แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
ครั้งที่ ๑๘๕๘
สาระสำคัญ
ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ตัณหา มานะ - ความสำคัญตน ทิฏฐิ - ความเห็นผิด
ความคิดที่แยบคายควรจะเป็นความคิดอย่างไร
โสณนันทบัณฑิตจริยาบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๓๒
สำหรับธรรมเครื่องเนิ่นช้าประการที่ ๒ คือ มานะ ความสำคัญตน เป็น เครื่องกั้นการเจริญของปัญญา สำหรับผู้ที่ไม่ฟังธรรมจากบุคคลที่ควรฟัง เพราะมีความสำคัญตนประการต่างๆ เช่น อาจจะสำคัญตนว่าสูงกว่า หรือบางคนอาจจะคิดว่าเสมอกัน หรือบางคนอาจจะคิดว่าต่ำกว่า จึงไม่เข้าไปหา ไม่เข้าไปนั่งใกล้ ไม่เข้าไปฟัง เป็นเหตุให้ไม่มีการสอบถาม ไม่มีการเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น
เป็นอย่างนี้หรือเปล่าในชีวิตประจำวัน
มานะมีสัญญาเป็นแดนเกิด ขณะใดที่มีความสำคัญตนให้ทราบว่า เพราะความจำว่าเป็นใคร ระลึกถึงตนด้วยความสำคัญในขณะนั้น ก็เป็นเครื่องกั้นอย่างหนึ่งซึ่งเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า
สำหรับธรรมเครื่องเนิ่นช้าประการที่ ๓ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด มีวิตกเป็น แดนเกิด ถ้าเป็นคนที่ช่างคิด ช่างตรึกนึกไป โดยไม่เป็นเหตุเป็นผลอะไรเลย และ ไม่ละเอียด ไม่รอบคอบ ก็จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมและหนทางข้อปฏิบัติผิด ซึ่งเป็นเหตุให้มีมิจฉามรรคมีองค์ ๘ เพราะมีมิจฉาสังกัปปะ มีวิตกเป็นแดนเกิด
การศึกษาพระธรรมจะศึกษาเพียงสูตรเดียวไม่ได้ หรือถ้าได้ก็หมายความว่า ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญภาวนามามาก ได้ฟังพระธรรมเพียงสั้นๆ ก็สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสติปัฏฐานเกิดสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมะนั้นตามความเป็นจริงได้
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับท่านผู้ฟังว่า ถ้าท่านฟังครั้งเดียวยังไม่เข้าใจ ก็ต้องฟังอีก หรือถ้าศึกษาเพียงสูตรเดียวยังไม่เข้าใจโดยละเอียด ก็ต้องศึกษาต่อไปอีกจนกว่าความเข้าใจจะสอดคล้องกันทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่พิสูจน์ได้
ความแยบคาย โยนิโสมนสิการ ขาดไม่ได้เลยในการฟังพระธรรม
เท่าที่ได้ฟังพระธรรมมาทั้งหมด ความคิดที่แยบคายควรจะเป็นความคิดอย่างไร คือ คิดที่จะสละกิเลส หรือคิดที่จะทำ ถ้าเข้าใจเรื่องสภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน ก็คงจะ ตัดปัญหาเรื่องการคิดที่จะทำได้ แต่สำหรับการคิดที่จะสละกิเลสจะมีมากน้อย ประการใด
ถ้าไม่ได้อ่านความประพฤติเป็นไปในแต่ละชาติๆ ของพระผู้มีพระภาค เปรียบเทียบกับความประพฤติปฏิบัติของท่านในชาตินี้ ก็คงไม่ทราบว่า ยังห่างจากการประพฤติปฏิบัติของพระผู้มีพระภาคอีกแสนไกล เพราะว่า เมื่อฟังพระธรรมและมีความเข้าใจพระธรรมว่าเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อละกิเลส แต่ระลึกถึงสัจจบารมี คือ ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสบ้างไหม
บารมี ๑๐ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี
