ปกิณณกธรรม ตอนที่ 547


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๗

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ พระธรรมทั้งหมดเป็นความจริงในชีวิตประจำวัน แม้ที่แสดงโดยพระสูตร ต้องศึกษาเรื่องสภาพธรรม เข้าใจพระอภิธรรม คือ ธรรม แล้วถึงจะเข้าใจความหมายที่มีอยู่จริงๆ ในพระสูตรได้ถูกต้อง

    คำถามง่ายๆ อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ว่ารูปเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้ไหม ได้ แล้วกุศลก็เป็นสิ่งที่ควรเจริญ จนกระทั่งถึงระดับสูงสุด ที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ปกติทุกคน เวลาที่เห็นรูปทางตา ได้ยินเสียงเหล่านี้ พิสูจน์ได้ตามความเป็นจริงว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น จึงต้องทรงโอวาท อนุสาสนี เตือนพร่ำสอนให้รู้ความจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อกุศลจะได้เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ที่ว่าฉันแล้ว พิจารณาก่อนอรุณขึ้น ตั้งแต่เพลยังไม่ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น อย่างนั้นไม่นานกว่าหรือ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงก็ทรงให้โอกาสมากพอ หมายความว่าทรงพระมหากรุณาจริงๆ เพราะรู้ว่าคนที่ยังมีกิเลส ฝืนไม่ได้ บังคับไม่ได้ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด ไม่เป็นข้อบังคับเลย แม้แต่ศีลข้อที่ ๑ ปานา ติ ปาตา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ เป็นเจตนาของคนนั้นเอง ที่ขอถึงข้อปฏิบัติอันนี้ ขอถือสิ่งนี้เป็นข้อปฏิบัติ ไม่ได้มีใครไปบังคับ ไม่มีใครบอกเลย เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงทั้งหมด ให้ผู้ฟังค่อยๆ เกิดปัญญา พิจารณาเห็นว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดควร แล้วก็ประพฤติในสิ่งที่ถูก ที่ควร โดยมากบางคน กลางวันๆ ก็มีเรื่องมากมาย เวลาจะคิดอะไรออก อาจจะเป็นตอนก่อนจะนอน หรือว่าตื่นขึ้นมาก่อนที่จะสาย หรือก่อนที่จะสว่างก็นึกถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่ทรงให้โอกาสเต็มที่ สำหรับการที่จะเห็นว่า เพศภิกษุ ก็ยังคงมีการหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น แต่ก็ต้องระวังสังวรระวัง พระปาฏิโมกข์ซึ่งได้บัญญัติไว้ เพราะเหตุว่าการเป็นภิกษุไม่ใช่อยู่ที่เพียงการครอง ผ้ากาสาวพัสตร์ แต่ว่าอยู่ที่พระวินัย เพราะฉะนั้น ต้องรักษาพระวินัยจริงๆ จึงสมควรแก่เพศนั้น เพราะฉะนั้น ก็ถ้าหลงลืมสติก็ให้โอกาสจนกว่าจะรุ่งอรุณ แล้วอีกอย่างบางคนก็อาจจะคิดว่าเกี่ยวอะไรกับการที่จะต้องบริโภคอาหารพอประมาณ เพราะว่าบางคนแพทย์ก็บอกได้ ไม่ต้องพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าไม่ควรจะรับประทานอาหารมากเกินไป จะต้องเกิดโรคภัยต่างๆ แต่ลึกยิ่งไปกว่านั้น ต้องเป็นการที่บุคคลนั้น จะต้องเกิดปัญญาของตนเอง เห็นความติดข้องในรสอาหาร เพราะว่าส่วนใหญ่ เราบริโภคอิ่มแล้ว พอรู้สึกอิ่ม แต่อาหารยังอร่อย มีใครบ้างไหม ที่รู้สึกว่าพอแล้ว หรือว่าเหลือที่ไว้ให้ น้ำดื่มอีกสักเท่าไรที่ท่านพระสารีบุตรท่านบอกไว้ อาหารอีก ๒, ๓ คำ แล้วก็น้ำด้วย นั่นเป็นสิ่งที่สำหรับ ผู้ที่มีปัญญา แล้วไม่ติดในรสอาหาร เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีในพระไตรปิฎก ถ้าเราอ่านคร่าวๆ เราก็อาจจะคิดว่า เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ อย่างที่หมอก็บอก คนนั้นก็รู้ แต่ความจริงไม่ใช่ต้องลึกลงไปกว่านั้นอีก ว่าเตือนให้เห็นการยึดมั่นในตัวตน

