ปกิณณกธรรม ตอนที่ 635
ตอนที่ ๖๓๕
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ธรรมอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดประโยชน์ ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือประโยชน์ในปัจจุบัน ๑ ประโยชน์ในสัมปรายภพ ๑ อันนี้ไม่เป็นที่สงสัยแล้ว ใช่ไหม ธรรมอย่างหนึ่ง เป็นไฉนไหนคือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย เราเว้นกุศลธรรมอะไรบ้างหรือเปล่า เราประมาทในกุศลธรรมอะไรบ้างหรือเปล่า เพราะว่าบางคนอาจจะเพียงให้ทาน คิดว่าพอแล้ว ใช่ไหม การศึกษาธรรม การอบรมเจริญปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่ประมาท ก็ย่อมจะได้รับเพียงแค่ประโยชน์ ในปัจจุบันชาติ หรือว่าประโยชน์ในชาติต่อไป ก็อาจจะเป็นเพียงวัตถุที่เป็น สิ่งที่ดี อำนวยความสะดวกต่างๆ เท่านั้น แต่ขอให้คิดถึงพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่ ที่มีความสนใจธรรม ถอยกลับไปเป็นชาติก่อน เราคงจะได้ทำกุศลกรรมทั้งหลาย คือ ไม่เว้นการฟังธรรม ไม่เว้นการที่จะเห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมด้วย มิฉะนั้นเราก็คงไม่มานั่งอยู่ที่นี่ ที่จะเห็นประโยชน์ของการศึกษาธรรม ให้มีความเข้าใจจริงๆ ในธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏ ที่ทรงแสดงโดยละเอียด
นี่ก็คือประโยชน์ ถ้าเป็นชาติก่อนที่ถอยไป เราก็ได้รับประโยชน์ ของกุศลกรรมในชาติก่อน ที่เราทำแล้ว แต่ว่าผลของกุศล ในชาติก่อน ที่เป็นวัตถุต่างๆ ไม่ได้ติดตามมาถึงชาตินี้เลย ย้อนไปถึงชาติก่อน ทำกุศลแล้ว แล้วผลของกุศลก็ได้รับ แต่ว่ากุศลที่ได้รับ ก็ไม่สามารถที่จะติดตามมาถึงชาตินี้ด้วย แต่ว่าความไม่ประมาท ในกุศลธรรมทั้งหลาย คือในเรื่องของการศึกษาธรรม ในการอบรมเจริญปัญญา สามารถจะติดตามมาถึงชาตินี้ได้ ก็เป็นประโยชน์ สำหรับชาติหน้าของชาติก่อนซึ่งกำลังเป็นปัจจุบันในขณะนี้
ผู้ฟัง ตัวอย่างยังน้อย อยากจะขอให้ยกตัวอย่าง ที่มันเห็นชัดเจนมากกว่านี้
ท่านอาจารย์ ตัวอย่างของอะไร
ผู้ฟัง ของความไม่ประมาท
ท่านอาจารย์ ความไม่ประมาทในกุศล กุศลมีอะไรบ้าง คุณวิจิตร คงอยากจะทราบว่าบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีอะไรบ้าง หรือพอจะทราบแล้ว การไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลายก็ คือ ในบุญกิริยาทั้งหลาย สรุปก็ได้ ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งแต่ละคน ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า การที่ได้ฟังพระธรรมในชาติก่อนๆ รวมถึงในชาตินี้ จะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อไร แต่ปัญญา เป็นสภาพที่รู้ถูก เข้าใจถูก เห็นถูก ถ้าสามารถที่จะเข้าใจได้ ว่าธรรมที่ได้ยินได้ฟังทุกคำ ก็คือเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่ตัว ตั้งแต่ศีรษะ จรดเท้า จักขุปสาท โสตปสาท ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก จิตต่างๆ เหล่านี้ ก็กำลังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็พูดถึงสภาพธรรมที่มีจริง เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้เข้าใจถูกต้อง ในความเป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ซึ่งเป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย แม้แต่การที่เราเกิดมาแล้วเราเห็น เมื่อเวลาที่เราไม่ได้ฟังพระธรรม เราคิดไหมว่า มีจักขุปสาทอยู่ตรงกลางตา คิดไหม ก็รู้แต่ว่ามีตา ทุกคนก็มีตา แล้วก็สามารถที่จะเห็น แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่สามารถกระทบ กับสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปชนิดหนึ่ง ไม่ได้ทั่วไปในตัวเลย แต่จะต้องมีอยู่ตรงกลางตา นี่ก็ทรงแสดงไว้ ให้เราเริ่มเข้าใจว่าเป็นอนัตตา มิฉะนั้นเราก็มีตา แล้วเราก็เห็น แล้วตาก็เป็นของเรา ใช่ไหม เห็นก็เป็นเราเห็น เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีการที่จะรู้จักสภาพธรรม ตามความเป็นจริง แต่การที่ทรงแสดงพระธรรม หรือธรรมที่มีจริง ก็แสดงถึงสิ่งที่มีอยู่ ให้เข้าใจถูกต้อง ในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นๆ
