แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
ครั้งที่ ๑๘๓๙
สาระสำคัญ
ไม่ฟังคนอื่น แต่ว่าฟังพระธรรม
ความหมายของ ธุตังคะ
การบวชคืออะไร
การบวชชีพราหมณ์นั้นคืออะไร
สมาธิคืออะไร
ทุกข์คืออะไร
วิปัสสนากับปัญญา
สมาธิไม่ใช่ปัญญา
สนทนาธรรมที่ จ. ฉะเชิงเทรา
วันเสาร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๑
ถ. อย่างเขาปฏิบัติ ก็มีคนเห็น
สุ. ปฏิบัติอะไร
ถ. ที่ว่าไปนั่งสมาธิ
สุ. ที่ว่าไม่เอา เอาตัวเหตุว่า ปฏิบัติอย่างไร
ถ. นั่งแล้วท่อง สัมมาอรหัง
สุ. ท่องสัมมาอรหัง ขณะนั้นต้องมีการคิดคำว่า สัม - มา - อะ - ระ - หัง ก็เท่านั้น จะไปเห็นอะไร
ถ. แต่ก็มีผู้ที่เห็น
สุ. เขาเห็น ก็อยู่ที่เราว่า เราจะเชื่อหรือเปล่า เราจะเป็นคนเชื่อง่าย หรือเราจะเป็นคนพิจารณา
ถ. ก็อยากจะลองปฏิบัติดู
สุ. ลองหรือยัง
ถ. ก็ลองอยู่ทุกวันนี้
สุ. ได้ผลอย่างไร
ถ. ยังไม่เห็น แต่ทำให้จิตสงบ
สุ. อยากทราบว่า อยากเห็นหรือไม่อยากเห็น
ถ. ยังไม่เห็น ก็ยังไม่เชื่อ
สุ. เพราะฉะนั้น อยากเห็นหรือไม่อยากเห็น
ถ. ก็ไม่อยากหรอก นั่งไปเฉยๆ
ส. ไม่อยาก ทำไมไปนั่ง
ถ. รู้สึกว่า จิตใจสบายดี
สุ. สบายก็เป็นโลภะ และเราก็ชอบ ถ้าปัญญาไม่เกิด อย่าไปทำอะไรดีกว่า เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะไปละความเห็นผิด
ถ. รู้สึกว่า ทำให้ร่างกายสบาย
สุ. สมาธินี่มีมิจฉาสมาธิด้วย และไม่ใช่มีแต่เฉพาะประเทศไทย ทุกประเทศมีสมาธิ คนละรูปแบบ ทรงแสดงว่า อริยมรรคเป็นหนทางเดียว
ถ. ก็แล้วแต่บุญบารมีของใครที่สร้างมา
สุ. แต่มีหนทางเดียว
ถ. ใช่ แต่ไปลงแม่น้ำที่เดียวกัน
สุ. เพราะฉะนั้น หนทางต้องเป็นหนทางเดียว ไม่ใช่คนละหนทาง
ถ. ที่อาจารย์พูดก็ถูก
ผู้ฟัง ที่สำคัญ คือ ยังไม่ทราบว่าที่ทำไปนั้นผิดหรือถูก
สุ. เพราะฉะนั้น ผลของการทำคืออะไร นี่สำคัญที่สุด คือ การทำอะไรต้องรู้ผล ผลของการทำคืออะไร
ผู้ฟัง สิ่งที่ถูกก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องฟังพระธรรม ไม่ใช่ฟังคนอื่น แต่ฟังพระธรรม
ถ. พระธรรมใครแสดง
สุ. พระพุทธเจ้า
ถ. แต่ท่านก็ล่วงลับไปแล้ว
สุ. จดจารึกไว้ และสะสมสืบต่อกันมา
ถ. ไม่รู้ว่าองค์ไหน
สุ. เอาอย่างนี้ เมื่อกี้ทุกคนรับรองว่า พระธรรมเป็นเรื่องของธรรม และ ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าใครสอนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลภะ โทสะ โมหะ ให้ปัญญาของเราเกิดที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ถ้าใครสอนให้เราเข้าใจอย่างนี้ นั่นคือพระธรรม แต่ถ้าไม่ได้สอนให้เข้าใจอย่างนี้ นั่นไม่ใช่พระธรรม ตามที่เรากล่าวกันไว้แล้ว ใช่ไหม
ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ต้องให้เราเข้าใจเรื่องนี้ จึงจะเป็นพระธรรม ถ้าไม่ให้เราเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่พระธรรม
ถ. ถ้าไปสร้างสถานที่ขึ้นมา และให้คนไปทำกิจธุดงค์ จะถูกต้องไหม
ผู้ฟัง ธุดงค์นี่สำหรับดิฉันคิดว่า เป็นธรรมชาติ คือ ตื่นเช้าๆ ตี ๓ ครึ่ง ตื่นเป็นประจำ