    ในชีวิตประจำวัน แม้แต่เรื่องที่เราสนทนากัน ในคราวก่อนๆ บางคนก็ยังข้องใจ แต่ว่าตามความจริงแล้วก็ให้เห็นว่า เพราะความติดยึดมั่นในความเป็นเรา หนาแน่นมาก ทำให้เราอาจจะเอาตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ต่างๆ โดยที่ไม่ใช่เอาตัวเราออกก่อน แล้วก็พิจารณาแต่ธรรม คือ สิ่งที่ควรที่จะเป็นไป

    ผู้ฟัง บางครั้ง เวลาที่เราไปสนทนากับคนอื่น บางทีเราก็จะเน้นสติปัฏฐานมากเลย แต่ถ้าหากเขารับไม่ได้ เราก็คงจะต้องแค่ศีล

    ท่านอาจารย์ คุณพรรณทิพา คงต้องแยกเป็น ๒ สมัย คือสมัยที่พระผู้มีพระภาค ยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ไม่เคยได้ฟังธรรมเลย หรือว่าได้ฟังธรรมแล้วมีศรัทธาเลื่อมใส เห็นว่าชีวิตของเขาควรจะอบรมเจริญปัญญา ในเพศบรรพชิต เพราะว่าสะสมมา ที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องมาตั้งต้นอย่างที่คุณพรรณทิพาคิดว่าเป็นขั้นตอน เพราะเหตุว่า ในปฐมกาลของการตรัสรู้ ยังไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยเลย พระภิกษุที่มาบวชไม่ได้ทรงบัญญัติต่อเมื่อใดที่มีเรื่องที่สมควรที่บัญญัติ ก็ทรงบัญญัติ แล้วพระธรรมที่ทรงแสดงไว้แม้กับพระภิกษุ ก็จะเห็นได้ว่าทรงเน้นในเรื่องของศีล อย่างที่คุณพรรณทิพาคิดว่าจะต้องเป็นลำดับแรก เพราะเหตุว่าศีลสำหรับใคร ที่จะเป็นเพศบรรพชิต ต้องงามพร้อมหมด ทั้งกาย ทั้งวาจา ไม่มีสิ่งใดซึ่งชาวบ้าน เห็น แล้วก็จะติเตียนได้เลย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าสำหรับคฤหัสถ์ซึ่งมีกิเลสมากๆ แล้วก็ผิดล่วงศีล ๕ เพราะกำลังของกิเลส แม้แต่บรรพชิตก็ยังต้องวางพระบัญญัติไว้ว่า ปาราชิกที่สิ้นสุดความเป็นพระ เพราะการกระทำอย่างใด เพราะอกุศลกรรมนั้นสมควรที่จะเป็นพระภิกษุต่อไปอีกไม่ได้ มีศีรษะขาดแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับคฤหัสถ์เองก็จะได้พิจารณาว่า แม้ว่าได้ยินได้ฟังพระธรรม มีความเลื่อมใส แต่กิเลสก็ยังมาก มีใครบ้างเล่า ที่ศีลสมบูรณ์ แน่นอนไม่ล่วงเลย พระอริยบุคคล คือพระโสดาบัน แต่ว่าคนที่แม้ว่าจะมีศรัทธา จะเป็นพระภิกษุ หรือว่าจะเป็น คฤหัสถ์ก็ตาม เข้าใจธรรมแต่ก็ยังมีปัจจัยคือกิเลส ที่สะสมมาที่จะทำให้ พร้อมที่จะล่วงศีลเมื่อไร ก็ล่วงศีลเมื่อนั้น จึงได้ทรงแสดงให้เห็นโทษด้วย ตั้งแต่ขั้นศีล ซึ่งจะต้องละอกุศลอย่างหยาบ คือการทุจริตต่างๆ แล้วก็ขั้น ละเอียดขึ้นๆ จนกระทั่งถึงการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ว่าคุณพรรณทิพาก่อนจะมาศึกษา ก็ไปศึกษาเรื่องศีลเสียก่อน ตามลำดับ แล้วก็ไปศึกษาเรื่องสมาธิ หรือปัญญาอย่างที่ชาวบ้านมักจะเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น เพราะได้ยิน ๓ คำ แต่ไม่ทราบว่าทั้ง ๓ คำ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ต้องเกิดพร้อมกัน

    การศึกษาถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ อย่างที่เราใช้ภาษาว่า งูๆ ปลาๆ ก็จะทำให้เกิดโทษได้ เพราะเหตุว่าเข้าใจผิด ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้เราก็จะเป็นผู้ที่ละเอียด ระวังรอบคอบ แล้วก็พิจารณาจริงๆ สิ่งใดที่ผิดโดยพยัญชนะ ที่เราไม่สามารถจะรู้ทั่วถึงในพระธรรมวินัยทั้งหมดได้ เมื่อรู้ต้องแก้ และการศึกษาก็ไม่ใช่เพื่อที่จะเก่งกว่าดีกว่า ซึ่งอาจจะเป็นการแข่งขัน หรือแข่งดีด้วยอกุศล เพราะเหตุว่า ข้อความในอรรถกถา ก็มีว่า ผู้ใดที่ศึกษาอย่างแข่งดี ไม่ใช่การรักษาพระศาสนา เป็นการรักษาตัวเอง ที่ต้องการที่จะให้ตัวเองถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ อย่างได้ยินพยัญชนะ ก็อย่างเพิ่งไปคิดว่านี่ต้องศีลก่อน หรือว่า ตามลำดับ แล้วก็จะมาถึง เรื่องของปัญญาทีหลัง อีกอย่างหนึ่ง คุณพรรณทิพาบอกว่า คุณพรรณทิพาเน้นเรื่องสติปัฏฐาน เวลาคุยกับคนอื่น ความจริงแล้วไม่ใช่ ต้องเป็นการที่ว่าเข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้อง เพราะว่าคนนั้นยังไม่เข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง สติปัฏฐานจะเกิดระลึกอะไร แม้แต่ขณะนี้ คำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราก็ข้ามไปแล้ว ทุกอย่างเป็นธรรม แต่จะมีการที่จะระลึก เพื่อที่จะรู้ว่าที่เราฟังทั้งหมด ไม่ว่าจะฟังมาก ฟังน้อย หรือว่าฟังนานมาเท่าไรก็ตาม เพื่อจุดประสงค์ที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่ว่าเราจบปริเฉทนี้ เราต่อปริเฉทนั้น แต่ว่าขณะนี้ธรรมที่กำลังเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุรู้ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้ทางตา ไม่มีการที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่มีการที่จะข้าม ไม่มีการที่จะไปคิดสร้างทำอะไรขึ้น เพราะเหตุว่า มีปัจจัยให้สภาพนี้กำลังปรากฏ อบรมเจริญปัญญาโดยฟังให้เข้าใจ เพื่อที่สติจะได้เกิด ระลึกไม่ใช่เราทำ แต่สติมีปัจจัยก็ระลึก

    เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ไปเน้นเรื่องสติปัฏฐาน แล้วพอใครไม่สนใจ ก็เลยต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยเขาไป ทิ้งเขาไป ไม่ใช่ ใครก็ตามที่คุณพรรณทิพามีโอกาสจะช่วย คือช่วยให้เขาเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นที่ใครจะบอกว่าเดินก็มีสติ หรือมีสติขณะที่เดิน ต้องทราบลักษณะของสติก่อน มิฉะนั้นก็เข้าใจผิด ไม่รู้เลยว่าสติคืออะไร แล้วก็พอถูกบอกว่าให้เดินมีสติ ก็คิดว่าตัวเองเดินมีสติได้ แต่ความจริงต้องรู้ลักษณะของสติเสียก่อน ว่าสติมีลักษณะอย่างไร จึงจะอบรมเจริญปัญญาถูกต้องตามที่ได้รับคำบอกเล่า เพราะว่าพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงจริง มีสติทุกขณะ ไม่ว่าจะหายใจเข้าออก หรือนั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด นี่คือ คำสอน เพราะว่าการหลงลืมสติ ต้องไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะรีบไปทำอะไร ต้องทราบว่าสติมีลักษณะอย่างไร จึงจะรู้ว่าเพียงได้ฟังแค่นี้ ใครก็ตามไม่เคยได้ฟังธรรมเลย ได้ฟังเพียงแค่นี้แล้ว คิดว่าตัวเองทำได้ มีสติเดินได้ มีสตินั่งได้ จะถูกหรือจะผิด เพราะว่านี่ไม่ใช่เรื่องของปัญญา นี่เป็นเรื่องของตัวตน นี้เป็นเรื่องของความคิด นี่เป็นเรื่องความเข้าใจของตัวเอง ไม่ใช่จากการศึกษาพระธรรม ถ้าจากการศึกษาพระธรรมจะทราบลักษณะของสติก่อน แล้วผู้นั้นถึงจะรู้ว่าขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ ไม่ใช่เรา เดินมีสติ แต่ว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น จะข้ามแม้พยัญชนะเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ ถ้าข้ามก็คือว่า เราไม่เข้าใจถึงพระปัญญาคุณ เราคิดว่าเราเข้าใจง่ายๆ พระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนอะไรที่ยากเลย ง่ายมาก เพราะฉะนั้น ต้องไม่ใช่คำสอนอย่างนี้ ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งว่าสติ มีลักษณะอย่างไร คนที่ตอบได้ จะรู้ว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ แต่ว่าไม่ใช่โดยเพียงไปฟังมาเท่านั้น แล้วก็จำคำจำกัดความตามที่มีผู้สอนว่า ลักษณะของสติคืออย่างนี้ๆ แต่ผู้นั้นต้องพิจารณารู้ด้วย เข้าใจด้วย เพราะฉะนั้น คุณเด่นพงษ์ คงจะบอกลักษณะของสติ ได้ไหม

    ผู้ฟัง เท่าที่ผมเข้าใจ ก็คือว่า ความมีสติ คือความระลึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา เช่น เวลาเราจะพูด จะเดิน จะยืนเราต้องรู้สึก คือ แทนที่จะพูดจา ดูถูกดูหมิ่นคนอื่น หรือพูดจาผิดศีลผิดธรรม เราก็ค่อยๆ มีสติให้รอบคอบ

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นระดับศีลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คงจะต้องค่อยๆ ไประดับนี้ก่อน

    ท่านอาจารย์ เอาระดับจะรู้สึกตัวตอนนอน ตอนนั่ง ตอนยืน ตอนเดิน ที่คิดว่าเป็นข้อปฏิบัติ อบรมเจริญปัญญา ที่ถูกต้อง ต้องพิจารณาอันนี้ ไม่ใช่ไป ระดับนั้น

    ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า อ่านพระไตรปิฎก แล้วมันจะรู้เลย คงรู้ ไม่ได้ ฟังธรรมหนเดียวจะรู้เลย ก็คงรู้ไม่ได้ ก็ค่อยๆ ซึมๆ ๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ต้อง

    ผู้ฟัง อาจจะผิดครั้งแรก ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง ๕ ครั้งแล้วเราก็ค่อยๆ เจริญสติ หรือค่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เจริญสติจากอะไร

    ผู้ฟัง จากการฟังอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าการฟัง ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นว่าสติมีลักษณะอย่างไร นี่คือการฟังเรื่องสติ ไม่ใช่ฟังเรื่องอื่น ถ้าจะพูดถึงเรื่องสติ เข้าใจสติอย่างไร สติมีลักษณะอย่างไร ต้องเข้าใจตรงนี้ นี่คือความเข้าใจไม่ใช่ไปเข้าใจอย่างอื่น แล้วก็คิดว่า เข้าใจว่าสติเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ผมกลัวมันจะเบื่อเสียก่อน ถ้าเผื่อจะไปรู้สติแปลว่าอะไร สมาธิแปลว่าอะไร ต้องไปนั่งอ่านนอนอ่าน นอนฟังอยู่นาน

    ท่านอาจารย์ ข้อความในอรรถกถามีว่าผู้ที่มีปัญญาน้อย ไม่สามารถมีพระรัตนไตรเป็นสรณะได้

    ผู้ฟัง ว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่มีปัญญาน้อย หรือผู้ที่ไร้ปัญญา ไม่สามารถที่จะมีพระรัตนไตรเป็นสรณะได้

