แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838


    ครั้งที่ ๑๘๓๘


    สาระสำคัญ

    วิชชา คือ รู้

    ปัญญารู้อะไร

    บุญ คือ ขณะไหน

    เมตตาที่ถูกต้อง โดยไม่ใช่การท่อง


    สนทนาธรรมที่ จ. ฉะเชิงเทรา

    วันเสาร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๑


    สุ. วิชชา คือ รู้ ความรู้เกิดขึ้นละความไม่รู้ ความไม่รู้จะหมดไปได้ เพราะความรู้ เหมือนความมืดที่จะหมดไปได้ก็เพราะแสงสว่าง

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เพราะรู้จึงไม่มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เมื่อไม่มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ความติดในสิ่งต่างๆ ก็ค่อยๆ ลดคลายลงตามลำดับขั้น แต่ปัญญาจะต้องเจริญขึ้น

    ถ. แบบว่าให้มีศีล ไม่ทำให้ผู้อื่นทุกข์ร้อน ...

    สุ. และเราล่ะ ยังเป็นเราอยู่ตราบใด ทุกข์ก็ต้องมีอยู่ตราบนั้น

    ถ. เดี๋ยวนี้ไม่ยึดทุกอย่าง แม้แต่ลูก ผัว เราก็พยายามคิดว่าไม่ใช่ของเรา เรามาใช้กรรมเขา

    สุ. พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้หรือเปล่า

    ถ. ก็ไม่ทราบ ... เขาทำให้เราทุกข์ เราก็ต้องไม่ยึดถือเขาว่า …

    สุ. เวลาสวดมนต์ สวดมนต์ว่าอะไร ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ มีพระธรรมเป็นสรณะ เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ว่า พระธรรมสอนว่าอะไร เราจึงจะได้มีพระธรรมเป็นที่พึ่งจริงๆ

    ถ. เราต้องทำจริง ใช่ไหม อาจารย์ อ่านแล้วเขาก็มีสอนว่า ทำวัตรเช้า วัตรเย็น ก็มีแยก แต่ยังจำไม่ได้หมด

    สุ. อย่างน้อยที่สุด เราต้องได้ยินสั้นๆ ว่า มีพระพุทธเป็นสรณะ มีพระธรรมเป็นสรณะ มีพระสงฆ์เป็นสรณะ โดยมากทุกคนเข้าใจว่า มีพระพุทธ เป็นสรณะแล้ว เพราะว่านับถือกราบไหว้สวดมนต์ และเข้าใจว่า มีพระสงฆ์เป็น สรณะแล้ว แต่จริงๆ ยังไม่ใช่พระอริยสงฆ์ เพราะเรายังไม่ได้ฟังคำสอนของท่าน ที่จะทำให้เราเกิดปัญญาจริงๆ และมีพระธรรมเป็นสรณะ เราจะมีได้เมื่อไร

    ถ. ที่ตัวเราปฏิบัติ

    สุ. เราปฏิบัติถูกหรือปฏิบัติผิด เราจะรู้ได้อย่างไร

    ถ. ทุกวันนี้ เราก็มีศีล ๕ ข้อ และศีล ๘

    สุ. แต่พระพุทธเจ้าท่านคงไม่ได้สอนเราแค่ศีล ๕ และศีล ๘ แน่ๆ ถ้าสอนเพียงแค่นี้ ก็เท่ากับพระภิกษุธรรมดาที่เป็นปุถุชนซึ่งท่านก็สอนได้ ท่านเป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านคงต้องสอนมากกว่านี้แน่

    เมื่อเราทราบว่าพระพุทธเจ้าต้องสอนมากกว่านี้ และสิ่งที่พระองค์สอนเราเรียกว่าพระธรรม หมายความถึงสอนธรรม สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเราสามารถจะศึกษาได้ เพราะฉะนั้น เราควรศึกษา เราจะได้มีพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ

    ถ. ก็ศึกษาอยู่ทุกวัน ศึกษาไปเรื่อยๆ

    สุ. พระธรรม ท่านสอนว่าอย่างไร

    ถ. เช้าก็สวดมนต์ไหว้พระ แล้วมีหน้าที่ ...

