ปกิณณกธรรม ตอนที่ 595


    ตอนที่ ๕๙๕

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ เทวะโลกก็แสนไกล แต่ก็ยังมีผู้ที่ไปได้โดยไม่ต้องอาศัยยานพาหนะใดๆ เลย แต่ต้องด้วยจิตที่สงบประกอบด้วยปัญญา แม้แต่ข้อความต่อไปก็ดูธรรมดา

    ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ข้อพระองค์จงทรงปลดเปลื้องข้าพระองค์เสียจากความสงสัยเถิด

    นี้เป็นการเคารพอย่างสูงสุด แล้วก็รู้ว่า ถ้าเพียงแต่พระองค์ตรัสแสดง ท่านก็สามารถที่จะรู้หนทางที่ถูกต้องได้

    พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

    ดูกรโธตกะ เราจะไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ ผู้ยังมีความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้ ก็เมื่อท่านรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ จะข้ามโอฆะนี้ได้ ด้วยอาการอย่างนี้

    นี่ก็ชัดเจน ใครที่จะไปกราบไหว้พระพุทธเจ้า ขอนั่นขอนี่ ขอให้หมดกิเลส เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าไม่มีใครสามาถที่จะทำให้บุคคลอื่นหมดกิเลสได้

    ผู้ฟัง ตอนที่พระพุทธเจ้ายังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ท่านก็ตั้งความปรารถนาว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็คิดในใจ ก็เปล่งวาจาด้วยว่า ถ้าเรารู้แล้ว เราจะทำให้คนอื่นรู้ด้วย เราพ้นแล้ว จะทำให้ผู้อื่นพ้นด้วย เราข้ามได้แล้ว จะทำให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย ก็เหมือนกับว่า พระองค์ก็สามารถจะทำช่วยคนอื่นได้

    ท่านอาจารย์ ด้วยธรรมเทศนาเท่านั้น ถ้าไม่ทรงแสดงธรรม มืด โลกมืด ไม่มีทางที่จะรู้อะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง แล้วคนก็ไปกราบไหว้ถวายภัตตาหาร แล้วก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ต้องทราบว่า ต้องเพียรต่อไปโดยการที่ว่า ไม่ท้อถอย มาถึงแค่นี้แล้ว ก็ต้องไปต่ออีก ซึ่งโธตกะมาณพก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม ท่านเปลี่ยนคำสรรเสริญพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึง

    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม ขอพระองค์จงทรงสั่งสอนธรรมเป็นที่สงัดกิเลส ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง แล้วขอพระองค์ทรงพระกรุณาสั่งสอน ไม่ให้ข้าพระองค์ขัดข้องอยู่ เหมือนอากาศเถิด ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้นี่แหละ จะพึงเป็นผู้ไม่อาศัยแอบอิง เที่ยวไป

    นี่ก็เป็นเรื่องที่เห็นจริงๆ ว่า ธรรมเป็นสิ่งซึ่งสามารถที่จะรู้แจ้งได้ เมื่อพระองค์ทรงกรุณาสั่งสอน เพราะเหตุว่า ถ้ายังคงมีความเห็นผิด หรือว่ายังเป็นผู้อาศัยแอบอิง ทุกคนไม่ทราบว่า รู้จักตัวเองว่า อาศัยแอบอิงอยู่บ้างหรือเปล่า ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน หรือทำอะไรก็ตาม เพราะบางทีเข้าใจว่าตัวเองอยากจะเข้าใจธรรม อยากจะละกิเลส แต่กิเลสก็แอบอิง ทำให้เป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งถ้าไม่รู้จักจริงๆ ไม่รู้จักตัวเองจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะเห็นได้เลยว่า ขณะนั้นถูกกิเลสพาไป หรือว่าแอบอิงไปให้เป็นอย่างอื่น ซึ่งอย่างอื่นก็มากมาย ก็เป็นสิ่งซึ่งทุกคนก็พิจารณาสังเกตได้ พิจารณาได้ด้วยตัวเอง