สุ. นั่นไม่ใช่หมายความของธุตังคะในพระพุทธศาสนา นั่นคิดเอาเอง เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษา คือ เราต้องฟัง
ธุตังคะ ในภาษาบาลีที่ภาษาไทยใช้คำว่า ธุดงค์ เป็นการประพฤติสิ่งที่พิเศษต่างหากจากศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ
เพราะฉะนั้น ธุดงค์ไม่ใช่ศีล หมายความว่าพระภิกษุจะรักษาก็ได้ ไม่รักษาก็ได้ ตามอัธยาศัย ไม่บังคับ แต่ถ้าบวชเป็นพระแล้วต้องรักษาศีลทั้ง ๒๒๗ แสดงให้เห็นว่า จากเพศคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิตต่างกันมาก
อย่างเราชาวบ้าน ตามสบาย โลภะ โทสะ โมหะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะแต่งตัวอย่างไร จะซื้ออะไร จะดูโทรทัศน์ จะไปเที่ยว ทำได้ทุกอย่าง เพราะเรารู้ตัวเราว่า เราไม่ใช่เพศบรรพชิต แต่คนที่จะบวช หมายความว่าผู้นั้นไตร่ตรองแล้วว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นสิ่งที่ยากที่จะบรรลุได้ และการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นในเพศคฤหัสถ์ก็ได้ ในเพศบรรพชิตก็ได้ เมื่อได้ทั้ง ๒ อย่าง การบวชไม่มีการบังคับเลย แต่เป็นความสมัครใจของผู้นั้นที่พิจารณาตามการสะสมของตนเอง และมีความพอใจ ที่จะเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ด้วยความสมัครใจว่า ศีล ๒๒๗ รักษาได้อย่างสบายๆ จึงได้บวช ไม่มีความลำบากเลย
ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ก็เป็นเรื่องกาลสมัย ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปสนใจ แต่เราต้องเข้าใจดั้งเดิมมาว่า การบวชคืออะไร การเปลี่ยนเพศจากคฤหัสถ์ไปสู่บรรพชิตซึ่งยาก จะรับประทานอาหารร้อนๆ ก็ไม่ได้ ถ้าเขาถวายเย็น หรือเราชอบเค็ม ของเขาถวายจืดหรือเปรี้ยว ...
ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เพราะฉะนั้น คนที่จะบวช จึงควรรู้ว่า การเปลี่ยนเพศจากคฤหัสถ์เป็นบรรพชิตต้องด้วยความสมัครใจ ด้วยความพอใจ ด้วยการรู้จักตนเองว่า เพศบรรพชิตเป็นเพศที่ห่างไกลจากเพศคฤหัสถ์มาก และต้องรักษาศีล ๒๒๗ นี่แค่บวช แต่ธุดงค์ ยิ่งกว่า ๒๒๗ ไปอีก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องมานั่งปฏิบัติกัน ๑๐๐ ๒๐๐ กางเต็นท์กัน เราต้องเข้าใจให้ถูกว่า ความต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต ต่างกันอย่างนี้ และระหว่างบรรพชิตด้วยกัน ที่รักษาธุดงค์ก็มี ที่ไม่รักษาธุดงค์ก็มี ตามอัธยาศัย ไม่บังคับ
และผู้ที่รักษาธุดงค์ ท่านเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษยิ่ง ต้องใช้คำนั้น ขนาดที่ว่า พี่น้อง ๒ คน เป็นบรรพชิตทั้งคู่ เป็นพระภิกษุทั้งคู่ พี่ชายรักษาธุดงค์ น้องไม่รู้เลยว่า พี่รักษา ท่านไม่ได้มาประกาศบอกใครว่า ฉันรักษาธุดงค์ ไม่ประกาศโครมคราม ให้ชาวบ้านมาธุดงค์ เพราะเป็นเรื่องขัดเกลาเฉพาะตัวๆ
