แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830


    ครั้งที่ ๑๘๓๐


    สาระสำคัญ

    จักขุวิญญาณเกิดเท่ากับจักขุทวาราวัชชนจิต

    กิจของจิต สวนกิจ ฆายนกิจ สายนกิจ ผุสสนกิจ สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรณกิจ โวฏฐัพพนกิจ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๑


    คำถามต่อไป วันหนึ่งๆ จักขุวิญญาณเกิดเท่ากับจักขุทวาราวัชชนจิต หรือ เกิดมากกว่า หรือเกิดน้อยกว่าจักขุทวาราวัชชนจิต

    คำตอบที่ถูกต้อง คือ เท่ากัน เพราะที่ใช้คำว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต เรียกรวมทั้ง ๕ ทวาร คือ ไม่ว่าจะเกิดทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จิตดวงนี้สามารถเกิดได้ทั้ง ๕ ทวาร และเป็นวิถีจิตแรกของทั้ง ๕ ทวาร แต่ถ้าจิตนี้เกิดทางจักขุทวาร อาศัยจักขุปสาทเป็นทางเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ ชื่อว่าจักขุทวาราวัชชนจิต ถ้าเสียงกระทบหู และจิตนี้เกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ เป็นวิถีจิตแรก จะใช้คำว่า โสตทวาราวัชชนจิตก็ได้

    สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าแยกตามทวารก็เป็นจักขุทวาราวัชชนจิต โสตทวาราวัชชนจิต ฆานทวาราวัชชนจิต ชิวหาทวาราวัชชนจิต กายทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้น คำถามนี้ วันหนึ่งๆ จักขุวิญญาณเกิดเท่ากับจักขุทวาราวัชชนจิต หรือเกิดมากกว่า หรือเกิดน้อยกว่า คำตอบก็ต้องเท่ากัน เพราะทันทีที่ จักขุทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะดับไป จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ๑ ขณะและดับไป ก็เท่ากัน ทางหูทันทีที่โสตทวาราวัชชนจิตเกิดและดับไป โสตวิญญาณก็เกิดและดับไปคนละ ๑ ขณะ เท่ากัน

    กิจที่ ๕ คือ สวนกิจ จิตที่ทำสวนกิจ คือ กิจได้ยิน มี ๒ ดวง โดยชาติ เป็นชาติวิบาก โดยภูมิเป็นกามภูมิ สำหรับจิตที่ทำสวนกิจ ๒ ดวง ได้แก่ โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของกามาวจรกุศลหรือมหากุศล และ โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรม

    ขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นรู้เสียงที่ยังไม่ดับวาระหนึ่งๆ โสตวิญญาณเกิดขึ้นกี่ขณะ รู้เสียงที่ยังไม่ดับ โสตวิญญาณก็เกิดขึ้น ๑ ขณะเท่านั้น น้อยสักแค่ไหน คิดดู เสียงกระทบกับโสตปสาท โสตทวาราวัชชนจิตเกิด ๑ ขณะและดับ ต่อไปโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเพียงขณะเดียวเท่านั้นและดับ เร็วมาก น้อยมาก

    สำหรับกิจที่ ๖ คือ ฆายนกิจ กิจได้กลิ่น กิจที่ ๗ คือ สายนกิจ กิจลิ้มรส และกิจที่ ๘ คือ ผุสสนกิจ กิจรู้โผฏฐัพพะ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ จิตที่ทำฆายนกิจ มี ๒ ดวง เป็นกามาวจรวิบาก ได้แก่ ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และ ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง ในวาระหนึ่งๆ ที่กำลังรู้กลิ่นที่ยังไม่ดับ ฆานวิญญาณเกิดขึ้นทำกิจรู้กลิ่นเพียงขณะเดียว

    ทางลิ้น จิตที่ทำสายนกิจมี ๒ ดวง ทุกคนบริโภคอาหารเป็นประจำจะได้ ระลึกว่า ในขณะที่ลิ้มรส รสปรากฏเพราะชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นทำสายนกิจ ลิ้มรส ชิวหาวิญญาณที่ทำสายนกิจมี ๒ ดวง คือ ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง ในวาระหนึ่งๆ ที่ลิ้มรส ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น ทำสายนกิจเพียงขณะเดียว

