แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
ครั้งที่ ๑๘๒๗
สาระสำคัญ
โยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการ
ขุ. สุ. ทุฏฐกสูตรที่ ๓ การเจริญของโยนิโสมนสิการ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๑
วันหนึ่งพวกเขาได้ถวายเกลือจำนวนมากในห่อใบตองแก่ท่านเหล่านั้น วิเทหดาบสถือเอาเกลือที่เขาถวายไปด้วย เวลาภัตกิจของพระโพธิสัตว์ก็ ถวายจนพอ ฝ่ายตนเองก็หยิบเอาประมาณพอควร ที่เกินต้องการก็ห่อใบตองแล้ว เก็บไว้ที่พุ่มหญ้าด้วยคิดว่า จักใช้ในวันที่ไม่มีเกลือ
อยู่มาวันหนึ่งเมื่อได้อาหารจืด ท่านวิเทหดาบสได้ถวายภาชนะภิกษาแก่ ท่านคันธาระแล้ว นำเกลือออกมาจากระหว่างพุ่มหญ้าแล้วกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านอาจารย์ นิมนต์ท่านรับเกลือ
คันธารดาบสถามว่า
วันนี้คนทั้งหลายไม่ได้ถวายเกลือ ท่านได้มาจากไหน
วิเทหดาบสกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านอาจารย์ ในวันก่อนคนทั้งหลายได้ถวายเกลือมาก กระผมจึง เก็บเกลือที่เกินความต้องการไว้ด้วยตั้งใจว่า จักใช้ในวันที่อาหารมีรสจืด
พระโพธิสัตว์จึงกล่าวกับวิเทหดาบสว่า
โมฆบุรุษ ท่านละทิ้งวิเทหรัฐประมาณ ๓ ร้อยโยชน์มาแล้ว ถึงความไม่มีกังวลอะไร บัดนี้ยังเกิดความทะยานอยากในก้อนเกลืออีกหรือ
เมื่อจะตักเตือนท่าน จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
ท่านละทิ้งหมู่บ้านที่บริบูรณ์ ๑๖,๐๐๐ หมู่ และคลังที่เต็มด้วยทรัพย์มาแล้ว บัดนี้ยังจะทำการสะสมอยู่อีก
ผลของการกล่าวตักเตือนจะเป็นอย่างไร โยนิโสมนสิการจะเกิดหรือยังไม่เกิด นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละท่านที่จะสะสมโยนิโสมนสิการไปจนกว่า จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งในครั้งนั้นท่านพระอานนท์ท่านเป็นวิเทหดาบส
วิเทหดาบส ถูกตำหนิอยู่อย่างนี้ ทนคำตำหนิไม่ได้ กลายเป็นปฏิปักษ์ไป เมื่อจะแย้งว่า
ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านไม่เห็นโทษของตัวเอง เห็นแต่โทษของผมอย่างเดียว ท่านดำริว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยคนอื่นที่เราตักเตือน เราจักเตือนตัวเราเอง ทอดทิ้งราชสมบัติออกบวชแล้ว แต่วันนี้เหตุไฉนท่านจึงตักเตือนผม
วิเทหดาบสไม่เห็นโทษของตนเองและยังคิดว่า คันธารดาบสไม่เห็นโทษของตนเอง เห็นแต่โทษของวิเทหดาบส เพราะแม้คันธารดาบสก็ได้สละราชสมบัติ เมื่อไม่ปกครองคน ยังจะตักเตือนท่านทำไม
ท่านวิเทหดาบสได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
ท่านละทิ้งที่อยู่คือคันธารรัฐ พ้นจากการปกครองในราชธานีที่มีทรัพย์ พอเพียงแล้ว บัดนี้ยังจะปกครองในที่นี้อีก
ขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการแน่นอนที่ไม่ฟังคำตักเตือน และไม่เห็นประโยชน์
พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้วกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า
ท่านวิเทหะ เรากล่าวธรรม ความจริง เราไม่ชอบอธรรม ความไม่จริง เมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ บาปก็ไม่เปรอะเปื้อนเรา
เป็นการแสดงเจตนาของท่านที่กล่าวคำจริง ไม่ใช่มีเจตนาที่จะปกครอง วิเทหดาบส แต่มีเจตนาที่จะกล่าวคำที่เป็นสัจจธรรม