สำหรับบรรพชิต รักษาธุดงค์ได้ทั้ง ๑๓ ข้อ สำหรับภิกษุณีได้กี่ข้อ สำหรับสามเณรได้กี่ข้อ แต่สำหรับอุบาสกอุบาสิกาได้ ๒ ข้อเท่านั้น คือ เรื่องอาหาร ไม่ใช่เรื่องสถานที่ เพราะว่าทุกคนต้องบริโภคอาหาร ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น คนที่แม้เป็นคฤหัสถ์ แต่เรารู้ว่าเรื่องติดของเรามีมาก ไหนจะรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะฉะนั้น คนที่สามารถจะรักษาทางหนึ่งทางใดได้ เช่น อาหาร เขาก็ไม่กินพร่ำเพรื่อ อิ่มแล้วอิ่มเลย และบริโภคที่เดียว ใส่อาหารจานเดียวก็ได้ คือ ไม่เป็นผู้เดือดร้อนเรื่องอาหาร ถ้าเราจะสะสมธุดงค์ในเพศคฤหัสถ์ จะทำได้เพียง ๒ อย่าง
เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จะไปกางเต็นท์อะไรไม่ได้ทั้งนั้น นั่นไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ไม่มีการรู้ความต่างกันของความจริง สภาพธรรมนี่จริง ทำไม บางคนเป็นภิกษุ ทำไมบางคนไม่เป็น นี่ก็ต่างกันแล้ว และภิกษุด้วยกันทำไมบางรูปรักษาธุดงค์ บางรูปไม่รักษา
ถ. ถ้ามีการชักชวนกันไปบวชชีพราหมณ์ ...
สุ. ได้ไปบรรยายให้ชีพราหมณ์ฟังเข้าใจ ซึ่งดิฉันมีข้อแม้อยู่อย่างเหนึ่ง คือ สนทนาธรรมกับตอบปัญหาธรรมนี่รับ แต่บรรยายไม่รับ เพราะรู้ว่าธรรมมีมาก และที่บรรยายก็มีติดต่อกันอยู่แล้วทางวิทยุ คนที่รับฟังก็สามารถรับฟังได้ทุกวัน นี่ไปเพียงแค่ ๒ ชั่วโมง จะเอาธรรมอะไรไปบรรยายให้เขาเข้าใจได้ ใช่ไหม แต่ถ้าเขาฟังแล้วเขาเกิดสงสัยหรืออยากจะเข้าใจอะไร ก็สนทนาธรรมกันแบบนี้ดีกว่า
ดิฉันก็ไปพูดตามความเป็นจริง แต่คนที่เขาบวชชีพราหมณ์ เขาก็ไม่รู้ว่า เขาบวชทำไม เพราะฉะนั้น ก็ไปถามให้เขาเข้าใจว่า เขาบวชทำไม และการบวชชีพราหมณ์นั้นคืออะไร
ถ. ... ปฏิบัติแล้วคิดว่าได้บุญมาก
สุ. อยาก ใช่ไหม ก็ไม่พ้นอยาก
ถ. ... ชาตินี้ก็สะสมเอาไว้
สุ. สะสมอะไรก็ไม่รู้ มีอะไรๆ ก็เก็บใส่ตะกร้าหมด ต้องเลือก สะสมปัญญา สะสมความเข้าใจถูก และกุศลอยู่ที่จิต ไม่ใช่เพียงแต่การให้ทานเท่านั้น ขณะใดที่เราคิดถึงคนที่เขาเคยทำอะไรให้เราไม่พอใจ หรือคนนั้นเป็นคนไม่ดี เขามีหลายอย่างที่ไม่ดี เราก็มีเมตตาได้ อภัยให้ได้ ช่วยเขาทุกทางที่จะให้เขาตั้งต้นใหม่ได้ นั่นคือเมตตา
ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. นั่นก็กุศลแล้ว เมตตาที่ถูกต้อง คือ มีความเป็นเพื่อน
ถ. เราไม่ต้องไปท่องอะไร
สุ. ดิฉันท่องไม่ได้ แต่มีเมตตากับคนอื่นได้
ถ. ที่อาจารย์บรรยาย ถ้าเราทำบุญ ... จะเห็นในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ไหม
สุ. เป็นการอบรมเจริญกุศลทุกประการ เพราะเรารู้ว่า กุศลเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับอกุศล อย่างอกุศลเกิด เราก็ไม่เป็นสุขในขณะที่เป็นอกุศล ไม่ว่าจะ โลภะ ความต้องการ ก็ทำให้เราเดือดร้อน อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ขวนขวายจนกว่า จะได้ ได้มาแล้วก็ต้องเก็บรักษาไว้ ไม่ยอมให้พลัดพรากแตกทำลายไป เวลาเป็น อย่างอื่นไปก็เกิดความเศร้าโศก ก็เป็นเรื่องที่ว่า อกุศลเกิดขณะใดเราเห็นโทษ เพียงแต่ เราเข้าใจให้ถูกว่า ไม่มีอะไรจะละอกุศลได้นอกจากปัญญา ถ้าปัญญายังไม่เกิด ไม่มีทาง
ถ. เวลาเราเอาของไปถวายพระ เราก็คิดว่า เราถวายแก่สงฆ์
สุ. สงฆ์คือใคร
ถ. หมายความถึงพระโสดาบันถึงพระอรหันต์
