แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855


    ครั้งที่ ๑๘๕๕


    สาระสำคัญ

    มิลินทปัญหา มนสิการปัญหาที่ ๗ - โยนิโสมนสิการมิใช่ปัญญา

    จดหมายจากท่านผู้ใช้นามว่า ธรรมจักกินทิกะ

    การศึกษาพระธรรม เป็นเรื่องของความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องทำ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๒


    มิลินทปัญหา ปฐมวรรค มนสิการปัญหาที่ ๗ มีข้อความว่า

    พระราชา คือ พระเจ้ามิลินท์ ตรัสถามท่านพระนาคเสนว่า การที่บุคคล ไม่เกิดใหม่นั้น ด้วยโยนิโสมนสิการใช่หรือไม่

    ท่านพระนาคเสนถวายพระพรว่า บุคคลไม่ปฏิสนธิเกิดใหม่นั้น ด้วย โยนิโสมนสิการ และกุศลธรรมอื่นที่บำเพ็ญไว้ก่อนมีบารมีเต็มจนบรรลุพระนิพพาน และปัญญา รวม ๓ ประการนี้ จึงมิได้เกิดใหม่

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อไปว่า โยนิโสมนสิการนั้น มิใช่ปัญญาหรือไฉน

    ท่านพระนาคเสนแก้ว่า โยนิโสมนสิการมิใช่ปัญญา และโยนิโสมนสิการ มีลักษณะอย่างหนึ่ง ปัญญามีลักษณะอย่างหนึ่ง และโยนิโสมนสิการนั้น สัตว์ดิรัจฉานก็มีได้ แต่ปัญญานั้นมีไม่ได้

    ซึ่งข้อความใน มนสิการลักขณปัญหาที่ ๘ อุปมาลักษณะของมนสิการเหมือนมือซ้ายที่จับรวงข้าว ส่วนลักษณะของปัญญาอุปมาเหมือนมือขวาที่ถือเคียวเกี่ยวรวงข้าวให้ขาดฉะนั้น

    นี่คือลักษณะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น เรื่องของโยนิโสมนสิการเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ที่จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลทุกสถานการณ์ให้กุศลเจริญขึ้น

    ถ. ขณะที่โยนิโสมนสิการเกิดขึ้น ก็มีทั้งมนสิการเจตสิกและปัญญาเจตสิกด้วย องค์ธรรมทั้งหมดในขณะนั้นเรากล่าวว่า เป็นโยนิโสมนสิการทั้งหมด ใช่ไหม

    สุ. โยนิโสมนสิการ คือ มนสิการที่เป็นกุศล ไม่จำเป็นต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเหตุที่จะให้เกิดกุศล ก็โยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดย แยบคาย

    ถ. ก่อนที่ปัญญาจะเกิดขึ้น มนสิการที่เป็นกุศลจิตก็ได้สั่งสมเป็นบาท จนกว่าปัญญาสามารถจะเกิดขึ้นได้

    สุ. เพราะว่ามนสิการเจตสิกเป็นสภาพที่ใส่ใจ สนใจ ถ้าเป็นโยนิโส คือ ใส่ใจ สนใจ พิจารณาด้วยความเข้าใจ เป็นแนวทางที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้น เป็นทางที่จะให้ปัญญาเกิด เพราะว่าปัญญาเจตสิกซึ่งตามความเป็นจริงใช้คำว่า ปัญญินทรีย์ หมายความว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่จริงๆ เป็นสภาพที่รู้ ไม่ใช่เป็นสภาพที่ต้องไปพิจารณาหรือไปตระเตรียม หรือไปทำอย่างอื่นเลย แต่โยนิโสมนสิการ ใส่ใจก่อน เป็นเหตุให้ปัญญาสามารถรู้ เหมือนกับมือซ้ายที่จับรวงข้าวคือ โยนิโสมนสิการ แต่ปัญญาคือมือขวาที่จับเคียวเกี่ยวรวงข้าวขาด เพราะฉะนั้น ลักษณะของปัญญาเป็นสภาพที่ประจักษ์แจ้งรู้ชัด แต่ก่อนที่ปัญญาจะเกิด จะต้องอาศัยการอบรมเจริญโสภณธรรมอื่นๆ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และมนสิการ ก็เจริญขึ้นตามลำดับขั้นด้วย เพราะว่าเจตสิกทั้งหมดที่เป็นโสภณเจตสิกที่จะเกิดกับ โลกุตตรจิต ขณะนั้นแม้ผัสสะก็กระทบกับพระนิพพาน เวลาที่มรรคจิตเกิดผลจิตเกิด เวทนาก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ สัญญาก็จำลักษณะของนิพพาน มนสิการและ เจตสิกอื่นๆ ทั้งหมดก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ และกระทำกิจของเจตสิกนั้นๆ ตามสมควร แต่ว่ามนสิการไม่ใช่ปัญญา

    มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง

    เลขที่ ๗๗/๑๑ จักรพงษ์ บางลำพู

    ๑๕ ต.ค. ๒๕๓๑

    กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

    ก่อนอื่นผมขอแสดงความรู้สึกในใจก่อนว่า ถ้าไม่มีโสภณธรรมอันได้แก่ โสภณเจตสิกที่ประกอบร่วมกับจิตอันมีชื่อว่าโสภณจิต ตามลักษณะของโสภณเจตสิก ที่เข้าประกอบร่วมซึ่งอาศัยเกิดในรูปขันธ์ อันกำหนดเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ท่านอาจารย์ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการกระทำทางกายและวาจาที่กำหนดว่า เป็นการแสดงธรรมที่โสภณธรรมอันยิ่งใหญ่ ซึ่งอาศัยเกิดในรูปขันธ์อันเพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะทุกประการ ซึ่งกำหนดเรียกขานพระนามกันว่าองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบนั้น ก็คงไม่มีโสภณธรรมอันอาศัยเกิดในรูปขันธ์ ที่กำหนดกันว่าเป็นตัวผมนี้เช่นกัน

    ดังนั้น โสภณธรรมอันเป็นไปในทางอปจายนกุศล จึงขอแสดงความคารวะโสภณธรรมที่อาศัยเกิดในรูปขันธ์อันกำหนดเรียกกันว่าท่านอาจารย์นี้ด้วยเถิด

    ท่านอาจารย์ผ่านตาข้อความข้างต้นนั้นแล้ว จะเกิดความรู้สึกอย่างไรไม่อาจ มีใครกำหนดบังคับได้ เพราะสิ่งทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ดังนั้นหากการกระทำนี้เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมคือความขัดเคืองขุ่นข้องเกิดขึ้นปรากฏแก่ ท่านอาจารย์ ผมก็ต้องขอกราบประทานอภัยด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

    สิ่งที่ผมทำนี้มิใช่ไม่มีจุดหมาย และจุดหมายนี้ผมก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อพุทธบริษัททั้งหลาย ซึ่งจะเป็นไปตามที่มุ่งหวังหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่โยนิโสมนสิการ ของแต่ละบุคคล มิอาจมีใครจะบังคับบัญชาให้เป็นไปดังใจหวังได้

    ข้อความข้างต้น หวังว่าท่านอาจารย์คงเข้าใจดีว่า หมายถึงถ้าท่านอาจารย์ ไม่แสดงธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ ผมก็คงไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจได้ แต่การพูดในทำนองนั้น แม้จะพูดตามปรมัตถสภาวะ ก็ดูยุ่งยากต่อ การเข้าใจ หรือสื่อความหมายตามสำนวนภาษาทั่วไป ดังนั้น การใช้สำนวนภาษา ที่ชาวโลกใช้กันอยู่ ย่อมมีประโยชน์เกื้อกูลมิใช่น้อย แม้พระอริยบุคคลผู้ประจักษ์ ในความจริงของโลก ก็ยังคงใช้ภาษาที่ชาวโลกใช้กันอยู่ตามปกติ

    โลเก สมยัง กุสโล วิทิตวา โวหารัมมะ เตนโส โวทะเรยัง (สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สันติวรรค อรหันตสูตร)

