ปกิณณกธรรม ตอนที่ 607


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๗

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ คนอื่นสงสัยไหม ทำไมต้องปกปิดความดี ความดีของใคร

    ผู้ฟัง ของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ แต่ของคนอื่นไม่ต้องปกปิด ของคนอื่นเปิดเผยได้ ให้คนอื่นรู้ได้ แต่ว่าของตัวเองจำเป็นไหมที่จะต้องเปิดเผย แล้วก็เคยเปิดเผยความดีของตัวเองไหม ถ้าเปิดเผยแล้วตอนนี้ทราบแล้วใช่ไหม ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพื่ออะไร เพราะอะไร มีสิ่งที่ลึกกว่านั้นอีกที่เราจะต้องคิด ทำไมเปิดเผย แสดงแล้ว แสดงชัดเจนเลย พอเปิดเผยมาก็เลยรู้เลย ว่าขณะนั้นเพราะจิตอะไร แต่คนที่กำลังเปิดเผยความดีไม่รู้ จึงเปิดเผย แต่ว่าผู้ที่ฟังแล้วจะรู้เลยว่า เปิดเผยเพราะอะไร จะเปิดเผยโทษของใคร

    ผู้ฟัง โทษของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ โทษของตัวเอง แต่ไม่ใช่ของคนอื่น ใช่ไหม ถ้าของคนอื่นเพราะอะไร ต้องมีเหตุมีผล เพื่อประโยชน์ หรือไม่ใช่เพื่อประโยชน์ ถึงแม้ว่าเป็นผู้ที่ทนต่อทุกข์ เพราะไม่ เปิดเผยความดีของตนเอง ดูสภาพของจิต ซึ่งละเอียดขึ้น แม้อาจจะได้รับ คำนินทา หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ทนต่อทุกข์ ที่จะปกปิดความดีของตัวเอง แต่ว่าถ้าเป็นความไม่ดีแล้วเปิดเผยได้เลย เป็นผู้ที่กล้าที่จะเปิดเผย ในสิ่งที่ไม่ดีที่ตนเองได้กระทำแล้ว คือการขอโทษจริงๆ

    ผู้ฟัง เราลงโทษตัวเอง

    ท่านอาจารย์ เปิดเผยโทษ เพราะเรารู้ว่าเป็นโทษ คนอื่นเขาเห็นแน่ๆ คนอื่นเขาเห็นว่าเป็นโทษแต่ตัวเองเห็นหรือเปล่า ถ้าตัวเองยังไม่เห็น ก็ปกปิดไว้ แต่ถ้าตัวเองเห็นว่าเป็นโทษก็เปิดเผย นั่นเป็นโทษจริงๆ

    วิทยากร. เป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ

    วิทยากร. ไกลต่อกิเลส ปกปิดความดีของตน ถ้าหากว่าไม่ปกปิดมันใกล้กับความโอ้อวด เมื่อเราบอกว่าเราสำเร็จมรรคผลแล้วโอ้อวดแล้ว ถ้าเป็นภิกษุผิด ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ถ้าเป็นฆราวาสก็ เราไม่บรรลุบอกว่าบรรลุก็ เป็นโกหกแล้ว ขาดสัจจะแล้ว

    ถ้าเรากระทำได้ เช่น เรามีศีลก็ควรเฉยๆ แต่ว่าแนะนำบุคคลอื่นให้ตั้งอยู่ในศีลได้ แต่ตนเอง ความดีไม่ควรเปิดเผย เพราะฉะนั้น ความดีที่ท่านมีอยู่ ท่านก็ปกปิด ท่านไม่บอก เว้นแต่ความชั่ว เมื่อมี ก็ต้องแสดง อย่างเป็นภิกษุก็ต้องแสดงอาบัติ เป็นฆราวาสก็นึกในใจว่า อ๋อ สิ่งนี้เป็นของชั่วไม่ควรปกปิด โดยมากปกติคนเรา มักจะปกปิดสิ่งที่ชั่ว เปิดเผยในสิ่งที่ดี เป็นการโอ้อวด

    ผู้ฟัง มีท่านผู้ฟัง ท่านลงชื่อว่า นักศึกษาธรรมเรียน ถามปัญหามา ๓ ข้อ ข้อความมีว่า เรียนท่านอาจารย์สุจินต์ที่นับถือ ผมขอถามปัญหา ๓ ข้อ ดังนี้

