ปกิณณกธรรม ตอนที่ 656


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๕๖

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ นี่คือข้อความ ต่อไปที่ว่า ก็ความต่างกันแห่งกาม เป็นไฉน คือกามในรูปเป็นอย่างหนึ่ง กามในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง กามในกลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง กามในรสเป็นอย่างหนึ่ง กามในโผฏฐัพพะ เป็นอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่าความต่างแห่งกาม ไม่ทราบมีข้อสงสัยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ถาม ก็ระลึกรู้ถึงโทสะขึ้นมา ว่าในขณะนั้นหนูไม่ได้ติดในกามแล้ว หนูอยากจะตอบให้ถูกแต่ ก็ไม่ใช่กาม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่มีความรู้สึกไม่สบายใจ จะเป็นโลภะไม่ได้ แต่นี่แสดงถึงการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว แล้วก็ตอบว่าไม่มี ได้ไหม ลองคิดดู อยากจะตอบให้ถูก มีโลภะบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วก็สลับกับความรู้สึก ยุกยิก ชักจะไม่ค่อยสบายใจ จะถูกหรือเปล่า หรือจะตอบอย่างไร นี่ก็เป็นความจริงทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้ คือสภาพธรรม เป็นแต่ละลักษณะ เราสามารถที่จะรู้ในลักษณะนั้น แต่ว่ายังไม่รู้ว่าเป็นธรรมเท่านั้นเอง เข้าใจว่าเป็นเรา

    วิทยการ. อย่าลืม พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า กำจัด อภิชฌา และโทมนัส

    ผู้ฟัง อภิชฌาคืออะไร

    วิทยการ. อภิชฌาก็นี่ไง ความติดใจพอใจ รูป รส กลิ่น เสียง แล้วก็อภิชฌา โทมนัส แล้วแต่เมื่อกี้คุณแสงจันทร์ บอกว่า เกิดหงุดหงิดตรงนั้น ถ้ารู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง หงุดหงิด เป็นนามธรรม มันก็ กำจัดโทมนัสด้วย แล้วแต่ ธรรมใดปรากฏ อย่าเจาะจง

    ผู้ฟัง หนูอยากตอบถูก เงียบๆ ในใจ แต่ว่า ก็ไม่ใช่ว่ารูป ไม่ใช่รส ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่สัมผัส แต่ว่าเป็น

    วิทยการ. หงุดหงิดๆ นั้นแหละ ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ถ้ารู้ตรงตามสภาวธรรม ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่คุณแสงจันทร์ กำลังหงุดหงิด มันก็เป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง หนู ติดใจยินดีในการที่จะเป็น ตัวเรานี้ ตอบถูก แต่ไม่ใช่เป็นรูปารมณ์ ไม่ใช่เป็นรสารมรณ์ ไม่ใช่เป็นอย่างนี้ หนู

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะตอบว่าไม่มีกาม ไม่ได้ มีกามคือโลภะ ติดข้องในเราที่ต้องการจะตอบให้ถูก แต่ว่าสภาพธรรม ก็เกิดดับสลับกันเร็วมาก แล้วอะไร ที่จะรู้ ระหว่างโลภะ กับโทสะ

    ผู้ฟัง ก็ปัญญาที่รู้

    ท่านอาจารย์ คุณแสงจันทร์บอกว่าไม่มีกาม แปลว่า กามรู้ยาก แต่โทสะรู้ได้ เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นต่างจากปกติที่เคยติดข้อง โดยไม่รู้ตัว

    ผู้ฟัง ผมดูพระสูตรอ่านพระสูตร ก็พอจะเข้าใจได้ พอจะรู้เรื่องแต่ ยังเข้าไม่ถึงสภาวะ ที่เข้าไม่ถึงสภาวะ เพราะเป็นเรา ช่วยแนะนำว่าสติจะระลึกรู้ตรง วิเสสลักษณะ หรือลักษณะธรรมดาอย่างนี้ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะต้องเป็นขณะนี้ เพราะว่าไม่ใช่ว่าเราฟังตอนนี้แล้ว แล้วเราจะไปอบรมตอนอื่น แต่ขณะที่กำลังมีสภาพธรรม ปรากฏ ที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ก็เพราะเหตุว่า มีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งต่างกัน สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางหู ลักษณะก็ผิดกัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมดซึ่งการที่สติเกิดระลึก ก็เพื่อที่จะมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง กำลังปรากฏ ที่สติจะไประลึกรู้ ต้องระลึกรู้ในวิเสสลักษณะ หรือ