    เพราะเหตุว่าธรรมมีอยู่ตลอดวันตลอดคืนทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกสถานที่ ถ้าเป็นผู้ที่สามารถที่จะมีปัญญาแล้วพิจารณา และเป็นผู้ตรง ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจตัวเอง ถ้าเข้าใจตัวเองแล้ว เข้าใจคนอื่นทะลุปรุโปร่ง ถ่องแท้เหมือนกัน เพราะว่าจิตก็คือจิต เจตสิกก็คือเจตสิก สภาพธรรมที่มีจริง เป็นจริงอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลใดก็เป็นอย่างนั้น

    พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

    ดูกรโธตกะ เราจะแสดงธรรมเพื่อระงับกิเลสแก่ท่าน ในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว เป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้

    เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ทุกคนมีชีวิตอยู่ ด้วยโลภะ เป็นทั้งครู เป็นทั้งอาจารย์ แล้วก็ถ้าขาดโลภะก็อยู่ไม่ได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่ดับกิเลส ไม่ครองเรือน แล้วก็รอวันที่จะสิ้นชีวิต คือวันที่จะทำหน้าที่การงานเสร็จ คือการอยู่ในโลกนี้ตามผลของกรรม

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าเรามีโลภะมากๆ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจธรรม แล้วเราอบรมไป เราก็จะละโลภะได้เป็นลำดับขั้น คือขั้นแรก ละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม การไม่รู้อริยสัจธรรม ๔ นั่นเอง แต่ว่าการละโลภะ ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ไม่ใช่ว่าขั้นแรกจะเป็นพระอรหันต์ หรือจะเป็นพระอนาคามี ต้องตามลำดับคือเป็นพระโสดาบันก่อน แล้วก็เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระอรหันต์

    ซึ่งโธตกะมาณพก็ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่ง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องระงับกิเลสอันสูงสุดที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไป ในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้

    แสดงให้เห็นถึงปัญญาของท่านที่สะสมมาว่า สิ่งที่ท่านต้องการไม่ใช่อย่างอื่นเลย แต่ว่าที่ท่านยินดีอย่างยิ่งก็คือ ธรรมเป็นเครื่องระงับกิเลสอันสูงสุดที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไป ในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมตั้งแต่ต้นจนตลอดเป็นเรื่องละโลภะ ถ้ายังไม่เห็นโลภะ ไม่มีทางที่จะละได้เลย ถ้าไม่ละโลภะก็ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่มีทางที่จะถึงนิโรธ ซึ่งเป็นอริยสัจธรรมที่ ๓ ได้

    ข้อความสุดท้ายพระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

    ดูกรโธตกะ ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วนเบื้องบน ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ ทั้งในส่วนเบื้องขวาง คือท่ามกลาง ท่านรู้แจ้งสิ่งนั้นว่าเป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกอย่างนี้แล้ว อย่าได้ทำตัณหาเพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย

    ในพระพุทธศาสนา สิ่งเดียวที่แน่นอนที่สุดที่เป็นคำสอน รู้ชัด เพียงคำสั้นๆ ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ รู้ชัด แค่นี้ ต้องประกอบด้วยสติมรรคองค์อื่นๆ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วรู้ชัด เพราะว่าเพียงระลึกยังไม่ใช่ความรู้ชัด แต่จะต้องเป็นการอาศัยการที่เคยฟังเคยเข้าใจ เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่สามารถจะเห็นว่าขณะนั้น มีการแฝงด้วยโลภะ ที่ต้องการจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นหรือเปล่า

    นี่เป็นเรื่องที่ต้องเห็นจริงๆ มิฉะนั้นก็จะเป็นผู้ที่เป็นผู้อาศัย คือมีตัณหาแอบอิงโดยตลอด แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจถูกจริงๆ ว่า การอบรมเจริญปัญญา ก็คือการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อรู้ชัด ต้องเข้าใจจริงๆ เพราะว่าบางคนอาจจะบอกว่าพอระลึกก็รู้ชัด เป็นท่านโธตกมาณพหรือเปล่า ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ด้วยว่า รู้ชัด ต้องมีเหตุ ไม่ใช่เมื่อไม่มีเหตุการรู้ชัดก็จะเกิดขึ้นได้

