แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
ครั้งที่ ๑๘๕๒
สาระสำคัญ
จิตที่ทำชวนกิจ
ชวนวิถีที่เป็นโยนิโสมนสิการหรือ อโยนิโสมนสิการ
สาลินี อรรถกถากัณฑ์ - มโนทวาราวัชชนจิต
กิจการงานของจิต
ปริยัติคือ กำลังพูดเรื่องสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๑
มโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่พิเศษจริงๆ เพราะว่าสามารถรู้อารมณ์ได้ ทุกอย่าง แต่โดยสภาพตัวจิตเองเป็นอเหตุกจิต ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกเลย ไม่มีสติเกิดกับมโนทวาราวัชชนจิตที่จะพิจารณาให้เป็นกุศล เพียงแต่เกิดก่อน ชวนวิถีจิตเท่านั้น แต่การสะสมสืบต่อจะเห็นความเป็นอนันตรปัจจัยและ สมนันตรปัจจัยว่า ไม่ว่ากุศลใดๆ ก็ตาม อกุศลใดๆ ก็ตาม ก็ยังคงสะสมสืบต่อ เป็นพืชเชื้อ โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย และอาศัยจิตตนิยาม เมื่อถึงกาลที่จะเกิดเมื่อไร ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น เพราะถ้ายังไม่ใช่กาลที่กุศลจิตจะเกิด จิตที่เกิดก่อนจะเป็นกุศลไม่ได้ ต้องเป็นมโนทวาราวัชชนะซึ่งทำอาวัชชนกิจ ในขณะนั้นก็เป็นชวนปฏิปาทกะ เพราะว่า เกิดก่อนชวนะ หรือเมื่อทำโวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร ก็เป็นชวนปฏิปาทกะเช่นเดียวกัน เพราะว่าเกิดก่อนชวนะ
ถ. สรุปแล้ว ถ้าจะเป็นโยนิโสมนสิการจริงๆ ต้องเป็นตอนชวนจิต
สุ. ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนจริงๆ จะต้องพิจารณาสภาพของจิต เพราะว่ามโนทวาราวัชชนจิตเป็นอเหตุกจิต ทำกิจอาวัชชนะ หรือทำกิจโวฏฐัพพนะ
ถ. จะเป็นตัวกำหนดว่าเป็นกุศลอกุศลได้หรือเปล่า
สุ. ยากที่จะกล่าว เพราะว่าโดยศัพท์ โวฏฐัพพนะ ที่ดิฉันได้เรียนถาม ท่านผู้รู้ ท่านอาจารย์สมพร ท่านบอกว่า โวฏฐัพพนจิตหมายความถึงจิตตัดสิน แต่อาวัชชนจิต เป็นจิตที่นึกถึงอารมณ์ที่จะเกิดต่อซึ่งเป็นอารมณ์ของชวนจิต ซึ่งกุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ ต้องมีมโนทวาราวัชชนะนึก และเมื่อ นึกแล้ว จิตที่เกิดต่อก็เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถากัณฑ์ ข้อ ๑๔๒๙ แสดงว่า
แม้มโนทวาราวัชชนะจะมีอารมณ์ได้ทุกอย่าง คือ แม้มรรคจิต ผลจิต นิพพานก็เป็นอารมณ์ของมโนทวาราวัชชนจิตได้ แต่เพราะมโนทวาราวัชชนจิตเป็นอเหตุกจิต เป็นอโสภณจิต จึงเปรียบเหมือนเด็กรับใช้ค่อมเตี้ย เซ่อ ไม่ฉลาด แม้รับใช้พระราชาก็มิได้เคารพพระราชาอย่างยิ่งเหมือนผู้ที่เป็นบัณฑิตทั้งหลาย
คือ ไม่สามารถรู้คุณของพระราชาและมีความเคารพได้เช่นบัณฑิต เพราะความไม่รู้ของตน
ถ. โยนิโสมนสิการเป็นขณะที่พิจารณารู้ว่า สิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดดี สิ่งใดถูก ต้องเป็นขณะที่ชวนจิตเป็นมหากุศล
สุ. ถ้าพูดถึงอาวัชชนกิจ หรือกิจอื่นๆ หมายถึงในวาระหนึ่งๆ ซึ่ง วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ จะต้องเป็นไปตามจิตที่สืบต่อกัน คือ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน และเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จิตอื่นจะเกิดไม่ได้นอกจาก ถ้าเป็นทางตา จักขุวิญญาณต้องเกิดเห็น ถ้าเป็นทางหู โสตวิญญาณต้องเกิดขึ้นได้ยิน ถ้าเป็นทางจมูก ฆานวิญญาณต้องเกิดขึ้นรู้กลิ่น ถ้าเป็นทางลิ้น ชิวหาวิญญาณต้องเกิดขึ้นลิ้มรส ถ้าเป็นทางกาย กายวิญญาณต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อจิตดวงหนึ่งดวงใดใน ๑๐ ดวงนี้ ที่เป็นกุศลวิบากหรือเป็นอกุศลวิบากดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตต้องเกิดขึ้นทำกิจ
