ปกิณณกธรรม ตอนที่ 627


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๒๗

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ผู้ฟัง แต่ว่าโดยความหมาย โพชฌงค์ เหมือนกับว่าเป็นสติ และปัญญาที่มีกำลังที่จะใกล้จะตรัสรู้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเพียงเพิ่งเริ่มต้น โพชฌงค์ ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ แต่สติที่เจริญขึ้นจากสติปัฏฐาน ก็จะถึงความเป็นโพชฌงค์ ก็ไม่พ้นจากค่อยๆ อบรม

    ผู้ฟัง ทีนี้ความหมายของตบะ เมื่อตอนต้นท่านอาจารย์ก็ได้ อธิบายเรื่องของตบะ เป็นเครื่องเผากิเลส ผมได้เจอใน มงคลทีปนี ได้รวมรวม ความหมายของตบะ ไว้มากมาย เป็นธรรมที่เผาผลาญ บาปธรรม ซึ่งท่านได้รวบรวมมาจากอรรถกถาต่างๆ ตั้งแต่ตบะคือขันติ อุโบสถกรรม ก็เป็นตบะด้วย การเรียนพุทธพจน์ก็เป็นตบะ ความเพียร การรักษาธุดงค์ การสำรวมอินทรีย์ เหล่านี้ ท่านก็แสดงว่าเป็นตบะ ในความหมายต่างๆ ที่ท่านแสดงไว้ในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ในที่นี้ก็คงจะได้หลายความหมาย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด

    วิทยากร. ตบะ ที่คุณประเชิญอ่านเมื่อกี้นี้ ในเรื่องเรียนพระพุทธพจน์ด้วย เป็นตบะด้วย

    ผู้ฟัง ผมยังติดใจที่เทวดามารับคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงสั้นๆ แล้วก็ได้เป็นพระโสดาบัน อดีตชาติท่านเคยสะสมมาก่อน มากมายแล้วอย่างนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องสะสมไป เหมือนขณะนี้ที่กำลังสะสม จนกว่าจะถึงกาลที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าไม่มีขณะนี้ ที่ศึกษาพระธรรมด้วยความอดทน ที่จะเป็นผู้ละเอียดรอบคอบให้เข้าใจถูกต้องจริงๆ จะถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นชื่อโพชฌงค์ หรือ อินทรีย์ อะไรต่างๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปพะวงถึง เพราะว่าขณะที่เราอบรมเจริญสติปัฏฐานไป เมื่อไรที่ถึงวาระนั้นก็เป็นปัญญาที่จะรู้เอง ไม่ใช่ว่าจะต้องไปไขว่คว้า หาที่ว่าจะให้โพชฌงค์เกิดหรือ

    ท่านอาจารย์ เป็นความเข้าใจ ตัวปัญญา นี่คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังมี ที่กำลังปรากฏ ซึ่งถ้าไม่มีความเข้าใจแล้ว จะขาดสติได้ไหม จะขาดวิริยะได้ไหม ทุกอย่างก็ต้องมีครบ

    ผู้ฟัง ถ้าปัญญาเข้าเกิดขึ้น เขาก็เป็นของเขาเอง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญา คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่ก่อนดิฉันศึกษาใหม่ๆ ก็โพชฌงค์มีอะไรบ้าง ก็จะพยายามให้มันเป็นอย่างนั้นๆ ตรงนี้เข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจ ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ในขณะที่แม้กำลังฟัง ฟังแล้วก็มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสภาพที่มีจริงๆ ขณะนั้น นี่คือสำคัญที่สุด ขณะนั้นก็ต้องมีสติ เป็นสติปัฏฐาน จึงจะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ได้