    การจะพูดถึงสิ่งใดก็ตามก็ต้องมีถ้อยคำสำหรับกล่าวถึงสิ่งนั้นเพื่อให้เป็นที่เข้าใจ (แม้ตามความเป็นจริงปรมัตถ์กับบัญญัติจะเป็นคนละอย่างก็ตาม) เพราะถ้าไม่มีการ ใช้นามบัญญัติ ก็ไม่อาจสื่อความหมายระหว่างกันให้เข้าใจได้ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่จะพ้นหรืออยู่นอกเหนือคำกล่าวเรียก เพราะชื่อหรือคำกล่าวเรียก ย่อมครอบคลุมทุกสิ่ง นามัง สัพพัง อัตถ ... (สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นามสูตร)

    การใช้ถ้อยคำย่อมมีความยืดหยุ่นได้อยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อคนทั่วไปเรียกดินว่า ปฐวี พระพุทธองค์เมื่อจะทรงชี้ถึงสภาพที่มีลักษณะแข็งหรืออ่อน อันเป็นลักษณะของแผ่นดินที่มีลักษณะเช่นนั้นเป็นสำคัญ พระพุทธองค์ก็ทรงนำเอาคำนั้นมาเรียกขาน ธาตุที่มีสภาพเช่นนั้นว่า ปฐวี และทรงชี้แจงให้เข้าใจในความหมายของคำนี้ในแง่ของปรมัตถ์ที่ครอบคลุมกว่าปฐวีที่หมายถึงเฉพาะแผ่นดินในภาษาทั่วไป นี่เป็น ปกติธรรมดาของการใช้คำ โดยเอาคำเก่ามานิยาม หรือกำหนดความหมายใหม่ ในเมื่อจะพูดถึงเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจอย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็น

    แม้คำว่า ยัญ และพราหมณ์ เป็นต้น ก็เช่นกัน เดิมทีก็เข้าใจกันว่า ยัญ คือ การฆ่าสัตว์เซ่นสังเวย แต่พระพุทธองค์ทรงชี้ทางที่ถูกต้องของยัญว่า คือ ทาน หรือการให้ ส่วนคำว่า พราหมณ์ ก็เช่นกัน พบได้มากมายที่พระพุทธองค์ทรงเรียก พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระอัครสาวกเป็นต้นว่าเป็นพราหมณ์ แล้วพระองค์ก็ทรงนิยามความหมายให้ทราบว่า ที่ทรงเรียกว่าพราหมณ์นั้นเพราะเหตุอะไร หรือมีความหมายอย่างไร เช่น ในธัมมปทัฏฐกถา พราหมณวรรค และในอุทาน เถรสูตร เป็นต้น

    ผมเข้าใจดีว่า ท่านอาจารย์มีจุดประสงค์อย่างไรในการไม่ประสงค์ให้ใช้คำว่า “ทำ” เป็นต้น ในเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่หากมีคนนำเอาข้อความ ในพระไตรปิฎกมาเทียบเคียงกับคำพูดของท่านอาจารย์ อาจจะเห็นว่า ท่านอาจารย์กล่าวค้านกับพระไตรปิฎกได้ โดยเฉพาะที่ท่านอาจารย์กล่าวทำนองว่า “ถ้าคิดว่าทำวิปัสสนาหรือทำการเจริญสติปัฏฐานได้ นั่นเป็นความเข้าใจผิด” (คำกล่าวทำนองนี้ออกอากาศติดๆ กันหลายครั้ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๑ ที่ผ่านมานี้)

    เหตุไรจึงว่าถ้าเอาข้อความในพระไตรปิฎกมาเทียบอาจจะเห็นว่า ท่านอาจารย์กล่าวค้านกับพระไตรปิฎก นั่นเพราะในพระไตรปิฎกจะพบคำว่า “ทำ” อยู่มากมาย แม้ท่านอาจารย์ก็เคยนำข้อความที่มีคำว่า “ทำ” มาอ่านอยู่เสมอ เช่น เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นต้น

