แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
ครั้งที่ ๑๘๕๔
สาระสำคัญ
มนสิการเจตสิก เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก
โยนิโสมนสิการ พิจารณาเข้าใจอย่างแยบคาย
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุ.จริยา-แสดงภาวนา ๔
ขุ. จริยา - ความเลื่อมใสในผู้ที่มีคุณความดี
มิลินทปัญหามนสิการปัญหาที่ ๗ - โยนิโสมนสิการนั้นมิใช่ปัญญาหรือไฉน
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๒
ขอให้ดูความใส่ใจของมนสิการเจตสิกในทางโลกว่า สามารถที่จะประดิษฐ์ ทุกอย่างที่น่าอัศจรรย์ ซึ่งสมัยนี้ก็มีความอัศจรรย์ต่างๆ ที่เห็นได้จากการประดิษฐ์ ที่เกิดจากมนสิการในทางวิชาการ ในทางอกุศล
เพราะฉะนั้น ถ้ามนสิการเจตสิกเป็นกุศล คือ พิจารณาใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนเป็นปัจจัยให้ปัญญาค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นๆ จะน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่ามนสิการที่เกิดกับอกุศลจิตที่สามารถ ประดิษฐ์เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ทางโลก
ทางธรรม มนสิการที่ใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาเจริญขึ้นเพราะโยนิโสมนสิการนั้น จะทำให้ปัญญาถึงความสมบูรณ์ถึงขั้นที่น่าอัศจรรย์กว่านั้น เพราะว่าสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการ ปัญญาไม่เจริญขึ้น มีใครคิดว่าจะดับกิเลสได้บ้างไหม
ทุกคนก็ยอมรับว่า ดับยากจริงๆ กิเลสมีมาก ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุกจะ สารพัดอย่าง ดูไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้เลย แต่สามารถ ที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ถ้าพิจารณาเข้าใจการสะสมของกุศลธรรมแม้แต่โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นบาทที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้น
สำหรับโยนิโสมนสิการในทางกุศลก็ต่างกันไป บางท่านมีอุปนิสัยในการให้ทาน บางท่านมีอุปนิสัยในการรักษาศีล บางท่านมีอุปนิสัยในการอบรมเจริญปัญญา
อโยนิโสมนสิการก็ต่างกันไป เช่น บางคนสะสมมามากทางโลภะ ทางโทสะ ในวิชาการต่างๆ
ถ. เรื่องปัญญาเป็นสิ่งที่ผมสนใจมาก ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงท่านผู้หนึ่งว่า ท่านอยากรู้จักปัญญา และเมื่อทราบว่าปัญญามีลักษณะอย่างไร ท่านจึงเข้าใจว่า ปัญญาเป็นอย่างไร หมายความว่าปัญญาเห็นปัญญา ใช่ไหม ขณะที่ปัญญาเกิด เรารู้ว่า ลักษณะของปัญญาเป็นอย่างไร ใช่ไหม
สุ. เวลาโลภะเกิด รู้ไหมว่าเป็นโลภะ
ถ. รู้
สุ. เวลาโทสะเกิดก็รู้ว่า นี่ไม่ใช่โลภะ เป็นโทสะ เพราะฉะนั้น เวลาที่ ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ขณะที่เข้าใจ สภาพที่เข้าใจมีจริงๆ นั่นคือลักษณะของปัญญา แต่ถ้าฟังแล้วยังไม่เข้าใจ ยังสงสัยว่าปัญญามีลักษณะอย่างไร ได้ยินคำว่า ปัญญา บ่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าลักษณะของปัญญานั้นคืออย่างไรและเข้าใจอะไร ต่อเมื่อความ เข้าใจเกิดขึ้นก็รู้ว่า ที่กำลังเข้าใจนี่ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ แต่เป็นความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง
