ปกิณณกธรรม ตอนที่ 590


    ตอนที่ ๕๙๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ อย่างเรื่องง่ายๆ ธรรมดา รู้จักประมาณในการบริโภค แค่นี้ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ใช่ไหม เรื่องการรับประทาน แล้วก็วันนี้เดี๋ยวก็ถึงเวลารับประทานแล้ว รู้จักประมาณในการบริโภค จะมาตอนไหนอย่างไร พอได้ยินอย่างนี้ เริ่มแล้ว วันนี้จะแค่ไหนพอดี เริ่มมีกฏเกณฑ์ แต่ว่าจริงๆ แล้ว ผู้ที่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นผู้ที่มีปัญญาจึงเห็นว่า ไม่ควรที่จะบริโภคเกินกว่าที่ต้องการ เพราะว่าเวลานี้ปกติธรรมดา เรารับประทานเพราะความหิว แล้วก็รับประทานเพราะความอร่อยเพิ่มขึ้นด้วย อิ่มแล้วแต่ยังอร่อย ก็ยังรับประทานต่อไปได้ หรือว่ายังไม่หิวแต่อาหารอร่อยมาก แล้วก็มีคนมาคะยั้นคะยอตลอดเวลา ชิมหน่อย อะไรอย่างนี้ ก็เลยรับประทานไป แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจจริงๆ เพราะมีปัญญาโดยการอบรม จนเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ว่าไม่มีประโยชน์ว่าขณะนั้นเป็นไปด้วยอำนาจของความต้องการ เริ่มเห็นโลภะ เพราะว่าโลภะในชีวิตประจำวันมากมายมหาศาล เริ่มเห็นโน่นนิด นี่หน่อย โน่นบ้างนี่บ้างทีละเล็กทีละน้อย ต่อไปด้วยปัญญาที่เจริญขึ้นก็จะเข้าใจความหมายว่า แม้แต่การรู้จักประมาณในโภชนะ ก็ต้องด้วยปัญญาของผู้นั้นเอง จึงสามารถที่จะเห็นประโยชน์ของการนอนน้อยหรือการบริโภคอาหารพอประมาณ แต่ถ้าคนที่ไม่เข้าใจก็จะทำตามไปเลย โดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไร ก็เป็นผู้ที่รับประทานน้อยด้วยความเป็นเราที่จะทำตามด้วย

    ผู้ฟัง สมัยผมบวช ครูบาอาจารย์ ท่านสอนฉันในบาตร ไปบิณฑบาตมาได้ข้าวได้อะไรเต็มบาตร แต่พอมาถึงวัดแล้วจะต้องเอาอาหารที่ได้มาทั้งหมด เอาออกใส่กะละมัง เขามีญาติโยมเขาเอากะละมังมา เอาออกๆ แล้วก็ให้เหลือไว้ในบาตร เฉพาะที่ตัวเองกะว่าจะฉันพอดี ทีนี้มันก็กิเลสมันก็บอก มันกระซิบแล้ว ชปฺปาภิเลปนํ ตัณหามันมาฉาบทาแล้ว มันคอยกระซิบ เท่านี้ไม่พอนะ เดี๋ยวเย็นๆ หิวนะ อะไรอย่างนี้ ก็เอาเพิ่มอีก เพิ่มอีกหน่อยหนึ่ง ปั้นหนึ่งหรืออะไรอย่างนี้นะ โดยมากทางอีสานก็ข้าวเหนียวๆ มันอิ่มนานหนา มันก็แย้งกันอยู่ แต่ผลสุดท้ายก็เอา ก้อนนี้พอ ฉันๆ ไป บางทีฉันไม่หมด มันแน่นท้องแล้ว แสดงว่าไม่รู้จักประมาณในท้องของตัวเองในกระเพาะของตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ คำว่า รู้จักประมาณก็เป็นเรื่องที่บางทีมันก็ติดในความอร่อย ในรสอาหารในความอร่อย ทั้งๆ ที่มันอิ่ม มันก็อิ่มได้แล้วละ แต่ว่าเอาอีกหน่อยมันอร่อยดี อะไรอย่างนี้ มันติด มันก็เรื่องของตัณหาทั้งนั้น ที่มันแทรกเข้ามา มันฉาบทาเข้ามา

