แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819


    ครั้งที่ ๑๘๑๙


    สาระสำคัญ

    อรรถกถากุรุธรรมชาดกที่ ๖ - ผู้มีความละอายในกุรุธรรม ๑๑ ท่าน

    อานุภาพแห่งคุณความดี


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๑


    คงจะมีบ่อยครั้งที่ท่านผู้ฟังได้ทำให้คนอื่นลำบากโดยไม่ตั้งใจเลย แต่ถ้า เป็นผู้ที่รอบคอบและคิดถึงสักเล็กน้อย ก็อาจจะทำให้เขาไม่ลำบากได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ละเอียดก็จะรู้สึกละอายที่ทำให้ผู้อื่นต้องลำบากเดือดร้อนเพราะตน

    พระมหาอุปราชตรัสว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็มิได้ทำเราให้ปลื้มอกปลื้มใจได้ ก็ปุโรหิตย่อมรักษาได้ดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของปุโรหิตนั้นเถิด

    พวกทูตก็ได้พากันเข้าไปหาปุโรหิตแล้วขอกุรุธรรม

    ซึ่งปุโรหิตในครั้งนั้นก็คือท่านพระมหากัสสปะในครั้งนี้

    ฝ่ายท่านปุโรหิตนั้น วันหนึ่งได้ไปเฝ้าพระราชา ระหว่างทางเห็นรถมีสีอ่อนสวยงามเหมือนแสงอาทิตย์อ่อนๆ ซึ่งพระราชาองค์หนึ่งทรงส่งมาถวายพระราชานั้น ท่านก็ถามว่า นี่รถของใคร เมื่อได้ทราบว่าเป็นรถที่นำมาถวายพระราชา ท่านก็เกิดความคิดว่า เราก็แก่แล้ว ถ้าพระราชาจะพระราชทานรถคันนี้ให้เรา เราก็จักได้ขึ้นรถคันนี้เที่ยวไปอย่างสบาย

    เมื่อท่านไปเฝ้าพระราชา ราชบุรุษต่างเมืองก็ได้ถวายรถคันนั้นแก่พระราชา พระราชาทอดพระเนตรแล้วตรัสว่า

    รถของเราคันนี้งามเหลือเกิน พวกท่านจงให้แก่อาจารย์ของเราเถิด

    แต่ท่านปุโรหิตมิได้ปรารถนาที่จะรับพระราชทาน แม้พระราชาจะตรัสอยู่บ่อยๆ ท่านก็ไม่ปรารถนาที่จะรับพระราชทานเลย เพราะท่านปุโรหิตได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรารักษากุรุธรรมอยู่แท้ๆ ยังได้กระทำความโลภในสิ่งของของคนอื่น ศีลของเราคงจะแตกทำลายไปแล้ว

    ปุโรหิตนั้นได้เล่าเรื่องราวนั้นให้พวกทูตฟัง แล้วกล่าวว่า

    เรามีความละอายในกุรุธรรมอยู่ กุรุธรรมนั้นมิได้ยังให้เราปลื้มอกปลื้มใจเลย เพราะฉะนั้น เราไม่อาจให้กุรุธรรมแก่ท่าน

    ทูตเหล่านั้นได้กล่าวกะปุโรหิตว่า

    ศีลย่อมไม่แตกทำลายด้วยเหตุเพียงเกิดความโลภอยากได้ เมื่อท่านเกิด ความละอายแม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จักกระทำความล่วงละเมิดอะไรได้

    แล้วได้รับเอาศีลในสำนักของปุโรหิต จดลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    ท่านที่ ๕ แล้ว ต่อไปเป็นท่านที่ ๖

    ท่านปุโรหิตกล่าวว่า

    แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น กุรุธรรมก็ไม่ยังเราให้ยินดีพอใจได้ ก็อำมาตย์ผู้ถือ เชือกรังวัดรักษาได้ดี พวกท่านจงรับเอาในสำนักของอำมาตย์นั้น