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าตรัสตอบท่านโธตกมาณพประโยคสุดท้าย พระองค์ทรงให้โธตกมาณพรู้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ท่ามกลาง การที่จะรู้ชัดก็คงจะรู้ชัดในเบื้องต้นนี้ได้ อย่างการที่เราเริ่มอบรมเจริญปัญญา บางคนก็จะบอกว่าไม่ชัดสักทีหนึ่ง พระพุทธเจ้า ก็คงสรรเสริญให้มีการปรารภความเพียร ให้มีสติ ให้มีความเพียร บางทีก็มีการคิดจากการฟัง คือเพียรไม่ได้ กลัวว่าเดี๋ยวจะเป็นตัวตน แต่ถ้าไม่เพียรก็ไม่รู้ชัดเสียที เพราะฉะนั้น จะอบรมอย่างไร จึงจะทำให้มีความเพียร รู้ชัดในสภาพธรรมได้

    ท่านอาจารย์ ต้องรอบคอบ ประโยคสุดท้าย อย่าได้ทำตัณหาเพื่อภพน้อยภพใหญ่ ที่สำคัญที่สุด คือต้องรู้จักว่าขณะนั้น ด้วยโลภะหรือเปล่า โลภะอยู่ที่ไหน เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญาทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นฟังจนถึงขั้นสุดท้าย ก็คือเพื่อละโลภะ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ชัดได้ทันทีแน่นอน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีมานานแสนนาน แล้วก็อวิชชาก็นานแสนนาน เวลาที่สติเริ่มเกิด เริ่มจะระลึก ไม่มีทางที่จะรู้ชัด แต่เพิ่งจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสัมมาสติ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีเราหรือไม่มีโลภะ ตรงนั้น จึงใช้คำว่า สัมมาสติ เท่านั้น ตั้งแต่ต้นจะไม่มีมิจฉาสมาธิ เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดปัญญาเลย

    ต้องทราบว่าสัมมาสติจริงๆ มีปัจจัยเกิด ด้วยความละ ด้วยความรู้ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น สัจจะ ๔ มีอาการ ๓ รอบ ก็ตามประคองไปหมดทั้ง ๔ ไม่ใช่เพียงรอบเดียว แต่ต้องทั้งหมดเป็นอาการ ๑๒ แสดงให้เห็นว่า จะขาดการที่จะมีความเข้าใจเรื่องละโลภะตรงนั้นไม่ได้ สามารถที่จะเห็นโลภะ ที่ละเอียดขึ้นๆ

    ในขั้นการฟัง รู้ว่ามีความเพียร แต่ว่าความเพียรนั้นเคยเป็นเรา แน่นอนจะเพียรทำอะไรก็เป็นเรา เพราะฉะนั้น พอได้ยินก็เหมือนกับว่าเราต้องเพียร เอาเพียรนั้นเป็นเราอีก แต่ว่าความจริง การที่เราศึกษาธรรม ศึกษาเพื่อให้เข้าใจ อย่างถ้าเราศึกษาเรื่องของวิริยเจตสิกจะทราบว่า เกิดกับจิตเกือบทุกดวง ไม่มีใครไปทำให้วิริยเจตสิกเกิด แต่ว่าการปรุงแต่งของวิริยะ ซึ่งเกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ นั่นเอง ก็ทำให้วิริยะนั้นเปลี่ยนสภาพ หมายความว่าไม่เหมือนวิริยะเล็กๆ น้อยๆ ตามปกติ เช่น ถ้าจะใช้คำว่า สัมมัปปธาน ก็ไม่ใช่หมายความว่าวิริยะในขณะที่กำลังเก็บดอกไม้ อย่างนั้นไม่ใช่สัมมัปปธานแน่ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า สภาพเจตสิกทั้งหลายแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นองค์มรรคเมื่อเกิดร่วมกับระดับของมรรคองค์อื่น ก็จะทำให้เป็นลักษณะซึ่งเป็นไปในการที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม แต่ต้องเป็นความอดทนอย่างมาก ที่จะรู้ว่าเพื่อละ ถ้าใครรีบร้อนที่จะรู้ที่จะต้องการทำ เพื่อที่จะละ นั่นคือไม่ใช่หนทาง

    ผู้ฟัง ผมเคยได้ยินอาจารย์พูดว่า ในขณะที่สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นมรรคมีองค์ ๕ มันมีวิริยเจตสิก มีสัมมาวายามะเกิดแล้ว ไม่ต้องมาทำอะไรขึ้นมาอีก

