ปกิณณกธรรม ตอนที่ 658
ตอนที่ ๖๕๘
สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สัญญาต่างๆ เหล่านี้ สัญญา ๑๐ ประการนั้น เป็นเรื่องของวิปัสสนาญาณ ถ้าไม่มีวิปัสสนาญาณ จะเห็นอนิจจสัญญา หรือว่าจะเห็นอนิจจลักษณะได้อย่างไร
ถ้าอนิจจลักษณะ ไม่ปรากฏ สัญญาไปจะไปจำลักษณะที่ยังไม่เคยปรากฏ ว่าแท้ที่จริงสภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้วดับ ก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้ นึกเท่าไรคิดเท่าไร ท่องเท่าไร จำเท่าไร ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม มิฉะนั้นพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นเพียงศาสนาของการตรึก การคิดของผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลม แต่ต้องไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คิด ไม่ใช่ประมวล ไม่ใช่ไตร่ตรอง แต่ว่าอบรมปัญญาที่ประจักษ์ การเกิดขี้น และดับไป อริยสัจ ๔ สภาพธรรม ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น การฟังต้องฟังละเอียด เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ มีใครปฏิเสธขั้นฟังบ้างไหม ถ้าไม่มี ต้องอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่พูดแต่ปากหรือพูดเปล่าๆ ว่าเกิดดับ ถ้าพูดอย่างนั้นใครก็พูดได้ ใช่ไหม แต่ว่าสภาพธรรมมีจริง แล้วปัญญาก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ได้ แต่ต้องเป็นการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ตั้งแต่ขั้นฟัง ไม่คลาดเคลื่อนไปเลย มิฉะนั้นก็หลงทาง
ผู้ฟัง ถ้าเรายังไม่เห็นลักษณะของความเกิดดับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร ที่มันเป็นอนิจจัง ไม่เห็น สภาวะลักษณะของสภาพธรรมอย่างนั้นจริงๆ เราก็ไปจำแต่ชื่อ จำแต่เรื่องราว จำแต่อะไรๆ แล้วมันก็ไม่เป็นอนิจจสัญญา มันก็เป็นแต่ชื่อเฉยๆ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วท่านพระอานนท์ท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านมีอนิจจสัญญาไหม แน่นอน ใช่ไหม ท่านต้องผ่าน เพราะฉะนั้น ท่านก็เข้าใจ
ผู้ฟัง อนัตตสัญญา
ท่านอาจารย์ เวลาที่ทรงแสดงธรรม ๑๐ ประการ ถ้าท่านพระอานนท์ไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล จะเข้าใจสภาพของสัญญา ๑๐ นี้ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่จะทรงแสดง แล้วให้ใครไปเพียงกล่าว เพียงเล่าให้คนอื่นฟัง ไม่ใช่วิสัย ต้องเป็นผู้ที่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมนั้นด้วย แล้วผู้ฟังก็ต้องเข้าใจด้วย
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์อธิบายในเรื่องของการที่จะมีสัญญา หรือจะประจักษ์ในเรื่องของความเป็นอนิจจังของสภาพธรรม ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ ในอรรถกถาบางที่ท่านอธิบายความในเรื่องของลัทธิภายนอก ย่อมปราศจากในอนิจจลักษณะ หรือว่าทุกขลักษณะได้ แต่อนัตตลักษณะรู้ไม่ได้ ในลัทธิภายนอกนี้ เขาจะรู้อย่างไร อนิจจลักษณะ หรือทุกขลักษณะ นี่จากอะไร หรือรู้อย่างไร
ท่านอาจารย์ มีข้อความอธิบายหรือเปล่าว่า ธรรมดาลักษณะของทุกข์ก็ปรากฏ ก็ต้องเป็นลักษณะด้วย ใช่ไหม ของแตกหรือป่วยไข้ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งไม่เที่ยง ชาวโลกพูดคำนี้หรือเปล่า ว่าไม่เที่ยง
ผู้ฟัง ก็มี
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิภายนอกก็ต้องพูดอย่างนี้ได้ แต่จะรู้ไหมว่า อะไรไม่เที่ยง
ผู้ฟัง ก็อาจจะเป็น แค่ว่า อย่าง ถ้วยชามไม่เที่ยง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่ลัทธิภายนอก จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม โดยความเป็นอนัตตา