    ๑. การศึกษาพระพุทธศาสนา อย่างไรจึงจะถูกต้อง

    ๒. การอ่านพระไตรปิฎก อย่างไรจึงจะถูกต้อง

    ๓. การศึกษาพระธรรมส่วนละเอียด ควรศึกษาอย่างไรจึงจะถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะต้องช่วยกันพิจารณาตามลำดับ เป็นข้อๆ ข้อที่ ๑

    ผู้ฟัง ข้อที่ ๑ การศึกษาพระพุทธศาสนา อย่างไรจึงจะถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือนจะไม่ยาก ใช่ไหม เพราะว่าเราชาวพุทธก็นับถือพุทธศาสนา แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ก่อนอื่นแม้แต่เพียงคำว่า พุทธศาสนา เราก็ต้องเข้าใจว่าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมเราไม่นับถือคำสอนอื่น เพราะเหตุว่าคำสอนอื่นไม่ใช่เกิดจากการตรัสรู้ความจริง ความจริงที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกๆ ขณะ ถ้าเราจะไปคิดเรื่องอื่นซึ่งไม่ปรากฏในขณะนี้ แล้วเราบอกว่าจริง ก็คือความคิด แต่ถ้าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้จริงๆ แล้วก็ผู้ที่สามารถที่จะอธิบายให้เราเข้าใจ ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่รู้จริง เพราะเหตุว่า ถ้าไม่รู้จริง ก็ไม่สามารถที่จะทรงชี้แจงเรื่องของสภาพธรรม ที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ หรือโลกนี้ ไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น ด้วยการบำเพ็ญพระบารมี จึงทำให้ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้เข้าใจความหมายของคำว่าพุทธศาสนา ก็ย่อมรู้ว่าจะหาคำสอนอย่างนี้ ที่อื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะโดยนักปราชญ์ นักจิตวิทยา หรือว่าโดยศาสดาใดก็ตาม ไม่ได้สอนให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อจะศึกษาพระพุทธศาสนา ก็ต้องทราบด้วยว่าพระพุทธศาสนา คืออะไร

    ถ้าใครสามารถที่จะทำให้เข้าใขสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ได้ ตามความเป็นจริง ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควรที่จะศึกษา พร้อมกันนั้นเราก็จะต้องรู้ตัวด้วย เราเป็นผู้ที่ไม่รู้ จึงศึกษา ถ้ารู้แล้วไม่ต้องศึกษาเลย แต่เพราะเหตุว่าไม่รู้จึงต้องศึกษา แล้วเมื่อศึกษาแล้วจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เราค่อยๆ เพิ่งมีโอกาสฟัง เป็นสิ่งที่ใหม่ และแปลก เพราะว่าไม่มีใครพูดถึงเรื่องสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ละเอียดขึ้นๆ

    การที่เราสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ก็จะทำให้รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าผู้อื่นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าไม่ได้สอนเรื่องนี้ ที่เราว่า เรารู้อย่างอื่นมาทั้งหมดไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ถ้าเราจะศึกษาวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อะไรก็ตามแต่ เคมี วิศวะ สถาปัตย์ หรืออะไรก็ตามแต่ ไม่ใช่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่มี จริงๆ ในขณะนี้ เป็นแต่เพียงศึกษาเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง เพราะเหตุว่าก่อนอื่นต้องมีสิ่งที่มีจริง ใครจะรู้หรือไม่รู้สิ่งนั้นก็มี เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อไม่รู้เลย ก็ไปศึกษาเรื่องราวของสิ่งที่มี โดยความทรงจำ ในความคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด เช่นเป็นเรา เป็นต้น

    การศึกษาพระพุทธศาสนาจะศึกษาอย่างไร ศึกษาโดยที่ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร มิฉะนั้นเราก็จะตอบไม่ได้เลย ว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร แต่ว่าเมื่อเราศึกษา แล้วเราก็จะรู้ได้ ว่าพระพุทธศาสนา ที่จะศึกษาอย่างไร จึงจะถูกต้อง ก็คือศึกษาด้วยความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย ว่าขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ นั้นคืออะไร คือศึกษาให้เกิดปัญญาของตัวเอง ที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ว่าต้องไปเชื่อใคร หรือว่าต้องไปตามใคร ใครพูดอะไรก็ไม่คิด ใครบอกอะไรก็เชื่อ แต่ว่าตามความเป็นจริงต้องพิจารณาทุกคำที่ได้ยิน เช่น ขณะนี้ ใครรู้เรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาบ้าง รู้แค่ไหน มีสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ยังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น เรื่องพระพุทธศาสนา จะต่างกับศาสนาอื่น คือสอนเรื่องสิ่งที่มีจริง แม้ว่าจะไม่ใช้คำเรียกสิ่งนั้น ด้วยชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ก็ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนสภาพธรรม ที่มีจริงได้ แค่นี้ เพียงฟังเท่านี้ เกิดปัญญาหรือยัง ถ้ายังไม่เกิดก็ต้องพิจารณาอีก

    พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เข้าใจอย่างอื่นเลย แต่ว่าสอนให้รู้จักสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงว่าสิ่งนั้นคืออะไร เช่น หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ อนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีใครอยากจะเรียนวิชชานี้บ้าง ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล จะไปทำอะไรได้ จะได้เงินทองจากความรู้อันนี้หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นความจริงสูงสุด ที่คนอื่นไม่สามารถที่จะสอนได้ว่า สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แค่นี้ไม่มีทางเข้าใจได้ ต้องฟังต่อไปอีกจนกว่าจะมีความมั่นใจ และก็มีความเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้มีอะไรกำลังปรากฏ สิ่งนั้นมีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วก็การเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนนำมาซึ่งความเห็นแก่ตัวทุกอย่าง เพราะเหตุว่ามีความเป็นตัวตน แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกว่าไม่มีตัวตน กุศลทั้งหลายย่อมเจริญขึ้น แทนที่จะคิดถึงตัวตนก็จะ รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล แล้วปัญญานั่นเองก็จะทำให้กุศลเจริญขึ้น เพราะว่าทุกคนไม่ชอบอกุศลเลย จะเรียกชื่อ หรือไม่เรียกชื่อก็ไม่ชอบ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ว่าห้ามไม่ให้สิ่งนั้นเกิดไม่ได้ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าจริงๆ ว่าการรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    ซึ่งหลายคนจะไม่สนใจเลย จะรู้ทำไม ไม่เห็นได้อะไร มีแต่เรื่องอยากจะได้ แต่ถ้ารู้ความจริงว่าเพื่อละความไม่รู้ ซึ่งมีมาก และความไม่รู้นี้ก็นำมาซึ่งความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และก็ความยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็จะนำทุกข์มาให้ ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ ชาติเดียว ฟังดูแล้ว ไม่ทราบว่าอยากจะศึกษาหรือเปล่า เพราะว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก

    ผู้ฟัง มีข้อความว่า ในกาลสมัยที่นอกกาลสมัยที่นอกกาลพระพุทธศาสนา อนิจจัง ทุกขัง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สามารถได้ยินได้ฟังได้ แต่ว่า อนัตตา จะได้ยินได้ฟังเฉพาะกาลสมัยที่มีพระพุทธศาสนาเท่านั้น ขออาจารย์ขยายความเพิ่มเติมด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความจริง เพราะเหตุใด เกิดมาแล้ว มีใครเท่าเก่าบ้าง ตั้งแต่เกิดก็มีการเปลี่ยนแปลงเติบโต พอเติบโตขึ้น มีใครไม่เปลี่ยนแปลงบ้าง ก็มีแก่ แล้วก็มีเจ็บ แล้วก็มีตาย ก็เห็นกันอยู่ เพราะฉะนั้น อนิจจัง อะไรๆ ที่จะเกิดทุกคนก็มี เรื่องราวของตัวเองหรือของญาติมิตรสหาย เพื่อนฝูง พบกันดีๆ วันรุ่งขึ้น ก็ต้องนอนโรงพยาบาล ลุกไม่ขึ้น อุบัติเหตุ หรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนก็พอที่จะเข้าใจได้ ว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่แน่นอน แล้วก็สิ่งที่เป็นทุกข์ก็มีอยู่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก ก็เป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่ทุกข์มีละเอียดมากกว่านั้นอีก ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้สังเกต เพราะฉะนั้น เข้าใจว่าเราเป็นทุกข์ เข้าใจว่าทุกอย่างไม่เที่ยง แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไร ที่เป็นอัตตา เป็นตัวตน หรือว่าเป็นของเราเลย ทุกอย่างเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยเท่านั้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ก็เกิดไม่ได้