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นประโยชน์ของการที่เราศึกษาปรมัตถธรรม คือต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมเป็นปรมัตถธรรม แล้วเราก็ไม่รู้ ลืม ยิ่งศึกษาก็ยิ่งรู้ว่าเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ยังไม่ใช่เป็นการรู้นามธรรม รูปธรรม จริงๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นทำไมสติปัฏฐานเกิด ถ้าไม่มีการฟังมาก่อน สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ แต่เมื่อมีความเข้าใจจากการฟังปรุงแต่งจึงมีการระลึก เช่น ในขณะนี้ธรรมดาอย่างนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ ก็แล้วแต่ว่า จะมีการระลึกเมื่อไรที่ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม นั่นเพราะการศึกษา เพราะการเข้าใจ เพราะการรู้ว่าเมื่อเป็นปรมัตถธรรม แล้วต้องมีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏให้รู้ได้

    เวลาที่สัมมาสติเกิด ขณะนั้นก็ต้องมีปัญญาที่รู้ว่าขณะนั้นเป็นสติที่ระลึก แต่ว่ายังไม่สามารถจะรู้ชัด เพราะเหตุว่าสติเกิดแล้วก็ดับ เร็วมาก ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่าเพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ที่สติปัฏฐานเกิด ยังไม่สามารถที่จะรู้ชัด หรือแม้แต่การที่จะละคลายความเป็นตัวตน เวลาที่วิปัสสนาญาณเกิดแล้ว ผู้นั้นก็ยังจะต้องรู้ว่า ทำไมจึงต่างกันไปเป็นหลายๆ วิปัสสนาญาณ เพราะเหตุว่า แม้แต่สภาพธรรมที่ปรากฏก็ปรากฏสั้น ชั่วขณะเล็กน้อย แต่ก็ยังมีการแอบแฝง หรือความต้องการอยู่ ซึ่งจะต้องละ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องเห็นไปเรื่อยๆ ที่จะต้องละไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง มีหลายคนมากๆ เลย ที่ไม่มีความแน่ใจเลยว่า ขณะที่เริ่มที่จะมีอะไรขึ้นมา แล้วก็ใช้คำว่า เอ๊ะ เอ๊อะ อะไรต่าง ไม่มีความแน่ใจว่าเป็นสติปัฏฐาน หรือเปล่า รู้ว่ามันต่างจากที่เคยเป็นมา

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าผู้นั้นเป็นตัวตน จึง เอ๊ะ ต้องเอ๊ะ เพราะว่ายังเป็นตัวตนอยู่ ถ้าเป็นปัญญา ไม่เอ๊ะ คือเขาไม่ได้เข้าใจความเป็นธรรมดา เพราะเหตุว่าถ้ามีความต้องการ จะรู้สึกผิดปกติ เอ๊ะ แต่ถ้าเป็นเรื่องละ แล้วจะ เอ๊ะ ทำไม ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา

    ผู้ฟัง แล้วตอนเอ๊ะ ตอนนั้น รู้สึกว่ามันมีอะไรแปลกขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ ที่จริงก็คือสภาพธรรมตามปกติ

    ผู้ฟัง แต่ไม่เคยเกิด

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน ก็เป็นธรรมชาติ ปกติธรรมดาไม่มีการแปลก ไม่มีอาการแปลก ลักษณะของสติ เป็นสภาพที่เพียงระลึก เวลาที่เราเกิดตรึก หรือ นึกพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ขณะที่เราพิจารณาถูก ขณะนั้นก็ไม่เอ๊ะ ธรรมดาๆ แล้วมีความเข้าใจในเหตุผล เพราะฉะนั้น เวลานี้สภาพธรรมก็มีปรากฏ ความเป็นธรรมดาก็คือสติที่เกิดระลึกให้เป็นปกติ คือแต่ก่อนนี้อาจจะเคยได้ยิน ได้ฟังความประหลาด การที่ต้องไปทำ แล้วการที่จะต้องมีอะไรพิเศษเกิดขึ้น ก็เลยฝังใจ ก็เลยคิดว่าจะต้องผิดปกติอย่างมาก หรืออะไรอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือความไม่รู้ความจริง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่มีลักษณะจริง เป็นปกติ เกิดปรากฏแล้วก็หมดเร็วมาก เพราะฉะนั้น จะไม่มีอาการที่ผิดปกติเลย ยิ่งมีปัญญาก็ยิ่งจะรู้ว่าต้องเป็นปกติ แล้วก็ละ เอ๊ะไปเรื่อยๆ ถ้าจะเอ๊ะ ขึ้นมาก็ คือว่าขณะนั้นก็เป็นความไม่รู้