    ทูตเหล่านั้นก็ได้เข้าไปหาอำมาตย์แม้นั้นแล้วขอกุรุธรรม

    ซึ่งอำมาตย์ผู้รังวัดในครั้งนั้นก็คือท่านพระมหากัจจายนะในครั้งนี้

    จะเห็นความละเอียดแม้ในการรังวัด ซึ่งทำให้ในชาติสุดท้ายท่านเป็นผู้เลิศกว่าบรรดาสาวกผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยละเอียด แสดงให้เห็นว่า การที่มีมนสิการสะสมความละเอียดในชีวิตประจำวันแต่ละชาติๆ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่เป็นเลิศใน แต่ละทางต่างๆ กัน

    ฝ่ายอำมาตย์ผู้รังวัดนั้น วันหนึ่งเมื่อจะวัดเนื้อที่นาในชนบท ได้เอาเชือกผูกที่ปลายไม้ และให้เจ้าของนาจับปลายข้างหนึ่ง ตนเองจับปลายข้างหนึ่ง ไม้ที่ผูกปลายเชือกซึ่งอำมาตย์ถือไป จรดตรงกลางรูปูตัวหนึ่ง อำมาตย์นั้นคิดว่า ถ้าเราจักปักไม้ ลงในรูปู ปูที่อยู่ข้างในก็จักตาย ก็ถ้าเราจักปักล้ำไปข้างหน้า เนื้อที่ของหลวงก็จักขาด ถ้าเราจักปักร่นเข้ามา เนื้อที่ของกฎุมพีก็จักขาด เราจะทำอย่างไรดีหนอ

    ผู้ที่มีความเป็นกลางก็ต้องคิด เพราะว่าเป็นผู้ที่ตรง

    อำมาตย์นั้นคิดว่า ถ้าปักไม้ลงในรูปูก็จะรู้ได้ว่า มีปูอยู่ข้างในหรือไม่มี ท่านก็ได้ปักไม้นั้นลงไปในรูปู ปูก็ส่งเสียงดังกริ๊กๆ ท่านก็คิดว่า ถ้าไม้ปักลงบนหลังปู ปูก็จักตาย ศีลของเราก็จะขาด

    อำมาตย์ผู้รังวัดเล่าเรื่องนั้นให้แก่ทูตทั้งหลายฟัง แล้วกล่าวว่า

    เรามีความละอายในกุรุธรรมเพราะเรื่องนี้ เราจึงไม่อาจให้กุรุธรรมแก่พวกท่าน

    ทูตเหล่านั้นกล่าวกะอำมาตย์ผู้รังวัดว่า

    ท่านไม่มีจิตคิดว่า ปูจงตาย กรรมที่ไม่มีเจตนาความจงใจไม่ชื่อว่าเป็นกรรม ท่านมีความละอายแม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จักกระทำความล่วงละเมิดอะไรได้

    แล้วได้รับเอาศีลในสำนักของอำมาตย์ แล้วจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    ทั้งหมดมี ๑๑ ท่าน ต่อไปเป็นท่านที่ ๗

    อำมาตย์ผู้รังวัดนั้นกล่าวว่า

    เมื่อเป็นอย่างนี้ กุรุธรรมก็มิได้ทำข้าพเจ้าให้ปลื้มใจ ก็นายสารถีรักษาได้ อย่างดี ท่านทั้งหลายจงรับเอาในสำนักของนายสารถีนั้นเถิด

    ทูตเหล่านั้นก็ได้เข้าไปหานายสารถีแล้วขอกุรุธรรม

    ซึ่งนายสารถีในครั้งนั้นก็คือท่านพระอนุรุทธะในครั้งนี้

    วันหนึ่งนายสารถีนำเสด็จพระราชาไปยังราชอุทยานด้วยราชรถ พระราชา ทรงสำราญพระทัยในพระราชอุทยานนั้นตลอดวัน ตอนเย็นก็ได้เสด็จออกจาก พระราชอุทยานนั้น เสด็จขึ้นทรงรถ เมื่อราชรถนั้นยังไม่ทันถึงพระนคร เมฆฝนก็ตั้งขึ้นในเวลาที่พระอาทิตย์ใกล้จะตก นายสารถีกลัวว่าพระราชาจะเปียกฝน จึงได้ให้สัญญาณด้วยปฏักแก่ม้าทั้งหลาย ม้าทั้งหลายก็วิ่งควบไปด้วยความเร็ว