บารมีต้องครบ เพราะบางท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาความละเอียด แม้สัจจบารมี เช่น ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลส พูดตามได้ว่า ศึกษาพระธรรมเพื่อ ขัดเกลากิเลส แต่แล้วก็โกรธ
ขณะที่โกรธจะนึกได้ไหมว่า จริงใจที่จะขัดเกลา ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า จะขัดเกลา แต่ไม่อภัยคนนั้นคนนี้ หรือยังพอใจที่จะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น ด้วยความขุ่นเคืองใจ
การคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยเมตตาได้ย่อมเป็นประโยชน์ แต่ถ้าคิดถึง ความไม่ดีของคนอื่นด้วยความขุ่นข้อง ทุกครั้งที่คิดถึงก็ขุ่นเคืองใจ และตั้งหลายวันมาแล้วที่ฟังพระธรรม เมื่อคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นก็ยังขุ่นเคืองใจอีก เพราะฉะนั้น สัจจบารมีที่ว่า ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลส มีมากน้อยแค่ไหน
บารมีทั้งหมดจะขาดไม่ได้เลย แม้แต่ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสก็ต้องมี เป็นสัจจบารมี ระลึกได้ที่จะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยเมตตา มิฉะนั้นแล้ว จะถึงการดับกิเลสไหม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของบารมี และนอกจากความจริงใจที่เป็น สัจจบารมีแล้ว ยังต้องมีอธิษฐานบารมี คือ ความมั่นคง ไม่หวั่นไหว แม้ว่ามีความจริงใจแล้ว แต่บางครั้งก็ยังหวั่นไหวไป ก็ต้องมีอธิษฐานบารมีว่า ต้องมีความมั่นคง ในการเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะขัดเกลากิเลสด้วย
นอกจากนั้น ยังต้องมีขันติบารมี คือ อดกลั้น
หลายบารมีที่จะต้องเกิด ที่จะต้องอบรมจริงๆ เป็นโยนิโสมนสิการ มิฉะนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการในการอบรมเจริญปัญญา
ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงพุทธจริยา คือ ความประพฤติเป็นไป ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่าเป็นชีวิตธรรมดา แต่ถ้า ไม่พิจารณาจะไม่เห็นเลยว่า เป็นบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญ
โสณนันทบัณฑิตจริยา มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลกบังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่งมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในพรหมวัทธนนคร มารดาบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่า โสณกุมาร
เมื่อโสณกุมารเดินได้ ก็มีสัตว์อื่นจุติจากพรหมโลกถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาพระโพธิสัตว์ และมารดาก็ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า นันทกุมาร
นันทกุมาร คือ ท่านพระอานนท์ในชาติสุดท้ายของท่าน
มารดาบิดาได้เห็นรูปสมบัติของบุตรทั้งสอง ก็ให้ศึกษาศิลปะทุกอย่าง และอยากจะให้ท่านครองเรือน แต่พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาที่จะครองเรือน ปรารถนาที่จะบำรุงบิดามารดาตลอดชีวิต เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีวิตแล้วก็ปรารถนาที่จะบวช
