ปกิณณกธรรม ตอนที่ 587
ตอนที่ ๕๘๗
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ รูปคืออย่างนี้ คือที่กำลังปรากฏทางตา คือรูปคืออย่างนี้ ไม่ใช่คืออย่างอื่น ขณะที่กำลังได้ยินเสียง รูปคืออย่างนี้ เสียงกำลังปรากฏ รูปคืออย่างนี้ คือลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏนั้นเป็นรูป ไม่สงสัยเลยในลักษณะของรูป เพราะว่ารูปคืออย่างนี้ ทันทีที่เสียงปรากฏ นั่นคือรูปคืออย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ผู้ฟัง หมายความว่า รูปเป็นอย่างนี้ ขณะที่ปรากฏถึงจะรู้ว่ารูปเป็นอย่างนี้ ถ้าเผื่อไม่ปรากฏก็ไม่รู้ ฟังเรื่องรูปก็รู้เรื่องรูป แต่ว่าถ้าไม่ปรากฏ ก็ศึกษาไม่ได้ ถูกไหม จะไม่รู้ว่าอย่างนี้คือรูป
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง อยากจะถามว่าในความเห็นที่ว่านี้ ดังนี้รูป ดังนี้ความเกิดแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป อันนี้ เป็นจุดที่ว่า ถ้าเราต้องรู้ เรารู้ทั้งหมดนี้แล้ว เราจะมา มีความสิ้นไป มีความคลายกำหนัด แล้วก็ดับสนิทหรือเปล่า หรือว่า เราต้องดับก่อน คลายกำหนัด เราสละเสียก่อน เราปล่อย เรายึด ไม่ถือมั่นเสียก่อน ถึงจะมาเห็นความเป็นจริงว่า รูปคืออะไร เราจะเห็นความเกิดแห่งรูป หรือความดับแห่งรูป ทั้ง ๒ สิ่งนี้มันเป็นบันไดไปหากันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เราดับอะไรได้
ผู้ฟัง ดับอะไรได้หลายอย่าง
ท่านอาจารย์ เราหรือ
ผู้ฟัง ดับกิเลส
ท่านอาจารย์ เราดับกิเลสได้
ผู้ฟัง ดับได้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเลย
ผู้ฟัง หมายความว่า ถ้าเป็นขั้นปาฐกถา คนที่พูดท่านบอกว่าท่านดับได้
ท่านอาจารย์ เรา เราความเห็นว่ามีเรา จะดับกิเลสได้ไหม
ผู้ฟัง ความเห็นว่ามีเรา ดับไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่เราจะมาพิจารณาว่ารูปเป็นอย่างไร จะรู้แจ้ง เราจะต้องถึงขั้นสูงก่อน
ท่านอาจารย์ เราพิจารณาได้ไหม
ผู้ฟัง เราพิจารณาได้
ท่านอาจารย์ ขั้นไหน
ผู้ฟัง ต้องไต่เต้าขึ้นไป ตั้งแต่ขั้นต้น
ท่านอาจารย์ จากขั้นฟัง แต่ถ้าเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นถ้าเป็นเรา ก็เราไปตลอด ก็ไม่มีทางที่จะเห็นถูกว่า ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่าการศึกษา เป็นการศึกษาเรื่องราวนั้นขั้นหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่เป็นเราจะทำ หรือเราจะปฏิบัติ หรือเราจะละกิเลส
ผู้ฟัง อยากจะสนทนากับอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า สภาพธรรมปรากฏ การที่จะรู้ว่าสภาพธรรมปรากฏได้ ก็ต้องมีสติเกิดร่วมด้วย แล้วเราจะได้ศึกษาสภาพธรรม ขณะนั้น ใช่ไหม ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ก็สภาพธรรมปรากฏ แล้วรู้ตรงนี้ จะหยุดแค่นี้ไม่ได้ จะต้องกล่าวด้วยว่า สติเกิดระลึกรู้
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมถึงต้อง ถ้าเป็นปัญญาก็รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือปัญญารู้ แล้วขณะนั้นก็รู้ด้วยว่าปัญญาขั้นไหน จากการฟัง ไม่เข้าใจผิด เพราะบางคนคิดว่าเพียงฟัง ก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้ นั่นผิด เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าขณะที่ฟัง เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ก็เป็นขั้นหนึ่ง สุตมยปัญญา แล้วก็มีการไตร่ตรองพิจารณา เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นอีก อันนั้นก็เป็นขั้นพิจารณา จนกว่าเมื่อไรที่ขณะนี้สภาพธรรมปรากฏ แล้วก็รู้ในลักษณะนั้น ค่อยๆ รู้ ไม่ใช่จะไปรู้ได้ทันที เพราะเหตุว่า ความไม่รู้มีมาแสนนานแล้ว ต่อให้จะบอกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่มีวัตถุสิ่งใดๆ ในสิ่งที่ปรากฏเลยทั้งสิ้น แค่นี้ก็ยังไม่ยอมที่จะเห็นตาม เพราะว่ายังเห็นคน ยังเห็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาความจริงคืออะไร ความจริงคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นลักษณะของธรรม หรือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏได้เฉพาะทางตาเท่านั้น คือสีสันวัณณะต่างๆ ในขณะนี้ปรากฏได้ทางตา ไม่กระทบกับจมูกไม่กระทบกับลิ้น แต่ว่ากระทบตาจึงปรากฏ เท่านี้เอง นี่คือความจริง สัจธรรมของรูป คืออย่างนี้ รูปจะไม่เป็นอย่างอื่น
