ปกิณณกธรรม ตอนที่ 594
ตอนที่ ๕๙๔
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ การที่ฟังธรรมศึกษาธรรมแล้วก็เข้าใจแม้แต่ในอดีตศรัทธา เราก็ต้องย้อนกลับไปให้ตรงที่ว่า หมายความถึงอดีตอย่างไร คือเป็นปัจจัยที่ได้กระทำแล้วในอดีต ทำให้ปัจจุบันปฏิสนธิต่างกัน เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ถ้าเราจะศึกษา โดยสภาพลักษณะของธรรมจริงๆ ให้คิดถึงสภาพที่เป็นนามธรรม แยกขาดจากรูปธรรม นี่คือพูดบ่อยๆ ทบทวนบ่อยๆ เพราะว่าขณะนี้ก็มีนามธรรม และมีรูปธรรมแล้วทั้ง ๒ อย่างนี้ก็ต่างกันโดยเด็ดขาดโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ก็พูดไปเรื่อยๆ อย่างนี้ แล้วก็แสดงให้เห็นว่ารูปที่ตัวที่เคยยึดถือว่าเป็นเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ก็อ่อนก็แข็ง เหมือนกับรูปภายนอก แต่ว่าอ่อนแข็งข้างนอกฉันใด ในตัวก็ฉันนั้น คือไม่สามารถจะเป็นสภาพรู้ได้เลย เป็นได้แต่เพียงรูปขันธ์ หรือรูปธรรม เพราะว่าความหมายของรูปไม่ว่าในอดีตอ่อนแข็ง ปัจจุบันก็อ่อนแข็ง อนาคตก็อ่อนแข็ง เย็นร้อนในอดีต ก็เย็นก็ร้อนในอดีต ก็เหมือนเย็นร้อนในปัจจุบัน ก็เหมือนในอนาคต คือความเสมอกันของรูป ซึ่งต้องเป็นรูป จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มจะเข้าใจความต่างของนามธรรมและรูปธรรม นี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุด เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรมก็จริง แต่ว่าธรรมที่ทำให้เรายึดถือว่าเป็นเรา เพราะความไม่รู้ในความเป็นสภาพธรรมซึ่งมีลักษณะ ๒ อย่างที่ต่างกัน
การอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เราเลย ก็คือ มีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม บ่อยขึ้น ละเอียดขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แม้ ในขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ ก็จะเริ่มเข้าใจปฏิจจสมุปบาทได้ เพราะเหตุว่าเมื่อมีนามรูป เพราะว่ามีปฏิสนธิจิต อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะแรก เดี๋ยวนี้ก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น การที่ภพชาติของแต่ละชีวิตจะตั้งขึ้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ซึ่งเป็นนามธรรมล้วนๆ แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ คือ ปฏิสนธิจิต วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป คือ เจตสิก และกัมมชรูป ซึ่งเกิดในขณะนี้โดยที่ว่าถ้าขณะนั้น ถ้าเป็นการปฏิสนธิเป็นมนุษย์ ก็อยู่ในครรภ์ซึ่งเป็นรูปที่เล็กมาก มองไม่เห็น แต่ถ้าพูดถึงการเกิดโดยทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นภูมิไหนก็ตาม ขณะปฏิสนธิจิตเกิด ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือมีรูปเกิดร่วมด้วย รูปกลาปเล็กมาก ถ้าไม่ใช่เทพ ไม่มีทางที่จะรู้ว่ากลาปนั้นๆ ที่เกิด ต่อไปจะเป็นคนหรือว่าจะเป็นสัตว์ ตัวเล็กตัวใหญ่ รูปร่างผิวพรรณอย่างไร ไม่มีทางรู้เลย แต่ว่าก็มีกรรมเป็นปัจจัย ทำให้เกิดนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งภายหลังลองคิดถึงนามธรรมล้วนๆ เกิดดับปฏิสนธิจิต โลกนี้ไม่ปรากฏเลย มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน เมื่อข้ามภพชาติแล้ว อารมณ์ของภพก่อนชาติก่อนจึงปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น เป็นจิตซึ่งไม่ต้องอาศัยทวาร คือไม่ต้องอาศัยตา ไม่ต้องอาศัยหู ไม่ต้องอาศัยจมูก ไม่ต้องอาศัยลิ้น ไม่ต้องอาศัยกาย ไม่ต้องอาศัยใจ แต่เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งที่ถูกรู้คืออารมณ์ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์ที่ไม่มีใครจะรู้ได้เลย เพราะว่าอารมณ์นั้นไม่ปรากฏ เช่นเดียวกับขณะที่เป็นภวังค์ สืบต่อจากปฏิสนธิจิตซึ่งมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ
ขณะที่หลับสนิท เสียงไม่มี สีสันวัณณะต่างๆ ไม่ปรากฏ รส โผฏฐัพพะ ทุกอย่างไม่ปรากฏ โลกนี้ทั้งหมดไม่ปรากฏเลย จากสิ่งที่ไม่มีเลย ไม่ปรากฏเลย แล้วมีปรากฏขึ้น จะเป็นทางตาที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือเสียงที่กำลังได้ยิน ถ้าเราไม่ต้องไปคิดถึงตอนเกิด เอาแค่เพียงหลับเมื่อคืนนี้ ไม่รู้เลยตอนหลับสนิท ที่เราใช้คำว่า ตื่น ก็เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมปรากฏทาง ๑ ทางใดใน ๖ ทาง นี่ก็เป็นความน่าอัศจรรย์ที่ว่าต้องมีปัจจัย
นี้ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าศึกษา แม้ว่าสติปัฏฐานไม่เกิดก็ยังสามารถที่จะเห็นความเป็นปัจจัยว่ามีปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นปรากฏตามปฏิจจสมุปบาท แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิดระลึกสภาพธรรม ไม่ได้ผิดจากปกติในขณะนี้เลย ในขณะนี้จากการศึกษาทุกคนทราบว่า ธรรมมีปัจจัยเกิดแล้วดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่สติปัฏฐานไม่เกิด นามนั้นรูปนั้นดับแล้ว ไม่สามารถจะไปรู้ความจริงของนามรูปใดๆ ได้เลย
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่าสติปัฏฐานเท่านั้นที่ะระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด แล้วเริ่มเข้าใจ ซึ่งตามธรรมดา รูปก็ปรากฏทางตา เสียงก็ปรากฏทางหู เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยมีความเข้าใจ ไม่เคยมีความรู้ในลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นนามธรรมกับรูปธรรม แต่เมื่อฟังแล้ว เมื่อไรมีปัจจัยที่สัมมาสติเกิด จะรู้ได้ทันทีว่า ขณะนั้นเป็นสัมปชัญญะที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามธรรมดา ไม่มีเราที่จงใจไปทำ เพราะเหตุว่าเจตนา ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ไม่สามารถที่จะกระทำให้มีปัญญาเกิดขึ้นได้ นอกจากสติที่เกิดจากการฟังแล้วก็มีความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงตั้งต้นด้วยรู้ว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ
นี่ก็คือรู้ปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าปฏิจจสมุปบาท ที่จะปรากฏได้ก็จากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะมีอายตนะ นี่ก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมตัวจริง แม้แต่คำว่า อายตนะ แม้แต่ลักษณะของมนินทรีย์ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน เวลาที่สภาพรู้ หรือธาตุรู้ปรากฏ จะไม่มีอะไรที่นั้นเลย นอกจากธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ความเป็นใหญ่จะมีไหม ในขณะนั้น ก็จะมีความเข้าใจในความหมายของมนินทรีย์ว่าความเป็นใหญ่ของมนินทรีย์ คือธาตุที่สามารถจะรู้ เป็นเฉพาะธาตุรู้ หรือสภาพรู้เท่านั้น นี้ก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ
การศึกษาธรรม เมื่อเริ่มศึกษา ทุกคนรู้ว่า กำลังศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทรงแสดงไว้ ละเอียดมาก จากการที่ตรัสรู้ แต่ละคนที่ศึกษาก็รู้จุดประสงค์ว่า ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ถ้าศึกษาโดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หมายความว่าเราศึกษาธรรมหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพียงวิชาการหนึ่ง เหมือนวิชาการทางโลก ซึ่งสามารถที่จะรู้ไปได้หมด ทุกสิ่งทุกอย่างโดยชื่อ โดยจำนวน แต่ว่าสภาพธรรมจริงๆ ไม่รู้