    วิทยากร. การศึกษาอย่างไรจึงถูกต้อง อันนี้เป็นคำพูดที่เหมาะสม การศึกษาให้รู้ว่าคนไม่มี สัตว์ไม่มี จึงเป็นการที่ถูกต้อง โดยนัยของพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ท่านกล่าวว่า ผู้ใด มีปกติ จำแนก คือจำแนกธรรม เป็นส่วนๆ รูปส่วนหนึ่ง นามส่วนหนึ่ง เช่นกล่าว วิภัชชวาที มีปกติการจำแนก ว่ารูปเป็นอย่างนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นๆ นามก็เหมือนกัน ประชุมกันจึงเกิดขึ้น อย่างเดียวเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ากล่าวถึงวิภัชชวาที เป็นการที่ถูกต้อง ที่เราเรียนพระอภิธรรมทุกวันนี้ ก็เหมือนวิภัชชวาที รูปทั้งหมดมีการประชุมของมหาภูตรูป จึงเกิดขึ้น ในตัวเรามีมหาภูตรูป แต่เราไม่เห็นไม่รู้ ศึกษาให้รู้ว่าตัวเรานั้น ประกอบด้วยมหาภูตรูป จิตอย่างเดียวไม่มีเจตสิก ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตกับเจตสิกประชุมกัน จึงเกิดขึ้น การจำแนกธรรมแต่ละอย่างๆ ให้รู้ว่าแต่ละอย่าง รูปเป็นอย่างนี้ นามเป็นอย่างนี้ ก็เพื่อให้เห็นว่า คนไม่มีโดยปรมัตถ์ ไม่ใช่ไม่มีโดยสมมติ สมมติมีจริง คนมี สัตว์มี แต่โดยปรมัตถ์ เมื่อจำแนกแยกแยะออกไปแล้ว รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประชุมกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นตัวเป็นตน นามก็คือ จิต เจตสิก ประชุมกัน เป็นคนเป็นสัตว์ คำว่า เป็นคน เป็นสัตว์ คนสัตว์นั้นเป็นโดยสมมติ แต่ว่าจิต เจตสิก รูป นั้นเป็นปรมัตถ์ เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงการจำแนก ที่ท่านกล่าวว่า วิภัชชวาที มีปกติกล่าวจำแนกอย่างนี้ จึงเป็นการถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ขอย้อนไปเมื่อสมัย ๕๐ ปีก่อน บางคนก็คงยังไม่เกิด แน่นอน พระธรรมที่ดิฉันได้ยินได้ฟังในครั้งนั้นก็ เป็นเรื่องของพระวินัย ของพระสูตร มีสอนกัน จนกระทั่งวันหนึ่งก็ได้ทราบว่า มีการสอนพระอภิธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่ามี คำพูดเรื่องของพระวินัย ของพระสูตร แต่ในยุคนั้นสมัยนั้น การศึกษาพระอภิธรรม อาจจะมีกอ่นที่ดิฉันได้ยินตามวัดวาอารามต่างๆ ที่ดิฉันได้ยินก็คงจะ ช้ากว่าคนอื่นบางท่านซึ่ง ขณะนี้ท่านก็คงจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของแม้การอบรมเจริญจิตให้สงบจนกระทั่งถึงฌาน ก็มีการกล่าว สอน แต่ว่าไม่มีการที่จะบอกเรื่องของ พระอภิธรรม ในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ายุคนี้สมัยนี้ เราก็จะได้ยินคำสอนเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องความสงบของจิต หรือว่าเอาข้อความจากพระไตรปิฎก มาแสดงถึงว่า พระผู้มีพระภาค ทรงศึกษากับ อุทกดาบส อาฬารดาบส ซึ่งท่านได้ฌานถึงระดับสูงสุดของอรูปฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณนัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานายตนฌาน จากคัมภีร์ มีกล่าว แต่ว่าถ้าใครก็ตาม ฟังเพียงเท่านี้ จะมีความเข้าใจการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่ ก็ย่อมจะคงมีแต่เพียง ทาน ศีล