    สุ. นั่นใครก็สอนได้

    ถ. พระภิกษุ หรือที่อื่นๆ ไม่มีใครสอนพระธรรมเหมือนอย่างอาจารย์

    สุ. ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือพระภิกษุก็ตามแต่ ใครก็ตามถ้าไม่ได้ศึกษา พระธรรม กล่าวคำอะไรก็ตาม สิ่งที่เขากล่าวนั้นไม่ใช่ธรรม บอกได้เลยจริงๆ

    ถ. เพราะความไม่รู้ เราก็แยกไม่ออก

    สุ. ตอนนี้เราก็มีเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ใครก็ตามที่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ว่าเขาจะพูดเรื่องอะไรๆ ก็ตาม สิ่งที่เขาพูดต้องไม่ใช่ธรรม

    ถ. ธรรมมีหลายขั้น

    สุ. ถ้าเขาศึกษาขั้นนี้ เขาพูดธรรมขั้นนี้ ใช่ไหม ถ้าเขาศึกษาเรื่องทาน เขาก็พูดธรรมเรื่องทาน

    ถ. ธรรมก็คือหลักธรรมชาติ

    สุ. ธรรม คือ ธรรมชาติ ไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาเรื่องธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวเรา เพราะเมื่อกี้บอกว่า ธรรมชาติ ใช่ไหม จะมีเราอีกไม่ได้เลย เมื่อใช้ คำว่า ธรรม ต้องเป็นธรรมไปหมดเลย กำลังเห็นเป็นเรา หรือเป็นธรรม

    ถ. ไม่เป็นเรา เป็นธรรมชาติ

    สุ. เป็นธรรม และได้ยินล่ะ

    ถ. เป็นธรรมชาติ

    สุ. หมดทุกอย่างเลย เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ศึกษาเรื่องเห็น เพราะบอกว่าเห็นเป็นธรรม ศึกษาเรื่องได้ยิน เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ต้องรู้เรื่องธรรม กำลังเห็นเป็นธรรมแล้ว ใช่ไหม อธิบายว่าศึกษาอย่างไรเรื่องเห็น ที่จะให้เกิดปัญญา ที่จะให้เข้าใจในธรรม

    เวลานี้ยอมรับว่าทุกอย่างเป็นธรรมหมด เห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม โกรธเป็นธรรมหรือเปล่า

    ถ. โกรธก็เป็นธรรม

    สุ. ทุกอย่าง ดีมากเลย คือ ไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้ ทุกอย่างเป็น ธรรมหมด ความโกรธเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ความโลภก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง และโมหะก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ ทุกอย่างเวลานี้เป็นธรรมหมดเลย และเราก็กำลังศึกษาธรรม เพราะว่าจะมีพระธรรมคำสอนเป็นสรณะ คือ ความเข้าใจเรื่องของธรรมนั่นเอง นี่คือปัญญาที่จะรู้ว่า ธรรม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของจริงและไม่ใช่เราด้วย

    ถ. ถ้ารู้อย่างนั้นแล้ว เราใช้ชำระกิเลสออกจากจิตของเราได้ไหม

    สุ. ใช้อย่างไร

    ถ. ปัญญาที่เรารู้

    สุ. ปัญญามีแล้วหรือยัง

    ถ. แค่รู้

    สุ. แต่มีหรือยัง สิ่งที่ไม่มีจะเอามาใช้ได้อย่างไร

    ถ. เรารู้ เรียกว่ามีได้หรือเปล่า

    สุ. เมื่อบอกว่าจะใช้ ก็ต้องถามว่า มีหรือเปล่า คือ คนเราจะใช้อะไร ต้องมีสิ่งนั้น ถ้าเราไม่มี เราใช้ไม่ได้ ถ้าเรามีข้าว เราก็ใช้ข้าวได้ เรามีน้ำปลา เราก็ ใช้น้ำปลาได้ มีกุ้งเราก็ใช้กุ้งได้ แต่เรามีหรือเปล่า ปัญญา