สุ. อย่างนั้นถูกต้อง หมายความว่าเราเป็นผู้มีความนอบน้อม สมมติว่า เราเห็นพระภิกษุที่ท่านมีความประพฤติไม่ดี เราดูหมิ่นเหยียดหยาม ขณะนั้น เป็นอกุศล แต่ถ้าเรารู้ว่า ทุกคนก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ตราบใดที่ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้น เราก็มีความนอบน้อมต่อใครก็ได้ โดยหลายสถาน เช่น ท่านผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ที่นี่เราก็รู้ว่า ท่านเกิดก่อน ท่านมีอาวุโส ประสบการณ์ท่านก็มี อย่างน้อยท่านก็รู้อะไรๆ ตั้งหลายอย่างที่เราไม่รู้ และโดยวัยของท่าน เราก็เคารพ นอบน้อมท่านได้ โดยวัยเราก็ได้แล้ว
คือ ให้เราเป็นผู้ที่มีจิตอ่อนโยน และมีความเป็นเพื่อน ไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ขณะนั้นก็เป็นกุศล และความนอบน้อมก็เป็นกุศลเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่เราถวาย และเราก็น้อมระลึกถึงว่าถวายต่อพระภิกษุสงฆ์ ไม่ได้คิดถึงบุคคลซึ่งเป็นผู้รับ นั่นก็เป็นความนอบน้อม
ถ. ไม่ใช่ว่าเขาดีกว่า เขาเลวกว่า ...
สุ. เราไม่ต้องคิดละเอียดลออ แต่เรารู้ใจของเราว่า ปกติวันหนึ่งๆ เราต้องคิดถึงคนโน้นบ้างคนนี้บ้างแน่ แต่ขณะที่คิด เราคิดถึงเขาด้วยความรัก ความผูกพัน หรือเราคิดถึงเขาด้วยความโกรธ ความแค้น ความดูหมิ่น ความเหยียดหยาม แม้นิดเดียว เราก็รู้ว่าใจของเราเน่าหรือเสีย เพราะว่าเรื่องอะไรเราต้องไปเหยียดหยามคนอื่น ความไม่ดีก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ใช่ไหม เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวคน ไม่มีชื่อเลย และก็ไปติดชื่อ เพียงนึกถึงชื่อก็ไม่พอใจแล้ว แต่เราเปลี่ยนเป็นเมตตาได้ นี่คือ โยนิโสมนสิการที่ได้ยินบ่อยๆ บางคนก็ถามว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็น เรื่องการสะสมของปัญญาที่จะทำให้พิจารณาธรรมได้ถูก และรู้ด้วยว่า ธรรมคือธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้น การคิดถึงบุคคลต่างๆ ก็เป็นไปในทางกุศลขึ้น
ถ. การใส่บาตร เราหวังถึงชาติหน้าด้วย ชาติหน้ามีจริงไหม
สุ. ชาติหน้าคงจะไม่ต่างกับเมื่อวานนี้กับวันนี้ ถ้าเมื่อวานนี้มี และวันนี้ ก็ต่อจากเมื่อวานนี้ เมื่อชาตินี้มี ชาติหน้าก็ต่อจากชาตินี้
ถ. จะทำบุญก็หวังว่า ถ้าทำบุญมากในชาตินี้ ชาติหน้าจะได้สบาย
สุ. ถ้าเราไม่หวัง เรายังคงได้ไหม
ถ. ถ้าไม่หวัง ศรัทธาคงจะน้อยลง
สุ. หมายความว่า บุญที่เราทำไว้นี่จะได้ไหมเมื่อเราไม่หวัง
ถ. ได้
สุ. ยังต้องหวังไหม ในเมื่ออย่างไรๆ ก็ต้องได้อยู่แล้ว ถ้าเหตุดีผลก็ต้องดี จะเอาผลไปทิ้งที่ไหนในเมื่อเหตุมีแล้ว
ถ. คือ ถ้าทำแล้วได้ ก็จะได้ทำมากขึ้นไปอีก
สุ. แต่ขอเรียนให้ทราบว่า ไม่ดี ไม่ควรด้วย เพราะว่ากุศลทำแล้วจริง แต่ติดตามด้วยอกุศล คือ ความหวัง เพราะฉะนั้น บุญที่เราทำไปแล้วจริงๆ ถ้าเรา ไม่หวัง สบายมากเลย ไม่ต้องไปหวังอะไร ในเมื่อเหตุมีผลก็ต้องมีอยู่แล้ว แต่ถ้าหวัง ขณะนั้นบั่นทอนกุศล เพราะว่าขณะที่หวังนั้นเป็นอกุศล
ถ. เราทำบุญกุศลก็เพื่อไปนิพพาน เราหวังอย่างนี้ ...