ธรรมที่ทรงแสดง ก็มีถึง ๓ ระดับ ไม่ใช่ทรงแสดงแต่เพียงว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ให้เราเกิดเพียงความเข้าใจจากการไตร่ตรองการพิจารณา การเข้าใจ ถ้าเป็นอย่างนั้นเรียกว่า ไม่ใช่รู้จริง เพียงแต่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นบอก กล่าว เล่ามา แล้วก็เป็นความเข้าใจ ที่เกิดจากการฟัง แต่ว่าความรู้ของแต่ละคนที่ฟัง สามารถที่จะรู้จริงได้ สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็เมื่อได้ฟัง แล้วก็มีความเข้าใจ ว่าพระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม ที่มีจริงที่กำลังเกิดดับ แล้วก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ จนกระทั่งคลายความไม่รู้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า บางคนไม่เข้าใจ คิดว่าต้องไปทำอย่างหนึ่ง อย่างใด แล้วก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่น การเกิดดับ แต่ว่า ไม่ใช่ปัญญา เพราะเหตุว่าไปทำด้วยความเป็นเรา ไม่มีการรู้เลย ว่าลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ทำไมทรงแสดงเรื่องจิต ทุกประเภท เพื่อทรงให้รู้ว่า ไม่ว่าเป็นจิตขณะไหนก็ตามที่เกิด ก็คือเป็นสภาพธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เช่น ในขณะนี้ที่เห็น ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ถ้าไม่ฟังธรรม เราก็ไม่รู้ เราก็เห็นไปทุกวัน แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงก็คือสภาพธรรม ที่ทรงแสดงว่าเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สามารถที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ชั่วขณะที่ปรากฏเท่านั้นเอง แต่ขณะใดที่ไม่ปรากฏ จะไปเห็นก็ไม่ได้ หรือว่าจะให้มีจิตเห็นเกิดขึ้นก็ไม่ได้ นี่คือแสดงความจริงให้ผู้ฟัง ที่ฟังด้วยความเข้าใจ สามารถจะรู้จักธรรมที่มีจริงๆ แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมนั้น เพื่อที่จะได้ถึงกาละ ที่สติปัฏฐานจะเกิด
ซึ่งสติปัฏฐาน บางคนก็คิดว่าแสนไกล ทำไมถึงได้คิดว่าไกลถึงเพียงนั้น เพราะเหตุว่าสภาพธรรมกำลังมี ขณะใดที่ระลึก หมายความว่ารู้ลักษณะ กำลังมีลักษณะให้รู้ ขณะที่กำลังรู้ เพียงขณะนั้นที่รู้ ก็คือสติสัมปชัญญะ ที่มีลักษณะของสภาพธรรมกำลังเป็นอารมณ์ แต่ว่าสั้นมาก น้อยมากแล้วก็ไม่บ่อย เพราะฉะนั้น คนนั้นก็ เกือบจะไม่รู้ว่าขณะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้ ความต่างของขณะที่สติกำลังมีลักษณะของปรมัตถเป็นอารมณ์ กับขณะที่เพียงเห็น แล้วก็ไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของปรมัตถ หรือว่าเพียงแข็งก็ไม่ได้ระลึกลักษณะของปรมัตถ
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานอบรมได้ เจริญได้ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความรู้ที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะที่ต่างกัน ที่เป็นนามธรรม กับรูปธรรม จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่สภาพธรรมนั้น ปรากฏตามความเป็นจริง เช่น ในขณะที่ วันนี้ เราอาจจะเกิดความโกรธ คงจะมี น้อยหรือมากก็แล้วแต่ ลักษณะนั้นมีจริงๆ แล้วก็เป็นนามธรรม ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรมก็เป็นเรา แต่เมื่อฟัง แล้วก็รู้ว่าลักษณะที่มีเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ทั้งวันก็เข้าใจธรรมที่ทรงแสดงได้ว่ามีอยู่ที่ตัวเอง ทุกขณะไม่ว่าจะเป็น จิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป การฟังด้วยความเข้าใจธรรม ก็จะทำให้สามารถที่จะรู้ว่าธรรมจริงๆ คืออย่างไร คืออะไร ปรากฏเมื่อไร แล้วสติสัมปชัญญะ จะค่อยๆ รู้จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด
นี่ก็เป็นประโยชน์ชาตินี้ แล้วก็เป็นประโยชน์ชาติหน้า มิฉะนั้นแต่ละวัน เราก็หวังรอ เมื่อไรจะรู้แจ้งนิพพาน ในเมื่อประโยชน์ชาตินี้ก็ไม่มีเลยสติสัมปชัญญะ ก็ไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วประโยชน์ชาติหน้าจะมีได้อย่างไร แต่ถ้าประโยชน์ชาตินี้ กำลังฟังเข้าใจ สติสัมปชัญญะเกิดก็รู้ ธรรมดาๆ ไม่ต้องไปคิดว่าแปลก อัศจรรย์ หรือว่าไม่ถึง หรือไกลมากพิเศษ แต่เป็นธรรมดาปกติ ที่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แต่ปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มอย่างช้ามาก แล้วก็อย่างน้อยมาก เพราะเหตุว่าในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน เราไม่รู้มานานเท่าไร เราไม่รู้อะไร เราไม่รู้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน เราไม่รู้อะไร เราไม่รู้ได้ยินว่าไม่ใช่เรา เราไม่รู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน นั่นคือความไม่รู้ที่มี มานานแสนนาน