    วิทยากร. การศึกษาธรรม เอาชื่อมาตั้ง แล้วก็จะมาทำ ให้เป็นชื่ออันนั้น ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตา สติเกิดระลึกรู้ ปัญญาสังเกตว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นไม่มีชื่อ ไม่มีเลย อาจารย์เคยพูดครั้งหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนท่านตรัสรู้ ที่โพธิมณฑล ไม่มีชื่อ เพราะตอนนั้นยังไม่มีชื่อเลย เพราะพระธรรมยังไม่เกิด คือ พระธรรมมีแล้ว แต่ชื่อพระธรรมต่างๆ พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตั้ง ขณะนั้นไม่มีชื่อจริงๆ แล้วฟังดูแล้วมันจริงๆ ขณะนั้นไม่มี ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์นั้นยังไม่มีชื่อ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดมาถึงตรงที่ว่า ไม่มีชื่อ แม้แต่ขณะนี้ ถ้าเห็นปรากฏมันก็ไม่ต้องพูดชื่อออกมามันก็มีปรากฏแล้ว ก็คงเป็นลักษณะอย่างนั้น

    วิทยากร. ไม่มีชื่อ ต้องเข้าใจ ว่าไม่มีชื่อ คืออะไรด้วย ไม่ใช่พูดตามได้ คุณบง ลองคิดดู ตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตอนนั้นมีชื่อไหม โพธิปัคขิยธรรม ๓๗ ก็ยังไม่ได้วาง สมัยพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้ ยิ่งไม่มีชื่อเลย ตลอดเลย แต่มีครั้งหนึ่งมากๆ ด้วย ปัจเจกพุทธเจ้า แต่สั่งสอนใครไม่ได้ เพราะว่าตั้งชื่อไม่เป็น โพธิปัคขิยธรรม จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ นี่ ท่านตั้งชื่อไม่เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามาตั้งชื่อ ท่าน นิรุตติศาสาตร์ อะไรๆ นี่ ทั้งอรรถกถา และธรรมแตกฉานหมด

    ผู้ฟัง ตรงนี้ดิฉันก็เห็นจริงด้วย ที่ท่านอาจารย์แสดงธรรมตรงนี้ ท่านให้ระลึกถึงสภาพที่เป็นจริงๆ โดยที่ไม่ต้องออกชื่อ ถ้าเมื่อไรมีชื่อออกมาแล้ว มันก็เป็นบัญญัติแล้ว ตรงนี้ที่ว่ายาก แต่มันก็เริ่มต้นจากการที่ต้องเข้าใจว่า ไม่มีชื่อจริงๆ ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นเรื่องละเอียด ต้องทราบว่าขณะที่กำลังมีชื่อ หรือ นึกถึงชื่อ ขณะนั้นจิตรู้อะไร

    ผู้ฟัง จิตรู้คำ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็รู้คำ ไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่จึงเป็นความต่างกัน ไม่ใช่ว่าห้ามคิด ไม่มีใครสามารถที่จะห้ามคิดได้เลย แต่ปัญญาสามารถที่จะรู้ว่า คิด ไม่ใช่เห็น เพราะขณะเห็น ไม่ใช่เห็นชื่อใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะที่จิตกำลังเห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่กำลังคิดถึงคำหนึ่ง คำใด ขณะนั้นจิตก็กำลังรู้คำ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังคิดถึงคำใดทั้งหมด ขณะนั้นก็คือเป็นจิตที่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่เป็นจิตที่คิดถึงคำ แต่ในขณะที่กำลังคิดนั่นเอง สติสัมปชัญญะก็สามารถที่จะรู้ สภาพที่กำลังรู้คำ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสภาพคิด คำใดๆ ก็ไม่มี ในขณะนั้น ขณะนี้ใครกำลังคิดถึงคำอะไรหรือเปล่า ขณะที่เห็น เห็นแล้ว คิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คงคิด แต่ไม่ได้ตั้งใจ เป็นอัตโนมัติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คิดโดยที่ไม่ได้เป็น คำ ก็มี ไม่ใช่ว่าคิดทุกครั้งต้องเป็นคำ นี้แสดงเห็นว่าเราต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะรู้ว่าคิดโดยไม่เป็นคำมี คิดถึงรูปร่าง คิดถึงสัณฐาน แล้วก็จำได้ ว่าสิ่งที่เห็น เป็นอะไร นั้นคือขณะนั้นไม่ใช่เพียงเห็น ถ้าเพียงเห็น ไม่ได้คิดถึงรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย เพียงเห็น เห็นเท่านั้นนิดเดียว แค่เห็น แต่นี่เห็นแล้วรู้ ตอนที่รู้ หมายความว่ามีความคิดถึง แล้วก็มีความทรงจำในสิ่งนั้น แล้วก็สามารถที่จะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร แม้ไม่เรียกชื่อ เพราะฉะนั้น ตอนที่จะเรียกชื่อ ก็เป็นอีกตอนหนึ่ง คือขณะใดที่เรียกชื่อ ขณะนั้น จิตคิดถึงคำแล้ว ไม่ใช่เพียงแต่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน เพราะฉะนั้น จึงแยกจิตออกเป็น ๖ ทาง ขณะเห็น ไม่ใช่ขณะคิด แค่เห็นจริงๆ ขณะได้ยินเสียง ก็ไม่ใช่ขณะที่ึคิดถึงความหมายของเสียงเป็นคำๆ ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เร็วมาก แต่หลังจากนั้น ความคิดก็เกิดต่อ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ

    ผู้ฟัง ไม่หวัง แต่เราตั้งใจไว้ ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ หวังเป็นโลภะ มีใครบ้างที่ไม่หวัง แล้วหวัง หวังทั่วไปหมดเลย

    ผู้ฟัง อันนี้ รู้สึกว่ามันจะเป็นอุปสรรคจริงๆ ถ้าเกิดคิดว่า หวังอยากจะอย่างนั้น อย่างนี้ อะไรอย่างนี้ รู้สึกว่า มันจะเป็นอุปสรรคจริงๆ มีวัตถุประสงค์ คือตั้งใจไว้ ตั้งใจไว้ว่า เราจะไปเพื่อศึกษาธรรม ไปเพื่อเผยแพร่ธรรม บ้างตามโอกาส ตามสมควร คือไม่ได้คิดหวังว่า มันจะต้องได้อย่างนั้น จะต้องได้อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แต่ความหวังมีหลายระดับ ทุกคน ยังไม่หมดความหวัง ยังไม่สิ้นหวัง หรือยังหวังต่อไป ก็จริง แต่ไม่ได้ประกอบกับความเห็นผิด ถ้ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย อันนั้นก็ไม่มีหนทางทางที่จะเกิดความเห็นถูก ในขณะที่กำลังเห็นผิดได้

    เพราะฉะนั้น จะหวังอย่างไรก็ตาม แต่สะสมความเห็นที่ถูกต้องว่า ถึงจะหวัง ก็ไม่ได้บรรลุเพราะหวัง อันนี้ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง พอหวังเกิดขึ้นก็ระลึกได้ว่าไม่ได้บรรลุเพราะหวังแน่ๆ แต่ต้องเพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ การฟังที่ถูกต้องคือฟังแล้วเข้าใจ แล้วเมื่อมีความหวัง เกิดขึ้นก็ไม่ปล่อยให้ความหวังนั้น นำไปสู่ความเห็นที่ผิด เพราะเหตุว่าเมื่อหวังแล้วไม่เข้าใจถูกต้อง ก็ต้องไปผิด ก็เป็นทางที่ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ไม่ใช่ห้ามว่าอย่าหวัง ธรรมเป็นอนัตตา นี้ไม่ได้เคยห้ามอะไรใครเลย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ห้าม เพราะห้ามไม่ได้ คำว่า อนัตตา เป็นความจริง โดยถ่องแท้ โดยตลอด เพราะฉะนั้น ก็ต้องไม่มีใครที่จะไป บังคับไปชักชวนหรือไปอะไร แต่ทรงแสดงความจริงของธรรมทั้งหมด ให้ผู้ฟังพิจารณา แล้วก็เกิดปัญญา ความเห็นถูกต้องของตนเอง