    หรือท่านผู้ใดที่ท่านคิดว่าจะอ่านพระไตรปิฎก แต่ท่านไม่มีความเข้าใจถูกในปรมัตถธรรม ท่านก็มีความเข้าใจว่า เป็นตัวของท่านโดยตลอด ไม่ว่าจะพูดเรื่องศรัทธาก็ตัวท่าน ไม่ว่าจะพูดเรื่องสติก็ตัวท่าน ไม่ว่าจะเป็น โลภะ โทสะ โมหะ ก็ตัวท่านทั้งหมด ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้จริงๆ ว่าหัวใจของคำสอนของพระพุทธศาสนา จากการตรัสรู้ซึ่งต่างกับ คำสอนอื่นใดนั้น ก็เพราะเหตุว่าทรงตรัสรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ อย่างที่กล่าว ที่เคยมีคำเทศน์ หรือว่ามีอะไรตามสถานีวิทยุ อย่างที่คุณเด่นพงษ์อาจจะได้ฟัง ก็ไม่พ้นจากเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสมถะ แต่ว่าเมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรม จึงจะรู้จริงๆ ว่าที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ไม่ใช่เพียงแต่ไปคิดเรื่องทาน ไปคิดเรื่องศีล ไปคิดเรื่องความสงบของจิต แต่ว่าทรงสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่รู้ยาก หรือรู้ง่ายในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพียงสั้นๆ แล้วก็หมดไป เปลี่ยนไปทุกขณะ

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรม ดิฉันเองก็ได้มีโอกาสที่จะได้ศึกษา ตั้งแต่ครั้งนั้น แล้วก็เห็นคุณประโยชน์มาก ในการที่ได้ศึกษาธรรม เพราะเหตุว่าได้เข้าใจ ธรรมจริงๆ แล้วการศึกษาดิฉันก็จะศึกษาจากท่านอาจารย์ ซึ่งขณะนั้นท่านก็เป็นผู้ที่เป็นผู้นำในการศึกษาพระอภิธรรม แต่เมื่อศึกษาแล้วทุกท่าน ไม่ว่าในสมัยโน้น สมัยนี้ หรือสมัยต่อไป ก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ประกอบกับการศึกษา โดยละเอียดยิ่งขึ้น ดิฉันเคยกล่าว ไม่ทราบจะมีข้อความนี้ออกในวิทยุหรือยัง ว่ารุ่นของดิฉันเป็นรุ่นบุกเบิก หมายความว่า ตัวดิฉันเป็นคนที่มีอายุน้อยที่สุดในครั้งนั้น ซึ่งตอนนี้ท่านที่เรียนร่วมกันท่านก็จากโลกนี้ไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น รุ่นบุกเบิกก็จะเป็นรุ่นที่แนะนำ เรื่องของปรมัตถธรรม โดยละเอียดเท่าที่ดิฉันจะกระทำได้ หมายความว่า ทั้งศึกษาจากอาจารย์ด้วย แล้วก็ศึกษาจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา แล้วก็พิจารณาเหตุผล จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจความสอดคล้องของธรรม จึงได้บรรยาย ไม่ใช่ว่าเมื่อดิฉันยังคงสงสัย ไม่แน่ใจ แล้วก็กล่าวไปทั้งๆ ที่สงสัย หรือไม่แน่ใจ แต่ว่าเมื่อดิฉันไม่มีความรู้ภาษาบาลี ดิฉันก็ได้กราบเรียนถามพระคุณเจ้าที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ทุกวันพุธ ถึงข้อความที่เป็นภาษาบาลี ที่จะต้องกล่าวหรือจะต้องอธิบาย หรือจะต้องอ้างถึงในอรรถกถา และในพระไตรปิฎก ตลอดมา ด้วยการที่เห็นพระคุณว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทรงบำเพ็ญ พระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป คิดว่านี่น้อย แต่ความจริงมากมายมหาศาล เพียงคำว่า ๔ อสงไขยแสนกัป ถ้าเราจะคิดเป็นกัปๆ จากวันๆ ไป แต่ว่าผู้ที่บำเพ็ญด้วยศรัทธา ต้องมากกว่า ๔ อสงไขยแสนกัป ถึง ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้าผู้ที่บำเพ็ญด้วยวิริยะ ก็ต้องถึง ๑๖ อสงไขยแสนกัป แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นี้ ทรงบำเพ็ญ ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่นับที่ทรงตั้งความปราถนา และที่ยังไม่เคยเอ่ยกล่าวเป็นวาจา เพราะฉะนั้น พระธรรมมีคุณค่ามหาศาล ซึ่งทุกคนต้องศึกษาด้วยความเคารพ ด้วยการที่จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบ แล้วก็ต้องพิจารณาประกอบกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เท่าที่ผ่านมา ใครที่จะศึกษาต่อไป ก็จะต้องพิจารณาอย่างนี้ คือด้วยความรอบคอบ ด้วยความสอดคล้อง หรือว่าข้อความใดก็ตามที่ได้ รับฟัง จากการบรรยายธรรมทางวิทยุของท่านผู้หนึ่ง ผู้ใดก็ควรที่จะได้นำข้อความนั้นมาค้น ให้ละเอียด เพื่อที่จะได้รู้ว่า ความจริงที่มีในพระไตรปิฎกเป็นอย่างไร เราจะเข้าใจผิวเผินไป หรือว่ายังไม่เข้าใจส่วนละเอียด เราก็พยายามที่จะค้นคว้าโดยละเอียด เพราะฉะนั้น จะเรียนจากใคร เรียนจากที่ไหน อย่างไร ก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัย ของผู้นั้น ถ้าผู้นั้นไม่สนใจพระอภิธรรม จะฟังแต่พระสูตร ทาน หรือว่าจะเรียนด้วยตัวเอง เข้าจะเข้าใจความหมายในพระไตรปิฎกได้ไหม เพราะว่าถ้าสามารถที่จะเรียนด้วยตัวเองได้ ทุกคนไม่ต้องฟังอะไรเลย อ่านพระไตรปิฎก ทุกคนอยู่กับบ้าน ไม่ต้องฟัง ไม่ต้องสนทนาธรรม ไม่ต้องปรึกษาหารือ แล้วก็เข้าใจว่าที่ตนเองอ่านเข้าใจนั้น เป็นสิ่งที่ถูก แต่ว่าถ้าได้มีกาารพบปะ แล้วสนทนากัน แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกัน และกัน สิ่งที่อาจจะเข้าใจว่าถูก ก็จะได้รู้ว่าความจริงนั้นคืออย่างไร

