แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
ครั้งที่ ๑๘๔๙
สาระสำคัญ
ทุกข์อื่นยิ่งไปกว่ากามไม่มี
การอบรมสะสมสติปัฏฐาน ปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทวาร
ความต่างกันของการสะสมของปัญญา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๑
ตั้งแต่นั้นมา พระราชาทรงหน่ายในวัตถุกามทั้งหลาย ทรงเสวยพระกระยาหารอันมีรสเลิศต่างๆ ก็มิได้ทรงเรียก มิได้ทรงทอดพระเนตรพวกสตรี ทรงมีจิตเบื่อหน่าย เสด็จเข้าห้องบรรทม ประทับนั่งกระทำกสิณบริกรรมที่ข้างฝาอันมีสีขาว ทรงเจริญสมถภาวนา ทรงบรรลุฌาน และตรัสติเตียนกามทั้งหลาย
ครั้นพระอัครมเหสีของพระองค์ทราบว่า พระองค์ทรงติเตียนกาม พระนางก็ทรงพรรณนาถึงความสุขในกามและได้ตรัสคาถากับพระราชาว่า
กามทั้งหลายมีรสอร่อยมาก สุขอื่นยิ่งไปกว่ากามไม่มี ชนเหล่าใดซ่องเสพกามทั้งหลาย ชนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงสวรรค์
อยู่ด้วยกัน ระดับของปัญญาต่างกัน ความคิดการสะสมก็ต่างกัน แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะที่มีปัจจัยให้อกุศลเกิดขึ้นเป็นไป
พระราชาทรงติเตียนว่า
ขึ้นชื่อว่าความสุขในกามทั้งหลาย มีที่ไหนกันเล่า เพราะกามเหล่านี้เป็น วิปริณามทุกข์ทั้งนั้น
และได้ทรงภาษิตพระคาถาว่า
กามทั้งหลายมีรสอร่อยน้อย ทุกข์อื่นยิ่งไปกว่ากามไม่มี ชนเหล่าใดซ่องเสพกามทั้งหลาย ชนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก
ผู้ที่มีปัญญาสามารถกล่าวอย่างนี้ เพราะเห็นอย่างนี้ แต่ผู้ที่ยังอบรมปัญญา ไม่พอก็เพียงฟัง เห็นว่าเป็นความไพเราะ และรู้ว่าผู้ที่มีปัญญารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่ตรงต่อตนเองก็จะรู้ได้ว่า มีความคิดเหมือนอย่างท่านที่ได้เห็นโทษของกามแล้วกล่าวอย่างนั้นหรือเปล่า
ข้อความต่อไป พระราชาตรัสว่า
เหมือนดาบที่ลับคมดีแล้วเชือด เหมือนกระบี่ที่ขัดดีแล้วแทง เหมือนหอกที่ พุ่งไปปักอก กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งไปกว่านั้น
หลุมถ่านเพลิงลุกขึ้นโพลงแล้ว ลึกกว่าชั่วบุรุษ ผาลที่เขาเผาร้อนอยู่จน ตลอดวัน กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งไปกว่านั้น
เหมือนยาพิษชนิดร้ายแรง น้ำมันที่เดือดพล่าน ทองแดงที่กำลังละลายคว้าง กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งไปกว่านั้น
พระราชาทรงมอบราชสมบัติให้พวกอำมาตย์ และเสด็จไปสู่ป่าหิมพานต์ ตอนเหนือ ทรงให้สร้างอาศรม ณ ประเทศที่น่ารื่นรมย์ ผนวชเป็นฤๅษี เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วได้ไปสู่พรหมโลก
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสซึ่งเป็นของเล็กน้อยไม่มีเลย ถึงจะมีประมาณน้อย บัณฑิตทั้งหลายก็พากันข่มเสียได้ทั้งนั้น
ดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย เมื่อจบสัจจะ ภิกษุ ๕๐๐ รูปดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล
พระผู้มีพระภาคทรงประชุมชาดกว่า
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายในครั้งนั้นปรินิพพานแล้ว พระเทวีได้กลับมาเป็นพระมารดาของพระราหุล ส่วนพระเจ้าพาราณสีคือเราตถาคตนั่นแล
ต่อไปนี้เวลาที่ได้ยินได้ฟังว่า เมื่อจบสัจจะมีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม คงจะ ไม่มีข้อสงสัยแล้วว่า ต้องเป็นไปตามการสะสม ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เวลาฟัง ท่านผู้ฟัง ก็หวังแล้วว่า อยากจะเหมือนท่านเหล่านั้น คือ บรรลุเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่า เหตุจะต้องเป็นไปตามสมควรแก่ผล คือ ในขณะนี้เองที่กำลังฟังพระธรรม กำลังเป็นเหตุที่สะสม ที่จะให้สัมมาสติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าปัญญาสามารถที่จะมีกำลังขึ้น
