แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
ครั้งที่ ๑๘๓๑
สาระสำคัญ
กิจของจิต โวฏฐัพพนกิจ ชวนกิจ ตทาลัมพนกิจ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๑
กิจที่ ๑๑ คือ โวฏฐัพพนกิจ จิตที่กระทำกิจมนสิการให้ชวนะที่เกิดต่อเป็นกุศลหรืออกุศล จิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจมีดวงเดียว เป็นชาติกิริยา เป็นกามาวจรจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิตนั่นเองที่ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร
ถ้าได้ยินคำว่า โวฏฐัพพนกิจ สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรณกิจ ก็รู้ได้ว่า เป็นเรื่องของปัญจทวารเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของมโนทวารวิถีจิต เพราะเป็นวิถีจิตที่รู้อารมณ์ ทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง สำหรับมโนทวาราวัชชนจิตเกิดได้ ๖ ทวาร แต่ทำกิจต่างกัน คือ ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร และทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร
ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ซึ่งเป็นปัญจทวารวิถีจิต หรือมโนทวารวิถีจิต จิตดวงนี้ ต้องเกิดก่อนชวนจิตทุกวาระ คือ ก่อนที่ชวนจิตจะเกิดได้ มโนทวาราวัชชนจิตต้อง เกิดก่อนทางมโนทวาร และโวฏฐัพพนจิตต้องเกิดก่อนทางปัญจทวาร
จิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร และจิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร เป็นจิตประเภทเดียวกัน จะเรียกชื่อจิตตามกิจก็ได้ คือ จะเรียกว่าโวฏฐัพพนจิตก็ได้ เมื่อทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร หรือจะเรียกว่ามโนทวาราวัชชนจิตก็ได้ เมื่อทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร เป็นการเรียกตามกิจที่กระทำ
ขอถามว่า จิตดวงนี้ทำกิจใดมากกว่ากัน ทำโวฏฐัพพนกิจบ่อย หรือว่าทำ อาวัชชนกิจบ่อยกว่า
คำตอบ คือ ทำอาวัชชนกิจบ่อยกว่า เพราะในกามภูมิหรือภูมิอื่นก็ตาม มโนทวารวิถีจิตต้องเกิดต่อจากทางปัญจทวารวิถีจิตทุกครั้ง เวลาที่รู้อารมณ์ต่อจากทางปัญจทวารวิถี ภวังคจิตคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดอีกหลายวาระ จึงมากกว่าโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร และในอรูปภูมิ ไม่มีรูป ก็ไม่มีโวฏฐัพพนกิจ เพราะไม่มีการรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร จึงมีแต่มโนทวาราวัชชนจิตทำอาวัชชนกิจในอรูปพรหมภูมิ
เพราะฉะนั้น ในเมื่อจิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารมากกว่าทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร จึงเรียกจิตประเภทนี้ว่า มโนทวาราวัชชนจิต แต่ขณะใดที่เกิดทางปัญจทวาร ก็คือจิตประเภทนี้ แต่ทำโวฏฐัพพนกิจ
กิจที่ ๑๒ คือ ชวนกิจ
จิตที่ทำชวนกิจมี ๕๕ ดวง เป็นอกุศล ๑๒ ดวง เป็นกุศล ๒๑ ดวง เป็นกิริยา ๑๘ ดวง และเป็นวิบาก ๔ ดวง
สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง โดยภูมิ เป็นกามภูมิทั้ง ๑๒ ดวงที่ทำชวนกิจ โลภมูลจิตเกิดขึ้นทำชวนกิจ ๗ ขณะ หลังจากโวฏฐัพพนจิตดับไปทางปัญจทวาร หรือหลังจากมโนทวาราวัชชนจิตดับไปทางมโนทวาร
เพราะฉะนั้น ชวนจิตเกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะ มากกว่าจิตอื่นๆ ในวาระหนึ่งๆ และจิตที่ทำชวนกิจมีทั้งจิตที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก และเป็นกิริยา
อกุศลจิต ๑๒ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง และ โมหมูลจิต ๒ ดวง ทั้ง ๑๒ ดวง ทำกิจเดียว คือ ชวนกิจเท่านั้น ไม่ทำกิจอื่นเลย