ถ้าจะไม่เรียกชื่อเหล่านี้ก็ได้ ไม่เรียกเลย ขณะนี้ก็กำลังเป็นสภาพของจิตแต่ละประเภทซึ่งทำกิจนั้นๆ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหมดเพื่อไม่ให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน จึงได้ทรงแสดงเรื่องกิจการงานของจิตแต่ละขณะโดยละเอียดว่า จิตที่เกิดขึ้นทำกิจนั้นเป็นจิตประเภทใด เป็นโสภณหรือเป็น อโสภณ หรือต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงวิถีจิตซึ่งเกิดดับ อย่างรวดเร็วว่า มโนทวาราวัชชนจิตโดยปกติจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเมื่อชวนจิต เกิดสืบต่อ แต่ถ้าขณะใดที่ชวนจิตไม่ได้เกิดสืบต่อ รูปทางปัญจทวารใกล้จะดับ มโนทวาราวัชชนจิตก็ทำโวฏฐัพพนกิจ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ขณะได้ แต่ไม่ถึง ๕ ไม่ถึง ๗ ขณะ รูปก็ดับ
นี่เป็นเรื่องความละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น การพิจารณาธรรม โดยความรวดเร็วจะเห็นว่าสืบต่อกันทันที คือ เมื่อเห็นก็เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลแล้ว แต่ถ้าขยายออกไปจะรู้ว่า ที่จะเป็นกุศลจริงๆ ที่จะกล่าวว่า เป็นโยนิโสมนสิการ คือ ขณะที่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดเป็นบุญ สิ่งใดเป็นบาป สิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ
ถ. โยนิโสมนสิการ เมื่อเป็นโสภณ ผมว่าต้องเข้าได้กับปัญญาเจตสิก
สุ. แต่โสภณ ไม่จำเป็นต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะว่า ...
ถ. ในขณะที่มีโยนิโสมนสิการ จะต้องมีปัญญาเจตสิก
สุ. เป็นกุศลก็พอ เพราะว่าวันหนึ่งๆ กุศลจะเกิดก็ยาก คือ ไม่จำเป็นต้องถึงกุศลขั้นญาณสัมปยุตต์ กุศลมีถึง ๑๐ ประการ ที่เป็นบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่ วันหนึ่งๆ มีกุศลเกิดขึ้นมากไหม
การสะสมความเข้าใจพระธรรม ไม่ต้องหวังที่จะให้มหากุศลญาณสัมปยุตต์เท่านั้นเกิด เพราะว่าการสะสมกุศลทั้งหลายไม่ว่าจะศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ และโสภณธรรมอื่นๆ ก็จะเป็นปัจจัยทำให้จิตที่เป็นกุศลสามารถเกิดได้ในเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสติปัฏฐาน หรือเป็นกุศลที่เกิดร่วมกับปัญญา ก็ได้ และบังคับไม่ได้ด้วย
วันนี้กุศลที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาอาจจะเกิดหลายขณะ อย่างท่านที่ต้อนรับผู้อื่นด้วยการเอาน้ำมาให้ หรือช่วยเหลือบุคคลอื่น ในขณะนั้นท่านก็ยอมพิจารณารู้ได้ว่า มีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่
ถ. เรื่องโยนิโสมนสิการ ตอนที่ผมมาฟังใหม่ๆ ถามบ่อยที่สุด และกว่าจะเข้าใจคำนี้ก็นานหลายปี และจากการสรุปเรื่องโยนิโสมนสิการแล้วก็ทราบว่า ขณะที่เกิดโยนิโสมนสิการนั้น ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้
สุ. โยนิโสมนสิการ หมายความว่าเป็นไปในทางฝ่ายโสภณ จะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็แล้วแต่ปัจจัยในขณะนั้น