สำหรับทางตาคือกำลังปรากฏอยู่ แต่ว่าความเห็นว่าเป็นคน เป็นดอกไม้ เป็นสิ่งต่างๆ สะสมมานานแสนนาน แม้ว่าจะฟังไปอีกนานแสนนาน ก็ต้องนานแสนนานเท่าๆ กันหรือเปล่า หรือว่าอวิชชาที่ไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็เคยจำ จำไว้ตลอด อัตตสัญญา เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็มีอยู่ กว่าจะค่อยๆ เลือนไปด้วยความรู้ขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้ว ทางตาไม่มีสิ่งใดเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ขณะนี้เป็นอย่างนี้ ส่วนความคิดนึก ทุกคนอยู่ในโลกของความคิดตลอด เป็นอีกโลกหนึ่งต่างจากโลกที่เห็น ต่างจากโลกที่เสียงกำลังปรากฏ ต่างจากโลกที่กลิ่นกำลังปรากฏ ต่างจากโลกที่รสกำลังปรากฏ ต่างจากโลกที่เย็นหรือร้อน อ่อนแข็งกำลังปรากฏ เป็นอีกโลกหนึ่ง คือโลกของความคิดล้วนๆ จริงๆ คิดจากสิ่งที่เคยเห็น จากสิ่งที่เคยได้ยิน แล้วไม่ลืม เพราะฉะนั้น ก็มีความทรงจำแน่นหนามาก สักกายทิฏฐิ หรืออัตตานุทิฏฐิ กว่าจะละ กว่าจะไถ่ถอน ไม่ใช่ปัญญาระดับขั้นฟัง หรือขั้นคิด หรือขั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่ไม่รู้อย่างนี้ ไม่มีการคลาย ไม่มีปัญญาเพิ่มขึ้น ไม่มีการเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้น ในสิ่งที่ปรากฏ แล้วจะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
การฟังพระธรรมก็ต้องเห็นความจริงว่า เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา แล้วปัญญาสามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะว่ามีผู้รู้ และผู้ที่บรรลุแล้วมากมาย เพราะฉะนั้น ถ้าใครอบรมเจริญปัญญา ปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปนั่ง คิดมากมายแล้วก็สงสัย สงสัยคือความไม่รู้ แทนที่จะเป็นความสงสัย ขณะที่กำลังฟัง เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง นั่นคือปัญญา เราทราบแล้วว่ามีแต่ธรรมทั้งหมด คือจิต เจตสิก รูป
รูปไม่สามารถที่จะรู้ ไม่สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้เลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นจิตที่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก เพราะความเข้าใจเป็นปัญญา ไม่ใช่จิต จิตเป็นสภาพที่เพียงเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่น กำลังเห็น ทุกคนเห็น มีปัญญาก็ได้ ไม่มีปัญญาก็ได้ คนที่เห็นแล้วไม่รู้ความจริงของรูปที่กำลังปรากฏ หรือสภาพเห็นที่กำลังเห็น คนนั้นก็ไม่มีปัญญา แต่ผู้ที่เห็นแล้วมีปัญญา มีความเห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าในลักษณะของเห็นก็มีได้ ไม่ใช่มีไม่ได้ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะคิดมากหรือสงสัย ตอนนั้น ตอนนี้ ก็จะเป็นเรื่องที่จะเป็นผู้รู้ ธรรมจริงๆ แล้วเป็นปัจจัตตัง เฉพาะตนจริงๆ ขณะนี้ที่กำลังฟังไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่ามีใครเข้าใจได้แค่ไหน ระดับไหน แต่ละคน หรือว่าสติปัฏฐาน สติของใครกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้องจริงๆ ตรงตามความเป็นจริง เป็นเรื่องเฉพาะตนที่ว่า แต่ละคนก็จะเป็นปัญญาของตัวเอง ซึ่งก็ควรจะให้เป็นปัญญาอย่างนี้ อย่าคิดที่จะถามเรื่อยๆ หรือว่าให้คนอื่นตอบ แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไร เราก็ต้องไตร่ตรอง
ผู้ฟัง ตอนที่เรียนปริยัติ เราก็ทราบว่าขณะที่เห็น ขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นนั้น รูปมันก็ยังไม่ดับ รูปมีอายุ ๑๗ ขณะจิต เพราะฉะนั้น ช่วงนั้นทั้งรูปและนามมันก็มีอยู่เหมือนอย่างที่ว่า วัตถุกับเงา ใช่ไหม ตอนที่มีวัตถุ กับตอนที่มีเงา ทั้ง ๒ อย่างก็ยังอยู่ ก็ทำให้เราเข้าใจทั้งวัตถุ ทั้งเงา แต่ตอนนี้มันเกิดคนละขณะ อันหนึ่งดับไปก่อน อันหนึ่งเกิดตามหลัง ทำให้หนูสงสัยว่าทำไม มันน่าจะเกี่ยวเนื่องกัน