    ท่านอาจารย์ ก็จะเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เวลาอิ่มมีใครบ้างที่ไม่รู้ หรือกำลังใกล้จะอิ่มก็เริ่มจะรู้สึกแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สติเกิดระลึกในขณะนั้น ก็จะเห็นโทษเลยของการที่จะบริโภคต่อไป คือเห็นโทษของโลภะ ซึ่งเป็นผู้ที่ติดข้องในรส เพราะฉะนั้น จะค่อยๆ มีปัญญาที่เกิดจากสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามลำดับขั้นด้วย ตามที่ว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสของโลภะ เพราะว่า ชีวิตของเราทั้งวันก็เป็นไปตามโลภะมากมาย

    ผู้ฟัง ชินขอถาม การที่ติดในรส คือชินคิดว่ามีปกติ ชินก็ติดในรสอย่างมากเลย กินเรียบร้อยถึงมาควบคุมใจว่า ไม่น่าเลย ทำไมอกุศลเต็มเพียบเลยอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ใช่ มีคนหนึ่งเขาก็รับประทานเจ ก็ถามเหตุผลเขาว่าทำไมเขารับประทาน เขาบอกว่า ก่อนที่เขาจะรับประทานเจ เขาติดรสอาหารมากเลย สเต็กเนื้อ อะไรๆ ทุกอย่าง อย่างมากมาย เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า จะให้ตัวเองห่างเหิน สามารถที่จะควบคุมโดยการที่ว่าทานเจเสียเลย จะได้ไม่ต้องทานพวกรสต่างๆ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ตรง ไม่มีอะไรที่จะดับความติดในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ นอกจากบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามี ถ้ารู้อย่างนี้เราก็รู้ว่า ยังมีกิเลส หายไปนานเดี๋ยวก็โผล่มาใหม่ อาจจะเป็นหลายเดือน หลายปี หรืออาจจะเป็นชาติหนึ่งก็ได้ ชาตินี้อาจจะดูเป็นคนที่มีกุศล หรือว่าพยายามที่จะระมัดระวังตัวได้สารพัดอย่าง แต่ชาติหน้าอนุสัยกิเลสที่ยังมีอยู่จะกลับมาอีก แม้ว่าผู้นั้นจะเคยเกิดในพรหมโลก แล้วก็กลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ ไม่มีความยินดีในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะในตอนแรก แต่ต่อไปต่อมา อนุสัยกิเลสที่มี ก็ทำให้เป็นผู้ที่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้

    ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ เราก็มีปัญญาตามระดับขั้น คือว่าตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่พระอนาคามี เพราะฉะนั้น มีปัจจัยพร้อมที่ว่าความติดในรูปในเสียงเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ แต่พร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเหตุว่า มีกุศลหลายระดับ ถ้าเป็นอย่างที่ร้ายแรงหรือว่ารุนแรง หรือว่าเป็นทุจริตกรรมเป็นอกุศลกรรมก็มีหิริ โอตตัปปะที่ได้สะสมมา พอพร้อมที่จะระงับได้ แต่ก็ยังต้องไม่ประมาทอีก เพราะเหตุว่าทุกข้อของศีล สามารถที่จะล่วงได้ ถ้าผู้นั้นยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล แต่ว่าถ้ามีชีวิตที่ปลอดภัย คือแวดล้อมด้วยธรรมแล้วก็มีมิตรสหายในวงของธรรม ก็ยังไม่ปลอดภัยอีก เพราะเหตุว่ายังมีอกุศล ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น แต่ก็เกี่ยวกับตัวเอง เช่น การบริโภคอาหารต่างๆ เหล่านี้

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการอบรม เป็นเรื่องของสติ เป็นเรื่องของการฟัง เป็นเรื่องของการพิจารณา แต่ว่าอย่างไรก็ตามที่จะสำเร็จเป็นไปได้ ก็ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเพียงแต่อ่านพระสูตร แล้วก็ไพเราะมาก แล้วพยายามที่จะทำตามได้ชั่วมื้อชั่วคราว แต่อนุสัยกิเลสดับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็รู้ว่า สติปัฏฐาน คืออย่างไร มีปัจจัยที่สติปัฏฐาน จะเกิดเพื่อละ ความไม่รู้ เพื่อละความเป็นตัวตน เพื่อละความเป็นเรา ซึ่งละยาก แต่ก็เริ่มรู้ว่าสติปัฏฐานต่างกับขณะที่หลงลืมสติ แค่นี้ก็เป็นหนทางที่จะทำให้เรายังไม่ต้องไปคิด เรื่องที่จะทำให้เป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ว่าเป็นการที่จะดำเนินหนทางที่จะทำให้เห็นถูกในสภาพธรรม พร้อมกันนั้นสติและกุศลอื่นๆ ที่ได้สะสมมา ก็จะค่อยๆ ทำให้เราเห็นโทษของอกุศลต่างๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็ค่อยๆ ละคลายไปได้

