แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856


    ครั้งที่ ๑๘๕๖


    สาระสำคัญ

    ลักษณะที่ต่างกันของมนสิการกับปัญญา

    จุดประสงค์ของการศึกษาและการฟังพระธรรม

    สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด

    ขุ.อชิตมาณวกปัญหานิทเทส - ท่านอชิตพราหมณ์ทูลถามพระผู้มีพระภาค


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๓๒


    มนสิการเจตสิกเป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์

    ถ้าจะเทียบเคียงลักษณะของมนสิการก็จะเห็นได้ว่า ธรรมดาแต่ละคนที่มีความสามารถต่างๆ กัน เช่น ท่านที่สามารถประดิษฐ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นในทางวิชาการแพทย์หรือในทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม หรือในศิลปะต่างๆ ก็ตาม ผู้ที่ไม่สนใจ ไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้เลย บางคนสามารถที่จะรำ ร้อง วาดเขียนจิตรกรรม ต่างๆ ได้สวยงาม แต่คนที่ไม่สนใจจะทำสักเท่าไรก็ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีความสนใจในอารมณ์นั้น ขณะนั้น คือ มนสิการเจตสิก ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ใครสนใจอะไรในขณะนี้เทียบได้ บางคนชอบปลูกต้นไม้ ปลูกได้งดงาม แต่อีกคนหนึ่งต้นไม้ตายหมดเพราะว่าไม่ใส่ใจ คือ ไม่สนใจจริงๆ ในเรื่องนั้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ลักษณะของมนสิการเจตสิกสามารถที่จะใส่ใจสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ แต่ไม่ใช่สภาพรู้ที่เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตาม ความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

    แม้ในการฟังพระธรรมก็จะเห็นได้ว่า คนที่ไม่ใส่ใจ ฟังก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าเป็น คนที่ใส่ใจและพิจารณาเนื้อความโดยละเอียด จะสามารถพิจารณาไตร่ตรอง เป็นโยนิโสมนสิการ จนกระทั่งเกิดความเข้าใจขึ้น ซึ่งลักษณะที่เข้าใจ ลักษณะที่รู้ ลักษณะนั้นเป็นปัญญาเจตสิก

    ในโสภณสาธารณเจตสิกทั้งหมด ศรัทธาเจตสิกเป็นโสภณสาธารณเจตสิกที่ ๑ ที่ทรงแสดง และโสภณสาธารณเจตสิกเกิดกับโสภณจิตทั้งหมด แต่ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ได้เกิดกับโสภณจิตทุกดวง

    ลักษณะที่ต่างกันของมนสิการกับปัญญา คือ เป็นเจตสิกคนละประเภท มนสิการเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่ปัญญาเจตสิกเป็น ปัญญินทรีย์ เป็นใหญ่ในการรู้ชัดลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริง เป็น โสภณเจตสิก แต่ไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก เพราะฉะนั้น จึงไม่เกิดกับกุศลจิตทุกดวง จะเกิดเฉพาะกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกเท่านั้น

    ในคราวก่อนมีจดหมายของท่านผู้ฟังที่ใช้นามว่า ธัมมจักกินทิกะ ซึ่งสรุปได้ว่า

    ประการที่ ๑ ท่านอยากให้ใช้คำว่า ทำ โดยให้อธิบายว่า ให้ทำด้วยสติ และปัญญา คือ ระลึกรู้ พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทุกทางทุกขณะที่มีสติ ท่านอยากจะให้อธิบายว่าอย่างนี้

    ประการที่ ๒ ท่านเกรงว่าถ้าไม่ใช่ภาษาตามชาวโลกว่า ทำ เกรงว่าจะเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์

    ก่อนอื่นขอให้ทุกท่านย้อนพิจารณาจุดประสงค์ของการศึกษาและการฟัง พระธรรมให้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า เพื่ออะไร เพราะว่าทุกท่านเป็นผู้ที่มีความใส่ใจ สนใจที่จะฟังพระธรรม แต่ต้องเข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ว่าการฟังพระธรรมนั้น เพื่ออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ จะไม่สามารถบรรลุผลที่ถูกต้องได้ โดยที่ ไม่ต้องเป็นห่วง หรือติดในคำ แต่ให้เข้าใจความหมายของพระพุทธพจน์จริงๆ ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมนั้น เพื่อที่จะให้ผู้ฟังผู้ศึกษาพระธรรมได้เข้าใจ และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน

    นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง ที่เพื่อเมื่อความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจะเกิดสัมมาสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องของเห็น เรื่องของได้ยิน เรื่องของโลภะ เรื่องของศรัทธา เรื่องของปัญญา แต่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นรู้ชัดและประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ตามที่ได้ศึกษาในขั้นของปริยัติ

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าจุดประสงค์เป็นอย่างนี้ จะไม่ติด จะไม่สนใจในเรื่องการทำ เพราะต้องเป็นเรื่องของการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย และถามว่าจะทำอย่างไร ก็แสดงว่า ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และไม่รู้หนทางเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจ คำถามที่ว่าจะทำอย่างไร ก็จะไม่มี เพราะว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจ เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางปฏิบัติว่า มี ๒ ทาง คือ สัมมามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางที่ถูก และมิจฉามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางที่ผิด

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะปฏิบัติอะไร หรืออยากจะปฏิบัติ ควรที่จะเข้าใจว่า ปฏิบัติอย่างไรหรืออบรมเจริญปัญญาอย่างไรจึงจะไม่ใช่มิจฉามรรคมีองค์ ๘ เพราะถ้าปัญญาไม่เกิด ขณะที่ไม่เข้าใจหนทาง ไม่ใช่ปัญญา ขณะนั้นถ้าปฏิบัติก็ต้องเป็น มิจฉามรรค

    ไม่ใช่ว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดจะบอกให้ทำได้ แต่ต้องเป็นปัญญาของผู้ที่เจริญ สัมมามรรคมีองค์ ๘ เอง ที่จะสามารถอบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในลักษณะของ สภาพธรรมได้

    ขอให้ตรวจสอบดูในพระไตรปิฎกว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้คนฟังเข้าใจ หรือไม่ทรงแสดงธรรม แต่บอกให้คนฟังทำ นี่ก็เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้น โดยมากเวลาที่มีผู้ถามว่าจะทำอย่างไร หรือจะปฏิบัติอย่างไร ท่านผู้ถามคิดว่า จะมีวิธีอื่นที่จะทำให้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ โดยที่ไม่เข้าใจว่า ถ้าขณะนี้สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ศึกษา ไม่พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้แล้ว ไม่มีการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และเมื่อไม่ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้เลย

    นี่เป็นเหตุผลที่ทุกท่านจะพิจารณาได้ว่า การฟังพระธรรมก็เพื่อให้เกิด ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ จนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้น เพราะสัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่โดยวิธีอื่น

    ขณะนี้กำลังเห็น อบรมเจริญปัญญาอย่างไรจึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่ว่า มีคนบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งถ้าบอกให้ทำ จะทำได้ไหม หรือถ้าบอกให้ทำ อย่างอื่นที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ผลจะเป็นปัญญาได้ไหม ถ้าทำอย่างอื่นในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน แต่สติไม่ระลึก ไม่พิจารณา ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าอยากจะทำอย่างอื่น ไม่ใช่โยนิโสมนสิการ

    และพิจารณาดูจากท่านที่มาถามว่า ท่านมุ่งหวังที่จะให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเปล่า เพราะถ้าบอกให้ท่านระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ท่านจะบอกว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าให้ท่านนั่ง หรือให้ทำอย่างอื่น ท่านทำได้ แต่ถ้าให้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทันที ท่านจะบอกว่า ท่านทำไม่ได้ โดยที่ท่านไม่ทราบว่า เพราะเหตุใดจึงทำไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่าปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่พอที่จะทำให้สติเกิด

    เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังเรื่องสติปัฏฐาน เรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ แม้ว่าขณะนี้สติยังไม่ระลึก หรือยังระลึกไม่ได้ แต่อาศัยความเข้าใจลักษณะของสติ และการรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด เมื่อฟังบ่อยๆ เข้าก็เป็นปัจจัยทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกตามปกติ ตามความเป็นจริง และเมื่อไรที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เมื่อนั้นจะถามไหมว่า จะทำอย่างไร ยังจะต้องมีคำถามนี้ไหมว่า จะทำอย่างไร ในเมื่อรู้แล้วว่าสติมีลักษณะอย่างไร และสติปัฏฐานก็คือขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง

    ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ แล้ว ไม่ต้องถามเลย เพราะว่าเข้าใจแล้ว แต่ขณะใดที่ถาม แสดงว่าไม่เข้าใจหนทางข้อปฏิบัติที่ถูก

    ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างไหมในเรื่องนี้

    ถ. ผมขอเพิ่มเติมเรื่องคำว่า ทำ ผมมีความเห็นว่า เกิดจากการติด ในคำพูด และความไม่เข้าใจคำว่า อนัตตา