    และตั้งแต่นั้นมา ม้าเหล่านั้นพอถึงที่ตรงนั้นก็วิ่งควบไปโดยเร็ว ทั้งขาไป พระราชอุทยานก็ดี ขามาจากพระราชอุทยานก็ดี เพราะว่าม้าเหล่านั้นคิดว่า ที่ตรงนั้นมีภัย นายสารถีจึงได้ให้สัญญาณด้วยปฏักในคราวนั้น นายสารถีก็มีความคิดดังนี้ว่า ถึงพระราชาจะเปียกฝนหรือไม่เปียกฝนก็ตาม เราย่อมไม่มีโทษ ไม่มีภัย แต่เราได้ให้สัญญาณปฏักแก่ม้าที่ฝึกหัดมาดีแล้วในสถานที่อันไม่ควร ด้วยเหตุนั้น ม้าเหล่านั้นจึงวิ่งควบทั้งไปและมาลำบากอยู่จนเดี๋ยวนี้ ฉะนั้น ศีลของเราคงจะ แตกทำลายแล้ว

    นายสารถีได้เล่าเรื่องนั้นให้ทูตเหล่านั้นฟัง แล้วได้กล่าวว่า

    ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความละอายในกุรุธรรม เราจึงไม่อาจให้กุรุธรรมแก่ พวกท่านได้

    ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะนายสารถีว่า

    ท่านไม่มีจิตคิดว่า ม้าทั้งหลายจงลำบาก กรรมที่ไม่มีเจตนาคือความจงใจ ไม่จัดว่าเป็นกรรม อนึ่ง ท่านกระทำความละอายด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักกระทำความล่วงละเมิดได้อย่างไร

    แล้วพวกฑูตเหล่านั้นก็ได้รับเอาศีลในสำนักของนายสารถีจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    นายสารถีกล่าวว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็มิได้ทำให้เราปลื้มใจได้ แต่ท่านเศรษฐีรักษาได้ดี พวกท่านจงรับเอากุรุธรรมในสำนักของท่านเศรษฐีเถิด

    พวกทูตจึงเข้าไปหาท่านเศรษฐีนั้นแล้วได้ขอกุรุธรรม

    ซึ่งเศรษฐีในครั้งนั้นก็คือท่านพระสารีบุตรในครั้งนี้นั่นเอง

    วันหนึ่งท่านเศรษฐีได้ไปตรวจข้าวสาลีที่นาของท่าน ตอนจะกลับก็ให้คน ผูกรวงข้าวสาลีกำหนึ่งทำเป็นพุ่มข้าวเปลือกให้ท่าน ภายหลังท่านก็คิดว่า เราจะต้องให้ค่าภาคหลวงจากนานี้ แต่เราก็ได้ให้คนถือเอารวงข้าวสาลีกำหนึ่งจากนาที่ยังไม่ได้ให้ค่าภาคหลวง ก็เรารักษากุรุธรรม เพราะเหตุนั้นศีลของเราคงจะขาดแล้ว

    ท่านเศรษฐีได้เล่าเรื่องนั้นให้ทูตเหล่านั้นฟัง แล้วได้กล่าวว่า

    เรามีความละอายในกุรุธรรมด้วยเหตุนี้ เพราะเหตุนั้นเราไม่อาจให้กุรุธรรมแก่พวกท่าน

    ทูตเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านเศรษฐีว่า

    ท่านไม่มีไถยจิตที่คิดจะลัก เมื่อไม่มีไถยจิต ใครๆ ก็ไม่อาจบัญญัติอทินนาทานได้ ก็ท่านกระทำความละอายแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จักถือเอาของ ของคนอื่นได้อย่างไร

    แล้วได้รับเอาศีลในสำนักของเศรษฐี จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    ท่านเศรษฐีกล่าวว่า

    แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังมิได้ทำเราให้ปลื้มใจได้ แต่ท่านอำมาตย์ผู้ตวง ข้าวหลวงรักษาได้ดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้นเถิด

