แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841


    ครั้งที่ ๑๘๔๑


    สาระสำคัญ

    การบวชเพื่ออะไร เพื่อขัดเกลากิเลส

    ความต่างกันของสมถะวิปัสสนา

    สมถะ คือ ความสงบ สงบจากโลภะ จากโทสะ โมหะ


    ตอบปัญหาธรรมที่วัดเจริญสุขารามวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม

    วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๑


    สุ. เพื่อประโยชน์ในการรักษาศีลเพิ่มขึ้น ที่ถามเรื่องนมและใช้คำว่า ฉัน สำหรับอุบาสิกา

    จริงๆ แล้วผู้ที่บวช ไม่ว่าจะบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่รักษาศีลเพื่อขัดเกลากิเลส ถ้าจะเทียบกับคนที่ไม่ได้บวชอย่างพวกคฤหัสถ์ธรรมดาซึ่งมีศีล ๕ เป็นนิจศีล ผู้ใดที่รักษาศีลแต่ละข้อๆ ผู้นั้นก็รู้จุดมุ่งหมายของตนเองว่า เพื่อขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ตั้งแต่ศีลข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๕ การวิรัติทุจริต หรือวิรัติ การดื่มน้ำเมา ก็เพื่อขัดเกลากิเลส และกิเลสก็มีมาก บางอย่างก็เป็นความติดข้องยินดี ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ ซึ่งก็คือ โลภะหรือตัณหา หรือกิเลสบางอย่าง เช่น ความเห็นผิด ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือมานะ ความสำคัญตน เพราะฉะนั้น ผู้ที่บวชต้องเป็นผู้ที่ละ หรือพยายามที่จะขัดเกลากิเลสทุกประเภท

    สำหรับผู้ที่บวช คือ ผู้ที่รักษาศีลเพิ่มจากศีล ๕ และอุบาสิกาในยุคนี้ไม่มีทาง เป็นบรรพชิตได้ ไม่ว่าจะมีศีลจำนวนเท่าไรก็ตาม ก็เป็นเพียงอุบาสิกาเท่านั้น ผู้ที่เป็นอุบาสิกาถึงแม้ว่าจะรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือบางท่านอาจมีศรัทธารักษาถึง ศีล ๑๐ ก็ตาม แต่โดยฐานะของเพศ ก็ยังคงเป็นอุบาสิกา

    ถ้าทุกท่านได้ระลึกว่า การบวชเพื่อขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความสำคัญตน หรือความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ขัดเกลาความยินดีในลาภสักการะ ในคำสรรเสริญ ในเกียรติยศ ในชื่อเสียง ก็จะทำให้ทุกท่านเป็นผู้ที่เบาสบายด้วยศีลที่รักษา ไม่มีความเดือดร้อน

    สำหรับอุบาสิกา เมื่อรักษาศีลมาก ก็ต้องเป็นผู้ที่อ่อนน้อมมากขึ้นตามศีล ยิ่งมีศีลมากเท่าไร ก็ย่อมมีความประพฤติที่อ่อนน้อมมากเท่านั้น ดังเช่นผู้ที่ควรจะ ยกเป็นตัวอย่าง คือ ท่านพระสารีบุตร ซึ่งเป็นอัครสาวก ในบรรดาพระสาวกทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดมีปัญญาเท่าท่านพระสารีบุตร แต่แม้กระนั้นเพราะท่านเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด ความประพฤติหรือความรู้สึกในใจของท่านพระสารีบุตรนั้น เป็นผู้ที่นอบน้อมหรือ อ่อนน้อมอย่างยิ่ง แม้แต่กับสามเณรที่ได้เรียนชี้แจงในเรื่องการนุ่งห่มสบงจีวรของท่าน ท่านก็ถือว่าเป็นผู้มีประโยชน์ที่ได้ทำคุณแก่ท่าน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน จะออกไป ข้างนอกพระอารามก็ตาม ท่านก็มีความรู้สึกว่า ตัวท่านเหมือนลูกคนจัณฑาลซึ่งต้อง มีความสงบเสงี่ยม ความอ่อนน้อมอย่างยิ่งกับบุคคลอื่น หรือเหมือนโคเขาขาด ที่ไม่สามารถไปต่อสู้หรือไปทำร้ายใครได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความสงบเสงี่ยม มีความเรียบร้อยด้วย

