ไปยกย่องบูชาสรรเสริญความชั่ว แต่หมายความว่าขณะนั้นจิตใจของเราอ่อนโยนที่จะคิดด้วยเมตตา แล้วก็ขณะนั้นจริงๆ แล้ว ก็อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แล้วแต่ว่าเขาสามารถที่จะรู้หรือว่าอนุโมทนาได้หรือไม่
ผู้ฟัง จิตวิเวก กับ สันโดษต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็ต้องทราบว่า ทั้งหมดเรื่องของวิเวก เป็นเรื่องของความสงบ ไม่ใช่เป็นเรื่องของชื่อ แล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของสถานที่ เพราะว่าคงจะมีหลายคน ที่อยากจะวิเวก คือว่าไม่อยากเจอใคร แล้วก็อยากจะอยู่คนเดียว เคยมีไหม แต่ขณะนั้นไม่ใช่วิเวกแน่นอน เพราะว่าอยากอยู่วิเวก
แต่วิเวกต้องเป็นเรื่องของความสงบทั้งหมด อย่างเรื่องของการคลุกคลี จะเห็นได้ว่า ถ้ามีหมู่คณะใหญ่ กิจการงานมากมาย เรื่องมากจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็คงจะไม่ใช่วิเวกแน่นอน กายก็ไม่วิเวก เพราะว่ามี แวดล้อมไปด้วยผู้คนต่างๆ แต่ถ้าเป็นวิเวกจริงๆ หมายความถึงความสงบ ขณะนั้นต้องรู้ถึงจะอยู่คนเดียว แต่คิดเรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง วิเวกไหม ก็ไม่วิเวกอีก เพราะฉะนั้น จะเอาอะไร จะเอาสถานที่ไม่มีคน หรือจะเอาอยู่คนเดียว แล้วก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า แม้แต่กายวิเวก สำหรับผู้ที่มีฉันทะ มีอัธยาศัย เพราะว่าบางท่าน ท่านไม่ชอบแขกเลย ท่านเหนื่อย แล้วท่านเบื่อ ท่านอาจจะอยากอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่มีใครรบกวนก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นท่านสงบ
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ก็คือ ต้องให้เข้าใจจริงๆ ว่า เรื่องของวิเวก เป็นเรื่องของความสงบ ไม่เกี่ยวกับสถานที่ แล้วก็ต้องประกอบกับสูตรอื่นด้วย เช่น สูตรที่ว่า ถ้าอยู่คนเดียว แล้วคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ชื่อว่ามีเพื่อน ๒ แน่นอน ถ้าคิดจะมีคนหนึ่งก็ ๓ คิดถึงไปเรื่อยๆ ก็เป็นร้อย เป็นพัน ทั้งๆ ที่อยู่คนเดียว
เพราะฉะนั้น เวลาที่จะมีปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นแม้ว่าจะแวดล้อม ด้วยบุคคลอื่น แต่ขณะนั้น ไม่ได้สนใจ ในบุคคลอื่น ในเรื่องราว แต่ว่ามีความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่นขณะที่สติเกิด แล้วก็ขณะนี้เอง ในห้องนี้มีคนตั้งมากมาย ก็ยังคงเป็นคนนั้นคนนี้อยู่ แต่เมื่อฟังธรรมแล้วก็ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา มีแน่นอน มีจริงๆ แต่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏได้ เมื่อกระทบกับจักขุปสาท คนตาบอด จะนั่งอยู่ในที่นี้ ถึงแม้ว่าจะมีคนมากมายอย่างนี้ เขาก็ไม่เห็นอะไรเลย เพราะว่าไม่มีจักขุปสาท ซึ่งจะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทำให้เกิดความคิดนึก ปรุงแต่งเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ต่างๆ
เพราะฉะนั้น ก็จะต้องทราบว่าขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด แม้ว่าจะอยู่ตรงนี้ หรือว่าจะมีผู้คนมากกว่านี้ แต่ว่าขณะนั้นก็เริ่มที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งก็เป็นจิตวิเวกด้วย ถ้าแยกกายวิเวก คือสถานที่ที่ไม่มีผู้คนมากมายแวดล้อม จิตวิเวกก็เป็นขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด แล้วก็อบรมเจริญปัญญา เพื่อจะถึงอุปธิวิเวก แต่สำหรับผู้ที่สะสมมาที่จะเป็นบรรพชิต แม้ ๒ คนพระผู้มีพระภาคยังทรงตำหนิ สำหรับบรรชิต