    ถ. ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่น จะถูกต้องไหม

    สุ. ไม่พอ ถ้าพอ พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องทรงเหนื่อยยากแสดงพระธรรม ถึง ๔๕ พรรษา และวันหนึ่งไม่น้อยเลย ตั้งแต่ก่อนเสด็จออกบิณฑบาต ทรงตรวจว่า มีใครอยู่ในข่ายพระญาณ แม้ยังไม่ถึงเวลาบิณฑบาตก็เสด็จไปสนทนาธรรมกับเขา โดยที่ว่าคนนี้ฟังครั้งแรกหรือฟังตลอดชีวิตเขา เขาก็ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล อีก ๒๐๐ ปีจากนั้นเขาจึงจะเป็น ก็ทรงแสดงธรรมกับเขา สนทนาธรรมกับเขา

    หลังจากบิณฑบาตแล้ว เสวยภัตตาหารแล้ว พักนิดเดียว ต่อจากนั้นก็ สนทนาธรรม มีคนมาเฝ้า แล้วแต่ว่าจะเป็นใครก็ตาม อาจจะเป็นพระภิกษุต่างถิ่น มาขอเฝ้า สนทนาธรรมกับพระภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตอนเย็นแสดงธรรมกับอุบาสกอุบาสิกา อย่างพระวิหารเชตวัน ทุกคนก็ต้องแปลกใจ ตอนเย็นๆ ประชาชนถือดอกไม้หลั่งไหลไปสู่พระเชตวันเพื่อฟังพระธรรม หลังจากนั้นยังทรงสนทนาธรรมกับพระภิกษุต่อ หรือตกดึกก็มีเทวดามาเฝ้า ทูลถามปัญหา เวลาบรรทมพักผ่อนจริงๆ เป็นเวลาที่น้อยมาก

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงต้องมาก มากชนิดที่เราเรียนกันตลอดชีวิต ก็ไม่จบ อีกกี่ชาติก็ไม่จบ จนกว่าปัญญาจะรู้แจ้งเป็นพระอรหันต์ และเราจะบอกว่า แค่นี้ๆ รู้แล้ว พอแล้ว นั่นยังไม่ใช่การเรียกว่า รู้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว เราต้องมีความรู้ชัดว่า ปัญญารู้อะไร

    ก่อนอื่นที่จะเจริญปัญญา ต้องรู้ก่อนว่า ปัญญารู้อะไร จึงจะเจริญได้ถูก ไม่ใช่ให้เราไปทำอย่างอื่น ไปรู้อย่างอื่น แต่ต้องรู้ว่า ปัญญารู้อะไร

    ถ. ก็พิจารณาไปเรื่อยๆ

    สุ. ต้องฟังพระธรรมด้วย ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร และทรงแสดงอะไร ไม่มีทาง นั่งเฉยๆ อยู่ดีๆ และคิดว่า จะรู้พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปไม่ได้

    ถ. อย่างนั้นวิธีการที่ทำให้จิตสงบ อะไรต่างๆ ก็ไม่ตรง

    สุ. จิตก็ไม่ได้สงบ เป็นความอยาก ในพระไตรปิฎกมีทั้งมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ

    ถ. พยายามอบรมเจริญอยู่เรื่อย

    สุ. พระธรรม ต้องฟังเป็นอันมากทีเดียว ไม่มีใครสามารถรู้ขึ้นมาเองได้ โดยไม่ได้ฟัง อย่างจุดประสงค์ของการฟังธรรมที่วัด หรือไปฟังเทศน์ เราทราบไหมว่า เราไปทำอะไร

    ถ. พยายามละ พยายามงดสิ่งที่ ...

    สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ อย่าใจร้อน และต้องเป็นผู้ตรง และการศึกษา ต้องตามลำดับขั้นที่จะรู้ว่าปัญญารู้อะไร และค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่เอาอะไรทั้งหมด ไม่ไปทำอะไรทั้งหมด เอาความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เวลานี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน นี่เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เอาความเข้าใจ ความเข้าใจนี้คือปัญญา เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ขึ้น และปัญญาก็ค่อยๆ ละคลายอกุศลไปเอง ถ้าปัญญาไม่เกิด เราก็เป็นตัวตน

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ฟังพระธรรม อย่างที่ถามว่า ไปวัด ไปฟังเทศน์เพื่ออะไร คือ ทุกอย่างที่เราทำ เราต้องรู้จุดประสงค์ จึงจะได้รับความสำเร็จ ถ้าเราทำๆ ไปโดยไม่รู้จุดประสงค์ ไม่มีทางที่จะได้รับผลสำเร็จอะไรเลย การกระทำทุกอย่างแม้แต่เข้าครัว เราก็ต้องรู้ว่าเราจะทำอะไร อาหารชนิดนี้จะให้มีรสกี่รส อาหารอีกชนิดจะให้จืดหรือจะให้มีรสอะไร ต้องมีจุดประสงค์ทั้งนั้น

    การที่เราไปวัด การที่เราฟังธรรม เราต้องรู้ว่าเพื่ออะไร ถ้าเรายังไม่รู้ วันหนึ่งๆ ถึงเวลาเราก็ไปวัด และก็กลับบ้าน ใครถามเราก็บอกว่า ไปวัด

    ถ. ก็ไปทำบุญเผื่อไว้ชาติหน้า

    สุ. ยิ่งน่าสนใจใหญ่ว่า บุญอยู่ที่ไหน ขณะไหน ที่ว่าไปทำ

    ถ. ทำบุญ เรียกว่าทำความดี เสียสละ

    สุ. เพราะฉะนั้น บุญอยู่ที่ไหน

    ถ. บุญอยู่ที่ใจ

    สุ. ขณะไหน

    ถ. ขณะที่ทำ เราไปทำบุญ ก็เรียกว่าเสียสละ

    สุ. เวลาที่ทุกคนทำบุญ ได้บุญเท่ากันหรือเปล่า

    ถ. ไม่เท่า

    สุ. ทำไมทราบว่า ไม่เท่า

    ถ. บางคนทำตามอย่างเขา ก็ได้บุญน้อย แต่บางคนตั้งใจทำบุญเลย ไปซื้ออาหาร เงินก็ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ …

    สุ. เอาอะไรเป็นเครื่องวัดบุญ

    ถ. บุญ ก็ยังมองไม่เห็น

    สุ. ก็เป็นเรื่องมัวๆ ไม่ชัดเจน แม้แต่ทำบุญก็ยังสลัวๆ ใครจะได้บุญมากบุญน้อยก็ยังสลัวๆ คือ ไม่มีอะไรจะวัดได้เลย แต่มี ที่จะรู้ได้ว่าวันนี้บุญเกิดมาก หรือน้อย สามารถมีเครื่องรู้ได้

    ถ. รู้ได้ยาก

    สุ. ยาก แต่รู้ได้ เพราะฉะนั้น ใครบอกได้

    ถ. จิตใจตัวเอง

    สุ. อะไรทำให้รู้ได้

    ผู้ฟัง ทำแล้วมีความปีติเกิดขึ้น ความอิ่มใจ ความศรัทธา ความยินดี

    สุ. ดีที่ทุกคนคิด จะได้เป็นปัญญาของตัวเอง ต่อไปนี้เราไม่เชื่อคนอื่น เราฟังอะไรแล้วต้องคิดพิจารณาให้เป็นปัญญาของเราเอง นี่คือประโยชน์จากการฟัง ไม่ใช่ไปถามเขาและให้เขาบอกเราว่า ทำบุญอย่างนี้ได้บุญมากไหม คือ ต้องถาม คนอื่นอยู่ตลอด แต่ถ้าเป็นปัญญาของเราเอง เรารู้ ไม่ต้องให้คนอื่นบอก เราสามารถ รู้ได้เองว่า จิตที่เป็นกุศลต้องต่างจากจิตที่เป็นอกุศล แต่ปัญญาต้องละเอียด และต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ได้ว่า กุศลจิตกับอกุศลจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะจริงๆ ในขณะนั้นไม่ได้พิจารณาสภาพของจิต จะไม่รู้