    ทูตเหล่านั้นก็ได้เข้าไปหาท่านอำมาตย์ผู้ตวงข้าวแล้วขอกุรุธรรม

    ซึ่งท่านอำมาตย์ผู้ตวงข้าวในครั้งนั้นก็คือท่านพระมหาโมคคัลลานะในครั้งนี้

    เมื่อมีใครกล่าวว่า ท่านผู้ใดมีศีลบริสุทธิ์ ผู้ที่ต้องการจะได้พบ ได้เห็น ได้ฟังเรื่องราวจากท่านผู้นั้น ก็ได้ไปหาท่านผู้นั้นเพื่อจะได้ฟังเรื่องราวของท่าน แต่อำมาตย์ท่านนี้กุรุธรรมไม่ได้ทำให้ท่านปลื้มใจ เพราะว่ามีเหตุบางประการที่ทำให้ท่านคิดว่า ท่านล่วงศีล

    วันหนึ่งอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้น ให้คนนับข้าวเปลือกอันเป็นส่วนของหลวง ส่วนตนเอาข้าวเปลือกจากกองข้าวที่ยังไม่ได้นับใส่คะแนน ขณะนั้นฝนตก มหาอำมาตย์ก็ได้เพิ่มคะแนนข้าวเปลือกแล้วกล่าวว่า ข้าวเปลือกที่นับแล้วมีประมาณเท่านี้ แล้วได้โกยข้าวเปลือกที่เป็นคะแนนใส่ลงในกองข้าวเปลือกที่นับไว้แล้ว แล้วก็รีบไปยืนที่ซุ้มประตู แต่ก็คิดว่า เราใส่ข้าวเปลือกคะแนนในกองข้าวที่นับแล้ว หรือใส่ในกองข้าวที่ยังไม่ได้นับ

    ไม่แน่ใจ เพราะว่าทำด้วยความรีบร้อน

    ท่านมหาอำมาตย์คิดว่า ถ้าเราใส่ในกองข้าวเปลือกที่นับไว้แล้ว ของหลวงก็จะเพิ่มขึ้นโดยมิใช่เหตุ ของคฤหบดีทั้งหลายก็จะขาดไป และเราก็รักษากุรุธรรม ด้วยเหตุนั้นศีลของเราก็คงจะแตกทำลายแล้ว

    ท่านมหาอำมาตย์เล่าเรื่องนั้นให้พวกทูตฟัง แล้วได้กล่าวว่า

    เรามีความละอายในกุรุธรรม เพราะเหตุนั้นเราไม่อาจให้กุรุธรรมแก่พวกท่าน

    ทูตเหล่านั้นกล่าวว่า

    ท่านไม่มีไถยจิตคิดจะลัก เมื่อไม่มีไถยจิตที่คิดจะลัก ก็ไม่ใช่อทินนาทาน ก็ท่านมีความละอายด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักถือเอาสิ่งของของคนอื่น ได้อย่างไร

    แล้วได้รับเอาศีลในสำนักของมหาอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้นจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    นี่เป็นท่านที่ ๙ เหลืออีก ๒ ท่าน

    ท่านมหาอำมาตย์กล่าวว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็มิได้ทำให้เราปลื้มใจยินดีได้ แต่นายประตูรักษาได้ดี ท่านทั้งหลายจงถือเอาในสำนักของนายประตูนั้นเถิด

    ทูตเหล่านั้นก็พากันเข้าไปหานายประตูแล้วขอกุรุธรรม

    ซึ่งนายประตูในครั้งนั้นก็คือท่านพระปุณณะในครั้งนี้

    ถ้ามาถามท่านผู้ฟังสมัยนี้ คงจะมีหลายเรื่องซึ่งทำให้ท่านรู้สึกได้จริงๆ ว่า ศีลของท่านขาดไปแล้วเมื่อไรๆ บ้าง

    วันหนึ่งเวลาที่นายประตูจะปิดประตูเมือง ก็ได้ออกเสียงประกาศขึ้น ๓ ครั้ง ครั้งนั้น มีคนเข็ญใจคนหนึ่งได้เข้าไปในป่าหาฟืนและหญ้ากับน้องสาว กำลังเดินกลับมา ได้ยินเสียงนายประตูนั้นประกาศ รีบพาน้องสาวมาทันเวลาพอดี