    เพราะฉะนั้น ยิ่งมีศีลมาก ผู้นั้นต้องมีความขัดเกลามาก มีความสงบเสงี่ยมมาก มีความอ่อนน้อมมาก

    และสำหรับอุบาสิกา ไม่ควรใช้คำว่า ฉัน

    คำถามข้อต่อไปมีว่า ภูมิของวิปัสสนามีเท่าไร อะไรบ้าง

    ก่อนอื่น เข้าใจเรื่องวิปัสสนากันหรือยัง คือ พอที่จะรู้คำภาษาบาลีที่เป็น ภูมิของวิปัสสนาหรือยัง

    วิปัสสนา คือ ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้า พูดเพียงว่า ปัญญารู้ชัด ก็ไม่ทราบว่ารู้อย่างไรจึงจะรู้ชัด ก็ต้องตั้งต้นตั้งแต่กำลังเห็นเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กำลังได้ยินก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทุกขณะในชีวิตประจำวันเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น ภูมิของวิปัสสนา ภูมิ คือ ที่เกิดของปัญญาที่จะให้รู้แจ้งชัด คือรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ที่กำลังเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน และเป็น สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นและดับไปด้วย เหมือนกันหมดทุกขณะ ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    โดยศัพท์ก็ขอเชิญอาจารย์สมพร

    สมพร ที่ถามว่าภูมิของวิปัสสนามีเท่าไร ส่วนหนึ่งท่านอาจารย์ก็ได้บรรยายไปแล้ว ผมจะเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า ภูมิของวิปัสสนามี ๖ คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สัจจะ ปฏิจจสมุปบาท อินทรีย์

    ทั้งหมดนี้เป็นภูมิของวิปัสสนา หมายถึงว่าเป็นปรมัตถธรรมล้วนๆ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นไปตามปัจจัย

    การรู้อย่างนี้ยังไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่เราจะต้องรู้ว่า วิปัสสนาเกิดที่ไหน อย่างที่อาจารย์บรรยายไปแล้วว่า เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ

    ทางตาอะไรปรากฏ ทางหูอะไรปรากฏ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอะไรปรากฏ

    ก่อนที่จะเป็นวิปัสสนา ต้องเข้าใจเรื่องขันธ์ หรือสิ่งที่ปรากฏ ถ้าพูดเรื่องขันธ์อาจจะยาก พูดอย่างภาษาง่ายๆ คือ อะไรปรากฏทางตา ที่ปรากฏทางตาก็คือสี หรือรูป ถ้าจะพูดเป็นรูป รูปก็คือรูปขันธ์ ตาก็คือรูปขันธ์ เห็นนั้นเป็นนามขันธ์ ซึ่งก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เข้าใจให้แจ่มแจ้งว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    บางทีเราเห็น บอกว่าเห็นต้นไม้ เห็นสัตว์ เห็นบุคคล เห็นอย่างนี้ไม่จัดว่า เป็นวิปัสสนา เพราะว่าต้นไม้จริงๆ ไม่มี คนจริงๆ ก็เป็นเพียงสมมติเท่านั้น คนจริงๆ ไม่มี จริงโดยสมมติ แต่ถ้าจะว่าคนจริงๆ ไม่มี ก็จะว่า พ่อแม่ก็ไม่มี ครูอาจารย์ก็ไม่มี

    พ่อแม่มี ครูอาจารย์ก็มี แต่จริงโดยสมมติ เราจะเรียนวิปัสสนา ศึกษาวิปัสสนา ต้องจริงโดยปรมัตถ์ ซึ่งไม่มีบัญญัติเจือปน ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ จึงจะบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงได้

    คำถามต่อไปมีว่า สมถะกับวิปัสสนาต่างกันที่ตรงไหน

    สมพร สมถะ อารมณ์เป็นบัญญัติ วิปัสสนา อารมณ์เป็นปรมัตถ์ นี่ว่าโดยข้อที่แตกต่างกัน สมถะนั้นมีในลัทธิภายนอก ส่วนวิปัสสนาและสมถะมีใน ลัทธิของเราด้วย คือ ในพระพุทธศาสนา ลัทธิภายนอก เช่น พราหมณ์ หรืออื่นๆ ก็ตาม ไม่มีวิปัสสนา วิปัสสนาจะเกิดขึ้นได้เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เท่านั้น