เพราะฉะนั้น ความรู้ รู้อะไร ก็รู้ในขณะที่กำลังเห็น เข้าใจถูกต้อง ว่ามี แต่เป็นสภาพธรรม ที่ไม่มีรูปร่าง ลักษณะ แต่สามารถจะเห็น ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งแม้ในขณะที่กำลังฟัง ค่อยๆ น้อมมาสู่ตน พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือประโยชน์ ในชาตินี้ แล้วก็จะเป็นประโยชน์ ในชาติหน้า เพราะว่าแต่ละคน กว่าจะถึงกาละที่สามารถ จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรม อย่างที่เมื่อกี้นี้ ใช่ไหม ฟังจบ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม สามารถรู้ได้จริงๆ แต่ต้องเป็นปัญญา ข้อสำคัญที่สุดคือต้องเป็นปัญญา
เพราะฉะนั้น แต่ละคนเมื่อฟังพระธรรม รู้จักตัวเองไหม ตามความเป็นจริง เริ่มรู้จัก อัธยาศัยทั้งหมด ที่มีปรากฏก่อนฟัง เป็นเรา แม้แต่ความสำคัญตน ความมานะก็เป็นเรา แต่เวลาที่ฟังด้วยดี ฟังแล้วเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น บางคนฟังนิดเดียว แต่ยังเป็นตัวเราต่อไปอีก ที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็คือว่า ขณะนั้นไม่ได้ฟังด้วยดี แต่ถ้าฟังด้วยดี คือทุกอย่างที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้มีจริงๆ แล้วก็เป็นสภาพธรรม ที่ ทรงแสดงโดยละเอียด อะไรเกิดขึ้น ปัญญาค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่เราเลย แต่ว่าเป็นสังขารขันธ์ ที่ปรุงแต่ง ที่จะทำให้ต่อไปอีกในแต่ละชาติ แต่ละคนจะเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรม ก็คือสิ่งที่จะติดตามต่อไปได้ ทำให้เราสามารถ ที่ว่าเมื่อได้ยิน ได้ฟัง ความเข้าใจของเราก็ไม่คลาดเคลื่อน ได้ฟังธรรมก็รู้ว่าเป็นธรรม ขณะที่กำลังปรากฏ นี้เป็นธรรม แล้วก็ได้ฟังต่อไป ก็มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม แม้ขณะนั้นไม่ได้ดับ ความที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท แต่เริ่มมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงเป็นปัญญาซึ่งเกิดจากการฟัง การพิจารณา การไตร่ตรอง แล้วก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น แต่ละภพ แต่ละชาติ ก็คืออย่างนี้
เพราะฉะนั้น ในชาติก่อน ฟังมาเท่าไร ผลก็คือปรากฏในชาตินี้ เรามีความรู้ ความเข้าใจเท่าไร แล้วการฟังในชาตินี้ เราก็รู้ เข้าใจขึ้นบ้างหรือเปล่า เข้าใจถูกต้องไหม ถ้าเข้าใจถูกต้องขึ้นก็สะสมไป ชาติหน้าก็สามารถที่จะเจริญต่อไปได้ นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่เป็น ภาวนาที่จะทำให้ รู้ ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่วิธีอื่น ถ้าจะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจ พระธรรม ว่าพระธรรมก็คือการประกาศ หรือการแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องราว แล้วก็ไม่มีการที่รู้ว่า แท้ที่จริงในขณะนี้ ก็เป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง แล้วถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่สามารถที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้
ผู้ฟัง จากเมื่อกี้อาจารย์พูดถึง ความมีสติ มีเพียงนิดเดียว เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ จะให้มีสติตลอดเวลา อย่างนั้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สติที่เพิ่งเริ่มเกิด คนที่กำลังจะเริ่มลงมือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด กับคนที่ชำนาญแล้ว ต่างกัน หรือเหมือนกัน
ผู้ฟัง ต่างกัน
ท่านอาจารย์ และจะชำนาญ ขึ้นได้อย่างไร
ผู้ฟัง ทำบ่อยๆ
ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ มีสิทธิที่จะขาดสติ บ้างไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาโดยละเอียด จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ คือขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เหล่านี้ ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีอนุสัยกิเลส และกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าดับหมดเป็นสมุจเฉท ไม่มีกิเลสเกิดเลย