    การศึกษาธรรม ถ้าเรามีความรู้ ความเข้าใจที่ว่า เราต้องการที่จะเข้าใจความจริงในพระพุทธศาสนา เราก็จะฟังที่ไหนก็ได้ แต่ว่าฟังแล้วต้องคิด แล้วก็ต้องพิจาณา แล้วก็ต้องสอบถาม จะสอบถามๆ หลายๆ ท่านยิ่งดี เพื่อที่จะได้เอาคำตอบของแต่ละท่านมาพิจารณาว่าคำตอบใดตรงตามเหตุผล แล้วก็ตามสภาพธรรมที่มีจริง และตรงตามข้อความในพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง มีผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนา จนจบพระไตรปิฎก แม้แต่ในสมัยพระพุทธกาล ก็ยังปรากฏว่า มีพระโปฐิละเป็นอาจารย์ตั้ง ๑๘ คณะ แต่ท่านก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ อย่างนี้เป็นการศึกษาที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ศึกษาจากไหน

    ผู้ฟัง พระไตรปิฎก ก็ปรากฏว่าท่านเชี่ยวชาญ พระโปฐิละ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น บางคนเข้าใจว่าสภาพธรรม มีในพระไตรปิฎก ตามตัวหนังสือในพระไตรปิฎก ที่ว่าเมื่อทรงแสดงธรรม สมัยนั้นไม่มีหนังสือ ไม่มีพระไตรปิฎก แต่ว่ามีสภาพธรรมให้ผู้ฟังพิจารณา ต่อเมื่อได้ทรงดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว จึงได้มีการสังคยนาประมวล ข้อความทั้งหมดที่ทรงแสดงธรรมในที่ต่างๆ จัดเป็นพระธรรมกับพระวินัย แล้วภายหลังก็จำแนกเป็น พระวินัยปิฏก พระสุตันตปิฏก และพระอภิธรรมปิฏก

    ถ้าผู้ฟังสมัยนี้ มีความเข้าใจว่าศึกษาธรรมศึกษาอะไร ถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ก็ต้อง รู้ว่าขณะนี้ มีธรรมทุกขณะ แต่ว่าผู้ที่ไม่ได้ศึกษาจะไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมคิดว่า ต้องไปเรียนในหนังสือ หรือว่าต้องไปที่อื่น แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ศึกษาธรรมจากกำลังที่ได้ฟัง ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังแล้ว มีสภาพธรรมปรากฏให้เข้าใจให้พิสูจน์ ถ้าเราไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ เราศึกษาอะไร เราไม่ได้ศึกษาธรรมเลย เราศึกษาเรื่องราว เช่นเราศึกษาว่า มีปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เดี๋ยวนี้มีจิตไหม ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่มีจิต จะไปศึกษาเรื่องจิตที่ไหน บางคนก็คิดว่าไปศึกษาในตำราในคัมภีร์ แล้วเดี๋ยวนี้จิตที่กล่าวไว้มีอะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 103
    25 มี.ค. 2567