มารดาบิดาของท่านพยายามชักชวนให้พระโพธิสัตว์ทราบความประสงค์ที่จะ ให้ครองเรือน แต่พระโพธิสัตว์ก็มีความตั้งใจมั่นคงที่จะบวช มารดาบิดาก็มอบสมบัติให้นันทกุมารแทน แต่นันทกุมารก็กล่าวว่า เมื่อโสณกุมารผู้เป็นพี่ชายไม่รับสมบัติ เพราะฉะนั้น นันทกุมารก็ไม่รับสมบัติ และจะบวชด้วย ซึ่งมารดาบิดาก็แปลกใจมากที่บุตรทั้งสองต้องการจะละสมบัติออกบวชในวัยหนุ่ม ทั้งๆ ที่มารดาบิดาก็เป็นผู้สูงอายุกว่ามาก เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นความตั้งใจของบุตรทั้งสองก็คิดว่า เมื่อบุตรซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มยังสามารถออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ มารดาบิดา ก็ขอบวชด้วย
ในครั้งนั้น ท่านเหล่านั้นก็ได้สร้างอาศรมอยู่ในป่า และทั้งสองพี่น้องนั้นก็บำรุงมารดาบิดา นันทบัณฑิตคิดว่า เราจะให้มารดาบิดาบริโภคผลไม้ที่เรานำมาเท่านั้น ท่านจึงได้นำผลไม้ที่เหลือจากวันก่อน และที่ตนหาได้ในวันก่อนๆ มาให้มารดาบิดาบริโภคตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อมารดาบิดาบริโภคผลไม้เหล่านั้นแล้วก็บ้วนปาก รักษาอุโบสถ ส่วนโสณบัณฑิตไปไกลหน่อย และนำผลไม้ที่สุกดีแล้ว มีรสอร่อย นำไปให้มารดาบิดาบริโภค มารดาบิดากล่าวกับโสณบัณฑิตว่า เราบริโภคแล้ว และรักษาอุโบสถ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องการบริโภคผลไม้ของโสณบัณฑิต แต่ผลไม้ของนันทบัณฑิตนั้น เป็นผลไม้ที่เก็บไว้ก่อน เนื่องจากอยากให้มารดาบริโภคแต่เช้า เพราะฉะนั้น บางที ก็เป็นผลไม้ที่เสีย
ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ดำริว่า มารดาบิดาเป็นคนแบบบาง นันทะนำผลไม้ ดิบบ้าง สุกไม่ดีบ้าง มาให้มารดาบิดาบริโภค มารดาบิดาก็จะอยู่ได้ไม่นาน
คือ เป็นผู้อยู่ในตระกูลสูง เพราะฉะนั้น ไม่ควรบริโภคผลไม้ที่ไม่ดี คือ บางครั้งก็เสีย บางครั้งก็ดิบไปบ้าง
ท่านห้ามนันทะ โดยกล่าวว่า ตั้งแต่นี้ไปเวลาที่นันทะนำผลไม้มาให้มารดาบิดา ก็ขอให้รอท่านกลับมาก่อน เพื่อให้มารดาบิดาบริโภคร่วมกัน
คือ ไม่ใช่บริโภคแต่ผลไม้ของนันทะเท่านั้น
เมื่อโสณบัณฑิตกล่าวอย่างนี้แล้ว นันทบัณฑิตหวังได้บุญ จึงไม่ทำตาม
คือ หวังที่จะให้มารดาบิดาบริโภคแต่ผลไม้ที่ตนนำมาเท่านั้น
เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นนันทบัณฑิตไม่ทำตาม ก็บอกให้นันทบัณฑิตไปอยู่ เสียที่อื่น ท่านเองจะเป็นผู้บำรุงมารดาบิดา
นันทบัณฑิตเมื่อถูกพี่ชายขับไล่ไม่ให้อยู่ในที่นั้น ก็ได้ไหว้พระโพธิสัตว์ แล้วได้บอกลามารดาบิดา ท่านเจริญกุศลยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้น และ คิดที่จะขอโทษพี่ชาย
นี่เป็นความรู้สึกของผู้ที่สะสมบารมีมาที่จะรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร
แต่ท่านก็เห็นว่า การที่จะให้พี่ชายยกโทษให้ ก็ควรจะเป็นการยกโทษอย่างดียิ่ง เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า ทำอย่างไรพี่ชายจึงจะยกโทษให้อย่างดี ท่านคิดที่จะนำ ท้าวสักกเทวราชมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อมาขอขมาพี่ชาย แต่ก็คิดว่าทำอย่างนั้นไม่ควร เพราะว่าเมื่อทั้งสองยังอยู่ในโลกนี้ ก็ควรนำพระราชาผู้เป็นใหญ่ของ เมืองพรหมวัทธนะผู้มีนามว่า มโนชะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายมาเพื่อ ให้ได้รับทราบการขอโทษพี่ชายของท่านด้วย