ผู้ฟัง ขณะที่ตาเห็น หูได้ยิน ก็ไม่ใช่ช่วงที่มีสติ อย่างนั้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิต ๑๐ ดวง พวกอเหตุกจิต แล้วก็ อโสภณจิต ทั้งหมด คือทั้ง ๓๐ ดวงไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับพระอรหันต์ ไม่มีอกุศลจิต แต่มีจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น จิตเห็น จิตได้ยินพวกนี้ ถ้าพูดเฉพาะจิต ๑๐ ดวงนี้ก็ มีเจตสิก ๗ ดวงเกิดร่วมด้วย ซึ่งไม่มี สติเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อเช้าได้ฟังวิทยุ ของท่านอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านพูดว่า ถ้าไม่รู้สภาพธรรม ก็ไม่รู้จะระลึกรู้อะไร สภาพธรรมนั้น ได้แก่ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ นิวรณ์ ๕ แล้วอะไรอีกอันก็ไม่ทราบ อริยมรรคหรืออะไรอย่างนี้ ขอความเข้าใจในส่วนนี้ว่า ถ้าไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถระลึกรู้ ได้เลย หรือว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ บางคนก็พูดเรื่องอริยสัจ ๔ เมื่อกี้นี้ก็พูดถึง ใช่ไหม ขันธ์พูดด้วยหรือเปล่า เมื่อกี้นี้ อายตนะ ก็พูดด้วย ใช่ไหม คืออะไร ก่อนอื่นต้องรู้ว่าคืออะไร ถ้าไม่รู้ว่าคืออะไรก็เหมือนคนตาบอด ให้สติระลึกอะไร ชื่อขันธ์ หรือว่าชื่ออายตนะ หรือว่าชื่ออริยสัจ ไม่ใช่ชื่อ แต่ต้องเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น
การศึกษาธรรมต้องเข้าใจ เหมือนกับการศึกษาอย่างอื่น ที่ต้องตั้งต้น ตั้งแต่ต้น ว่าธรรมคืออะไรก่อน ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ซึ่งมีลักษณะต่างกัน ๒ อย่าง ไม่ว่าจะในโลกนี้ หรือโลกไหน ในจักรวาลทั้งหมด ก็จะมีสภาพธรรม ที่มีลักษณะต่างกัน ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรม ที่มีจริง แต่ว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น อย่างแข็ง แข็ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ กลิ่น กลิ่นก็ไม่รู้อะไร รสก็ไม่รู้อะไร เสียงก็ไม่รู้อะไร แต่เสียงปรากฏลักษณะของเสียงได้ เพราะมีสภาพธรรม หรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น เช่น ในขณะนี้ เสียงปรากฏกับจิต ที่ได้ยินเสียง ถ้าไม่มีจิต เสียงแม้ว่ามี ก็ไม่มีใครไปรู้ลักษณะของเสียง เสียงมองไม่เห็นก็จริง แต่ก็ยังมีสภาพหรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียง ลองคิดถึง เสียงไม่มีรูปร่างเลย เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ว่าถ้าไม่มีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ เสียงไม่ปรากฏ เสียงจะปรากฏไม่ได้ หรือสีสันวัณณะขณะนี้ คนที่ตาบอด ไม่สามารถที่จะเห็นเลย
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ต้องปรากฏกับสภาพที่สามารถเห็น สิ่งนี้ได้ สภาพนั้นคือจิต เป็นธาตุ รู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีรูปใดๆ เจือปนในธาตุ คิดถึง ธาตุที่ว่างเปล่าจากรูป แต่สามารถที่จะรู้ เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการเห็น ในการได้ยินในการได้กลิ่น ในการลิ้มรส ในการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในการคิดนึก จิต เป็นสภาพที่รู้ได้ทุกอย่าง แม้จนกระทั่งนิพพานซึ่งไม่ใช่สี เสียงกลิ่น รส หรือสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย
ขณะนี้ต้องทราบ ต้องรู้จักธรรม แล้วสติสัมปชัญญะ จึงสามารถระลึก ลักษณะที่ต่างกันของธรรมได้ เพราะว่าธรรมหลากหลายมาก แม้ว่าเป็น ๒ อย่างโดยประเภทใหญ่ คือ เป็นนามธรรม กับ รูปธรรม ก็จริง แต่รูปธรรมก็มีหลากหลาย นามธรรมก็มีหลากหลาย
แล้วขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่เราจะระลึก หรือเราจะรู้ ถ้าขณะนั้นก็ไม่เข้าใจคำว่าธรรมอีก เพราะว่าการที่จะเข้าใจธรรมโดยถ่องแท้ โดยประจักษ์แจ้ง โดยทั่วถ้วน ต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการฟัง ไม่ใช่เรา แม้ในขณะนี้ ขณะใดที่เข้าใจ มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังทำหน้าที่เข้าใจถูก ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เวลาที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ จะให้เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจก็ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ความไม่เข้าใจก็มี ความไม่รู้ก็มี ก็มีสภาพธรรม หลากหลายอีกเหมือนกัน ซึ่งก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สภาพธรรมใดเป็นนามธรรมสภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม ต้องมีความเข้าใจในธรรมมาก จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้มีการระลึกเกิดขึ้น คือ สติสัมปชัญญะ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จากการได้ฟัง แล้วถึงจะระลึกถูกต้อง แล้วถึงจะเริ่มเข้าใจถูกต้อง ตรงจริงตามที่ได้ฟังทุกอย่าง