ผู้ที่ฟังโดยแยบคาย ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า การศึกษาธรรมจริงๆ คืออะไร คือมีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้นศึกษาเรื่องสภาพธรรม เพื่อรู้สภาพที่มีตัวจริงๆ ที่เป็นอย่างที่ศึกษาทุกประการคือเป็นขณะนี้เป็นจิต แน่นอนที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังรู้อารมณ์สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ถ้าขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่ารู้เรื่อง ไม่ใช่รู้ลักษณะ เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก และเวลาที่รู้ปัจจัยก็หมายความว่า สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นปัญญาซึ่งสมบูรณ์ ที่นามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏทางมโนทวาร จะไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามรูป ซึ่งกำลังเป็นอารมณ์ สภาพที่เป็นนามธรรมที่เป็นธาตุรู้ ต่างกับรูปธรรม แต่ว่าปัญญาของบุคคลที่อบรมมาที่จะมี นามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่สามารถที่จะรู้ปัจจัย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏก็ปรากฏ คือ สภาพของนาม ธาตุรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ไม่มีอย่างอื่นเลยในขณะนั้น ในเมื่อโลกก็ไม่มี สี เสียง กลิ่น รส ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี แต่มีธาตุรู้ที่กำลังปรากฏ ก็เห็นความจริงว่า ความหมายของว่าโลกก็คือธาตุรู้ที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนั้น เพราะถ้าไม่มีสิ่งนั้น อะไรก็ปรากฏไม่ได้
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีรูปใดปรากฏ นามใดปรากฏ ในลักษณะของธาตุซึ่งไม่ใช่ตัวตน แล้ววิปัสสนาญาณก็ดับ เพราะว่าไม่สามารถที่จะดำรง เป็นปัญญาสมบูรณ์ไปได้โดยตลอด เพราะว่าต้องอาศัยการอบรมนานที่จะทำให้สภาพธรรมปรากฏ ผู้นั้นก็มีความที่จะเห็นความต่างของนามธรรมและรูปธรรม โดยการประจักษ์แจ้งในสภาพนั้นทางมโนทวาร จะไม่มีความสงสัยในความต่างของปัญจทวารกับมโนทวาร เพราะแม้ในขณะนี้ มโนทวารกับปัญจทวารสลับกันสนิท มโนทวารไม่ปรากฏเลย เหมือนเห็นตลอดเวลา แต่ความจริงหลังจากเห็นก็จะต้องเป็นภวังค์ แล้วมโนทวารวิถีก็ต้องเกิดหลายวาระ แล้วถึงจะเห็นอีกหรือว่ารูปใดๆ ที่จะปรากฏทางทวารใดก็ปรากฏสืบต่อ
ขณะนี้มโนทวารไม่ได้เปิดเผยเลย ซ่อนเร้นเหมือนไม่มี แต่ว่าเมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ ต้องเป็นทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งที่เคยมีจะหายหมดสูญหมดไม่มี ความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นอกจากเป็นสภาพรู้ ขณะซึ่งปัญญากำลังประจักษ์แจ้ง ลักษณะของธาตุรู้ และสิ่งที่เป็นรูปธรรมขณะนั้น ผู้นั้นก็รู้ ปัญญาแค่นี้ไม่พอ จะมีการรู้ตามความเป็นจริงว่า เท่านี้ แล้วก็ตรงกับพยัญชนะที่ว่าเป็น ตรุณวิปัสสนา
เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะไม่ปน คือไม่ไปเอาการพิจารณาว่านี้เป็นนามเป็นรูปแล้วก็บอกว่านี่เป็น นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะเหตุว่านั่นคิด ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง ผู้นั้นจะเข้าใจความหมายของวิปัสสนาญาณว่าทำไมจึงเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะว่าถึงแม้ว่าจะเป็นตรุณวิปัสสนาญาณ หรือว่าจะเป็นจินตาก็ตามแต่ เขาจะเข้าใจความหมายในที่นั้นได้ว่าต่างกับระดับคิด แต่ว่ายังมีความคิดเรื่อง สภาพธรรม ซึ่งแม้ขณะนั้นก็ไม่มีความเป็นตัวตน เป็นธาตุรู้คือคิด ที่กำลังคิดหรือตรึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
เพราะว่าปัญญาที่จะดับกิเลสได้จริงๆ แค่นี้ไม่พอ ต้องรู้ทั่วทั้งหมดที่เคยเป็นเรา หรือว่าเคยสงสัย หรือว่าไม่เคยประจักษ์มาก่อน ก็ต้องรู้เพื่อที่จะคลาย ความที่เคยยึดถือสภาพธรรมอย่างเหนียวแน่นมาก ให้ทราบว่า การที่ยึดถือสภาพธรรม และความไม่รู้ ลึกแค่ไหน
แค่ที่คุณประทีปบอกว่า ๑๔ ปีก็ยังอยู่ตรงนั้น ฟังไปแล้วก็ไม่ไปถึงไหน แต่ให้ทราบว่าขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจเป็นปัญญาที่ค่อยๆ หยั่งลงไป สู่การที่จะถอนรากของความไม่รู้ซึ่งลึกมาก เพราะฉะนั้น ต้องมีทั้งระดับคิด ระดับฟัง ระดับที่สติปัฏฐานเกิด ที่จะอบรมไปซึ่งผู้นั้น เป็นผู้ที่จะรู้แจ้ง คือ รู้จริงๆ ว่าปัญญาระดับใด
