ปกิณณกธรรม ตอนที่ 632
ตอนที่ ๖๓๒
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ถ้าเรายังคิดว่าเราจะบังคับจิต ขณะนั้น จิตไม่สามารถที่จะปรากฏ ความเป็นใหญ่ ของจิตได้ เพราะว่าจิตเป็นใหญ่ในการรู้ ในขณะนั้นจะไม่มีอย่างอื่นเลยนอกจากธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่จริงๆ แล้วแต่อะไรกำลังปรากฏ สภาพนั้นเป็นสภาพรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจ สติสัมปชัญญะ ปฏิปัตติ ถึงได้ด้วยสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เราคิดเอาเองว่าเป็นวิปัสสนา หรือว่าจะปฏิบัติวิปัสสนา
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การเทิดทูนปัญญาก็มีวิธีที่ง่ายที่สุด คือฟังไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ ปัญญาของใคร ของตัวเอง เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า เข้าใจแค่ไหน ฟังอีกเข้าใจอีก แล้วเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดใครรู้
ผู้ฟัง ก็รูปนามรู้
ท่านอาจารย์ ก็เป็นนามธรรม ใช่ไหม ปัญญาขณะนั้นรู้เลย ว่าขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะ ที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ขณะนั้นก็ไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ขณะใดที่สติระลึก มีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมตามปกติ ขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ได้ ว่าขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะ สามารถที่จะเข้าใจ ความหมาย หรืออรรถของสติสัมปชัญญะ และสติปัฏฐาน
ผู้ฟัง จากสนทนากับสหายธรรมทั่วๆ ไปเขาจะกล่าวว่าท่านอาจารย์ สอนเข้าใจยาก จริงๆ แล้วตรงนี้มันเป็นเรื่องตรง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็น ใช่ไหม รู้ไหม ว่าไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ยากหรือง่ายที่จะรู้
ผู้ฟัง ก็ต้องยากจริงอย่างเขาว่า
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นสัจจธรรม ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าความจริงยาก แล้วจะบอกคนอื่นว่าง่ายได้ไหม แม้แต่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ทุกขณะที่เห็น ปัญญาเกิด หรือปัญญาไม่เกิด อยู่ที่สติสัมปชัญญะเกิดหรือไม่เกิด
ผู้ฟัง เรื่องมันอยู่ตรงที่ว่า ถ้าตรงนี้เป็นจริง ถึงยากอย่างไรเราก็ต้องพยายามเข้าไปหาสิ่งนั้น ตามที่ดิฉันคิด แต่เขาหนีกัน เขาบอกว่ายาก ไม่เอาแล้ว
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่การสะสม แต่หนี หนีไปไหน หนีอย่างไรก็ไม่พ้นนามธรรม รูปธรรม มีใครหนีพ้นนามธรรม รูปธรรมบ้าง แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะรู้หรือไม่รู้ สิ่งซึ่งหนีไม่พ้น
ผู้ฟัง คุณประเชิญ คุณภรณีอยากให้อธิบายคำว่า สังโยชน์
วิทยากร. สังโยชน์ หมายถึงชื่อของกิเลส พวกหนึ่ง เป็นลักษณะของกิเลสที่ผูกไว้ เหมือนกับเชือก ก็ผูกไปในภพน้อยภพใหญ่ เช่น กามราคะสังโยชน์ ทิฏฐิสังโยชน์ สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ก็จะผูกไว้ในกามภพ เพราะว่ายังยินดีอยู่ในกาม แล้วก็ยังไม่ได้ละความเห็นผิด ในเรื่องของข้อวัตรปฏิบัติ สีลัพพตปรามาส แล้วก็ทิฏฐิด้วย จำแนกสังโยชน์เบื้องต่ำไว้ ๕ ประการ มีสังกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส พยาปาท กามราคะ ส่วนสังโยชน์เบื้องบน ๕ ประการ คือ รูปราคะ อรูปาราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อันนี้เป็นสังโยชน์ ตามนัยของพระสูตร เป็นเครื่องผูกในภพน้อยภพใหญ่ เรียกว่าสังโยชน์ ก็จะมี ๑๐ ประการโดยนัยของพระสูตร พระอภิธรรมก็จะมีแตกต่างกันบ้าง