ผู้ฟัง ขออนุญาตเรียนถามว่าทั้ง ๔ อย่าง ขันธ์ ๕ อายตนะ นิวรณ์ หรืออริยมรรค ไม่แน่ใจว่า จำได้ถูกต้องแต่ว่า ทั้งหมดจะเกิดพร้อมกันไหม เกิดร่วมกันหมด
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ชื่อมาหมดเลย ใช่ไหม ขันธ์ คืออะไร ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้ว่าเกิดพร้อมกันหรือเปล่า ใช่ไหม ก็เป็นคำถามที่ยังไม่ได้ตั้งต้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้คำว่าขันธ์ ก็ต้องรู้จริงๆ ว่าขันธ์คืออะไร
ผู้ฟัง คือรูป
ส.ทำไมว่าขันธ์เป็นรูป ขันธ์มีเท่าไร นี่คือเรามีความไม่รู้แล้วเราก็จะข้าม สิ่งที่เราไม่รู้ไปหาอริยสัจ หรือจะไปให้สติปัฏฐานเกิด หรือจะไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ทำอย่างไร ถึงจะทราบว่า ต้องเรียนพระอภิธรรม
ท่านอาจารย์ ฟังตั้งแต่ต้น พระอภิธรรมคืออะไรอีก คือทุกอย่างต้องเป็นปัญญาของเราเอง เวลานี้เหมือนกับว่าคนอื่น มีปัญญา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ทรงแสดงพระธรรม ให้ใครรู้ ให้ผู้ฟังเกิดปัญญา ของตัวเอง แต่ถ้าผู้ฟังไม่เกิดปัญญาของตัวเอง เสียเวลา ไม่มีประโยชน์ ฟังอย่างไรไม่เกิดปัญญา แล้วฟังทำไม ต้องไม่ใช่ธรรมที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดง เพราะว่าถ้าประกาศหรือแสดง สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่มีจริง สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ โดย ที่ว่าเริ่มจากการที่รู้ว่า เรายังไม่รู้อะไร แม้แต่คำว่า ธรรมจริงๆ คือทุกอย่างที่มีจริง ต้องขอประทานโทษ ถ้าจะขอเรียนถามบางอย่าง กลิ่น เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เป็น เพราะอะไร
ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้
ท่านอาจารย์ กลิ่น กลิ่น
ถ. เป็นรูป
ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะอะไรถึงได้เป็นธรรม ทำไมกลิ่นเป็นธรรมเห็นไหม ถ้าสมมติว่าเราเพียงฟังมาว่า กลิ่นเป็นธรรม แต่เรายังไม่รู้เลยว่า ทำไมเป็น เราก็ไม่ใช่ความเข้าใจของเราอีก เพราะว่าพอเราถูกถาม เราตอบไม่ได้ หมายความว่าเรายังไม่มีความเข้าใจจริงๆ ในคำที่ได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าเป็นความเข้าใจจริง คำที่เราได้ยินได้ฟัง เราสามารถที่จะตอบได้ เพราะเหตุว่ากลิ่นมีจริงๆ แน่นอนสำหรับผู้ที่มีฆานปสาท คือจมูก จะมีการรู้กลิ่น ทั้งๆ ที่กลิ่นมองไม่เห็นเลย แต่ว่าสภาพรู้หรือธาตุรู้ก็ยังสามารถได้กลิ่น นั้น นี่คือความน่าอัศจรรย์ ของธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่เป็นสภาพที่สามารถรู้ เป็นใหญ่เป็นประธาน รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ต้องอาศัยทาง เช่นถ้าไม่มีตา จิตรู้จะเกิดขึ้นเห็น ในขณะนี้ไมได้เลย ถ้าไม่มีหู โสตปสาท จิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง ไม่ได้เลย ถ้าเกิดคัดจมูก ไม่มีปัจจัยพอที่จะให้จิตได้กลิ่นเกิดขึ้น ได้กลิ่น จิตก็ไม่ได้กลิ่น พวกนี้ก็ต้องอาศัยทางที่จะทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่าง เกิดขึ้น นี่ส่องถึงความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย ไม่เว้นเลย ธรรมที่มีจริงทุกอย่างไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครเป็นเจ้าของกลิ่น ไม่มีใครเป็นเจ้าของรส เพราะว่ารสปรากฏเมื่อกระทบลิ้นแล้วดับ ใครจะไปเป็นเจ้าของ หรือจะไปทันเป็นเจ้าของ เพราะว่าจิตเพียงเกิดขึ้นลิ้มรส รสนั้นก็ดับ จิตก็ดับ เพราะฉะนั้น นี้คือการที่จะเริ่มเข้าใจพระธรรม ว่าพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เรื่องของสิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครสามารถที่จะปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย จึงเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะได้ แม้พระผู้มีพระภาค ก็ตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น แต่ไม่ได้เปลี่ยน หรือไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสภาพธรรมนั้นได้ แต่ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นจริงอย่างไร ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นโดยละเอียด จึงเป็นอภิธรรม
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 601
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 602
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 603
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 604
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 605
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 606
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 607
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 608
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 609
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 610
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 611
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 612
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 613
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 614
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 615
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 616
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 617
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 618
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 619
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 620
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 621
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 622
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 623
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 624
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 625
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 626
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 627
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 628
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 629
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 630
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 631
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 632
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 633
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 634
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 635
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 636
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 637
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 638
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 639
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 640
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 641
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 642
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 643
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 644
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 645
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 646
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 647
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 648
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 649
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 650
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 651
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 652
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 653
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 654
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 655
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 656
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 657
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 658
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 659
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 660