ผู้ฟัง แต่เพียงเรื่องราว ใช่ไหม ไม่ได้ประจักษ์ในขันธ์ ๕ หรือว่าสภาพธรรม ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ แน่นอน
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เช่นนั้นเขาก็ไม่สามารถที่จะละกิเลสได้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าละได้ก็ไม่ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง เป็นขั้นพื้นๆ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ความคิด หรือว่าการที่จะไปท่อง หรือสาธยาย ในเรื่องของการไม่เที่ยงเหล่านี้ ก็เป็นขั้นพื้นฐาน เท่านั้นเอง ไม่ถึงกับที่จะประจักษ์
ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้องเข้าใจว่า ฟังสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ไม่มี ถ้าพูดถึงสิ่งที่ไม่มี แล้วจะให้เข้าใจอะไร ใช่ไหม ไม่มี สิ่งใดๆ ที่จะให้เข้าใจ แต่การที่ทรงแสดงธรรม คือขณะนี้มีธรรม เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงความจริง ของธรรมแต่ละอย่าง แล้วก็ก่อนนี้ เคยเป็นเราทั้งหมด ยึดถือจิต เจตสิก รูป ว่าเป็นเรา ก็ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร ทีนี้ถ้าเราเพียงแต่จำเป็นเรื่อง หรือจำเป็นชื่อ แต่ตัวจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้ก็กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน เช่น จิต และ เจตสิกที่เป็นสัพพจิตสาธารณเจตสิก ๗ ประเภท ที่เกิดพร้อมกับจิตเห็นในขณะนี้ ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ใครจะไปท่องอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ว่าตัวจริงๆ ก็คือสภาพธรรม นี้เกิดขึ้นทำกิจการงานนี้ๆ ทุกขณะ
เพราะฉะนั้น การที่จะไปพูดถึงชื่อ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่มีทางที่จะละความเป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าในขณะที่คิดก็ไม่รู้ว่าขณะนั้น ไม่ใช่ตัวตนเพราะอะไร ต้องเป็นจิต เจตสิก รูป เท่านั้น ต้องเป็นนามธรรม และ รูปธรรม เพียงแค่ฟัง ยังไม่ได้รู้จักตัวจริงซึ่งกำลังมี ต่อเมื่อไรที่สติสัมปชัญญะ คือ สติปัฏฐานเกิด มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นกำลังเป็นอารมณ์ ขณะนั้นจึงจะเป็น เริ่มเข้าใจตรงตามที่ได้ศึกษา มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร ก็ได้แต่ท่องอย่างเดียว เพราะฉะนั้น จะเทียบปัญญาของเราเอามานั่งท่องแล้วคิดว่าเราจะ เข้าใจได้เหมือนอย่างท่านพระอานนท์ หรือว่าเหมือนอย่างท่าน พระคิริมานนท์ ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจ และอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จึงจะเข้าใจพระธรรม ที่ทรงแสดงได้
ผู้ฟัง แต่ว่าการท่องหรือว่าคิดอยู่ในเรื่องเหล่านี้ ก็เหมือนจะเป็นประโยชน์ กว่าที่จะไปคิดเรื่องอื่น
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเห็น คิดอย่างไร
ผู้ฟัง คิดหลายๆ อย่าง
ท่านอาจารย์ เวลานี้ทุกคนเห็นแล้ว เพียงแค่ถามว่าคิดหรือเปล่า ยังไม่รู้เลย ไม่รู้อะไรทั้งหมด เริ่มเห็นกำลังของอวิชชา ไหมว่าสะสมมาหนาแน่นแค่ไหน ที่ไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมเลย ทุกอย่างเป็นไปตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง แต่ใครจะรู้อย่างนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่เป็นเพียง ไปจำเรื่องราวต่างๆ เช่น ในขณะที่เห็น จริงๆ แล้วจะท่องอะไร จะคิดอะไร ที่จะให้เป็นอนัตตา ที่จะให้เป็นอนิจจัง
ผู้ฟัง ไปคิดเรื่องอื่น เรื่องที่ฟังมาเรียนมา อย่างเช่น รูปไม่เที่ยง แต่ว่ารูปจริงๆ ที่ปรากฏอยู่ ไม่รู้
ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร วันนี้ทั้งวัน ถ้าเห็นแล้วก็คิดว่ารูปไม่เที่ยง จะเห็นอะไรไหม