ถ. แต่ผมหมายถึงปัญญาในขั้นวิปัสสนา ขณะที่ปัญญาเกิด ปัญญาก็รู้ว่า ปัญญานั้นมีลักษณะไม่เที่ยง
สุ. ยังไม่ถึงการไม่เที่ยง ยังไม่ถึงการไม่ใช่เรา เพียงแต่รู้ว่าลักษณะนี้ ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ แต่เป็นสภาพที่กำลังเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังตามความเป็นจริง พอที่จะรู้ว่า ธาตุรู้ ลักษณะรู้ สภาพรู้มี และไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี่ก็เป็นความเข้าใจ
ถ. อวิชชาเกิดอยู่ ปัญญาทราบไหม เราก็รู้ว่าอวิชชาไม่เที่ยง เป็นกิเลส
สุ. กำลังคิดเรื่องอวิชชา หรือว่ากำลังรู้ลักษณะของอวิชชา
ถ. หมายความถึงขณะที่อวิชชาเกิด ปัญญาก็เกิดไม่ได้
สุ. ปัญญารู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง ขณะที่หลงลืมสติ ปัญญาก็รู้ ขณะที่สติเกิด ปัญญาก็รู้ ขณะที่กำลังยินดีพอใจขณะนั้นก็รู้ว่า ไม่ใช่ปัญญา
จากประสบการณ์ของท่านที่เข้าใจลักษณะของปัญญา หลังจากที่ท่านฟัง ท่านก็รู้ว่า ขณะที่ฟังแล้วยังไม่เข้าใจก็มี แต่เมื่อฟังอีกๆ ฟังไปๆ ความเข้าใจก็เกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นปัญญา ท่านก็มีโยนิโสมนสิการที่จะแนะนำผู้อื่นที่เข้าใจว่าตนเองไม่มีเวลาฟังพระธรรมเพราะมีกิจธุระมาก หรือว่าป่วยไข้ได้เจ็บซึ่งขณะนั้นมีทุกขเวทนาเกินกว่า ที่จะฟังพระธรรมได้ โดยบอกกับท่านผู้นั้นว่า วันหนึ่งๆ ทุกคนต้องได้ยินเสียง ไม่มีใครห้ามได้เลย และเสียงที่ได้ยิน ก็มีเสียงรถยนต์บ้าง เสียงสัตว์ต่างๆ บ้าง เสียงพัดลม เสียงวิทยุ หลายๆ เสียง เสียงน้ำประปา เสียงอะไรต่างๆ เสียงช้อน เสียงส้อม มีเสียงในวันหนึ่งๆ มากทีเดียว ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้การได้ยินเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่มีผู้แสดงธรรม หรือเทปธรรม ก็เป็นเสียงเหมือนกัน ทำไมไม่ฟังเหมือนเสียงอื่น ที่อย่างไรๆ ก็ต้องได้ยินอยู่แล้ว แต่เสียงอื่นนั้นไม่ทำให้มนสิการ ใส่ใจ พิจารณาที่จะเข้าใจลักษณะของธรรม
เพราะฉะนั้น การฟังเทปธรรม ไม่จำเป็นต้องคิดว่า ต้องตั้งอกตั้งใจฟังให้เข้าใจ เพราะบางทีแม้จะตั้งอกตั้งใจฟังให้เข้าใจ ก็กลับไม่เข้าใจ เพราะว่าขณะนั้นไม่มีปัจจัยพอที่จะเข้าใจ แต่เมื่อฟังไปเรื่อยๆ ก็เกิดความเข้าใจขึ้น เมื่อถึงกาลที่ปัญญาจะเกิด เพราะว่าโยนิโสมนสิการ ค่อยๆ พิจารณาจากการที่ฟังไปบ้างมาก่อน ทำให้สามารถเข้าใจได้
นี่ก็เป็นความแยบคาย หรือเป็นโยนิโสมนสิการที่เห็นคุณประโยชน์ของการ ฟังพระธรรม และแนะนำให้ผู้อื่นเห็นว่า ในเมื่อไหนๆ ก็ต้องได้ยินเสียงกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ฟังเสียงของธรรมก็ยังดีกว่าการฟังเสียงอื่นซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้น
ไม่ทราบมีท่านผู้ฟังมีประสบการณ์อย่างนี้บ้างหรือเปล่า
ตั้งใจจะฟังให้เข้าใจ กลับไม่เข้าใจ แต่ขณะที่ฟังไปๆ เกิดเข้าใจได้ เพราะว่าเคยฟัง เคยพิจารณามาก่อน