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์พูดถึงว่าความติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะเด็ดขาดได้ก็ต่อเมื่อเป็นพระอนาคามี อันนี้ถ้าคิดไม่ดีมันจะประมาท

    ท่านอาจารย์ ก็ลวงอีก

    ผู้ฟัง มันจะประมาท ทีนี้ท่านอาจารย์ก็เลยมีอีกคำว่า แต่อย่าประมาท อันนี้ทุกขั้นตอนเลย ถึงแม้เรายังไม่เป็นพระอนาคามีก็จริง เราก็ไม่ควรจะให้กิเลสมันครอบงำ ไม่ควรจะให้กิเลสมันครอบงำได้ ยังไม่เป็นพระอนาคามี ไม่เป็นไร กินเข้าไปเถอะ อะไรอย่างนี้ อะไรๆ ก็ชอบไป ไม่เป็นไร ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผมก็เคยพูดกับเพื่อนๆ เหมือนกัน ยังไม่เป็นพระอนาคามี เหล้าก็กินไป ไม่เป็นไร สนุกสนานไป อะไรไปอย่างนี้ รู้สึกว่าเราจะขาดตรงคำว่า ต้องไม่ประมาท แม้อันนี้เป็นคำที่สำหรับจะกระชับไปเลย บอกว่า อย่านะ ถึงไม่เป็นพระอนาคามี ก็อย่าเหลิง อย่าประมาท

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าบางคน เหมือนกับมีคาถา แต่ไม่ใช่ คือเขาบอกว่าก็เป็นอนัตตา อะไรๆ จะเกิด ก็เป็นอนัตตา คือใช้คำพูดนี้ แต่ว่ารู้จักอนัตตาถ่องแท้ หรือเปล่า เพราะเหตุว่าเพียงพูดตาม พูดได้ ใครก็พูดได้ว่าอนัตตา แต่ว่าควรจะรู้จักตัวเองว่า ยังไม่ได้รู้ถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมจริงๆ เพียงพูด เพราะฉะนั้น คำพูดที่เอามาใช้ไม่ตรงกับความจริง คือเพียงแต่พูดเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้จักตัวเองก็รู้ว่า ถูกต้องทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่ต้องอบรมเจริญปัญญา ให้ประจักษ์ความเป็นอนัตตาด้วย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงข้ออ้าง

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยขยาย ความประมาทตรงนั้นให้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นประมาท

    ผู้ฟัง แต่มันบังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เราก็อบรมเจริญเหตุที่จะให้กุศลจิตเกิด เช่น ขณะนี้กำลังฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น เป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเราที่จะละอกุศล

    ผู้ฟัง แต่ว่า อกุศลเขาก็ไปเร็วมาก ถึงว่าสั่งสมไปอกุศลก็

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นเหตุที่การอบรมเจริญปัญญา จึงช้าไม่ใช่ว่าจะไปดับกิเลสได้เร็ว

    ผู้ฟัง อาจารย์จะแสดงความแตกต่างกันไหมว่า ถึงแม้สำหรับคนที่อ่านพระสูตรศึกษาพระอภิธรรม แม้จะมีความเข้าใจ แต่ว่าก็ยังไม่สามารถที่จะแทงตลอดสภาพธรรมได้ จะมีเหตุผลละเอียดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เหตุผลก็คือว่า ข้อความนี้ได้กล่าวแล้ว เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ไม่เปลี่ยน สั้นๆ แต่ว่าผู้ฟังสามารถที่จะบรรลุได้ ต่างกันที่ปัญญา ข้อความไม่เปลี่ยนเลย แม้แต่คำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็ไม่เปลี่ยน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ฟังสามารถที่จะรู้ ความจริงแล้วก็ละกิเลสได้ระดับไหน