ท่านอาจารย์ คุณบง มีสังโยชน์ไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เมื่อไร
ผู้ฟัง เมื่อติด เมื่อเกิด
ท่านอาจารย์ วันนี้มีหรือยัง
ผู้ฟัง มีอยู่ตลอด
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่มีความติดข้อง เมื่อกี้นี้อาหารอร่อยไหม ดอกไม้สวยไหม ทุกอย่าง ไปไม่ถึงไหน ต้องอยู่ในกามภูมิ จะต้องอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ผูกไว้ในกามภูมิ ไม่สามารถจะไปสู่ภพภูมิอื่นได้ ซึ่งภพภูมิอื่น เป็นเรื่องของความสงบของจิต ที่ถึงระดับของอัปปนาสมาธิ ที่เรียกว่า ฌาน เป็นภูมิของรูปพรหมบุคคล แล้วถ้าสูงกว่านั้นอีก ก็เป็นภูมิ ของอรูปพรหมบุคคล แต่ใครจะถึง ถ้ามีความยินดีพอใจในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็อยู่นี่แหละ ในภูมิที่เป็นกามภูมิ
ผู้ฟัง ดิฉันชอบใจจริงๆ เลยว่า ท่านอาจารย์กล่าวว่า มันเป็นปกติอย่างนี้ เพราะว่า เรายังต้องติดอยู่ แต่ท่านอาจารย์ก็สอน หรืออบรมให้รู้ว่าขณะนั้น เป็นสภาพธรรม และไม่ว่าเป็นรูป หรือเป็นนาม ตรงนี้ที่ดิฉันสนใจมากๆ
ท่านอาจารย์ ถ้าใครก็ตาม สามารถที่จะอบรมเจริญฌานไปเกิดในพรหมโลก เป็นรูปพรหม จะกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีกไหม ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ก็เป็นชีวิตจริงๆ เป็นเรื่องจริงๆ เป็นเหตุเป็นผลที่เราจะทราบได้ว่า ชาติหน้าเราจะเกิดที่ไหน ไม่พาไปจนกระทั่งถึงไหนเลย ก็อยู่ในกามภูมินี่แหละ แล้วแต่ว่าจะเป็นภูมิใด
ผู้ฟัง กลับมาที่ สัทธาสูตร ในที่นี้ เทวดาได้กล่าวเรื่องของฝ่ายดี คือ ศรัทธา เป็นเพื่อนสองของคนที่จะไปสู่ปรโลก ในที่อื่น ท่านกล่าวถึงตัณหา เป็นเพื่อนของคน จะเป็นเพื่อนในลักษณะไหน แล้วจะพาไปไหน
ท่านอาจารย์ เพื่อนสนิท ใครสนิทกว่ากัน
ผู้ฟัง น่าจะเป็นตัณหา
ท่านอาจารย์ ไม่เคยจากไปไหนเลย มาสู่ภพนี้โดยไม่รู้สึกตัวเลย ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่โลภะ เป็นผลของกรรมที่ทำให้ วิบากจิตเกิดขึ้น ในสุคติภูมิ ในภูมิมนุษย์ แต่ทันทีที่รู้สึกตัว โลภะเกิด เพื่อนสนิทแค่ไหน
ผู้ฟัง สนิทมากเลย
ท่านอาจารย์ พอเกิดมา หลังจากนั้น หน่อยหนึ่งก็ประจำ แล้วแต่ว่าจะให้ทำอะไร ทุกอย่างที่ทำไปด้วยกำลังของความต้องการ เพื่อนคนนี้มีอำนาจมากเลย
ผู้ฟัง แต่เขาไม่ได้เป็นประโยชน์ ต่อสหายเขาเลย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เป็นผู้ทำลาย
ผู้ฟัง แต่ถ้าเพื่อน ที่เป็นเพื่อนทางดีที่เทวดากล่าว ศรัทธา ก็เป็นเพื่อนที่ดี จะเกื้อกูล ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่า ชอบเพื่อนคนไหน ตอนนี้ใครชอบเพื่อนคนไหน
ผู้ฟัง เพื่อนดี
ท่านอาจารย์ รักเพื่อนคนไหนมาก สนิทสนม คุ้นเคยเพื่อนคนไหนมาก ทั้งๆ ที่รู้ว่าเพื่อนดีก็มีคือศรัทธา แต่ยังสนิทสนม คุ้นเคยกับใคร ยังไม่ทิ้ง ทิ้งไม่ได้เลย เพื่อนคนนี้ ไปไหนไปด้วย อยู่ข้างหน้า อยู่ข้างหลัง อยู่ข้างๆ
ผู้ฟัง ตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ ตลอดเวลา เป็นทั้งลูกศิษย์ เป็นทั้งอาจารย์ อยากทิ้งไหม เพื่อนคนนี้
ผู้ฟัง ยังรักเขาอยู่ ยังทิ้งไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น บังคับได้ไหม คุณบง
ผู้ฟัง ไม่ได้เลย แล้วก็นับวันก็เหมือนกับชอบเขามากขึ้นด้วย
ผู้ฟัง โลภะนี่มันจะนำไปเฉพาะอกุศลเท่านั้น ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่นำไปทางกุศล เป็น ไม่ใช่โลภะ
ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งกว้างขวางมาก คือ ปกตูนิสสยปัจจัย แต่ไม่ต้องไปคิดอย่างนั้น คิดแต่ว่าโลภะเป็นอกุศล แล้วก็ละยาก ผู้ที่จะดับได้หมดเป็นสมุจเฉท ไม่มีโลภะเลย แม้สักนิดเดียว ทั้งหยาบ ทั้งกลาง ทั้งละเอียด คือ พระอรหันต์ ตอนนี้มีไหม เพื่อนคนนี้ ยังอยู่กับเราหรือเปล่า เพื่อนคนไหนอยู่กับเรา ตอนนี้ อยู่ไม่พร้อมกัน คุณบงพูดได้ไหม ว่าละความโกรธเสีย บอกใครได้ไหม เวลาใครกำลังโกรธก็บอกว่าละความโกรธเสีย บอกได้ ไหม
ผู้ฟัง บอกได้
ท่านอาจารย์ บอกได้ เท่านั้นเอง แต่ไม่มีหนทาง ที่จะดับได้จริงๆ เพียงแต่คิดว่า ละเสียๆ อย่างหลายคนก็บอกกัน ทั้งนั้นเลยว่า ละอกุศล ก็พูดง่าย บอกใครๆ ให้ละอกุศล ละความโลภ ละความโกรธ ละมานะ ก้าวล่วงสังโยชน์ ก็พูดได้หมด แต่หนทางหรือวิธีที่ จะละได้ มีหรือเปล่า หรือเพียงแต่ว่า เห็นว่าเป็นโทษ แล้วก็บอกให้ละ แต่ไม่มีหนทาง แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงหนทาง สั้นมาก แต่ผู้ที่เข้าใจ ก็คงจะเข้าใจได้ ส่วนนักปราชญ์ ย่อมรักษาความไม่ประมาท นี้รู้แล้ว ความไม่ประมาทคืออะไร เหมือนบุคคลรักษาทรัพย์อันประเสริฐ บุคคลอย่าตามประกอบความประมาท แล้วอย่าตามประกอบ ความสนิทสนม ด้วยอำนาจความยินดีในกาม เพราะว่าบุคคลผู้ไม่ประมาทแล้ว พินิจอยู่ ย่อมบรรลุบรมสุข เพียงแค่คำว่า พินิจอยู่ แต่รวมความถึงความรู้จริงๆ ที่สามารถจะถึงการรู้แจ้งนิพพานได้
ผู้ฟัง การตามประกอบความประมาทนี้ อรรถกถา ท่านอธิบายว่า ชนใดย่อมกระทำ คือ ย่อมทำให้ความไม่ประมาทเกิดขึ้น ขณะนั้นชื่อว่า ย่อมตามประกอบซึ่งความประมาทนั้น ท่านก็ไม่มีตัวอย่าง อาจารย์มีตัวอย่างไหม การตามประกอบความประมาท
ท่านอาจารย์ ขณะที่คิดว่า พระธรรมง่าย ไม่ลึกซึ้ง อ่านแล้วก็เข้าใจได้ ประเดี๋ยวกิเลสก็หมด อย่างนี้เป็นความประมาทหรือเปล่า เพราะขณะนั้นไม่ใช่สติ ไม่ใช่เป็นกุศล ไม่ใช่ความเห็นถูก
ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงทั่วไป ความประพฤติพูดที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา บางนัย ท่านอธิบายในเรื่องของ การปล่อยจิต ในเรื่องของกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อย่างนี้เรียกว่า เป็นขั้นหยาบ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ โดยมากเรามุ่งที่จะไปละ โลภะ อย่างมากมายเลย แต่โลภะที่จะต้องละ คือโลภะ อะไร เพราะว่าผู้ที่จะดับโลภะได้หมด ไม่มีเลย ก็คือพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ ที่จะละโลภะ ได้หมด โลภะที่ควรจะละก่อน หรือจำเป็นต้องละก่อน แน่นอน เพราะว่าถ้าไม่ละโลภะนี้ ก็ไม่สามารถที่จะละโลภะอื่นได้ โลภะนั้นคืออะไร
ผู้ฟัง โลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด
ท่านอาจารย์ โลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าให้ไปละรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ให้ไปทรมานตัว ไม่ต้องเห็นอะไรดีๆ เสียงเพราะๆ หรืออะไรอย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะว่าพระอนาคามี ละ แต่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญา คือ ละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง ว่าเมื่อสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดแล้วดับไป ก็ต้องมีความเห็นถูกอย่างนี้ แล้วโลภะ ก็เป็นโลภะ เป็นความติดข้อง เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ใครเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะแล้วก็มีกิจการงานอย่างนั้น ถ้าเข้าใจตรงตามนั้น ก็เป็นผู้ที่สามารถที่จะละโลภะขั้นต่อๆ ไปได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสใดๆ ได้เลย ก็ไม่ต้องไปข้ามขั้น
