ปกิณณกธรรม ตอนที่ 597
ตอนที่ ๕๙๗
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่เราจะเห็นความลึกล้ำของสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรม แม้มีจริงเกิดขึ้นดับไปในสังสารวัฏฏ์ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงได้ ถ้าไม่ศึกษาแล้วค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ พอเริ่มที่จะเห็นว่าผัสสะเป็นอาหารหรือยัง เป็นผัสสาหาร เป็น นามธรรม เป็นเจตสิก แล้วจากพระสูตรนี้ ก็คงจะเข้าใจได้ว่า อาหารมี ๔ อาหารที่เป็นรูปกวฬิงการาหาร แล้วก็อาหารที่เป็นนามมี ๓ คือผัสสเจตสิก เป็นผัสสาหาร ต้องท่องไหม ถ้าเข้าใจ ไม่ต้องท่องเลย แต่ว่าเราจะรู้ลีกซึ้งได้แค่ไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ยิ่งอ่านมาก ยิ่งพิจารณามาก ก็ยิ่งเข้าใจขึ้น แต่ต้องเป็นไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น ในลำดับแรก ให้พิจารณาเข้าใจว่าเพราะเหตุใด ผัสสะ จึงเป็นอาหาร อันนี้ไม่มีปัญหาแล้ว ใช่ไหม
ผู้ฟัง เพราะก่อนที่จะมาศึกษา ตอนแรกๆ เลย ฟังมา เขาบอกให้ดับผัสสะ ทั้งๆ ที่ฟังจากท่านอาจารย์ตรงนี้แล้ว ผัสสะที่จะระลึกรู้นี้ก็ต้องเป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง แต่ก่อนให้ดับผัสสะ ก็เลยไม่พยายามที่จะมอง ที่จะชอบอะไรต่างๆ
ท่านอาจารย์ แล้วขณะที่จิตเกิดมีผัสสเจตสิกไหม
ผู้ฟัง ก็มีดวงนี้ด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะดับผัสสะ นี่คือ จิตก็ต้องไม่เกิด อะไรก็ต้องไม่เกิด ใช่ไหม
คุณนิภัทรจะให้ความหมายของคำว่า มโนสัญเจตนาหารไหม เมื่อกี้ ผัสสาหารแล้ว นำอาหารที่ ๒ คือ มโนสัญเจตนาหาร
อ. นิภัทร สัญเจตนา แเปลว่า ความจงใจพร้อม เจตนาก็แปลว่าความจงใจ เจตนาคือเจตนา สํ นี้ก็แปลว่า พร้อม มโน ก็แปลว่าใจ มโนสัญเจตนาก็ความตั้งใจ ความจงใจ
ท่านอาจารย์ หมายความถึงกุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ไม่ใช่หมายความถึงเจตนาเจตสิกเท่านั้น แต่ต้องเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต อย่างอุปาทินนกะ กับ อนุปาทินนกะ ๒ คำนี้ จะแปลอย่างไร โดยศัพท์ โดยอะไรก็ตาม สรุปก็คือว่า สภาพธรรมที่เกิดจากกรรม กับ สภาพธรรมที่ไม่ได้เกิดจากกรรม แต่ที่จะเกิดจากกรรมได้ มโนสัญเจตนาหาร หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องมีตัณหาเป็นแดนเกิด ถ้าไม่มีตัณหา เป็นนิพาน เป็นเหตุที่จะให้เกิด สภาพธรรมเหล่านี้ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจว่า อุปาทินนกะ หมายความถึง ธรรมที่เกิดเพราะกรรม อันนี้ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม อนุปาทินนกะ คือ สภาพธรรมที่ไม่ได้เกิดเพราะกรรม แค่นี้คงจะช่วยได้ คุณนุชมีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็น อุปาทินนกะ หรือ อนุปาทินนกะ
ผู้ฟัง อุปาทินนกะ คือ
ท่านอาจารย์ ธรรมที่เกิดจากกรรม
ผู้ฟัง เกิดจากกรรม ผัสสเจตสิกก็เป็นเจตสิกที่เกิดจากกรรม จึงเป็นอุปาทินนกะ
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นชาติอะไร ผัสสะที่เกิดจากกรรมต้องเป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง เกิดจากกรรม ชาติวิบาก
ท่านอาจารย์ ชาติวิบาก เพราะฉะนั้น วิบากจิต และเจตสิกทั้งหมด เป็น
ผู้ฟัง อุปาทินนกะ
ท่านอาจารย์ ถ้ารูปโต๊ะ เป็นอุปาทินนกะ หรือ อนุปาทินนกะ แข็ง ตรงนี้
ผู้ฟัง อนุปาทินนกะ
ท่านอาจารย์ อนุปาทินนกะ แต่ถ้ารูปที่เกิดจากรรม อุปาทินนกะนี่ เจอที่ไหนก็คืออย่างนี้ แต่คำแปลโดยรูปศัพท์ เขาก็จะขยายกว้างออกไปอีกว่าทำไมจึงเป็นกรรม ถ้าไม่มีตัณหาไม่มีความติดข้องเป็นเหตุที่จะให้เกิดการกระทำกรรมที่จะทำให้รูปหรือธรรมชนิดนั้นเกิด ก็ไม่มีกรรมอีกต่อไป