    นี่เป็นแค่คำ การบัญญัติใช้ทางภาษาเพื่อความเข้าใจเท่านั้น เมื่อทั่วไป ใช้สื่อความหมายกันอย่างนี้ พอเขาเหล่านั้นมาถามปัญหากับท่านอาจารย์ แล้วใช้คำนี้ออกมาตามปกติธรรมดาของการสื่อความหมายกัน ท่านอาจารย์ก็เพียงแต่อธิบายให้เขาเข้าใจแนวทางที่ถูกต้อง และชี้ถึงความหมายที่ควรจะเป็นของคำว่า “ทำ” ตามสภาวะที่เป็นจริงด้วย ก็จะเกิดประโยชน์แก่ผู้ถามและผู้รับฟังมิใช่น้อย เพราะบางทีที่สังเกตเห็น ผู้ถามเพียงแต่ใช้คำตามที่ใช้กันอยู่เท่านั้น แต่พอถูกอาจารย์กล่าวแย้งแค่เรื่องของคำว่า “ทำ” เท่านั้น ทำให้ผู้ถามนั้นรู้สึกผิด ไม่กล้าถามต่อไป หรือสำหรับบางคนก็ถอยห่างออกไปจากธรรมที่ควรจะเข้าใจให้ยิ่งขึ้นต่อไปด้วย

    เรื่องทำนองนี้พระพุทธองค์ก็ทรงใช้เป็นปกติ เรารู้กันดีว่า คำสอน ในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของอนัตตา แต่เราก็จะพบคำว่า “อัตตา” หรือ “ตน” อยู่บ่อยๆ เช่น อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ที่ว่า จงมีตนเป็นเกาะเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นเกาะเลย คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ตนในที่นี้ คือ ธรรม ซึ่งได้แก่ กุศลธรรม

    คราวนี้ผมขอกลับมาหาคำว่า “ทำ” ต่อ จุดประสงค์นั้นผมเข้าใจว่า เหตุใด ท่านอาจารย์จึงไม่อยากให้ใช้ แต่ถ้าท่านอาจารย์กล่าวแย้งในเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ คนที่อ่านพระไตรปิฎกจะคิดว่า ท่านอาจารย์กล่าวตู่พระพุทธพจน์เอาได้ ซึ่งจะทำให้ประสบกับสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมากได้ การยึดติดในภาษาเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก พระพุทธองค์จึงทรงชี้แนะไว้ว่า ไม่พึงยึดติดหรือปรักปรำภาษาที่ใช้กันอยู่ ซึ่งมีปรากฏในอรณวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

    คำว่า “ทำ” เป็นเรื่องของบัญญัติ ขอให้เข้าใจสภาวะของปรมัตถ์เป็นใช้ได้ ถ้าเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็ชี้ให้ผู้ถามเข้าใจตามความหมายที่ถูกต้อง ซึ่งท่านอาจารย์สามารถอธิบายชี้แจงธรรมได้ลึกซึ้งตรงตามสภาวะที่เป็นจริงอยู่ อาจจะบอกกับผู้ถามว่า วิปัสสนาเป็นเรื่องของการทำนั้นถูกต้อง แต่ต้องเป็นการทำให้มากๆ หรือทำ บ่อยๆ และทำนั้น คือ ทำด้วยสติระลึกรู้ พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏ ในทุกทาง ทุกขณะที่มีสติ ทำด้วยสติปัญญา คือ มีสติปัญญาเป็นตัวทำ เหมือนคำพูดที่ว่า เห็นด้วยตา คือ มีตาเป็นตัวเห็น (ซึ่งสภาวะที่แท้จริงคือ จักขุวิญญาณ อาศัยจักขุปสาทรูปเกิดขึ้นทำหน้าที่เห็นรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏ)

    ถ้าท่านอาจารย์พิจารณาจากพยัญชนะ หรือคำพูดทั่วไปที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก จะพบว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการทำทั้งสิ้น แต่เป็นการทำของเหตุปัจจัยนั่นเอง

    คำต่อไปนี้ คือ คำที่มีความหมายเกี่ยวกับ “ทำ” ทั้งสิ้น (บางคำเป็นไทย บางคำเป็นบาลี หวังว่าท่านอาจารย์คงผ่านมาทั้งหมดแล้ว)