จิตทุกดวงที่สะสมกุศล มีปัจจัยที่จะทำให้กุศลจิตเกิดตามกิจว่าจะเกิดเมื่อไร ในขณะไหน ถ้าเป็นในขณะที่เป็นมโนทวาราวัชชนะ ยังไม่เป็นโสภณจิต แต่ไม่ใช่ว่า จะไม่มีการสะสมทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล
ถ. โดยสรุปแล้ว บางขณะก็ประกอบด้วยปัญญา บางขณะก็ไม่ประกอบ ด้วยปัญญา ซึ่งผู้นั้นจะมีสติรู้ขึ้นมาเองว่า ในขณะนั้นประกอบด้วยปัญญาหรือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
สุ. ถ้ากุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการไหม
ถ. เป็น
สุ. ถ้ากุศลจิตเกิดพร้อมกับปัญญา ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการไหม
ถ. เป็น
สุ. เพราะฉะนั้น ที่แน่ๆ คือ ขณะที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะประกอบหรือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่ว่าก่อนนั้นจะไม่มีการสะสม มีการสะสมของปัญญา ของสติ ของหิริ ของโอตตัปปะ ของสภาพธรรม แต่จิตที่เป็นวิถีจิตที่เกิดดับสืบต่อกัน ยังไม่ถึงกาลที่โสภณเจตสิกจะเกิด เช่น ขณะที่เป็นมโนทวาราวัชชนะที่ทำอาวัชชนกิจ หรือทำโวฏฐัพพนกิจ ขณะนั้นยังไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ถ. ขณะที่ฟังธรรมแล้วเกิดความเข้าใจ ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ
สุ. แน่นอน
ถ. และการที่ใช้คำว่า ปัญญา เป็นไปในทางธรรม ใช่ไหม ขณะที่ฟังธรรมและเข้าใจ ถือว่าเป็นปัญญาขั้นเล็กๆ น้อยๆ ไหม
สุ. ถูกต้อง
ถ. เวลาที่กุศลจิตเกิด เราจะเรียกมนสิการเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตว่า โยนิโสมนสิการได้ไหม
สุ. ได้
ถ. เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการ หมายถึงมนสิการที่เกิดกับกุศลจิตก็ได้ ใช่ไหม
สุ. ใช่ แล้วแต่ระดับขั้น
ถ. หนูยังไม่ทราบ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและไม่ประกอบด้วยปัญญา
สุ. เข้าใจพระธรรมไหม รู้ไหมว่าที่กำลังยืนอยู่นี่ไม่ใช่เรา เป็นจิต เจตสิก รูป ทราบไหม
ถ. ทราบขณะนี้
สุ. ถ้าทราบ ขณะนั้นเป็นปัญญา
ถ. ถ้าให้ทานแล้วเรารู้ว่า เราให้กับบุคคลนั้น บุคคลนี้ อย่างนี้เรียกว่า มีปัญญาหรือไม่
สุ. ธรรมดาชอบให้ทาน หรือว่าวันหนึ่งๆ ไม่ค่อยอยากจะให้
ถ. ไม่ค่อยให้
สุ. เพราะฉะนั้น ในขณะที่ให้ ดีไหม
ถ. ดี
สุ. เป็นกุศล แต่ถ้าขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็น กุศลญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ถ. รู้นี่ หมายความว่า รู้เป็นรูป เป็นนามหรือ
สุ. รู้เหตุ รู้ผล รู้บาป รู้บุญ รู้กรรม รู้วิบาก รู้สิ่งที่ควร ไม่ควร
ถ. อย่างนี้ประกอบด้วยปัญญา ใช่ไหม
สุ. ตามระดับขั้น ปัญญาก็มีอย่างเล็กๆ น้อยๆ และค่อยๆ สะสมไปจนกระทั่งเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง โยนิโสมนสิการนี้ ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มีหลายสูตรที่พูดถึงอินทรีย์ ๕ และการที่จะมีอินทรีย์ ๕ เป็นพละได้ คือ ไปถึงรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หลายๆ สูตรได้พูดถึงว่า เหตุให้เกิดสตินทรีย์ก็ดี สมาธินทรีย์ก็ดี มี ๒ ข้อ คือ โยนิโสมนสิการ และกัลยาณมิตร คือ คบกัลยาณมิตร ฟังธรรมของกัลยาณมิตร และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ในที่นี้มองดูแล้วโยนิโสมนสิการมีหลายขั้น