ผู้ฟัง ฟังดูแล้วอาหาร เป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ให้อาหารเป็นทานก็ต้องมีบุญมาก ถามท่านอาจารย์ว่า แต่อย่างไรก็ตาม การให้ธรรมเป็นทานที่ว่าสูงสุดเพราะอะไร
ท่านอาจารย์ ก็ให้ความเข้าใจถูกต้อง เป็นกุศลที่เหนือกว่ากุศลอื่นใด เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะให้อาหารมากสักเท่าไร ก็เกิดไปเถอะ เกิดตายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีปัญญาที่สามารถที่จะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้
ผู้ฟัง สำหรับผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา มโนสัญเจตนาหารเป็นปัจจัยพิเศษ แก่วิญญาณ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมอื่นก็เป็นปัจจัยเหมือนกัน แต่โดยเฉพาะผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา โดยพิเศษ
ผู้ฟัง จะมองเห็นความพิเศษต่างอย่างไรกับสัญญา เพราะว่าถ้าสัญญาไม่เกิด เวทนาก็ไม่เกิดเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ในขณะที่เวทนาเกิด ทราบได้เลยว่า เพราะผัสสะอะไร ถ้าอย่างเราเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เวทนาเป็นโทมนัส รู้ได้เลยว่าเพราะผัสสะมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่ไม่น่าพอใจ
ผู้ฟัง หมายถึงว่าการกระทบกันมีผลแก่เวทนาโดยตรง ถ้าเป็นมโนสัญเจตนาหารเป็นปัจจัยพิเศษแก่วิญญาณ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าการที่เราจะเกิดมา ถ้าไม่มีกรรม อย่างไรก็ไม่เกิด
ผู้ฟัง วิญญาณาหารเป็นปัจจัยพิเศษแก่นามรูป
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มี จิต นามรูปก็เกิดไม่ได้
ผู้ฟัง เป็นใหญ่เป็นประธาน
ท่านอาจารย์ โดยเฉพาะ โดยพิเศษกว่าปัจจัยอื่น
ผู้ฟัง ศึกษาอย่างไรจึงเข้าใจดี ศึกษาได้ง่ายขึ้น และเข้าใจมากขึ้น เร็วขึ้นด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเมื่อมีจิตเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ คือ อารมณ์ เพราะฉะนั้น จะเป็นอารมณ์ชนิดไหนก็ตามแต่ ก็คืออารมณ์นั่นแหละที่จิตกำลังรู้ แล้วการที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ทางก็เป็นชีวิตประจำวันที่ในขณะนี้เอง ตาก็มี แล้วก็มีสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตที่เห็นทางตา เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยินทางหู เวลาที่กลิ่นปรากฏ ขณะนั้นกลิ่นก็เป็นอารมณ์ของจิต ที่รู้กลิ่น รสปรากฏ เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังลิ้มรส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ปรากฏก็เป็นอารมณ์ของจิตที่รู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ต่อจากนั้นก็เป็นการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ แล้ววันหนึ่งๆ จะมีอะไรนอกจากนี้อีกไหม กี่ภพกี่ชาติก็เท่านี้เอง
ผู้ฟัง ส่วนใหญ่มันจะฟุ้งซ่านเป็นธรรมารมณ์
ท่านอาจารย์ ทางใจ ก็เป็นอารมณ์ชั่วขณะที่จิตเกิด แล้วก็คิด แล้วก็รู้อารมณ์นั้นเท่านั้น
ผู้ฟัง สำหรับบางคนที่มีการฟังธรรม มีการให้ทาน มีการรักษาศีล ก็อาจจะมีการฟังเรื่องของสภาพธรรม เรื่องของนามธรรม รูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะเห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน การที่จะมีการปรารภความเพียรหรือว่าเพียรในการที่จะเจริญสติปัฏฐาน จะเป็นการเจาะจง หรือว่าตั้งใจ เพราะฉะนั้น การที่จะปรารภความเพียรที่จะเจริญสติจริงๆ จะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ หมายความว่าขณะนี้กำลังเพียรอย่างนั้น
