ปกิณณกธรรม ตอนที่ 548


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๘

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ อย่างคำแรกที่เราได้ยิน ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำนี้ต้องเป็นความจริง ตั้งแต่ต้นจนตลอดไม่เปลี่ยน พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเปลี่ยนไม่ได้ เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เพียงการคิดนึกว่า ธรรมเป็นอย่างนั้น ธรรมเป็นอย่างนี้ แต่เป็นการตรัสรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมทั้งหมด ด้วยพระปัญญาที่ได้สะสมพระบารมีมา จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ถึงขั้นที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ถ้าไม่มีการเข้าใจเรื่องนามธรรม เรื่องรูปธรรมเพียงพอ ไม่มีปัจจัยที่สติจะเกิด และหนทางนี้เป็นหนทางละ พระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องละ ละอกุศล แล้วต่อไปเมื่อกุศลเจริญมากขึ้น ยังละกุศล เพราะเหตุว่าถ้ายังมีกุศล และอกุศล ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ลองคิดดู เห็นหลังจากเห็น เป็นอะไร ถ้าเป็นอกุศลไปเรื่อยๆ กุศลไม่เกิดเลย แล้วจะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้อย่างไร กำลังได้ยิน แล้วกุศลไม่เกิดเลย จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้อย่างไร และกุศลอื่นทั้งหมดก็ไม่ออกจากสังสารวัฏฏ์ จะให้ทานสักเท่าไรก็ตาม จะรักษาศีลมากมายสักเท่าไรก็ตาม จะอบรมจิตให้สงบ อย่างที่เราบางคนมีความต้องการจิตสงบ แต่ไม่ได้เข้าใจเลย ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะไม่มีปัญญา ไม่รู้ความต่างกันจริงๆ ของสภาพที่สงบจากอกุศลด้วยปัญญา จึงสามารถที่จะเห็น ลักษณะของจิตที่ต่างกัน ว่าจิตที่เป็นอกุศลไม่สงบอย่างไร และจิตที่เป็นกุศลสงบอย่างไร

    ถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะอบรมความสงบให้ตั้งมั่นยิ่งขึ้น จนกระทั่งลักษณะของความสงบ ซึ่งประกอบด้วยสมาธิขั้นต่างๆ ถึงอุปจารสมาธิ ถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิตจั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ยังต้องเห็นโทษว่ายังเกี่ยวข้องกับรูปอยู่ ง่ายเหลือเกินที่จะหันกลับมาสู่รูป เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสมาธิ ที่สงบ มั่นคงกว่านั้น ก็จะต้องถึง อรูปฌานไม่มีรูปเป็นอารมณ์ นี่ก็เป็นเรื่องที่แม้กุศลอย่างนี้ ก็ยังดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่าได้ไปติดข้องในความสงบนิดๆ หน่อยๆ หรือว่าพอใจที่จะสงบเลย เพราะว่านั่นไม่ใช่เรื่องของปัญญา ผู้ที่สงบจริงๆ ถึงขั้นอรูปฌาน ยังดับกิเลสไม่ได้ ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา เป็นมิจฉาปฏิปทา เมื่อเทียบกับสัมมาปฏิปทา เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเข้าใจจริงๆ เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ถ้าใครคิดว่าพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องของการที่จะให้รู้สภาพธรรม ไม่ใช่เรื่องที่ให้ผู้ฟังเกิดปัญญา ไปนับถืออย่างอื่นดีกว่าง่ายดี ผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะมีพระรัตนไตรเป็นสรณะได้

    ผู้ฟัง จะเรียนถามอาจารย์ว่า ลักษณะของมัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไร อาจารย์ก็ได้กล่าวไว้เมื่อสักครู่นี้ว่า หมายถึงเมื่อมีสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ไม่ต่างกันเลย สติปัฏฐาน มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเมื่อยังไม่ใช่โลกุตตรจิตก็เป็น มรรคมีองค์ ๕

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้อาจารย์ ในกุศลขั้นอื่นๆ ที่ยังไม่ถึง มีสติปัฏฐานเกิด แต่ขณะที่เจริญกุศลขั้นอื่นๆ ด้วยความคิดว่า เห็นโทษของอกุศล แล้วก็จะสละละวาง คือเป็นความคิดยังเป็นตัวตนอยู่ ตลอดเวลา ไม่ใช่สติปัฏฐานเลย ขณะนั้นไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะเหตุว่า ถ้าเป็น ทุกขณะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา แต่มัชฌิมาปฏิปทา นำไปสู่การออกจากสังสารวัฏฏ์

