แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
ครั้งที่ ๑๘๔๐
สาระสำคัญ
มุ่งหาคำสอนที่พระองค์ตรัสรู้ ทิ้งคำสอนและคำพูดของบุคคลอื่น
ปัญญาสะสมมามากพอที่จะฟังต่อไปหรือเปล่า
ภาวนามี ๒ อย่าง สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา
สมถะ หมายความว่า สงบจากอกุศล ตรึกอย่างไร กุศลจิตจะเกิด
วิปัสสนา คือ อะไร
จุดประสงค์ของการบวช หรือการรักษาศีล คืออะไร
คันถธุระและวิปัสสนาธุระ
สนทนาธรรมที่ จ. ฉะเชิงเทรา
วันเสาร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๑
ถ. กราบเรียนท่านอาจารย์ คือ ในชีวิตของแต่ละคน บางคนยังไม่ได้สัมผัสธรรมเลย มีความพร้อมในครอบครัว ลูกเต้าก็ประสบความสำเร็จ ฐานะก็ดี ไม่มีความทุกข์อะไร ชีวิตก็สมบูรณ์ดี เกียรติยศก็มี เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะ ทำให้เขาได้สัมผัสธรรม โดยที่เขาคิดว่าไม่ต้องทำอะไรแล้ว แต่ดิฉันคิดว่า ยังต้องทำ แต่ดิฉันไม่มีปัญญาที่จะเกื้อกูลเพื่อน ต้องขอให้ท่านอาจารย์เกื้อกูล
สุ. ก็ไตร่ตรองดู มีหมดทุกอย่างครบแล้ว แต่ยังขาดอะไร
ถ. เขาก็ไม่ได้บอก แต่ดูเขาสุขสมบูรณ์ดี
สุ. แต่คนที่สมบูรณ์แล้ว อาจจะใคร่ครวญพิจารณาได้ว่า ยังขาดอะไรนะ พอจะคิดออกไหมว่า ยังขาดอะไร มีหมดทุกอย่างเลย ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ บริวาร แต่ยังขาดอะไรนะ
ถ. ถ้าบอกว่า ขาดปัญญา เขาก็ไม่รู้อีก เพราะว่าปัญญาทางโลกของเขาเต็มที่แล้ว จะให้นึกถึงปัญญาทางธรรม เขาคงคิดไม่ออก
สุ. ก็ต้องมีคนช่วยคิด ว่ายังขาดปัญญา
ถ. เขาก็ไม่ได้อวดว่ามี แต่ก็อยากชักชวนเพื่อน
สุ. คงไม่มีใคร ศาสตราจารย์ หรืออะไรมากมาย ปริญญายาวเหยียดที่จะมีความรู้เท่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อให้ไปแสวงหาสักเท่าไรในแสนโกฏิกัปป์ กว่าจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นบุญกุศลของ ผู้มีโอกาสที่ได้ยินคำนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าจะถึงกาลสมัยหนึ่ง ซึ่งแม้คำนี้ก็ไม่ได้ยิน ไม่มีทางเลยเมื่อพระศาสนาหมดแล้ว อันตรธานแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้ายังอยู่ในกาล หรืออยู่ในแหล่งที่มีโอกาสจะได้ยินคำนี้ ก็เป็นลาภ อันประเสริฐที่จะรู้ว่า มีผู้หนึ่งซึ่งทุกท่านนอบน้อมสักการะในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินชื่อ และเคารพสักการะ โดยไม่รู้ว่า ท่านทรงตรัสรู้อะไร และทรงแสดงธรรมอะไรถึง ๔๕ พรรษา เช้า สาย บ่าย เย็น มากกว่าใครทั้งหมดเลย เกือบจะเรียกได้ว่า ทั้งวันทั้งคืน นอกจากเวลาที่ทรงพักผ่อน หรือเวลาที่มีกิจที่จะต้องเดินทางไกล
น่าอย่างยิ่งที่จะสนใจว่า พระองค์ทรงตรัสรู้อะไร และสอนอะไร ทิ้งคำสอน และคำพูดของบุคคลอื่นทั้งหมด มุ่งไปหาคำที่พระองค์ทรงตรัสรู้และสอน ซึ่งไม่ยาก เพราะว่าพระไตรปิฎกมี อรรถกถามี และสำนักเรียนมี ที่เรียนมี โดยเฉพาะที่นี่ก็มี
เห็นไหม ทุกคนมาอย่างไรไปอย่างไรจึงมาถึงที่นี่ มาอย่างไรในสังสารวัฏฏ์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะวันนี้วันเดียว ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานมาก เราก็คงจะได้ผ่านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างแล้ว เพราะว่ามีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์มาก แต่ความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าฟังแล้วรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลย เป็นเรื่องของจิรกาลภาวนา คือ การอบรมสะสมอย่างมากทีเดียว