ผู้ฟัง ขอเรียนถาม อย่างง่ายที่สุดที่ละโลภะ เช่น การให้ทาน เป็นการละโลภะ ใช่ไหม อันนี้ง่ายที่สุด
ท่านอาจารย์ ละโลภะอะไร
ผู้ฟัง ละความยึดติดในสิ่งที่ตนมีอยู่
ท่านอาจารย์ ในสิ่งที่ให้ สิ่งอื่นละ หรือเปล่า ให้หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่เฉพาะสิ่งนั้นก็ถือว่าละ เบื้องต้น
ท่านอาจารย์ ให้ได้ก็คือละความติดข้องในสิ่งที่ให้ได้ จึงให้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโลภะ โลภะอย่างอื่นยังมีเพราะว่า ยังไม่ได้ให้
ผู้ฟัง ละแล้ว ก็จะเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้ละโลภะ ตัวอื่นๆ ได้อีก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หวังหรือเปล่า
ผู้ฟัง หลังจากให้แล้ว หวัง หวังว่าโลภะตัวโตๆ ก็อาจจะละได้ ตัวเล็กๆ ไปแล้ว
ท่านอาจารย์ หมายความว่า หัดให้ไปแล้ว โลภะ ก็คงจะไปได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ใช่ไหม
ผู้ฟัง เพราะครั้งแรกก็ยังสละได้ เพราะว่าการที่จะให้อะไรใครง่ายๆ บางคนไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ง่าย
ท่านอาจารย์ ละอะไรยากที่สุด
ผู้ฟัง ละยากที่สุด ละความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน
ท่านอาจารย์ ละ เรา ความเป็นเรา นี่ละยากที่สุด ละวัตถุใดๆ ก็ละได้ อาจจะให้สิ่งซึ่งเรา ชอบน้อยหน่อย แล้วก็ภายหลังก็อาจจะให้สิ่งที่เราชอบมากเหมือนกัน แต่ก็ยัง ให้ได้ ถึงจะสละละอะไรไปก็ได้ แต่ที่เหนียวแน่น ที่สุดคือความเป็นเรา ถ้าละเมื่อไร เมื่อนั้นเป็นพระโสดาบัน
ผู้ฟัง ไม่กระทำการขวนขวายในสิ่งที่เป็นไปในสิ่งที่สวย หรือเสียงที่เพราะ รสที่อร่อย กลิ่นที่หอม หรือว่า สัมผัสที่นุ่มสบาย อย่างนี้เป็นหนทางละโลภะด้วยไหม
ท่านอาจารย์ จะละความเห็นผิด หรือว่า จะละโลภะ
ผู้ฟัง ละความเห็นผิด
ท่านอาจารย์ และขณะที่ต้องการสิ่งสวยๆ เป็นเราที่ต้องการ หรือเป็นโลภะที่เกิดขึ้น
ผู้ฟัง เป็นเราที่ต้องการ แต่ว่า เราก็สามารถที่จะ สติสามารถที่จะระลึก รู้ได้ว่าขณะนั้น ก็เป็นแนวทาง
ท่านอาจารย์ ถ้าสะสมสติสัมปชัญญะ มีปัจจัยที่จะเกิด แต่ถ้าไม่สะสม คนที่สละ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไปป่า แล้วจะมีปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมไหม ถ้าไม่รู้หนทาง
ผู้ฟัง ไม่รู้ ก็เหมือนกับไปเที่ยวป่า
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นปัญญาที่รู้หนทาง แล้วละประการแรก คือ ละโลภะ ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด
ผู้ฟัง อย่างนั้นไม่จำเป็น ต้องกระทำการขวนขวาย เพราะของอร่อยก็กิน
ท่านอาจารย์ เวลานี้ก็มีพระสูตร มีข้อความว่า ทุกคนเหมือนไฟไหม้บนศีรษะ ตกใจขนาดไหน หรือยังเฉยๆ จะทำอย่างไรดี เวลานี้ไฟไหม้บนศีรษะ ลองคิดถึงสิว่า จะทำอย่างไร แต่ละคนจะทำอย่างไร
ผู้ฟัง รีบดับ
ท่านอาจารย์ รีบดับ เอาอะไรดับ
ผู้ฟัง น้ำ
ท่านอาจารย์ เอาน้ำจาก ไหนดับ
ผู้ฟัง ความเข้าใจธรรม
ท่านอาจารย์ เห็นไหม เราเพียงพูด แต่คล้ายๆ กับว่า เหมือนง่าย มีไฟไหม้บนศีรษะ ก็ดับ แต่จะเอาอะไรดับ เพราะไฟนั้นคือ อวิชชา แล้วก็ทิฏฐิ ความเห็นผิด เป็นไฟที่อยู่บนศีรษะทุกขณะที่เป็นอกุศล แล้วก็เหมือนอย่างนั้นจริงๆ แต่ไม่รู้สึกเลย แล้วก็ถ้าคนที่ได้ยินพระสูตรนี้ ก็ต้องขวนขวาย บอกแล้วใช่ไหมว่า มีไฟบนศีรษะ แต่ขวนขวายทำอะไร ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดใช่ไหม จะขวนขวายทำอะไร