ท่านอาจารย์ ลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรมโดยเด็ดขาด
ผู้ฟัง แต่ถ้าไม่มีรูปธรรม มันก็ไม่มีนามธรรม ถ้าไม่มีอายตนะภายนอกปรากฏ ก็ไม่มีอายตนะภายใน
ท่านอาจารย์ นั่นเรื่องคิด แต่ลักษณะของสภาพที่เป็นรูปธรรม ต่างกับลักษณะของนามธรรมโดยเด็ดขาด โดยสิ้นเชิง
อ. สมพร วิปัสสนูปกิเลส แปลว่า ความเศร้าหมองของวิปัสสนา แยกออก วิปัสสนา + อุปกิเลส
วิปัสสนา คือที่เราเห็นนามและรูปเกิดดับ ติดต่อกันไป เบื่องต้นถูกต้อง พอเจริญวิปัสสนาไปแล้ว ด้วยอำนาจสมาธิที่เกิดร่วมด้วย ทำให้แสงสว่างในตัวเราเกิดปรากฏ เกิดจากวิปัสสนาเป็นจิตตชรูป เราเข้าใจผิด สำคัญว่า เรานี้บรรลุแล้ว นี่เครื่องเศร้าหมอง วิปัสสนาต้องดำเนินไป เห็นนามและรูป หรือสังขาร โดยความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเท่านั้น ไม่ใช่เห็นนามแล้วยึดว่าแสงสว่างเป็นเรา เรานี้สำเร็จแล้ว นั่นเครื่องเศร้าหมอง
ท่านอาจารย์ โดยมากเราจะกังวลถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แล้วก็คิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ว่าปัญญาจริงๆ ซึ่งเป็นเครื่องส่อว่าเป็นปัญญาจริง คือขณะนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้มีหรือเปล่า แล้วก็เป็นระดับไหน เพราะเหตุว่าปัญญามีหลายขั้น ขั้นที่ไม่เคยรู้เลยว่าขณะนี้เป็นธรรม แค่ว่าเป็นธรรมก็ไม่รู้ บางคนก็ไปหาธรรมสุดเหนือสุดใต้ แต่พอรู้ว่าธรรมคืออะไรไม่ต้องไปไหนเลย เพราะว่าจะไม่มีวันที่จะไม่มีธรรมเลย จะมีธรรมปรากฏ ความสำคัญคือว่าการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ให้ไปติดข้องอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ปัญญาเป็นเรื่องละ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ที่กำลังเห็น หรือกำลังได้ยิน หรือกำลังคิดนึก ผู้นั้นจะรู้ลักษณะของสัมมาสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็เป็นผู้ตรง ว่าปัญญายังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม กำลังเพิ่งเริ่มที่จะเข้าใกล้ลักษณะนั้น เข้าใกล้ที่นี่หมายความว่าค่อยๆ รู้ลักษณะนั้น ทั้งๆ ที่ลักษณะนั้นกำลังปรากฏ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อกำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่น้อยมากเหมือนกับจับด้ามมีด ก็ลองคิดดูว่า ชาติหนึ่งใครจับด้ามมีดสึกบ้าง ชาตินี้ ลองจับ เริ่มจับก็ได้ เพราะฉะนั้น ระหว่างที่จับ บางคนก็จะสงสัยว่าจะสึกได้อย่างไร หรือว่าจะต้องทำวิธีไหน ด้ามมีดถึงจะสึก เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
แต่ถ้าเป็นเรื่องรู้ แม้ขณะที่สติที่กำลังเกิด ก็รู้ว่าขณะนั้น กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่เคยระลึก แล้วเมื่อระลึกแล้ว ความรู้จะค่อยๆ เพิ่มแค่ไหน เป็นไปตามลำดับขั้น อย่างละเอียดมาก แม้แต่วิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ไม่ใช่ว่าวิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จะละคลาย จะต้องถึงขั้นที่สามารถถึงระดับที่จะละคลายโดยการประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ตรง แล้วก็เป็นเรื่องที่ว่า ความรู้อบรมได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อความรู้อบรมได้ เราจะมีทันที หรือพยายามไปให้ใครมาบอกเราว่าให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอยางนั้น แล้วปัญญาอย่างนั้นจะเกิด เป็นเรื่องที่ละความไม่รู้ แทนที่จะคิดถึงเรื่องได้ วิปัสสนาญาณหรืออะไรก็ตาม คิดถึงเรื่องละความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยรู้ว่าถ้าสติปัฏฐาน หรือว่าสัมมาสติไม่เกิด ไม่มีหนทางเลย เราก็คงอยู่ในเรื่องราวของปรมัตถธรรม รู้ว่ามีจิตเท่าไร มีเจตสิกเท่าไร แต่ว่าขณะนี้จิต เจตสิก กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานตลอดเวลา ก็ต้องประจักษ์ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นโดยรู้ชัด โดยการศึกษาโดยสติเกิดว่าลักษณะใด เป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง ค่อยๆ รู้ ถ้าหากมันค่อยๆ รู้บ่อยๆ ก็ยังดี ค่อยๆ รู้ที ไม่รู้หายไป ไม่รู้นานเท่าไร