อย่างพวกเราก็ทำกุศลมาแล้วในอดีต จึงได้เกิดเป็นมนุษย์ กรรมหนึ่งที่เป็นกุศลทำให้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่ไม่บ้าใบ้บอดหนวกด้วย และมีโอกาสได้ฟังพระธรรม แต่ให้คิดถึงว่า ตอนเป็นเด็กมีใครคิดบ้างว่าจะนั่งอยู่ตรงนี้ จะฟังเรื่องอย่างนี้ แต่ละชีวิตก็ไปแต่ละแบบ แต่สังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งสืบๆ มาจากจิตแต่ละหนึ่งขณะๆ จนถึงกาลที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะมาได้ฟัง ต้องมีการสะสมที่จะ มีโอกาสที่ถึงกาล เพราะว่าบางคนบ้านเดียวกันแต่ไม่ฟัง วิทยุก็เปิด ก็ยังไม่ฟัง เพราะว่าสังขารขันธ์ของเขายังไม่ได้ปรุงแต่งจนกระทั่งถึงกาลที่จะฟัง
และในขณะที่กำลังฟัง ให้ทราบว่า เราต้องเข้าใจธรรมละเอียดตั้งแต่ต้นว่า เป็นธรรม ไม่มีเรา เพื่อที่จะเอาเราออก ถ้ามีเรานี่มีความทุกข์ เราต้องเป็นอย่างนี้ เราต้องดีอย่างนั้น ถ้าเราไม่ดีอย่างนั้น เราก็จะเดือดร้อนใจอย่างโน้น สารพัดที่จะเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นธรรมล้วนๆ เราจะเข้าใจถูกว่า อกุศลก็เป็นอกุศล เกิดเพราะ เหตุปัจจัยและก็ดับ แม้กุศลก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไปแล้ว เป็นของใคร ที่ไหน ถ้าเข้าใจลึกซึ้งถึงความเป็นธาตุแต่ละอย่าง เป็นธาตุจริงๆ เป็นธรรมธาตุ ก็จะเห็นได้ว่า แม้ขณะที่กำลังฟังขณะนี้ก็มีเหตุปัจจัยที่จะได้ฟังแล้ว แต่ว่า ความศรัทธา ความสนใจ ปัญญาที่สะสมมามากพอที่จะฟังต่อไปหรือเปล่า หรือว่า มีโอกาสเพียงแค่ได้ฟัง แต่ไม่ได้ติดตาม หรือไม่ได้สนใจต่อไป ก็ต้องคอยอีกนาน แสนนานกว่าจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังอีก และค่อยๆ เห็นประโยชน์ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
แต่ถ้าสะสมมามาก อย่างคนในครั้งพุทธกาล บางท่านโกรธ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเฝ้า ฟังธรรม รู้เลยว่าไม่เคยได้ยินคำอย่างนี้มาก่อน และสามารถที่จะเข้าใจได้ บางท่านก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
เพราะฉะนั้น แต่ละชีวิตที่จะมาสู่พระธรรม อาจจะมาโดยลักษณะต่างๆ กัน ในสมัยโน้นคนเห็นผิดก็มีมาก เมื่อได้ฟังพระธรรมจึงได้เกิดความเห็นถูกขึ้น ทุกกาลสมัยก็เป็นอย่างนี้ แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่ซ้ำกันเลยในที่นี้ แต่ละชีวิต ที่ผ่านมา ก็เป็นชีวิตที่สังขารขันธ์มีโอกาสที่จะปรุงแต่งจนกระทั่งสามารถได้ฟังในขณะนี้
ถ. ถ้าผมได้ทำตามวิธีปฏิบัติสมาธิว่า ทำอย่างนี้ๆ ตามที่ท่านเขียน มันไม่น่าจะผิด นี่คือข้อที่ ๑. ข้อที่ ๒. ถ้าต้องศึกษาอภิธรรมก่อน หมายความว่า ผมควรหยุดปฏิบัติสมาธิ เพื่อเรียนพระอภิธรรมให้ได้ก่อนจึงจะทำ หรืออย่างไร
สุ. เคยพูดคำว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ไหม และต่อจากนั้น คือ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ หมายความว่าอย่างไร
ถ. ยึดพระพุทธ พระธรรม เป็นที่ตั้ง