ผู้ฟัง ผมฟังรายการธรรมตั้งแต่ ๖ โมงเช้า ฟังทุกรายการที่เป็นธรรม ก็เหมือนกับท่านที่อาจารย์ยกตัวอย่างมาว่า ไหนๆ จะต้องได้ยินอะไรๆ อยู่แล้ว ก็ได้ยินสักหน่อยไม่ได้หรือ แต่เสียงของอาจารย์ตอนเช้ากับตอนกลางคืน ขาดไม่ได้ มีความรู้สึกว่าน่าสนใจ แต่ไม่ได้อยากจะฟังให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ได้คิด ไม่ได้หวังอย่างนั้นเลย เพียงแต่คิดว่า พูดเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องของชีวิตประจำวัน ตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจหลายๆ อย่าง ฟังไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่ว่า ก็ได้ยินสักหน่อยไม่ได้หรือ ก็ได้ยินไปเรื่อยๆ และสิ่งที่ได้ฟังจากท่านอาจารย์ จากเดือนเป็นปี จากปีเป็น ๑๐ ปี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีปัญญาขึ้น คือ ความเข้าใจ สังเกตดูเวลานี้จะถามอาจารย์น้อยลงไปๆ ก็เพราะสิ่งนี้เคยเข้าหูเรามาแล้ว ก็เหมือนอย่างที่อาจารย์พูดว่า ก็ฟัง สักหน่อยไม่ได้หรือ ไหนๆ จะได้ยินอะไรอยู่แล้ว เพราะวันหนึ่งๆ เราก็ฟังทั้งวัน ตั้งแต่เช้า ฟังไปฟังมารายการอื่นๆ ก็ตัดออกไปๆ จนเวลานี้เหลืออยู่ ๒ – ๓ รายการเท่านั้นเองที่น่าสนใจ นี่ก็เป็นตัวอย่างของการฟังเหมือนอย่างที่อาจารย์พูด
สุ. เรื่องของโยนิโสมนสิการเป็นเรื่องละเอียด ทุกสถานการณ์จริงๆ มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านพยายามทำกุศลทุกอย่าง เพราะท่านได้ฟังมาว่าควรเจริญกุศลทุกประการ และท่านเจริญกุศลเพื่อหวังรอว่าจะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด แต่สติปัฏฐานก็ไม่เกิด
นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างแยบคาย อย่างละเอียดจริงๆ ในการฟังธรรม เมื่อท่านผู้นั้นมาสนทนากับดิฉันเรื่องนี้ ดิฉันก็ถามว่า ขณะนี้มีแข็งไหม
เพียงเท่านั้น ท่านก็ระลึกได้ว่า สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกทันทีที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่หวังให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ และก็คิดว่าจะไปรีบเร่งทำกุศล ทุกอย่าง แต่ทำไมสติปัฏฐานไม่เกิดทั้งๆ ที่ทำกุศลทุกอย่างแล้ว นั่นคือการหวังรอ ซึ่งไม่ใช่เหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่โยนิโสมนสิการ การพิจารณา การเข้าใจธรรมไปเรื่อยๆ และสติปัฏฐานก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น เพียงคำถามที่ว่า ขณะนี้ มีแข็งไหม จากการที่ท่านได้ฟังธรรมมาแล้ว ท่านก็ระลึกได้ว่า ไม่ต้องไปรอโดยการ ไปทำกุศลและก็หวัง แต่ความเข้าใจว่าสติปัฏฐานคือการระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ จึงจะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที
และดิฉันได้เล่าเรื่องนี้กับท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง ท่านผู้นั้นก็สงสัยว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ทำไมบอกให้เจริญกุศลทุกประการ เพราะถ้าบอกให้เจริญกุศลทุกประการ คนอื่นก็ต้องหวังว่าเมื่อเจริญกุศลทุกประการแล้ว สติปัฏฐานก็จะเกิด
เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการ ต้องพิจารณาให้ถูกต้องว่า ควรเจริญกุศล ทุกประการ แต่ไม่ใช่ด้วยความหวังว่าสติปัฏฐานจะเกิด ไม่ต้องหวังรอ แล้วแต่ว่า กุศลที่เจริญไปนั้นจะเป็นปัจจัยเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดขณะไหน เพราะถ้ารอก็ไม่เกิดเพราะรอ แต่ขณะใดระลึกได้ว่า ขณะนี้แข็งไหม ขณะนี้เห็นไหม ได้ยินไหม จึงจะเป็นปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก นิทานกถา มีข้อความที่แสดงภาวนา ๔