    ผู้ฟัง อาจารย์ขยายความได้ไหมว่า ในทุกขณะนี้เป็น มัชฌิมาปฏิปทา

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า เราทราบว่าเป็นธรรม โดยฟัง ปัญญาระดับฟัง ใครดับกิเลสได้ แค่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ดับกิเลสอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ที่จะดับกิเลสได้ ปัญญาเจริญขึ้น โดยการที่ไม่ใช่เพียงขั้นฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม เลื่อนลอยมาก ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า เห็นเดี๋ยวนี้ เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงกำลังเห็นเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิด ถ้าไม่เกิด เห็นไม่มี ไม่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีจริงๆ เป็นธรรม เคยเป็นคนนั้น เป็นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ความจริงก็คือว่า แค่หลับตา หายไปหมด คนอยู่ที่ไหน ใช่ไหม เมื่อไม่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครที่จะรู้ว่าเป็น ธรรม ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม เราจะอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ มาโดยตลอด ตั้งแต่เกิดจนตายไม่รู้ว่าแท้ที่จริง ถ้าไม่มี ปรมัตถธรรม คือไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูปเกิด อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งนั้น

    สิ่งที่เราเคยยึดถือ โดยสมมติบัญญัติว่าเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ ก็คือสภาพธรรม ได้แก่จิต เจตสิก รูป ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ในขณะนี้มีจิตไหม มีเจตสิกไหม มีรูปไหม ต้องมีแน่นอน แต่ฟังเท่านั้นพอไหม ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง แต่หนทางที่จะประจักษ์แจ้งมีจริง มิฉะนั้นแล้วพระผู้มีพระภาค จะไม่ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้สามารถที่จะรู้จริงๆ ได้ โดยค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดระลึกในขณะที่กำลังเห็น สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ เป็นสภาพธรรม สภาพที่กำลังเห็น ก็เป็นธรรม คือเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ที่ต่างกัน จะมี ๒ อย่าง คือสภาพรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุซึ่ง เมื่อเกิด ขณะใดต้องรู้ เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้ ส่วนสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่ง มีปรากฏทางตา แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ปรากฏทางหู เช่น เสียง ไม่รู้อะไร ทางจมูกคือกลิ่น ทางลิ้นคือรส ทางกายคือสิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ก็คือ นามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่ใช่ไปหวังว่าเราอยากจะเกิดมากๆ หรืออยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยที่ว่าขณะนี้กำลังเห็นก็ไม่รู้ แล้วจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างไร หลังจากที่เห็นก็ไม่รู้ ก็ยังเกิดอกุศลมากมาย บางคนก็โกรธไม่มีเมตตาเลย แล้วอย่างนั้นจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างไร ในเมื่อมีความเป็นเรามีความเป็นตัวตน มีอกุศลมากมายหลายอย่าง แล้วก็จะคิดว่า จะไปเป็นพระอริยบุคคลได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ขอทบทวนอีกสักครั้ง ฟังจากที่อาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่นี้แล้ว ก็เข้าใจว่า อาจารย์กล่าวว่า ธรรมทุกอย่างเป็น มัชฌิมาปฏิปทา

    ท่านอาจารย์ มิได้ มัชฌิมาปฏิปทา คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะ ว่าเป็นทางที่ออกจากสังสารวัฏฏ์