สุ. การศึกษาพระธรรม ถ้าพิจารณาแล้วจะทำให้เข้าใจละเอียดขึ้น อย่างใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ ก็เพื่อส่องไปถึงสภาพที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่การจะทำโยนิโส แต่เป็นการพิจารณาโดยแยบคาย ไม่ใช่ว่าไปสั่งให้ทำโยนิโสมนสิการ จะได้เป็นเหตุให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่หมายความว่า ขณะใดที่มีความฉลาด มีการพิจารณาโดยถูกต้องตามคลองของธรรม ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ซึ่งจะต้องอาศัยการสะสมกุศลและปัญญา จึงจะเป็นโยนิโสมนสิการได้
ถ. อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโยนิโสมนสิการ
สุ. ถ้าจะพูดถึงกุศลทุกประเภท เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดก็ได้แก่ จักร ๔ คือ การเกิดในประเทศที่สมควร และมีการฟังธรรม มีการพิจารณาธรรม
ถ. ทำบุญไว้แต่ปางก่อนด้วย
สุ. ใช่
ถ. ถ้าเราพิจารณาขันธ์ ๕ โดยเน้นไปที่ปสาทรูป เราจะมองให้เห็น วัณณรูปของปสาทรูป จะเห็นเกิดดับได้อย่างไร
สุ. ทำไมจงใจที่ปสาทรูป
ถ. ก็เลือกขึ้นมา ไม่อยากจะพูดทุกเรื่อง
สุ. รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นรูปๆ หนึ่งที่มีจริง ซึ่งความจริงแล้วก็น่าสนใจมากที่จะพูดถึงรูปที่ปรากฏทางตา เข้าใจแล้ว ใช่ไหม
ถ. เข้าใจแล้ว
สุ. ถ้าอย่างนั้นขอพูดถึงวัณณรูปซึ่งรวมอยู่ในมหาภูตรูป ก็เป็นที่สงสัยว่า ในขณะนั้นที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ทางตา เห็นอะไร เพราะโดยมากจะใช้คำว่า เห็นสี หรือเห็นวัณณะ หรือเห็นรูปารมณ์ แต่ถ้าจะไม่คิดถึงคำ คิดถึงแต่สภาพลักษณะเดี๋ยวนี้ของสิ่งที่กำลังปรากฏ และรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง และกำลังปรากฏทางตา อย่างนี้จะถูกต้องตรงที่สุด เพราะถึงแม้จะไม่มีแสงสว่างเลย แต่วัณณรูป คือ รูปๆ หนึ่งที่รวมอยู่กับมหาภูตรูปต้องมี แต่เมื่อไม่มีแสงสว่าง วัณณรูปนั้นก็ไม่ปรากฏ ถูกไหม
ถ. ถูกต้อง
สุ. และเมื่อมีแสงสว่างแล้วก็ไม่จำเป็นต้องนึกถึงว่า เห็นเป็นสีเขียว หรือเห็นเป็นสีเหลือง หรือเห็นเป็นสีน้ำตาล เพราะอาจจะมีคลื่นแสงอื่นๆ ที่ทำให้สีนั้นปรากฏเปลี่ยนไปได้ เช่น เวลาที่เปิดไฟสีต่างๆ และสีเดิมที่มองเห็นอยู่ก็เปลี่ยนเป็น สีอื่นได้
ถ้าเราจะไม่คิดว่า เป็นสีแดง หรือเป็นสีเขียว หรือเป็นสีอะไรก็ตามแต่ แต่หมายความว่า ที่กลุ่มของมหาภูตรูปจะต้องมีรูปๆ หนึ่งซึ่งสามารถกระทบกับ จักขุปสาท ถ้าไม่มีรูปนั้นจะไม่มีการปรากฏสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีอยู่ที่มหาภูตรูปเลย แต่เพราะมีรูปๆ หนึ่งซึ่งรวมอยู่กับมหาภูตรูป เป็นรูปที่กระทบกับจักขุปสาท โดยที่ไม่ได้บอกว่าเป็นสีเขียว หรือสีแดง หรือสีน้ำตาล เพียงแต่ว่าเป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งกระทบกับจักขุปสาทรูปได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็นก็สามารถรู้ได้ว่า มีสี หรือวัณณะ จะใช้คำว่า รูปารมณ์ก็ได้ สีก็ได้ วัณณะก็ได้ ที่รวมอยู่กับมหาภูตรูปนี้ ตัดคำว่า เขียว แดง น้ำตาล เหลืองออกทั้งหมด เหลือแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นรูปที่รวมอยู่กับมหาภูตรูปจริงๆ เพราะถ้าไม่รวมอยู่ จะไม่มีการเห็นสิ่งที่รวมอยู่กับธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่เป็นหนังสือ หรือที่เป็นอาหาร หรือที่เป็นดอกไม้ ได้เลย