    สำหรับทางกายที่กระทบสัมผัสโผฏฐัพพะ จิตที่ทำผุสสนกิจมี ๒ ดวง เป็นกามาวจรวิบาก ได้แก่ กายวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และกายวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง ในวาระหนึ่งๆ ที่รู้โผฏฐัพพะที่ยังไม่ดับ กายวิญญาณเกิดขึ้น เพียงขณะเดียว แต่เวลาที่ปวดเจ็บทุกข์มากมายเหลือเกิน แสดงให้เห็นว่า กายวิญญาณต้องเกิดดับหลายวาระ เพราะว่ากายวิญญาณที่จะรู้โผฏฐัพพะที่ร้อนจัด หรือเย็นจัด หรือแข็งที่ทำให้เกิดทุกขกายวิญญาณนั้น เพียงขณะเดียวเท่านั้น

    สำหรับจิต ๖ ดวง คือ ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง และกายวิญญาณ ๒ ดวง ไม่เกิดในพรหมภูมิ ๒๐ ภูมิ คือ ทั้งรูปพรหม ๑๖ ภูมิ และอรูปพรหม ๔ ภูมิ

    ดี หรือไม่ดี ไม่เกิด ไม่มีฆานวิญญาณที่จะรู้กลิ่น ไม่มีชิวหาวิญญาณที่จะ ลิ้มรส ไม่มีกายวิญญาณที่จะรู้กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว น่าจะสบาย เพราะว่าตัดทุกข์ทางกายออกไปได้

    ในโลกมนุษย์ทุกคนจะไม่พ้นจากการเจ็บไข้ได้ป่วย กระทบกับสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แม้แต่ในขณะที่บริโภคอาหาร บางคนก็บังเอิญกัดลิ้น หรือกระทบลิ้น ของตัวเอง ก็เกิดทุกข์กายแล้ว แต่ถ้าเป็นพรหมบุคคล ไม่มีเลย ไม่มีการรู้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส และไม่มีการรู้โผฏฐัพพะ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายเป็นอันว่า ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องได้กลิ่นด้วย ไม่ต้องลิ้มรสด้วย แต่ผู้ที่เป็นมนุษย์ ดีไหม

    ถ้าใครเกิดจะไม่ได้กลิ่น หรือลิ้นใครเกิดจะไม่ลิ้มรส หรือกายใครเกิดจะ ไม่กระทบสัมผัส ชาไปหมดทั้งตัว ก็จะต้องเดือดร้อนรีบรักษา เพราะว่าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และถ้ารสไม่ปรากฏ เพราะไม่มีจิตลิ้มรส ก็จะไม่เจริญอาหาร บางคนก็อยากจะบริโภครสต่างๆ ไม่ใช่บริโภคโดยที่รสไม่ปรากฏเลย แสดงให้เห็นว่า การที่ฆานวิญญาณก็ดี ชิวหาวิญญาณก็ดี กายวิญญาณก็ดี จะไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเป็นไปตามความต้องการหรือไม่ต้องการ แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น

    แต่สำหรับผู้ที่หน่ายในกาม คือ กลิ่น เพราะบางคนติดกลิ่นมาก กลิ่นต้องหอม ไม่หอมไม่ได้ บางบ้านปลูกแต่ดอกไม้หอม ดอกไม้ไม่หอมไม่ปลูก ตอนกลางคืนก็มีกลิ่นหอมของดอกไม้ประเภทหนึ่ง ตอนกลางวันหรือตอนเช้าก็มีกลิ่นหอมของดอกไม้ อีกประเภทหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความพอใจในกลิ่น แต่ถ้าเห็นว่า ถ้าสามารถละคลาย ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ คือ ไม่ติดกลิ่นที่หอม ก็ตัดไปได้ คลายไปบ้าง และสำหรับรส ถึงแม้จะไม่หมดทีเดียว แต่เป็นผู้ที่อร่อยก็ได้ ไม่อร่อย ก็ได้บ้าง ไม่ถึงกับเดือดร้อนมากมาย ก็เป็นการอบรมโยนิโสมนสิการที่จะไม่เดือดร้อนหรือหวั่นไหว ซึ่งขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต ถ้าเป็นความขุ่นเคืองใจไม่พอใจในอารมณ์ ที่ปรากฏ เช่น ในกลิ่น หรือในรส หรือในสัมผัสที่ไม่สบาย ขณะนั้น จะเห็นได้ว่า วิบากจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวๆ แต่โทสมูลจิต โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น ๗ ขณะสืบต่อ และเป็นลูกศรดอกที่ ๒ ซึ่งยิงซ้ำที่แผลเก่า

    แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีโยนิโสมนสิการจริงๆ การฟังธรรมและเข้าใจ และระลึกได้ จะทำให้คลายการติดในอารมณ์ต่างๆ ที่จะทำให้เป็นทุกข์

    สำหรับรูปพรหมบุคคล ไม่มีฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง เพราะการบรรลุถึงอัปปนาสมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ที่สงบระงับจากกาม ทำให้สามารถระงับความเกี่ยวข้องหมกมุ่นในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ด้วยกำลังของฌานจิตได้ แต่รูปพรหมบุคคลก็ยังมีจักขุวิญญาณและโสตวิญญาณ เพราะว่าเป็นประโยชน์ที่จะเห็นและที่จะได้ยิน

    สำหรับอรูปพรหมบุคคล ไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น แต่มโนทวาราวัชชนจิตก็ยังเกิดแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิตเกิดมากกว่า เพราะแม้ในอรูปพรหมภูมิซึ่งไม่มีรูปเลย มโนทวาราวัชชนจิตก็เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นเป็นวิถีแรกทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง บุคคลที่ไม่ได้เจริญกุศล ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้กลิ่น หรือทางกายเกิดทุกข์ก็ไม่อยากให้มีกายวิญญาณ คิดว่าเป็นอัมพาตก็ดี รู้สึกว่าการคิดแบบนี้ ไม่ใช่กุศล และผลที่ได้รับก็ไม่ได้ไปเกิดในอรูปภูมิหรือรูปภูมิ ...

    สุ. เป็นเรื่องของโยนิโสมนสิการที่จะต้องพิจารณาว่า ไม่อยากเห็น หรือ เห็นแล้วรู้ว่าเห็นเป็นอะไร ไม่อยากได้ยิน ถูกหรือผิด เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อยากหรือ ไม่อยาก เพราะนอกจากมนุษยภูมิซึ่งเป็นกามสุคติภูมิขั้นต่ำ สวรรค์ชั้นต่างๆ เรื่องของกายวิญญาณที่จะเกิดขึ้นก็เป็นไปอย่างสบาย คือ ประกอบด้วยสุขเวทนา ไม่ต้องเดือดร้อนเหมือนอย่างภูมิมนุษย์ก็จริง แต่ขณะนั้นไม่ใช่เป็นเพราะอยากหรือ ไม่อยากสภาพธรรมนั้นๆ จึงเกิด เพราะฉะนั้น ควรทราบว่า ไม่ใช่เรื่องอยากหรือ ไม่อยาก แต่เป็นเรื่องที่ว่า เมื่อสภาพธรรมใดมี ก็รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่ไปไม่อยากมีกายวิญญาณ หรือไม่อยากมีฆานวิญญาณ หรือไม่อยากมี ชิวหาวิญญาณ แต่รู้ว่า ตราบใดที่ยังมีความยินดีพอใจในกาม คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบของจิตจนกระทั่ง อัปปนาสมาธิเกิดเป็นฌานจิต ก็เพียงระงับความหมกมุ่น ความเกี่ยวข้องกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเพียงชั่วคราว แต่ยังไม่ได้ดับกิเลส คือ ความติดข้อง ความพอใจ ความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท

    ถึงแม้ว่าจะเจริญสมถภาวนา จิตสงบมั่นคงเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิต ขั้นต่างๆ ไม่เสื่อม คือ ฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต เป็นปัจจัยให้รูปาวจรวิบากจิตเกิด เป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ แต่เมื่อจุติจิตจากพรหมบุคคลก็กลับมาสู่ ความเป็นอย่างนี้อีก คือ พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบของจิต เห็นโทษของรูปทั้งหมด และไม่ปรารถนา ที่จะมีรูปเลย ด้วยกำลังของอรูปฌานกุศลทำให้อรูปาวจรวิบากจิตเกิด เป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่เห็น เพราะว่าไม่มีรูปเลย มีแต่นามธรรมเท่านั้นที่เกิดดับๆ ดำรงภพชาติจนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีได้กลิ่น ไม่มีลิ้มรส ไม่มีการรู้โผฏฐัพพะใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อจุติแล้วก็ต้อง กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก

    เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็รู้ว่าเป็นอกุศล และไม่ควรจะติดข้องอย่างมาก และค่อยๆ คลาย คือ เป็นผู้ที่มีความอดทนต่อรูปทั้งที่พอใจและไม่น่าพอใจ เสียงทั้งที่พอใจและ ไม่น่าพอใจ กลิ่นทั้งที่พอใจและไม่น่าพอใจ รสทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ก็จะเห็นได้ว่า ชีวิตสบายขึ้นมาหน่อยหนึ่งแล้ว ใช่ไหม คือ ไม่เดือดร้อนเหมือนก่อนที่ มีรูปที่ไม่น่าพอใจก็เดือดร้อน มีเสียงที่ไม่น่าพอใจก็เดือดร้อน มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจก็เดือดร้อน ทำให้เป็นผู้ที่มีความอดทน ในขณะนั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ และอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งผู้นั้นก็รู้ว่าการที่จะละคลายหรือดับกิเลสต้อง เป็นไปตามขั้นจริงๆ แต่ก็เป็นผู้ที่แม้ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็มีความอดทน และเห็นประโยชน์ของการที่ไม่ติด ไม่หมกมุ่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างมากมาย

    กิจต่อไป คือ กิจที่ ๙ สัมปฏิจฉันนกิจ จิตที่ทำสัมปฏิจฉันนกิจมี ๒ ดวง สัมปฏิจฉันนกิจ คือ จิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ

    สัมปฏิจฉันนจิต เป็นกามาวจรวิบาก ได้แก่ สัมปฏิจฉันนอกุศลวิบาก ๑ ดวง และสัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ ดวง ในวาระหนึ่งๆ ที่วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใดใน ๕ อารมณ์ ทาง ๕ ทวาร ทีละทวาร สัมปฏิจฉันนจิตจะเกิดขึ้น ทำสัมปฏิจฉันนกิจเพียงขณะเดียว

    ถามว่า ในวันหนึ่งๆ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดมากกว่า หรือน้อยกว่า หรือเท่ากับ จักขุวิญญาณ

    คำตอบ คือ มากกว่า เพราะว่าสัมปฏิจฉันนจิตรับอารมณ์ต่อจาก จักขุวิญญาณทางจักขุทวาร รับอารมณ์ต่อจากโสตวิญญาณทางโสตทวาร รับอารมณ์ต่อจากฆานวิญญาณทางฆานทวาร รับอารมณ์ต่อจากชิวหาวิญญาณทางชิวหาทวาร รับอารมณ์ต่อจากกายวิญญาณทางกายทวาร เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิต เกิดบ่อยกว่าจักขุวิญญาณ เพราะถึงแม้ว่าจักขุวิญญาณไม่เกิด สัมปฏิจฉันนจิตก็ เกิดทางทวารอื่นได้ สัมปฏิจฉันนจิตจึงเกิดมากกว่าจักขุวิญญาณ

    กิจที่ ๑๐ คือ สันตีรณกิจ จิตที่พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต จิตที่ทำสันตีรณกิจเป็นกามาวจรวิบากจิต มี ๓ ดวง นี่ต่างจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และสัมปฏิจฉันนะ เพราะว่าจิตที่ทำสันตีรณกิจมี ๓ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง และโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากอีก ๑ ดวง

    แสดงให้เห็นถึงประเภทของจิตที่ต่างกันระหว่างสัมปฏิจฉันนะและสันตีรณะ เพราะว่าสันตีรณจิตมีโสมนัสกุศลวิบากอีก ๑ ดวง ในขณะที่พิจารณาอารมณ์ที่ ประณีตยิ่ง คือ อารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์

    ถามว่า ในสันตีรณจิต ๓ ดวงนี้ ดวงไหนเกิดไม่บ่อยกว่าดวงอื่น

    คำตอบ คือ โสมนัสสันตีรณจิตเกิดไม่บ่อยกว่าดวงอื่น เพราะว่าอารมณ์ ต้องเป็นอติอิฏฐารมณ์ และผู้ที่เกิดในอบายภูมิ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจภวังค์ด้วย เพราะฉะนั้น ในอบายภูมิ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากก็ย่อมเกิดบ่อยเพราะว่าทำภวังคกิจ และสำหรับในภูมิมนุษย์และภูมิเทพชั้นต้น อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากก็ทำภวังคกิจด้วย เพราะฉะนั้น โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจึงเกิดน้อยกว่าอุเบกขาสันตีรณะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๓ ตอนที่ ๑๘๒๑ – ๑๘๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564