ภาวนา คือ การสะสมอบรมกุศลที่เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งความประพฤติในแต่ละชาติที่เป็นไป เป็นการบำเพ็ญบุญบารมีเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้งหมด เป็นโพธิสมภารทั้งสิ้น
ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินคำว่า โพธิ หรือ โพธิสมภาร บ่อยๆ โพธิสมภาร คือ การประพฤติเป็นไปในกุศล ซึ่งเป็นบารมีที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม
โพธิสมภาร หรือโพธิจริยา อัครยาน บารมี โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นที่ต่างกัน
เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นถึงความหมายของภาวนา ซึ่งกว่าจะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม ไม่ใช่เร่งรีบทำกุศลชาติเดียวก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา จริยาปิฎก มีว่า
ภาวนาในโพธิสมภารมี ๔ อย่าง คือ สัพพสัมภารภาวนา ๑ นิรันตรภาวนา๑ จิรกาลภาวนา ๑ สักกัจจภาวนา ๑
เป็นการแสดงลักษณะของการอบรมเจริญภาวนา คือ การสะสมเหตุที่จะ ให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมทุกๆ ชาตินั่นเอง
คำอธิบายมีว่า
จิรกาลภาวนา คือ การบำเพ็ญตลอดกาลนาน
สำหรับพระผู้มีพระภาค คือ ถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่ชาติเดียว เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังโยนิโสมนสิการ ฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม เข้าใจ พระธรรม เป็นสังขารขันธ์ เป็นจิรกาลภาวนาที่จะต้องอบรมไปเป็นเวลานาน กว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นแต่ละขั้น จากขั้นเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนถึงขั้นที่ สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม และศึกษาจนกระทั่งเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม โดยไม่ใช่ตัวตน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นเกิด แต่ต้องเป็น จิรกาลภาวนา
นิรันตรภาวนา คือ การบำเพ็ญติดต่อกันไป
แล้วแต่ว่าชาติไหนจะสะสมบารมีใดได้มากน้อย ถ้าในชาติที่เป็นมนุษย์และ มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ชาตินั้นก็เป็นกาลที่สะสม การเจริญสติปัฏฐานไป และเมื่อเกิดอีกในชาติต่อไป ในสุคติภูมิ ก็มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมต่อ อบรมเจริญสติปัฏฐานต่อ เป็นนิรันตรภาวนา แต่ชาติไหนที่ไม่ได้เกิด เป็นมนุษย์ หรือไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ชาตินั้นก็ขาดการติดต่อในการบำเพ็ญไป
เพราะฉะนั้น นิรันตรภาวนา คือ การบำเพ็ญติดต่อกันไป แล้วแต่ชาติใด จะสะสมบารมีใดได้มากน้อย แม้แต่ชาติที่ไม่ได้ฟังพระธรรม พระโพธิสัตว์ก็ยังสะสมบารมีอื่น เช่น สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี ขันติบารมี เป็นต้น ซึ่งแต่ละชีวิตในแต่ละชาติ ถ้าศึกษาตัวเองก็จะได้ทราบว่า นอกจากการฟังพระธรรม ซึ่งกำลังสะสมปัญญาบารมี ท่านผู้ฟังสะสมบารมีอื่นบ้างไหม เช่น เมตตาบารมี มีการเมตตาคนในบ้านเพิ่มขึ้นบ้างไหม และมีความอดกลั้นอดทนที่จะไม่โกรธบ้างหรือเปล่า