ผู้ฟัง ถ้าเป็นจิตวิเวก ก็จะต้องเป็นกุศล ซึ่งจะต่างอย่างไรกับกายวิเวก เพราะว่า ขณะที่กายวิเวก อยู่คนเดียว แล้วก็มีกุศลจิตเกิดขึ้น ก็เป็นจิตวิเวก จะมีความต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าคิดถึงการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะไม่ต่าง แต่ถึงแม้ว่าคนที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือว่ามีปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมแล้ว กายยังไม่วิเวกเพราะว่าอยู่คลุกคลีได้ อย่างท่านพระอานนท์ ท่านก็มีลูกศิษย์มาก เพราะฉะนั้น คำนี้ ก็ต้องหมายความถึง สถานที่ที่ปราศจากผู้คนมากมายวุ่นวายด้วย แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีจิตสงบ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สำหรับกายวิเวกโดยตรง ก็หมายถึงผู้ที่เห็นโทษของการคลุกคลี คฤหัสถ์นี้ สามารถจะมีได้ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องจิตสงบ คฤหัสถ์ก็มีชีวิตไม่ต่างกัน การอบรมเจริญสติปัฏฐานเลือกไม่ได้ อัธยาศัยของแต่ละคน ก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น บางคนท่านก็เป็นผู้ที่สนุกสนาน รื่นเริง อย่าไปเปลี่ยนท่าน อย่าให้ท่านไปนั่งคนเดียว แล้วไม่พูดกับใคร เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกคนสะสมมาที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า จริงอย่างไรก็คืออย่างนั้น เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรม การที่จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ คือเรื่องยากที่สุดซึ่งถ้าไม่รู้ก็ละไม่ได้ ไม่มีทางเลยซึ่งใครจะไปสามารถจะไปรู้แจ้งสภาพของนิพพาน หรือว่าอริยสัจ ๔ โดยการที่ไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ตัวจริงของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลย อย่างไปทำให้เหมือนกันหมด หรือว่าอย่าไปคิดว่าต้องเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้น แม้ว่าผู้นั้นจะสะสมมาที่จะไม่เป็นบุคคลที่ชอบวิเวก คือชอบอยู่ตามลำพัง หรือว่าอยู่กับคนน้อยๆ หรือว่าอยู่ผู้เดียว แต่ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ เพราะฉะนั้น บางท่านอบรมเจริญปัญญาของตัวเองในที่วิเวก เพราะชอบวิเวก บางท่านก็อบรมเจริญปัญญาของตัวเองตามอัธยาศัย ซึ่งไม่ใช่เป็นคนที่ชอบวิเวก ก็อบรมเจริญสติปัฏฐานได้ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
ผู้ฟัง ก็เป็นระดับถึงกุศลจิตขั้นสูงที่เป็นฌานจิต แต่ว่าไม่เข้าใจสติปัฏฐาน อันนี้จะเป็นจิตวิเวกไหม
ท่านอาจารย์ ไม่นำไปสู่อุปธิวิเวกแน่นอน ก็ได้เพียงแค่กายวิเวก เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก อย่าใช้คำตายตัว เพราะเหตุว่าบางแห่งอาจจะคลุมไว้กว้างมาก และบางแห่งอาจจะเจาะจง ถ้าบางแห่งที่กว้าง แม้แต่วิโมกข์ ก็เป็นฌานด้วย เพราะว่าหลุดพ้นจากกามราคะ พยาบาท นิวรณธรรมต่างๆ ชั่วคราว แม้ชั่วคราวก็เป็นวิโมกข์ชั่วคราว แต่ว่าถ้าสูงสุดจริงๆ ก็เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม
ความหมายของอุปธิ คือธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมดก็เป็นอุปธิ สังขารทรงไว้ซึ่งทุกข์ไหม นามธรรม รูปธรรม ทรงไว้ซึ่งทุกข์หรือเปล่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพธรรมใดๆ ทั้งหมด ทรงไว้ซึ่งทุกข์เป็นอุปธิ แม้แต่กิเลสก็เป็นอุปธิด้วย อุปธิวิเวก คือ สงบจากกิเลส
ผู้ฟัง ผมยังไม่ค่อยกระจ่าง ถ้าสมมติว่ากายวิเวก เราอยากจะออกไปปลีกวิเวกออกไป อาจารย์บอกว่ามันไม่ใช่กายวิเวก