    ผู้ฟัง แล้วที่ ถ้าสมมติว่าใช้คำนี้ว่า มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึงว่า จิต เจตสิกที่รู้อารมณ์ ที่เป็นปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ มรรคมีองค์ ๘ ปกติมี ๕ องค์ สัมมาทิฏฐิความเห็นถูก สัมมาสังกัปปะ การจรดในอารมณ์ ที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรมถูก สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ขณะนั้นเพียรที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม สัมมาสติ ระลึกชอบ ขณะนั้นต้องมีแน่นอน สัมมาสมาธิ ขณะนั้นต้องเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง หมายถึงว่าองค์ ๕ นี้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    วิทยากร มัชฌิมาปฏิปทาเราก็ทราบแล้วอย่างที่อาจารย์บรรยาย ทางที่ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา คืออะไร คือทางที่ตึงเกินไป หย่อนเกินไป ไม่ใช่มัชฌิมา ไม่ใช่ระหว่างกลาง ตึงเกินไปคืออะไร คือเราปฏิบัติตนให้ลำบาก ทรมานตน เรียกว่า ตึงเกินไป ไม่ใช่มัชฌิมา ถ้าหย่อนเกินไปก็ปฏิบัติตนให้ ตกต่ำก็ ไม่ใช่มัชฌิมา มัชฌิมา นี้มันลำบาก ถ้าพระพุทธเจ้า ไม่ตรัสรู้ ใครๆ ก็แสดงไม่ได้ มัชฌิมาปฏิปทา เป็นการแสดงธรรมที่ละเอียดที่สุด ไม่เกี่ยวกับ ๒ อย่างนั้น

    ผู้ฟัง ปัญญาจะเกิดขึ้น โดยการสังเกตุ และพิจารณาลักษณะรู้ อาการรู้ที่เกิดขึ้น เวลาที่เราเห็น อย่างสมมติว่ารถวิ่ง ผ่านไป จิตเราก็รู้ว่า รถวิ่งผ่านไป แล้วปัญญามันจะเกิดอย่างไร ในเมื่อเราก็เห็นว่า มันดับไปเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าเป็น ธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง มันเกิดแล้วก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ อะไรเกิด อะไรดับ

    ผู้ฟัง รูป หมายถึงว่ารูป

    ท่านอาจารย์ รูปอะไร ทางไหน นี่ต้องเป็นความละเอียด

    ผู้ฟัง รูปทางตา

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นความละเอียด นี่เรานึก ว่ารูปเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ใช่ให้ไปนึกล่วงหน้า ผู้ที่ประจักษ์การเกิดดับ คือ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ถึงระดับขั้นที่จะประจักษ์การเกิดดับ แต่ไม่ใช่ให้ไปรู้ล่วงหน้าว่าเกิดแล้วดับแล้ว ไม่ใช่ ค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจว่า สภาพนี้ คือ นึกหมด ผ่านไปบุ๊ปก็นึกแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ใช่การนึก นึกคิด

    ท่านอาจารย์ นึกสิว่าผ่านไปแล้ว บุ๊ป หนึ่ง ผ่านไปบุ๊ป ก็นึกแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง แล้วที่ว่ารถวิ่งผ่านไป หรือเสียงที่เราฟัง

    ท่านอาจารย์ รถวิ่งผ่านไป เป็นธรรมอะไร นี่เป็นเรื่องที่ต้องฟังว่า ธรรมคืออะไร ปรากฏทางไหน โลกมี ๖ โลกแยกออกจากกัน

    ผู้ฟัง ทางตา

    ท่านอาจารย์ ทางตาไม่ใช่รถ เป็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดเรื่องดับ เพราะยังไม่รู้เลย ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่ง นี่คือการเข้าใจความจริงของผู้ที่ประจักษ์แล้ว แต่ผู้ที่ไม่ประจักษ์ก็ค่อยๆ อบรมไป

    ผู้ฟัง การที่เราจะค่อยๆ อบรม เราใช้วิธีคิดหรือ

    ท่านอาจารย์ ใช้วิธี หรือ ใช้วิธี เป็นเราใช้ ไม่เอาตัวตนออกไปได้เลย โดยการที่มีตัวตนใช้อยู่ตลอดเวลา