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ธรรมดาการให้โอวาทนี้เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
คือ เป็นปกติที่ท่านจะโอวาท เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก และพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
ถึงคนพาลจะไม่รับเอาโอวาทที่ท่านเหล่านั้นให้แล้ว แต่ผู้ให้โอวาทก็ไม่มีบาปเลย
คือ ผู้ที่มีเจตนากล่าวธรรม มีเจตนาที่จะแสดงสัจจธรรม ใครจะรับหรือไม่รับ ผู้ที่มีเจตนาแสดงสัจจธรรมก็ไม่มีบาปเลย
และเมื่อจะแสดงธรรมอีก ท่านจึงกล่าวคาถาว่า
ผู้มีปัญญา คนใดมักชี้โทษมักพูดบำราบ ควรเห็นผู้นั้นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้นจะมีแต่ความดีไม่มีความชั่ว คนควรตักเตือน ควรพร่ำสอน และควรห้ามเขาจากอสัตบุรุษ เพราะเขาจะเป็นที่รักของเหล่าสัตบุรุษ ไม่เป็นที่รักของเหล่าอสัตบุรุษ
ถ้ามีคนตักเตือน และคำนั้นเป็นสิ่งที่ถูก ที่จริง เป็นธรรม แต่อสัตบุรุษจะ ไม่รักคนที่ตักเตือน เพราะฉะนั้น แม้ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษก็ไม่เป็นไร ไม่น่าจะเดือดร้อน
วิเทหดาบสก็ยังไม่พอใจ
คือ แม้จะได้ฟังอย่างนี้ ก็ยังเป็นอโยนิโสมนสิการในขณะนั้น
และได้กล่าวว่า
ท่านอาจารย์ บุคคลแม้เมื่อกล่าวถ้อยคำที่อิงประโยชน์อยู่ ก็ไม่ควรกล่าวกระทบเสียดแทงผู้อื่น ท่านกล่าวคำหยาบคายมาก เหมือนโกนผมด้วยมีดโกนไม่คม
แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า
คนอื่นได้รับความแค้นเคืองเพราะคำพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าคำนั้น จะมีประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรพูด
ไม่ได้พิจารณาจิตของตนเองที่แค้นเคืองเลย แต่กลับกล่าวว่า คำพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าคำนั้นจะมีประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรพูด ซึ่งพระโพธิสัตว์ก็ยังยืนยันเจตนาที่หวังดีของท่านโดยกล่าวคาถาที่ ๕ กับวิเทหดาบสว่า
ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด หรือจะเขี่ยทิ้ง เหมือนโปรยแกลบทิ้งก็ตาม เมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาป ย่อมไม่เปรอะเปื้อนเรา
นี่ก็อดทนมาก พูดแล้วก็ต้องพูดอีก
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ก็การที่พระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนี้ เป็นการดำรงอยู่ในการปฏิบัติที่สมควร แก่โอวาทของพระศาสดาที่ตรัสว่า
ดูก่อน อานนท์ เราตถาคตจักไม่ทะนุถนอมเลย เหมือนช่างหม้อไม่ทะนุถนอมภาชนะดินเหนียวที่ยังดิบๆ ฉะนั้น เราตถาคตจักปราบแล้วปราบอีก ผู้ใดหนักแน่นเป็นสาระ ผู้นั้นก็จักดำรงอยู่ได้
เมื่อจะตักเตือนวิเทหดาบสอีก เพื่อแสดงให้เห็นว่า ท่านตักเตือนแล้ว ตักเตือนอีก จึงรับบุคคลทั้งหลายผู้เช่นกับภาชนะดินที่เผาสุกแล้วไว้ เหมือนช่างหม้อเคาะดูแล้วเคาะดูอีก ไม่รับเอาภาชนะดินที่ยังดิบไว้ รับเอาเฉพาะภาชนะดินที่ เผาสุกแล้วเท่านั้นไว้ฉะนั้น ดังนี้แล้ว คันธารดาบสจึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ถ้าสัตว์เหล่านี้ไม่มีปัญญาของตนเอง หรือวินัยที่ศึกษาดีแล้วไซร้ คนจำนวนมากก็จะเที่ยวไปเหมือนโคตาบอดเที่ยวไปในป่าฉะนั้น