ท่านอาจารย์ ขอโทษ เป็นอัธยาศัยจริงๆ ของเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง บางทีถ้าเราอยู่ในหมู่คน หรืออยู่ในบ้าน อยู่ในเรือนอย่างนี้ มันก็มีคน หรือมีอะไรหลายๆ อย่าง เราก็เลยอยากจะลองออกไปดูข้างนอก แล้วก็ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ปฏิบัติให้มันวิเวก กายวิเวกขึ้นก่อน แล้วเพื่อจะทำจิตให้วิเวก อย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นกุศล ไม่ได้หรือ
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ลืมไม่ได้เลย คือ อริยสัจ ๔ เห็นยากเพราะลึกซึ้ง มรรคก็ลึกซึ้งและเห็นยากด้วย เพราะฉะนั้น การที่เราจะรู้ว่า อะไรเป็นหนทาง จะเห็นยาก หรือเห็นง่าย บางทีเราก็ถูกโลภะพาไปโดยเราไม่รู้เลยว่า ไปแล้วด้วยโลภะ ไปทำไม ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ รออะไร หวังอะไร คอยอะไร ถ้าขณะนี้เราไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นชีวิตจริงๆ ขณะที่เป็นอดีตก็ผ่านไปแล้ว ขณะข้างหน้า ก็ยังไม่มาถึง
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะเกิด คือ ขณะที่กำลังปรากฏ ถ้าขณะนี้ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็หวังคอย ก็จะมีความเป็นตัวตนที่ต้องการ โลภะละเอียดมาก จะไม่มีใครเห็นโลภะ ถ้าปัญญาไม่เกิด โลภะก็เป็นผู้ที่สร้างเรือนอยู่ตลอด ถ้ายังคงอยู่ในสังสารวัฏฏ์ แล้วคนที่วิเวก จนกระทั่งถึงอรูปฌาน ปัญญาก็ไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเป็นตามความเป็นจริง ปัญญาย่อมอบรมสามารถที่จะรู้ความจริงได้ คือไม่รอที่ว่าเหมือนกับ ไฟไหม้บนศีรษะ ขณะนี้เองที่สามารถที่จะมีปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดก็จะรู้ว่า สภาพธรรมตามปกติธรรมดา ไม่ต้องไปหวังรอที่อื่นเลย
ผู้ฟัง ทำไมอาจารย์ถึงใช้คำว่า รอ
ท่านอาจารย์ ก็ทำไมในเมื่อขณะนี้ยังอยู่ตรงนี้ ก็ขณะนี้อยู่ตรงนี้
ผู้ฟัง ผมพยายามหาทาง คือผมใช้ความพยายาม อยู่ในบ้าน อยู่ในที่ไม่สงบเลย อย่างนี้ มันก็ไม่ออก นึกไม่ออกเลย
ท่านอาจารย์ ก็อยาก
ผู้ฟัง เห็นมันก็ยังเป็นหน้าต่างอยู่
ท่านอาจารย์ ต้องเห็นเป็นหน้าต่างแน่ ต้องเห็นเป็นคนแน่ ถ้าไม่เห็น เป็นหน้าต่าง ก็ไม่ใช่ปกติ
ผู้ฟัง ผมก็เลยคิดว่า น่าจะลองใช้วิธีฝึกดู
ท่านอาจารย์ นั่นคือความคิดของเราเอง แต่อย่าลืมว่า มรรคเห็นยากว่านี่เป็นมรรค เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องละ เรื่องละตั้งแต่ต้นเลย
ผู้ฟัง ผมก็ได้ยินอาจารย์พูดหลายครั้ง สอนหลายครั้งแล้ว
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมของคุณเด่นพงษ์จะเอาง่ายๆ คือไปแล้วก็ไปนั่ง แล้วก็คิดว่าปัญญาจะเกิด นั้นง่ายมากเลย
ผู้ฟัง เรานึกถึงเรื่องการเรียนการสอน ธรรมดา มีการฝึกการปฏิบัติ มีการฝึกการปฏิบัติ ก็เลยคิดว่า สักพักใหญ่ๆ เราอาจจะกลายเป็น เราชอบวิเวก หรือไม่ต้องบังคับใจเลย มันจะไปเอง ผมนึกว่าอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะเราติด คำว่า ปฏิบัติ
ผู้ฟัง คือเห็นทีไร ได้ยินเสียงทีไร มันเป็นได้ยินเสียงแตรรถยนต์
ท่านอาจารย์ ก็เราไม่อบรมเลย
ผู้ฟัง แล้วเราจะทำอย่างไร ถึงจะเรียกว่าอบรม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทำอย่างไร ต้องเข้าใจ ความหมายของอบรม เพราะเหตุว่าเราไม่ได้อบรมเลย แต่เราอยากจะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงโดยเราไม่อบรม แล้วเราก็คิดว่าเมื่อไร เราจะเห็น แต่ต้องมีการอบรม อบรมด้วยการฟัง การฟังอย่างนี้ จะละความต้องการ คือขณะนี้ ให้เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรม ที่จริงแล้วทางตา หลายคนบอกว่ายาก
ผู้ฟัง เห็นทีไร ไม่มันไม่ถึง ...
