แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859


    ครั้งที่ ๑๘๕๙


    สาระสำคัญ

    จิตเกิดดับสืบต่อในสังสารวัฏฏ์

    ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เจริญช้า

    บารมี ๑๐ ธรรมที่อุปการะ ที่จะดำเนินไปในมรรคมีองค์ ๘

    บารมีต้องเป็นไปกับการขัดเกลากิเลส ไม่เป็นไปด้วยโลภะ

    เนกขัมมะบารมีความหมายแค่ไหน

    อรรถกถา ขุ.จริยา. - ศีลบารมี


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒


    สำหรับปัญหาในเรื่องบารมี ๑๐ ที่ว่ามีความจำเป็นไหม ก็จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้แต่เจตสิกแต่ละประเภททั้งอัญญสมานาเจตสิกก็ดี อกุศลเจตสิกก็ดี โสภณเจตสิกก็ดี ต่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และต่างก็เป็นปัจจัย ซึ่งกันและกัน โดยเป็นปัจจัยประเภทต่างๆ เกิดดับสืบต่อตลอดมายาวนานใน แสนโกฏิกัปป์จนถึงขณะปัจจุบัน คือ ในขณะนี้ โดยไม่เว้นว่างเลยในสังสารวัฏฏ์

    ขอให้คิดถึงสภาพของเจตสิก เช่น ผัสสเจตสิก กระทบอารมณ์ทุกครั้งที่จิตเกิด ไม่มีการว่างเว้นสักขณะเดียวที่จิตเกิด จะต้องมีผัสสเจตสิกและเจตสิกอื่นๆ เกิด ถอยไปทุกๆ ชาติ ไม่ว่าอดีตจะยาวนานสักเท่าไร ผัสสเจตสิกก็เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต และเมื่อจุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อ แสดงว่าผัสสะไม่ได้ว่างเว้น ที่จะกระทบอารมณ์ และเจตสิกอื่นๆ ก็เกิดกับจิตสืบต่อมา จะว่างเว้นก็เฉพาะ ในขณะที่ผู้ใดปฏิสนธิเป็นอสัญญสัตตาพรหม คือ มีแต่รูปธรรม ไม่มีนามธรรม ในระหว่างที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม หรือถ้าเป็นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ในระหว่างที่ เข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งจิตเจตสิกไม่เกิด แต่สังสารวัฏฏ์ก็ยาวนานมากจนกระทั่งทุกท่าน จำไม่ได้ ระลึกไม่ได้เลยว่า ในชาติไหนเคยเป็นใคร หรืออาจจะเคยเกิดเป็น อสัญญสัตตาพรหม เพราะว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้วในชาติก่อน ก็เหมือนกับประตูที่ปิดสนิท ไม่มีใครสามารถจะมองผ่านไปและเห็นได้ แต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมไม่หยุด การทำงานเลย

    การเห็นชาติก่อน กับการเห็นชาตินี้สืบต่อกันเร็ว และเป็นปกติไปเรื่อยๆ หลับไปแล้วก็ตื่นขึ้น และก็เห็นอีก ได้ยินอีก คิดนึกอีก ถ้าไม่นับชาติซึ่งเป็นสมมติ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีการว่างเว้น เพราะว่าสมมติมรณะก็คือการตายของชาติหนึ่ง แต่เมื่อมีการเกิดสืบต่อก็เท่ากับว่า จิตของแต่ละท่านเกิดดับมาแล้ว สืบต่อมาแล้ว ทำงานมาแล้ว ไม่ว่างเว้นนับไม่ถ้วนเลย ซึ่งตลอดทุกชาติมาและในชาตินี้ ทุกคนก็อยากจะเจริญธรรมฝ่ายดี คือ อยากจะให้โสภณธรรมเจริญมากๆ แต่ธรรมฝ่ายดี ก็เจริญช้ากว่าธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ซึ่งจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ ปัญญาเจตสิกที่ทุกคนหวังและปรารถนามากที่จะให้โสภณธรรมประเภทนี้เจริญ แต่ก็เป็นสภาพธรรมที่เจริญช้ายิ่งกว่าโสภณธรรมอื่นๆ เช่น ศรัทธา เป็นต้น

