แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836


    ครั้งที่ ๑๘๓๖


    สาระสำคัญ

    หัวใจของพระพุทธศาสนาคือต้องศึกษา เพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    สติระลึกแล้วค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น จะไม่มีหนทางอื่นเลย


    สนทนาธรรมที่ จ. กาญจนบุรี

    วันศุกร์ที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๑

    ต่อที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๑


    ถ. ท่านอาจารย์ต้องช่วยปรับความคิดผมเสียใหม่ ... ท่านอาจารย์บอกว่าไม่ถูก ผมก็ทั้งหนักใจและกลุ้มใจ

    สุ. ตั้งต้นใหม่ได้ เรียนใหม่ เข้าใจใหม่ จะได้ถูก ... เรามีทุกอย่าง พร้อมแล้ว เพียงแต่ความเห็นถูก เราก็แก้ไขได้ ถ้าเรายอมแก้สิ่งที่ผิดก็ดี เป็นตัวอย่างที่ประเสริฐด้วย เพราะว่าคนส่วนมากรักตัวสำคัญตนจนไม่ยอมแก้ เป็นอุปสรรคมาก ถ้าใครยอมแก้ได้ คนนั้นเป็นบัณฑิต

    ถ. ผมอยากจะแก้ตลอดเวลา ขอให้มีผู้แนะนำทางที่ถูกต้อง ...

    สุ. ก็ดีที่ยังเป็นผู้ที่ฟัง บางคนเขาคิดว่าถูกแล้ว เขาไม่ฟังคนอื่นเลย ยิ่งแย่ ไม่มีทางที่จะรู้ว่าตัวเองถูกหรือผิด

    พระพุทธศาสนามีประโยชน์ จะแก้ด้วยพระพุทธศาสนา เราควรจะอบรมเด็ก หรืออยากจะตั้งมูลนิธิ หรือสมาคมอะไรก็ตาม ใครที่พูดอย่างนี้ ให้เขาศึกษาด้วย อย่าให้เขาเพียงแต่คิดที่จะให้คนอื่นทำ

    ถ้าเราเน้นอย่างนี้ เราอาจจะได้อีกหลายคนที่เขาจะศึกษาและเข้าใจ และช่วยกันได้ อย่างไรก็ตามถ้าคนอื่นเขาไม่ทำ เราทำก็แล้วกัน เข็นคนอื่นนี่ยากจริงๆ เพียงแค่ฟังนี่ก็ยากที่จะฟัง เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องยากและ ไม่ทั่วไปกับทุกคน ถ้าเขาไม่เคยสะสมบุญไว้แต่ก่อน ก็ไม่มีโอกาสที่จะฟัง หรือฟังแล้วก็ไม่สนใจ หรือฟังแล้วก็ยังไปอย่างอื่นอีกที่คลาดเคลื่อน

    ถ. ผมว่าหลงกันมากมาย

    สุ. และจะทำอย่างไร มีทางเดียว คือ ช่วยให้ท่านได้ศึกษา หัวใจของ พระพุทธศาสนา คือ ต้องศึกษา ช่วยกันให้ศึกษา เพราะฉะนั้น เราไม่ไปคะยั้นคะยอใคร ตั้งต้นที่ตัวเรา และทุกคนศึกษา ตั้งต้นที่ตัวเอง ก็จะมีคนศึกษาอีกมาก

    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๑

    สุ. ใครมีประสบการณ์อะไรบ้างไหม ที่อยากจะเล่าให้ผู้อื่นได้รับฟังด้วย เพราะกว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ละชาติๆ ชีวิตของทุกท่านคงต้องฟันฝ่าอุปสรรคทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างมากมายนับไม่ถ้วน