    ท่านอาจารย์ ก็ลักษณะเฉพาะอย่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่เหมือนเสียงที่ปรากฏทางหู นั่นคือลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งต่างกัน

    ผู้ฟัง และที่จะไปลดละ สักกายทิฏฐิ ต้องอยู่ที่สามัญลักษณะ

    ท่านอาจารย์ มิได้ ต้องเป็นความรู้ที่เข้าใจถูกเพิ่มขึ้นว่าไม่ใช่เรา โดยการรู้ลักษณะนั้นยิ่งขึ้น จนกว่าจะดับความเห็นผิดได้

    ผู้ฟัง สติที่จะไประลึกรู้ ไม่ใช่เรา ต้องไประลึกรู้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม พอเข้าใจทั่วหมดก็ไม่มีเรา ที่จะไม่มีเราก็ คือค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะทั่วทั้งหมด ตามปกติด้วย

    ผู้ฟัง จะไประลึกรู้ อยู่ที่ วิสยรูป หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งใดที่ปรากฏแล้วไม่รู้ ก็เริ่มค่อยๆ รู้สิ่งนั้นตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ที่จะลดตัวตนนี้

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นถูกขึ้น ก็ลดความเห็นผิดลง

    ผู้ฟัง อันนี้ไม่ถึงขั้นสติปัฏฐานสูตร เป็นลดละ ขั้นศีล ขั้นทาน อะไรอย่างนี้ มันจะค่อยๆ ช่วยได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าขณะนั้นมีปัญญา ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง กิเลส บางอย่างหรือบุญหรือกุศล หรือ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นบุญถึงไหน ระดับไหน ถึงอรูปฌานกุศลก็เป็นมิจฉาปฏิปทา

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังเชื่อได้ ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ นี่ ก็คิดถึงเรื่องตัวเรา จะช่วย แต่ต้องละความเป็นเรา ขณะนี้สภาพธรรมไม่ใช่เรา ไม่ว่ากุศล หรืออกุศล ก็เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แต่ไปเข้าใจว่าเราทำ แต่ความจริงถ้ากุศล และอกุศลนั้นไม่เกิด ก็จะไม่มีเราเลย ไม่ใช่เราทำกุศล หรือเราทำอกุศล ตามความเป็นจริงก็คือว่า แม้กุศลก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น อบรมความเห็นถูก ถ้าเราไม่อบรมความเห็นถูก เมื่อไรจะเห็นถูก จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งต้น ที่จะเข้าใจให้ถูก

    ผู้ฟัง นั่นคือถูกทางด้านปฏิบัติ หรือด้านอะไรนี่ เราเจอบุญ เราเจออะไรเราก็ทำ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือกกุศลจิตเกิด

    ผู้ฟัง กุศลจิตเกิด แต่

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ จึงเป็นเราทำ ถึงจะรู้หรือไม่รู้ก็มีกุศล และอกุศลเกิด เพราะเหตุปัจจัยอยู่แล้ว ก่อนที่จะได้ยินได้ฟังธรรม ก็มีทั้งกุศล และอกุศลใช่ไหม กุศล และอกุศลนั้นเกิดเพราะเหตุปัจจัย หลังจากที่ได้ฟังแล้วก็ให้เข้าใจให้ถูก ให้ตรงตามความเป็นจริง ว่าไม่ว่าอกุศลก็เป็นจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อกุศลก็จริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพื่อที่จะได้ก่อนฟังเป็นเรา แต่เมื่อฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจถูก ว่าทุกอย่างเกิดแล้วปรากฏ แต่ด้วยความไม่รู้จึงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น จะหมดความเป็นเราได้ ก็ต่อเมื่อมีความรู้จริง เห็นจริงในลักษณะของสภาพนั้นว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง กุศลทางกายทางวาจาเราก็ทำไป

    ส.ก่อนฟัง ก็มีกุศลทางกาย ทางวาจา ไม่ใช่ไม่มี แต่ขณะนั้นไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรมแล้ว ก็มีกุศล อกุศลอย่างเดิมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่มีความรู้มีความเห็นถูกว่า เป็นธรรม เพิ่มความเห็นถูก เราเคยคิด ใช่ไหม ว่าเราทำแต่เวลาที่เราศึกษาแล้วเรารู้ ว่ามีเหตุปัจจัยของกุศล กุศลก็เกิด