กุศลจิตมี ๒๑ ดวง ได้แก่
มหากุศล ๘ ดวง เป็นกามาวจรภูมิ
รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง เป็นรูปาวจรภูมิ
อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง เป็นอรูปวจรภูมิ
มรรคจิต ๔ ดวง เป็นโลกุตตรกุศล เป็นโลกุตตรภูมิ คือ โสตาปัตติมรรคจิต สกทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต และอรหัตตมรรคจิต
รวมเป็นกุศลจิต ๒๑ ดวง ทำชวนกิจเท่านั้น ไม่ทำกิจอื่นเลย
สำหรับกิริยาจิต ๑๘ ดวงที่ทำชวนกิจ เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ที่ทำชวนกิจได้ โดยภูมิ เป็นกามภูมิ ๙ ดวง คือ หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง มหากิริยาจิต ๘ ดวง และเป็นมหัคคตกิริยา ๙ ดวงที่ทำชวนกิจ คือ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ ดวง อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง เป็นจิตของพระอรหันต์ทั้งนั้น รวมเป็นกิริยาจิต ที่ทำชวนกิจได้ ๑๘ ดวง
สำหรับวิบากจิตที่ทำชวนกิจได้ ๔ ดวง มีเฉพาะโลกุตตรวิบากจิตเท่านั้น วิบากจิตอื่นจะทำชวนกิจไม่ได้เลย ซึ่งโลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวงที่ทำชวนกิจ ได้แก่
โสตาปัตติผลจิต ๑ เกิดสืบต่อจากโสตาปัตติมรรคจิต
สกทาคามิผลจิต ๑ เกิดสืบต่อจากสกทาคามิมรรคจิต
อนาคามิผลจิต ๑ เกิดสืบต่อจากอนาคามิมรรคจิต
อรหัตตผลจิต ๑ เกิดสืบต่อจากอรหัตตมรรคจิต
และสำหรับจิตที่เกิดเพียงขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์มี ๔ ดวงเท่านั้น คือ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ สกทามิมรรคจิต ๑ อนาคามิมรรคจิต ๑ อรหัตตมรรคจิต ๑ จะไม่มีการเกิดซ้ำอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ เพราะเมื่อเกิดแล้วจะทำกิจดับกิเลส เป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้นของโลกุตตรจิตนั้นๆ จึงไม่ต้องเกิดซ้ำอีก
อกุศลจิตทุกดวงทำชวนกิจได้ไหม
ได้ ทุกดวง ไม่เว้นเลย
ทำกิจอื่นได้ไหม
ไม่ได้
กุศลจิตทุกดวงทำชวนกิจได้ไหม
ได้
ทำกิจอื่นได้ไหม
ไม่ได้
วิบากจิตทุกดวงทำชวนกิจได้ไหม
ทำได้ไม่ทุกดวง เฉพาะโลกุตตรวิบากจิตเท่านั้นที่ทำชวนกิจได้ วิบากอื่นทำ ชวนกิจไม่ได้เลย
กิริยาจิตทุกดวงทำชวนกิจได้ไหม
ทำได้ไม่ทุกดวง เว้นอเหตุกกิริยา ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง กิริยาจิตอื่นนอกจากนั้นทำได้ เพราะว่าเป็นของ พระอรหันต์
ขณะที่กำลังคิด กำลังเข้าใจอย่างนี้ เป็นโยนิโสมนสิการที่กำลังเจริญขึ้น
กิจที่ ๑๓ คือ ตทาลัมพนกิจ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์ต่อจากชวนะ โดยชาติเป็นวิบาก โดยภูมิเป็นกามภูมิ เพราะฉะนั้น จิตนี้จะรู้แต่กามอารมณ์เท่านั้น ไม่รู้อารมณ์อื่นเลย และเมื่อเกิดใน กามภูมิ ก็ต้องเป็นกามบุคคล คือ คนที่เกิดในภูมิมนุษย์ หรือในสวรรค์ หรือ ในอบายภูมิเท่านั้นที่จะมีจิตเกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ รับรู้อารมณ์ต่อจากชวนะ
ถ้าเกิดในอรูปพรหมบุคคล ไม่มีตทาลัมพนจิต หรือถ้าขณะใดมีอารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่กามอารมณ์ ขณะนั้นจิตจะเกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจไม่ได้