    ผู้ฟัง อันนี้เข้าใจ ก็ถึงพยายาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องศึกษา

    ผู้ฟัง พยายามฟังอยู่นี่

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะพูดเรื่องสติต้องเข้าใจเรื่องสติ ฟังเรื่องสติให้เข้าใจเสียก่อย แล้วถึงจะเข้าใจว่าขณะใดที่สติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น คนที่จะรู้ จะอบรมเจริญหนทางนี้ได้ ซึ่งเป็น มัชฌิมาปฏิปทา ต้องเป็นผู้ที่รู้ มีปัญญา รู้ว่าสติมีลักษณะอย่างไร ต่างกับสมาธิ เพราะส่วนใหญ่ ปนกันเลย พอพูดว่าสติ สมาธิเลย แล้วไม่สามรถที่จะแยกลักษณะของสติกับสมาธิด้วย

    เพราะว่าทุกคน สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสมาธิได้ สภาพที่ตั้งมั่นที่อามรมณ์หนึ่งขณะใด ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของสมาธิ แต่ละเอียดยิ่งกว่านั้นอีก คือ สภาพของเอกัคคตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะ เพราะเอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์ใด จิตก็รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น เวลาที่จิตแต่ละขณะเกิด จะต้องทีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เราไม่ได้ใช้คำว่า สมาธิ เราไม่เห็นอาการที่ตั้งมั่นในอารมณ์แต่ละขณะของเจตสิก ขณะที่จิตกำลังรู้ในลักษณะของอารมณ์นั้น จนกว่าเวลาที่มีการตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใด นานพอสมควร ขณะนั้นเราก็เห็นลักษณะของสมาธิ แต่ว่านั่นไม่ใช่สติเลย นั่นเป็นสมาธิซึ่ง เป็นสัพพจิตสาธารณเจตสิก ฟังคำยาว แต่ความหมายก็ง่าย คือว่าเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง สัพพจิตสาธารณเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วง เรื่องของสมาธิ แต่ว่าเรื่องของสติ สติต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สติไม่ใช่สมาธิ มิฉะนั้นก็จะเข้าใจเอาเอง โดยที่ขณะนั้นเป็นสมาธิ ก็คิดว่าเป็นสติ

    ผู้ฟัง ที่ผมเรียนอาจารย์เมื่อกี้นี้ผมไม่ได้ ว่า สติ คือ สมาธิ ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้ สติของคุณเด่นพงษ์คืออะไร

    ผู้ฟัง ความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่านั่งให้จิตตั้งมั่น ไม่ใช่อย่างนั้น

    . แล้วเดี๋ยวนี้เล่า เดี๋ยวนี้ถ้านั่งแล้วสติเกิดเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้ว่ามันเกิดตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ ก็จบ คือ เรื่องไม่รู้ คือเรื่องไม่ใช่พระพุทธศาสนาๆ ไม่สอนให้ไม่รู้ แต่สอนให้รู้ถูก

    ผู้ฟัง มันยังไม่มีสติ

    ท่านอาจารย์ ก็อย่าไปทำ ถ้าไม่มีความรู้แล้วจะเจริญอะไร

    ผู้ฟัง ผมกำลังมีความรู้สึก ถ้าเผื่อเรารอให้มันสุกงอม มันรู้ละเอียดแล้ว กลัวมันจะไม่ กลัวมันจะเบื่อเสียก่อน ก็เลย ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ซึมผิดบ้างถูกบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าทำผิดก็ไม่ทำเสียเลยดีกว่า

    ผู้ฟัง ขอบคุณ

    ผู้ฟัง ผมขออนุญาตกลับมา ผมกำลังหลง หลงทางจริงๆ เพราะตอนที่ท่านอาจารย์พูดกับคุณเด่นพงษ์ ผมก็นั่งฟังจ้องว่า จะได้คำตอบว่าสติคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ตอบไปหรือยัง ผมไม่ทราบ ผมหลงจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนที่ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ทุกท่านคงจะทราบว่าสติคืออะไร แต่ถ้าคนใจร้อน อยากจะทำทันที คิดว่าอะไรก็ถูกหมด อันนั้นก็จะไม่รู้ลักษณะของสติ เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ มีหลายขั้น