    ถ้ากล่าวถึงสมถะวิปัสสนาในพระศาสนานี้ เป็นธรรมคู่กัน เรียกว่า ยุคนัทธะ ยุคะ แปลว่า คู่ ธรรมที่คู่กัน แยกจากกันไม่ได้ เกิดก็เกิดด้วยกัน ที่ไหนมีสมถะ ที่นั่นมีวิปัสสนา ไม่ใช่ว่าสมถะโดดๆ หรือวิปัสสนาล้วนๆ มีสมถะก็มีวิปัสสนา มีวิปัสสนาก็มีสมถะ นี้เป็นใจความในพระพุทธศาสนา

    คำถามต่อไป อารมณ์สมถะมีกี่อย่าง

    สมพร ถ้าเอาอารมณ์สมถะล้วนๆ มี ๔๐ อย่าง ตั้งแต่กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน และอรูปฌาน ๔รวมทั้งหมดเป็น ๔๐

    สมถะ แปลว่า สงบจากกิเลส ต่างจากสมาธิ แต่สมาธิบางอย่างก็เหมือนสมถะ สมาธิยังแยกออกเป็น ๒ คือ มิจฉาสมาธิ กับสัมมาสมาธิ

    ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกทาง เป็นมิจฉาสมาธิ ทำให้เราหลงใหล เข้าใจผิด เช่น เมื่อปฏิบัติไปขณะแรกก็มีความสุขเกิดขึ้น และยินดีติดใจอยากปฏิบัติอีก นี่เป็นโลภะ เป็นมิจฉาสมาธิ แทนที่จะเป็นกุศลก็เป็นอกุศล สงบจากโทสะ แต่โลภะไม่สงบเลย เป็นมิจฉาสมาธิ ส่วนมากถ้าเราไม่ศึกษาให้เข้าใจเราก็หลงผิด ปฏิบัติผิด เป็นมิจฉาสมาธิแทนที่จะเป็นสัมมาสมาธิ สำหรับสัมมาสมาธิกับสมถะ ไม่แตกต่างกัน

    คำถามต่อไป วิปัสสนาภูมิกับปรมัตถ์ ต่างกันหรือเหมือนกัน

    สมพร วิปัสสนาภูมินั้นเอาปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ปรมัตถ์มี ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่ที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนามี ๓ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป

    สุ. ก่อนอื่น เวลาที่ได้ยินคำอะไรในภาษาบาลี ควรที่จะได้เข้าใจความหมายของคำนั้นจริงๆ อย่างที่พูดถึงเรื่องสมถะกับวิปัสสนา ไม่ทราบมีท่านที่ ฟังแล้วพิจารณา และเข้าใจในความต่างกันของสมถะกับวิปัสสนามากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ถึงความหมาย

    โดยศัพท์อย่างที่ท่านอาจารย์สมพรได้กล่าวแล้วว่า สมถะ คือ ความสงบ สภาพที่สงบ ถ้าได้ยินอย่างนี้ บางคนอาจจะบอกว่า วันนี้ฉันสงบแล้ว ฉันไม่วุ่นวาย ฉันนั่งอยู่ที่นี่ ฉันไม่ได้ไปไหน ฉันไม่ได้พบใคร เพราะฉะนั้น ฉันก็สงบ

    แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สมถะ คือ สงบจากโลภะ จากโทสะ จากโมหะ และลักษณะของจิตบางครั้งมีสภาพเป็นโลภะ ความยินดีเกิดขึ้นต้องการสิ่งต่างๆ บางครั้งเป็นโทสะ ความไม่ชอบ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจ และถึงแม้ว่าจะ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ แต่ถ้าในขณะนั้นไม่ใช่กุศล ขณะนั้นก็เป็นโมหะ คือ ความหลงลืมบ้าง ความไม่รู้สึกตัวบ้าง