    ผู้ฟัง ประสบการณ์ในการศึกษาธรรม อย่างในสมัยพุทธกาล ตอนที่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณใหม่ๆ ยังไม่ได้เทศน์โปรดใครเลย ผมคิดว่า ขณะนั้นพระพุทธองค์คงลำบากใจมากว่า ธรรมที่ ทรงตรัสรู้นั้นลึกซึ้ง เวไนยสัตว์รู้ได้ยาก เมื่อยากมากๆ และไม่มีใครรู้เลย จะมีใครมารับรองว่า พระพุทธองค์ทรงรู้จริง ถ้าไม่มีท่านอัญญาโกณฑัญญะรู้ตามขึ้นมา ธรรมของพระพุทธเจ้าอาจจะสูญไปเลยอย่างน่าเสียดาย เพราะไม่มีใครเชื่อ และหลังจากนั้นเมื่อทรงเทศนาแล้ว มีผู้รู้ตาม มีทั้งพระธรรม พระอริยสงฆ์แล้ว คนก็ยังไม่ค่อยเชื่อว่าเป็นศาสนาที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มา บางคนก็ไม่เชื่อพระไตรปิฎก แต่เป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วในสมัยพุทธกาลว่า ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้ตรัสรู้ และในวันนั้นก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบถ้วน

    ย้อนมาชีวิตประจำวันในขณะนี้ มีหลายสำนัก หลายที่ หลายแห่ง สอนกันต่างๆ นานา แม้แต่พระสงฆ์เองก็พูดว่า เดี๋ยวนี้ไปนับถือพระสงฆ์องค์นั้นองค์นี้แล้ว ลืมครูบาอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ของเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

    ธรรมของพระพุทธเจ้าต้องมีการพิสูจน์ แนวที่อาจารย์สุจินต์บรรยายอยู่นี่ ถูกไหม ตรงไหมกับพระพุทธพจน์ พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมีการพิสูจน์กัน

    ผมก็เอาตัวผมเองพิสูจน์กับผู้ที่ได้ศึกษาอยู่ใกล้ๆ กันหลายคน อย่างเช่น อาจารย์สุจินต์บรรยายว่า ทางตา มีเห็นกับสิ่งที่ถูกเห็น ทางหู มีเสียงกับมีได้ยิน อย่างนี้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ไหม

    ถ้าเราระลึกรู้ในนามธรรมและรูปธรรมอย่างนี้แล้ว สักวันหนึ่งจะได้ประจักษ์แจ้งหรือไม่ ก็ได้เริ่มมีการพิสูจน์กันอยู่เรื่อยๆ ตลอดมาสำหรับตัวผม สติระลึกรู้อย่างนี้ จะเป็นทางนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้หรือไม่ ซึ่งผมเองก็เริ่มระลึกรู้บ้าง ทาง ๖ ทวาร แต่ก็ยังน้อย และความรู้สึกที่ระลึกนี่ตรงไหม เหมือนกันไหมกับเพื่อนฝูงที่มาเรียนกันอยู่ที่นี่ มีใครเหมือนเราบ้างไหมที่เริ่มระลึกอย่างนี้ ก็ได้มีการสอบทานกัน สนทนาธรรมกัน ก็ตรงกันหลายคนทีเดียว

    ผมอยากจะพูดว่า เชื่อได้แน่ว่าเป็นคำสอนที่ถูกและตรง อย่างลักษณะของ การระลึกเป็นอย่างไร ผมขอยกตัวอย่างเช่น การระลึกนี่ จะมีความรู้สึกว่า เผลอๆ ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นลักษณะไปจดจ้องนั่นไม่ใช่สติ

    นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้สนทนากับสหายธรรม ตรวจสอบแล้วก็ตรงกันอย่างนี้ว่า การระลึกนี่ เป็นลักษณะเผลอๆ ขึ้นมาว่า นี่นะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเราได้ยิน ได้ฟังมาเป็นสิบๆ ปี ก็ได้เห็นตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นอย่างนี้จริงๆ นี่คือ การพิสูจน์ธรรม ถ้าจะพูดทั้ง ๖ ทางก็จะยืดยาวไป ผมกล้ายืนยันว่า ที่อาจารย์สอนนี่ตรงแล้ว