    เพราะเหตุว่าสติเป็นโสภณเจตสิก ใช้คำว่า โสภณ หมายความว่าไม่ใช่เกิดกับกุศลจิตเท่านั้น เกิดกับวิบากจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ แต่เกิดกับอกุศลจิตไม่ได้เลย นี่คือความต่างกันของเอกัคคตาเจตสิกกับสติเจตสิก เพราะเหตุว่าเอกัคคตาเจตสิก ต้องเกิดกับจิตทุกขณะทุกดวงทุกประเภท ไม่เว้น จิตเกิดที่ไหน เมื่อไร ขณะใดต้องมีเอกัคคตาเจตสิก เกิดร่วมด้วย เวลาที่จิตเป็นกุศล เอกัคคตาเจตสิกก็เกิด เวลาที่จิตเป็นอกุศล เอกคาเจตสิกก็เกิด เวลาที่เป็นวิบาก เวลาที่เป็นกิริยา เอกัคคตาเจตสิกก็เกิด แต่สำหรับสติ เกิดกับอกุศลไม่ได้เลย ต้องเกิดกับกุศล หรือวิบากหรือกิริยา ที่เป็นโสภณเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะมีลักษณะที่ต่างกัน เวลาที่เราตั้งใจจะทำอะไร ทำให้สวยให้ดีขณะนั้นไม่ใช่สติ เพราะสติต้องระลึกเป็นไปในกุศล คือในทาน ในศีล ในความสงบของจิต หรือในการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล ส่วนวิบากกับกิริยาก็ยังไม่ต้องกล่าวถึง

    แต่ให้ทราบความต่างกันว่าขณะใดที่มีการให้ทาน ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา เราจะต้องค่อยๆ ลดจนกระทั่งหมดสิ้น ด้วยปัญญาที่เข้าใจถูก ตามความเป็นจริงว่าเป็นสภาพธรรมเท่านั้น แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น เมื่อมีปัจจัยด้วย ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมนั้นเกิด สภาพธรรมนั้นเกิดไม่ได้เลย ไม่มีปัจจัยให้จิตเห็นเกิด จะให้เห็นก็ไม่ได้ ไม่มีปัจจัยที่จะให้กุศลระดับนั้นเกิด คือ สติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ แต่เราไปทึกทักเข้าใจเอาเองว่า เป็น เพราะเราไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าสติที่เป็นไปในทาน ขณะที่ให้ทานนั้น คือสติระลึกที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ กับบุคคลอื่น ในขณะที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นก็เป็นเพราะสติเกิดวิรัติ หรือขณะที่จะมีการช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น ซึ่งเป็นศีล นัยอื่น ก็เป็นเพราะสติระลึกได้ เวลาที่โกรธแล้วก็ไม่เมตตา ขณะนั้นก็ยังคงเป็นอกุศลต่อไป ถ้าสติไม่เกิดระลึกได้ รู้ว่าขณะนั้นไม่ดี ไม่เป็นสิ่งที่ควรที่จะมี เจริญให้มากขึ้น แต่ขณะนั้นก็ยังเป็นตัวตน เป็นเราที่กำลังมีสติ ขั้นนั้นที่ระลึกได้

    แต่สติปัฏฐาน ต้องมีความเข้าใจถูก ในสภาพธรรมจริงๆ เป็นหนทางที่จะทำให้เห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าถ้าไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เราก็รู้จักพระองค์เพียงขั้นศีล หรือขั้นพระธรรมที่ทรงแสดง แล้วทึกทักเอาว่าคงจะเป็นอย่างนี้ คงจะง่ายอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อใด ที่มีความรู้ความเข้าใจ เพียงพอเป็นปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด คือมีความเข้าใจเรื่องสภาพธรรม ศึกษาเรื่องสภาพธรรมเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม ทางตาเป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร ทางหูขณะที่ได้ยินไม่มีเรา โลกของตัวตนขณะนั้น จริงๆ ไม่มีสำหรับผู้ที่รู้ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ ขณะนั้นมีเสียงกำลังปรากฏกับจิต ได้ยินแล้วก็ดับหมดโลกนั้นหนึ่งโลก เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ อย่างคำแรกที่เราได้ยิน ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