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้อะไร
ผู้ฟัง รู้บัญญัติ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ ของการฟังพระธรรมแต่ละครั้ง คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูกของตัวเอง ที่จะค่อยๆ สะสมสืบต่อ ไปถึงชาติต่อๆ ไปด้วย ที่จะไม่หลงทาง เพราะฉะนั้น อนัตตสัญญา หรือความเข้าใจถูกว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าไปนั่งจำ นั่งคิด แต่ลักษณะจริงๆ ของธรรมแต่ละอย่างเป็นอนัตตา ทุกอย่างไม่สามารถที่จะกล่าวได้เลยว่าเป็นอัตตา เพราะว่ามีปัจจัยเกิด แล้วปรากฏ แต่ละลักษณะในวันหนึ่งๆ หลากหลายลักษณะมาก ทุกอย่างที่เป็นชีวิตประจำวัน ที่เข้าใจว่าเป็นเราทั้งหมด เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งสามารถจะปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่คิดที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ก็จะต้องมีการอบรมเจริญปัญญาด้วย จึงละคลายการที่เคยยึดถือ คิดว่าเป็นเรา กว่าจะทั่วหมดก็ลองคิดดู สภาพธรรมก็มีอย่างนี้ ทุกชาติ ชาตินี้ก็ปรากฏ แล้วก็ยังไม่รู้ไปตลอดชาติ ชาติหน้าก็ปรากฏแล้วก็ยังไม่รู้ไปตลอดชาติ แต่ว่าถ้าค่อยๆ อบรมความรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าชาติไหน ก็มีลักษณะของสภาพธรรมอย่างนี้แหละ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นการเข้าใจความหมายของอนัตตสัญญา ว่าไม่ใช่เพียงคิด แล้วจะเข้าใจว่าขณะนั้น เป็นการรู้ลักษณะของอนัตตลักษณะ หรือว่ามีอนัตตสัญญาก็ไม่ใช่ แต่ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมโดยความไม่ใช่ตัวตน แล้วจะลืมไหม ในเมื่อสัญญาได้เห็นได้ประจักษ์ แจ้งแล้วว่าลักษณะของอนัตตสัญญานั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เป็นธาตุอย่างไร เป็นสภาพรู้ที่ต่างกับสภาพของรูปซึ่งไม่ใช่สภาพรู้อย่างไร
ผู้ฟัง ต้องอบรม เจริญ ทีนี้คำพูดทั้งหมดที่อาจารย์พูดมานี่ ผมก็มีคำนำในพระไตรปิฎก ท่านพูดไว้ว่าอย่างนี้ พระพุทธวจนเหล่านี้ โดยสภาพแห่งธรรมแล้วเป็นสัจธรรมที่ทรงแสดงว่า เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง รู้ได้ยาก รู้ตาม เห็นตามได้ยาก สงบประณีต ไม่อาจจะรู้ได้ ด้วยการตรึก ตรึกไม่ได้ต้องอบรม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าตรึกไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกว่าขณะนั้น ไม่ใช่เราที่ตรึก
ผู้ฟัง ต้องรู้สภาพธรรม ที่ตรึกนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าฟังไม่ดี บางคนจะคิดว่า ห้ามไม่ให้คิด นั่นคือไม่ได้ฟังด้วยดีเลย เพราะว่ากล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถห้ามความคิดได้ แต่คิดก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องรู้ ว่าเป็นสภาพนามธรรมหรือรูปธรรม จึงจะละความเป็นตัวตน ในขณะที่คิดได้ จริงๆ แล้วเรื่องของภาษา เป็นเพียงคำที่จะแสดงให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม เรื่องที่จะสงสัยต้องมีมากมายเหลือเกินในพระไตรปิฎก ทั้งคำด้วย ทั้งความหมายด้วย แล้วหนทางที่จะหมดความสงสัย ระดับขั้นของเรา ปัญญาของเรา ควรจะเป็นอย่างไร หรือว่าควรจะติดตามความสงสัยไปตลอดชีวิต โดยที่ว่าไม่อบรมปัญญาของเราเอง ที่จะค่อยๆ คลายความสงสัย ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม
ผู้ฟัง หนูมีความสงสัยว่า พระโพธิสัตว์ที่อบรมพระบารมีอยู่ อย่างในชาดกจะมีว่า ท่านก่อนที่ไปพรหมโลก ก็ อภิญญา ๕ การอบรมสมาบัติอะไรด้วย อย่างนี้ก็ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะนั้นประจักษ์ความเป็นอนิจจัง ด้วยปัญญาที่ได้อบรมจากขั้นสติปัฏฐาน ไม่ใช่อบรมจากการฟัง แต่ต้องมีสติปัฏฐานที่อบรมจนกว่าจะถึงขั้นของ วิปัสสนาญาณ