สุ. แต่จริงๆ ไม่ต้องคิดอย่างนั้น เพราะว่าชีวิตของเราที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ต่างกับสัตว์ดิรัจฉานอยู่แล้ว และสัตว์ดิรัจฉานก็ยังต่างกัน บางตัวก็ไม่มีเจ้าของ เลี้ยงดูเลย เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ถูกรถทับ ไม่มีใครดูแล บางตัวก็นอนเตียงทองคำ ที่ต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า สัตว์ดิรัจฉานก็ต่าง มนุษย์ก็ยังต่าง ทุกอย่างต้องมีเหตุ ขึ้นอยู่กับเหตุ
ถ้าเราจะวางเรื่องนั้นทั้งหมดเลย และเราก็เหมือนคนใหม่ที่จะหาครูสักคน เราจะเอาใครเป็นครูดี
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้เลย พระบรมศาสดา ไม่มีใครจะใช้ชื่อนี้ได้เลย เพราะเหตุใด เพราะว่าทรงตรัสรู้สภาพธรรม
ใช้คำว่า ตรัสรู้ หมายความว่า ไม่ได้คิดบวกลบคูณหาร แต่สภาพธรรม เป็นจริงอย่างไร พระปัญญาที่ได้สะสมมาที่จะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ที่เกิดปรากฏในขณะนี้ จึงทรงพระนามว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระบรมศาสดา
เพราะฉะนั้น หนังสือที่จะอ่าน จะอ่านหนังสือเล่มไหน ในเมื่อเรามีครูแล้ว เราก็ต้องเลือกอ่านหนังสือของครู เราจะไปอ่านหนังสือของคนอื่นไม่ได้ คิดหรือว่า คนอื่นจะมีปัญญาเท่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ. ของพระพุทธเจ้าถูกต้องที่สุด แต่มีหลายวิธี ใช่ไหม ซึ่งอาจารย์เหล่านี้ ก็จะเลือกเฟ้นของท่านมา ๑ วิธีๆ
สุ. ถ้าเราฝากความรู้ไว้กับผู้หนึ่งผู้ใด ยากเหลือเกินที่จะรู้ว่า อาจารย์ ท่านผิดหรือเปล่า เพราะคงจะไม่มีใครสามารถเข้าใจพระไตรปิฎกและอรรถกถา ได้ตลอด บางท่านถูกตรงนี้ ผิดตรงนั้นก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ผิดเลย หรือจะไม่ถูกเลย แต่ส่วนที่ถูกจริงๆ ทั้งหมดมาจากพระธรรมที่ทรงแสดงไว้แล้ว
ถ้าศึกษาจริงๆ จะทราบได้เลยว่า ใครสอนโดยการคิดเอง แต่ไม่ตรงกับพระไตรปิฎก อย่างที่จะกล่าวว่า นิพพานเป็นอัตตา แค่นี้เราก็รู้แล้ว แต่ไม่ใช่เพียงเท่านี้ ยังมีอีกมากมายนัก ถ้าบอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถูก แน่นอน มีในพระไตรปิฎก และเป็นความจริง ซึ่งเราต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ คิดว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร อริยสัจจธรรมคืออะไร ถ้าบอกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ชื่อ ทุกคนจำได้หมดเลย
ที่อ่านมาแล้ว ทุกข์คืออะไร
ถ. ทุกข์ คือ ความที่ทนไม่ได้
สุ. ทนอะไรไม่ได้
ถ. ทนสิ่งต่างๆ ที่มากระทบไม่ได้
สุ. เช่น ขณะกำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นทุกข์ไหม
ถ. ก็แล้วแต่เฉพาะคนว่า คนๆ นั้นทนได้ไหม ถ้าทนได้ก็ไม่ทุกข์
สุ. นี่ไม่ใช่อริยสัจจ์ ถ้าอริยสัจจ์ คือ สังขารธรรมทั้งหลาย หรือสภาพธรรมทั้งหมดที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ นี่คือความหมายของทุกขลักษณะ ที่จะทำให้ถึงนิพพานได้
เพราะฉะนั้น หนังสือที่อ่านเราก็ค่อยๆ ทิ้งไป ถ้าเราได้ศึกษาธรรมจริงๆ เราจะรู้เลยว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างนี้ แต่ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม จะพูด อีกอย่างหนึ่ง จะคิดอีกอย่างหนึ่ง จะเขียนจะเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราต้องเลือกด้วย ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่หนังสือบางเล่ม แต่ต้องไขว่คว้าหาไปอีกว่า จริงๆ แล้ว คืออย่างไร และที่ถูกต้องที่สุด คือ เริ่มศึกษาพระธรรม จะทำให้เราไม่เสียเวลา คือ ไม่ไปติดอยู่ที่ความคิดของแต่ละบุคคล
ถ. เมื่อไรจึงจะปฏิบัติ ...