ถ. ผมฟังประวัติของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕ พระองค์ สงสัยว่าพระราชา ที่นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าไปพระราชวัง ท่านทราบหรือเปล่าว่า ท่านเหล่านี้เป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า
สุ. เวลาที่ฟังธรรม ก็สามารถรู้จากธรรมว่าบรรลุธรรมขั้นไหน แล้วแต่ว่า ผู้แสดงธรรม แสดงธรรมเรื่องอะไร และผู้ฟัง ฟังด้วยการมนสิการอย่างไร ซึ่งพระราชา ในครั้งนั้นคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้
ถ. พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้พยากรณ์ว่า ท่านเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
สุ. ไม่จำเป็นต้องกล่าว
ถ. ท่านไม่ได้บอกว่าท่านเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เมื่อพระราชาทูลถาม พระปัจเจกพุทธเจ้าว่า ท่านบวชแต่หนุ่ม ท่านเลื่อมใสอะไร ท่านก็เล่าความเป็นมา ของท่านแต่ละองค์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ออกบวช ไม่ใช่ออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรมหรือเพื่อบรรลุมรรคผล แต่ท่านบรรลุแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ท่านจึงได้บวช สมัยนั้นคงจะเป็นอย่างนั้น ผู้ที่บวชได้อย่างนั้น แสดงว่าตัดกิเลสตัณหาทางโลก ทุกอย่างได้หมดแล้ว พระราชาท่านทรงเห็นอย่างนี้ จึงเข้าใจว่าท่านเหล่านั้นเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม
สุ. พระราชาท่านจะเห็นอย่างไร ให้เป็นเรื่องของพระราชาในครั้งนั้นได้ไหม ไม่ต้องไปเดาใจพระราชาในครั้งนั้น
ถ. คือ สงสัยว่า ...
สุ. ไม่หมดความสงสัย
ถ. มีคนถามอยู่เรื่อยว่า ทำไมชาวบ้านธรรมดาถึงได้รู้ว่าท่านเหล่านี้ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งผมเคยตอบเขาว่า ทำไมจะไม่รู้ ท่านไม่ได้มาธรรมดา เหาะมา คนธรรมดาคงเหาะไม่ได้ ก็ตอบเขาไปได้แค่นั้น
สุ. เรื่องความสงสัยมีมาก เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะไปสงสัยแม้แต่จิตของพระราชาในครั้งนั้น
ถ. ก่อนที่จะบรรลุมรรคผล พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านนึกถึงความชั่วที่ ท่านได้ทำมา และท่านสลดใจ มีโยนิโสมนสิการ และวิปัสสนาของท่านก็เจริญขึ้น ซึ่งคงไม่ใช่เป็นการคิดนึกเอา ที่ว่าวิปัสสนาเจริญ แสดงว่าท่านต้องรู้ขณะจิตของท่านว่าเป็นอย่างไรในขณะนั้น ไม่ใช่คิดนึกเอาอย่างที่หลายท่านเข้าใจว่า ไม่ต้องฟังอะไร เข้าไปนั่งในป่าก็สามารถบรรลุมรรคผลได้อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยปฏิเสธ ไม่ต้องฟังธรรม ไม่ต้องเรียนพระไตรปิฎก หรือไม่ต้องศึกษาอะไรก็สามารถบรรลุ มรรคผลได้ แต่ปัญญาของท่านที่สั่งสมในอดีตมามาก โดยที่วิปัสสนาญาณเจริญติดต่อกัน จึงสามารถกำจัดกิเลสได้
ฟังเรื่องราว เข้าใจเรื่องราว รู้สึกว่าง่าย เพราะเราฟังธรรมเข้าใจแต่เรื่องราว จึงไม่เกื้อกูลในการปฏิบัติ ในการที่สติจะเจริญขึ้น การเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นจริง ที่ปรากฏ ผมว่าเป็นเรื่องยากมาก โดยมากฟังแล้วก็เข้าใจเรื่องราว หรือเลื่อมใส ในเรื่องราวมากกว่าที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้สภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏมีอะไรบ้าง
สุ. ตัวอย่างของพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ท่านที่ระลึกถึงอกุศลของท่าน
มีพระราชาพระองค์หนึ่ง พระองค์เสด็จไปประทับที่ต้นทองหลางที่มีใบดก ร่มรื่น ทรงโปรดประทับที่นั่นมาก แม้ว่าในภายหลังในอีกฤดูกาลหนึ่ง ใบทองหลางนั้นร่วงลงมากเหลือแต่ใบเล็กน้อย พระองค์ก็ยังทรงโปรดไปประทับที่ใต้ต้นทองหลางนั้น และขณะที่เห็นใบทองหลางร่วงหล่นจนกระทั่งเหลือแต่เพียงเล็กน้อย ก็มนสิการถึงความไม่เที่ยง ในขณะนั้นก็บรรลุปัจเจกโพธญาณ