    ผู้ฟัง ศึกษาแล้วก็ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จากการที่ว่าเป็นเราทำก็คือ เมื่อมีเหตุปัจจัยให้กุศลจิตเกิด กุศลจิตก็เกิด เพิ่มความรู้อันนี้ขึ้น นี่คือการอบรม ไม่อย่างนั้นจะไม่มีวันรู้เลยว่า ไม่ใช่เรา เช่น พูดถึงเรื่องกาม ก็ทราบว่าเป็นความติดข้อง ความเพลิดเพลิน ความยินดี ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าเป็นกิเลสกาม ที่เป็นไปใน ๕ ทวาร

    ผู้ฟัง ทิฏฐิคตวิปปยุตต กับสัมปยุตต ก็เกิดรวมถึงทิฏฐิคตที่เป็นวิปปยุตตด้วย อันนี้ก็หมายถึง กาม เหมือนกัน ใช่ไหม ในความหมายในที่นี้

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ คุณวรศักดิ์พอใจอะไร

    ผู้ฟัง พอใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากจะให้อยู่ในหนังสือ หรือคิดเรื่องชื่อ แต่อยากให้เข้าใจว่าขณะนี้ เรากำลังศึกษาธรรม แล้วธรรมทั้งหมด ที่กล่าวไว้มีอยู่ที่ตัวทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะไปติดอยู่ในย่อหน้านี้ หน้านั้นหรืออะไร หรือคำหนึ่งคำใด ถ้าทราบว่า กามคือความติดข้อง ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นความจริงไหม ค่อยๆ พิจารณาไป แล้วก็จะได้รู้ว่า เป็นคำตอบของคุณวรศักดิ์ ด้วยความเข้าใจของตัวเอง เพราะฉะนั้น ก็ถามว่าขณะนี้ คุณวรศักดิ์พอใจอะไร

    ผู้ฟัง พอใจในสิ่งที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี มีบางครั้ง บางครั้งที่หลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า คุณวรศักดิ์จะมีทิฏฐิคตสัมปยุตต ตลอดเสมอไปหรือ ทุกครั้งที่เห็นแล้วพอใจ เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ว่าขณะนี้ ที่กำลังพอใจ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือเปล่า นี้คือการศึกษาเข้าใจสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ถึงแม้ขณะที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็ถือว่าเป็นกาม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ถือ มีความพอใจ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพราะว่าพอใจบางครั้งมันก็ไม่ได้ออกมาเป็นโสมนัสเวทนา แค่เป็นอุเบกขา

    ส.ไม่จำเป็น ไม่ได้พูดถึงเวทนาอะไรเลย แต่ถามว่าขณะนี้ มีความพอใจ ในอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง พอใจในที่เป็นอยู่

    ท่านอาจารย์ มีอยู่ ๕ ทางใช่ไหม กำลังพูดถึงทาง ๑ ทางใด ใน ๕ ทาง ขณะนี้ มีความพอใจอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง พอใจในเสียง

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าสติระลึกได้ ก็ไม่มี แต่ว่าถ้าเกิดหลงลืมสติก็ คิดว่ามี

    ท่านอาจารย์ ถือว่ามี ใช่ไหม คือเป็นเรื่องถือตลอด แต่ไม่ใช่เรื่องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ว่า เวลาที่ทรงแสดงอะไร สิ่งนั้นกำลังเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า อันนี้ ที่เราสามารถจะเข้าใจสิ่งที่เราเรียนได้แม้แต่ว่า โลภะ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็ไม่ใช่ให้ใครมาบอกเรา หรือว่าเพียงแต่มีชื่อ แต่ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ที่เป็นอย่างนี้ เราสามารถจะเข้าใจได้ไหม ว่าความพอใจของเราใน สิ่งที่มีอย่างทางตาที่เห็น มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่แน่ใจ เป็นคำตอบอย่างนี้ ถ้าเราไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด หรือว่าถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าโลภะ ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่มี พอไม่ถามทั้งๆ ที่มีก็ ไม่รู้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ขณะใดที่มีความเข้าใจธรรม แม้กระทั่งในขั้นปริยัติ แค่นั้นเองก็คิดว่าคง ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจำกัดลงไปเลยที่จิต ถ้าเป็นเรื่องราว จิตต้องหลายประเภท แต่ถ้ากำจัดลงไปว่า ขณะใดที่ไม่ใช่กุศลจิต ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ถ้าไม่กล่าวถึงวิบากจิต กับกิริยาจิต

