แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
ครั้งที่ ๑๘๔๓
สาระสำคัญ
ทุกอย่างล้วนเกิดแต่ปัจจัยทั้งสิ้น
โมหเจตสิก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอะไร
ความทุกข์ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง
ปัญญาไม่เกิดจึงเป็นทุกข์
ตอบปัญหาธรรมที่วัดเจริญสุขารามวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม
วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๑
สุ. คำถามที่ว่า การชนะใจตัวเองได้ ยากจริงๆ ทราบไหมว่าเพราะอะไร ต้องมีเหตุ แม้แต่คำถามนี้ก็ไม่พ้นจากความต้องการหรือความอยาก แสดงให้เห็นว่า ทุกคนอยากอยู่เสมอ แม้แต่ใจตัวเองที่รู้ว่าไม่ดี ก็ยังอยากจะเอาชนะใจ แต่ธรรมทั้งหลายไม่ใช่สำเร็จได้ด้วยความอยาก ถ้าใครสามารถใช้ความอยากเพื่อ ที่จะได้บรรลุผล โลกไม่มีปัญหาเลย เพราะว่าทุกคนอยากอย่างไรก็ทำได้อย่างนั้น แต่แม้ว่าทุกคนจะอยากสักเท่าไรก็ตาม โลกไม่ได้เป็นไปตามความอยาก เพราะว่า การชนะใจตนเองได้ ไม่ใช่มีตัวตนหรือมีเราที่จะชนะ แต่กิเลสทั้งหลายจะเบาบางลงได้ก็เพราะปัญญาเจริญขึ้น
ตราบใดที่ปัญญายังไม่มี จะมีใครที่เป็นคนดีขึ้นๆ ก็ยาก เพราะต้องเป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นจึงจะดีขึ้นได้
เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า เป็นเพราะความอ่อนแอ หรือขาดอะไร คำตอบก็คือ ขาดปัญญา คิดว่าตัวตนสามารถชนะได้ แต่ขอเรียนให้ทราบว่า โลภะหรืออกุศลทั้งหลายจะยอมแพ้สิ่งเดียวเท่านั้น คือ ปัญญา ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิด ยังไม่มี ยังไม่เจริญ ก็ต้องเบื่อหน่ายท้อแท้ เพราะว่าอยากได้สิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น จิตใจก็ย่อม ไม่เบิกบานผ่องใส และทำให้อกุศลอื่นเพิ่มขึ้นติดตามไปด้วย เช่น มืดๆ ทึบๆ หงุดหงิด งงๆ ใจก็ฟุ้งซ่าน นี่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าเมื่อไม่มีปัญญา อกุศลอื่นๆ ก็ต้องเจริญขึ้นด้วย
เลื่อนลอย เลยหลับไปไม่รู้ตัว
นี่ก็เห็นโทษอยู่แล้วว่า ไม่มีอะไรสักอย่างที่ดี แต่ถ้ามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น มีความเข้าใจถูกขึ้น จะทำให้ไม่มืดๆ ทึบๆ เพราะมีความผ่องใส ที่ได้เข้าใจถูกต้อง
เพราะฉะนั้น ต้นเหตุคือโลภะ และความอยากมีหลายอย่าง แม้แต่อยากจะชนะใจตัวเอง ก็เป็นแต่เพียงความอยาก ไม่ใช่เป็นปัญญา
ถ. โลภะ โทสะ โมหะที่เกิด อาศัยอะไรเป็นต้นเหตุจึงเกิดขึ้นมา
สมพร โลภะ โทสะ โมหะ อาศัยอวิชชาเป็นปัจจัย และเราจะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องศึกษาเพื่อกำจัดอวิชชา การศึกษานั้นเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญามีถึง ๓ ขั้น คือ ปัญญาเกิดจากการฟัง ปัญญาเกิดจากการคิด ปัญญาเกิดจากการเจริญภาวนา
สุ. ต้องเป็นเรื่องของโมหะ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ถ. โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นโดยอาศัยอวิชชาเป็นเหตุ องค์ธรรมปรมัตถ์ ของอวิชชาคืออะไร
สุ. คือ โมหเจตสิก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ. โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นโดยอาศัยอารมณ์ได้ไหม