    สุ. ที่ว่าเผลอๆ คงไม่ได้หมายความว่า เผลอ จริงๆ แต่คงหมายความว่า สภาพของการระลึกรู้เกิดขึ้นโดยไม่ได้เตรียมตัว หรือโดยไม่ได้ตั้งใจ จงใจ

    และตามที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า น่าคิดสำหรับคนในยุคนี้ที่จะระลึกถึง พระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวก เพราะว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วปรากฏตามปกติ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนี้ที่กำลังเห็น และจะประจักษ์ว่า ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสภาพธรรมที่กระทบจักขุปสาทแล้วดับ เร็วถึงอย่างนั้น เพราะว่ารูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิตเท่านั้นเอง จักขุปสาทรูปก็มีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต และเวลาที่จักขุปสาทรูปและรูปารมณ์เกิดขณะแรก จิตที่เห็นยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ก็ล่วงไปหลายขณะ เหลืออายุสั้นกว่านั้นอีก รูปารมณ์ที่กระทบจักขุปสาทก็ดับ และจักขุปสาทซึ่งเป็นทางให้เกิดจิตเห็นและจิตที่รู้รูปารมณ์ทางจักขุทวารโดยอาศัย จักขุปสาทก็ดับ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความรวดเร็วอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม โดยละเอียดให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ ก็ยากแสนยากที่จะรู้ว่า เป็นไปได้สำหรับปัญญาที่ได้อบรมเจริญแล้ว

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความมั่นคงจริงๆ จะรู้ว่า ปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะถ้าถามทุกท่านก็ต้องบอกว่า เห็นคน เห็นวัตถุ เห็นสิ่งต่างๆ และทุกคนที่อบรมเจริญปัญญาก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ถ้าไม่ระลึก เพราะอาศัยการได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏแล้วค่อยๆ รู้ขึ้น จะไม่มีทางละคลายถ่ายถอนการที่เคยยึดถือว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่างๆ ซึ่งเป็นความเห็นผิด เพราะว่าตามความเป็นจริง ต้องเป็นเพียงลักษณะของ รูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทแล้วดับอย่างรวดเร็ว จึงจะไม่มีเรา ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกาย ที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึกในขณะนี้

    สภาพธรรมมีอยู่แล้ว ผู้ที่มีความเข้าใจอย่างมั่นคงจะไม่หาทางอื่น จะไม่คิด วิธีลัดวิธีอื่น แต่รู้ว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยสติระลึกและค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น จะไม่มีหนทางอื่นเลย

    แต่ถ้าใครคิดว่าช้าไป รอไม่ได้ ก็หมายความว่า เห็นผิด และข้อปฏิบัตินั้น ก็ต้องผิดตามไปด้วย เพราะว่าพยายามไปทำอย่างอื่นที่ไม่สามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติจนแทงตลอดได้

    ถ. ผมยังติดใจเรื่องพระโพธิสัตว์คราวที่แล้ว ที่ท่านเสวยพระชาติเป็นอะไร ไม่ทราบ จำไม่ได้ พระโพธิสัตว์ท่านสร้างบารมีมา ๔ อสงไขยแสนกัป บารมีมีอยู่ ๑๐ ประการ ถ้านับเป็นอุปบารมี ปรมัตถบารมี ก็เป็น ๓๐ ทัศ การบำเพ็ญบารมี แต่ละพระชาติ อย่างในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดร ผมเข้าใจว่าคงไม่ได้บำเพ็ญทานอย่างเดียว คงจะบำเพ็ญหลายๆ อย่าง และการบำเพ็ญของท่าน ผมสงสัยว่า ท่านเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า คือ บำเพ็ญบารมีที่จะถือว่าเป็นบารมีได้ ต้องมีจุดมุ่งหมายว่าเพื่ออะไร และผมเข้าใจว่า พระโพธิสัตว์ต้องรู้แนวทางการปฏิบัติ อย่างรู้แนวทางการเจริญวิปัสสนา ผมเข้าใจว่าท่านต้องรู้ด้วย เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    สุ. พระโพธิสัตว์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๒๔ พระองค์ ในระยะเวลาที่ ห่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ก็มีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม และเป็นผู้ที่ ถ้าปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันต์ก็บรรลุได้ แต่เพราะทรงปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ จึงต้องบำเพ็ญบารมีอื่นๆ จนกว่าจะได้ทรงตรัสรู้เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระองค์เอง