ผู้ฟัง แต่ยังไม่ได้เพียรเจริญสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีเหตุ สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เหตุอื่น แต่เหตุคือความเข้าใจขึ้น แล้วก็การรู้ประโยชน์ขึ้นว่าเพียงขั้นฟังเข้าใจไม่พอ
ผู้ฟัง แต่ความเพียรของแต่ละคนต่างกัน ถ้าสำหรับคนที่มีสติปัฏฐานเกิดบ่อย ก็น่าจะหมายถึงว่า เขามีความเพียรมาก แต่ถ้าคนที่สติปัฏฐานเกิดไม่บ่อย ความเพียรของบุคคลนี้ก็คงจะน้อยกว่า เพราะฉะนั้น การที่จะมีความเพียรที่เพิ่มขึ้นๆ จนถึงระดับที่มีความเพียรมาก ถึงสติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ
ท่านอาจารย์ โดยสังขารขันธ์ หรือโดยเรา
ผู้ฟัง ก็อะไรจะเป็นสังขารขันธ์ให้มีความเพียรอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ขณะนี้สติที่กำลังฟัง พร้อมกับปัญญาเป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าเป็นความตั้งใจ และเข้าใจว่า ความตั้งใจนั้นก็เป็นสังขารขันธ์ จะเข้าใจถูกไหม
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ต้องทราบว่าเพื่อละ ถ้าไม่เป็นไปเพื่อการละ ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้เลย เพราะว่าเป็นไปด้วยความต้องการ ยังมีความเป็นเราลึกมาก เพราะฉะนั้น ต้องทราบจริงๆ ว่าเรื่องของการที่จะละความเป็นตัวตน ต้องมีปัญญาที่เป็นสัจจญาณแน่นอน คือต้องเห็นสมุทัยด้วย ถ้าเรามีความเพียรด้วยความเป็นเรา เราจะคิดว่าเราเพียร แต่ว่าสมุทัยมีหรือเปล่า มองไม่เห็นตัณหาเลย มองไม่เห็นโลภะเลย เพราะฉะนั้น จะละได้อย่างไร อย่างในขณะนี้โดยขั้นฟัง สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ถ้ามีคนถามว่าทำอย่างไรสติปัฏฐานจะเกิด เขาฟังพอที่จะเข้าใจลักษณะของสติปัฏฐาน แล้วรู้ว่าสติปัฏฐานระลึกรู้อะไร เพราะฉะนั้น แทนคำถามว่าทำอย่างไร คำตอบมีอย่างเดียว สติระลึกทันที ไม่ใช่ว่าทำอย่างไร ทำอย่างไรไป ๕-๖ วัน แล้วก็สติก็ไม่เกิด ใช่ไหม จริงๆ แล้วก็คือว่า เมื่อมีความเข้าใจแล้ว สามารถที่จะเป็นปกติอย่างนี้ แล้วสติก็เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม นี่ประกอบด้วยการละความเป็นเรา มิฉะนั้นแล้วก็จะมีความเป็นเราที่ลึก ละเอียด แล้วก็คอยให้ทำอยู่ตลอดเวลา แล้วยังมีความพอใจที่ได้ทำ และที่ทำได้ด้วย ไม่ใช่หนทางละ เพราะฉะนั้น หนทางนี้ที่ว่า ลึกซึ้ง ยาก ก็เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปด้วยการละ แล้วคนนั้นก็จะต้องมีปัญญาที่สามารถที่จะเห็นสมุทัย จึงจะละสมุทัยได้ ไม่อย่างนั้น สมุทัยก็จะไม่มีทางละได้เลย
ผู้ฟัง จากการสังเกต ขณะที่เรารู้สึกว่ามีความตระหนี่ แล้วก็เห็นโทษว่า ถ้าตระหนี่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็คงจะอบรมเจริญกุศลสูงขึ้นกว่านี้ไม่ได้ ก็ตั้งใจที่จะสละมีการให้ มีการเผื่อแผ่คนอื่น กับการที่เรามีความเห็นโทษว่า ที่มีความโลภ โกรธ หลง ก็เพราะยึดถือความเป็นตัวตนนี้แหละ เพราะฉะนั้น เป็นการหลงลืมสติ ตั้งใจที่จะระลึกไม่ได้หรือ ถ้าเปรียบเทียบกับการให้ทาน
ท่านอาจารย์ มีท่านผู้หนึ่งซึ่งท่านเป็นคนตระหนี่มาก แต่ท่านเป็นพระโสดาบันได้ นี้แสดงว่าอะไร แสดงว่าต้องมีปัญญาที่จะอบรมหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่าไปคิดว่าเมื่อยังมีความตระหนี่อยู่ ก็จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ก่อน โดยที่ว่าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมใดเกิดปรากฏ ก็ยังรู้หนทางว่าจะละความเป็นเรา ได้อย่างไรในขณะที่ความตระหนี่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่รู้หนทางก็ทำทาน หรือทางอื่นที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น หนทางนี้ยากตรงนี้ ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ จะเกิด จะเป็นความตระหนี่หรือไม่ตระหนี่ หรือจะเป็นความคิดเรื่องการที่จะให้ ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม จนกว่าวันหนึ่ง ก็จะไม่มีเรา ที่คิด หรือว่าที่ทำ หรือตระหนี่