สุ. มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง พระธรรม คือ คำสอน ถ้าเราไม่ศึกษาคำสอน เราจะมีอะไรเป็นที่พึ่งที่จะรู้ว่า ใครถูก ใครผิด แต่ถ้าเราศึกษาแล้ว เราสามารถรู้ได้ จะไม่มีชื่อคนเลย แต่จะมีว่า คำพูดอย่างนี้ไม่ตรง ไม่ถูกกับสภาพธรรม เพราะว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อเราศึกษาแล้ว เราสามารถวัดได้ รู้ได้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังหรืออ่านนั้นถูกต้องหรือเปล่า แต่ถ้า เรายังไม่ได้เรียน ก็เป็นของธรรมดาที่ว่าได้ยินได้ฟังอะไร เราก็เข้าใจว่า ผู้นั้นถูก ผู้นี้ถูก เพราะเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องวัด ไม่มีพระธรรมเป็นสรณะ แต่ถ้าเราศึกษา มีพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ ต่อไปเราก็จะมีพระอริยสงฆ์ คือ พระอริยบุคคลเป็นสรณะ เพราะเรารู้ว่าหนทางใดที่จะทำให้บุคคลเป็นพระอริยเจ้าได้ ไม่อย่างนั้นเราไม่รู้ เราก็สับสน และเอาความคิดของเราเองว่า คงจะเป็นอย่างนี้ หรือคงจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดมาก ลึกซึ้งมากด้วย
เมื่อ ๒ – ๓ วันนี้ เราก็พูดกันบ่อยๆ เรื่องอริยสัจจ์ ๔ สองอริยสัจจ์แรก ลุ่มลึก เพราะเห็นยาก แต่สองอริยสัจจ์หลัง ซึ่งรวมทั้งการประพฤติปฏิบัติ การอบรมเจริญปัญญาที่เป็นอริยสัจจ์สุดท้ายด้วย เห็นยาก เพราะลุ่มลึก
ทำไมเราลืมคำนี้ เราคิดว่า ไปนั่งเฉยๆ ง่ายๆ เป็นสมาธิ ไม่ต้องศึกษาอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้น คำที่ว่า เห็นยาก เพราะลุ่มลึก จะมีความหมายว่าอะไร
เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดที่ได้ศึกษา จะสอดคล้องกันทั้งหมดทุกคำ ไม่คัดค้านกันเลย แม้แต่การคิดว่า เราจะไปทำสมาธิ แต่ในคำสอนของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาวนามี ๒ อย่าง สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ภาวนาทั้ง ๒ จะเป็นไปได้เมื่อมีปัญญา หมายความว่าถ้าปราศจากปัญญาแล้ว จะอบรมเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะเหตุว่าสมถะแปลว่าสงบ สงบ ไม่ใช่นั่งเฉยๆ คนเดียว ว่างๆ ไม่รู้อะไร แต่สมถะ หมายความว่า สงบจากอกุศล
ขณะใดจิตเป็นอกุศล ผู้นั้นต้องรู้ ไม่ใช่ไปรู้ชื่อนิวรณ์ ๕ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ แต่ขณะนี้นิวรณ์อะไร ทางตาหลังจากที่เห็น นิวรณ์อะไร ทางหู หลังจากที่ได้ยินแล้ว นิวรณ์อะไร เพราะว่าสภาพธรรมมีจริงๆ ทั้งหมด แต่เราไปฟังเพียงชื่อ ไปอ่านเพียงชื่อ ไปจำเพียงชื่อ แต่ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วชื่อทั้งหมด ขณะนี้มีหรือเปล่า และเมื่อไร
การอบรมเจริญปัญญาแม้เป็นขั้นของความสงบ คือ สมถะ ก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือไม่สงบ ต้องมีสติสัมปชัญญะ ขณะนั้นสามารถที่จะรู้สภาพจิตอย่างที่เราถามกันว่า จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็หมายความว่าเราไม่ได้รู้สภาพ ของจิต จึงได้ถามเพียงชื่อและเรื่องราวว่า อย่างนั้นเป็นกุศล หรืออย่างนี้เป็นอกุศล แต่เวลาที่สภาพจิตอย่างใดเกิด สติสัมปชัญญะระลึกแล้วรู้ ขณะนั้นลักษณะของจิต ที่เป็นกุศลต่างกับจิตที่เป็นอกุศล และเป็นอกุศลประเภทไหน กามฉันทะ หรือ พยาปาทะ หรือวิจิกิจฉา หรืออะไรที่เป็นนิวรณ์ เพราะว่าอกุศลทั้งหมดเป็นนิวรณ์