    ผู้ฟัง แต่ก่อนปกติ ก็คือหลงลืมสติตลอด แต่พอเริ่มมีสติเกิดขึ้นบ้างก็เลยมันไม่ปกติเหมือนเมื่อก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นั้นแหละคือผิด ให้ทราบว่าคือผิด เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นหนทางที่ถูก ละสีลัพพตปรามาสกายคันถะ ก็ต้องเป็นปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ความรู้สึกของผม หลายปีที่ผ่านมานี้ ผมเหมือนเริ่มต้นใหม่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะว่าจากคำถามต่างๆ ที่สนทนากัน ผมรู้สึกผมไม่ได้ก้าวหน้าอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าผิดหมดไป ผิดหมดไป ผิดหมดไป ก็คือตั้งต้นใหม่ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ผมก็ยึดถือหลักที่ ถ้าเป็นธรรมแล้ว จะต้องเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา พยายามเข้าใจในลักษณะนี้ แล้วก็ไม่ทำอะไร ไม่พยายามเพียรเรื่องอะไรต่างๆ ความมั่นคงอันนี้ผมคิดว่า ผมก็มั่นคงพอสมควร แต่มาระยะหลังๆ พอสนทนากันแล้วว่าศึกษา เราจะต้องพิจารณา เราจะต้องนำคำสั่งสอนมาพิจารณา เราจะต้องศึกษาเพื่อให้สังขารขันธ์ปรุงแต่ง

    ท่านอาจารย์ พิจารณาในขณะที่ฟังได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ แต่ว่า เมื่อเวลาที่เขาศึกษา ไม่ใช่ศึกษาโดยไม่ใช่เป็นสัตว์ บุคคล หรืออะไร แต่ศึกษาแล้วต้องพิจารณา ศึกษาแล้วเพื่อให้สังขารขันธ์ปรุงแต่ง

    ท่านอาจารย์ ถึงเราไม่คิดอย่างนั้น สังขารขันธ์ปรุงแต่งหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เขาก็ปรุงแต่งอยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าเราไปทำให้สังขารขันธ์ปรุงแต่ง

    ผู้ฟัง แล้วก็พูดว่าต้องน้อมไปพิจารณา น้อมไปเข้าใจ น้อมไปอะไร ผมก็ได้ยินอย่างนี้แล้ว มันก็เหมือนกับว่า มีความเป็นตัวเป็นตนที่จะเข้าไปพิจารณา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องฟังให้ทราบว่าไม่ใช่เราน้อม ไม่ว่าจะอ่านข้อความซึ่งมีคำว่า น้อม ในพระไตรปิฎก มี ก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่น้อม เดี๋ยวนี้เองที่กำลังฟัง ไม่มีใครรู้ว่าสภาพธรรมกำลังน้อมไปเรื่อยๆ สู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีการฟังเลย ไม่มีการที่จะมีการเห็นถูกขั้นต่อไป เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะได้มีความเห็นถูกขั้นต่อจากนี้ไปก็คือว่า ในขณะนี้เองสภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์กำลังน้อมไปเอง ไม่มีเราน้อมอีก

    ผู้ฟัง ถ้าพูดลักษณะท่านอาจารย์ ทำให้ผมมั่นคงขึ้น จากการสนทนาเรื่อยๆ ต่างๆ นานา พอรู้ว่าเป็นกุศลจะต้องเห็นประโยชน์ จะต้องทำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจแล้วเราก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงคำอื่น

    ผู้ฟัง ผมก็อยู่ในแวดวงที่การสนทนา

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไร ใครจะพูดว่าอย่างไร ความหมายคืออย่างนั้นที่ถูก

    ผู้ฟัง ความมั่นคงที่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราไม่สามารถทำอะไรได้อีก จะต้องมั่นคงตั้งแต่ต้นจนจบเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้น ก็ยังเป็นอัตตา ถ้าไม่มั่นคงก็ยังคงเป็นอัตตาอยู่ แต่ว่าความคิดว่าเป็นคุณประทีปมีไหม