    อย่างกำลังนั่งฟังอย่างนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นกุศล เวลาที่เข้าใจ

    เวลาฟังแล้วเข้าใจเรื่องธรรมเป็นกุศลไหม เป็น เข้าใจเรื่องธรรมว่า เป็นของจริง มีจริง ขณะที่เข้าใจเป็นกุศลไหม เป็น

    และเวลาที่ไม่เข้าใจเป็นกุศลไหม ก็ไม่เป็น

    กุศลกับอกุศลเกิดสลับกันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะจะทำให้เราสามารถรู้ลักษณะสภาพของจิต เราจึงจะบอกได้ หรือรู้ได้ด้วยตัวของเราเองว่า วันนี้กุศลจิตเกิด หรือกุศลจิตไม่เกิด

    อย่างเวลาที่ฟังธรรม หลับแล้ว นี่เด็กหลับแล้ว ผู้ใหญ่บางคนก็หลับ ขณะที่หลับจะบอกว่าเป็นกุศลได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องธรรมเป็นเรื่องละเอียด ไม่ใช่ใครไปฟังธรรมแล้ว เราก็อนุโมทนา วันนี้ได้กุศลมากมาย พระเทศน์ยาว ไม่ใช่อย่างนั้น แต่อยู่ที่จิตของเราขณะที่ฟังว่า เราเข้าใจแค่ไหน เข้าใจถูกต้อง หรือฟังแล้วไม่รู้เรื่องเลย

    อย่างที่พระวิหารเชตวัน คนที่ไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท่าน เป็นพระโสดาบัน บางท่านเป็นพระสกทาคามี บางท่านเป็นพระอนาคามี บางท่านเป็นพระอรหันต์ บางท่านไม่เป็นอะไรเลย เพราะว่าสะสมมาไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น เราจะบอกว่า ฟังธรรมแล้วได้บุญเหมือนๆ กัน ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องแล้วแต่สภาพจิต กุศลหรืออกุศลอยู่ที่จิต ไม่ใช่อยู่ที่อื่น ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องถามใครว่า ทำอย่างนี้ได้บุญมากไหม เพราะว่ากุศลจิตเกิดมากก็เป็นบุญมาก กุศลจิตเกิดน้อย ก็เป็นบุญน้อย แล้วแต่ว่าจิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ถ. ตั้งแต่เด็ก เคยติดตามพ่อแม่ไปวัด มีข้าว มีกับข้าวไปใส่บาตร คิดว่าเป็นการทำบุญ และได้อ่านหนังสือหลายเล่ม บอกว่าธรรมเป็นธรรมชาติ เราไม่ต้อง ไปวัด ทำจิตใจให้สบายก็ได้บุญเหมือนกัน เหมือนกับว่าไปขัดกับความรู้เดิมๆ ที่ สะสมมาตั้งแต่เด็กว่า ต้องมีข้าว มีกับข้าวคาวหวานมาถวายพระ หรือเอาเงินไปหยอดตามตู้ในวัด จึงได้บุญ ...

    สุ. ถ้าเราเห็นคนเจ็บป่วยและเราช่วยเขา เป็นบุญไหม ถ้าเราเห็น ผู้ใหญ่กว่า และเราคิดว่าควรจะมีความนอบน้อมในความเป็นผู้ใหญ่ พูดกับท่านดีๆ และช่วยเหลือท่าน ขณะนั้นเป็นบุญไหม

    เพราะฉะนั้น บุญมีหลายอย่าง ขณะใดที่จิตเป็นกุศล คือ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เวลาที่เราคิดถึงใคร คิดด้วยความเป็นมิตร ไม่ได้โกรธเคือง หรือหวังร้ายต่อเขา คิดที่จะช่วยเหลือเขา ขณะนั้นเป็นบุญไหม

    ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ก็มีได้ทั้งกาย วาจา ใจ และบุญที่ว่าเป็นไปในทาน เป็นเพียงประเภทหนึ่งใน ๑๐ ประเภท มีบุญกิริยาวัตถุ ทางของบุญ ถึง ๑๐ อย่าง