    นายประตูกล่าวกะคนเข็ญใจนั้นว่า

    ท่านไม่รู้หรือว่ามีพระราชาอยู่ในพระนครนี้ หรือท่านไม่รู้หรือว่าเขาจะต้องปิดประตูพระนครนี้ตั้งแต่ยังวัน ท่านพาภรรยาเที่ยวไปในป่า เที่ยวเล่นรื่นเริงตลอดวัน

    คนเข็ญใจกล่าวว่า

    หญิงคนนี้เป็นน้องสาวของฉันเอง ไม่ใช่ภรรยาของฉัน

    นายประตูนั้นจึงมีความปริวิตกว่า เราเอาน้องสาวเขามาพูดว่าเป็นภรรยา กระทำกรรมอันหาเหตุมิได้หนอ และเราก็รักษากุรุธรรม ศีลของเราคงจะแตกทำลายแล้ว

    คือ พูดไปโดยไม่คิด หรือไม่รู้ความจริง

    นายประตูเล่าเรื่องนั้นให้พวกทูตเหล่านั้นฟัง แล้วกล่าวว่า

    เรามีความละอายในกุรุธรรมด้วยเหตุนี้ ฉะนั้น เราจึงไม่อาจให้แก่พวกท่านได้

    ทูตเหล่านั้นได้กล่าวกะนายประตูว่า

    คำนั้นท่านกล่าวเพราะความสำคัญอย่างนั้น ในข้อนี้ความแตกทำลายแห่งศีลจึงไม่มีแก่ท่าน ก็ท่านละอายด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักกระทำสัมปชานมุสาวาท กล่าวเท็จทั้งรู้ในกุรุธรรมได้อย่างไร

    แล้วถือเอาศีลในสำนักของนายประตูแม้นั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    น่าคิดที่จะต้องระวังแม้คำพูดที่ไม่ให้ผิดจากความจริง เพราะถ้าพูดผิดจากความจริง ขณะนั้นต้องเป็นมุสาวาท กล่าวคลาดเคลื่อนหรือผิดจากความจริง ด้วยเจตนา

    นายประตูกล่าวว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังไม่ทำให้เรายินดีปลื้มใจได้ แต่นางวรรณทาสีรักษา ได้ดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของนางวรรณทาสีแม้นั้นเถิด

    ทูตเหล่านั้นก็พากันเข้าไปหานางวรรณทาสีแม้นั้นแล้วขอกุรุธรรม

    ซึ่งนางวรรณทาสีในครั้งนั้นก็คือท่านพระอุบลวรรณาภิกษุณีในครั้งนี้นั่นเอง

    นางวรรณทาสี พูดถึงฐานะก็เป็นทาสี และเป็นหญิงโสเภณีด้วย แต่ก็รักษา กุรุธรรม

    ได้ยินว่า ท้าวสักกะจอมเทวดาทรงดำริว่า จักทดลองศีลของนางวรรณทาสี พระองค์ได้แปลงเพศเป็นหนุ่มน้อยมาหาแล้วพูดว่า ฉันจักมาหา แล้วให้ทรัพย์ไว้ พันหนึ่ง และกลับไปยังเทวโลก ไม่มาเลยถึง ๓ ปี นางวรรณทาสีนั้นไม่รับสิ่งของ แม้มาตรว่าหมากพลูจากมือชายอื่นถึง ๓ ปี เพราะกลัวศีลของตนขาด นางก็ ยากจนลงโดยลำดับ จึงได้คิดว่า เมื่อชายผู้ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่เราแล้วไปเสีย ไม่มาถึง ๓ ปี เราจึงยากจน ไม่อาจเลี้ยงชีพต่อไปได้ ตั้งแต่บัดนี้ไป เราควรบอกแก่มหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยความ แล้วรับเอาค่าใช้จ่าย