ผู้ฟัง แต่ว่า ก็จะมีความเข้าใจเรื่อง ทุกขลักษณะ และอนิจจลักษณะ
ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถที่จะรู้เรื่องใคร ถูกต้องไหม แม้ว่าจะอ่าน แต่ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ ว่าสัญญาในขณะนี้จริงๆ แล้วเป็นอนิจจสัญญาหรือเปล่า ในขณะนี้ ที่ฟังแล้วฟังอีก เรื่องนามธรรม และรูปธรรม ไม่เที่ยงเป็นอนิจจสัญญา หรือยัง
ผู้ฟัง ยัง
ท่านอาจารย์ นี่ เราก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวของเราเอง ยังไม่ใช่อนิจจสัญญาเลย บอกว่าจิตเห็น กำลังเกิดดับ เป็นอนิจจสัญญาหรือยัง ยัง
เพราะฉะนั้น จะเป็นอนิจจสัญญาเมื่อไร ก็เมื่อประจักษ์การเกิดดับ เมื่อนั้นก็จะมีสัญญาที่ประจักษ์การเกิดดับ จึงเป็นอนิจจสัญญา
ผู้ฟัง เราจะกล่าวไปได้เลยไหมว่า อนิจจสัญญา ก็คือขณะที่เป็นพระโสดาบัน
ท่านอาจารย์ ก่อนเป็นพระโสดาบัน มีวิปัสสนาญาณหรือเปล่า ถ้าไม่ประจักษ์การเกิดดับ จะเป็นพระโสดาบันได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ บางคนก็สติปัฏฐานเกิดก็จะเป็นพระโสดาบัน เป็นไปไม่ได้ แค่สติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า อสุภะสัญญา นี้ จะเป็นอย่างคำที่ท่านกล่าวไว้ว่าของไม่สะอาด มีผม เป็นต้น หรือว่าที่เป็นเกี่ยวกับธาตุน้ำก็จะมี ดี เสลด หนอง เป็นนต้น ที่เราเห็นกันว่าไม่สะอาด หรือว่าจะเป็นลักษณะไหน ที่เป็นอสุภะสัญญา
ท่านอาจารย์ ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ถ้าเห็นเสมหะ แล้วจะมีเสมหะสัญญา คือว่ามีการเห็นว่าเป็นอย่างนั้น แต่ว่ารู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกเป็นโทสะ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่อสุภะสัญญาทั้งๆ ที่ว่าสิ่งนั้นไม่งามเลย ใครก็ต้องว่าไม่งาม แต่จิตในขณะที่เห็นในสิ่งที่ไม่งามนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศล ก็ไม่ตรงกับคำว่า อสุภะสัญญา ที่นี่ เพราะอุสภะสัญญานี่เกิดพร้อมกับปัญญา ต้องมีปัญญาที่เห็นว่าไม่งาม แม้ในสิ่งที่งาม หรือในสิ่งที่ไม่งามนี้ ก็เห็นตามความเป็นจริงว่าไม่งาม
ผู้ฟัง อสุภะสัญญานี้หมายถึง เป็นปัญญา ขั้นเล็กๆ น้อยๆ ได้ไหม อาทิอย่างเช่น เวลาเราเห็น คนโดนรถชนตายแล้วเราก็ คิดเรื่องความไม่งาม เรื่องอะไรไป
ท่านอาจารย์ โดยมากเราจะเอา พระไตรปิฎก หรือข้อความในพระไตรปิฎกมา แล้วพยายามคิด แต่ทำไมเราไม่เอาชีวิตจริงๆ ว่าพอเราเห็นอุบัติเหตุ แล้วมีคนที่แหลกเหลว หรืออะไรอยู่ที่นั้น แล้วก็เราคิดอย่างไร นี่ตามความเป็นจริง จะรู้ได้เลยว่า ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างไร ไม่ใช่เราต้องไปเอาตัวหนังสือมา แล้วพยายามไปแสวงหา แล้วก็พยายามไปคิดอย่างนั้น ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เป็นปัญญา ที่เกิดจากความเข้าใจ ความเข้าใจ ไม่ต้องมีอะไร แต่ว่าถึงอย่างไรๆ ก็มีสภาพธรรม ถึงจะไม่มีอสุภะ เหล่านี้ปรากฏ สภาพธรรมมีก็ปรากฏ แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมอย่างนี้ มี ขึ้นอยู่กับขณะนั้น จิตเกิดเป็นอะไร เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล แล้วถ้าเป็นอกุศล เป็นโทสะ ไม่ใช่เป็นปัญญา
ผู้ฟัง โดยทั่วไป ท่านก็แสดงว่าสภาพธรรมทั้งหลาย ทั้งหมดไม่งาม ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตาทั้งหมด แล้วเพราะเหตุใด เวลาท่านแสดง ถึงเกี่ยวกับอสุภะ ท่านจึงแสดงโดยเฉพาะแค่ ลักษณะอาการของธาตุดิน แล้วก็ธาตุน้ำเท่านั้น
ท่านอาจารย์ เพราะปรากฏความไม่งาม มีธาตุไฟ ที่ปรากฏความไม่งามบ้างไหม
ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน สังเกตในของที่ไหลออกจากทวารทั้ง ๙ ในชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า ไม่สะอาดแล้วก็ทั้งกลิ่น ทั้งสี เป็นต้น แต่ก็ยังเห็นว่า ร่างกายนี้ สะอาดหรือว่างาม ยังเห็นอย่างนั้นอยู่ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้
ท่านอาจารย์ ก็ยังมีกิเลส ถ้ามีปัญญาอย่างระดับที่ไม่เห็น ก็ไม่เห็น แต่ถ้า ปัญญาระดับนั้นยังไม่เกิด ก็ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ข้อสำคัญที่สุด ไม่ใช่ให้เปลี่ยนเรา จากความเป็นบุคคลที่เราสะสมมา ไปเป็นอีกบุคคลหนึ่ง โดยไม่มีปัญญา ไม่มีทางเลยที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเห็นตามความเป็นจริง แม้ว่าจะกล่าวไว้ใน มหาสติปัฏฐาน หรือว่าในอสุภะ ที่เป็นสมถภาวนาก็ตามแต่ แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้เรา ไปมีปัญญาระดับที่ อบรมแล้ว เพราะว่าของเราเองยังเป็นปัญญาเพียงขั้นฟัง แล้วก็ยังไม่ได้อบรมถึงระดับนั้น เพราะฉะนั้น จะไปเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ซึ่งทุกคนก็รู้ตามความเป็นจริงว่า วันนี้ตั้งแต่ตื่นมา หรือแม้เดี๋ยวนี้ ผมก็ปรากฏ มีใครเห็นผมเป็นอสุภะบ้าง ตามความเป็นจริง แม้ว่าทรงแสดงไว้
เพราะฉะนั้น การที่ทรงแสดงไว้ นี้ ต้องทราบว่าทรงแสดงตามความเป็นจริงสำหรับผู้รู้ จะว่าโดยนัยของสมถภาวนา หรือว่าโดยนัยของสติปัฏฐานก็ตามแต่ แต่ว่าตามธรรมดาปกติ เราเห็นผม เห็นขน เห็นเล็บ เห็นฟัน เห็นหนัง ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นอสุภะเลย ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า สำหรับผู้ที่ปัญญาไม่เกิด ขณะนั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ญาณสัมปยุตตที่เป็นกุศล จะเห็นอย่างนั้นไม่ได้
จริงๆ แล้วเป็นอะไร เวลาเห็นผม จิต เป็นอะไร เราเรียนเรื่องจิตมาแล้ว ใช่ไหม เป็นจิตอะไร โลภะ หรือโทสะ จะไม่พ้นไปเลย นี่คือความจริง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานหรือมหาสติปัฏฐานไม่ใช่ให้เลือก หรือไม่ใช่ให้ทำ หรือไม่ใช่คิดว่าเราจะต้องไปพิจารณาผมให้เห็น ว่าเป็นอสุภะ หรืออะไร อย่างที่มีกล่าวไว้ เพราะมหาสติปัฏฐาน รวมทุกอย่างที่มีจริง ไม่ว่าสิ่งใดจะมีจริงปรากฏ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นอารมณ์ของสมถะ หรือว่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นวิปัสสนา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญวิปัสสนา เพราะบางคนคิดว่าพอเป็นสติปัฏฐาน ก็เป็นวิปัสสนาญาณเลย อันนั้นไม่ใช่ เพียงแต่ว่าเป็นหนทางที่จะทำให้วิปัสสนา การรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น แล้วแต่จะเป็นความรู้สึกที่เริ่มจะรู้สึกว่าเป็นอสุภะเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ตามเหตุปัจจัยก็ได้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ถ้าขณะที่กำลังมีการกระทบผม หรือการเห็นผม หรือการได้กลิ่นผม ก็ตามแต่ แล้วก็ขณะนั้น สามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม คือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ที่สามารถจะปรากฏทางหนึ่งทางใด ขณะนั้นก็เป็นทางที่จะทำให้ปัญญา เห็นว่าไม่มีเรา มีแต่นามธรรมที่กำลังรู้ และสิ่งนั้นกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องเลือกเลย ว่าจะเป็นสมถะหรือว่าจะเป็นวิปัสสนา