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องไปเห็นทีไร คุณเด่นพงษ์เพียงแต่ฟังให้เข้าใจว่าทางตายาก เพราะเหตุว่า เราไม่ได้เคยอบรมความเข้าใจแม้เพียงนิดหน่อย ชั่วขณะนี้ว่า สิ่งที่มีจริงขณะนี้กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งแค่นี้ก่อน ยังไม่ต้องไปเห็นอะไรเลย เพียงขั้นต้นของการเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริงๆ แล้วก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางตา เพียงทางตาที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก ก็เริ่มที่จะเข้าใจความเป็นธรรมว่าธรรมหมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใด ขณะนี้มีการที่ระลึกได้ รู้ว่าขณะนี้ก็เป็นธรรม แล้วก็รู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพที่เห็น กับ สิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นคือสติปัฏฐาน ไม่ต้องไปอบรมที่อื่นเลย
เวลาที่คนไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฟังธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรม พระองค์ไม่ได้ทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน แต่สภาพธรรมกำลังปรากฏ เมื่อทรงแสดงแล้วก็มีสติที่ระลึก แล้วก็เข้าใจตรงตามที่ทรงแสดง แล้วก็เป็นผู้ที่ละความต้องการ ถ้าขณะใดที่ละความต้องการ ปัญญาที่สะสมมาแล้ว ก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่าไม่มีอะไรปิดบังเลย ขณะนี้ที่เราต้องมานั่งฟังแล้ว ฟังอีก เดือนแล้วเดือนอีก ปีแล้วปีอีก เพราะว่าสะสมมาไม่พอ ถ้าสะสมมาพอเพียงฟังสภาพธรรมเป็นธรรมทั้งหมด แล้วก็ผู้นั้นก็สามารถที่จะเข้าใจตรงตามที่ทรงแสดงได้ ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมได้ ขณะนี้ก็เป็นธรรมอย่างที่ท่านผู้อื่นประจักษ์แจ้งมาแล้ว ประจักษ์การเกิดดับแล้ว เป็นพระอรหันต์มาแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ได้อบรม หรืออบรมไม่พอ หรือเริ่มที่จะอบรม ก็ไม่สามารถที่จะเห็นอย่างนั้นได้ แต่ต้องรู้ว่าธรรมทั้งหมด เป็นพยานคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นความจริงอย่างนั้น เมื่อปัญญาอบรมแล้ว
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 541
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 542
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 543
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 544
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 545
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 546
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 547
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 548
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 549
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 550
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 551
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 552
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 553
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 554
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 555
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 556
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 557
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 558
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 559
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 560
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 561
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 562
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 563
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 564
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 565
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 566
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 567
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 568
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 569
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 570
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 571
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 572
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 573
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 574
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 575
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 576
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 577
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 578
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 579
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 580
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 581
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 582
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 583
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 584
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 585
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 586
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 587
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 588
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 589
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 590
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 591
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 592
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 593
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 594
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 595
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 596
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 597
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 598
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 599
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 600