    ผู้ฟัง ถ้าปฏิสนธิจิต มาเป็นนายประทีปแล้ว ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตจิตใจ แม้กระทั่งรูปร่างหน้าตา อะไรต่างๆ แม้กระทั่งจิตใจที่จะคิดอ่านอย่างไร พูดอย่างไร มีนิสัยใจคออย่างไร ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่าเริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ประกอบด้วยปัญญาบ้าง ไม่ประกอบด้วยปัญญาบ้าง ขอความกรุณาช่วยอธิบายให้เข้าใจได้มากขึ้น ผมก็จะย้อนกลับไปคุยเรื่องว่า ถ้าฟังพระธรรมแล้ว ทำไมชีวิตของผมทั้งชีวิตถึงเปลี่ยนแปลงได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบชีวิตของคุณประทีป เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง คือ ธรรมเป็นเรื่องจริง แล้วเราจะได้ประโยชน์ ต่อเมื่อเราได้ เข้าใจแล้วพิจารณา จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ตัวเราเอง ฟัง พระธรรมแล้วชีวิตของคุณประทีปเปลี่ยนไปอย่างไร หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เปลี่ยน

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนเป็นอย่างไรบ้าง

    ผู้ฟัง บางขณะที่สติเกิดบ้าง เล็กๆ น้อยๆ ก็รู้สึกเป็นคนดี มีกุศลจิต แต่ในยามที่หลงลืมสติ ก็เหมือนเดิม ชอบพูดจาไม่ค่อยไพเราะ หรือว่าพูดเล่นสนุกสนาน

    ท่านอาจารย์ อันนั้นไม่เปลี่ยน ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่ที่เปลี่ยนคืออะไร เปลี่ยน

    ผู้ฟัง ที่เปลี่ยน คือ เริ่มเข้าใจความจริงของชีวิตมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ก็เท่านี้ ใช่ไหม คือเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็ การสะสมดั่งเดิมมาเป็นอย่างไร ก็ยังคงเป็นคุณประทีปคนเก่า แต่ว่าสิ่งที่เพิ่มขึ้นก็คือ ความเข้าใจธรรม รู้ว่าธรรมคืออะไร แล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก เมื่อได้ฟัง เพิ่มขึ้นอีก

    ผู้ฟัง เมื่อกี้เราก็พูดกันว่า ควรอบรมเจริญกุศลทุกประการ

    ท่านอาจารย์ ทุกประการ คุณประทีป คิดจะเว้นอะไรบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจของผม ผมไม่ได้เว้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าทุกประการก็ต้องรวมการฟังพระธรรมด้วยประการ ๑ ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังไปเรื่อยๆ เวลาที่เกิดปัญญา แล้วปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา การที่คนเราในโลกนี้ มีความประพฤติต่างกัน คนที่มีปัญญา ก็จะประพฤติต่างกับคนที่ไม่มีปัญญา ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นหน้าที่ของปัญญา ที่จะทำให้ มีความเห็นถูก กายถูก วาจาถูกยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เห็นประโยชน์ ของปัญญา ว่าถ้ามีปัญญาความเข้าใจถูกต้องมากเท่าไร การประพฤติหรือว่าจิตใจที่ไม่ดีงาม ก็จะลดลงไปเท่านั้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็น สมุจเฉท คือไม่เกิดอีกเลย นี่คือประโยชน์ ของการที่จะอดทนฟังพระธรรมซึ่งยาก แล้วก็ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องซ้ำ ใช่ไหม เราก็พูดกันแค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลภะ โทสะ โมหะ ก็พูดกันอยู่อย่างนี้ บางคนเขาบอกไม่เห็นมีอะไรพิเศษ ไม่เห็นมีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ทั้งหมดจะตื่นเต้น หรือไม่น่าตื่นเต้น ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะไม่มีทั้ง ๒ อย่าง จะไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น การที่เรามีความรู้จริงๆ ก็คือรู้สภาพธรรมที่สามารถ จะปรากฏได้ในขณะนี้ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ว่า ผมคิดว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก ถ้าพิจารณาอย่างผมฟังธรรม มาตั้งแต่ต้นแล้ว พอมาถึงจุดนี้ พระธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยว ฟังคุณประทีปแล้ว รู้สึกเหมือนกับซ่อนความหวังอะไรไว้ ก็ไม่ทราบ เสมอๆ ทุกครั้งที่ฟัง รู้สึกจะมีความหวังอะไรแอบๆ แฝงๆ อยู่ เป็นจริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ผมคงสะสมที่จะหวัง