ผู้ฟัง ความตั้งใจที่เป็นไปในทาน ที่เห็นโทษของความตระหนี่ กับความตั้งใจในการที่จะระลึกสภาพธรรม ที่เห็นโทษของความหลงลืมสติ หรือว่าเห็นโทษของการยึดถือความเป็นตัวตน จะมีความต่างกันไหม ว่าโดยอาการแล้วเหมือนกับว่าเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ต่างกัน เพราะเหตุว่าขณะที่จงใจจะให้ทาน ไม่ได้เป็นหนทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ ถึงแม้ว่าจะให้มากสักเท่าไร ด้วยความจงใจ โดยความตั้งใจ ด้วยความเป็นเรา ก็ไม่ใช่หนทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ แต่ว่าไม่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้น มีการสะสมมาของสังขารขันธ์ที่จะระลึกลักษณะนั้น ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือการละความเป็นเราซึ่งตระหนี่ ในขณะนั้นไม่ใช่โดยวิธีอื่น แต่โดยปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นจิรกาลภาวนาจริงๆ คือต้องเป็นการรู้ที่ประกอบด้วยการละ ไม่ว่าจะเป็นความคิดนึกเรื่องการให้ หรือว่าจะเรื่องการสละ แต่ถ้าตราบใดที่ยังเป็นตัวตน หรือเป็นเราอยู่ ขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทาง
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ทานบารมี
ท่านอาจารย์ ทานบารมี ผู้นั้นต้องมีปัญญา
ผู้ฟัง ถ้ามีปัญญาเห็นโทษของความตระหนี่ด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัย เวลาที่มีปัญญาเกิดขึ้น ให้ การให้นั้นประกอบด้วยปัญญา หรือว่าให้แล้วก็เดือดร้อน เพราะฉะนั้น อย่างพระโพธิสัตว์ ท่านให้เมื่อมี ไม่เดือดร้อนเลย เมื่อมีก็ให้ แต่ถ้าไม่มีแล้วไปพยายามขวนขวายจะให้ เดือดร้อนไหม การให้ของท่านไม่เดือดร้อนทั้งกับบริวาร ครอบครัวทั้งหมดด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่มีปัญญาเป็นปกติ ที่จะรู้ตามความเป็นจริงที่ว่า ไม่ใช่ว่าต้องการกุศลจนเดือดร้อน เพราะว่าบางคนเข้าใจว่ากุศลดี ก็พยายามขวนขวายที่จะทำกุศล แต่ว่าในระหว่างนั้น ก่อนที่จะได้ทำกุศลก็เดือดร้อน เพราะความไม่มี
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมการฟังธรรมต้องฟังด้วยการที่เข้าใจในความไม่มีตัวตน เป็นพื้นฐาน ถ้ามีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาเป็นพื้นฐาน เราจะไม่เดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น จะให้หรือไม่ให้เพราะว่ากุศลไม่ใช่มีแต่เฉพาะการให้อย่างเดียว อย่างอื่นก็เป็นกุศลด้วย ทำไมจะคิดถึงแต่เพียงความตระหนี่ อย่างธรรมก็ตระหนี่ได้ ถ้าเราไม่ให้ด้วยการที่จะให้เขาเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง โดยละเอียดจริงๆ อันนั้นก็เป็นความตระหนี่อันหนึ่ง เพื่ออะไร เพราะฉะนั้น ความตระหนี่ก็มีทั้งตระหนี่ในวัตถุ ตระหนี่ในคำสรรเสริญ ตระหนี่ในธรรม ตระหนี่หลายๆ อย่าง ไม่ใช่เพียงแต่ตระหนี่ในวัตถุอย่างเดียว ก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ที่จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
ผู้ฟัง เรื่องการให้นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกุศลกรรม ใช่ไหม แล้วสำหรับการขอมันจะเป็นกุศลไหม
ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นกุศลกรรม หมายความว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ให้เป็นทาน ก็คือเป็นกุศล แต่ว่าถ้าให้เงินเดือน หรือให้อะไร ลูกจ้างอะไรอย่างนี้ ก็คงจะไม่ใช่