    นางได้ไปที่ศาลและกล่าวฟ้องว่า

    มีบุรุษผู้หนึ่งให้ค่าใช้จ่ายแก่ดิฉัน แล้วไปเสีย ๓ ปีแล้ว ดิฉันไม่ทราบว่า เขาตายแล้วหรือยังไม่ตาย แต่ดิฉันไม่อาจเลี้ยงชีวิตต่อไปได้ ดิฉันควรจะทำอย่างไร

    มหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยอรรถคดีได้กล่าวตัดสินว่า

    เมื่อเขาไม่มาถึง ๓ ปี ตั้งแต่นี้นางจงรับค่าใช้จ่ายจากชายอื่นได้

    เมื่อนางวรรณทาสีได้รับการวินิจฉัยตัดสินแล้ว ก็ออกจากศาลที่วินิจฉัยนั้นไป แต่พอออกจากศาลที่วินิจฉัยเท่านั้น บุรุษคนหนึ่งก็ได้น้อมนำห่อทรัพย์พันหนึ่งเข้าไปให้ แต่ในขณะที่นางเหยียดมือเพื่อจะรับ ท้าวสักกะก็แสดงพระองค์ให้เห็น

    พอนางเห็นท้าวสักกะ ก็หดมือที่จะรับทรัพย์นั้นกลับและกล่าวว่า

    บุรุษผู้ให้ทรัพย์แก่เราพันหนึ่งเมื่อ ๓ ปีได้กลับมาแล้ว เราไม่ต้องการกหาปณะของท่าน

    ท้าวสักกะได้แปลงร่างกายของพระองค์ทันที ประทับยืนในอากาศ ประทานโอวาทในท่ามกลางมหาชนว่า

    ในที่สุด ๓ ปีมาแล้ว เราได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง เนื่องด้วยจะทดลอง นางวรรณทาสีนี้ ท่านทั้งหลายชื่อว่า เมื่อจะรักษาศีล จงเป็นผู้เห็นปานนี้ รักษาเถิด

    คือ ขอให้รักษาให้ยิ่งขึ้น รักษาให้จริงๆ รักษาให้ได้

    แล้วได้ทรงบันดาลให้บ้านของนางวรรณทาสีเต็มด้วยรัตนะทั้ง ๗ แล้วได้ทรงพร่ำสอนนางวรรณทาสีนั้นว่า

    เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทตั้งแต่บัดนี้ไป

    แล้วได้เสด็จไปยังเทวโลก

    ในครั้งนั้นนางวรรณทาสีก็ปฏิเสธที่จะให้กุรุธรรมแก่ทูตเหล่านั้น แล้วได้กล่าวว่า

    เรายังมิได้เปลื้องค่าจ้างที่รับไว้ ยื่นมือไปรับค่าจ้างที่ชายอื่นให้ ด้วยเหตุนี้ ศีลจึงทำเราให้ยินดีปลื้มใจไม่ได้ เหตุนั้นเราจึงไม่อาจจะให้กุรุธรรมแก่ท่านทั้งหลาย

    ทูตเหล่านั้นได้กล่าวกะนางวรรณทาสีนั้นว่า

    ศีลเภท คือ ศีลแตกทำลาย ย่อมไม่มีด้วยเหตุเพียงสักว่ายื่นมือออกไป ชื่อว่าศีล ย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่งด้วยประการอย่างนี้

    แล้วได้รับเอาศีลในสำนักของนางวรรณทาสีแม้นั้น จดจารึกลงใน แผ่นสุพรรณบัฏ

    ทูตเหล่านั้นจารึกศีลที่ชนทั้ง ๑๑ คนนั้นรักษาลงในแผ่นสุพรรณบัฏแล้ว ได้กลับไปยังทันตปุรนคร ถวายแผ่นสุพรรณบัฏแก่พระเจ้ากาลิงคราช แล้วกราบทูลเรื่องราวต่างๆ นั้น ให้ทรงทราบ