    ท่านอาจารย์ แต่หวังเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเข้าใจให้ถูกต้องว่า ต้องมีปัญญาเท่านั้น จึงจะค่อยๆ ละ ลด ความหวังได้ ความหวัง พระโสดาบันก็มี พระสกทาคาก็มี พระอนาคาก็มี บุคคลเดียวที่ไม่มีโลภะ ความติดข้องเลย คือ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ว่าเรื่องของความหวัง มีหลายประการ ความติดข้องก็มีหลายอย่าง ถ้าเราติดข้องแล้วก็มีความเห็นผิด ในหนทางที่จะดับกิเลส อันนั้นไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมจนกระทั่ง สามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่ถ้าเราเข้าใจธรรม แล้วเวลาหวังเกิดขึ้น เราก็สามารถที่จะเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ที่มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้ว อะไรที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่มีจริง ใครจะไปเปลี่ยแปลงลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นให้เป็นอย่างนี้แล้วก็จะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่น ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แล้วมีความอดทน ก็รู้ว่าในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ๆ จริงๆ มีสภาพธรรมที่เกิดแล้ว ปรากฏจริงๆ ให้เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ต้องไปหวังอย่างอื่น หรือว่าทำอย่างอื่น เพียงแต่ว่าให้เข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้ เป็นสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่พอใจเกิดขึ้น เปลี่ยนความไม่พอใจที่เกิดขึ้นนั้นให้เป็นอย่างอื่น ได้ไหม ไม่ได้เลย มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้ความรู้สึกนานาชนิด ปรากฏเกิดขึ้นให้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่คือเราจะค่อยๆ มั่นใจ มีความเข้าใจมั่นคง ในความเป็นธรรมของทุกอย่าง ว่าเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็เป็นอย่างนี้แหละ เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง ความจริง ความหวัง ถ้าตัวโตๆ ก็พอจะรู้ ถ้าตัวเล็กๆ ก็คงจะต้องค่อยๆ

    ท่านอาจารย์ อริยสัจ ๔ ที่จะรู้ได้ ก็ด้วยละความหวัง

    ผู้ฟัง ฟังตอนต้นแล้วว่า ถ้าปฏิสนธิจิตแล้ว ผมคงมีอายุยืนได้เท่านี้ สมมติว่าผมใกล้ๆ จะ ๗๐ แล้ว ๖๙ อย่างนี้ ๗๑ ตายอย่างนี้ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิต เขากำหนดไว้แล้ว ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ แต่ฟังอะไรไป ก็ไม่เห็นลดความหวังสักอย่าง ไม่หวังเรื่องนี้ ก็หวังเรื่องนั้นไปเรื่อยๆ แม้แต่ข้อความในพระไตรปิฎก ก็ยังทำให้คุณประทีปก็หวังอย่างอื่นไปอีก ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ประโยชน์ ของการฟังพระธรรม เพื่อที่จะอบรม โดยเฉพาะจิตของเราเอง ไม่ใช่จิตของผู้อื่น เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นจิตนั้นมีจริง เราก็มีโอกาสที่จะอบรมเจริญปัญญา แล้วก็อบรมกุศลจิตเพิ่มขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ แต่อย่างน้อย วันนี้เราก็พอ จะรู้สึกได้ว่าสิ่งที่มีประโยชน์ในชีวิตจริงๆ ของเราคือเมื่อไร คุณประทีปจะตอบไหม