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะนั่งอยู่ที่ไหน ในเพศใดก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกสภาพจิตของตนเอง ก็พอที่จะสามารถเข้าใจขึ้นได้อีก คือ การเข้าใจธรรม อย่าเข้าใจเพียงในหนังสือหรือคำศัพท์ แต่ต้องเข้าใจว่าธรรมนั้นเรื่องอะไร อย่างความสงบ เป็นเรื่องอะไร เป็นเรื่องของจิตใจที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ซึ่งทุกคนก็มีจิตใจ ที่พร้อมจะให้ปัญญาของแต่ละคนพิจารณาและเข้าใจจิตใจของตนเองเพิ่มขึ้น ไม่ใช่โดยชื่อว่าสมถะหมายความว่าอย่างนั้นๆ แต่สมถะ คือ ขณะจิตซึ่งไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ

    พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เพราะว่ามีจริง และเป็นเรื่องของปัญญาที่ต้องเจริญขึ้น แม้แต่การที่จะรู้ว่าสมถะคืออะไร ขณะไหน วิปัสสนา คืออะไร ขณะไหน

    และถ้ารู้แล้วว่า สมถะคือขณะที่จิตสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ วันนี้จิตสงบ กี่ขณะ

    ไม่ใช่ตอบตามหนังสือ เพราะหนังสือบอกไม่ได้ว่าจิตใจของแต่ละคนสงบ กี่ขณะ แต่ขณะนั้นสามารถระลึกและรู้สภาพของจิตว่า ขณะนั้นสงบหรือเปล่า ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหน ที่ไหนทั้งสิ้น ชั่วขณะนี้ที่เห็น จิตสงบไหม ขณะที่ได้ยิน จิตสงบไหม

    แต่ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่มีการฟังพระธรรมเพียงพอ ก็ไม่สามารถ แยกและรู้ได้จริงๆ ว่า จิตสงบหรือไม่สงบ อย่างที่ได้เรียนให้ทราบตั้งแต่ต้นว่า บางคนอาจจะบอกว่า วันนี้ฉันสงบ ฉันไม่ได้เกี่ยวข้องกับใคร ฉันไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่ตามความเป็นจริงแล้วต้องรู้ละเอียดกว่านั้นอีก คือ รู้ว่าเมื่อลืมตาตื่นขึ้น วันนี้ทุกคนตื่นมาแล้ว ขณะที่ตื่นแล้วต้องการอะไรหรือเปล่าในขณะที่ตื่น แม้แต่เพียงการเข้าห้องน้ำเพื่อที่จะบริหารร่างกาย หรือการบริโภคอาหาร ขณะนั้นก็เป็นโลภะ มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด และขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจแม้เพียงเล็กน้อย ความขุ่นเคืองใจเพียงนิดเดียว อย่างเสียงเมื่อกี้ ใครรู้บ้างว่าขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด สงบหรือเปล่า เสียงดังเมื่อกี้ จิตสงบหรือเปล่า นี่คือการอบรมเจริญธรรมจริงๆ ด้วยปัญญาในชีวิตประจำวัน ในขณะนั้นต่างกับจิตในขณะนี้หรือเปล่า

    ขณะที่กำลังฟังและมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความเข้าใจขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพของจิตซึ่งมีการได้ยินสิ่งที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง เพื่อให้ผู้ฟังพิจารณาและเกิดปัญญาขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นจิตที่สงบขั้นหนึ่ง จะใช้คำว่า สมถะ ก็ได้ เพราะว่ากุศลทุกประเภทปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่เป็นช่วงขณะที่สั้นเหลือเกิน คือ ขณะที่กำลังฟังชั่วขณะที่เข้าใจ จิตสงบ แต่เสียงเมื่อกี้เกิดดังขึ้นมาอีก จิตเป็นอย่างไร เปลี่ยนสภาพจากสงบเป็นความขุ่นเคืองใจ หรือความไม่พอใจใน เสียงนั้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น เมื่อลักษณะความสงบของจิตชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่ปรากฏ จึงมีการอบรมเจริญสมถภาวนาเพื่อให้จิตเป็นกุศลมากขึ้นในวันหนึ่งๆ จนกระทั่งปรากฏลักษณะที่สงบของจิตได้

    ต้องเป็นผู้ฟังให้เข้าใจก่อนจริงๆ ว่า สมถภาวนาคืออย่างนี้ คือ สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นเป็นสมถะ เป็นความสงบ ส่วนวิปัสสนาเป็นกุศลอีกขั้นหนึ่ง เป็นขั้นที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยลักษณะที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    พิจารณาดู ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ใครเห็น