    ถ. แสดงว่าพระโพธิสัตว์ท่านมีปัญญา ฟังธรรมแล้วสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้

    สุ. ใน ๔ อสงไขยแสนกัป บางพระชาติเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เพราะฉะนั้น ในชาตินั้นไม่มีโอกาส แต่การสะสมการได้ยินได้ฟัง และความเข้าใจพระธรรมต้องตรง พร้อมทั้งเป็นผู้ที่จะต้องอบรมบารมีทุกประการด้วย

    ถ. การสะสมที่ว่า ก็สะสมปัญญาที่จะแทงตลอดอริยสัจจธรรมนี้ ใช่ไหม

    สุ. ในชาติที่สามารถ เช่น ในชาติที่เป็นโชติปาลมาณพ ได้ศึกษาพระไตรปิฎกแตกฉาน และอบรมเจริญวิปัสสนาด้วย เพราะคงไม่มีใครที่เข้าใจพระไตรปิฎกแตกฉานและได้เฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่เป็นผู้ที่ มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มิฉะนั้นแล้วจะชื่อว่าเข้าใจพระธรรมไม่ได้ ถ้าเพียงแต่ได้ยิน ได้ฟังและแต่สติปัฏฐานไม่เกิดเลย เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นพระชาติไหน ที่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้แค่ไหน แต่พระชาติอื่นๆ ก็ต้องบำเพ็ญบารมีอื่นๆ ให้ครบถ้วนด้วย

    ถ. เพราะฉะนั้น กุศลทุกประเภทเราประมาทไม่ได้ เราต้องเจริญทุกอย่าง

    สุ. ก็เป็นความสงสัยในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระชาติก่อนๆ แต่เหตุจะต้องสมควรแก่ผล ข้อสำคัญที่สุด คือ ทุกท่านได้เห็นชีวิตตามความเป็นจริงจากชีวิตของท่านเอง ในชาติที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม และได้เข้าใจด้วย แต่ชีวิตต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย บางครั้งอาจจะมีสุข มีทุกข์ มีอุปสรรค มีเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตแต่ละชาติก็ไม่ซ้ำกัน แต่จะต้องมีการฟัง มีการระลึกถึงพระธรรม และเป็น ผู้อยู่ในธรรม คือ ประพฤติธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ฟังแล้วไม่มีโยนิโสมนสิการที่จะพิจารณาสภาพของจิตที่จะให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น

    ถ. ขนาดพระองค์บำเพ็ญบารมีมาจนชาติสุดท้าย ที่เป็นพระสิทธัตถะแล้ว ตอนที่เสด็จออกบรรพชา ขนาดมีพระปัญญาบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว พระองค์ยังต้องทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลาตั้ง ๖ ปี แสดงว่าพระธรรมไม่ใช่ของง่ายๆ ที่ใครจะไปทำ แค่อาทิตย์สองอาทิตย์ หรือ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน อย่างที่ปรารภไว้ในอานิสงส์ท้าย มหาสติปัฏฐานสูตร เพราะนั่นท่านพูดไว้สำหรับผู้มีปัญญา แต่สำหรับเราๆ คงเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แม้แต่พระพุทธองค์เองซึ่งบำเพ็ญพระบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว พระองค์ยังต้องทรงใช้เวลาตั้ง ๖ ปีกว่าจะได้ ยากมากจริงๆ ที่จะเข้าใจได้