    ผู้ฟัง แม้ในขณะที่เข้าใจในขั้นปริยัติก็ตาม หรือ

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตาม คำตอบก็คือว่า ขณะใดที่เป็นกุศลจิต อันนี้จะผิดไม่ได้เลย ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กิริยาจิต ถ้าเรียนเรื่องจิตก็คือ เรื่องจิตแต่ละขณะ ไม่ใช่รวมกันทั้งหมด เป็นเรื่อง ทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด เป็นโลภเจตสิกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็มีโลภะเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่โลภเจตสิก ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้ว่าเป็นแต่ละเจตสิก

    ผู้ฟัง ขณะที่ยึดมั่น ในตัวเรา หรือว่ามีความสำคัญตน ก็ไม่ได้กล่าวถึงว่าเป็นกาม ในที่นี้

    ส.ขณะที่มีความยึดมั่นในความสำคัญตน ขณะนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีโลภะ แต่ต้องรู้ว่าโลภะ ติดข้อง ติดข้องในอะไร ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ติดข้องในอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์

    ท่านอาจารย์ ต้องมีโลภะใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีความสำคัญตน ก็ต้องมีความติดข้องในตน ถ้าไม่มีความติดข้องในตน ขณะนั้นก็ไม่สำคัญตน แต่ว่าก็เป็นธรรมที่ละเอียด ที่จะต้องศึกษาว่า แม้ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ยังมี มานะ แต่ว่ามานะนั้นไม่ใช่โลภเจตสิก คนละเจตสิก

    ผู้ฟัง ก็คงจะเป็นเฉพาะโลภเจตสิกอย่างเดียว ใช่ไหม ที่ท่านกล่าวไว้ในที่นี้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง อารมณ์ของโลภะมีมาก แต่ที่นี่ก็จำกัดเฉพาะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะช่วยกรุณา อธิบายความต่างระหว่าง วิบากแห่งกาม กับวิบากที่เกิดในปัญจทวาร ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องแล้วแต่ว่า ความหมายของแต่ละแห่ง คืออย่างไร ที่นี่บอกว่าวิบากแห่งกามเป็น ไฉน ถ้ามีกามเกิดแล้วก็จะมีผลของกามไหม กามเป็นเหตุ ทุกคนมีกาม แล้วก็เมื่อมีแล้ว จะมีผลไหม มีอะไรเกิดขึ้น จากความใคร่หรือความติด ความพอใจนั้นบ้างไหม หรือว่าจะไม่มีการกระทำใดๆ เลย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นในที่นี้ วิบากแห่งกามนี้ ท่านอาจารย์จะกล่าวว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เวลาที่มีกามเกิดขึ้นแล้ว จากข้อความที่ว่า วิบากแห่งกาม เป็นไฉน คือการที่บุคคลผู้ใคร่อยู่ ทุกคนที่ยังมีความติดข้องอยู่ ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้น จากความใคร่นั้นๆ ให้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาชี้ ลักษณะวิบากแห่งกาม

    ท่านอาจารย์ นี่ไง นี่แหละที่กำลังกล่าวถึง คือทุกครั้ง จะต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ว่ากามมีจริง ไม่ใช่เรา ถูกต้องไหม แล้วทุกวันนี้มีคุณประทีป กำลังทำอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตามความเป็นจริง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แล้วยังมี ความใคร่ หรือความพอใจที่เป็นกาม อยู่หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ยังมี

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีแล้ว ทำอะไร เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็ ขับรถบ้าง รับประทานอาหารบ้าง คุยบ้าง อะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ายังมีกามอยู่ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ผมอันนี้ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ยังมีความติดข้อง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำ ก็ทำด้วยความติดข้อง ซึ่งสิ่งที่ทำเป็นบุญก็มี เป็นบาปก็มี ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงผลแรกก็คือว่าเมื่อมีกามย่อมมีผล ไม่ใช่มีโดยไม่มีผล คือไม่ได้มีการกระทำอะไรเลยทั้งสิ้น แต่เมื่อมี กาม มีความใคร่ มีความพอใจ ก็มีผลคือ ทำให้กระทำสิ่งต่างๆ เพราะกาม ซึ่งเป็นบุญก็มี เป็นบาปก็มี

    ผู้ฟัง ถ้าจะกล่าวถึงวิบากจิต ตามที่เราได้ศึกษามาเบื้องต้น

    ท่านอาจารย์ อันนี้เราไม่ได้พูดถึงวิบากจิตเลย กำลังแสดงเหตุ กำลังแสดงเหตุ แล้วก็แสดงวิบาก ตามข้อความที่กล่าวถึง