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา บางทีข้อความเหมือนกับว่า ใครๆ ก็เห็นอย่างนั้น เหมือนอย่างนั้น รู้สึกอย่างนั้น แต่ทำไมคนที่กำลังรู้สึกอย่างนั้น สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าปัญญาต่างขั้น ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่ไปเฝ้าก็เป็นผู้ที่เคยได้ฟังธรรมมาแล้วในอดีต แล้วก็สะสมปัญญามาแล้วมาก เพราะฉะนั้น ในระหว่างผู้ทีฟัง พันคน ๒ พันคน ๓ หมื่นคนก็ตามแต่ ใครสะสมมาเท่าไร ไม่เหมือนกันเลย โดยพยัญชนะข้อความเดียวกัน คนที่ยังไม่เคยได้อบรมเลย ก็ฟัง แล้วก็ซาบซึ้งในข้อความในเหตุในผล ในความเป็นจริงในขณะนั้นที่สามารถจะพิสูจน์ได้ เช่น ถ้าพูดถึงเรื่องโลภะ ความติดข้อง คนนั้นก็กำลังติดข้อง เพราะฉะนั้น เขาก็สามารถจะเข้าใจสภาวะ หรือสภาพที่ติดข้องได้ แต่คนที่อบรมเจริญปัญญามาแล้วมาก พอฟังแล้วก็สามารถที่จะรู้ว่าความจริงแท้ๆ คือในขณะที่สามารถจะรู้ลักษณะ ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินคำ แล้วก็พิจารณา แล้วก็เข้าใจ แต่ขณะนั้นมีสภาพธรรมปรากฏ สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนไปยืนอยู่ที่ชายทะเลด้วยกัน ความรู้สึกต่างกันได้ ทั้งๆ ที่เห็นอย่างเดียวกัน คนหนึ่งอาจจะคิดถึงลักษณะของสติที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม สามารถที่จะมีการปรากฏของสภาพธรรม ซึ่งจะไม่มีใครในที่นั้นเลย เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่าทุกคนกำลังคิดถึงความว้าเหว่ ซึ่งไม่มีใครอื่น นอกจากคนนั้น แต่ว่าความว้าเหว่ของคนนั้นที่ยังมีโลภะ อยู่ก็จะว้าเหว่ด้วยโลภะ ต้องการหรือว่าเสียดายวงศาคณาญาติมากมายที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่ว่าคนที่รู้ความหมายของว้าเหว่ คือขณะนั้นไม่มีอะไรเลย นอกจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในสถานที่เดียวกันแล้วก็ความคิดอย่างเดียวกันก็ได้ แต่ว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเมื่อไร ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แม้ในขณะนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของปัญญา

    เพราะฉะนั้น ที่เรากำลังฟังธรรม คือ เก็บ รวบรวม สะสม ความรู้ความเข้าใจมากที่จะเป็นไปได้ เพื่อเวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะไม่หวั่นไหว เพราะว่าบางคนพอสติปัฏฐานเกิดหวั่นไหวด้วยโลภะอีก เพราะว่าโลภะ จะทำให้หวั่นไหวว่าอยากจะให้เกิดอีก หรือว่าอยากจะรู้ความจริงของสภาพธรรม ก็เพียงแค่ระลึก แล้วทำไมไม่ประจักษ์การเกิดดับ ก็จะมีความสงสัย จะมีความต้องการ แต่ถ้าว่าเป็นผู้ที่เข้าใจในเหตุผล ก็จะรู้ว่าเพราะปัญญาไม่พร้อม ถึงอย่างไรก็ตาม ปัญญาแต่ละขั้น หรือวิปัสสนาแต่ละขั้น ก็จะรู้ว่าพร้อมหรือยัง สำหรับขั้นต่อไป จะต้องเป็นผู้ที่ตรง แล้วก็รู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นว่า มีเยื่อใย ติดข้องในขันธ์ใด ในรูปขันธ์ หรือว่าในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

    ผู้ฟัง ความหมายของความไม่หวั่นไหว คิดว่าเรายังไม่ได้หมดโทสะ บางครั้งแม้มีความเข้าใจในเรื่องของสติปัฏฐาน หรือแม้บางครั้งสติปัฏฐานเกิดแล้ว บางครั้งก็ยังมีความเดือดร้อนใจ ติดตามมาอีก

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทุกอย่างเป็นเครื่องสอบปัญญา ปัญญาพอที่จะละความติดข้อง ความเป็นตัวตนในสภาพธรรมนั้นหรือเปล่า ยิ่งละเอียดขึ้น ยิ่งละเอียดขึ้น ยิ่งระลึกมากขึ้น ก็ยิ่งรู้ความจริงว่าในสภาพนั้น ในสภาพนี้ ในสภาพโน้น ที่กำลังปรากฏว่ามีเยื่อใยความติดข้องมากหรือเปล่า หรือว่าค่อยๆ ลดลงด้วยประการใด