สำหรับจิตที่ทำตทาลัมพนกิจ โดยชาติเป็นวิบาก โดยภูมิเป็นกามภูมิ ทั้งหมด มี ๑๑ ดวง ได้แก่ สันตีรณจิต ๓ ดวง และกามาวจรวิบากหรือมหาวิบาก ๘ ดวง เมื่ออารมณ์ที่กระทบทางปัญจทวารยังไม่ดับ ชวนจิตดับไปแล้ว ยังมีอารมณ์เหลืออยู่ ๒ ขณะ วิบากจิตก็เกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ ซึ่งอาจจะเป็นสันตีรณจิตดวงหนึ่งดวงใดใน ๓ ดวง หรือมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง แล้วแต่ว่าชวนะนั้นจะเป็นชวนะประเภทใด
แสดงให้เห็นว่า เป็นจิตที่ทำกิจสำคัญน้อยที่สุด เพราะจะเกิดหรือไม่เกิด ขึ้นอยู่กับว่าจะมีอารมณ์เหลือหลังจากที่ชวนจิตดับไป หรืออารมณ์ดับพร้อมกับชวนจิต ถ้าอารมณ์ที่กระทบกับตา หรือหู หรือจมูก ลิ้น กาย ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะดับไปพร้อมกับชวนจิต ก็ไม่มีจิตเกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ
เพราะฉะนั้น การที่จิตจะทำตทาลัมพนกิจได้ ต้องแล้วแต่ว่าอารมณ์ดับหรือ ยังไม่ดับ ถ้าอารมณ์ดับแล้วก็ทำตทาลัมพนกิจไม่ได้
ถามว่า ถ้ากามาวจรจิตเกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจไม่ได้ กามาวจรจิตที่เกิดขึ้นนั้นจะทำกิจอะไรต่อจากชวนกิจ
กามาวจรจิตนั้น ก็ต้องทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้น ก็ใกล้เคียงกันมากระหว่าง วิถีจิตที่กำลังรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ กับภวังคจิตที่รู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ
เพราะฉะนั้น ก็มีตทาลัมพนกิจเพียง ๒ ขณะ ที่จะรู้อารมณ์เดียวกับชวนะ ถ้าอารมณ์ยังเหลือเท่านั้น มิฉะนั้นก็เป็นภวังคกิจ ซึ่งจิตที่ทำภวังคกิจก็ได้แก่ สันตีรณจิต และมหาวิบากจิตนั่นเอง สำหรับจิตที่ทำตทาลัมพนกิจมี ๑๑ ดวง แต่สำหรับกามาวจรจิตที่ทำภวังคกิจมี ๑๐ ดวง นี่เป็นข้อที่ต่างกัน คือ โสมนัสสันตีรณะทำตทาลัมพนกิจได้ แต่ทำภวังคกิจไม่ได้ ความต่างจึงต่างที่ ตทาลัมพนะกิจ ซึ่งสันตีรณจิตทั้ง ๓ ดวงทำกิจนี้ได้
จิตที่ทำตทาลัมพนกิจ กับจิตที่ทำภวังคกิจในกามภูมิ เป็นจิตประเภทเดียวกัน แต่ทำกิจต่างกัน ยกเว้นโสมนัสสันตีรณจิต
สันตีรณจิตทำกิจปฏิสนธิได้ ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ และอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในมนุษย์ และสวรรค์ชั้นต้น สำหรับในภูมิมนุษย์ทำกิจปฏิสนธิเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด แต่ถ้าไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ สันตีรณจิตทั้ง ๓ ดวง ทำสันตีรณกิจ และ ตทาลัมพนกิจได้
การทบทวนเรื่องจิตโดยกิจ หรือโดยขณะที่เกิดบ่อยหรือไม่บ่อย จะทำให้ โยงใยไปถึงการพิจารณาจิตโดยนัยต่างๆ ได้ คือ นอกจากจะแสดงจำนวนของกิจ โดยจิตว่า มีกี่ดวงที่ทำกิจนั้นๆ ก็อาจจะทบทวนด้วยตนเองว่า จิตประเภทหนึ่งๆ ทำกิจได้กี่กิจ เช่น อกุศลจิตทำกิจได้กี่กิจ ได้ ๑ กิจ คือ ชวนกิจ และอเหตุกจิต มี ๑๘ ดวง แต่ละดวงทำกิจอะไรได้ เป็นเรื่องละเอียดซึ่งทุกท่านทบทวนได้ เช่น อุเบกขาสันตีรณะ ๒ ดวง ทำกิจได้ ๕ กิจ คือ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ สันตีรณกิจ และตทาลัมพนกิจ แต่โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง ทำกิจได้ ๒ กิจ คือ สันตีรณกิจ และตทาลัมพนกิจ
จิตอื่นๆ ก็ทบทวนได้เอง เช่น มหากุศลจิต ๘ ดวง ทำกิจได้ ๑ กิจ คือ ชวนกิจ มหากิริยาจิต ๘ ดวง ทำกิจได้ ๑ กิจ คือ ชวนกิจ
มหาวิบากจิต ๘ ดวง ทำกิจได้กี่กิจ
ขณะนี้ก็กำลังทำอยู่ มหาวิบากกำลังทำกิจอยู่ เพราะว่าทุกท่านในที่นี้ ไม่ได้พิการแต่กำเนิด เพราะฉะนั้น มีมหาวิบากที่กำลังทำกิจ ทำได้กี่กิจ
มหาวิบาก ๘ ดวง ทำกิจได้ ๔ กิจ คือ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และ ตทาลัมพนกิจ