    ผู้ฟัง มีแน่นอน เพราะว่าจิต เกิดดับอย่างรวดเร็ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะกล่าวว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็คือผู้ที่มีความสมบูรณ์ของปัญญา ที่สติปัฏฐานเกิดระลึก พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมได้ทั่วหมด แต่ถ้ายังไม่ทั่ว ก็ยังคงเป็นเรา เพราะฉะนั้น ที่จะกล่าวว่าไม่ใช่คุณประทีปเลย ที่กำลังจะทำกุศล กำลังเป็นกุศล หรือ อกุศลก็แล้วแต่ แล้วไม่ใช่เฉพาะแต่คุณประทีป ทุกคนหมด ก็จะรู้ได้ว่าเพียงขั้นฟัง เราเข้าใจ เราพูดได้ แต่ต้องอบรมเจริญปัญญาจนถึงระดับนั้นด้วย

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าถ้าเราเข้าใจลักษณะอย่างนี้ เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องไหม ว่าเราไม่สามารถทำได้ แต่ว่าเรารู้ตามได้ ในขณะที่ทำกุศลนั้น เป็นกุศลลักษณะหนึ่ง แต่จิตที่เกิดดับ ติดตามมาอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะคิดว่าเราสามารถทำ เราสามารถไม่ทำได้

    ท่านอาจารย์ เรื่องความคิด เป็นเรื่องที่ใครยับยั้งได้ ไม่ทราบว่าจะมีใครคิดอย่างคุณประทีปหรือเปล่า หรือจะคิดมากคิดน้อยกว่าคุณประทีป แต่ทุกคนก็คิด แต่คิดคนละอย่าง เพราะฉะนั้น ชีวิตธรรมดาปกติ อย่าไปคิดมาก เป็นอย่างไร ตื่นขึ้นมาเป็นอย่างไร มีพี่น้องอยู่ในบ้าน มีเรื่องราวอะไรต่างๆ รอบตัว ก็คือเป็นปกติ แล้วก็เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็รู้ว่าขณะนั้นก็คือสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏ ลักษณะของปรมัตถธรรมที่เราเรียนมาทั้งหมด มีจริงๆ เมื่อไร เมื่อสติระลึก แต่เวลาที่สติปัฏฐานไม่ระลึกก็คือไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่แม้เป็นปรมัตถ์ ก็เกิดดับไปอย่างรวดเร็ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เราไม่ต้องไปคิดมาก เรื่องเราจะทำอะไร เราจะไปเห็นประโยชน์ของกุศล เราจะให้สติเกิด เราจะให้เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง นั่นก็คือความคิดมากในเรื่องของสภาพธรรม โดยการที่ว่าไม่ได้ใช่ขณะที่ปัญญารู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าเป็นปกติ เพราะเหตุว่าขณะนี้เห็น ไม่มีใครบันดาลให้เห็นเกิดได้ แต่ว่าต้องเห็น เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิด มีปัจจัยที่ทำให้เกิด แล้วหลังจากเห็นก็คิด ก็ไม่มีใครไปบันดาลให้ ความคิดของแต่ละคนเหมือนกันอีก เหมือนกันไม่ได้เลย ใครจะคิดอย่างคุณประทีป ใครจะไม่คิดอย่างคุณประทีป ก็คือสภาพธรรม ซึ่งสติสามารถจะเกิดระลึกได้ คือขอให้เป็นปกติ

    ผู้ฟัง มีคนที่ติดพยัญชนะมากมายเลย แล้วจะพูดไม่ได้ว่าเรา หรือว่าธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วจะพูดอะไร อย่างนั้น ก็ไม่ใช่ปกติ

    ผู้ฟัง พูดว่าเป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ อะไรจะกลัว ถึงปานนั้นเล่า

    ผู้ฟัง ผมก็บอกว่า เราจะต้องมีการน้อมไปบ้าง เขาบอกว่าน้อมไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาน้อม

    ท่านอาจารย์ อะไรกัน คือธรรมดาๆ ธรรมดาทุกอย่างไม่ได้ผิดปกติเลย พระพุทธเจ้ายังใช้คำว่า ตถาคต แล้วคนอื่นจะไม่พูดคำพยัญชนะเรียกตัวเองได้อย่างไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    14 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