แสดงให้เห็นว่า การที่จะคิดถึงสภาพธรรม ทุกคนสามารถคิดเรื่องอะไรก็ได้ จะคิดถึงบาปอกุศลที่ได้ทำแล้วก็ได้ หรือน้อมคิดถึงความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของต้นทองหลางซึ่งมีใบดกและใบนั้นก็ร่วงจนกระทั่งเหลือใบเพียงเล็กน้อย ก็สามารถที่จะมนสิการถึงสภาพที่ไม่เที่ยง ซึ่งในขณะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่มั่นคงและ มีกำลังแล้ว ก็สามารถรู้ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังคิดอย่างนั้น โดยสภาพที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สัมมาสติระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรม จะรู้ในอาการที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา และปัญญาที่สะสมมาแล้วก็ทำให้แทงตลอดการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นวิปัสสนาญาณเจริญตามลำดับขั้น สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ผู้ฟัง การที่พระปัจเจกพุทธเจ้าบรรลุธรรม หรือบุคคลในอดีตที่เจริญวิปัสสนา รู้สึกว่าเป็นแต่ละอาชีพ แต่ละเพศ เช่น พระราชา ก็ดำเนินเพศของพระราชาไป กรรมกรหรือบุคคลต่างๆ ก็ดำเนินไป แต่ละคนก็ดำเนินชีวิตประจำวันไป เมื่อมีปัญญาในขั้นของวิปัสสนาก็รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงขึ้นมา เนื่องจากพระพุทธเจ้า ได้อุบัติขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ใดจะเจริญสมถะอยู่ ผู้ใดจะให้ทานอยู่ หรือ ผู้ใดเป็นกรรมกรอยู่ ถ้ายังไม่ได้เรียนรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า มีจริงๆ และไม่ใช่สัตว์บุคคล จะเจริญสมถะอย่างไร จะปฏิบัติท่าทางแปลกๆ อย่างไร หรือจะเป็นพระราชารบเก่งอย่างไร ก็ไม่สามารถบรรลุอริยสัจจธรรมได้
สุ. เพราะฉะนั้น หนทางเดียว คือ การอบรมสะสมสติปัฏฐานที่ปัญญา จะเจริญจนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ขึ้น เป็นหนทางเดียวจริงๆ ไม่ว่าในชาติไหนก็จะต้องสะสมไป เพราะถ้าไม่มีการสะสมสติปัฏฐานที่ปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าจะ ระลึกอย่างพระราชา ปัญญาก็ไม่ใช่ปัญญาอย่างพระราชาที่สามารถจะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้
ถ. การบรรลุธรรมนั้น เพียงแต่ระลึกถึงอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ตรัสรู้ได้ อย่างเช่น ระลึกถึงอกุศลกรรมที่ไปชอบใจภรรยาของเพื่อนเป็นต้น เมื่อ ระลึกได้ก็เกิดสลดใจ ทำวิปัสสนาบรรลุธรรม ก็ไม่เห็นมีในพระไตรปิฎกเล่มไหนที่ว่าเห็นการเกิดดับ ที่อาจารย์บรรยายก็ไม่เห็นว่าทุกพระองค์เห็นการเกิดดับเลย เพียงแต่เราตีความกันว่า มีการระลึกในปัจจุบัน ถ้าต้องระลึกในปัจจุบัน ทำไมระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปจนเกิดสลดใจ ก็บรรลุได้
ผมนึกถึงพระผู้มีพระภาค เมื่อครั้งตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณใหม่ๆ ในปฐมยามทรงเข้าฌานสมาธิ ได้ฌาน ได้อภิญญาต่างๆ ยามสุดท้ายพระองค์ ก็บรรลุธรรม ซึ่งในอรรถกถาหรือในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้แสดงว่า พระองค์เห็นการ เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และการบรรลุของพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไม่ได้มีการบรรยายว่า เห็นการเกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพียงแต่รู้ว่าเจริญสติปัฏฐาน
อาจารย์จะมีหลักฐาน หรือมีการแสดงอะไรให้เกิดความเข้าใจเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ต้องเป็นการเห็นการเกิดดับจริงๆ โดนไม่ได้เป็นการระลึกถึงอกุศลกรรมที่ทำไว้อย่างพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์นั้น ซึ่งเพียงแต่ระลึกและมีความรู้สึกว่า รังเกียจอกุศลธรรมที่ได้เคยกระทำแล้ว หรือเพียงแต่นึกและน้อมไปเพื่อการหลีกเร้น และก็บรรลุธรรม