สุ. สมาธิคืออะไร ก่อนอื่นที่เราจะทำอะไร เราต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในสิ่งนั้น เหมือนอย่างเมื่อกี้ที่เราพูดเรื่องทุกข์ เราก็ต้องเข้าใจว่าทุกข์คืออะไร เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงสมาธิกับวิปัสสนา ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าคืออะไร ถ้าเราไม่เข้าใจว่าคืออะไร เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าสิ่งที่เราต้องการนี่ถูกหรือผิด เพราะฉะนั้น สมาธิ คืออะไร
ถ. ตามความเข้าใจของผม สมาธิ คือ ทำสติให้มั่นคง ทำจิตให้ว่าง วิปัสสนา คือ ทำให้เกิดปัญญา
สุ. สมาธิที่ถูก คือ ความตั้งมั่นคงของจิต ซึ่งเกิดได้ทั้งกุศลและอกุศล ขณะใดที่มีจิตตั้งมั่นในอารมณ์คือสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างคนที่กำลังตั้งใจอ่านหนังสือ เขาไม่สนใจอย่างอื่นเลย ไม่ได้ยินเสียงอื่นเลย ขณะนั้นก็เป็นลักษณะหนึ่งของสมาธิ คนที่ตั้งใจทำอะไรให้ดี สวยๆ งามๆ เช่น สลักผลไม้ ก็ต้องมีสมาธิ แม้ในขณะที่ฟังขณะนี้ ก็มีสมาธิเล็กๆ เกิดทุกขณะจิต ทำให้ตั้งมั่นในสิ่งที่กำลังปรากฏและ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
แต่สมาธิไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น ความหมายของสมาธิที่ถูก คือ ตั้งมั่น และมีทั้งผิด มีทั้งถูก มิจฉาสมาธิก็มี สัมมาสมาธิก็มี
และวิปัสสนาคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาคืออะไร
ถ. คือ การปล่อยวางให้เกิดปัญญา
สุ. วิปัสสนากับปัญญา เป็นอย่างเดียวกันหรือเปล่า
ถ. ก็ใกล้เคียง วิปัสสนา คือ การทำให้เกิดปัญญา
สุ. วิปัสสนาสูงกว่าปัญญา ไม่ใช่วิปัสสนาไปทำให้เกิดปัญญา และ ถ้าปล่อยวาง หมายความว่าอย่างไร หลับเสียดีไหม สบายกว่า ไม่ต้องทำด้วย ไม่ต้องเหนื่อยด้วย เพียงแค่หลับก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ว่าง ไม่ถูกต้อง ว่างไม่ใช่ปัญญา ก็เป็นเรื่องของความสับสน ซึ่งจะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ถ. ที่ทำว่าง คือ สมาธิ ใช่ไหม
สุ. ว่าง และก็ไม่มีปัญญา ว่างที่นี่หมายความว่าอย่างไร ขณะนี้ว่างได้ไหม
ถ. ว่างนี่หมายความว่า จิตเป็นหนึ่งเดียว
สุ. หนึ่งเดียว ก็ต้องรู้อะไรสักอย่างหนึ่ง จะว่างไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าง ตกลงผิดนะที่ว่า ว่าง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๔ ตอนที่ ๑๘๓๑ – ๑๘๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883