    อริยสัจสี่ ๒ ข้อแรก ลึกซึ้งจึงเห็นยาก สภาพธรรมในขณะนี้กำลังเกิดดับแน่นอนแต่ว่าใครเห็น ไม่ใช่ ใครๆ ก็เห็น แต่ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่ค่อยๆ อบรม เพราะว่าลึกซึ้ง แล้วเห็นนี่คือเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เราไปทำให้เห็น เพราะเราอยากจะเห็น แต่เราต้องเป็นคนที่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า ขณะนี้สติเกิดหรือหลงลืมสติ แล้วสติรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ รู้ หรือว่ารู้เลย เป็นไปได้ไหมที่จะรู้เลย ก็ต้องเป็นเรื่องของการอบรม ซึ่งเป็น จิรกาลภาวนา ข้อความทั้งหมดมีอยู่ในพระไตรปิฎก แม้แต่อริยสัจ ๒ ข้อหลัง คือ นิโรธสัจ กับ นิโรธคามีนีปฏิปทา คือมรรคมีองค์ ๘ ก็เห็นยากเพราะว่าลึกซึ้ง ที่จะเห็นว่าเป็นหนทางนี้ คือหนทางละ ด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ข้ามไปไหนเลย เพราะขณะนี้ ปริยัติ กับปฏิบัติ ต้องตรงกัน ถ้าปริยัติกล่าวว่าทุกขณะทุกอย่างที่ปรากฏเป็นธรรม ปฏิบัติก็ต้องตรงกัน ปฏิเวธ ก็ต้องตรงกัน นี่จึงจะเป็นประโยชน์ของการศึกษา มิฉะนั้นจะไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะเหตุว่าปฏิบัติไม่ตรงกับปริยัติ ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงตามที่ได้ศึกษาได้ แต่เพราะเหตุว่า ศึกษาอย่างไร อบรมเจริญปัญญาเพื่อจะรู้อย่างนั้น แล้วเมื่อประจักษ์แจ้ง ก็ประจักษ์แจ้งความจริง ตรงตามที่ได้ศึกษาด้วย

    ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างว่า การสังเกต พิจารณา ลักษณะรู้

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย ค่อยๆ เข้าใจเดี๋ยวนี้ ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น เข้าใจนี้คือจุดเริ่มต้นของปัญญา ซึ่งจะเจริญขึ้น เพราะเหตุว่า ถ้าเราใช้คำว่าปัญญา ใช้คำว่า ญาณ ใช้คำว่า วิชชา เราอาจจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องความเข้าใจ แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดเป็นควมเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ถูกต้องขึ้น ชัดเจนขึ้น

    ผู้ฟัง การเจริญสติปัฏฐาน กับมรรคมีองค์ ๘ ต่างกันเพราะการเจริญสติปัฏฐาน เป็นมรรคมีองค์ ๕ ซึ่งไม่เหมือนกับมรรคมีองค์ ๘ แต่เขาเป็นมัชฌิมาเหมือนกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็น

    ผู้ฟัง แต่ว่าต่างกันที่ว่า เจริญสติปัฏฐาน มีแค่องค์ ๕

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะถึงมรรคจิต แต่ถ้าไม่ใช่หนทางนี้ วิรตี ๓ ก็จะเกิดร่วมพร้อมกันไม่ได้

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ได้ยินคำว่า ตึง อย่างกรณีที่บางท่านๆ สอนบอกว่าให้ระลึกรู้สภาพธรรม ที่เป็นปสาทรูป อันนี้จะจัดอยู่ใน ตึงไหม

    ท่านอาจารย์ ให้ระลึก ใครระลึกได้ โดยให้ระลึก

    ผู้ฟัง ไม่ๆ พูดถึงประเด็นตึง

    ท่านอาจารย์ ก็ ฟังตั้งแต่ต้นก็พิจารณาตั้งแต่ต้น ว่าให้ระลึกเป็นไปได้ไหม นอกจากให้เข้าใจให้ถูกต้อง แล้วปัญญาจะเกิด สติจะระลึกอะไรก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง ตรงนี้ ถือว่าตึงไป หรือว่า

    ท่านอาจารย์ ถามใครก็เป็นคำตอบของคนนั้น แล้วเราคิดอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่ถาม ความเห็นอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ความเห็นดิฉันก็คือ ต้องพิจารณาตั้งแต่ต้น ถ้าจะผิดก็ผิดตั้งแต่ต้นเลย

    ผู้ฟัง เอกัคคตามีโอกาสที่จะรู้ สภาพสติได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะว่าเอกัคคตาเกิดพร้อมกับสติ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มิฉะนั้นแล้ว เจตสิกก็ต้องไม่ถึง ๕๒ สภาพของเจตสิกแต่ละอย่างเป็นแต่ละชนิด มีลักษณะต่างกัน มีกิจการงานต่างกัน มีเหตุใกล้ให้เกิดต่างกัน สภาพที่เห็นถูกต้อง ไม่ใช่สติ ไม่ใช่วิริยะ ไม่ใช่เอกัคคตา แต่ต้องเป็นปัญญาเท่านั้น