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่บอกว่าประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม โดยเพียงแต่ว่าขณะนั้นเหมือนชัด เพราะว่าไม่มีอย่างอื่นเลย ทุกคนก็รู้สึกอย่างนั้นได้ ขณะที่เสียงกำลังปรากฏ แล้วมีแต่ได้ยินกับเสียง ไม่ได้ไปนึกถึงเรื่องอื่น ในขณะนั้นบางคนก็อาจจะคิดว่าชัด ชัดมากทีเดียว แล้วก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนั้นด้วย แต่เหตุไม่สมควรกับผล เพราะว่าปัญญาที่จะประจักษ์ได้จริงๆ ต้อง เป็นตามลำดับขั้น

    เพราะฉะนั้น เขาจะรู้เลยว่า ถ้าขณะนี้ยังไม่มีการคลาย การที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงรูปธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตา มีจริงๆ ธาตุนี้กำลังปรากฏ ยังคงเป็นคนอย่างเหนียวแน่น และไม่รู้หนทางว่า ทำอย่างไรถึงจะเห็นความต่างของสิ่งที่ปรากฏทางตา กับความคิดนึกว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แม้ว่าจะยกตัวอย่างเรื่องดูเงาในกระจก สักเท่าไรก็ตาม ก็เพียงแต่เข้าใจว่าเรามองเห็นเราในกระจก ซึ่งในกระจกไม่มีเรา

    ในขณะนี้ก็มีรูปธาตุซึ่งปรากฏ แล้วก็ไม่มีใครในรูปธาตุ ถ้าไม่มีการคิดนึก แต่ความจริงที่จะทำให้คลายไม่ใช่เพียงแค่คิด แต่จะต้อง ขณะใดก็ตามที่เห็น แล้วก็รู้ว่าหลงลืมสติ หรือสติเกิด แล้วทันทีที่สติเกิด ละความเป็นตัวตน หรือคลายความไม่รู้ในลักษณะของรูปธาตุที่กำลังปรากฏทางตา ถ้ายังไม่มีปัญญาที่สมบูรณ์จริงๆ วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นก็เกิดไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ยังมีความหวั่นไหวอยู่

    ผู้ฟัง ก็อดที่จะหวั่นไหวไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าต้องหวั่นไหว เพราะว่าปัญญาระดับนั้นยังไม่เกิดก็ยังต้องหวั่นไหว

    ผู้ฟัง คราวนี้ ความหวั่นไหวก็ควรจะต้องมีหลายระดับ เพราะว่า คิดว่าพระโสดาบันยังหวั่นไหว

    ท่านอาจารย์ เป็นของธรรมดา ต้องทราบว่า สภาวธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น สภาพความหวั่นไหวมีไหมสำหรับพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง คิดว่ามี เพราะว่าท่านยังไม่หมดกิเลส แต่ว่าความหวั่นไหวในการที่จะเห็นผิด หรือว่าในการที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ความหวั่นไหวเหล่านั้นคงจะไม่มี แต่ถ้าหวั่นไหวในนามธรรม รูปธรรม ที่ยังคงเป็นที่รักอยู่นี้ก็ ยังคงจะมีอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ละวิปลาส สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ใน ๓ อย่าง

    เรื่องของการละก็ต้องเป็นเรื่องของการละในสิ่งที่กำลังปรากฏ คือในท่ามกลาง ถ้าเรามีความสามารถที่จะเข้าใจ แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ขณะนั้นก็ค่อยๆ คลายความเป็นเรา เพราะเมื่อมีการที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น ก็จะรู้ได้เลยว่า เราอยู่ตรงไหน ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นนั่นเอง ที่จะต้องค่อยๆ คลายความเป็นเรา