    ผู้ฟัง ตามความหมายวิบาก ตัวนี้ไม่ใช่ผลของกรรมหรือ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ต้องเข้าใจ ว่าทรงแสดงให้เราเข้าใจอะไรบ้าง ในชีวิตประจำวัน ถ้าสมมติว่าคุยกันธรรมดา คุณประทีปก็มีความยินดี มีความใคร่มีความพอใจในชีวิต ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นคุณประทีป แล้วความใคร่ ความพอใจที่มีอยู่ เป็นเหตุให้ทำอะไรหรือเปล่า นั่นเรากล่าวได้ว่าเป็นผล ที่มาจากความใคร่ความพอใจนั้น ซึ่งผลคือการกระทำ เพราะมีความยินดีพอใจ ก็เป็นเหตุให้กระทำ สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นบุญก็มี เป็นบาปก็มี เมื่อเป็นบุญก็มีเป็นบาปก็มี ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ เกิดวิบากอีก

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงกามแล้ว ที่ท่านแสดง ในที่นี้จะหมายถึงกิเลสกาม ก็คือโลภเจตสิกนั่นเอง เพราะเป็นความใคร่ เพราะฉะนั้น อย่างเราปุถุชน เราเคยได้รับรูป รส กลิ่น เสียง ที่ดี ซึ่งก็เป็นผลของกรรมเป็นวิบาก แต่ก็เป็นเหตุปัจจัย ที่เราอยากจะได้อารมณ์นั้นอีก

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นเลยติดข้อง จึงมีการแสวงหา มีการกระทำที่เป็นบาปบ้างบุญบ้าง

    ผู้ฟัง ก็ดูแล้วก็ คล้ายๆ กับการทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมในชีวิตประจำวัน ก็จะให้ได้ผล ที่จะเกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว ที่เราติดข้อง ก็ต้องเป็นโลภะ สิ่งที่เราจะต้อง ทำ เพราะเราต้องการผล ของกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น อกุศลก็เป็นปัจจัยให้ทำกุศลได้

    ท่านอาจารย์ พอพูดถึงพระสูตรนี้ก็รู้สึก จะก้าวก่ายไปมากเลย ถึงปัจจัย ถึงอะไรต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงก็คือ เวลาที่เราอ่านแล้วเราไตร่ตรอง ก็ขอให้เราเข้าใจส่วนนั้น แล้วก็พิสูจน์กับความจริงว่า การที่เรายังมีความใคร่ ยังมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหตุให้เกิดอะไรบ้าง เพราะเมื่อมีอันนี้เป็นเหตุ คือความพอใจติดข้อง ผลที่จะตามมาก็คือ มีการกระทำต่างๆ ด้วยความติดข้องนั่นเอง ตอนนี้พูดเพียงแค่นี้ คงจะไม่ต้องโยงถึงปัจจัยอะไรต่างๆ แต่ก็ได้ ถ้าเราจะคิดให้ละเอียดต่อไปก็ได้ แต่ว่าความหมายตรงนี้ก็คือว่า แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังมีความพอใจติดข้องอยู่ ยังจะต้องมีการกระทำ ด้วยความพอใจอันนั้น

    ผู้ฟัง ติดข้องในบุญ ถ้าอยากฟังธรรม มันจะใช่ไหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเกิดความทุกข์เพราะไม่ได้ฟัง ต้องเป็นเพราะอยาก ใช่ไหม ถ้ามีฉันทะ มีความพอใจ แล้วก็มีความเข้าใจว่าอะไร จะเกิดก็เกิด จะได้ฟังก็ได้ฟัง จะไม่ได้ฟังก็ไม่ได้ฟัง ก็ไม่เดือดร้อน อยากจะเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน เพราะอย่างไรๆ ก็ไม่ได้ฟัง ถ้ามีเหตุที่จะไม่ได้ฟังก็ไม่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง ท่านใช้คำว่า ทราบชัดทั้งกาม ทั้งเหตุเกิดของกาม เป็นต้น ความหมายตรงนี้จะหมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ คงทราบชัดไม่ได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็ต้องหมายถึงสติสัมปชัญญะ หรือว่าการอบรมอริยมรรค ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าข้อความตอนต้น ที่มีว่า ความดับแห่งกาม เป็นไฉน คือความดับแห่งกาม ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้ก็กล่าวถึงอริยมรรค