เมื่อท่านคิดอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ได้ไปยังพระราชวังของพระเจ้ามโนชะ และกล่าวว่า จะยึดราชสมบัติทั่วชมพูทวีปมาถวาย แต่ขอให้พระองค์ได้เสด็จไปหาพี่ชายของท่าน เพื่อที่ท่านจะได้ขอโทษพี่ชาย ซึ่งในที่สุดท่านก็ได้กระทำอย่างนั้น และท่าน ก็ได้ขอขมาพี่ชาย
พระโพธิสัตว์ให้นันทบัณฑิตดูแลมารดา ส่วนท่านเองบำรุงบิดาจนตลอดชีวิต และพระโพธิสัตว์ได้แสดงธรรมแก่พระราชาเหล่านั้นด้วยพุทธลีลาว่า
ความยินดี ความบันเทิง อันผู้รู้พึงได้เพราะบำรุงบำเรอมารดาให้ท่านหัวเราะแจ่มใสอยู่ทุกเมื่อ
ความยินดี ความบันเทิง อันผู้รู้พึงได้เพราะบำรุงบำเรอบิดาให้ท่านหัวเราะแจ่มใสอยู่ทุกเมื่อ
การสงเคราะห์เหล่านี้แลในโลกตามสมควรในธรรมนั้นๆ คือ การให้ การเจรจาถ้อยคำอ่อนหวาน การประพฤติเป็นประโยชน์ การวางตนเสมอต้น เสมอปลาย ดุจลิ่มรถที่แล่นไปฉะนั้น
การสงเคราะห์เหล่านี้ไม่พึงมี มารดาย่อมไม่ได้การนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร หรือบิดาย่อมไม่ได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร
คือ ถ้าไม่สงเคราะห์กันอย่างนี้ ก็จะไม่เป็นการบูชามารดาบิดา
เพราะบัณฑิตทั้งหลายเพ่งเล็งโดยชอบการสงเคราะห์เหล่านี้ ฉะนั้น จึงถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และได้ความสรรเสริญ
มารดาบิดาท่านกล่าวว่า เป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์ และเป็นผู้ควรบูชา ของบุตรทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์
เพราะฉะนั้นแล บัณฑิตพึงนอบน้อม พึงสักการะบิดามารดาเหล่านั้น ด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยผ้า ด้วยที่นอน ด้วยเครื่องนุ่งห่ม ด้วยน้ำอาบ และด้วยการล้างเท้า
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ ด้วยการบำรุงบำเรอ ในมารดาบิดาทั้งหลาย บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
มีบารมีอะไรบ้างหรือเปล่าในพุทธจริยา ในพระชาติที่เป็นโสณบัณฑิต ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็น
ข้อความตอนท้ายมีว่า
เนกขัมมบารมียอดเยี่ยมอย่างยิ่งของโสณบัณฑิตนั้นก็จริง แม้ถึงอย่างนั้น ก็พึงกล่าวถึงบารมีที่เหลือโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล อนึ่ง พึงประกาศ คุณานุภาพของพระมหาสัตว์มีอาทิอย่างนี้คือ ความเป็นผู้ไม่คำนึงถึงกามทั้งหลาย โดยสิ้นเชิง (เนกขัมมบารมี) ความเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงอย่างแรงกล้าใน มารดาบิดาทั้งหลาย ความไม่อิ่มด้วยการบำรุงมารดาบิดา แม้เมื่อมีการบำรุง มารดาบิดาเหล่านั้นอยู่ ก็ยังกาลเวลาทั้งหมดให้น้อมไปด้วยสมาบัติ …
นี่เป็นชีวิตประจำวัน ต้องมีวิริยบารมีในการที่จะไปแสวงหาผลไม้ที่ดีๆ มา เพื่อบำรุงมารดาบิดา และต้องมีความอดทน มีความเพียรด้วย ในการที่จะทำอย่างนั้น
ถ้าทุกท่านจะพิจารณาบารมี ๑๐ ของท่านเอง ก็ดูจากความประพฤติของตนเองในปัจจุบันชาติซึ่งสืบต่อมาจากชาติก่อนๆ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ไม่ว่าจะเกิด เป็นอะไร ที่ไหน ชาติไหนก็ตาม แต่ชาติก่อนซึ่งผ่านไปแล้วอุปมาเหมือนกับประตู ที่ปิดสนิท เพราะฉะนั้น ย่อมไม่มีผู้ที่สามารถมองผ่านประตูนั้นเข้าไปเห็นชาติก่อน หรือการกระทำความประพฤติในชาติก่อนทั้งหมดได้ แต่สามารถเห็นการกระทำ และความประพฤติของตนเองในชาตินี้ได้