สุ. ท่านผู้ฟังก็เคยระลึกถึงอดีตอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว ใช่ไหม
ถ. ใช่
สุ. ผลคืออะไร ก็คือไม่บรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้น เพราะอะไรจึง ไม่บรรลุมรรคผล นี่คือความต่างกันของการสะสมของปัญญา เพราะว่าใครๆ ก็ย่อมระลึกได้ถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยทำมาแล้วไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ทำไมบางคน เพียงระลึก ก็มีปัจจัยทำให้วิปัสสนาญาณคือปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะ ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสภาพธรรมในขณะนั้นได้
แม้ว่าจะไม่ทรงแสดงไว้ในที่นั้น แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ต้องสอดคล้องกัน และ แสดงให้เห็นถึงปัญญาต่างระดับขั้นจริงๆ ซึ่งกว่าจะสะสมเข้าใจในแม้พระธรรม ที่ทรงแสดง
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของสังขารธรรม คือ ธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าไม่ทรงตรัสรู้อย่างนี้จะไม่ทรงแสดงอย่างนี้ เพราะทรงตรัสรู้อย่างไร ทรงแสดงอย่างนั้น และทรงแสดงถึงหนทางปฏิบัติที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงพระองค์เดียวที่สามารถประจักษ์ได้ แต่ผู้ที่ได้ฟังและเป็นผู้ที่ได้ อบรมเจริญปัญญาแล้ว ก็ประจักษ์แจ้งจนกระทั่งดับกิเลสเป็นพระอริยสาวกมากมาย
นี่เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายที่มีจริง ปัญญาสามารถรู้แจ้ง แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ถ้าศึกษาโดยไม่ละเอียดก็จะทำให้เกิดความสงสัยว่า บุคคลนั้นเพียงระลึกและก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งแสดงว่ายังไม่ได้ศึกษาข้อความในพระไตรปิฎกโดยตลอด แต่ถ้าศึกษาโดยตลอดแล้วจะเห็นได้จริงๆ ว่า ทรงแสดงเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป เรื่องของสภาพธรรมต่างๆ โดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลให้ปัญญาค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสภาพธรรม แม้ว่าในขณะนั้นยังไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ก็เป็นขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล แท้ที่จริงแล้วได้แก่สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม คือ เป็นจิต เป็นเจตสิก และเป็นรูป ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นและดับไป และไม่ใช่ให้คิดเพียงเท่านี้ แต่จะต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาทั้งในอดีตและในปัจจุบัน และถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ต้องต่อไปในอนาคตอีกมากมายเหลือเกิน แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ทรงบำเพ็ญ พระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก และพระสาวกทั้งหลาย ก็ต้องบำเพ็ญบารมีมาทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังเรื่องอย่างนี้ ก็กำลังสะสมบารมี คือ ปัญญาด้วย ที่จะเข้าใจว่า ธรรมที่แท้จริงคืออย่างไร เพราะถ้าไม่อาศัยการศึกษาหรือการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว ไม่มีใครสามารถกล่าวถึง ธรรมเหล่านี้ได้แน่นอน แม้แต่การที่จะกล่าวว่า ขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังเห็น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลอย่างไร ก็ไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจหรืออธิบายได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๕ ตอนที่ ๑๘๔๑ – ๑๘๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883