ผู้ฟัง ขวนขวายที่จะรู้ รู้สภาพ
ท่านอาจารย์ บางคนก็จะไปบีบบังคับ ต้องไม่มีโลภะ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขวนขวายจริงๆ คือ
ผู้ฟัง ขวนขวายที่จะรู้จักมัน
ท่านอาจารย์ ต้องอบรมเจริญปัญญา เพราะไม่ใช่เรา ที่จะดับโลภะได้ ถึงรู้ว่าไฟไหม้บนศีรษะ แต่ก็ไม่ใช่เราที่จะไปดับไฟบนศีรษะ ต้องเป็นปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว อะไรจะไปดับได้ เพราะฉะนั้น ทุกคำเป็นคำจริง แต่ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งว่า แม้ว่าจะมีไฟไหม้บนศีรษะ แล้วทุกคนขวนขวาย แต่ไม่ใช่ให้ขวนขวายไปทำอย่างอื่น ไปบีบบังคับ ไปพยายามไม่ให้เป็นอย่างนั้น ไม่ให้อกุศลจิตเกิด แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น หนทางเดียว ทรงแสดงไว้แล้วว่าสติปัฏฐาน แล้วเราจะไปหาหนทางอื่นได้อย่างไร แล้วถ้าไม่มีปัญญา ใครจะดับได้ ไม่มีทางเลย พยายามไปทำอย่างอื่นที่จะ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเมื่อไร จะดับไฟบนศีรษะได้
ผู้ฟัง แต่ว่า ถ้าเกิดเรา จะไม่ขวนขวายหาวิธีการที่จะดับโลภะ หรือว่าเราจะไม่ฟังพระธรรม แต่ว่าเราก็ยังสนุกสนานเพลิดเพลิน กับการท่องเที่ยว กินของที่อร่อย ดูของที่สวยๆ งามๆ มันจะเป็นการเลี้ยงโลภะ ให้มันตัวโตขึ้น
ท่านอาจารย์ คนที่ไปดูหนัง รับประทานอาหารอร่อยๆ แล้วมีปัญญา กับคนที่ไปดูหนัง รับประทานอาหารอร่อยๆ แล้วก็ไม่มีปัญญา ๒ บุคคลนี้มีได้ไหม
ผู้ฟัง มีได้
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ หมายความว่าคนมีปัญญาแล้วจะไม่ไปรับประทานอาหารอร่อย สำคัญที่ปัญญา ไม่ใช่สำคัญที่อาหารอร่อย
ผู้ฟัง แต่อาจารย์เคยกล่าวว่า เราก็ไม่ควรจะกระทำการขวนขวายใน สิ่งที่เป็นการติดข้องในสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ท่านอาจารย์ ทำได้ไหม ทำได้ไหม พึงละความโกรธเสีย เวลานี้มีโลภะ ละเสีย บอกให้ละเสีย ละอย่างไร
ผู้ฟัง ละไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร แล้วจะทำอะไร
ผู้ฟัง ละแล้วมันก็เกิดอีกอยู่ดี
ท่านอาจารย์ แล้วจะทำอย่างไร
ผู้ฟัง ความเข้าใจให้มากขึ้น
ท่านอาจารย์ ก็หนทางเดียว แล้วเป็นหนทางที่จะรู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริง ตามการสะสม เพราะว่าแต่ละคน ไม่เหมือนกันเลย ขณะนี้สภาพธรรมถึงกาละที่จะเกิดจึงปรากฏ ถ้าไม่ถึงกาละที่เห็นขณะนี้จะเกิด เห็นขณะนี้ เกิดไม่ได้เลย ถึงกาละที่จะโกรธ อาจจะตั้งใจ ไว้ว่าจะไม่โกรธเลย แต่ถึงกาละที่โกรธจะเกิด ใครยับยั้งได้
ผู้ฟัง ไม่มีใครยับยั้งได้ เราจึง แต่ไม่ชอบชื่อเท่านั้น ใช่ไหม แต่ว่าเวลามันเกิดชอบมาก โดยไม่รู้สึกตัว
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจขึ้น ให้ถูกต้อง ว่าหนทาง มีหนทางเดียวจริงๆ แล้วไม่ใช่หนทางที่ทรมานตัว หรือว่าไม่รู้ว่าลักษณะของสภาพธรรม จะเป็นอย่างไร ตามการสะสม ทุกขณะเราไม่สามารถจะดลบันดาลให้สภาพธรรมใดเกิดได้เลยทั้งสิ้น เมื่อถึงกาลก็เกิด เป็นอย่างนี้แล้ว ไม่ให้ตายได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ให้ เกิดได้ไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้อีก
ท่านอาจารย์ ใช่
ผู้ฟัง แต่ให้รู้จักว่า มันเป็นของมันอย่างนี้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่