    ถ้าไม่ได้พิจารณาในเหตุผลของธรรมโดยละเอียด ปัญญาก็ยิ่งเจริญช้า เพราะปัญญาเจตสิกเจริญช้าอยู่แล้ว และถ้าไม่รู้เหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญ ปัญญาเจตสิกก็ยิ่งเจริญช้ามากไปอีก เมื่อเทียบกับการเจริญของอกุศลธรรม ในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของบารมีที่จะต้องบำเพ็ญด้วย

    ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม อกุศลจิตย่อมเกิดมาก และไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ เลย เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็มีความเข้าใจ เรื่องการอบรมเจริญปัญญา เรื่องการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ แต่ทั้งๆ ที่ทุกท่านเข้าใจแล้วทุกท่านก็ทราบว่า การที่วันหนึ่งๆ สัมมาสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นน้อยมาก เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เพราะเหตุใดสัมมาสติจึงเกิดน้อย แม้ว่าจะเข้าใจหนทางแล้ว

    หนทางมี มองเห็น และรู้ว่าหนทางนี้เป็นทางที่ปัญญาจะเจริญ เป็นทาง ที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เพราะเหตุใดสัมมาสติจึงไม่เจริญตามหนทางที่เข้าใจแล้ว ก็เพราะว่าทุกคนซึ่งยังมีกิเลส เปรียบเหมือนผู้ที่เป็นโรค เพราะฉะนั้น ต้องรักษาโรคที่กำลังเป็น จนกระทั่งเป็นผู้ที่แข็งแรงสามารถเดินหนทางไกล คือ มรรคมีองค์ ๘ ให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ถ้าไม่พิจารณาตนเองเลย ก็ยังคงเป็นผู้ที่รู้ทาง แต่ไปไม่ไหวและไม่รู้วิธีว่า ทำอย่างไรถึงจะเป็นผู้ที่แข็งแรงขึ้นจากโรคภัยต่างๆ

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม และการพิจารณาพระธรรมให้เข้าใจ เปรียบเสมือนการแสวงหายารักษาโรค ซึ่งจะรู้ได้จริงๆ ว่า ผู้ที่ไม่เคยฟังพระธรรม ไม่รู้แม้ว่าตนเองเป็นโรค จึงไม่แสวงหายาที่จะรักษาโรค และทั้งๆ ที่แสวงหาพระธรรม มีความเข้าใจซึ่งเปรียบเหมือนมียารักษาโรคแล้ว ก็ยังต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรงพอที่จะเดินไปในหนทางไกล คือ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ให้บรรลุจุดหมายปลายทางได้

    ขอให้คิดถึงคนที่เห็นทาง แต่ป่วยไข้ได้เจ็บ และทางนั้นก็แสนไกล ทำอย่างไรจึงจะเดินไปไหวให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า ถ้าร่างกาย ไม่สมบูรณ์แข็งแรง ก็ไม่สามารถไปได้ตลอด และธรรมที่จะบำรุงจิตใจให้แข็งแรง ที่จะดำเนินไปในมรรคมีองค์ ๘ ได้ตลอด คือ บารมี ๑๐

    . คนที่ไม่ได้เจริญบารมีทั้ง ๑๐ ครบบริบูรณ์ จะไม่สามารถบรรลุ พระอริยบุคคลได้เลย ใช่ไหม

    สุ. ก็เหมือนคนเจ็บ ไม่แข็งแรง จะไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เรื่องของบารมีเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ที่ฟังพระธรรม จะไม่ใช่บารมีก็ได้ เพราะบางท่านบอกว่า ท่านฟังไปอย่างนั้นแหละ ดีกว่าไม่ฟัง แสดงให้เห็นว่า ยังไม่เป็นบารมี ยังไม่มีความตั้งใจมั่นคงที่รู้ว่า จุดประสงค์ของการ ฟังนั้นเพื่อขัดเกลากิเลส เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่แม้ยังไม่ต้องดับ เพียงแต่จะบรรเทา จะละคลาย ก็แสนยากแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีกำลังจริงๆ ไม่มีอธิษฐานบารมี คือ เวลาที่ท่านทำกุศล เช่น ทานกุศล บางท่านก็อธิษฐาน แต่ก็ยังไม่ทราบว่า ความหมายของอธิษฐานจริงๆ นั้น ต้องเป็นความมั่นคงไม่หวั่นไหวในฝ่ายกุศล จึงจะเป็นบารมีที่จะทำให้สามารถอบรมเจริญปัญญาไปโดยตลอดได้