แต่เพราะเหตุที่ธีรชนบางเหล่าศึกษาดีแล้วในสำนักอาจารย์ ฉะนั้น ธีรชนผู้มีวินัยที่ได้แนะนำแล้ว จึงมีจิตตั้งมั่นเที่ยวไปอยู่
เมื่อวิเทหดาบสได้ฟังคำนั้นแล้วก็ได้ไหว้ขอขมาพระมหาสัตว์
ไม่ได้คิดว่าจะโยนิโสอย่างไร หรือจะทำอย่างไร แต่เมื่อถึงเวลาที่จะทำอย่างนี้ ก็เป็นเพราะว่าได้สะสมมา แม้ว่าการฟังครั้งแรกจะยังแค้นเคือง ขุ่นเคือง แต่เมื่อได้ ฟังอีกๆ และได้เห็นเจตนาของผู้กล่าวว่า มุ่งแสดงธรรมที่เป็นสัจจธรรม ก็ทำให้ วิเทหดาบสระลึกได้ จึงไหว้ขอขมาพระโพธิสัตว์ และได้ขอให้พระโพธิสัตว์ตักเตือน พร่ำสอนท่านอีกตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป
นี่คือโยนิโสมนสิการ ซึ่งทุกท่านที่กำลังฟังพระธรรมจะต้องเจริญต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงชาติสุดท้าย และสำหรับในชาติสุดท้ายที่พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะเห็นได้ถึงการปฏิบัติของพระองค์
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัฏฐกวรรคที่ ๔ ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ถูกคนที่เชื่อเรื่องที่พวกปริพาชกกล่าวร้ายพระองค์ บริภาษติเตียนพระองค์ด้วยเรื่องของนางสุนทรีปริพาชิกา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มุนีไม่เข้าถึง คือ พุทธมุนีไม่เข้าถึงการติเตียน เพราะไม่ได้ทำและเพราะ ไม่โกรธ
และเมื่อทรงทราบว่า ภิกษุทั้งหลายถูกด่าว่าเย้ยหยันก็ไม่ได้โต้ตอบอะไร พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
ดูกร อานนท์ เราเป็นผู้มีศีลมิใช่หรือ เพราะฉะนั้น ควรนิ่งในเรื่องทั้งหมด แม้รู้อยู่ก็ไม่พูด เพราะคนพาลกับบัณฑิตเข้ากันไม่ได้
และตรัสกับท่านพระอานนท์เพื่อประโยชน์ในการแสดงธรรมว่า
ดูกร อานนท์ ภิกษุทั้งหลายควรโต้ตอบชนเหล่านั้นอย่างนี้ว่า คนพูดไม่จริง ย่อมตกนรก
แสดงให้เห็นการเจริญของโยนิโสมนสิการจากในพระชาติที่เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นคันธารดาบส จนถึงเมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การปฏิบัติของพระองค์ คือ พุทธมุนีไม่เข้าถึงการติเตียน เพราะไม่ได้ทำและเพราะ ไม่โกรธ
ท่านผู้ฟังก็คงจะประสบกับโลกธรรมฝ่ายเสื่อม คือ เสื่อมลาภบ้าง เสื่อมยศบ้าง ถูกนินทาบ้าง แต่ถ้าขณะนั้นโยนิโสมนสิการเกิดเพราะว่าได้ฟังพระธรรมโดยละเอียด ได้พิจารณาเห็นประโยชน์ และรู้ว่าการที่โยนิโสมนสิการจะเจริญต้องอบรมจากชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่ได้ทำ ท่านไม่ผิด ก็ไม่โกรธ เพราะว่า ท่านไม่ได้ทำ จะโกรธทำไม
นอกจากนั้น ไม่เข้าถึงการติเตียน คือ ใครก็ย่อมติเตียนไม่ได้ ในเมื่อท่านเองไม่ได้ทำ และไม่โกรธด้วย ถ้าท่านไม่ได้ทำ และโกรธ คนอื่นก็ไม่ติเตียนในข้อที่ท่าน ไม่ทำ แต่ก็ติเตียนในข้อที่ท่านโกรธได้ แต่ถ้าถึงท่านไม่ได้ทำและได้รับโลกธรรมฝ่ายเสื่อม และไม่โกรธด้วย ก็ไม่มีใครที่จะติเตียนทั้งการไม่ทำและการไม่โกรธ
เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ โดยการสะสม เวลาที่มีเหตุการณ์ที่ไม่น่า พอใจเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เป็นเรื่องราวที่อาจจะเคยโกรธถ้าโยนิโสมนสิการไม่เจริญ แต่ถ้าโยนิโสมนสิการเจริญขึ้นและระลึกได้ว่า ควรนิ่งในเรื่องทั้งหมด แม้รู้อยู่ก็ไม่พูด ก็เป็นการตัดปัญหาอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น แต่กระนั้นก็ตามเพื่ออนุเคราะห์เป็นประโยชน์ในการแสดงธรรม พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