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อผมเคยสรุป แรกๆ ของผม คิดของผมเอง ไม่เคยสรุปออกมาในที่ประชุม ก็เป็นการสรุปที่ผิด คือผมคิดว่า เอกัคคตาเจตสิกรู้สติด้วย แต่จริงๆ แล้ว เอกัคคตาทำหน้าที่ของเอกัคคตา ของเขาเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ สภาพของเจตสิกทั้งหมดเป็นนามธรรม เกิดกับจิต เกิดในจิต เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต มีอารมณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้น จิตรู้อารมณ์ใด เอกัคคตาเจตสิกก็รู้อารมณ์นั้น แต่การที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก ไม่ใช่หน้าที่ของเอกัคคตาเจตสิก

    พระธรรมคำสอนทั้งหมดเป็นเรื่องละ ละ ก็คือ ละความไม่รู้ เพราะเราเกิดมาด้วยความไม่รู้ ไม่มีใครสามารถที่จะให้ความรู้เรื่องสภาพธรรมเลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เป็นเรื่องเราไปต้องการอะไรอีก ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้จิตสงบถึงระดับนั้น บุคคลที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม อย่างคนที่ได้ฌานแล้ว ฌานไม่ได้ เกิดอยู่ตลอดเวลา คนนั้นไม่ได้ดับกิเลสเป็น สมุจเฉท เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิด

    เมื่อสติเกิดระลึกรู้ ขณะนั้นก็เป็นปัญญา เป็นการละความไม่รู้ ไม่ใช่เป็นเรื่องจะไปเอาโดยวิธีนั้น จะไปทำโดยวิธีนี้ เพื่อได้ ถ้าเป็นเพื่อได้ เพื่อเอา ไม่ใช่เรื่องละ ไม่ใช่เรื่องรู้ เป็นเรื่องต้องการทั้งหมด ซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับคำสอน

    เพราะเหตุว่า ธรรมสำหรับประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงฟังเรื่อง แล้วเข้าใจว่าหมายความว่าอะไร แต่ต้องขณะนั้น มีเมตตาหรือเปล่า แล้วเราเอง เราจะทราบว่า ทุกคนที่มองกันด้วยความเป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยเหลือ ด้วยน้ำใสใจจริง ขณะใด ขณะนั้นเรียกว่าเมตตากำลังเพิ่มขึ้น ไม่ว่าเราจะเห็นใครทั้งนั้น แต่ถ้าเรายังคิดโน่นคิดนี่กับคนนั้นคนนี้ เราก็ขุ่นใจ คนนั้นทำไมเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น นั่นคือ เราลืมเรื่องเมตตา ทั้งๆ ที่เราเข้าใจว่าเมตตาคืออะไร เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรม แม้ว่าไม่มี โดยที่ว่าเรามองเห็น ก็ดูเป็นสุขดี ต้องเป็นปัญญาระดับที่เห็นว่า ถึงสุขก็ต้องเกิดใหม่ ก็ต้องแก่ ก็ต้องเจ็บ ก็ต้องตาย ชาตินี้อาจจะพรั่งพร้อมด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ชาติหน้าใครจะรู้ แล้วก็ขณะนี้อาจจะไม่มีทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มี แต่ว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครทราบ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ว่า ทุกคนก็จะเจริญธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ถ้าเราศึกษาแล้ว เราเพียงควรศึกษา หรือว่าควรที่จะอบรม ตามที่ได้ศึกษาด้วย ถ้าเราเห็นประโยชน์ของเมตตา เราก็คงจะเมตตาเพิ่มขึ้น คนที่เราเคยไม่ชอบ ลองคิดถึงเขาเดี๋ยวนี้ ความรู้สึกเปลี่ยนหรือเปล่า หรือว่าเหมือนเดิม ยังไม่ชอบอย่างเก่า หรือไม่ชอบมากขึ้น นั่นก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะได้พิจารณา ว่าการศึกษาธรรมประโยชน์ อยู่ที่ค่อยๆ น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพราะเห็นคุณค่าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป แล้วสอนละเอียดมากทุกอย่าง ที่จะชี้โทษให้เห็นว่า โทษเป็นโทษ อกุศลเป็นอกุศล แล้วก็ควรจะอบรมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น ส่วนกรุณาก็เป็นเรื่องที่ว่าเมื่อมีเมตตาแล้ว ก็คงจะมีกรุณา กรุณาที่นี่หมายความว่า ไม่เบียดเบียน ไม่ให้คนอื่นเป็นทุกข์เพราะเรา ทีนี้การไม่เบียดเบียน บางทีเราอาจจะไม่ได้สังเกต เราอาจจะคิดว่าเราไม่ได้เบียดเบียนใคร กายเบียดเบียนนิดๆ หน่อยๆ หรือเปล่า บางคนก็อาจจะคิดว่าไม่ได้ทุบตีใคร วาจาทุบตีหรือเปล่า เพราะว่าบางทีก็ทำให้เขาเจ็บ และจำไปนานแสนนานเลย แล้วใจเบียดเบียนคนอื่น คือคิดร้ายต่อคนอื่น ทั้งๆ ที่ขณะนั้นคนนั้นเป็นกุศลจิต แต่ใจของคนที่คิดร้าย เป็นโทษกับตัวเอง