เพราะฉะนั้น แล้วแต่ประเภทของจิตว่า จิตประเภทนี้ทำกิจอะไรได้บ้าง นอกจากนั้นยังประมวลจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ โดยจำแนกเป็นวิญญาณธาตุ ๗
ธาตุรู้ หรือวิญญาณธาตุ มี ๗ คือ
จักขุวิญญาณธาตุ ๑ เป็นจิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
โสตวิญญาณธาตุ ๑ เป็นจิตที่ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู
ฆานวิญญาณธาตุ ๑ เป็นจิตที่รู้กลิ่นที่กระทบจมูก
ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ เป็นจิตที่ลิ้มรสที่กระทบลิ้น
กายวิญญาณธาตุ ๑ เป็นจิตที่รู้โผฏฐัพพะที่กระทบกาย
รวมเป็นวิญญาณธาตุ ๕
ที่เป็นแต่ละหนึ่งเพราะไม่สามารถเกิดทางอื่น และไม่สามารถรู้อารมณ์อื่นได้เลย จักขุวิญญาณธาตุต้องเกิดโดยอาศัยจักขุปสาทเป็นจักขุทวาร และรู้เฉพาะรูปารมณ์ โสตวิญญาณธาตุต้องเกิดโดยอาศัยโสตปสาทเป็นโสตทวาร และรู้เฉพาะสัททารมณ์ ฆานวิญญาณธาตุต้องเกิดโดยอาศัยฆานปสาทเป็นฆานทวาร และรู้เฉพาะคันธารมณ์ ชิวหาวิญญาณธาตุต้องเกิดโดยอาศัยชิวหาปสาทเป็นชิวหาทวาร และรู้เฉพาะรสารมณ์ กายวิญญาณธาตุก็เป็นวิญญาณธาตุที่ต้องเกิดโดยอาศัยกายปสาทเป็นกายทวาร และรู้เฉพาะโผฏฐัพพารมณ์
เพราะฉะนั้น วิญญาณธาตุ ๕ รู้ได้เฉพาะอารมณ์ของตนเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น
วิญญาณธาตุต่อไป คือ มโนธาตุ ๓ และมโนวิญญาณธาตุ
ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง เป็นมโนธาตุเพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า มโนธาตุ ๓ ก็รู้ว่าหมายความถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง จิต ๓ ดวงนี้เท่านั้นที่ชื่อว่า มโนธาตุ เพราะสามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์
จิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวง จิตที่เหลือทั้งหมดเป็นมโนวิญญาณธาตุ มีกี่ดวง
ผู้ฟัง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ เป็นวิญญาณธาตุ ๕ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ เป็นมโนธาตุ รวมเป็น ๑๓ ก็เหลืออีก ๗๖
สุ. สำหรับวิญญาณธาตุ ๕ ต้องเป็น ๑๐ ดวง คือ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง รวมเป็น ๑๐ และมโนธาตุอีก ๓ ดวง รวมเป็น ๑๓ ดวง
จิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวง ๑๓ ดวงเป็นวิญญาณธาตุ ๕ และมโนธาตุ ๓ เพราะฉะนั้น จิตที่เหลือจึงเป็น ๗๖ ดวง เป็นมโนวิญญาณธาตุ
ผู้ฟัง จากการตอบปัญหาสังเกตได้ว่า จิตมีการเปลี่ยนแปลง บางครั้ง เข้าใจถูก บางครั้งเข้าใจผิด ถ้าไม่ได้อบรมความเข้าใจถูกมาก่อน คำตอบนี้กะทันหัน ถ้าอบรมมาไม่ละเอียดพอคำตอบก็ผิด รู้สึกว่าธรรมกว้างมาก ชั่วขณะที่ ตอบนั้น ไม่ครบ ไม่ทั่ว รู้สึกว่าความแยบคายและการอบรมยังไม่พอ บางครั้งลังเล คิดแล้วคิดอีกก็ไม่มั่นใจ ขณะที่ตอบได้ ตอบถูกด้วย ก็แสดงว่าอบรมถูกต้อง โยนิโสมนสิการเกิดทันที ถ้าเข้าใจไม่ถูก จะโยนิโสก็โยนิโสไม่ถูก เพราะว่าลังเล คิดแล้วคิดอีก แสดงว่าโยนิโสมนสิการจะต้องอบรม และเป็นอนัตตาจริง ๆ
สุ. ขณะที่กำลังฟังและเข้าใจ เป็นการอบรมเจริญโยนิโสมนสิการจริงๆ จะเห็นได้ว่า แต่ละท่านแล้วแต่เหตุปัจจัยจริงๆ บางกาลจิตก็เฉียบแหลมคม ไม่หลงไม่ลืม แต่บางกาลแม้จะได้ศึกษาหรือพิจารณาแล้วก็ยังหลงลืมได้ เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการเป็นสิ่งที่ต้องเห็นความสำคัญ และไม่ประมาทจริง ๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๔ ตอนที่ ๑๘๓๑ – ๑๘๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883