สุ. ได้ หมายความว่า ขณะที่เห็นไม่รู้ความจริงว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ซึ่งกำลังเกิดดับ และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังเกิดดับด้วย ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ อวิชชาหรือโมหะก็คลายลง แต่ก่อนที่จะรู้อย่างนี้ได้ ต้องฟัง พระธรรมเรื่องของสภาพธรรมมากทีเดียว
ปัญหาต่อไปถามว่า นับถือศาสนาใด ตอบว่าศาสนาพุทธ ตอบไปอย่างนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้รู้ซึ้งธรรมอะไรเลย จะรู้ได้อย่างไรว่า นับถือศาสนากันที่ตรงไหน
ที่จะรู้ว่านับถือศาสนาพุทธจริงๆ ก็ตรงที่ศึกษาพระธรรมและเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องอะไร ถ้ายังไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็ไม่ทราบ ก็เพียงตอบไปอย่างนั้นเอง แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมแล้วก็มีเหตุผลที่รู้ว่า เพราะพระธรรมเป็น เรื่องของสภาพธรรมที่ทำให้ปัญญาของเราสามารถเจริญขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ก็นับถือกันตรงที่ได้ศึกษาพระธรรมและเข้าใจ
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งว่า ไม่มีใครสามารถไปดับโลภะ โทสะ โมหะ ของอุบาสกอุบาสิกาหรือบรรพชิตที่มาเฝ้าและกราบทูลถามปัญหาได้เลย ทรงแสดงธรรม ๔๕ พรรษาเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตราบใดที่ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราหรือเป็นตัวตนที่จะพ้นทุกข์เป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้ารู้ตามความจริงว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่เที่ยง เกิดมาแล้วไม่มีสักขณะ จิตเดียวที่เที่ยง ถ้ารู้ความจริงและประจักษ์อย่างนี้จริงๆ ไม่มีการยึดมั่นว่าเป็นเรา ความทุกข์ก็จะลดน้อยลง
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. หมายความว่าปัญญาของตนเองต้องเกิด และปัญญาจะเกิดจากไหน ปัญญาก็ต้องเกิดจากการฟังพระธรรม และพระธรรมอย่างอื่นไม่สามารถบรรเทา ความทุกข์ได้ นอกจากจะรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา ไม่มีเราเลย
ถ้าโกรธใครสักคน โกรธอะไร โกรธชื่อคนนั้น หรือโกรธนามสกุลคนนั้น หรือโกรธเรื่องคนนั้น หรือเขาไม่ดี โกรธโลภะของเขา โกรธโทสะของเขา โกรธริษยาของเขา หรือโกรธความตระหนี่มัจฉริยะของเขา
แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพธรรม ซึ่งเราไม่พึงไปโกรธเกลียดหรือ ไปเดือดร้อนเลย เพราะว่าสภาพธรรมนั้นเกิดและก็ดับ อกุศลธรรมไม่มีใครอยากจะมี แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด อกุศลธรรมนั้นๆ ก็ยังคงเกิดอยู่เรื่อยๆ ทางเดียวที่จะละคลายอกุศลธรรมได้ก็ต้องเป็นปัญญาที่เจริญขึ้น ถ้าไม่มีปัญญา อย่าถามถึงวิธีอื่นเลย เพราะถ้าถามถึงวิธีอื่น นักปรัชญาก็จะตอบตามแบบของนักปรัชญา นักจิตวิทยา ก็จะตอบตามแบบของนักจิตวิทยา มีหนังสือมากมายที่เขียนเรื่องวิธีชนะใจตนเอง วิธีชนะใจเพื่อน วิธีที่จะได้รับความสำเร็จในชีวิต แต่ก็เป็นเรื่องของวิธีการซึ่งไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ปัญญาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและทรงแสดงธรรมที่ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญา ความเข้าใจถูกของตนเองตามลำดับขั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าถามถึงวิธีที่จะทำ ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นการ ให้เกิดปัญญาเข้าใจถูกต้องขึ้น นั่นเป็นพระพุทธศาสนา ก็แล้วแต่ว่าต้องการแบบไหน ถ้าต้องการปรัชญา จิตวิทยา ก็เป็นวิธีการอื่นทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่พระพุทธศาสนา
ปัญหาต่อไปถามว่า ขณะนี้มีความทุกข์ในใจเหลือเกิน
ความทุกข์ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกคนมีทุกข์ทั้งนั้น แต่ทุกข์คนละรูปแบบ ถ้ารับประทานอาหารที่เค็มไป ไม่ว่าใครทั้งนั้นก็เป็นทุกข์ เผ็ดไปก็เป็นทุกข์ ถ้าอากาศจะหนาวขึ้น เย็นลงไปอีก ทุกคนก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ทุกข์ไม่ยาก ขณะใดที่ประสบกับอารมณ์ที่ไม่พอใจ เช่น กลิ่นเหม็น รสไม่อร่อย เสียงไม่เพราะ รูปไม่สวย นี่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งสิ้น
ท่านผู้ถามกล่าวว่า ขณะนี้มีความทุกข์ในใจเหลือเกิน
เป็นของธรรมดาสำหรับทุกคน คนที่ไม่มีทุกข์ไม่มี ขอให้ทราบว่า ไม่ว่าจะ เป็นใครทั้งนั้น ถ้าถามชีวิตของเขาจริงๆ แล้ว ทุกคนมีขณะที่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่แปลกเลย
และท่านถามว่า ชีวิตครอบครัว คือ สามี ทีแรกดี ต่อมาเป็นคนไม่มีศีล ดื่มสุราเป็นอาจิณ กีฬานารีเป็นกิจวัตร โกหกอยู่เรื่อย ทุบตีทำร้ายจิตใจ ลูกหลานภายในยุ่งหมด จะปฏิบัติอย่างไร
แก้ไขคนอื่นนี่ยาก และไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย ถ้าใครคิดจะแก้คนอื่น จนตายก็แก้ไม่ได้ เพราะเหตุไร ก็เพราะว่าตัวเองแท้ๆ ยังแก้ไม่ได้ จะไปแก้คนอื่น ได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องแก้ที่ตัวเอง ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่ไม่น่าพอใจอย่างไร ต้องรู้ว่าความทุกข์นั้น เกิดขึ้นเพราะอะไร จึงจะสามารถแก้ได้ เพราะว่าทุกข์ของแต่ละคนไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แต่อยู่ที่ตัวเองซึ่งในขณะนั้นปัญญาไม่เกิดจึงเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียว อีกเหมือนกัน คือ ไม่แก้คนอื่น แต่อบรมเจริญปัญญาของตนเองจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า ทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน และเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนมีในสังสารวัฏฏ์
ปัญหาต่อไปถามว่า การทำบุญด้วยการบวชพระและทอดกฐิน อย่างใดจะได้กุศลกว่ากัน และการทำบุญของเศรษฐีจำนวนมากๆ กับคนยากจนจำนวนเล็กน้อย จะมีอานิสงส์ต่างกันหรือไม่อย่างไร
สมพร ทั้งสองอย่างก็เป็นกุศล แต่กุศลจะได้มากได้น้อยอยู่ที่จิต เช่น เราจะบวชลูกหรือบวชหลาน เลี้ยงแขกอย่างมากมาย ฆ่าวัว ฆ่าหมู ฆ่าเป็ดไก่ อย่างนี้เป็นต้น เพื่อเลี้ยงกันในงานบวช กุศลจากการบวชก็มีเหมือนกัน แต่อกุศลก็ เกิดมากเช่นกัน สำคัญที่สุด การบวช ถ้าไม่ทำลาย ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น เว้นจากอกุศลจริงๆ ถือว่าเป็นการบวชที่ได้กุศลมาก เพราะว่าบวชแล้วก็ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม
การทอดกฐินเป็นกุศลเฉพาะกาล ถ้าเรามีเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล ก็ถือว่า มีอานิสงส์มาก แต่เจตนาของเราจะบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล บางทีก็เป็นไปได้ยาก
ทั้ง ๓ กาลอย่างไร คือ ก่อนจะให้ทาน คือ ก่อนจะทอดกฐิน เราก็มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีความโลภเกิดขึ้น ไม่มีความโกรธเกิดขึ้น ไม่มีโมหะเกิดขึ้น เรียกว่า บุพพเจตนา ขณะที่กำลังถวายกฐิน อกุศลก็ไม่เกิด เมื่อถวายกฐินไปแล้วก็ระลึกถึงกุศลนั้น อกุศลก็ไม่เกิด เมื่อกุศลเกิดอยู่ทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนให้ กำลังให้ และให้แล้ว อกุศลไม่เกิดเลย ก็ถือว่ามีอานิสงส์มาก
แต่อานิสงส์มากอย่างไรนั้น ดูการปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างไรที่จะพ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารได้ วิธีการปฏิบัติอย่างนั้นทำให้พ้นจากทุกข์ได้ ถือว่ามีอานิสงส์มาก และได้รับอานิสงส์มาก เราจะตัดสินอย่างเด็ดขาดต้องดูการพ้นจากทุกข์ว่ามาก หรือน้อย ถ้าจิตเรามีกุศลมาก ก็ได้อานิสงส์มาก
สุ. กลับมาถึงปัญหาที่อยากจะถาม ซึ่งคงจะช่วยให้ท่านผู้ฟังได้คิด คือ ที่ถามว่า การทำบุญด้วยการบวชพระและทอดกฐิน อย่างใดจะได้กุศลกว่ากัน
ถามทำไม คือ น่าคิดจริงๆ ถ้าอย่างไหนได้กุศลมากกว่าก็จะทำอย่างนั้น และไม่ทำอีกอย่างหนึ่งหรืออย่างไร หรืออยากจะรู้ว่าเพราะอะไร ไม่ว่าจะเป็น การบวชพระ การทอดกฐิน
แต่ถ้าทุกคนทราบด้วยปัญญาของตนเองว่า กุศลไม่ได้อยู่ที่บวชพระ และไม่ใช่อยู่ที่ทอดกฐิน แต่อยู่ที่จิต ขณะใดที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ จึงบวชพระ ขณะใดที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ จึงทอดกฐิน เพราะฉะนั้น การทอดกฐิน หรือการบวชพระก็เป็นทางของกุศลจิต ซึ่งเมื่อกุศลจิตเกิดแล้ว จะทำให้คิดดีบ้าง และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ดีบ้าง หรือมีวาจาที่ดีที่เป็นประโยชน์บ้าง
เพราะฉะนั้น ต้องรู้ ต่อไปนี้ไม่ต้องถามใครอีกเลย เพราะว่าใครจะรู้จิตใจของคนอื่น ทุกคนมีจิตซึ่งจะต้องรู้จักตัวของตัวเอง ไม่ใช่ถามคนอื่นว่าเป็นกุศลไหม ถ้าเวลานี้จะถามคนที่อยู่ที่นี่ว่า จิตของท่านผู้นี้เป็นกุศลไหม ก็ยากที่จะรู้ได้
ใครก็ตามที่ถามว่า จิตเป็นกุศลไหม พิจารณาจิตของตัวเองในขณะนี้ กำลังฟังและเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ขณะที่ฟังแล้วไม่เข้าใจหรือไม่สนใจเลย ขณะนั้นถึงแม้จะนั่งที่นี่ จะบอกว่าเป็นกุศลไม่ได้ จะบอกว่าวันนี้มานั่งฟัง การสนทนาธรรม จิตเป็นกุศล ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจและไม่สนใจ ขณะนั้นต้องไม่ใช่กุศล
การที่จะรู้ว่าวันนี้บุญมากหรือน้อย ไม่ใช่อยู่ในขณะที่บวชพระ ในขณะที่ทอดกฐิน ในขณะที่ใส่บาตร ในขณะที่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นขณะที่ระลึกรู้สภาพ ของจิตว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ คนอื่นไม่ต้องบอกเลย สามารถรู้เองได้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นกุศลมาก หรือเป็นกุศลน้อย