    พระธรรมทั้งหมด ให้เข้าใจสภาพธรรม ตามความเป็นจริง แล้วก็อบรมเจริญแล้วจนถึงขั้นที่เป็นอุเบกขา ก็คือว่า ไม่หวั่นไหว ไม่หวั่นไหวนี้จริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีปัจจัย แล้วเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็หมด เพราะฉะนั้น เรื่องราวก็คือเป็นสิ่งที่เรา ทรงจำ ด้วยความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตน แต่จริงๆ ถ้าเข้าใจสภาพธรรม ยิ่งขึ้น ก็จะรู้ว่าทุกอย่างต้องเป็นตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ก็จะทำให้ ไม่หวั่นไหว อย่างที่เคย ก็ต้องอบรมอีก

    วิทยากร อันนี้เป็นความอัศจรรย์ของจิต ตั้งแต่ปฏิสนธิ แล้ว เกิดดับๆ ติดต่อกันไม่ว่างเว้นไม่หยุดเลย ไม่ว่าขณะไหน จนกระทั่งจุติ เคลื่อนจากคนนี้ เราจะเห็นว่า เกิดแล้วก็ดับๆ ตั้งแต่ปฏิสนธิมา บางคนอาจจะเข้าใจว่า จิตมีการพักผ่อน เวลานอนหลับ ไม่ใช่ จิตนั้นเกิดแล้วดับๆ ไม่ใช่ตั้งอยู่เฉยๆ ถ้าตั้งอยู่เฉยๆ ก็เป็น สัตสตะ เพราะว่ามีปัจจัยให้เกิดขึ้น ติดต่อกันไปจนกระทั่ง จุติ เคลื่อนจากคนนี้ เราจะเห็นว่า จิตนั้นทำกิจของตนเอง อย่างพิสดารไม่ว่างเว้นเลย ทุกขณะเลย

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดถึงเห็นเดี๋ยวนี้ ทุกคนรู้ เพราะมีเห็นจริงๆ เป็น ภาษาไทย แต่ถ้าเป็นภาษาบาลี ภาษาบาลีไม่มีคำว่าเห็น แน่ แต่มีคำว่า จักขุ คือตา วิญญาณ คือ จิต จิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นจึงเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ใช่เรียนแต่เฉพาะภาษาไทย เพราะเหตุว่าเราต้องกลับไปหาภาษาเดิม คือ ภาษาบาลีให้ถูกต้องด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะคลาดเคลื่อน เวลาที่เราศึกษาพระอภิธรรม เราก็จะรู้บาลีนิดๆ หน่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ว่า ไม่ได้ไปเรียนบาลีโดยตรง เป็นไวยกรณ์หรืออะไร เพียงแต่รู้ว่าคำนี้หมายความถึง สภาพธรรมอะไร อย่างเห็นอย่างนี้ทุกคนมี แต่ว่าถ้าศึกษาเรื่องของจิต ก็จะทราบได้ว่า จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วเวลาที่จิตประเภทใดเกิดขึ้น ต้องมีกิจการงานหน้าที่ อย่างเห็น เราอาจจะไม่เคยคิดเลย ว่าเป็นหน้าที่ของธาตุชนิดหนึ่ง คือธาตุนี้มีลักษณะหรือหน้าที่เห็น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567