    พระเจ้ากาลิงคราชทรงประพฤติกุรุธรรมนั้น ทรงบำเพ็ญศีล ๕ ให้บริบูรณ์ ในกาลนั้นฝนก็ตกลงในแว่นแคว้นกาลิงครัฐทั้งสิ้น ภัยทั้ง ๓ ก็สงบระงับ และ แว่นแคว้นก็ได้มีความเกษมสำราญ มีภักษาหารบริบูรณ์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๒ ตอนที่ ๑๘๑๑ – ๑๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    Tag  กฏุมพี  กสิณ ๑๐  กามฉันทนิวรณ์  กาเมสุมิจฉาจาร  กิเลส  กุรุธรรม  กุศลวิบาก  ขณิกสมาธิ  ขันธ์ ๕  ขีณาสพ  ความทุกข์  ความเห็นผิด  คันถธุระ  จตุตธาตุววัฏฐานะ  จินตามยปัญญา  จิรกาลภาวนา  ชาดก  ฌาน  ตทังคปหาน  ตรัสรู้  ตัณหา  ทอดกฐิน  ทินนาทาน  ทุกขลักษณะ  ท่านพระปุณณะ  ท่านพระมหากัจจายนะ  ท่านพระมหาโมคคัลลานะ  ท่านพระสารีบุตร  ท่านพระอนุรุทธะ  ธรรมธาตุ  ธุดงค์  ธุตังคะ  นามธรรม  นามรูป  นิพพาน  นิมิต  นิวรณ์ ๕  บัญญัติ  บุญกิริยาวัตถุ  ปฏิบัติ  ปฏิเวธ  ปรมัตถ์  ประจักษ์  ประจักษ์แจ้ง  ปริยัติ  ปลิโพธิ  ปัจจัย  ปัญจโวการภูมิ  ปัญญา  ปาราชิก  ปุถุชน  ปุโรหิต  พยาปาทนิวรณ์  พรหมวิหาร ๔  พระธรรมเทศนา  พระปัจเจกพุทธเจ้า  พระพุทธพจน์  พระมหากัสสปะ  พระวินัย  พระสกทาคามี  พระอนาคามี  พระอรรถกถาจารย์  พระอรหันต์  พระอริยบุคคล  พระอริยสงฆ์  พระอุบลวรรณา  พระโสดาบัน  พระไตรปิฎก  พุทธบัญญัติ  พุทธานุสสติ  ภาวนา  ภาวนามยปัญญา  ภูมิ  มนสิการ  มิจฉาสมาธิ  ยุคนัตถะ  รูปฌาน  รูปธรรม  วิกขัมภนปหาน  วิจิกิจฉา  วิปัสสนา  วิปัสสนาญาณ  วิปัสสนาธุระ  วิปัสสนาภาวนา  วิรัติ  ศีล ๒๒๗  ศีล ๕  สติปัฏฐาน  สติสัมปชัญญะ  สภาพรู้  สมถกัมมัฏฐาน ๔๐  สมถภาวนา  สมถะ  สมาธิ  สมาบัติ  สมุจเฉทปหาน  สรณะ  สะสม  สังขารขันธ์  สังขารธรรม  สังฆกรรม  สังสารวัฏฏ์  สัจจธรรม  สัตว์ดิรัจฉาน  สันโดษ  สัปปายะ  สัมปชานมุสาวาท  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ  สีลัพพตปรามาส  สุคติภูมิ  สุตตมยปัญญา  อกุศลกรรม  อกุศลวิบาก  อนัตตา  อนุสสติ  อนุสสติ ๑๐  อนุโมทนา  อบายภูมิ  อรรถกถา  อริยสัจจธรรม  อริยสัจจ์  อริยสัจจ์ ๔  อรูปฌาน  อวิชชา  อสุภ ๑๐  อสุภกัมมัฏฐาน  อัตตา  อัปปนาสมาธิ  อานิสงส์  อาบัติ  อารมณ์  อาสวะ  อาหาเรปฏิกูลสัญญา  อินทรีย์ ๕  อุทยัพพยญาณ  อุทเฉททิฏฐิ  อุบาสิกา  อุปจารสมาธิ  เปรต  เมตตา  เหตุปัจจัย  โทสะ  โมหะ  โมหเจตสิก  โยนิโสมนสิการ  โลภะ  โสตาปัตติมรรคจิต  ไถยจิต  ไม่เที่ยง  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564