เพราะฉะนั้น เรื่องของรูปารมณ์หรือวัณณะ ก็คือรูปๆ หนึ่งซึ่งรวมอยู่กับมหาภูตรูป กระทบกับจักขุปสาทแล้วเห็นรูปนั้น นี่เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าคิดเป็นปริยัติ ในขณะนี้เองปริยัติ คือ กำลังพูดเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏจริงๆ หมายความว่าจะเป็นวัณณรูป ที่รวมอยู่ในมหาภูตรูปใดๆ ทั้งสิ้นก็ตาม แต่ขณะนี้เป็นสภาพที่กำลังปรากฏทางตา เป็นรูปๆ หนึ่ง คือ เป็นรูปลักษณะหนึ่ง
ถ. อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ปรากฏทางตาก็แล้วกัน
สุ. เท่านั้น และในมหาภูตรูปก็ต้องมีรูปนี้ โดยที่ไม่ต้องไปคิดว่า รูปนั้น สีอะไร ไม่ต้องคิดเลย เพียงแต่ว่าเป็นรูปที่มีลักษณะกระทบกับจักขุปสาทได้และปรากฏ และเป็นความจริง เพราะว่ามหาภูตรูปทุกกลุ่มปรากฏเมื่อกระทบกับ จักขุปสาท โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงว่าเป็นสีอะไร
นี่คือเรื่องของวัณณะ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏและดับไปอย่างรวดเร็ว ดีกว่าที่จะไปนึกถึงจักขุปสาทซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้ ในเมื่อจักขุปสาทรูป ไม่ได้ปรากฏ และเมื่อลักษณะไม่ปรากฏจะไปประจักษ์การเกิดดับของรูปนี้ไม่ได้ ต่อเมื่อใดรูปนี้ปรากฏกับบุคคลใด ลักษณะที่เกิดดับของรูปนั้นก็จะปรากฏกับบุคคลนั้น
แต่ไม่ใช่หมายความว่า การอบรมเจริญปัญญาจะต้องพยายามไปรู้รูปที่ ไม่ปรากฏและไม่รู้รูปที่ปรากฏ เช่น ในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏ การอบรมเจริญปัญญาก็เพื่อที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้นเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วคิด จึงเป็นเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทั้งๆ ที่ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพปรมัตถธรรม มีจริงๆ เพื่อให้รู้ว่าเกิดดับ แต่เมื่อยัง ไม่ละคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะประจักษ์การเกิดดับของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ได้ จนกว่าจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาและเพิ่มความรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏสั้นแค่ไหน เพราะในขณะที่เสียงปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องอบรมเจริญจนกระทั่งถ่ายถอนว่า สิ่งที่ปรากฏ ทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่การคิดนึกว่า เป็นคน เป็นสัตว์ และมีเสียงปรากฏให้รู้ว่าในขณะที่เสียงปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตาต้อง ดับไปแล้ว ฉะนั้น การเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นจริง
ปัญญาต้องเจริญขึ้นจนกระทั่งถ่ายถอนความที่เคยเข้าใจว่า เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ และมีความรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๖ ตอนที่ ๑๘๕๑ – ๑๘๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883