    ถ้าทุกคนเป็นผู้ตรงก็จะตอบว่า ฉันเห็น ใช่ไหม ใครได้ยิน ก็จะต้องตอบว่า ฉันได้ยิน เราได้ยิน เพราะฉะนั้น ขณะนั้นยึดถือสภาพที่เพียงได้ยินแล้วก็ดับไป

    อย่างได้ยินเมื่อกี้ ทั้งเสียงก็ดับ สภาพที่ได้ยินเสียงเมื่อกี้ก็ดับ สิ่งที่เกิดแล้ว ดับไปแล้วจะเป็นของใคร ถ้าใครไปหลงยึดถือสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปว่าเป็นของฉัน หรือเป็นฉัน นั่นเป็นความเห็นผิด เป็นความเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น วิปัสสนาเป็น กุศลขั้นที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ที่อาศัยเหตุปัจจัย เกิดขึ้นและดับไป จึงต่างกับสมถะ

    ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นถ้าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลแล้ว กุศลขั้นนั้นก็เป็นขั้นความสงบ คือ สมถะ แต่ความสงบนั้นก็ชั่วขณะเพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ในสมัยที่แม้พระผู้มีพระภาค ยังไม่ทรงตรัสรู้ ก็มีผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาเพื่อให้จิตสงบเป็นกุศลที่มั่นคงขึ้น แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้ เพราะว่าไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่อาศัย เหตุปัจจัยเกิดขึ้น จนกว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ และทรงแสดงพระธรรม แสดงหนทางที่ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง และ โดยที่สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จึงไม่มีใครสามารถให้ปัญญาของตนเอง เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วภายในวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง หรือปีหนึ่งได้

    แต่ทุกคนต้องเป็นผู้ตรงว่า ปัญญาที่เกิดขึ้นเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ต่างกับก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม เพราะว่าก่อนได้ฟังพระธรรมจะไม่มีการรู้เรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีการรู้เรื่องจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตคิดนึก หรือสภาพธรรมที่ไม่ใช่เราเลย เช่น ความโลภ โลภะ ก็ไม่ใช่เรา ความโกรธก็ไม่ใช่เรา ความริษยาก็ไม่ใช่เรา ความสำคัญตนก็ไม่ใช่เรา แต่เป็น สภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ปัญญาที่เกิดจากการฟังจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    (มีเสียงดังขึ้น)

    เมื่อกี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล จิตสงบหรือเปล่าที่มีเสียงอย่างนั้นเกิดขึ้น

    นี่เป็นการที่จะรู้จิตของตัวเองว่า แม้กุศลและอกุศลก็เกิดสลับกันได้อย่างรวดเร็ว และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย

    มีใครบ้างไหมที่จะบอกว่า ในขณะที่เสียงเมื่อกี้เกิด จิตเป็นกุศล

    ไม่มี เป็นผู้ตรง แต่ถ้าใครบอกว่า มี ต้องมีเหตุผล ซึ่งขณะนั้นกุศลจิต เกิดได้จริงๆ แต่เป็นกุศลประเภทไหน นี่ต้องเป็นอีกขั้นหนึ่ง

    การฟังพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และอย่าข้าม อย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว ในสิ่งที่ได้ฟัง เพราะสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมด อย่างที่อาจารย์สมพรได้เรียนให้ทราบเรื่องภูมิของวิปัสสนาแล้วว่า ได้แก่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ เหล่านี้ แต่นั่นเป็นเพียงชื่อ ถ้ายังไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วก็คือในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ทุกคนก็พอที่จะเข้าใจขึ้น และพิสูจน์ได้ว่า ขณะใดที่กำลังเห็นและไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เห็น ไม่รู้ความจริงของสภาพเห็น ขณะนั้นไม่ใช่วิปัสสนา และถ้าขณะนั้นไม่เป็นสมถะ ก็ต้องเป็นอกุศลหรือกุศลประเภทอื่นๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๕ ตอนที่ ๑๘๔๑ – ๑๘๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    10 ก.พ. 2566