แม้แต่ความหมายของกุศลขั้นต่างๆ ญาณวิปปยุตต์ ญาณสัมปยุตต์ อสังขาริก สสังขาริก ก็จะต้องเป็นสภาพธรรม ซึ่งมีจริงๆ แต่ว่าทรงแสดงโดยพยัญชนะ ถ้าสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏ เราก็เหมือนชื่อ ๒ อย่างนี้จะต่างกันอย่างไร ระหว่างสสังขาริก กับ อสังขาริก แต่เมื่อเป็นปัญญาแล้วสามารถที่จะค่อยๆ รู้ทั่ว ในสิ่งที่มีจริงๆ
สำหรับปัจจยปริคหญาณ เป็นการรู้ปัจจัยก็คือว่า เมื่อสภาพธรรมนั้นไม่ใช่เราเลย อาจจะมีความรู้สึกว่าเราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ว่าเวลาที่เป็นสติปัฏฐานด้วยความมั่นคง ก็จะรู้ว่าแม้สติก็เกิดเพราะปัจจัย เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็จะมีความรู้ว่า ทุกๆ อย่างเกิดโดยที่ว่าบังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็หมายความถึงว่า มีปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะสามารถรู้ได้กี่ปัจจัย
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สมพร ที่บอกว่าจักษุของพระพุทธเจ้า มี ๕ ข้อ ๔ เป็นพุทธจักษุ คือรู้อัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย
อ. สมพร พุทธจักษุ จักษุที่ ๔ นี้ เมื่อเวลาเช้ามืด พระองค์เข้ามหากรุณาสมาบัติว่าวันนี้จะโปรดใคร ก็เห็นด้วยพุทธจักษุว่า ผู้นั้นมีอาสยะเบาบาง หรือมีอนุสัยน้อย ปรารถนากระทำความดีไว้ในปางก่อนมาก เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมแล้ว สามารถจะให้เขารู้ธรรมได้อย่างรวดเร็ว ด้วยอำนาจพุทธจักษุ จักษุของพระพุทธเจ้าไม่ทั่วไปแก่พระสาวก เรียกว่า พุทธจักษุ
ผู้ฟัง ในคาถานี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ดูกร โธตกะ เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ ผู้ยังมีความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้
อันนี้จะอย่างไร ก็คือว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพุทธจักษุ แล้วในคาถานี้แสดงว่าเราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ คืออย่างไร
อ. สมพร อันนี้ก็อาจารย์พูดบ่อยๆ คือว่า เราไม่อาจจะปลดเปลื้องใครๆ ได้ หมายความว่า พระพุทธเจ้าตรัสเองไว้ว่า ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกเท่านั้น เมื่อบอกแล้วผู้นั้นไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่สามารถที่จะปลดเปลื้องได้ บางคนก็เชื่อ พระองค์ตรัส บางคนก็ไม่เชื่อ คนที่ไม่มีปัญญา มีกิเลสมากมาย ไม่เชื่อ เมื่อไม่เชื่อ ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจากทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า เราไม่อาจจะปลดเปลื้องใครๆ ได้ เหมือนตรงกับคำที่พระองค์ตรัสว่า ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ก่อนที่ต่อไปถึงอรรถกถา ก็ขอให้พิจารณาข้อความที่ได้ฟัง เพราะว่า ข้อความในพระสูตรก็เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี นานหรือไม่นาน จริงๆ นี้ไม่นานเท่าไร ๒,๕๐๐ กว่าปี ไม่ถึงหมื่นไม่ถึงล้าน แต่ว่าปัญญาสมมติว่า เราอยู่ในที่นั้น แล้วก็ได้ฟังท่านโธตกมาณพ กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค ข้อความอย่างนี้ แต่ความเข้าใจของเรา คิดดู จนถึงเดี๋ยวนี้ เรายังถามเรื่องนี้ แสดงว่า ถ้าเราอยู่เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ปัญญาของเราได้อบรมเจริญขึ้นมาถึงระดับไหน แต่สำหรับท่านที่ได้เจริญอบรมมาแล้วอย่างโธตกมาณพ ที่ท่านกราบทูลถาม แล้วก็ลองพิจารณาว่า ความรู้สึกของท่านจะต่างกับความรู้สึกของเรา แม้แต่เพียงพยัญชนะที่ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ นี่เห็น พระมหากรุณาแล้ว ใช่ไหม กว่าที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าได้มาโดยง่ายเลย แต่ต้องเป็นผู้ที่แสวงหาคุณอันใหญ่ ๔ อสงไขยแสนกัป ข้าพระองค์ ปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งพระวาจาของพระองค์ การตรัสทุกคำต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะว่าเป็นผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าใครที่มีโอกาสจะได้ยินได้ฟัง ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่อบรมมาแล้วว่า ข้าพระองค์ ปรารถนาอย่างยิ่ง ซึ่งพระวาจาของพระองค์