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ และคนในครั้งโน้นที่อบรมเจริญ สมถภาวนา ท่านเหล่านั้นเห็นโทษของโลภะ แต่เราเห็นโทษของโลภะหรือเปล่า ขณะเป็นโลภะก็ยังไม่รู้ แต่ท่านเหล่านั้นสามารถรู้ว่า เพียงเห็น เป็นอกุศลแล้ว ติดแล้ว เพียงได้ยิน ก็ติดข้องแล้ว เร็วมาก และบางเบามาก แต่เรามักจะเห็น อกุศลหยาบๆ ใหญ่ๆ เวลาเห็นคนที่โกง ทุจริต เราก็บอกว่า เขามีโลภะมาก แต่ที่เห็นแล้วชอบ ไม่ทันรู้ตัวเลยว่าเป็นโลภะ บางคนเขาเดินไปตามถนนและบอกว่า นั่นสวยดี เป็นโลภะ แต่ก่อนที่จะสวยดี โลภะเท่าไรแล้วก็ไม่ทราบ ทันทีที่ลืมตา ตื่นขึ้นก็มีความติดข้อง
ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาถูกต้องในครั้งโน้น ที่จิตจะสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ท่านต้องเห็นโทษของโลภะและรู้ว่า ตราบใดที่ยังมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้เพียงการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จิตไม่สงบ เพราะฉะนั้น ท่านรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลซึ่งต่างกับอกุศล และรู้ว่า การที่จะทำให้จิตสงบเป็นกุศล ต้องอาศัยสภาพธรรมที่ตรึก คือ นึกบ่อยๆ ใน สภาพธรรมที่ทำให้จิตเป็นกุศล ไม่ใช่ไปนึกอะไรก็เป็นกุศลไปหมด เป็นไปไม่ได้ อย่างเห็นซากศพซึ่งเป็นอสุภกัมมัฏฐาน คนนั้นต้องเป็นผู้ตรงว่า เห็นแล้วกลัว หรือ เห็นแล้วปัญญามี ขณะนั้นจิตจึงจะสงบได้ แต่ถ้าปัญญาไม่มี จิตก็ไม่สงบ เพราะฉะนั้น ท่านต้องรู้สภาพของจิต ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ปัญญาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล และตรึกอย่างไรกุศลจิตจึงจะเกิด จนกระทั่งจิตของท่านเป็น กุศลขึ้นๆ ในสภาพของอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ที่ทำให้สงบ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าง ไม่ใช่ไม่มีปัญญา แต่ต้องประกอบด้วยปัญญา ที่สามารถรู้ลักษณะของจิตด้วย จึงจะเป็นสมถภาวนา นี่คือ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สอบทานได้กับพระไตรปิฎก มีเหตุมีผลที่จะทำให้เราสามารถเข้าใจทุกคำที่เราได้ยินอย่างถูกต้อง
ถ้าเขาบอกว่าสงบ เราก็สงบไปด้วย โดยเราไม่รู้ว่าสงบคืออะไร สงบจะเกิด ได้อย่างไร จะมั่นคงขึ้นได้อย่างไร เพราะอะไร ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีเหตุผล มีแต่เรื่องทำด้วยโลภะ หรือด้วยความต้องการ
ถ้ามีความต้องการ และไปนั่งทำด้วยความต้องการ อาจารย์กับศิษย์ก็ ช่วยกันไป ทำกันไป เวลาเกิดว่างๆ ขึ้นมา ก็ดีใจติดข้องชอบใจไปอีก นั่นคือ ไม่มีพระธรรมเป็นสรณะ
ถ. เท่าที่ฟังความคิดของคุณอุดม เขาเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าไปเรียนสมาธิก่อน จึงได้วิปัสสนา เพราะฉะนั้น สมาธิก็คือบาทของวิปัสสนา อยากจะให้อาจารย์ขยายอันนี้
สุ. คนละเรื่องเลย ความสงบเป็นความสงบ เพราะฉะนั้น ในครั้งโน้นก็มี ผู้ที่ได้บำเพ็ญสมถภาวนาและได้ฌานจำนวนมาก แต่ผู้ที่ได้ฌานนั้นเองไม่ใช่ว่า จะได้วิปัสสนา เพราะถ้าไม่มีการฟังพระธรรม ไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของฌานก็เรื่องของฌานไป แต่เมื่อไรบุคคลเหล่านั้นได้ฟังพระธรรม ซึ่งทรงแสดงหนทางว่า หนทางที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ รู้สภาพที่เป็นทุกขลักษณะ ที่เป็นอริยสัจจะที่กำลังเกิดดับ มีหนทางเดียว เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมเป็นอย่างนั้น ใครจะรู้หรือไม่รู้สภาพธรรมก็เป็นอย่างนั้น
ขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดและดับ จิตเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ จิตเกิดขึ้นได้ยินแล้ว ก็ดับ สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ได้ฟังอย่างนี้ ใครจะประจักษ์อย่างนี้หรือไม่ประจักษ์ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไป แต่ความจริงก็คือความจริง
เมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงแสดง ซึ่งพวกที่อบรมเจริญสมถภาวนาไม่มีโอกาส รู้อย่างนี้เลยถ้าไม่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น ต้องฟังคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้
ผู้ใดที่เคยอบรมเจริญสมถะมาก่อนและฟังคำสอน จะต้องเริ่มอบรม เจริญสติปัฏฐาน เพราะถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาจะคลายความไม่รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมรูปธรรมซึ่งไม่ใช่เราแต่เป็นธรรมไม่ได้เลย
ตอบปัญหาธรรมที่วัดเจริญสุขารามวรวิหาร จ. สมุทรสงคราม
วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวามคม ๒๕๓๑
พระ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และอาจารย์สมพร ได้ให้ความเมตตาธรรม เดินทางมาตอบปัญหาและบรรยายธรรม เพื่อให้ผู้บวชเป็นสามเณรและบวชศีลจาริณี ได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรม คำสอนของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บวชแทบทุกคนย่อมรู้จัก อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ทางวิทยุกระจายเสียง แต่ยังไม่เคยเห็นตัวจริง
วันนี้อาจารย์สุจินต์มาแล้ว ทุกคนคงจะรู้จัก และเพื่อที่จะได้ซาบซึ้งในหลักธรรม จึงขอให้ท่านผู้ฟังได้โปรดเตรียมปัญหาที่จะสอบถาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจขึ้น อาจารย์จะได้ตอบ อธิบายให้เกิดความกระจ่างแจ้ง เพื่อประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนา
เพื่อไม่ให้เสียเวลา โอกาสนี้ขอเจริญพรเรียนเชิญอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้บรรยายธรรม และตอบปัญหาธรรมตามลำดับ ขอเจริญพร
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. วิปัสสนา คือ ปัญญาที่รู้ชัดลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เรื่องของวิปัสสนา ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่ายภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ต้องเป็นการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ
ก่อนอื่น โดยศัพท์ วิปัสสนา หมายความถึงปัญญาที่รู้แจ้งชัด ถ้าจะแปล อย่างง่ายๆ สำหรับให้ทุกคนเข้าใจ จะใช้คำว่า รู้ชัด รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏก็ได้
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ต้องทราบว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรมหรือเปล่า และเป็นธรรมอะไรที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด ถ้ายังไม่รู้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเห็นก็เป็นธรรม กำลังได้ยินก็เป็นธรรม กำลังคิดนึกก็เป็นธรรม ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมหมด ธรรมเกิดขึ้น และธรรมก็ดับไป นี่คือชีวิตในวันหนึ่งๆ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ปัญญาที่จะรู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมก็มีไม่ได้