    การไปทำจะมีเรื่องความจงใจติดตามมาเสมอ เพราะฉะนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงเสีย หรือถ้าเข้าใจว่า เมื่อฟังเข้าใจแล้ว สติจะระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยการศึกษาอบรม จะดีกว่า อย่าไปติดในคำเลย ผมมีความเห็นแค่นี้

    เมื่อวานที่สนทนาธรรมกันที่โบสถ์ มีคำถามหนึ่งที่นักศึกษาท่านหนึ่งตั้งขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำถามที่ดี เกี่ยวกับเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน คำถามมีว่า ขณะที่สติระลึกรู้สภาพนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงนั้น ละกิเลสได้อย่างไร คำถามมีสั้นๆ เท่านี้

    สุ. ขณะนี้แข็ง ขอยกตัวอย่างที่กายซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา สภาพแข็งมี และ มีสภาพที่รู้แข็ง เพราะฉะนั้น สติระลึกลักษณะที่แข็ง คำถาม คือ ปัญญาจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้อย่างไร ใช่ไหม

    ถ. ระลึกได้แล้วว่า นั่นเป็นสภาพธรรมที่แข็ง และรู้สภาพธรรมนั้นว่า รู้แข็ง รู้อย่างนี้แล้วจะละกิเลสได้อย่างไร

    สุ. รู้ลักษณะที่แข็ง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดนอกจาก สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเพียงแข็ง นี่เป็นความจริง และขณะที่พิจารณาสภาพที่รู้แข็ง ขณะนั้นจะต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือลักษณะรู้ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังรู้แข็ง การรู้อย่างนี้จะค่อยๆ ละความไม่รู้ที่เคยยึดถือว่า เรากำลังรู้แข็ง หรือว่าแข็งนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    นี่คือปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญขึ้นจนกว่าจะไม่ยึดถือว่า มีตัวทั้งตัวที่กำลังกระทบแข็งที่นิ้ว หรือที่มือ หรือที่เท้า เพราะว่ามือไม่มี เท้าไม่มี ตัวไม่มี มีแต่แข็ง แต่ความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญายากที่จะถ่ายถอน ต่อให้ใครจะพูดว่าอย่างไรสักเท่าไร ก็ตาม แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมโดยละเอียดว่า มีแต่นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น และถ้าพิจารณาร่างกายก็เหมือนกับผงคลีจริงๆ เพราะว่ามี อากาศธาตุแทรกอยู่อย่างละเอียด ส่วนที่ละเอียดที่สุดที่แตกย่อยทำลายออกไป เป็นกลุ่มที่เล็กที่สุดจนมองไม่เห็น ก็โดยอากาศแทรกคั่นอยู่ เพราะฉะนั้น ลักษณะ ที่แข็งเป็นแต่เพียงสภาพหรือธาตุชนิดหนึ่งที่มีจริงปรากฏให้รู้ได้ ถ้ารู้อย่างนั้นจริงๆ จะค่อยๆ ถ่ายถอนอัตตสัญญาที่เคยเป็นเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นแต่เพียงผงคลี ที่แข็ง แต่ผงคลีที่แข็งทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าไม่ได้ปรากฏตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่จะปรากฏเฉพาะส่วนที่กำลังกระทบเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานระลึกตรงลักษณะของส่วนที่กระทบจริงๆ ร่างกายทั้งหมดไม่มี อัตตสัญญาค่อยๆ คลาย จนกว่าปัญญาจะประจักษ์ชัดว่า ในขณะที่มีเพียงธาตุรู้และแข็งที่ปรากฏ สภาพธรรมอื่นไม่มีปะปนอยู่ในที่นั้นเลย

    ความจริงก็เป็นอย่างนี้ ธรรมดาๆ และค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้จนกว่าจะละคลายและถ่ายถอนความเป็นตัวตน เท่านั้นเอง ที่ว่าเป็นอนัตตา ต้องไม่เหลือตัวตนเลยตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เหลือแต่เพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้เท่านั้นเอง และสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ก็เพียงเล็กน้อยจริงๆ เพราะแต่ละ ทวารนั้นสั้นมาก ทางตาก็นิดเดียว ทางหู สภาพธรรมก็ปรากฏนิดเดียว ทางจมูก นิดหนึ่ง ทางลิ้นนิดหนึ่ง ทางกายนิดหนึ่ง แต่ทางใจที่เป็นอัตตสัญญาทรงจำและประชุมกันไว้หมดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้หายไปเลย ยังคงมีอยู่ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบลักษณะของอัตตสัญญาว่า ขณะใดที่ยังรู้ว่า มีตัวตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นั่นคืออัตตสัญญา และอัตตสัญญาจะหมดไปก็ต่อเมื่อ สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง ทีละทาง เช่น ในขณะที่กำลังเห็น ถ้าระลึกลักษณะที่เห็นจริงๆ จะไม่นึกถึงปอด ไม่นึกถึงหัวใจ ไม่นึกถึงผม ไม่นึกถึงขน ไม่นึกถึงเล็บ ไม่นึกถึงฟัน ไม่นึกถึงหนัง เพราะขณะนั้นไม่มี เพราะฉะนั้น ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏแต่ละทาง เป็นเครื่องที่จะทำให้ปัญญาพิจารณารู้ และละการยึดถือสภาพธรรมที่เคยทรงจำว่าเป็นตัวเรา