    เพราะฉะนั้น ที่ฟังอยู่ทุกวัน ขอให้พิจารณาว่า ฟังด้วยความตั้งใจมั่นคง ที่จะเข้าใจและประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้แต่ละชาติ เพื่อที่จะเป็นบารมี หรือว่าเพียงฟังไปเฉยๆ

    แต่ละคนที่ฟังคงจะพิจารณาได้ว่า เริ่มเป็นบารมีหรือเปล่า หรือถ้ายังไม่พูดถึงบารมี ก็ฟังไปเฉยๆ เรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่า ถ้าไม่เป็นบารมีจะไม่ถึงแน่ ต่อเมื่อใด มีความมั่นคง เมื่อนั้นจะต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ จึงจะสมบูรณ์ได้

    . อาจารย์ช่วยอธิบายเนกขัมมบารมีว่ามีความหมายแค่ไหน

    สุ. ถ้าจะพูดถึงเรื่องบารมี ก่อนที่จะถึงเนกขัมมบารมี ขอเริ่มจาก ทานบารมี เพื่อจะได้พิจารณาว่า ทาน การให้ของทุกท่านในชีวิตประจำวัน ที่เป็นการสงเคราะห์ทางวัตถุนั้น เป็นบารมีหรือยัง เพราะว่าการให้เป็นของประจำโลก การสงเคราะห์การช่วยเหลือก็มีอยู่ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน แต่เป็นบารมีหรือเปล่า

    สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการที่จะดับกิเลส การให้สักเท่าไรก็ไม่ใช่บารมี และแม้ ผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรมแล้วและยังมีการให้อยู่ ก็จะได้พิจารณาว่า การให้ของท่านเป็นไปในแนวของบารมีหรือเปล่า คือ เป็นการให้วัตถุโดยที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทนแม้แต่การเกิดในสวรรค์ หรือว่ายังอยากจะได้สิ่งตอบแทน เช่น ขอให้เกิดเป็นเศรษฐี มั่งมี หรือขอให้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ขอให้ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ซึ่งขณะนั้นเป็นไปด้วยความหวัง ไม่ใช่เป็นไปเพื่อละคลายความหวัง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า แม้การให้ของท่าน เป็นบารมีหรือไม่ใช่บารมี

    ถ้าเป็นบารมีจริงๆ ก็หมายความว่า ต้องถึงอีกฝั่งหนึ่ง คือ เป็นฝั่งที่ดับกิเลส ต่างจากฝั่งที่เป็นฝั่งของกิเลส เพราะฉะนั้น การที่จะถึงอีกฝั่งหนึ่งซึ่งแสนไกล ก็ไม่ใช่ว่าจะถึงได้โดยง่าย แต่จะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นเรื่องของการละกิเลส เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น แม้การให้ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่า มีการมุ่งหวังสิ่งใดหรือไม่ที่เป็นการตอบแทน ถ้ายังคงหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใด การให้นั้น ไม่ใช่บารมี เพราะยังเป็นไปกับกิเลส

    การให้ที่จะเป็นการละโลภะ ต้องเป็นการให้เพื่อขัดเกลากิเลส คือ ไม่หวัง สิ่งใดตอบแทนทั้งสิ้น และยังต้องพิจารณาเรื่องของทานในชีวิตประจำวันโดยตลอด คือ นอกจากวัตถุทานแล้ว ก็มีการให้ที่สูงกว่านั้น คือ การให้ธรรม การให้ความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไปด้วย เพราะว่า ถ้าพิจารณาแล้ว การให้วัตถุสิ่งของเพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ขัดสนยากไร้นั้น เป็นเพียง ปลายเหตุ แต่ไม่ได้พิจารณาถึงเหตุที่ทำให้บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ที่ยากไร้ ซึ่งการเป็นผู้ที่ยากไร้ย่อมเป็นผลของอกุศลกรรม ตราบใดยังมีอกุศลกรรมอยู่ ก็ยังเป็นเหตุให้ภพชาติของการเกิดมาเป็นผู้ยากไร้ต้องมีอยู่ เพราะฉะนั้น การที่จะสงเคราะห์จริงๆ นอกจากจะสงเคราะห์ทางด้านวัตถุแล้ว ควรสงเคราะห์ให้ถึงต้นเหตุ คือ เหตุที่ทำให้เป็น ผู้ยากไร้ โดยการให้เป็นผู้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง

    จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือกันจริงๆ สามารถที่จะกระทำได้ทั้งในระดับขั้นของวัตถุทาน และในระดับขั้นของธรรมทาน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้มีโอกาสเข้าใจธรรมถูกต้อง และได้ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย นอกจากนั้นการทำให้บุคคลอื่นมีความเข้าใจธรรม จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้นด้วย เพราะถ้าไม่เข้าใจธรรม กุศลอื่นๆ ก็เจริญไม่ได้ แม้แต่ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของภาวนา

    ผู้ที่หวังจะให้ผู้อื่นเข้าใจพระธรรมโดยวิธีต่างๆ ทั้งโดยการเผยแพร่พระธรรม ทางวิทยุ หรือการพิมพ์หนังสือ การสนทนาธรรม การแสดงธรรม โดยไม่หวังผล เป็นบารมี ทั้งหมดต้องเป็นเรื่องของการขัดเกลาจริงๆ โดยไม่หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ นั่นคือผู้นั้นมีความมั่นคงและมีความเข้าใจว่า การเจริญกุศลทั้งหมดเป็นบารมี เมื่อไม่เป็นไปด้วยโลภะ

    บางท่านที่สนใจในการเผยแพร่พระธรรม ก็ใคร่ที่จะให้มีการประเมินผล การทำงานขององค์การกุศลต่างๆ แต่การประเมินผลที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่จำนวนของ คนฟัง หรือไม่ใช่อยู่ที่กิจการต่างๆ ที่กระทำ แต่อยู่ที่จิตใจของแต่ละท่านว่า หนึ่งปี ที่ผ่านไป ผลของการฟังมีการประพฤติปฏิบัติตามดีขึ้นบ้างไหม นี่จึงเป็นผลจริงๆ ไม่ใช่เป็นการประเมินทางด้านจำนวนของผู้ฟัง หรือจำนวนของกิจกรรมต่างๆ แต่อยู่ที่สภาพจิตของผู้ที่ได้ฟังว่า เมื่อมีการเข้าใจธรรมแล้ว มีความจริงใจ เป็นสัจจบารมี มีอธิษฐานบารมี คือ ไม่หวั่นไหวในจุดประสงค์ที่จะละคลายกิเลส มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ หรือเปล่า

    ทุกท่านก็กล่าวว่า การฟังพระธรรมมีประโยชน์ แต่ประโยชน์ที่กล่าวนั้น จะรู้ได้ในขณะปัจจุบันทุกๆ วันว่า การฟังที่แล้วมาเป็นหลายๆ เดือนก่อน หรือเป็น ปีๆ ก็ตาม ประโยชน์คือสภาพจิตในขณะนี้ ถ้าพิจารณาโดยละเอียด ขณะนั้น ก็เป็นประโยชน์

    ทานอีกประการหนึ่ง ซึ่งควรจะพิจารณาสำหรับผู้ที่จะเจริญบารมี คือ อภัยทาน ถ้าไม่คิดว่าเป็นบารมี บางท่านไม่อภัย แต่เมื่อคิดว่า ถ้าไม่อภัยแล้ว จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานดับกิเลสได้อย่างไร ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้สามารถมีอภัยทานได้ ซึ่งเป็นทานที่สูงกว่าทานขั้นอื่นๆ เพราะว่าเป็นการ ขัดเกลากิเลสในเรื่องของโทสะ

    คิดดู ถ้าไม่สามารถอภัยให้คนที่ไม่ชอบ กุศลอื่นๆ ที่จะเจริญจากคนที่ไม่ชอบ ก็ย่อมเกิดไม่ได้ แม้วัตถุทานที่จะให้บุคคลนั้นก็ให้ไม่ได้ เพราะไม่อภัยให้ หรือเพราะ ยังโกรธอยู่ หรือแม้แต่ธรรมทานที่จะสนทนาธรรม ที่จะเกื้อกูล ที่จะชี้สิ่งที่ เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ ก็ทำไม่ได้ เพราะยังไม่อภัยให้บุคคลนั้น หรือยัง โกรธอยู่