แต่อย่าให้เป็นคำถามในลักษณะที่ว่า ถ้าอย่างหนึ่งอย่างใดได้กุศลมากกว่าแล้ว จะไม่ทำอีกอย่างหนึ่ง และถึงแม้ว่าจะไม่ทอดกฐิน และจะไม่บวชพระ แต่วันนี้ ไม่ว่าจะคิดถึงใคร ไม่ได้คิดถึงด้วยความพยาบาท ความผูกโกรธ หรือความริษยา หรือความผูกพัน แต่คิดถึงด้วยความเป็นเพื่อน ต้องการที่จะช่วยเหลือใครในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น กุศลไม่ใช่มีแต่การให้ทาน หรือใส่บาตร เลี้ยงพระ บวชพระ ทอดกฐิน แต่เป็นทุกขณะที่จิตไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ
ปัญหาต่อไป การย้ำเรื่องนามรูป สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นฆราวาส ควรคิดถึงเรื่องนี้ในลักษณะอย่างไร จึงจะเป็นบุญกุศลตลอดเวลา
สมพร การย้ำเรื่องนามรูป จะให้เป็นกุศลตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ คือ บางครั้งเราคิดถึงเรื่องรูป หรือสีปรากฏทางตา บางครั้งเราก็เกิดความยินดีพอใจ ความยินดีพอใจเป็นโลภะ ตัณหา กุศลเกิดไม่ได้ก็เป็นอกุศลไป
การที่เราจะให้กุศลเกิดมากๆ พอจะทำได้บ้าง แต่จะให้เป็นกุศลตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมทั้งหลายมีเหตุปัจจัยเป็นแดนเกิด มีเหตุอย่างใด สิ่งนั้นก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จะให้มีกุศลตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้
ขณะจิตหนึ่งๆ กุศลอาจเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดได้ อกุศลก็เป็นปัจจัยให้ กุศลเกิดได้ การที่เราจะให้กุศลเกิดมากนี้พอจะเป็นไปได้บ้าง คือ ต้องหมั่นฟัง หมั่นศึกษา และปฏิบัติ หมั่นถามผู้รู้ว่า ทำอย่างไรกุศลจึงจะเกิด
กุศลเกิดทางไหน หรืออกุศลเกิดทางไหน ก็เกิดทางตาที่ได้เห็น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
กุศลหรืออกุศลก็อาศัยเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเท่านั้น และทำอย่างไรอกุศลจึงจะลดลง เมื่อสีปรากฏทางตา เราก็ระลึกถึงสี ความจริงสีไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ การที่เราเห็นแล้วว่าเป็นคน เป็นสัตว์นั้น เกิดจากความจำในอดีต เห็นครั้งแรก เห็นจริงๆ ยังไม่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเพียงการเห็น
เห็นอะไร เห็นสีที่ปรากฏ สีไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เมื่อระลึกรู้อย่างนี้บ่อยๆ โลภะ ความยินดีไม่เกิด โทสะ ความยินร้ายไม่เกิด ขณะนั้นก็เป็นกุศลได้ แต่เป็นกุศลที่ยังไม่แน่นอน เพราะจิตเรายังกลับกลอกได้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เหมือนกัน แต่การที่จะให้กุศลเกิดติดต่อทั้งวัน เป็นไปไม่ได้
สุ. คำถามนี้ก็ไม่พ้นเรื่องของโลภะ คือ โลภะในสิ่งซึ่งแสนจะเป็นไปไม่ได้ คือ อยากจะให้เป็นบุญเป็นกุศลตลอดเวลา
ในเมื่อทุกคนยังมีกิเลส และผู้ที่จะไม่มีอกุศลเลยที่จะเป็นบุญเป็นกุศล ได้ตลอดเวลาคือไม่มีอกุศลเลยนั้น ต้องเป็นพระอรหันต์ และกว่าจะได้เป็น พระอรหันต์ต้องรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันก่อน และก็เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี จึงจะถึงความเป็นพระอรหันต์
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๕ ตอนที่ ๑๘๔๑ – ๑๘๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883