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะฟังธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่เห็นพระคุณ แล้วก็มีศรัทธาจริงๆ ที่จะไม่ทิ้งการฟังพระธรรม ข้อความต่อไปที่ท่านกล่าวว่า บุคคลได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสเพื่อตนเถิด ไม่มีโอกาสสำหรับเราวันนี้ที่จะได้ฟังพระสุรเสียง แต่ว่าบุคคลได้ฟังพระธรรมหรือว่าพระวาจาของพระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลส เพื่อตนเถิด เป็นความจริงใจอย่างยิ่งที่รู้ว่า บุคคลที่สามารถจะแสดงธรรมที่ดับกิเลสได้ มีพระองค์เดียว คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อบุคคลใดได้ฟังธรรมแล้ว เพื่อดับกิเลส ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย
เราอาจจะมีความสนใจธรรมเล็กน้อย แต่ให้ทราบว่า กิเลสทั้งหมดที่เรามี หรือที่คนอื่นมี เพราะเหตุว่าเรามักจะเห็นกิเลสของคนอื่น กิเลสของคนอื่นพูดได้ทั้งวัน น่ารังเกียจ แต่ลืมขณะที่กำลังพูดเรื่องกิเลสของคนอื่นด้วยจิตอะไร เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นกิเลสของตนเอง จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ ต้องเป็นสิ่งซึ่งเราต้องเห็นโทษของกิเลส แม้ว่าในขณะใดก็ตาม ที่อกุศลจิตเกิด เราไม่เห็นโทษของกิเลสเลย แต่ว่าเวลาที่ได้ฟังพระธรรม ก็เริ่มเห็น และก็รู้ว่าประโยชน์จริงๆ ก็คือดับกิเลสของตนเอง การศึกษาทั้งหมด ก็เพื่อให้เห็นกิเลสของตัวเอง ก่อนเพราะว่ากิเลสของตัวเอง เห็นยาก และถ้าไม่เห็นกิเลสของตนเอง ไม่มีทางจะดับ เพราะฉะนั้น การศึกษาเพื่อเห็นกิเลสของตนเอง และเพื่อดับกิเลสของตนเอง
แม้แต่เพียงฟัง คำพูดของท่านโธตกมาณพ ความรู้สึกของท่านที่กล่าว กับความรู้สึกของเรา เท่ากันไหม ท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น แสดงว่าท่านอบรมปัญญามามากเท่าไร แต่แม้กระนั้นก็ตาม ธรรมเป็นสิ่งซึ่งแม้ปรากฏก็ไม่ใช่สิ่งที่เห็นง่าย เพราะว่าทั้งหมดในขณะนี้เป็นธรรม ไม่มีอะไรเลยซึ่งไม่ใช่ธรรม แต่ว่าต้องอาศัยการฟังอย่างมาก แล้วก็การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จริงๆ
ข้อความต่างๆ ก็คงจะได้กล่าวถึงไปแล้ว ที่ว่าที่พระผู้มีพระภาค ตรัสพยากรณ์ว่า ดูกร โธตกะ ถ้าเช่นนั้นท่านจงมีปัญญารักษาตน ปัญญามีหลายระดับ ถ้าแม้แต่การฟัง การพิจารณา การไตร่ตรอง ไม่มี ที่จะฟังเรื่องสติปัฏฐาน เรื่องสภาพธรรม เรื่องการอบรมเจริญปัญญา ที่จะดับกิเลส เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้แต่ในขั้นที่จะพิจารณาเห็นว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร ไม่ควร ก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เมื่อมีปัญญาระดับนั้นแล้วก็ มีสติกระทำความเพียรในศาสนานี้เถิด บุคคลฟังเสียงจากปากของเรานี้แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลส เพื่อตนเถิด ซ้ำแล้วซ้ำอีก ครั้งเดียวไม่พอ เพราะฉะนั้น คนฟังไม่เบื่อ ถ้าเบื่อก็เป็นอันว่าทำไมพูดซ้ำอย่างนี้ แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ ก็ต้องรู้ว่าเพราะต้องมีคนเตือนอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ทางที่จะรู้ว่าเราศึกษาธรรมเพื่อจะดับกิเลสของเราจริงๆ
ที่โธตกมาณพกราบทูลว่า ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์ หากังวลมิได้ ทรงยังพระกายให้เป็นไปอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก เทวโลกก็แสนไกล แต่ก็ยังมีผู้ที่ไปได้โดยไม่ต้องอาศัยยานพาหนะใดๆ เลย แต่ต้องด้วยจิตที่สงบ ประกอบด้วยปัญญา
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 541
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 542
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 543
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 544
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 545
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 546
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 547
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 548
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 549
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 550
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 551
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 552
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 553
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 554
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 555
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 556
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 557
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 558
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 559
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 560
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 561
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 562
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 563
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 564
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 565
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 566
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 567
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 568
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 569
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 570
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 571
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 572
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 573
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 574
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 575
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 576
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 577
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 578
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 579
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 580
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 581
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 582
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 583
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 584
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 585
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 586
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 587
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 588
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 589
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 590
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 591
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 592
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 593
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 594
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 595
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 596
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 597
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 598
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 599
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 600