    ตุมเหหิ กิจจัง อาตัปปัง อัปเชวะ กิจจะมาตัปพัง กะตะกิจโจ อะนาสโว สังขตธรรม สังขารธรรม พหุลีกะตะ (ทำให้มาก) อาวีกะตะ (ทำให้แจ้ง) สัจฉิกะตะ สัจฉิกาตัพพะ (ทำให้แจ้ง ให้ประจักษ์) กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม (วิปัสสนาเป็นกุศลที่เกิดทางใจ มโนกรรม) มนสิการ โยนิโสมนสิการ ทิฏฐุชุกรรม สัมมากัมมันตะ กัมมวาที กัมมัญญตา

    ยังมีอีกมากมาย จึงสามารถกล่าวได้ว่า การปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาทุกระดับชั้นเป็นเรื่องของการทำทั้งสิ้น ปัญญา และสติเป็นเจตสิกซึ่งต้องเกิดร่วม ทำหน้าที่พร้อมกับจิต จิตต่างๆ ก็มีหน้าที่ต่างกันไป รวมได้ทั้งหมด ๑๔ กิจ คำว่า “กิจ” ก็มีความหมายเกี่ยวกับทำนั่นเอง

    ทำ ทำเถิดนะ ท่านอาจารย์ เพราะไม่อย่างนั้นจะแย้งกับหลักฐาน ในพระไตรปิฎก นิรุตติปฏิสัมภิทาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาพระพุทธธรรม คำสอนเหมือนกัน

    ขอให้โสภณธรรมจงเกิดขึ้นและดำเนินไปด้วยการทำไว้ในใจโดยอุบายอัน แยบคายเถิดขอรับ ผิดพลาดประการใด กระผมกราบขอประทานอภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วย

    กราบเรียนมาด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

    ธัมมจักกินทิกะ

    สุ. ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของจดหมายที่มีความหวังดี ที่ท่านคิดว่า คำบรรยายบางครั้งอาจจะทำให้ท่านผู้ฟังที่เพิ่งรับฟังท้อถอย เพราะว่าท่านผู้ฟังก็มักจะมาถามว่า จะทำอย่างไร และคำตอบก็คือว่า ไม่ใช่เรื่องจะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องของโยนิโสมนสิการ

    ถ. ยังสงสัยเรื่องของโยนิโสมนสิการและปัญญาที่ว่า โยนิโสมนสิการ อุปมาเหมือนกับมือซ้ายที่ถือรวงข้าว ปัญญาเปรียบเหมือนมือขวาที่ถือเคียว ยังไม่เข้าใจอุปมานี้

    สุ. หมายความว่า ปัญญาเป็นสภาพรู้ชัด รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะว่าขณะนี้กำลังเห็น จักขุวิญญาณเป็นสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่สามารถรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทำกิจเห็นเท่านั้นแล้วก็ดับ และในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น มีมนสิการเจตสิกเกิดด้วย เพราะมนสิการเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกหนึ่ง ใน ๗ ดวง ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิด ก็มีผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก และมนสิการเจตสิก เกิดร่วมด้วย

    สำหรับลักษณะของมนสิการเจตสิก คือ เป็นสภาพที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ที่ปรากฏ ในขณะที่ผัสสเจตสิกเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึกอารมณ์ สัญญาเป็นสภาพที่จำอารมณ์ เจตนาเจตสิกเป็นสภาพที่ตั้งใจ ชีวิตินทริยเจตสิกก็เป็นสภาพที่เป็นนามธรรมที่ทำให้สภาพของนามธรรมดำรงอยู่ ยังไม่ดับไป อุปการะนามธรรมอื่นๆ ให้ตั้งอยู่ เอกัคคตาเจตสิกก็เป็นสภาพที่ตั้งมั่น ในอารมณ์เดียว คือ ในอารมณ์ที่จิตขณะนั้นเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๖ ตอนที่ ๑๘๕๑ – ๑๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564