ท่านอาจารย์ ก็จับด้ามมีดไง จับแล้วจับทั้งวัน ก็ยังเหมือนเดิม ต่อให้ทั้งวัน ๒ วัน อาทิตย์หนึ่งก็ยังเหมือนเดิม
ผู้ฟัง อย่างผม ๑๐ กว่าปี ผมก็ยังไม่ค่อยจะเกิดเลย สติปัฏฐาน ก็ต้องเรียนไปอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ยังดีที่ไม่เดือดร้อน ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด บางคนก็เดือดร้อนมาก ขอให้ทุกคนฟังข้อความในข้อ ๒๔๗ ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้สังเกต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร วัชชะ ความเห็นว่าโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดโลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้นั้นเป็นความเห็นที่รกชัฎ เป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นความเห็นที่เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่เป็นกวัดแกว่ง เป็นความเห็นที่เป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ เป็นไปกับด้วยทุกข์ เป็นไปกับด้วยความลำบาก เป็นไปกับด้วยความคับแค้น เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
เห็นไหมว่า เราเคยคิดอย่างนี้หรือเปล่าว่าไม่มีประโยชน์เลย ไม่ว่าจะเห็นผิดประการใด ก็ไม่เป็นทางที่จะคลายกำหนัด หรือดับสนิท หรือสงบระงับ หรือเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ข้อความต่อไป จะเห็นได้ว่าเราเริ่มมีความเห็นอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า ที่พระองค์ตรัสว่า
ดูกร วัชชะ เราเห็นโทษนี้แลของทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิเหล่านั้นโดยประการทั้งปวงเช่นนี้
แทนที่ไปเสียเวลาคิดเรื่องความเห็นผิด แต่เห็นโทษว่าความเห็นผิดทั้งหมดไม่มีสาระเลย เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด พระองค์ทรงเห็นเรื่องของการกำจัด ความเห็นผิด โดยการรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ประโยชน์ ก็คือดับความเห็นผิด ประโยชน์จริงๆ ต้องรู้ว่ามีความเห็นผิด ประโยชน์แท้จริงคือดับความเห็นผิด
ผู้ฟัง ที่จะตัดตรงนี้ก็ต้องศึกษา
ท่านอาจารย์ ใช่
ผู้ฟัง เรื่องจิต เรื่องเจตสิก
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะดับความเห็นผิด
ผู้ฟัง เพราะว่าเห็นมากๆ มายๆ อันนี้มันก็ ถ้าเราเข้าใจเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูปดีแล้ว มันก็จะตัดความพวกนี้ไปได้ ความเห็นที่รกชัฎ กวัดแกว่งหรืออะไรต่ออะไร
ท่านอาจารย์ นี้เป็นจุดประสงค์ที่ว่าเราศึกษาทำไม เราศึกษาเรื่องจิตทำไม เราศึกษาเรื่องเจตสิกทำไม ศึกษาเรื่องรูปทำไม ศึกษาพระไตรปิฎกทำไม ก็เพื่อที่จะให้มีความเห็นถูกจนกว่า ที่จะดับความเห็นผิดได้ สาระอยู่ที่ดับความเห็นผิด
ผู้ฟัง จะต้องศึกษาปริยัติ หรือว่าจะเน้นในเรื่องการฟังในเรื่องของสภาพธรรมเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาว่า เพื่อเข้าใจสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ขณะที่ศึกษาแล้วก็สามารถ ถ้าจะมีความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏยิ่งขึ้น ก็ดี แต่ว่าผู้ที่ศึกษาก็เป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เป็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ใครสามารถที่จะมีปัญญา อย่างท่านพระสารีบุตร ที่เมื่อได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว ก็แสดงต่อกับบรรดาพระภิกษุทั้งหลาย หรือว่าใครจะมีความสามารถอย่างท่านพระอานนท์ ทรงจำไว้หมด ตั้งแต่บรรทัดต้นจนถึงบรรทัดสุดท้าย เป็นลำดับของพระสูตรทั้งหมด พระอภิธรรมด้วย