    สุ. แต่ละพระองค์ไม่เหมือนกัน บางพระองค์ไม่ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาเลย แต่ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ต้องทรงบำเพ็ญอย่างนั้น เพราะอดีตกรรม

    ถ. กรรมยังตามมาจนในชาติสุดท้าย

    สุ. ไม่พ้น เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็เพื่อให้โยนิโสมนสิการเจริญขึ้น ฟังด้วยความแยบคาย ด้วยการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพื่อสติปัฏฐาน จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และค่อยๆ รู้ขึ้น แต่ละภพ แต่ละชาติ จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    นี่คือจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม อย่าคิดว่าจะต้องฟังเรื่องนั้น เรื่องนี้ มากๆ ให้จบ ท่องให้ได้ แต่เพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ. ขณะที่คิดนึก ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมจะรู้ว่าเป็นสภาพที่คิดนึกไหม

    สุ. ตอบเองได้ ใช่ไหม

    ถ. ก็คงไม่ได้ ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    ถ. การศึกษาพระธรรมต้องอาศัยความเข้าใจเป็นหลัก แต่ส่วนมากฟังแล้วจะเป็นท่อง ท่องว่า เห็นขณะนี้เป็นจิตเห็น เกิดขึ้นทางตาเพราะเหตุปัจจัย แต่การศึกษาธรรมให้เข้าใจจริงๆ ไม่ได้หมายความว่า ที่ฟังว่า จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ไม่ได้หมายความว่า เราต้องไปรอสติให้เกิด และจะเป็นปัจจัยให้เรารู้ สภาพธรรม ก็ไม่ใช่ ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่

    ถ. ไม่ได้หมายความว่า เป็นตัวตนที่จะต้องเจริญสติด้วย ใช่ไหม

    สุ. หมายความว่า เข้าใจลักษณะความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายละเอียดขึ้น เพื่อที่จะได้ละคลายความเป็นตัวตนเวลาที่สติเกิด

    ถ. ทำไมเวลาฟังพระธรรม สติจึงมีโอกาสเกิดมากกว่า หลังจากฟังไปแล้ว แตกต่างกันมาก เพราะเหตุใด

    สุ. อวิชชาที่สะสมมามีมากหรือมีน้อย

    ถ. มีมากก็หลงลืมมาก

    สุ. เป็นของธรรมดา ถ้ารู้จักตัวเองว่าอวิชชาต้องมีมาก และขณะนี้กำลังสะสมวิชชา เพื่อให้มีกำลังที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการเข้าใจลักษณะของธรรม ก็ไม่มีวิชชาที่จะละอวิชชา ความไม่รู้

    ถ. ขณะที่ท่องว่าเป็นจิตเห็น ถ้าท่อง ขณะนั้นสติคงไม่ได้ระลึกถึง สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ใช่ไหม

    สุ. ขณะที่ท่องเป็นขณะที่คิด ทำไมถึงท่อง

    ถ. แต่ก็ยังโกหกตัวเองว่า ขณะนั้นสติเกิดแล้ว

    สุ. เพราะอะไร

    ถ. ความอยาก อยากมีสติ

    สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ ความต้องการ เป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องรู้จักอย่างดี อย่างละเอียดจึงจะละได้

    ถ. หลังจากนั้นโทสะมักจะตามมา และจะโทษว่า ฟังพระธรรมแล้ว ไม่เข้าใจ การเจริญสติผิดพลาด ก็เพราะตัวเอง อยู่ที่ตัวเองมากกว่า

    สุ. ก็เป็นเรื่องของตัวตนทั้งหมด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๔ ตอนที่ ๑๘๓๑ – ๑๘๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564