เรื่องวิปัสสนาเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ในขั้นของการฟัง ถ้าจะให้รู้ชัดจริงๆ โดยที่ไม่ฟังเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าปัญญาต้องเจริญตามลำดับขั้น คือ ขั้นฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน และเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ต้องพิจารณาให้เป็นความเข้าใจของตัวเอง และเมื่อเข้าใจแล้ว ปัญญาที่สะสม เข้าใจเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยคือเป็นสังขารขันธ์ทำให้เกิดการระลึกศึกษาลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จากชาติหนึ่ง ไปอีกชาติหนึ่ง ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าสามารถรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ทันที
เมื่อไม่มีท่านผู้ใดถาม ก็อยากจะถามให้คิดว่า จุดประสงค์ของการบวช หรือการรักษาศีลคืออะไร ทุกท่านในขณะนี้เป็นผู้ที่มารักษาศีล จุดประสงค์ในการรักษาศีลคืออะไร ถ้ายังไม่ทราบจุดประสงค์ก็คงจะได้เพียงศีล แต่ในฐานะที่เป็นผู้รักษาศีล มีศรัทธาที่จะรักษาถึงศีล ๘ ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ในการรักษาศีลนั้น จะได้รับอะไรนอกจากศีลบ้างไหมที่เป็นจุดประสงค์
ถ้าใครไม่คิดเลยและไม่ทราบ จะรักษาศีลกี่วันก็ได้เพียงเท่านั้นเอง แต่ถ้าเข้าใจจุดประสงค์ที่เพิ่มขึ้น คือ นอกจากรักษาศีลแล้ว ก็มีการฟังพระธรรม สนทนา พระธรรม เพื่อให้เข้าใจพระธรรม ก็จะได้ประโยชน์มากกว่าเพียงการรักษาศีลเท่านั้น
ถ. ธุระหรือหน้าที่สำคัญยิ่งในพุทธศาสนามีอยู่เท่าไหร่
สมพร ธุระสำคัญในพระพุทธศาสนา มี ๒ อย่าง เรียกว่า คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ คันถธุระ หมายถึงการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ วิปัสสนาธุระ หมายถึงการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ รวมความว่า ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ๒ อย่าง ส่วนปฏิเวธ หมายถึงการแทงตลอด เป็นมรรคผลนิพพาน
ถ. วิปัสสนามีปรากฏในพระไตรปิฎกหรือไม่ และวิชาธรรมกายมี ในพระไตรปิฎกหรือไม่
สมพร วิปัสสนาธุระมีปรากฏในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา ส่วนมากจะใช้ว่า สติปัฏฐาน
คำว่า สัมมาอรหัง ถ้าจะวินิจฉัยศัพท์จริงๆ คำว่า สัมมาอรหัง ติดต่อกันอย่างนี้ในพระไตรปิฎกไม่มี ศัพท์นี้อาจารย์รุ่นหลังมาบัญญัติใช้ขึ้น ซึ่งการใช้ขึ้นนั้น แล้วแต่คณาจารย์มีความเห็นอย่างไร
ถ. การที่อุบาสิกาฉันนมโคหรือนมกล่อง ถือว่าผิดศีลวิกาลโภชนาหรือเปล่า
สมพร นมนี่ยังบัญญัติว่าเป็นอาหารอยู่ ถ้าเราจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์จริงๆ เราต้องอดทน งดเว้น ถ้ามีความจำเป็นก็ฉันอย่างอื่น เช่น น้ำ ซึ่งไม่ห้าม ถ้าเราเสียสละแล้ว เสียสละการงาน หันมาถือศีลที่สูงแล้ว เราต้องยอม ต้องอดทน ไม่ใช่มาบวชแล้ว หรือมาถือศีลมากข้อแล้ว แต่ยังไม่ยอม คือ ยังเห็นแก่ตัว เห็นแก่โลภะ ความอยากเป็นโลภะ ความจริงเรื่องอาหาร เวลาเย็นไม่จำเป็นเท่าไร ในเมื่อ เรากินอาหารเพียงพอแล้วตอนกลางวัน อาหารตอนเย็นพระองค์ตรัสว่า ไม่มีความจำเป็นเท่าไร ถ้าเรากินอาหารมาก การปฏิบัติทางจิตของเราจะไม่ค่อยได้ผล เพราะว่าอาหารเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเกิดโลภะได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๔ ตอนที่ ๑๘๓๑ – ๑๘๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883