ผู้ฟัง รู้จักว่าตัวเองเป็นคนที่มีราคะกล้า คือ ติดในของสวยๆ งามๆ มาก เพราะฉะนั้น ตามที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก สำหรับคนหนุ่มที่มาบวช ท่านก็ให้พิจารณาเรื่องของอสุภะ เป็นต้น ถ้าเกิดคิดว่า เรายังติดอย่างนี้มากๆ อาจจะทำให้กระทำอกุศลกรรมได้ ก็เลยพิจารณาในเรื่องของอาการ ๓๒ โดยความเป็นของไม่งาม พิจารณามากๆ จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล ในเรื่องของการอบรมปัญญา หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขอถามว่าจะให้ถึงไหน ปัญญาที่ว่านี้
ผู้ฟัง ต้องการให้ความติดในเรื่องของ รูปร่าง หรือว่าถึงเพศตรงข้าม ให้น้อยลง
ท่านอาจารย์ ให้ถึงปัญญาระดับไหน
ผู้ฟัง ถ้าสูงสุดคือได้ฌาน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ นั่นสิ จะให้ถึงอย่างนั้น หรืออย่างไร เห็นไหม ว่าเริ่มมีปัญหา เพราะว่าไม่ใช่เรื่องจริง
ผู้ฟัง ถ้าได้ขณะนั้น ก็ไม่ใช่ยุคสมัย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องยาก ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายเลย ฌานจิตนี้ อย่าคิดว่าง่ายๆ เลย เป็นเรื่องที่ต้องเป็นปัญญาที่ อบรมแล้วก็ในร้อยคนพันคนจะได้อุคหนิมิต ในร้อยคนพันคนจะได้ปฏิภาคนิมิต ในร้อยคนพันคนจะได้ถึงปฐมฌาน เพราะฉะนั้น จะเป็นความหวังของคนยุคนี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ทุกอย่างที่สะสมมา จะปรากฏแม้แต่สมาธิระดับต่างๆ ด้วย แต่ว่าการปรากฏของสมาธิระดับต่างๆ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นเรื่องละ อันนี้สำคัญที่สุด แต่ว่าการอบรมเจริญสมถภาวนา เป็นเรื่องละ หรือเปล่า หรือว่าเป็นเพียงแค่สงบระงับ ซึ่งการสงบระงับอย่างไรๆ ถึงแม้ว่าถึงอรูปฌานกุศล ขั้นสูงก็ดับกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้น ชีวิตที่สั้นๆ อย่างนี้ แล้วเราจะอบรมเจริญอย่างไร ถ้าเราคิดจะเลือก คล้ายๆ กับว่าเรารู้จริตอัธยาศัย แต่เราจะไปถึงไหน แต่เราเข้าใจสติปัฏฐานอย่างมั่นคงจริงๆ จะเป็นการที่จะมีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะระลึก แล้วก็จะเป็นการสะสมหนทางที่จะทำให้วันหนึ่ง สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ไม่ว่าจะโดยมีความสงบระดับของฌานจิต หรือไม่ใช่ ความสงบระดับนั้นก็ได้ เพราะว่าจุดประสงค์ควรจะไม่ใช่เพียงระงับ แต่ควรจะเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะว่าทั้ง ๒ อย่างนี้ ยากมาก ฌานก็ยาก สติปัฏฐานก็ไม่ใช่ง่ายที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วถ้าไม่เริ่มอบรมก็คิดแต่เพียงจะระงับ แล้วเมื่อไรที่จะเริ่มตั้งตนที่จะสะสม ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง แล้วถ้าเกิดควบคู่กันไป
ท่านอาจารย์ โดยใคร โดยเหตุปัจจัย หรือว่าโดยเรา
ผู้ฟัง ต้องโดยเราที่เลือก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้น
ผู้ฟัง แต่ในขณะเดียวกันก็ศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน ไปด้วย
ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจในสติปัฏฐานจริงๆ จะไม่เลือกเลย จะรู้เลย ทุกอย่าง ตามเหตุตามปัจจัย จริงๆ นี้คือผู้ที่มั่นคงในสติปัฏฐาน แล้วก็รู้ว่าขณะนี้สติปัฏฐานไม่เกิด เพราะอะไร เพราะปัจจัยไม่มีที่สติสัมปชัญญะ จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้นก็รู้ว่าเพราะอะไร เพราะมีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด ในขณะนั้นเท่านั้น
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 601
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 602
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 603
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 604
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 605
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 606
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 607
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 608
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 609
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 610
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 611
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 612
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 613
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 614
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 615
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 616
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 617
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 618
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 619
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 620
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 621
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 622
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 623
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 624
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 625
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 626
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 627
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 628
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 629
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 630
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 631
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 632
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 633
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 634
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 635
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 636
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 637
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 638
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 639
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 640
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 641
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 642
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 643
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 644
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 645
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 646
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 647
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 648
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 649
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 650
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 651
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 652
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 653
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 654
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 655
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 656
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 657
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 658
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 659
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 660