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่า ไม่มีกามในที่นี้ก็คือไม่มีโลภเจตสิก ก็จะไม่มีปัจจัยที่จะให้ผัสสะกระทบอารมณ์แล้วเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น

    ส. เพราะฉะนั้น ถ้าอ่านเพียงเท่านี้บางคนก็พยายามไปดับผัสสะ เพราะข้อความมีว่าดับผัสสะ แต่จริงๆ ดับผัสสะ ถ้ายังไม่ได้ ดับโลภะก็ดับผัสสะไม่ได้แน่นอน ไม่ใช่ว่ายังมีโลภะแล้วไปดับผัสสะ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ดับผัสสะ ดับไม่ได้ ต้องมีการเห็น มีการได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ดับหมดได้ ไม่เกิดอีกเลย

    ผู้ฟัง อันนั้นต้องเป็นโลกุตตระ

    ท่านอาจารย์ เมื่อดับโลภะ ถึงอรหัตตมรรค

    ผู้ฟัง เวทนารวมถึง โสมนัส แล้วก็โทมนัส ด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ถ้ากล่าว ๓ ก็คือรวมโทมนัสด้วย โสมนัสด้วย ถ้ากล่าว ๕ก็แยก ทางกาย ทางใจ

    ผู้ฟัง แล้วก็ที่บอกว่ามันเป็นวิบาก แต่เมื่อกี้ฟัง คำว่าวิบาก ไม่ค่อยชัดเจน วิบาก คือ รวมจิต เจตสิก แล้วก็รูป ด้วยหรือเปล่า ที่เป็นปรมัตถธรรม ๔ วิบากในที่นี้

    ท่านอาจารย์ โดยมาก เราก็จะสงสัย เพราะว่าเวลาที่เราศึกษาธรรม วิบากได้แก่จิต เจตสิก ชาติ ๑ ใช่ไหม คือที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่พอถึงพระสูตรนี้ ทรงแสดงเหตุเกิดแล้วจำแนกไว้ด้วยว่า ๖ ประการ ๖ ประการ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจถึงเหตุสามารถที่จะแสดงโดยนัยต่างๆ เช่นทรงแสดงถึงเหตุจริงๆ ก็ได้แก่โลภะ จะมีเหตุอื่นอีกไหม

    ผู้ฟัง ก็คงโลภะ ทั้ง ๘ ดวง

    ท่านอาจารย์ โลภะเป็นสมุทัย ถ้าดับโลภะหมด อะไรก็ไม่สามารถที่จะมีได้ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่โลภะในกาม ตามความเป็นจริงที่เราต้องมีอัตภาพแล้ว มีอัตภาพอีก และอัตภาพ เฉพาะชาติหนึ่ง หรือว่าทุกขณะ ถ้ากล่าวถึงขันธ์ ๕ ที่เป็นอัตภาพ ทุกขณะหรือเฉพาะในชาติหนึ่ง

    ผู้ฟัง ทุกขณะ

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะ เพราะฉะนั้น ขณะที่แล้ว ก็หมดไปแล้ว ขณะที่แล้วมีโลภะไหม

    ผู้ฟัง มี ถ้าเกิดไม่เป็นโทสะ ก็เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้กำลังพูดถึงเรื่องเหตุ เพราะฉะนั้น จะไม่กล่าวถึงโทสะ แต่จะกล่าวถึงโลภะ เพราะว่าถ้าดับโลภะ คือ ดับเหตุทุกอย่างก็ดับหมด

    เพราะฉะนั้น เราก็มาพูดถึงเรื่องของโลภะ ที่เป็นไปในกาม ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะให้เห็นก่อน ว่ายังไม่ต้องกล่าวถึงโลภะในรูปาวจร อรูปวจร มีหรือเปล่า ไม่มี ก็ไม่ต้องพูดถึง แต่เวลานี้ที่ทุกคนยังมีอยู่ก็เพราะเหตุว่ายังไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความติดข้องของเราก็อยู่อย่างนี้ หรือว่าถึงแม้ว่าจะไปเป็นรูปพรหม ได้รูปฌาน แล้วก็เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล แต่ถ้ายังไม่ดับความยินดี ติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ต้องกับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ไม่ว่จะอยู่ที่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น ก็ยกเรื่องของกาม ซึ่งเป็นภพภูมิซึ่งจะต้องรู้ตามความเป็นจริง ต้องละความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เสียก่อนตามความเป็นจริง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567