ท่านอาจารย์ การให้ได้แก่เจตนาที่สละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ไม่ใช่การแลกเปลี่ยน หรือว่าไม่ใช่ค่าจ้าง
ผู้ฟัง หนูจะถามเรื่อง ตระหนี่ในธรรม ถ้าคนที่มาเรียนใหม่ๆ มักจะมาถามธรรมหนู ถ้าหนูพูดผิด หนูก็กลัว เดี๋ยวเขาเข้าใจผิดด้วย ตัวเองก็เป็นอกุศลด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่ง หนูก็คิดว่า แล้วเราตระหนี่ในธรรมหรือเปล่า แบบนี้
ท่านอาจารย์ เป็นคิดมาก ใจเป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น ถ้าใจเป็นกุศลในขณะนั้นก็เป็นกุศล คิดที่จะช่วยเขา เพราะเขาไม่รู้ เขาเพิ่งเรียน แต่เราเรียนมามากกว่า นานกว่า จะรู้มากน้อยเท่าไร ช่วยได้เท่าที่เราสามารถจะช่วย ผิดถูกอย่างไร เขาพิจารณาได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเชื่อสิ่งที่เราพูด แต่ว่าเป็นผู้ที่พูดแล้วให้คนฟังพิจารณา เชื่อในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่ว่าต้องเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แสดงว่าพระโสดาบัน ยังตระหนี่อยู่
ท่านอาจารย์ ผู้ที่ตระหนี่ สามารถเป็นพระโสดาบันได้ ไม่ใช่ว่าคนตระหนี่แล้วก็เป็นพระโสดาบันไม่ได้
อ. นิภัทร แต่ก่อนตระหนี่ เป็นพระโสดาบันแล้วไม่ตระหนี่
ผู้ฟัง ไม่ตระหนี่แล้ว
อ. นิภัทร มัจฉริยะโกสิยเศรษฐี ที่ทอดขนมเบื้องบนปราสาทชั้นที่ ๗ ต้องพระโมคคัลลานะไปทรมาน แล้วก็ไปฟังเทศน์ แล้วได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน หลังจากนั้นก็ให้ทาน ไม่อั้นแล้ว
ผู้ฟัง เดี๋ยวคนฟัง ตอนนี้ไม่ต้องให้ก็ดีแล้ว บรรลุธรรมได้
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไร อัธยาศัยสะสมมา ถ้าสะสมที่จะให้ใครก็บังคับเขาไม่ให้ ให้ไม่ได้ เขาก็ต้องให้อยู่ดี
ผู้ฟัง ถ้าฟังธรรมแล้วยังคงจะตระหนี่ ต่อไปอีก ไม่ขัดเกลาความตระหนี่ หรือ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคล คือแต่ละคนจะไปฝืนอัธยาศัยที่สะสมมานานแสนนานนี้ไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าเกิดคนที่เจริญสติปัฏฐาน แล้วก็อบรมเจริญปัญญา แต่ว่าก็ยังรู้สึกว่าโกรธก็ยังไม่เป็นไร หรือว่าการที่จะว่าร้ายคนอื่นก็ไม่เป็นไร มันก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัย เราก็ระลึกรู้มันไป เป็นการเข้าใจสภาพธรรม หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นคนตรงต่อการที่จะมีพระธรรมเป็นสรณะ ต่อการที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เท่าที่จะกระทำได้หรือเปล่า หรือว่า วัญจกธรรม คือ หลอกหลวงเข้าข้างตัวเอง ใช้คำว่า อนัตตา เพื่อที่จะทำทุกอย่างโดยบอกว่าทุกอย่างไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา แต่คนที่พูดอย่างนี้เข้าใจความหมายจริงๆ ของอนัตตาหรือเปล่า เข้าถึงสภาพที่เป็นอนัตตา หรือว่าเพียงใช้คำนี้ สำหรับที่จะกระทำอะไรก็ได้ แล้วก็บอกว่าเป็นอนัตตา แต่ถ้าเป็นคนที่เข้าใจความหมายของอนัตตาจริงๆ ยับยั้งความโกรธได้ไหม คนนั้นก็เห็นตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเกิดความโกรธซึ่งเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะนั้นก็สามารถที่จะมีปัญญาความเห็นถูกได้
ผู้ฟัง สำหรับคนที่ศึกษาธรรม บางท่านก็มีกิริยาอาการดี แต่ว่าบางท่านก็ยังมีกิริยาอาการไม่ดี ซึ่งอาการกิริยาเหล่านี้ เกิดจากสติปัฏฐาน หรือเกิดจากกุศลขั้นอื่น
ท่านอาจารย์ เกิดจากการสะสมอกุศล สิ่งที่ไม่ดีก็ต้องมาจากเชื้อที่ไม่ดี กายวาจาไม่ดีจะมาจากกุศลไม่ได้
ผู้ฟัง แต่อย่างการที่เมื่อก่อนนี้เคยโกรธมากๆ เคยร้ายกาจมาก แต่ว่าจากการที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมแล้วก็อยากที่จะเป็นคนดี ก็เริ่มที่จะคลายจากความโกรธ เริ่มที่จะมีเมตตาโดยที่บางทีสติปัฏฐาน ก็ยังไม่ต้องเกิด