ถ. จำเป็นไหมที่จะต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐
สุ. จำเป็น เพราะถ้าขาดสัจจะก็จะเป็นผู้ที่เพียงกล่าวว่า จะละกิเลส แต่เป็นผู้จริงใจในการละกิเลสหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่จริงใจ ถ้าโกรธหรือคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นแล้วขุ่นเคือง สติก็ควรที่จะเกิดระลึกได้ว่า เป็นผู้จริงใจในการที่จะขัดเกลากิเลสหรือเปล่า ถ้าระลึกได้ มีความมั่นคง มีความจริงใจ ขณะนั้นจะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น
ถ. ถ้าไม่บำเพ็ญบารมีครบทั้ง ๑๐ จะมีอะไรเกิดขึ้นไหม จะตกอบายไหม
สุ. ไม่มีการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเลยได้ เพราะแม้แต่การเจริญปัญญา ก็ต้องอาศัยขันติ อาศัยวิริยะ อาศัยสัจจะ อาศัยอธิษฐาน อาศัยเนกขัมมะ อาศัยทาน อาศัยศีล หลายประการทีเดียว ไม่ใช่ว่าใครอยากจะปฏิบัติ ใครอยากจะทำก็จะถึง แต่เป็นจิรกาลภาวนาที่จะต้องบำเพ็ญอย่างนานทีเดียว
เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เป็นอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ประเภท เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท เป็นโสภณเจตสิก ๒๕ ประเภท และสำหรับ โสภณเจตสิก ๒๕ ประเภทนั้น เป็นโสภณสาธารณะ คือ เกิดกับโสภณจิตทุกดวง ๑๙ ประเภท และมีโสภณเจตสิก ๖ ดวงที่ไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก ได้แก่ อัปปมัญญา ๒ ดวง คือ กรุณาเจตสิก และมุทิตาเจตสิก
แม้ว่าท่านผู้ฟังยังไม่ได้ศึกษาเรื่องของเจตสิกโดยละเอียด แต่ก็จะพิจารณาได้ว่า เป็นความจริงอย่างนั้น เพราะวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ว่าจะเกิดกุศลที่มีกรุณาเจตสิกเกิด ร่วมด้วยทุกครั้ง หรือไม่ใช่มีมุทิตาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เนื่องจากกรุณาเจตสิก จะเกิดเมื่อเห็นผู้ที่กำลังเป็นทุกข์เดือดร้อน และก็มีกุศลจิตคิดกรุณาใคร่ที่จะสงเคราะห์ให้ผู้นั้นพ้นจากความเดือดร้อน ส่วนมุทิตาเจตสิก เวลาที่มีผู้ได้ความสุขความเจริญ ก็พลอยบันเทิงยินดีด้วย แต่ต้องเป็นกุศล ไม่ใช่เป็นโลภะ เพราะฉะนั้น อัปปมัญญา ๒ ดวง คือ กรุณาเจตสิก และมุทิตาเจตสิก จึงไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก
เจตสิกที่ไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก ๖ ดวง นอกจากกรุณาเจตสิก และ มุทิตาเจตสิกแล้ว ก็ได้แก่ วิรตีเจตสิก ๓ และปัญญาเจตสิกหรือปัญญินทรีย์อีก ๑ ดวง
วิรตีเจตสิก ๓ เป็นเรื่องของการวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก วิรัติวจีทุจริต สัมมากัมมันตเจตสิก วิรัติกายทุจริต สัมมาอาชีวเจตสิก วิรัติมิจฉาอาชีพหรือมิจฉาอาชีวะ
เพราะฉะนั้น เจตสิกที่ไม่ใช่โสภณสาธารณะ ๖ ดวง ได้แก่ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ คือ กรุณาเจตสิกและมุทิตาเจตสิก วิริตีเจตสิก ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ และปัญญาเจตสิกหรือปัญญินทรีย์อีก ๑ ซึ่งจะเห็นได้ว่า กุศลที่เกิดบ่อยในวันหนึ่งๆ น้อยครั้งที่จะเกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๖ ตอนที่ ๑๘๕๑ – ๑๘๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883