    สำหรับประการที่ ๒ ที่ท่านคิดว่า ถ้าไม่พูดว่า ทำ จะเป็นการกล่าวตู่ พระพุทธพจน์

    ขอให้พิจารณาว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมด เพื่อให้ผู้ฟัง รู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้ามีหนทางใดที่จะกล่าวเตือนให้ระลึกได้ว่า ไม่มีตัวตนที่กำลังเจริญสติ ไม่มีตัวตนที่จะทำ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าสามารถที่จะทำให้ใครสามารถเข้าใจได้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ย่อมไม่ใช่การกล่าวตู่พระพุทธพจน์ เพราะว่าจุดประสงค์ของการทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ปัญญาเจริญขึ้น จนละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องของภาษา หรือไม่ใช่เรื่องของการติดในคำ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจของแต่ละคนว่า มีความเข้าใจถูกแค่ไหน มีความรู้ชัดขึ้นแค่ไหน ถ้ายังคงมีความสำคัญว่าเป็นตัวเราอยู่ ขณะนั้นก็ควรที่จะระลึกได้ว่า แม้สติก็เป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    นี่เป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะค่อยๆ ช่วยเป็นสังขารขันธ์ทำให้ละคลาย การยึดถือสติและปัญญาว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตนได้ มิฉะนั้นแล้วก็ยากเหลือเกินที่จะละการยึดถือสภาพธรรมแต่ละขันธ์ว่าเป็นเรา

    ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อชิตมาณวกปัญหานิทเทส ตอนท้ายปัญหา ท่านอชิตพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ผู้มีปัญญา จงตรัสบอกทางดำเนินของพระอรหันตขีณาสพและพระเสกขบุคคลเหล่านั้นแก่ ข้าพระองค์เถิด

    นี่เป็นคำถามสุดท้าย แต่ก่อนนั้นถามเรื่องอื่น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมทั้งหลายในชีวิตประจำวัน คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กิเลสกาม วัตถุกาม ลักษณะของจิตและเจตสิกนานาประการ

    และ ข้อ ๙๗ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกอย่างหนึ่ง พึงเป็นผู้ฉลาดในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค ผล นิพพาน พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงแม้ด้วยอาการอย่างนี้

    ต่อจากนั้นก็ตรัสเรื่องของการมีสติด้วยสติปัฏฐาน ข้อ ๙๙ มีข้อความว่า

    พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ธรรมจักษุ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่เทวดาและมนุษย์หลายพันผู้มีฉันทะร่วมกัน มีประโยค (คือ ความเพียร) ร่วมกัน มีความประสงค์ร่วมกัน มีการอบรมวาสนาร่วมกันกับท่านอชิตพราหมณ์ ผู้ซึ่งบรรลุอรหัต

    นี่คือคำถามสุดท้าย ซึ่งถ้าไม่พิจารณาโดยตลอดตั้งแต่ต้นก็อาจจะตรงกับ บางท่านที่ถามว่า ข้อปฏิบัติหรือหนทางปฏิบัติเป็นอย่างไร เหมือนอย่างที่ ท่านอชิตพราหมณ์ได้ทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ผู้มีปัญญาจงตรัสบอกทางดำเนินของพระอรหันตขีณาสพและพระเสกขบุคคลเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

    แต่นี่ไม่ใช่คำถามแรก สำหรับคำถามแรก ท่านอชิตพราหมณ์ก่อนที่จะถามถึงหนทางดำเนินของพระอรหันต์และพระเสกขะ ท่านอชิตพราหมณ์เริ่มด้วยการทูลถามเรื่องอะไรหุ้มห่อโลกไว้ โลกจึงไม่ปรากฏ ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเลย ก็ถามเรื่องหนทาง ข้อปฏิบัติเป็นอย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๖ ตอนที่ ๑๘๕๑ – ๑๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564