ท่านอาจารย์ ก็ได้ เพราะฉะนั้น ต่างคนก็ต่างอัธยาศัย ทานุปนิสัยก็มี ศีลุปนิสัยก็มี ภาวนานุปนิสัยก็มี
ผู้ฟัง สติปัฏฐาน จะช่วยขัดเกลาความโกรธด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ โดยมาก ทุกคนก็หวัง หวังอะไรก็ขอหวัง คือแม้ว่าจะไม่ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็หวังว่าจะดีขึ้น แต่ว่าตามความเป็นจริงธรรม เป็นจริงจากการสะสม จากการปรุงแต่ง ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากแล้วก็รู้ช้า ลำบากอย่างไร
ผู้ฟัง กิเลสเกิดมากมาย
ท่านอาจารย์ นั่นสิ ไม่ใช่ไปทุกข์ยากเข็ญ แต่เป็นเพราะกิเลสต่างหาก ที่ทำให้เขาปฏิบัติลำบากแล้วก็รู้ช้าด้วย
ผู้ฟัง บางทีเปรียบเทียบ คนที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็มีเมตตา ศีลดี หรือว่าไม่นินทาว่าร้ายคนอื่น แต่คนเจริญสติปัฏฐาน อาจจะยังมักโกรธ อาจจะว่าร้ายคนอื่น เพราะฉะนั้น คนเจริญสติปัฏฐานนี้ น่าจะอบรมศีลให้ยิ่งขึ้น หรือว่า น่าจะอบรมเมตตาให้เจริญขึ้นด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่าเขาสะสมปัญญา แต่เขาก็สะสมโลภะ เขาสะสมปัญญา แต่เขาก็สะสมโทสะ ไม่ใช่ว่าเขาสะสมปัญญาอย่างเดียว แต่ละคนก็อาจจะสะสมปัญญาด้วย สะสม อโลภะด้วย สะสมอโทสะด้วย แต่บางคนก็สะสมปัญญาแต่ว่ายังไม่ได้สะสมอโลภะกับอโทสะ เพราะฉะนั้น จึงมีความต่างกันมาก โดยละเอียดว่า อโทสะกล้า อโลภะอ่อน หรือว่าปัญญากล้า ก็ ๓ อย่าง ๖ อย่างนี้ แล้วแต่การสะสม
ผู้ฟัง ทำไมอาจารย์ใช้คำว่า ผู้ที่อบรมเจริญสติ อาจารย์จะรู้ เขาได้อย่างไรว่าเขาอบรมอยู่
ผู้ฟัง ถ้าเขาบอก
ท่านอาจารย์ เขาบอกก็ไม่เป็นไร จะเชื่อหรือไม่เชื่อ อีกเรื่องหนึ่ง แต่ตัวเขาเป็นผู้รู้ว่าเขาก็มีสติปัฏฐานเกิด แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มีอกุศลที่เขาสะสมมาที่จะปรากฏ ที่จะเกิดด้วย บางกาลก็อาจจะยังกับไฟกับฟืนก็ได้ ก็เป็นไปได้ แต่ว่าผู้นั้นก็ยังสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ดีกว่ากิริยามารยาทก็ดี วาจาก็ดี แต่ไม่มีปัญญา
ผู้ฟัง สติระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือปัจจุบันธรรม จะช่วยลดละคลาย ลดละกิเลสได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงสติระลึก แต่ปัญญาในขณะนั้นต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นด้วยมรรคมีองค์ ๕ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไม่ต้องห่วงว่าจะขาดองค์หนึ่งองค์ใดเลย ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็หมายความว่า มีความเข้าใจถูกต้องในเบื้องต้นว่าขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างมั่นคง ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกลักษณะของธรรมซึ่งมีลักษณะ ปรากฏความเป็นรูป ความเป็นนาม แต่ว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก พอแค่นี้ได้ยิน คนอื่นก็ไปห่วงอีก แล้วจะทันอย่างไร ไม่ใช่เรื่องทัน เร็วมาก เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องห่วงว่าจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมใด รูปธรรมใดก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 541
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 542
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 543
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 544
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 545
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 546
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 547
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 548
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 549
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 550
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 551
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 552
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 553
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 554
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 555
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 556
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 557
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 558
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 559
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 560
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 561
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 562
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 563
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 564
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 565
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 566
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 567
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 568
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 569
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 570
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 571
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 572
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 573
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 574
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 575
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 576
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 577
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 578
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 579
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 580
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 581
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 582
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 583
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 584
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 585
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 586
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 587
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 588
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 589
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 590
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 591
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 592
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 593
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 594
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 595
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 596
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 597
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 598
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 599
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 600