ผู้ฟัง ขณะที่คุณวรศักดิ์ถาม ถ้าดูผิวเผิน น่าอนุโมทนา คือลักษณะที่ว่าการทำ การฝืน อย่างเช่น ทางตานี้ ชอบรูปสวยๆ ชอบเสื้อสวยๆ ก็ฝืน คือ อคติในเสื้อสวยงาม นุ่งขาว ห่มขาว จะได้ไม่ไปติด หรือว่าชอบฟังเสียงเพราะๆ ก็ ไม่ต้องไปฟัง เครื่องเสียงอะไรทั้งหลาย ก็ไม่ต้องฟัง รสอร่อย ติดมากๆ ก็ ไม่ต้องไปปรุงไปแสวงหา กลิ่นหอมๆ ก็ไม่ต้องไป อย่างนี้ จะไม่เหมือนกับลักษณะของเนกขัมมะ ในการที่จะฝืนขัดเกลาอย่างนั้น หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ด้วยความเป็นเรา กับด้วยความรู้ถูกต้อง ต่างกันแล้ว ใช่ไหม ถ้าด้วยความเป็นเรา ทำไปเถอะ เท่าไรก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ถึงขีดสุด เช่น การทรมานตัว อย่างของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่หนทาง ทรงแสดงไว้เลย ว่านั่นไม่ใช่หนทาง
ผู้ฟัง ทีนี้ ไม่ถึงกับทรมานตัว แต่
ท่านอาจารย์ ผู้ที่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ ยังไม่สามารถจะดับกิเลสได้เลย ถ้าไม่ถึงระดับนั้น จะดับกิเลสได้อย่างไร
ผู้ฟัง หมายความว่าไม่ใช่หนทาง ใช่ไหม
วิทยากร. คุณประเชิญพูด จริงๆ แล้วพวกที่ได้ฌาน เขาติดยิ่งกว่านั้นอีก เขาข่มยิ่งกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้น มรรคเท่านั้นเองที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ การปิดตาไม่ดู อุดหูไม่ได้ยิน ไม่ฟังเสียง อะไรต่ออะไรทุกอย่าง ความจริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจะแสดงทุกอย่าง แต่ที่ว่าอย่างที่เขาว่า มันยังสู้ฌานไม่ได้เลย ฌาน ไปข่มไว้เลย ก็เหมือนหินทับหญ้าเท่านั้นเอง ได้เหตุ ได้ปัจจัยเมื่อไร ก็เกิดอีก มีมากมาย ปิดหูเสียบ้าง หลับ ตาอะไร ต่ออะไร แล้วก็ทำพระปิดทวารออกมา เป็นความเข้าใจผิดทั้งนั้นเลย นั่นไม่ใช่วิธีละกิเลส
ผู้ฟัง แต่ทีนี้ถ้าปล่อยตามกิเลส ก็ไม่ถูกอีก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เพราะคิดว่าเป็นเรา ปล่อย มีความเป็นเราอยู่ตลอด ไม่ว่าจะทำอะไร เป็นเราปล่อยบ้าง เราไม่ปล่อยบ้าง แต่ความจริงสภาพธรรมทั้งหมด ตามเหตุตามปัจจัย ทำไมมีปัจจัย ที่คนนี้จะคิดอย่างนี้ ใช่ไหม ทำไมมีปัจจัยที่อีกคนหนึ่ง จะคิดอีกอย่างหนึ่ง แม้แต่ความคิด ก็ไม่หมือนกัน ถ้าไม่ได้สะสมสมที่จะคิดอย่างนี้ ก็คิดอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าสะสมมาที่จะคิดอย่างนี้ ไม่ให้คิดอย่างนี้ ก็ไม่ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ให้ทราบว่า สภาพธรรมขณะนี้ เกิดแล้ว ใครทำอะไรได้ เกิดแล้วมีทางเดียว คือรู้ อบรมเจริญปัญญา เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ส่วนสภาพธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่ปรากฏ ไม่ถึงกาละ ใครทำอะไรได้ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ปัจจัย ต้องเมื่อสภาพธรรมนั้นเกิด แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นไม่เกิด แล้วจะไปรู้ปัจจัยอะไร
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 601
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 602
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 603
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 604
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 605
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 606
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 607
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 608
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 609
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 610
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 611
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 612
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 613
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 614
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 615
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 616
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 617
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 618
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 619
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 620
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 621
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 622
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 623
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 624
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 625
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 626
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 627
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 628
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 629
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 630
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 631
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 632
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 633
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 634
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 635
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 636
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 637
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 638
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 639
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 640
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 641
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 642
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 643
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 644
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 645
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 646
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 647
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 648
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 649
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 650
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 651
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 652
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 653
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 654
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 655
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 656
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 657
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 658
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 659
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 660