ถ้าไม่ได้ศึกษาชาดกต่างๆ หรือจริยาคือความประพฤติของพระผู้มีพระภาคก่อนที่พระบารมีจะเต็ม จะไม่รู้เลยว่า แม้ในชาติก่อนๆ ของพระผู้มีพระภาคก็เป็น คติที่ทำให้ผู้ที่กำลังอบรมภาวนาในขณะนี้ได้เห็นว่า ควรที่จะต้องคิดอย่างไร โยนิโสมนสิการอย่างไรในเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะทำให้บารมีเจริญขึ้น มั่นคงขึ้น โดยไม่ใช่แต่เฉพาะปัญญาบารมี
สัพพสัมภารภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลทุกประการ
เมื่อใดที่ยังไม่เป็นผู้ชำนาญในมรรคมีองค์ ๘ ก็จะต้องขวนขวายในการสะสมบุญไปเพียงนั้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังประมาทไม่ได้เลย การที่จะเป็นผู้ชำนาญใน การเจริญมรรคมีองค์ ๘ ปัญญาจะต้องเข้าใจจริงๆ และมีเหตุมีปัจจัยที่จะทำให้ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ และโยนิโสมนสิการจากการเพียรฟัง เพียรระลึก เพียรพิจารณาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็สามารถที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมได้
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เป็นผู้ชำนาญในมรรคมีองค์ ๘ ก็จะต้องขวนขวายในการสะสมบุญไปเพียงนั้น
สักกัจจภาวนา คือ การบำเพ็ญบุญโดยความเคารพ
ซึ่งจะต้องเป็นไปทุกกาล โดยเห็นประโยชน์ว่า เป็นทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้ การเจริญกุศลทุกประการด้วยความเคารพ คือ เมื่อเคารพความดีงามของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ก็ยอมสละอกุศล
ถ้าเป็นผู้ที่เคารพในกุศลธรรมจริงๆ ก็จะยอมสละอกุศลธรรมได้ ท่านผู้ฟังที่โกรธเคยระลึกได้บ้างไหมว่า ควรจะอดกลั้น ไม่ควรจะโกรธ แต่ถ้ายังบำเพ็ญกุศล ไม่พอ การคิดนึกอย่างนี้หรือโยนิโสมนสิการอย่างนี้ก็ไม่มี
ถ้าศึกษาในจริยาปิฎก คือ ความประพฤติของพระผู้มีพระภาคเมื่อครั้งที่บำเพ็ญพระบารมี จะเห็นได้ว่า แม้มีผู้ที่กระทำสิ่งที่เลวร้ายในขณะที่พระองค์ เป็นพระโพธิสัตว์ด้วยประการต่างๆ กำลังจะโกรธก็ระลึกได้ว่า ไม่ควรจะโกรธ เพราะว่าความโกรธนั้นจะไม่ทำให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน
นี่คือเป็นผู้ที่บำเพ็ญบุญโดยความเคารพ
เพราะฉะนั้น กว่าทุกท่านจะมีโยนิโสมนสิการในการฟัง ในการพิจารณาธรรม ในการอบรมเจริญปัญญา ในการเจริญกุศลเพื่อขัดเกลาจริงๆ ต้องเป็นพหูสูต คือ ฟังและพิจารณา และต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย
ข้อความใน ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีว่า
เพียงความเลื่อมใสในผู้ที่มีคุณความดี เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศ ก็ยังเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติได้ เพราะฉะนั้น ถ้าประพฤติปฏิบัติตาม ก็ย่อมจะต้องให้ผลมากกว่าเพียงเลื่อมใสแล้วก็ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๖ ตอนที่ ๑๘๕๑ – ๑๘๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883