    เพราะฉะนั้น อภัยทานก็เป็นเหตุที่ทำให้ศีลบารมีเจริญขึ้น เพราะเป็นเหตุ ที่จะให้วิรัติกาย วาจา ที่ไม่ควร ที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลซึ่งยังไม่ได้อภัยให้

    คิดดู ถ้าไม่อภัยให้ใคร กาย วาจาที่มีต่อบุคคลนั้นจะเป็นอย่างไร ก็ต้องไม่เป็นไปในทางที่เป็นมิตรเลย เพราะฉะนั้น กุศลก็ย่อมเจริญไม่ได้ และจะถึงฝั่งได้อย่างไร

    แสดงให้เห็นว่า การพิจารณากุศลทุกประการในชีวิตประจำวัน ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าผู้นั้นต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะต้องรู้สภาพจิตว่า ในเมื่อจิตยังเป็นอย่างนี้ จิตยังเป็นโรค จิตยังไม่มีกำลัง จะเดินหนทางที่แสนไกลได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาสภาพจิต เพื่อบำรุงจิตให้มีกำลังด้วยบารมีต่างๆ แม้รู้อยู่ว่าหนทางมี คือ สติเกิดระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรม แต่สติ ก็เกิดไม่ได้ เพราะกุศลธรรมซึ่งเป็นบารมีไม่มีกำลังพอ

    สำหรับศีลบารมี ทุกคนก็คงเข้าใจเรื่องของศีลอยู่แล้ว

    อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก อรรถกถาอกิตติจริยาที่ ๑ มีข้อความว่า

    ในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงเป็นดาบสชื่อว่า อกิตติ อยู่ในป่าใบหมากเม่านั้น ด้วยเดชแห่งการบำเพ็ญตบะ คือ ด้วยอานุภาพแห่งศีลบารมี

    จริงอยู่ศีลท่านเรียกว่า ตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองอันเกิดแต่ทุจริต หรือเพราะอานุภาพแห่งเนกขัมมบารมีและวิริยบารมี เพราะแม้บารมีเหล่านั้น ท่านก็เรียกว่า ตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองคือตัณหา และความเกียจคร้าน

    ถ้าศึกษาเรื่องของบารมีจะเห็นได้ว่า บารมีทั้ง ๑๐ เป็นปัจจัยเกื้อกูลกัน ทุกบารมี แม้แต่ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงเป็นดาบสชื่อ อกิตติ ก็มีศีลบารมี พร้อมทั้งบารมีอื่น คือ เนกขัมมะและวิริยบารมี

    ในพระชาติที่เป็นอกิตติดาบสนั้น ท่านอกิตติดาบสสร้างบรรณศาลา อาศัยต้นหมากเม่าใหญ่ต้นหนึ่ง ในกาลที่ต้นไม้นั้นมีผลก็บริโภคผลไม้นั้น เมื่อยัง ไม่มีผล ก็บริโภคใบไม้ชงน้ำ และยังกาลเวลาให้น้อมไปด้วยฌานสมาบัติ

    ต้องเป็นผู้ที่มีวิริยบารมีด้วย ที่จะมีความเป็นอยู่อย่างนี้ได้

    ท่านอกิตติดาบสแสวงหาใบหมากเม่าเพื่อบริโภคเพียงวันละครั้งเดียวเพราะเห็นว่า การแสวงหาอาหารบริโภควันละ ๒ ครั้ง ไม่เป็นการขัดเกลากิเลส

    นี่ต้องเป็นขันติบารมี ที่จะไม่เป็นไปตามกำลังของความต้องการในอาหาร

    ความประพฤติของท่านทำให้ท้าวสักกะจอมเทพเกิดความสงสัยว่า ที่ท่านอกิตติดาบสมีความประพฤติทางกาย วาจา และใจ บริสุทธิ์ สะอาด ไม่อาลัยในชีวิต บริโภคใบหมากเม่าชงน้ำ เป็นตบะที่ทำได้ยากอย่างนี้ เพื่ออะไรหนอ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๖ ตอนที่ ๑๘๕๑ – ๑๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564