    ผู้ฟัง มีคำถามว่า การประกอบอาชีพ ที่มีหน้าที่ลงโทษผู้กระทำความผิด เช่น ไล่ผู้กระทำความผิดออกจากงาน จะจัดว่าเป็นสัมมาอาชีวะหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต นี่อีกเรื่องหนึ่ง เพราะเหตุว่าถ้าสัมมาอาชีวะ หมายความว่าขณะนั้น วิรัติอาชีพทุจริต ไม่ประกอบอาชีพซึ่งเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ หรืออะไรต่างๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องของหน้าที่การงาน มีใครบ้าง ที่ทำหน้าที่การงานด้วยกุศลจิต เวลาที่ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ เรียนด้วยกุศลจิตหรือเปล่า หรือว่าจะทำบัญชี จะเป็นนักธุรกิจต่างๆ ด้วยกุศลจิตหรือเปล่า แต่ว่ากุศลจิตก็เกิดได้ถ้ามีความเมตตาในขณะนั้น แต่ที่มีความเมตตาไม่ได้หมายความว่าคนผิด ทำผิดแล้วเราก็มีเมตตาให้เขาทำผิดต่อๆ ไปอีก นั่นไม่ใช่เมตตา

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้จักหน้าที่ด้วย แล้วการที่จะช่วยเหลือใครเราก็สามารถที่จะทำตามกฎ ตามระเบียบ ตามข้อบังคับ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรา แต่ว่าต้องทำตาม อย่างผู้พิพากษาก็ไม่ได้ไปลงโทษใครโดยสุ่มสี่สุ่มห้า ใช่ไหม อยากจะนึกลงโทษใครก็ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องมีตัวบทกฏหมาย สมควรแก่การกระทำผิดของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือการอาชีพทั้งหลาย ขณะที่ทำก็ไม่พ้นจากอกุศลจิต นอกจากบางครั้ง บางคราวก็จะมีกุศลจิตเกิดได้ เช่น ถ้าเรามีความเมตตาต่อผู้ที่ทำผิด มีใครบ้างที่ไม่เคยทำผิด ไม่ว่าจะในหน้าที่หรือนอกหน้าที่ เขาอาจจะเป็นคนที่ร้ายกาจมากในสายตาของคนทั้งหลาย แต่ว่าถึงกระนั้นก็ตาม พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไม่ให้เรามีอกุศลจิต คือ ไม่ให้เรามีจิตที่ขุ่นเคืองประทุษร้ายต่อใครทั้งสิ้น เราสามารถที่จะมีเมตตาโดยวิถีทางที่ของเมตตาที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าโดยหน้าที่ก็ต้องเป็นไปโดยระเบียบหรือข้อบังคับ ซึ่งเขาได้กระทำผิด เพราะอะไร ก็ต้องด้วยอกุศลซึ่งไม่ควรจะทำ เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยกกัน ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะใดที่เป็นอกุศล ถ้าอย่างนั้นคนที่นับถือพุทธ นี่แย่ พอไปทำอะไรเขา ก็บอกว่านี่นับถือพุทธ แล้วทำไมทำอย่างนี้ แต่ว่าความจริงแล้วก็เป็นเรื่องของกุศลจิต อกุศลจิต

    ผู้ฟัง ไม่ทราบท่านอาจารย์มีแนวความคิดอย่างไร สำหรับการศึกษาพระสูตร เพราะว่า อย่างพระสูตรอ่านแล้วก็รู้สึกว่า ฟังเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นปัจจัยจะทำให้สติพิจารณาธรรมมากว่า เพราะว่าท่านแสดงเป็นเรื่องของผลทั้งนั้นเลย แสดงว่าภิกษุเห็นโทษทั้งหลายในกามแล้ว นี้ยังไม่ได้เห็นโทษสักนิดเดียวเลย

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า พระสูตรลึกซึ้งมาก ถ้าคนที่ไม่เข้าใจ ไม่มีการรู้เลยว่า หมายความว่าอะไร แต่ว่าท่านที่รู้ ทำไมท่านเข้าใจ ท่านสามารถที่จะเข้าใจอรรถ สามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมมีเป็นอย่างนี้มานานแสนนาน โลภะก็เป็นโลภะอย่างนี้แหละ โทสะก็เป็นโทสะอย่างนี้ เปลี่ยนไม่ได้ นานแสนาน แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว แสนโกฏิกัปป์ข้างหน้าก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การที่ฟังธรรมก็คือฟังเรื่องจริง มีจริงๆ ให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราฟังมามากน้อยเท่าไร แล้วเราอบรมเจริญปัญญาความรู้ระดับไหน เพราะบางคนก็อาจจะคิดว่าเพียงฟัง มีปัญญาระดับเดียวคือขั้นฟัง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    13 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