    ถ. ทานก็เป็นกุศล ใช่ไหม ก็ได้บุญเหมือนกัน

    สุ. ไม่เอาได้บุญ เอาขณะที่เป็นกุศลจิต แล้วแต่ว่ากุศลจิตเกิดขณะไหน

    ถ. ถ้าทำแต่กุศลจิตไม่เกิด ก็ไม่ได้บุญ

    สุ. มีไหม ทำแล้วกุศลจิตไม่เกิด เช่นอะไร

    ถ. เช่น ทำตามๆ เขา

    สุ. ขณะนั้นเสียสละให้คนอื่น เพื่อประโยชน์สุขด้วย แต่น้อยมาก แปลว่าอกุศลมากกว่า

    ถ. ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็ทำไปอย่างนั้นเอง หรือเห็นสิ่งที่ ไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดศรัทธา อย่างวัดทั่วๆ ไป เวลาที่ได้ฟังสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็เกิดการเปรียบเทียบว่าไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่เกิดศรัทธา ไม่ทราบว่าจะเป็นบาปหรือเปล่า

    สุ. สนับสนุนส่งเสริมใครที่เห็นผิด ขณะนั้นเป็นบาปหรือเป็นบุญ

    ถ. ถ้าสนับสนุนในทางที่ผิด ก็ไม่ใช่บุญ

    สุ. เพราะฉะนั้น เราจะบาปไหมในขณะที่เราไม่สนับสนุน เวลาที่เราเห็นว่า สิ่งใดไม่ถูก และเราไม่สนับสนุน จะเรียกว่าเราบาปได้ไหม

    ถ. แต่ก็ไม่ถูกกับประเพณีที่เขานิยมกันมา เช่น ไปทำบุญที่วัด

    สุ. ต้องแยกกัน ในเรื่องของบุญก็เรื่องหนึ่ง เรื่องการสละวัตถุให้ เหมือนทาน เราให้คนที่เขาขัดสน หรือพวกสมณพราหมณ์จะเป็นในพระพุทธศาสนาหรือไม่ใช่พระพุทธศาสนาก็ตาม ผู้ที่ไม่ครองเรือนเขาไม่มีการหุงหาอาหาร ถ้าเราจะให้เพื่อสงเคราะห์ ก็ต้องให้ในลักษณะของทาน แต่ไม่ใช่ให้ในลักษณะของการส่งเสริมความคิดเห็นที่ผิดของเขา

    ถ. อย่างพระก็บำรุงพระพุทธศาสนา ถ้าเกิดเราไม่ไปทำบุญ ท่านจะอยู่ได้อย่างไร ศาสนาจะมีได้อย่างไร

    สุ. ที่ว่าพระท่านบำรุงพระพุทธศาสนา ท่านทำอะไรที่เป็นการบำรุง พระพุทธศาสนา

    ถ. ท่านก็เทศน์สั่งสอนประชาชน

    สุ. ประชาชนต้องเข้าใจสิ่งที่ท่านเทศน์ด้วย ท่านจึงจะทำประโยชน์ได้

    ถ. เคยอ่านหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ว่า ไปบวชเป็นพระเพื่อจะตามหาพ่อที่ ตายไปแล้วในปรโลก จะพบจริงหรือเปล่า ที่จะไปหาที่ปรโลก

    สุ. ถ้าเขาบอกว่า พบ จะเชื่อไหม

    ถ. ก็ไม่มีหลักฐาน

    สุ. ไม่จำเป็นต้องเชื่อ ความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่ใครจะบังคับได้ แต่เป็นสิ่งที่เราจะหาเหตุผลว่าเพราะมีเหตุอะไร ถ้าเหตุนั้นไม่ตรงกับผลก็แปลว่าเขาเชื่อเอง ก็เป็นโมฆะ เป็นเรื่องส่วนตัวของเขาที่เขาเชื่อเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผล ไม่ใช่บังคับเราว่า ต้องเชื่อ พิจารณาเหตุผลว่าเขาทำอย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๔ ตอนที่ ๑๘๓๑ – ๑๘๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564