ดูกร อานนท์ ภิกษุทั้งหลายควรโต้ตอบชนเหล่านั้นอย่างนี้ว่า คนพูดไม่จริง ย่อมตกนรก
เป็นการเตือนให้ระลึกได้ว่า ใครก็ตามที่พูดไม่จริง ควรที่จะสังวรและเห็นโทษ และมีโยนิโสมนสิการที่จะไม่กระทำอย่างนั้นอีก
เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงการอบรมเจริญปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในชีวิตประจำวันจริงๆ แม้ในขณะนั้นๆ สติปัฏฐานก็จะต้องเกิดเพื่อระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ เพราะว่า ในชีวิตประจำวันไม่มีใครเลือกได้ว่าจะได้โลกธรรมฝ่ายดี หรือโลกธรรมฝ่ายเสื่อม แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ถ้ามีโยนิโสมนสิการที่สะสมมาก็จะทำให้เจริญขึ้นได้
ผู้ฟัง ถ้าเราไม่ได้ทำและไม่โกรธด้วย เป็นสิ่งที่ประเสริฐจริงๆ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย บางทีสติระลึกไม่ได้ก็โกรธ และบางครั้งก็เปิดตำราไม่ทัน ที่อาจารย์ว่ามานี่ ดีๆ ทั้งนั้น คิดว่าถ้ามีเรื่องเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ก็คงจะเปิดตำราทัน ไม่ได้ทำ ก็ไม่โกรธ
ขอเล่าเรื่องจริงของผมเรื่องหนึ่ง ผมมาศึกษาธรรม ๑๒ ปีได้ แม่บ้านเขาไม่เชื่อ เขาถามว่า ไปวัดจริงหรือเปล่า ไปติดผู้หญิงหรือเปล่า บางทีเรามีสติ เราไม่ได้ทำ เราก็ไม่โกรธ แต่บางครั้งเราไม่ได้ทำมาพูดอยู่ได้ก็โกรธ แต่ไม่ได้แสดงออกไป ตอนนี้คิดว่า ผมไม่ได้ทำ ผมก็ไม่ควรโกรธ แต่ผมขาดไปอย่างหนึ่ง คือ ผมไม่ได้บอกเขาว่า พูดไม่จริง ตกนรก ต่อไปผมควรจะพูดด้วย
ถ. พระดาบสทั้งสองต่างก็มีอัธยาศัยใหญ่ สามารถสละราชสมบัติ ความสุขทั้งมวลได้ และออกบวชเป็นดาบสในป่า อัธยาศัยของท่านเป็นผู้ใฝ่ธรรม จริงๆ แต่ที่ท่านนำเกลือที่ซ่อนไว้มาให้พระโพธิสัตว์และถูกว่ากล่าวนั้น แทนที่จะรับฟัง ท่านกลับโกรธ มีทิฏฐิมานะขึ้น ผมคิดว่าพระโพธิสัตว์คงคิดว่า ท่านต้องพูดตักเตือนต่อไปๆ เพื่อให้ดาบสนี้ได้สติ ซึ่งปกติที่เราพูดแนะนำกัน ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง เราก็เลิก แต่พระโพธิสัตว์ท่านคงจะเห็นว่าพระดาบสนี้ยังมีอุปนิสัย จะต้องมีสติระลึกได้ หรือมีโยนิโสมนสิการได้ ท่านจึงได้พูดต่อไปๆ จนพระดาบสนั้นยอมทีหลัง
อย่างเราสอนใครก็ตาม แนะนำใครก็ตามในเรื่องที่เขาทำผิดพลาด หรือเขาบกพร่องไปแม้เล็กน้อย คนที่ถูกแนะนำจะไม่พอใจ จะไม่รับ เพราะปกติของคน ย่อมมีความถือตัว มีทิฏฐิมานะ ไม่ยอมรับใครง่ายๆ แม้ผู้นั้นจะมีอาวุโสกว่า บางทีไม่พูด แต่แสดงออกเป็นอาการไม่พอใจ ส่วนใหญ่ผู้ที่ว่ากล่าวตักเตือนแล้ว เมื่อเห็นอาการไม่พอใจก็มักจะเพิกเฉย คือ ไม่สนใจ ปล่อยไปเลย ข้อนี้ผมก็เห็นว่า เป็นการยากที่จะสงเคราะห์ใครต่อใคร คือ เราไม่ทราบว่าเขาจะยอมฟังเราหรือเปล่า บางครั้งแทนที่เขาจะยอม กลับเป็นทะเลาะกัน บาดหมางกันได้ จะมีหลักอะไรไหม ที่จะเตือนใครต่อใครอย่างไร