    ผู้ฟัง เมื่อสติสัมปชัญญะ เกิดรู้สึกเข้าใจใน

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ฟังพระธรรม วันทั้งวัน เดือนทั้งเดือน ปีทั้งปี ลองหาดูก็แล้วกัน ว่ามีอะไรที่เที่ยง ที่เป็นสมบัติของเราจริงๆ ที่สามารถจะเก็บ สืบต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ ก็ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้แน่นอน สุขทุกข์ก็หมดไปทุกวันๆ แต่ถ้าสะสมปัญญาก็จะสืบต่อไป จนกระทั่งถึงกาลที่แม้เพียงได้ฟังธรรม โดยนัยเทศนาต่างๆ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะเหตุว่าพระธรรมทั้งหมด ไม่พ้นจากอริยสัจจะ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้ก็ ยิ่งรู้สึกแย่ใหญ่เลย เพราะว่า วันทั้งวัน บางทีเข้าใจนิดเดียว แล้วก็จิตเกิดขึ้น นับไม่ถ้วน

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้อย่างนี้ ก็ขวนขวายฟังขึ้นอีก ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ผู้ฟัง ทำไมพระพุทธเจ้า จะต้องมาเกิดในครรภ์ เสมอไป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ลองคิดว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงแสดงธรรมที่ไหนดี

    ผู้ฟัง แสดงกับมนุษย์ๆ ก็ไม่ได้ฉลาด

    ท่านอาจารย์ เทวดา หรือพรหม ก็มาเฝ้าได้ ถ้าอยู่บนสวรรค์ มนุษย์ จะไปฟังธรรม บนนั้นได้ไหม

    ผู้ฟัง จะเกี่ยวกับที่ว่า ถ้าต้องอยู่ในโลกมนุษย์ หรือเปล่า ที่ถึงมีขันธ์ทั้ง ๕ อะไรอย่างนี้ จะให้พิจารณา

    ท่านอาจารย์ นอกจาก อรูปพรหมภูมิ ๔ ภูมิ แล้วก็มี ขันธ์ ๕

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ ธรรมก็เป็นเรื่องจริง แล้วก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ ลองคิดว่า ถ้าไม่ทราบข้อความนี้ว่า พระผู้มีพระภาค ตรัส คือ ไม่รู้ว่าละ ว่าใคร เป็นคนที่กล่าวข้อความนี้ เพียงแต่ได้ยินว่า

    ชาวนา ย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วย ธัญญชาติบ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ แต่ก็อดทนต่อไป ทานบดีย่อมให้บ่อยๆ ทานบดี ให้บ่อยๆ แล้วย่อมเข้าถึง สวรรค์บ่อยๆ ผู้ต้องการน้ำนมย่อมรีดนมบ่อยๆ ลูกโคย่อมเข้าไปหาแม่โคบ่อยๆ บุคคลย่อมลำบาก และดิ้นรนบ่อยๆ คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิด และตายบ่อยๆ บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคผลแล้วไม่เกิดอีก ดังนี้

    ถ้าไม่รู้ว่าเป็น พระดำรัสของพระผู้มีพระภาค จะคิดอย่างไร คนที่ได้ยินได้ฟัง เบื่อไหม แต่พอรู้ว่าเป็นพระดำรัส จะต้องรู้ว่าต้องมีความหมายมาก มีประโยชน์มาก มิฉะนั้นไม่ทรงแสดง หรือไม่ทรงเทศนา ไม่ตรัสเลย เพราะเหตุว่าผู้ที่มีปัญญาย่อมสามารถที่จะเข้าใจประโยชน์ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดได้ ว่าจะสำเร็จได้ด้วยความเพียร และความอดทน

    เพราะฉะนั้น การที่เราฟังธรรม แล้วก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วเราจะเลิกฟัง หรือว่าเราก็จะต้องฟังต่อไปอีกบ่อยๆ เหมือนกับชาวนาที่ต้องหว่านพืชบ่อยๆ แล้วก็ข้อความซ้ำ ต่อไปๆ เรื่องบ่อยๆ ทั้งนั้นเลย ฟังดูแล้วเป็นเรื่องปกติ ใช่ ไหม