เพราะฉะนั้น เราก็สามารถที่จะรู้ตัวเองได้ว่า เราสามารถจะมีปัญญาระดับไหน ถ้าเราฟังเรื่องของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป มีความสามารถจะเข้าใจสิ่งที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ เรามีปัญญาระดับนี้ เราก็ศึกษาเพื่อที่จะให้มีความเห็นถูกใน สภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะว่าเพียงรู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เท่านั้น ไม่สามารถที่จะคลาย ความเห็นว่าเป็นเราได้ ต้องฟังอีก ทั้งพระอภิธรรม และพระสูตรด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงแต่เฉพาะฟังเรื่องของพระอภิธรรม จำจำนวนได้ รู้ไปหมดแต่ว่าไม่เป็นผู้ประพฤติตาม อันนั้นก็เท่ากับว่าจำเรื่องราว แต่ว่าไม่เห็นประโยชน์ว่าธรรมทั้งหมด รู้เพื่อขัดเกลา แล้วก็โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องสภาพธรรม เพื่อให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่เรื่องซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น เราก็เป็นผู้ที่ตรงว่าเรารู้ได้ ระดับไหน เราก็รู้ระดับนั้น
ผู้ฟัง ถ้าเกิดฟังเรื่องของสภาพธรรม ก็ยังเกื้อกูลทำให้มีการสังเกตสภาพธรรม แล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ฟังเรื่องสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะไม่เคยปรากฏเลย แล้วจะให้เกื้อกูลอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ให้ปรากฏ ไม่มีใครบอกให้ไปรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ คนนั้นต้องรู้ด้วยว่า ขณะนี้ แม้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ๑ ขณะก็จะรู้ลักษณะของนามธรรมได้ตรงชวนะ ซึ่งเกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า การฟังไม่ใช่ให้เราไปพยายามที่จะไปรู้สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ตทาลัมพนะ หรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าเป็นการที่แม้นามธรรมและรูปธรรม ก็ยังไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การฟังก็เพื่อที่ให้ค่อยๆ พิจารณาให้รู้ความเป็นอนัตตา แล้วรู้ว่าไม่ต้องไปประจักษ์เรื่องของจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะอะไรเลย เพียงแต่ว่าให้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม ซึ่งยังไม่รู้ ความรู้ต้องเจริญตามลำดับขั้น
ผู้ฟัง ทีนี้ ถ้าศึกษาเรื่องเหล่านี้แล้ว จะไปรู้เกี่ยวข้องกันอย่างไร ในการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรม
ท่านอาจารย์ รู้ว่าไม่มีใครสามารถทำ ไม่มีใครสามารถปฏิบัติ ไม่มีใครสามารถที่จะดับกิเลส แต่สามารถเพียงรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า สภาพธรรมมีปัจจัยเกิดขึ้น จากภวังคจิต มีอารมณ์ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่ขณะที่เป็นภวังค์ ถ้าไตร่ตรองแล้วก็อบรมเจริญปัญญา แต่มั่นคงขึ้น ความรู้ไม่ใช่รู้อย่างอื่นนอกไปจากที่เคยฟัง แม้แต่ในเรื่องของอายตนะ ขณะใดที่สภาพธรรมปรากฏขณะนี้ ไม่ต้องใช้ชื่อว่าอายตนะ แต่ต้องมีอายตนะ คือทางตาก็ต้องมีทั้งจักขุปสาท เป็นจักขายตนะ ภายนอกก็ต้องมีรูปายาตนะ มิฉะนั้นแล้วจะมีจิตที่เห็นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็สามารถที่จะเข้าใจความเป็นอนัตตา และความเป็นอายตนะ ของธรรมในขณะนั้น แต่ต้องเริ่มจากปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก่อน ทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ต้องหวัง โดยไม่ต้องคาดคะเน โดยไม่ต้องคิดว่านี่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณหรือยัง หรือว่า เป็นนามรูปปริจเฉทญาณหรือเปล่า เพราะขณะนั้นเพียงคิดแน่นอน ไม่ใช่การประจักษ์ ลักษณะที่ประจักษ์ไม่ใช่ลักษณะที่คิด แล้วถ้าไม่มีปัญญาตามลำดับ เช่น ไม่มีนามรูปปริจเฉทญาณ จะมีการประจักษ์การเกิดดับของอะไร เพราะว่าบางคนไปตั้งต้นที่อุทยัพพยญาณ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 541
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 542
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 543
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 544
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 545
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 546
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 547
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 548
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 549
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 550
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 551
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 552
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 553
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 554
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 555
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 556
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 557
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 558
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 559
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 560
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 561
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 562
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 563
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 564
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 565
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 566
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 567
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 568
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 569
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 570
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 571
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 572
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 573
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 574
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 575
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 576
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 577
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 578
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 579
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 580
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 581
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 582
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 583
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 584
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 585
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 586
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 587
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 588
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 589
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 590
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 591
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 592
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 593
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 594
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 595
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 596
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 597
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 598
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 599
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 600