สุ. การกล่าวถึงพระชาติต่างๆ ก็เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์ พระผู้มีพระภาค ท่านพระอานนท์ และพระสาวกต่างๆ กว่าที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขอให้คิดถึงความต่างกันของชาติก่อนๆ ของท่านเหล่านั้น กับปัจจุบันชาติของท่านในขณะนี้ เทียบกันได้ไหม เช่น เป็นพระราชา มีความสมบูรณ์ มีความสะดวกสบาย ก็ยังละทิ้งราชสมบัติเพื่ออบรมเจริญปัญญา แต่สำหรับชีวิตของทุกคนในชาตินี้ เป็นห่วงกังวล แม้ในเรื่องที่ไม่น่าจะต้องห่วงกังวลอะไรมากมาย เพราะแม้ชีวิตของพระโพธิสัตว์ ท่านก็ยังอยู่ได้อย่างสำราญสะดวกสบายในป่าซึ่งไม่มีอะไรเลย ส่วนท่านผู้ฟังในขณะนี้ ก็มีปัจจัยเพียงพอในเรื่องที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยารักษาโรค และในเรื่องต่างๆ แต่ก็ยังมีความกังวล ความห่วงใย
เพราะฉะนั้น กว่าจะสละละคลายการติดในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อที่ โยนิโสมนสิการจะเจริญขึ้นในทุกทาง ทั้งในเรื่องของการละคลายโลภะและโทสะ และความติดข้องในลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่า ยังไกลนักกับพระชาติต่างๆ ของพระโพธิสัตว์และของพระสาวก ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะพิจารณาตัวเองได้ว่า โยนิโสมนสิการจะต้องเจริญอีกมากมายสักเพียงใดในทุกๆ เรื่อง พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะถ้าเข้าใจผิดเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน โยนิโสมนสิการ ก็ไม่สามารถเจริญได้ ถ้ายังคงถามว่า จะปฏิบัติอย่างไรๆ นั่นก็ไม่ใช่การอบรม เจริญปัญญา ซึ่งเป็นโยนิโสมนสิการ
บางท่านถามว่า จะให้ปฏิบัติอย่างไร อยากจะให้กล่าวสั้นๆ ซึ่งก็คือ สติระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ผู้นั้นก็บอกว่า ระลึกแล้ว เมื่อระลึกแล้ว แข็งไหม ก็แข็ง แข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และสภาพธรรมที่กำลังรู้แข็งก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ท่านผู้นั้นก็บอกว่า รู้แล้ว และจะทำอย่างไรต่ออีก
คือ จะทำอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และรู้ว่า สติ การระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมเป็นอนัตตา ข้อสำคัญที่สุด ไม่ใช่เรื่องสติ แต่เป็นเรื่องปัญญาที่เมื่อสติเกิด ระลึกแล้ว ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ ซึ่งหนทางที่จะอบรม เจริญปัญญา คือ ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น เข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่จะทำ เพราะว่าทำไม่ได้ ถ้าทำได้ คือ ทันทีที่ระลึกก็ประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่มีหนทางที่จะเป็นไปได้ที่การประจักษ์ชัดนั้น จะด้วยการบอกเล่าว่า เมื่อสติเกิดระลึกลักษณะของรูป ก็ประจักษ์ในลักษณะของรูป เมื่อสติเกิดระลึกลักษณะของนาม ก็ประจักษ์ในลักษณะของนาม
แต่การที่จะประจักษ์ได้ เพราะว่าเข้าใจ ฟัง พิจารณา ไตร่ตรอง รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น จึงจะเป็นปัจจัยให้ปัญญาคมขึ้น เมื่อสติระลึกก็สามารถรู้ได้ แต่ต้องค่อยๆ รู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่จะทำ หรือจะปฏิบัติอย่างไร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๓ ตอนที่ ๑๘๒๑ – ๑๘๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883