    แต่ว่าคนที่สามารถที่จะให้เข้าใจ สิ่งที่มีเป็นปกติ ลึกซึ้งแค่ไหน ลองคิดดู ขณะที่กำลังนั่งอย่างนี้เป็นธรรมดา เป็นปกติของทุกคนที่ เห็น เป็นปกติของทุกคนที่ได้ยิน เป็นปกติของทุกคนที่คิด แต่ผู้ที่สามารถจะทรงแสดงธรรม ให้เข้าใจถึง เข้าถึงความเป็นธรรมของสภาพธรรมที่มีเป็นปกติได้ แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาระดับไหน เพราะว่าเราดูเหมือนเป็นธรรมดา แต่ความจริงแล้วสิ่งที่มองเป็นธรรมดา แท้ที่จริง เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก ที่จะต้องเขาถึงด้วยปัญญาเท่านั้น ถ้าไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะเข้าถึง ลักษณะของสภาพธรรมเลย ทั้งๆ ที่เป็นปกติ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเห็น ว่าสภาพธรรมที่เป็นปกติที่เหมือนธรรมดา นี้แหละลึกซึ้ง แล้วต้องอาศัยผู้ที่มีปัญญาเช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สามารถจะแสดงความลึกซึ้งของสภาพธรรม ที่เป็นปกติอย่างนี้ได้

    ผู้ฟัง ต้องขออนุญาตพูดเสียหน่อยว่า ที่พระพุทธเจ้า ท่านทรงแสดงอย่างนี้ เป็นเรื่องของ ตรรกวิทยา วิธีการพูดอันหนึ่ง คือพูดให้น่าเบื่อ พูดให้คนฟังที่จะเถียงแล้ว ไม่มีปัญญาที่จะเถียง จบตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็คือคิดอย่างคุณ ชินวุธ ซึ่งคนแต่ละคนก็คิดตามการสะสม เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณา ถึงกาลที่จะทำให้ใครสนใจ ก็อาจจะใช้วิธีการหลายๆ อย่าง คือรู้ว่าอัธยาศัยของคนนี้เป็นอย่างไร ก็จะใช้วิธีการนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงที่ลึกก็คือว่า พราหมณ์สามารถที่จะเข้าใจ ในพระธรรมหยั่งถึงพระธรรม ถึงพระผู้มีพระภาค และพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก็แสดงให้เห็นว่า พราหมณ์ สามารถที่จะมีปัญญา แม้ว่าตรัสอย่างนี้ คนอื่นอย่างเราที่ฟัง ก็อาจจะไม่ค่อยสนใจ แต่ว่าพราหมณ์นั้นสามารถที่จะเห็นประโยชน์ได้

    พระองค์มีวิธีการที่จะทำให้บุคคลนั้น สามารถที่จะรู้สึกตัวได้ ว่าความคิดของเขา เรื่องที่ว่าเขากล่าวอย่างนั้น ที่ว่า พระผู้มีพระภาค เป็นผู้ที่ติดในรส เป็นคำพูดที่ เขาไม่ได้รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่ถ้ารู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะได้ทราบว่า พระองค์ไม่ทรงติดอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าเป็น ผู้ที่หมดกิเลสแล้ว แต่ว่าถ้าจะพิจารณาทีละวรรค ก็คงจะเข้าใจได้ขึ้น เช่น ชาวนาย่อมหว่านพืชบ่อยๆ อันนี้ก็ธรรมดา ใครๆ ก็เข้าใจได้ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญญชาติบ่อยๆ เพราะว่าชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้าว อาหารที่บริโภค เพราะฉะนั้น ความที่จะไม่เดือดร้อน จะต้องมีความอดทน แล้วก็มีความขยัน ที่จะได้ประโยชน์ คือการมีชีวิตอยู่ แม้แต่ยาจกเป็นผู้ที่ไม่มีอะไรเลย ก็ต้องขยันขอ ใช่ไหม ถ้ายาจกคนไหนขี้เกียจขอก็ไม่มีอะไร ที่จะได้ดำรงชีวิตต่อไป แม้ยาจกยังย่อมขอบ่อยๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567